เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา การเผยแผ่พระพุทธศาสนา สู่แดนพุทธภูมิ พระราชรัตนรังษี พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย
ReadyPlanet.com
dot dot
เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา


บทความต่อไปนี้ คัดลอกจากหนังสือ
"เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา" โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ) Ph.D
เนื้อหาและบทความทั้งหมดที่นำมาลงในคอลัมน์นี้ ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน
เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เรื่องราวในพุทธประวัติ แก่ผู้สนใจทั่วไป
น้องๆพี่ๆที่เข้ามา Copy ข้อมูล เพื่อไปทำรายงาน หรืออ่านเพื่อเป็นความรู้ ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยค่ะ

 แจ้งการคัดลอกข้อมูล แนะนำ หรือ ติชม ..คลิ้กที่นี่


 

 เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา

การเผยแผ่พระพุทธศาสนากับการพัฒนาบุคลากร
เสริมสร้างคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 โดย...พระราชรัตนรังษี (วีรยุทฺโธ) M.A., Ph.D.
พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย

 สนับสนุนการเดินทางสู่แดนพุทธภูมิของหน่วยงาน
ราชการ องค์กร บริษัท คณะสงฆ์ และ อบต., อบจ. ทั่วประเทศ

-------------------------------------------------------------------------------

คำนำ

            สภาพสังคมในปัจจุบันหลักพุทธศาสนาอันเป็นรากฐานเดิมของชุมชนไทยได้สั่นคลอน ด้วยอิทธิพลของตัณหา ทิฏฐิ มานะ เข้าสู่ภาวะบริโภคนิยมจนเกิดภาวะปัญหา กลายเป็นสังคมที่ยุ่งเหยิง ไร้จุดยืน

            เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างหลักปักฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีมติอนุมัติให้มีโครงการปฏิบัติธรรมเป็นยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาสังคมและการพัฒนาเชิงพุทธตามแนวพระราชดำริ

            ดังนั้นเพื่อตอบรับนโยบายภาครัฐ สนองมติมหาเถรสมาคม พระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดียร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงจัดให้มีการปฏิบัติธรรมในแดนพุทธภูมิขึ้น เพื่อให้ชาวพุทธไทยผู้เดินทางไปจาริกแสวงบุญตามพุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล พัฒนาคุณภาพ ยกระดับชีวิต ฝึกหัดขัดตน เพื่อให้เข้าถึงความสุขพื้นฐานและความสุขอย่างยิ่ง โดยมีลานธรรมอันกว้างใหญ่ไพศาลหรือศาลาปฏิบัติธรรมของโลก คือพุทธสังเวชนียสถานดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเอง

ฐาตุ จิรํ สตํ ธมฺโม
ขอพระสัทธรรมจงยั่งยืนยาวนาน

-------------------------------------------------------------------------------

 

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิ
เสริมสร้างคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

 ความคิดรวบยอด
            พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติอันล้ำค่าของไทย บุรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์นับถือพระพุทธศาสนามาแต่โบราณกาล ประชาชนชาวไทยดำรงวิถีชีวิตในพระพุทธศาสนามาตลอด ด้วยความศรัทธายิ่งจึงพร้อมใจกันสถาปนาให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติยังแผ่นดินนี้ให้รุ่งเรืองดุจประทีปส่องสว่างให้ประเทศไทยเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ชาวไทยทั้งผองจึงมีความอยู่ดีมีสุข เพราะพุทธธรรมอันเป็นคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เข้าไปครองในชีวิต สถิตในจิตใจ นำวิถีพุทธสู่วิถีไทย หวังผลให้สังคมไทยพึ่งพาตนเองได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม ไปด้วยวิถีอันเดียวกัน โดยหล่อหลอมสายสื่อแห่งวัฒนธรรมสู่การพัฒนาคุณธรรม ด้วยส่งเสริมให้ประชาชนทั้งชาติปฏิบัติธรรม รู้จักนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและคล่องตัว สังคมไทยจึงจะสงบร่มเย็น พึ่งพาตนเองได้ มีเศรษฐกิจดีที่พอเพียง เสริมความสามัคคีของคนในชาติด้วยภูมิปัญญาพุทธในวิถีไทย
            ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ความเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพลของตัณหา ทิฐิ มานะ ได้ก่อเกิดปัญหาขึ้นทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างแรง และได้ไหลบ่าเข้ากระทบวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานเดิมของชุมชนไทย จนเกิดความสับสนในชีวิตและความเป็นอยู่ เข้าสู่ภาวะบริโภคนิยมถึงขีดอันตราย ทั้งจิตใจที่เคยเรียบง่ายใฝ่สูง ก็ห่างเหินออกไกลจากพุทธธรรม จนส่งผลให้บ้านพุทธเมืองไทยที่เคยอุดมด้วยสันติธรรม กลายเป็นสังคมที่สับสน ยุ่งยาก มากปัญหา จิตใจวุ่นวาย เหมือนจะไร้จุดยืนในความเป็นชาวพุทธชัดเจนยิ่งขึ้น ขาดการนำเอาไตรสิกขามาปฏิบัติลงสู่วิถีชีวิตอย่างสม่ำเสมอ
            สังคมระดับรากหญ้าจึงเปลี่ยนไปตามกระแสอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะทัดทาน และส่งผลให้สถาบันครอบครัวสั่นคลอน การบริหารทุกระดับถูกปรับเปลี่ยน เป็นผลให้เศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง สิ่งแวดล้อม ต้องโต้คลื่นในกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุแห่งการย่อหย่อนต่อธรรมปฏิบัติคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นรากแก้วของสังคมนั่นเอง
            รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประจักษ์แจ้งตามแนวการแก้ปัญหาและพัฒนาเชิงพุทธตามพระราชดำริ คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติให้มีโครงการปฏิบัติธรรมขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนทั่วประเทศปฏิบัติธรรมเสมอด้วยการปฏิบัติงาน ๕ วัน ไม่ถือว่าเป็นวันลา นับว่าเป็นมงคล ที่เริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ให้สังคมไทยและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในจิตใจได้อย่างไพบูลย์ เป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง
            สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา กับพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย มีฉันทะพ้องต้องกันที่เห็นชาวพุทธไทยผู้เดินทางไปจาริกแสวงบุญตามพุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ทุกหมู่เหล่าล้วนมีจิตศรัทธาเป็นที่ตั้ง มุ่งมั่นต่อการพัฒนาคุณภาพตนเอง แสวงหาทางดับทุกข์ ฝึกหัดขัดตน เพื่อถึงความสุขขั้นพื้นฐานและความสุขอย่างยิ่ง คนทั้งหลายเหล่านั้นได้แสดงออกด้วยการปฏิบัติธรรมและการพึ่งพาตนเอง มุ่งมั่นต่อการยกระดับชีวิตเสริมประสิทธิภาพงาน ความสุขของครอบครัว การเดินทางด้วยทุนทรัพย์ของตนเองทั้งสิ้น กลุ่มบุคคลในเป้าหมายเหล่านี้สมควรที่รัฐบาลกับคณะสงฆ์จะเข้ามาช่วยจัดการดูแล คุ้มครอง อำนวยความสะดวกให้ผู้จาริกไปแสวงบุญด้วยศรัทธานั้นได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง โดยจัดทำโครงการปฏิบัติธรรมในแดนพุทธภูมินี้ขึ้น

 

งานส่งเสริมการปฏิบัติธรรม
            พระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศาสนาสากล มีหลักธรรมที่ทุกชาติทุกศาสนาสามารถปฏิบัติตามและเห็นจริงได้ โดยที่ไม่กระทบถึงศาสนาเดิมที่ตนเองนับถืออยู่ ในความแจ้งชัดของผู้สถาปนาพระพุทธศาสนาขึ้นท่ามกลางเจ้าลัทธิความเชื่อที่หลากหลายนั้น พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นเป็นสื่อกลางให้ทุกศาสนาในพื้นโลกอยู่ร่วมกันโดยสันติ ศาสดาผู้ประกาศพระพุทธศาสนาขึ้นจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นศาสดาเอกของโลก โดยเฉพาะสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก ก็แสดงว่าบรรดาผู้นับถือศาสนาต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาตินั้น ยอมรับการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน อันหมายถึงพุทธจริยาตลอดพระชนม์ชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นแบบอย่างทางเดินที่ก้าวไปสู่สันติภาพด้วยหลักพุทธธรรมนั่นเอง
            พระธรรมทูตไทยประจำประเทศอินเดีย-เนปาล ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ไทย ไปปฏิบัติงานในประเทศที่มีมากหลายศาสนา และยังมีลัทธิความเชื่อประเพณีที่เหนียวแน่น การไปปฏิบัติงานท่ามกลางคมความคิด และการติดอาวุธทางปัญญาของคนในภูมิภาคนั้น ต้องใช้กุศโลบายที่แยบยลจึงจะอยู่กับคนเหล่านั้นได้ นั่นก็หมายถึงการแผ่กระจายของพุทธศาสนาออกไปอย่างมั่นใจ ทั้งนี้จะต้องอาศัยองค์ประกอบและปัจจัยหลายๆ ด้านอีกด้วย จึงจะนำความสำเร็จตามเป้าหมายที่ประธานฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศวางไว้
            การเผยแผ่พระพุทธศาสนาคืองานเชิงรุก การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืองานเชิงรับ ทั้งสองอย่างจะต้องไปด้วยกัน ในที่นี้จะขอนำไปสู่การปฏิบัติงานของพระธรรมทูต อีกส่วนหนึ่งก็คือการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเชิงรับ หลายท่านอาจจะมองว่าการไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคือการไปเทศน์สอนชาวอินเดีย-เนปาลให้กลับมานับถือพระพุทธศาสนาได้มากน้อยแค่ไหน หรือมีชาวอินเดีย-เนปาลหันเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนเท่าใด ในบทนี้ยังจะไม่อาจขยายผลให้เห็นได้ทั้งหมด เพราะต้องการจะให้รู้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิระยะใกล้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธไทยโดยตรง
            ก่อนนั้นก็คือการพัฒนาบุคลากรของชาติให้มีคุณธรรมศีลธรรมสูงขึ้น ตามหลักพุทธธรรมในสังเวชนียสถาน ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวไทย โดยสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเจ้าภาพหลัก มีพระธรรมทูตสายต่างประเทศที่มหาเถรสมาคมมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานศาสนทูตเป็นผู้สนองงานในครั้งนี้

 

เป้าหมายของการเผยแผ่
            พระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย ได้ตระหนักถึงทรัพยากรบุคคลอันล้ำค่าของชาติ คือพุทธบริษัทผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตามพระพุทธดำรัสที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในมหาปรินิพพานสูตรเกี่ยวกับพุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน เป็นสถานที่ชาวพุทธเทิดทูนไว้ในฐานะพุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์รวมใจของชาวไทยทั่วโลก หากมีผู้ไปจาริกแสวงบุญปฏิบัติธรรมตามความศรัทธาเลื่อมใส โดยมีความมั่นใจว่า พุทธสถานทั้ง ๔ เป็นฐานการปฏิบัติธรรมนำเข้าถึงพระรัตนตรัย ด้วยพลังสติปัญญาอย่างน่าภูมิใจ
            พุทธสังเวชนียสถานเป็นเหมือนลานธรรมอันกว้างใหญ่ หรือศาลาปฏิบัติธรรมของโลก ชาวพุทธไทยไปปฏิบัติกิจทางศาสนาตามความศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญเช่นนี้ จึงจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ให้สร้างวัดไทยขึ้นที่พุทธคยา คือวัดไทยพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ วัดไทยลุมพินี สถานที่ประสูติ และมีวัดที่พุทธบริษัทชาวไทยสร้างขึ้นตามมาอีกคือ วัดไทยสารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สถานที่ปรินิพพาน โดยมีพระธรรมทูตที่มหาเถรสมาคมมีมติอนุมัติให้ไปปฏิบัติศาสนกิจเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิ ทำหน้าที่ดูแลอบรมสั่งสอนประชาชนทั้งชาวไทยและนานาชาติ
            ดังนั้น พระธรรมทูตไทยประจำประเทศอินเดีย จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อตอบรับนโยบายของภาครัฐ สนองดำริของมหาเถรสมาคม ให้ความเห็นชอบแล้วเข้าผสมผสานกับงานการศึกษา ปฏิบัติธรรมและงานเผยแผ่ ที่พระธรรมทูตปฏิบัติเป็นประจำอยู่แล้ว ให้เป็นงานร่วมด้วยช่วยกันระหว่างชาวบ้าน ชาววัดและราชการ โดยหวังประโยชน์และความสงบสุขของประชาชนผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม ประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยและพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ด้วยประสานความร่วมใจของราชการ วัด ชาวพุทธ องค์กร บริษัท ร่วมกัน พัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติ ให้มีคุณธรรมนำคุณภาพชีวิตเพิ่มประสิทธิภาพงานต่อไป

 

พุทธวจนะตามพระไตรปิฎก
            ความมุ่งมั่นตามพุทธวิถี มีหลักที่พึงปลูกในจิตสำนึก คือ คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ก่อนปรินิพพานว่า...
            “ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตร ผู้มีศรัทธา สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเป็นไฉน คือ
            ๑. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ฯ
            ๒. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ฯ
            ๓. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ฯ
            ๔. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้
            สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้แล เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาฯ
            ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ฯ”

มหาปรินิพพานสูตร
ทีฆ. มหา. ๑๐/๑๓๑/๑๓๕

 

เส้นทางจาริกแสวงบุญ
            ๑.  กรุงเทพฯ – พุทธคยา – สารนาถ – กุสินารา – ลุมพินี – ปัตนะ – ราชคฤห์ – พุทธคยา – กรุงเทพฯ
            ๒.  กรุงเทพฯ – กัลกัตตา – พุทธคยา – สารนาถ – ลุมพินี – กุสินารา – พาราณสี – กรุงเทพฯ
            ๓.  กรุงเทพฯ – พุทธคยา – สารนาถ – กุสินารา – ลุมพินี – กาฏมาณฑุ – กรุงเทพฯ
            ๔.  กรุงเทพฯ – กัลกัตตา – พุทธคยา – ราชคฤห์ – พาราณสี – กุสินารา – ลุมพินี – สาวัตถี – อัคระ – เดลี – กรุงเทพฯ
            ๕.  กรุงเทพฯ – กาฐมาณฑุ – ลุมพินี – กุสินารา – สาวัตถี – พาราณสี – พุทธคยา – กรุงเทพฯ

 

ประเภทผู้ปฏิบัติธรรม
            ๑.  สำหรับประชาชนทั่วไป
:
                        ๑.๑)  พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ บริเวณสนามมหาโพธิ์ สารนาถ สาลวโนทยาน อุทยาน ลุมพินี
                        ๑.๒)  วัดไทยในสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร, วัดไทยสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ, วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ, วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล
            ๒.  สำหรับข้าราชการและนักศึกษาชาวไทยในประเทศอินเดีย-เนปาล
:
                        ๒.๑)  สายประเทศอินเดีย ที่วัดไทยพุทธคยา และวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
                        ๒.๒)  สายประเทศเนปาล ที่วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล
            ๓.  ผู้ศรัทธาเข้าปฏิบัติธรรม
:
                        ๓.๑)  พุทธบริษัทชาวไทย
                        ๓.๒)  นานาชาติ ผู้สนใจเข้าร่วมปฏิบัติ
                        ๓.๓)  ข้าราชการ องค์กร ผู้ปฏิบัติงานในอินเดีย-เนปาล
                        ๓.๔)  นักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาในอินเดีย-เนปาล

 

สถานที่ปฏิบัติธรรม
            ๑.  ตามพุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ
                  -  สถานที่ประสูติ คือ ลุมพินีวัน
                  -  สถานที่ตรัสรู้ คือ มหาโพธิมณฑล
                  -  สถานที่แสดงปฐมเทศนา คือ สารนาถ
                  -  สถานที่ปรินิพพาน คือ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา
            ๒.  ตามพุทธสถานที่สำคัญ คือ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ วัดเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี เขาคิชฌกูฏ ฯลฯ
            ๓.  ตามวัดไทยในพุทธสถาน ๔ แห่ง คือ
                  -  วัดไทยพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร
                  -  วัดไทยสารนาถ เมืองพาราณสี
                  -  วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุศินาคาร์
                  -  วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

 

สถานที่ควรรู้เห็น และกราบไหว้
            การเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน จัดรายการลงในพุทธสถานเป็นสื่อนำไปสู่หลักธรรม และสาระของการปฏิบัติธรรมในรูปแบบการสัมมนาสัญจร ดังนี้
            สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ (พุทธคยา)
:
            ๑)  มหาเจดีย์พุทธคยา
            ๒)  สัตตมหาสถาน-โพธิบัลลังก์-อนิมิสเจดีย์-รัตนจงกรมเจดีย์-รัตนฆรเจดีย์-ต้นอชปาลนิโครธ-ต้นมุจลินท์-ต้นราชายตนะ
            ๓)  ต้นพระศรีมหาโพธิ์
            ๔)  พระแท่นวัชรอาสน์
            ๕)  แม่น้ำเนรัญชรา
            ๖)  บ้านนางสุชาดา
            ๗)  ท่าสุปปาติฏฐะ สถานที่ลอยถาดทอง
            ๘)  ดงคสิริ เขาบำเพ็ญเพียร
            ๙)  คยาสีสประเทศ
            ๑๐)  วัดนานาชาติ ฯลฯ

            สังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ (พาราณสี)
:
            ๑)  เมืองพาราณสี โรงเรียนเตรียมพระโพธิสัตว์
            ๒)  อิสิปตนมฤคทายวัน
            ๓)  สารนาถ ที่แสดงปฐมเทศนา
            ๔)  อุบัติสังฆรัตนะ
            ๕)  สถูปเจาคันธี
            ๖)  ธัมเมกขสถูป
            ๗)  ยสเจตียสถาน
            ๘)  มูลคันธกุฎี
            ๙)  ศิลาจารึกพระเจ้าอโศก
            ๑๐)  พิพิธภัณฑ์สารนาถ มีพระพุทธรูปศิลปะเลิศล้ำ สวยงามที่สุดในโลก สร้างด้วยหินทรายจากชูนาร์ สมัยคุปตะ ประทับใจผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
            ๑๑)  แม่น้ำคงคา สถานที่พราหมณ์ลอยบาป

            สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ (สถานที่ประสูติ)
:
            ๑)  สถานที่ประสูติ ตำบลลุมบินเด อยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ
            ๒)  ศิลาจารึกอโศกมหาราช ปักไว้ตรงที่ประสูติของพระสิทธัตถราชกุมาร เป็นอนุสาวรีย์ที่มีค่าที่สุดในทางพุทธประวัติ
            ๓)  อักษรจารึกที่เสาอโศก
            ๔)  มายาเทวีวิหาร ภายในมีรูปพระนาง สิริมหามายาเทวีแกะสลักด้วยหิน พระพุทธมารดายืนประทับเหนี่ยวกิ่งสาละ และข้างหน้าเป็นรูปเจ้าฟ้าชายสิทธัตถราชกุมารกำลังก้าวพระบาทไปบนดอกบัว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากของชาวฮินดู-เนปาล
            ๕)  วัดไทยลุมพินีและวัดนานาชาติ ที่สร้างอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา

            สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ (สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน)
:
            ๑)  นครกุสินารา สาลวโนทยาน
            ๒)  บ้านนายจุนทกัมมารบุตร สถานที่ถวายอาหารมื้อสุดท้าย
            ๓)  พระสถูปปรินิพพาน ที่ปรินิพพานกับที่ตั้งพระพุทธสรีระ
            ๔)  พุทธวิหารปรินิพพาน ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรปางนิพพาน
            ๕)  วิหารมถากัวร์ ที่พระพุทธเจ้าปางภูมิสัมผัส
            ๖)  มกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ
            ๗)  โทณพราหมณ์เจดีย์ ที่แจกพระบรมสารีริกธาตุ
            ๘)  แม่น้ำกกุธานที น้ำหยดสุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงเสวย
            ๙)  กุสินารา เป็นเมืองต้นคิดริเริ่มการทำสังคายนา ตามความในมหาปรินิพพานสูตร

            เมืองราชคฤห์-นาลันทา
:
            ๑)  วัดเวฬุวัน สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสโอวาทปาฏิโมกข์
            ๒)  ตโปธาร น้ำพุร้อน
            ๓)  พระมูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชกูฏ
            ๔)  เรือนคุกขัง ที่พระเจ้าพิมพิสารถูกขังโดยพระเจ้าอชาตศัตรู
            ๕)  วัดชีวกัมพวัน ที่หมอชีวกสร้างโรงพยาบาลถวาย
            ๖)  พระคลังมหาสมบัติของพระเจ้าพิมพิสาร
            ๗)  ถ้ำสุกรขาตาและถ้ำพระโมคคัลลาน์

            เมืองนครสาวัตถีโบราณ
:
            ๑)  วัดเชตวันมหาวิหาร ที่พระพุทธเจ้าจำพรรษานานที่สุด
            ๒)  สถานที่พำนักหมู่พระอรหันต์ อสีติมหาสาวก และภิกษุณี
            ๓)  มูลคันธกุฏี ที่ประทับของพระพุทธเจ้า
            ๔)  อานันทโพธิ ต้นโพธิ์ที่ปลูกเป็นอนุสรณ์แทนพระพุทธองค์
            ๕)  ที่แผ่นดินสูบพระเทวทัต และนางกิญจมาณวิกา
            ๖)  บริเวณบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และบ้านปุโรหิตบิดาองคุลิมาล
            ๗)  สถูปที่พระพุทธองค์แสดงยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์

            อนุสรณ์สถานในเนปาล
:
            ๑)  สวนลุมพินีวัน บริเวณโบราณสถาน
            ๒)  วังเก่ากบิลพัสดุ์ ตำหนักสิทธัตถราชกุมาร
            ๓)  วัดนิโครธาราม พระอารามหลวงของชาวศากยะ
            ๔)  สถานที่ประสูติพระกกุสันโธ กับพระโกนาคมโน
            ๕)  นครโบราณเทวทหะ เมืองแห่งพุทธมารดา
            ๖)  รามคาม สถานที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุจากพุทธคยา
            ๗)  นครกาฐมาณฑุ-ปาฏาน-ภัคตาปูร์-โปกขรา-นาคารโกฏ

 

รูปแบบการปฏิบัติธรรม
            ๑)  ตามธรรมเนียมผู้จาริกแสวงบุญทั่วไป
            ๒)  ตามมรรค วิถีธุดงค์วัตร ผู้ถือศีล ๕ และศีล ๘
            ๓)  ตามประเพณีบรรพชา อุปสมบทแล้วจาริกไปนมัสการ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง
            ๔)  ตามวัฒนธรรมการปฏิบัติธรรมตามวัด หลักสูตร ๔ คืน ๕ วัน
            ๕)  ตามหมู่คณะผู้เดินทางไปแสวงบุญ หรือเป็นรายบุคคล

 

วิธีสัมมนาเชิงวิชาการ
            ๑.  บรรยายเชิงวิชาการบนรถขณะเดินทาง จากพุทธสถานแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่ง
            ๒.  ภาคปฏิบัติเชิงเนื้อหาตามพุทธสถานแห่งนั้นๆ พร้อมกับนำสารัตถธรรมมาพิจารณาในส่วนศึกษาและปฏิบัติจริง
            ๓.  สัมมนาเชิงประยุกต์ธรรมนำไปปฏิบัติ ตามวัดที่มีความพร้อมตามหัวข้อที่ประสงค์ เน้นประโยชน์ของหมู่คณะ
            ๔.  จัดสัมมนากับพระธรรมทูตในพื้นที่ ผู้มีความเชี่ยวชาญ โดยมหาเถรสมาคมให้เป็นผู้แทนปฏิบัติงาน
            ๕.  การจัดรายการควรเป็นโครงการร่วมกับพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่สัมมนาและเป็น
                 
ผู้บรรยาย หาเป็นเพียงการจัดไปท่องเที่ยวทัศนศึกษาอย่างเดียวจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มทุน

 

สถานที่บรรยายธรรม และภาคปฏิบัติ
            ๑.  พุทธสถาน ๔ ตำบล
:
                        ๑.๑)  บริเวณมหาเจดีย์ และโดยรอบโพธิมณฑลสถาน พุทธคยา
                        ๑.๒)  บริเวณธัมเมกสถูป มูลคันธกุฎี เมืองสารนาถ พาราณสี
                        ๑.๓)  บริเวณสาลวโนทยานกับสถูปปรินิพพาน เมืองกุสินารา
                        ๑.๔)  บริเวณอุทยาน สวนลุมพินี อาคารและบริเวณเสาหินอโศก เมืองลุมพินี
            ๒.  วัดไทยในพุทธสถาน
:
                        ๒.๑)  วัดไทยพุทธคยา ในพระอุโบสถกับศาลาปฏิบัติธรรม
                        ๒.๒)  วัดไทยสารนาถ ในพระอุโบสถกับศาลาปฏิบัติธรรม
                        ๒.๓)  วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ในพระอุโบสถกับศาลาปฏิบัติธรรม
                        ๒.๔)  วัดไทยลุมพินี ในพระอุโบสถกับศาลาปฏิบัติธรรม
            ๓.  วิชาหลักที่บรรยาย
:
                        ๓.๑)  พุทธประวัติ สาวกประวัติ
                        ๓.๒)  ธรรมะในพระไตรปิฎก
                        ๓.๓)  วิปัสสนากรรมฐาน
                        ๓.๔)  ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ
                        ๓.๕)  วัฒนธรรมประเพณีที่ควรรู้ ศาสนาเปรียบเทียบ
                        ๓.๖)  สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ
            ๔.  สารัตถะเชิงปฏิบัติการ
:
                        ๔.๑)  ภาคปฏิบัติภาวนาพุทธานุสสติ สติปัฏฐาน
                        ๔.๒)  ภาคธรรมสาธยาย ทำวัตรเช้า-เย็น สวดมนต์ในพระสูตรตามพุทธสถานนั้นๆ
                        ๔.๓)  ภาคธรรมบรรยาย วิชาการ พุทธประวัติ ประวัติศาสตร์ พระไตรปิฎก
                        ๔.๔)  ภาคศาสนพิธี
: พิธีบูชา เครื่องบูชา การทำบุญ

 

วิทยากรและเจ้าหน้าที่
            ๑.  พระธรรมทูตไทย ประจำประเทศอินเดีย
            ๒.  พระวิปัสสนาจารย์ และอาจารย์กรรมฐานจากสำนักต่างๆ
            ๓.  พระนักศึกษาไทย ที่กำลังศึกษาอยู่ตามมหาวิทยาลัยในอินเดีย
            ๔.  พระบัณฑิตปฏิบัติงาน จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย
            ๕.  วิทยากร เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี (ประเทศ
                 อินเ
ดีย), สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกาฐมาณฑุ (ประเทศเนปาล) และสถานกงสุลใหญ่เมืองกัลกัตตา
            ๖.  ผู้ศรัทธาอาสาสมัครจากประเทศไทย ท้องถิ่นและนานาชาติ

 

กำหนดวันเวลา
            -  ๔ คืน ๕ วัน รวมอยู่ในพุทธภูมิ ๑๑ วัน
            -  ๔ คืน ๕ วัน รวมอยู่ในพุทธภูมิ ๗ วัน

 

ตารางกิจวัตรประจำวัน (ตัวอย่าง)
            ๐๕.๐๐               ตื่นนอน ทำสรีรกิจ
            ๐๖.๐๐               ทำวัตร สวดมนต์ภาคเช้า เจริญสมาธิ
            ๐๗.๐๐               รับประทานอาหารเช้า
            ๐๙.๐๐               ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ ฟังบรรยายธรรม
            ๑๑.๓๐               รับประทานอาหารกลางวัน
            ๑๒.๐๐               พักผ่อน
            ๑๓.๐๐               นำปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ เดินจงกรม ฟังบรรยายธรรม พระสูตรสำคัญในสถานที่นั้น
            ๑๗.๐๐               ดื่มน้ำปานะ-พักผ่อน
            ๑๘.๐๐               เดินจงกรม เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เวียนประทักษิณรอบพระมหาเจดีย์ พระอุโบสถ
                                    หรือพุทธสถานสำคัญ
            ๑๙.๐๐               สวนมนต์ ทำวัตรเย็น ปฏิบัติเจริญสติ ฟังบรรยายธรรม
            ๒๑.๐๐               พักผ่อน

 

สหธรรมมิกผู้ร่วมงาน
            ๑.  การท่องเที่ยวอินเดีย-เนปาล
            ๒.  สถานทูตอินเดียกับสถานทูตเนปาล ในประเทศไทย
            ๓.  บริษัทการท่องเที่ยว ที่เคยจัดคณะไปแสวงบุญทุกปี
            ๔.  สายการบินอินเดียนแอร์ไลน์, ภูเก็ตแอร์, แอร์ลังกา
            ๕.  สำนักปฏิบัติธรรม องค์กร ชมรมที่จัดไปสังเวชนียสถาน
            ๖.  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย
            ๗.  พระธรรมทูตไทย ประจำประเทศอินเดีย
            ๘.  สถานทูตไทย ประจำอินเดียและเนปาล

 

ติดต่อประสานงาน
            ๑.  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)
                  โทร. (๖๖) ๒๔๔๑-๔๕๑๕, ๒๔๔๑-๔๕๑๖
            ๒.  กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
                  โทร. (๖๖) ๒๘๘๓-๔๐๓๕, ๒๘๘๓-๔๐๗๓
            ๓.  วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
                  โทร. (๙๑) ๖๓๑-๒๒๐๐๔๗๐
            ๔.  วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย
                  โทร.  (๙๑) ๕๕๖๔-๒๗๑๑๘๙
            ๕.  วัดไทยลุมพินี อุทยานลุมพินีวัน ประเทศเนปาล
                  โทร. (๙๗๗) ๗๑-๕๘๐๒๒๒

             นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพุทธภูมิที่นำเสนอ เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรของชาติด้วยหลักของพระพุทธศาสนา ขณะที่บ้านเมืองกำลังแสวงหากัลยาณมิตร ช่วยกันคิดแก้ปัญหาให้บ้านเมืองที่รุมเร้าเข้ามาทุกทิศทาง การไปปฏิบัติธรรมในรูปแบบของจาริกแสวงบุญ ก็น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายอันเดียวกันได้เป็นอย่างดี

 

สำเร็จสมปรารถนา
เมื่อสักการบูชาสังเวชยสถาน ๔ ตำบล

สถานที่ประสูติ : ลุมพินีวัน
            : ได้ชีวิตดี มีหลักประกัน
           
: ได้ความเป็นเลิศ ประเสริฐสุด
           
: ได้ความก้าวหน้า ยอดเจริญ ๙๗๙

สถานที่ตรัสรู้
: พุทธคยา
            : ได้ปัญญาเป็นอาวุธ
           
: ได้รับความรู้แจ้ง แทงตลอด
           
: ได้ชัยชนะด้วยบารมีไม่มีแพ้

สถานที่แสดงปฐมเทศนา
: พาราณสี
            : ได้บริวาร เปิดมิตร ปิดศัตรู
           
: ได้ความไม่วุ่นวาย ไม่ขัดข้อง
           
: ได้ดวงตาเห็นธรรมล้ำเลิศ

สถานที่ปรินิพพาน
: นครกุสินารา
            : ได้อายุยืนยาว ป่วยหาย หน่ายรัก
           
: ได้มรดก ยกฐานะ มีทรัพย์นับไม่ถ้วน
           
: ได้พ้นจากเครื่องเสียดแทนการทำร้ายทั้งปวง

พระราชรัตนรังสี
๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

 

“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ
พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย
อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ...”

 

...จงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุข
แก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์
เกื้อกูลและความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

 

วิ.มหา.๓๒/๓๒

 

 

_______________________________________________________________________


อยากอ่านเรื่องราวแบบเต็มอิ่ม พร้อมภาพประกอบสวยๆ
สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่
มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย
373/4-5 ซอย รามคำแหง 39 (เทพลีลา แยก 7) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โทร. 02-1844539-41

 

หนังสือดี ต้องมีเก็บ

 

อย่าลืมไปหามาอ่านกันนะคะ




งานเขียนพระธรรมโพธิวงศ์

สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๒
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๓
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๔
วาทีหิมาลัย
ร้อยมุมมอง ส่องอินเดีย
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๑)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๒)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๓)
อินไอเดีย
พระราชรัตนรังษี ในบ้านเกิดพระพุทธเจ้า
วิสัยทัศน์การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ...พระราชรัตนรังษี
อินเดียในมุมมองของบุคคลสำคัญ
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."เกี่ยวกับผู้เขียน" พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ)
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."วาทะ ๑"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๕.... "นาลันทา"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๖..."แผ่นดินมคธ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๗..."เขาคิชฌกูฏ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๘ ...."เมืองปาฏลีบุตร"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๙ .... "นครเวสาลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๐ .... "นครสาวัตถี อาณาจักรโกศล"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๑ .... "มหานครเดลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๒ .... "เมืองกัลกัตตา"



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang