วิสัยทัศน์การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ...พระราชรัตนรังษี
ReadyPlanet.com
dot dot
วิสัยทัศน์การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ...พระราชรัตนรังษี


บทความต่อไปนี้ คัดลอกจากหนังสือ
"วิสัยทัศน์การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ" โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ) Ph.D
เนื้อหาและบทความทั้งหมดที่นำมาลงในคอลัมน์นี้ ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน
เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เรื่องราวในพุทธประวัติ แก่ผู้สนใจทั่วไป
น้องๆพี่ๆที่เข้ามา Copy ข้อมูล เพื่อไปทำรายงาน หรืออ่านเพื่อเป็นความรู้ ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยค่ะ

 แจ้งการคัดลอกข้อมูล แนะนำ หรือ ติชม ..คลิ้กที่นี่



 

 

วิสัยทัศน์การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ

 

คำอนุโมทนา

            พระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาขึ้นในโลก เพื่อให้ผู้แสวงหาทางเจริญก้าวหน้าในชีวิต นำพุทธธรรมที่ทรงแสดงไปปฏิบัติ และรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ยังผลให้ผู้ปฏิบัติพบสุข สงบ ร่มเย็น ตลอดถึงความพ้นทุกข์ได้

            พระนักศึกษาที่ไปศึกษาในพุทธภูมิ ซึ่งเป็นที่กำเนิดพระพุทธศาสนาอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เกิดความสำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระกรุณาคุณ จึงไปร่วมกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ ในที่ใกล้มหาวิทยาลัยที่ตนอาศัยอยู่เป็นที่น่าอนุโมทนา

            ส่วนที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ นักศึกษาผู้รับทุนจากกองทุน “พระพุทธสยัมภูญาณ” ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยพาราณสี มหาวิทยาลัยเดลี มหาวิทยาลัยโครักขปูร์ มหาวิทยาลัยเอารังกาบาด มหาวิทยาลัยอัครา มหาวิทยาลัยมคธ ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเพื่อช่วยงานพระพุทธศาสนาขึ้น และได้ขอถอดเทปการบรรยาย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงขอแสดงความชื่นชมยินดีในน้ำใจของพระนักศึกษา ผู้คิดไกล ใจกว้าง ใฝ่สูง ไว้ในโอกาสนี้ 

 “ผมภูมิใจกับงานเผยแผ่มาก
เพราะเป็นงานรับใช้พระพุทธเจ้า
ที่เราต้องอุทิศตน มอบใจ กาย ถวายชีวิตแด่พระองค์
สุดแต่จะทรงใช้อะไร และเห็นว่าเป็นเรื่องของเกียรติ
คุณธรรม และความสำเร็จของศาสนา”

อยากกินปลาตัวใหญ่  ต้องขุดบ่อให้กว้างและลึก
ต้องการโตไปในวันข้างหน้า  ต้องกล้าทำงานใหญ่
ใจถึง  ตรึงมั่นในอุดมการณ์ อย่าหวั่นไหว

  (พระราชรัตนรังษี)
พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย
ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดีย
ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ราชอาณาจักรเนปาล

____________________________________________

 

ท่านพระเถรานุเถระ
เพื่อนสหธรรมิกนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกท่าน

            ก่อนอื่นขอแสดงความชื่นชมยินดีกับคณะผู้มีน้ำใจ เจ้าของโครงการและเสนอกิจกรรมนี้ จึงมีการชุมชมกันของพระนักทำงาน งานเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นงานมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเป็นธุระในพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างยิ่ง ธุระในศาสนาเราทราบกันดีว่า มีอยู่ ๒ ธุระ คือ คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ ธุระทั้งสองนี้เมื่อเราเรียนรู้ปฏิบัติตามได้แล้ว นำออกมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นเขายอมรับได้ รู้เห็นตามเราได้นั้น จะต้องอาศัยการเผยแผ่ที่มีเทคนิคในการนำเสนอชั้นเยี่ยม จึงจะสัมฤทธิ์ผล

            ทุกท่านที่มาชุมนุมกันเพื่อสัมมนาเตรียมการก่อนออกปฏิบัติงานเผยแผ่ในพุทธภูมิ ซึ่งถือว่าเป็นแดนกำเนิดพระพุทธศาสนา (เป็นเป้าสายตาของชาวพุทธที่มานมัสการถึงสังเวชฯ ทั้ง ๔ ด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาอย่างยิ่ง) เราจึงต้องตั้งใจมาเรียนรู้ ศึกษาหาทางพัฒนาตนเองด้วยพุทธวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงวางแบบบทกฎการเผยแผ่ไว้ โดยมีพุทธสถานสำคัญต่างๆ คือ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลเป็นหลัก แม้กระทั่งผืนแผ่นดินแดนกุสินาราพุทธสถานแห่งนี้ เม็ดทรายที่ทับซ้อนกันบนผืนปฐพีที่เราท่านทั้งหลายกำลังสัมมนาอยู่นี่ นี้คือเรือนเพราะชำสติปัญญาที่เกิดการรวมกลุ่มหมู่อรหันต์ ๕๐๐ องค์ คราวทำสังคายนาครั้งที่ ๑

            พุทธสถาน คือสุดยอดของความสำคัญ ๔ แห่งนั้น เราผู้นับถือพระพุทธศาสนาพร้อมใจกันยกขึ้นเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์สถิตในดวงใจสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนี้ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงมอบเป็นขุมทรัพย์มหาศาลให้ชาวพุทธได้มาแสดงตน แสดงสิทธิ์ครอบครอง และรับไปเป็นสมบัติอย่างเสมอภาพ มีพลังนำกลับไปเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตจิตใจได้อย่างมหัศจรรย์

 

สืบสานงานธรรมทูตไทยในต่างแดน

            ทุกท่านที่มาในวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีใจรักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แม้จะมากันคนละทาง ห่างกันคนละถิ่น จากที่ใกล้ไกล ทั้งทางเหนือใต้ น่าชื่นชมในน้ำใจจริงๆ ทุกท่านมาอินเดีย เพื่อมาศึกษาเล่าเรียนหาปริญญาบัตร ไว้เป็นแม่แรงยกระดับ ปรับฐานะของตนให้สูงขึ้นตามโลกนิยม ตามสังคมที่เขาตั้งมาตรฐานไว้

            งานการศึกษาที่มหาวิทยาลัยของทุกท่านก็มีมากอยู่แล้ว หรือเรียกว่าภาระล้นไม้ล้นมือกันอยู่ทั้งนั้น เรามาเรียนอินเดีย ก็รู้กันอยู่ว่าอาการน่าห่วงใยด้วยกันไม่น้อย แต่ด้วยมีใจรักงาน ที่หลวงปู่ หลวงพ่อ ท่านใช้เป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จ จนเรามีทุนรอนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน การศึกษา นั้นก็คืองานเทศนา งานสอน งานเผยแผ่ ที่ทำได้ผลมาแล้ว

            หลวงพ่อของพวกเรา ท่านทำงานหนักมาก่อน จึงมีอานิสงส์ผลบุญตกทอดมาถึงพวกเรา ทำให้ได้อยู่สบาย ได้เรียนสบาย มองเห็นอนาคต ภายหน้าก็น่าจะสบายไปด้วย แต่ความสบายเหล่านั้น เรายังเห็นลึกลงไปว่า หลวงปู่หลวงพ่อ ที่ท่านส่งพวกเรามาเรียน ท่านไม่ได้อยู่สบายอย่างที่เราคิดเลย เมื่อสำนึกเช่นนี้เหมือนไฟลุกโพรงขึ้นส่องทางให้มารวมกลุ่มประชุมทางความคิดตามแนวที่ว่า สงวนจุดต่างประสานจุดร่วม และนัดหมายมารวมกัน ระดมสมอง ประคองศรัทธาออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาสาเป็นพระนักเผยแผ่ในร่างนักศึกษาผู้เป็นบัณฑิต เป็นความหวังของคณะสงฆ์ไทย

            ขออนุโมทนาในเจตนาอันสูงส่งของทุกท่าน หากพระพุทธศาสนามีผู้คนแฟนพันธุ์แท้อย่างพวกท่าน เพียงคิดอ่านกันอย่างนี้ก็โล่งอกของผู้นำคณะสงฆ์ เพราะมองเห็นอนาคตอันงดงามของศาสนาในวันข้างหน้าไว้แล้ว

            หากเรามีทรัพยากรบุคคลที่คิดได้ อ่านออก บอกถูกเช่นนี้เมื่อมีประสบการณ์มีความชำนาญแล้ว จะได้กลับไปเป็นแม่งานเป็นแม่แรง และเป็นแม่บทให้กับพระพุทธศาสนาในมาตุภูมิ หมายถึงบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเราในอนาคตได้

            เรามาสัมมนางานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในวันนี้ด้วยความตั้งใจอุตสาหะ ปักหลักถักทอให้เป็นงานที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงต่อจากงานที่พระอรหันต์ท่านทำไว้ เรียกว่า งานนี้เป็นโครงการสืบทอดจากพระพุทธเจ้าโดยตรงก็ได้ เพราะงานพระธรรมทูตชุดแรกเกิดขึ้นตามพุทธประสงค์ เพราะว่าในลักษณะการจัดสรร การบริหาร คณะสงฆ์ท่านได้แบ่งโซน แบ่งกอง แบ่งหน้าที่กันไปเพื่อความสะดวกเป็นงาน การปกครอง งานการศึกษา เผยแผ่ สาธารณูปการและศาสนสงเคราะห์ ลองมาดูกันว่ามีอย่างไรบ้าง
 

การเผยแผ่นำชาวพุทธทั้งผองร่มเย็น

            ในบรรดา ๔ องค์กร หากจับมาชั่ง ตวง วัดดูแล้ว ก็น่ามีน้ำหนักแห่งความสำคัญเท่าๆ กัน แม้ขนาดของรูปร่างอาจไม่เท่ากัน แต่งานที่มีอายุยืนยาวและอาวุโสที่สุด คือ การเผยแผ่ อย่างที่เห็นกันนี้แหละ ถ้าจะให้น้ำหนักน้ำเลี้ยงองค์กรเหล่านั้น ก็ได้การเผยแผ่นั้นเล่าเป็นทั้งอาหารและน้ำเลี้ยง กับทั้งเป็นเสบียงแจกจ่ายออกไปสู่สังคมได้มาก และเห็นได้ชัดเจนกว่า

            ถ้าจะมองมาที่น้ำหนักการแบ่งสาย การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่สืบสานตกทอดโดยตรงจากพระพุทธเจ้า และเป็นงานที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยพระหัตถ์ และปฏิบัติด้วยพระองค์เอง เพียงพรรษาแรกก็ทรงหมุนกงล้อแห่งธรรม จัดขบวนทัพขับเคลื่อนหมู่สงฆ์ทั่วชมพูทวีปโดยใช้หลักธรรมทูต อันเป็นพุทธวิถีสันติภาพ เป็นธงชัยนำขบวนทัพที่กึกก้องเกรียงไกร

            ส่วนงาน การปกครอง ก็สำคัญ เป็นแกนกลางความมั่นคงของพระศาสนาและความมั่นคงของมวลชน การบริหารจัดการในงานปกครองนั้น เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าได้ประกาศศาสนา ๙ พรรษาผ่านไปแล้ว ความว่ามีพระสงฆ์ที่บวชมาด้วยเจตนาไม่กล้าแกร่งด้วยศรัทธาเหมือนชุดแรกๆ มีการแปลเจตนานำพาผู้ศรัทธาออกนอกลู่นอกทาง เมื่อหมู่สงฆ์ดีๆ เห็นว่ามีพวกเข้ามาบวชแล้วชักเรือออกไปไกลจากคลองธรรม

            การบวชเข้ามาโดยไม่รู้ซึ้งถึงพุทธธรรม ทำให้เกิดความพร่ามัวในสังฆมณฑล ด้วยเหตุนี้จึงมีพระวินัยเข้ามาวางระเบียบจัดลำดับสำคัญก่อนหลัง เน้นไปที่ประโยชน์ของมหาชน และความผาสุกของหมู่คณะ

เป็นหลักใหญ่ เรื่องกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เป็นบัญญัติ อนุบัญญัติตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ในส่วนการศึกษา ครั้งพุทธกาลนั้นทุ่มน้ำหนักไปที่ไตรสิกขา จำแนก แจกจ่ายให้ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องร้อยคำสอนให้เข้าถึงผู้รับได้อย่างสมสัดสมส่วน

            การจัดการศึกษาตามวิถีพุทธเป็นเส้นตรง โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นบรมครู คือ เป็นครูของครูในยุคนั้น ผู้ใดได้ฟังตาม ปฏิบัติตามก็เห็นผลสำเร็จ เป็นอริยบุคคลตรงเป้าหมายของการสอน เน้นไปที่อริยสัจ ๔ ให้ผู้ศึกษาได้ศึกษาเฉพาะข้อธรรมที่ตนเองรับไปปฏิบัติได้เรียกว่ามีอิสระในการเลือกสรร ผู้ศึกษาก็ใฝ่รู้จริงๆ ศรัทธาต่อวิธีการดับทุกข์ในแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ จึงเกิดมีพระอริยบุคคลที่จบการศึกษาโดยสิ้นในสายวิชาต่างๆ เรียกว่า เป็นผู้เลิศในทางเอตทัคคะหรือผู้ชำนาญเฉพาะทาง นั่นคือการเรียน การสอนที่ให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนเป็นแกนกลางโดยเฉพาะ ตรงนี้ทำให้มองเห็นว่าการที่จะเข้าไปศึกษาที่สำนักใด ดูเหมือนว่าจะตั้งเป้าสายตาไปที่ สัตถุ คือผู้สอน หมายถึง ครู นั่นเองเป็นหลัก ส่วนวิชา เนื้อหา ครูเป็นผู้ป้อนตามกำลังของลูกศิษย์

 

ครูสั่งสอนปลูกวิชาอยู่ในนิสัยใจคอ

            สมัยก่อน พุทธภูมิเป็นตลาดทางความคิดที่ใหญ่มาก ตลาดวิชาการที่อิสระในโลก ไม่มีใครเปิดร้านได้เกินชมพูทวีป ความรู้มีมากทุกสาขา ครูจึงเป็นบุคคลต้นแบบที่ผู้ศึกษาจะต้องเลือกคัด ให้ดีตามที่ตนเองรับนิสัยใจคอของท่านได้ จนถึงยอมให้ท่านเป็นผู้ฝึกเราในทุกกรณีนั้น การฝึกหัดเรียนรู้ตามลักษณะนิสัยที่ครูประพฤติ จึงเป็นการสอนที่ไม่เหนื่อย เพราะความรู้ที่ครูสอนก็คือวิชาการในนิสัย ในความประพฤติของครูนั่นเอง นี่จะออกนอกเรื่องไปมากแล้ว แต่ก็เป็นประโยชน์

            ขอเน้นว่า ถึงอย่างไรก็ตาม งานเผยแผ่เป็นกระบวนการสอนเน้นที่ให้คนเข้าใจแล้วค่อยเรียนรู้ และเลียนแบบ หากผู้สอนรู้อย่างหนึ่ง ประพฤติอีกอย่างหนึ่ง ผลก็ออกมาไม่สมบูรณ์ การเผยแผ่จะเป็นตัวเน้น ตัวเชื่อม ตัวดึงธาตุขันธ์ต่างๆ ให้เชื่อโยงต่อขบวนการทั้งหลาย นี่เพียงยกแม่น้ำทั้ง ๕ มา เพื่อจะให้เห็นความสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยรวมๆ เท่านั้น

            ยิ่งพวกเรามาอยู่ที่อินเดีย ความเป็นอยู่ของเราพูดให้ใครฟังเขาก็ไม่เข้าใจ แต่พอนำผลการศึกษาที่เราเรียนมาอย่างดีจากประเทศไทยมาเผยแผ่ให้แขกรับรู้ เราจึงเกิดค่าราคาขึ้นมา เขาก็อยากมาฟังเรา อยากรู้จักกับเรา การทำงานเช่นนี้ท่านอย่าน้อยใจนะครับว่า เราไม่มีตำแหน่งหน้าที่ทางการปกครองทางการศึกษา ชีวิตเราจะไม่ราบรื่น จะอยู่ได้ไม่นาน

            นี่แหละครับท่าน น้ำเลี้ยงให้พระสงฆ์องค์เจ้าทำงานเพลิดเพลินจนลืมคิดไปเรื่องอื่น พอหันกลับมามองอายุ ตายละหว่า!!! สี่สิบ...กว่าขึ้นไป แก่เกินแกงแล้วสิเรา อยู่ไปเถอะ เผื่อชีวิตจะวิมุติ...หลุดพ้นบ้าง อย่าไปมองว่าหนทางแห่งความเจริญต้องไปจ่อคิว รอคน รอแต่งตั้งบรรจุเข้ากินตำแหน่งทางการศึกษา คิดอย่างนี้แสดงว่าความรู้ที่เราเรียนมาเป็นหมัน ไม่เกิดอะไรงดงามตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เอาเลย งานการเผยแผ่ จะรอให้ตั้งรอให้แต่ง ก็จะถูกศาสนาอื่นเขาแย่งศาสนิกไปคนแล้วคนเล่า เรียกว่าสมาชิกในศาสนาเราร่อยหรอลงไปทุกที คิดแล้วใจหาย

 

การเผยแผ่เป็นงานอิสระกว้างไกล

            งานการศึกษา การปกครอง มีระบบแบบแผนไว้ให้เดินทางตามแนว ถ้าเดินตามก็เจริญแน่ ถ้าแตกแถวก็อาจช้ำชอกก็ได้ ไม่แน่ แต่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นงานอิสระ กว้างไกล ไม่ว่าที่อินเดีย ยุโรป อเมริกา ทำได้ทั้งนั้น ไม่ต้องไปรอบรรจุให้เสียเวลา มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดำเนินการได้เลย

            สรุปว่าที่พรรณนามาถึงป่านนี้ ก็เพียงให้เห็นงานเผยแผ่ในฐานะพระธรรมทูตต้องเป็นหัวขบวน ไม่ใช่ห้อยท้ายอย่างนี้ ขืนไม่กลับลำบทบาทเสียใหม่แล้ว เราจะนำพุทธบริษัทไปทางไหนกันแน่ ที่พุทธบริษัท ชาวบ้าน ผู้ครองเรือน เขามานั่งปรับอาบัติพระสงฆ์องค์เจ้าเหมือนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนักบวชอย่างพวกเราหนักมือขึ้นทุกวัน หากเพิ่มกำลังด้านนี้ คือตั้งหน้าตั้งตาเผยแผ่ จะเป็นทางช่วยกันแก้ปัญหาให้งานสายปกครองไปด้วย และช่วยวางรากฐานการศึกษา เป็นบูรณาการไปในตัว

 

สาธารณูปการสานแบบอย่างทางเดิน

            งานสาธารณูปการเป็นการจัดรูปแบบให้ผู้มีชีวิตเป็นพระให้มีงานทำตามที่ตนถนัด บางท่านเส้นทางการศึกษาไม่มีปริญญาห้อยท้าย ใช่ว่าจะหมดทางอยู่สิ้นทางเดินในเพศสมณะ ถ้าเรารู้จักการจัดการความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบที่เรามีอยู่ผลักออกมาโชว์ฝีไม้ลายมือให้ตรงตามความต้องการของสังคมเช่นนี้ ก็น่าอยู่ได้อย่างสบายทั้งชาติทีเดียว

            ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์แห่งนี้...หลายท่าน...ถ้าชั่งดูความรู้ก็น้อย เทศน์ก็ไม่เก่ง แต่ท่านมีจุดเด่นคือมีฝีมือในการก่อสร้าง เรียกว่ามีพรสวรรค์เชิงช่าง ชำนาญในทางสายนวกรรม ก็สามารถจะอยู่ร่วมกับผู้มีความถนัดอย่างอื่นได้อย่างหน้าชื่นตาบาน

            ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ผู้ชำนาญงานทางสายนี้ถูกจับยกฐานะขึ้นมาเป็นนั่นเป็นนี่ ชั้นนั้นชั้นนี้ โดยดูงานก่อสร้างมาเป็นเกณฑ์การตัดสินก็ดีเหมือนกัน เพราะสามารถวัดได้ด้วยสายตา ตัวเลข ราคา ค่างวดหรือความเล็กความใหญ่ของอาคาร ท่านครับ...แล้ว เมื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว ก็อีกแหละ ถ้าไม่มีงานเผยแผ่เข้าไปเป็นตัวเลี้ยง วัดนั้นก็เหงาหงอยทีเดียว เผลอๆ วังเวงเป็นป่าช้าอีกต่างหาก บางแห่งนะครับ มีบริษัทสร้างหนังผี ไปขอใช้สถานที่สร้างหนังวิญญาณพเนจรก็มีเหมือนกัน

            งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พูดกันในวันนี้ มิใช่รู้เรื่อง จับไมค์ไขปัญหา เปิดตำรา เทศนาเป็นอย่างเดียว จึงได้หลับหูหลับตา ชี้นำเฉพาะเรื่องการเผยแผ่ตามที่ตนเองถนัดเท่านั้น อาจจะใช่ ถ้าเราคิดแค่เป็นข้าวแดง แกงร้อน หรือจดจ่อที่เพียงเพื่อปากท้องเท่านั้น เพราะงานเผยแผ่นั้น ต้องรู้กว้าง รู้จริง รู้ยิ่งกว่าคนทำ ถ้ารู้เท่ากับที่ทำ ไม่สามารถนำไปบอกให้คนอื่นเขาทำตามได้

            พวกเราที่นั่งอยู่นี่ วันหนึ่งข้างหน้าดูโหงวเฮ้งแล้ว กลับไปเป็นสมภารเจ้าวัด เป็นเจ้าคณะ พระสังฆาธิการ มีระดับการปกครองทั้งนั้น ถึงวันแล้วก็อย่าลืมจัดขบวนทัพช่วยหลวงพ่อที่ส่งมาเรียน ปรับงานให้ถูกฝา ถูกตัว ถูกหัว ถูกหางในวัดของท่าน...นะครับ ความเจริญน่าจะชิงกันมาอยู่กับเรา อย่างไม่ต้องออกปากเชื้อเชิญ หรือไปบนบานศาลกล่าวอ้อนวอนขอความเจริญมาจากประเทศไหน ผมว่าความเจริญฉบับนำเข้าน่ากลัวไม่เบา

 

ประโยชน์คู่ความเรียบง่าย

            ขอย้อนเรื่องเบื้องหลังสักนิดว่า เรื่องสาธารณูปการหรืองานนวกรรม ซ่อมบำรุงอะไรต่อมิอะไรต่างๆ นั้นเป็นความจำเป็นสำหรับศาสนา ที่ต้องมีวัดวาอาราม ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างทางวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ที่ตั้งอยู่บนประโยชน์คู่กับความเรียบง่าย ตามที่เราพิจารณาในบทสวด ปะฏิสังขาโย นิโส เสนา สะนังฯ มองสะท้อนย้อนไปครั้งพุทธกาลว่า การก่อสร้างในสาธารณูปการ แปลงป่าสร้างวัดก็เพิ่งเกิดขึ้นได้คราวที่มีพระบรมพุทธานุญาตให้สงฆ์อาศัยอยู่ในกุฏิที่มีทายกถวายได้ นั่นคือเริ่ม งานสาธารณูปการ จุดเริ่มแรกเกิดที่กรุงราชคฤห์ ด้วยการถวายวัดเวฬุวันแห่งแรก  งานนวกรรมแรกๆ ยังไม่ได้เกิดขึ้น

            ต่อเมื่อมีภิกษุเข้ามาบวชมาก พระก็ไปสร้างกุฏิเองตามชอบใจ ไปตัดไม้บ้านเมืองเขาเข้า ถึงขั้นขัดแย้งกันก็มี จึงมีการวางระเบียบปฏิบัติด้วย สร้างกุฏิที่โบกด้วยปูนหรือดินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของจำเพาะเป็นที่อยู่ของตน เมื่อไม่ได้ขนาดตามแบบนอกใน เรื่องก็เลยไปกันใหญ่ ชาวบ้านพากันไม่พอใจ ห้ามปราม หนักเข้าก็ถึงกับปรับอาบัติพระเสียเลย การวางแผนรูปแบบของกุฏิ ที่อยู่อาศัย ค่อยเกิดขึ้นตามมาทีหลัง ดังที่เล่านี่แหละ แต่งานที่โชว์แบบเข้าตากรรมการ หมายถึงประโยชน์ ถึงชีวิตจิตใจ ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายครอบคลุมชมพูทวีปได้ในระยะสั้น คืองานเผยแผ่

            ทำงานอะไรก็ตาม ถ้าหากว่ามวลชนยอมรับเป็นที่ประจักษ์ให้คนทั้งหลายเห็นร่วมได้ งานอย่างนี้เป็นผลให้สำเร็จได้โดยเร็ว ถ้ามวลชนเขาไม่รู้เรื่องด้วย หรือรู้เฉพาะในกลุ่มพระสงฆ์ ก็จะมีผู้ตั้งข้อสงสัย บิ๊ก บิ๊ก เหมือนทำนาบนลานหิน ยากมากๆ หากไม่มีฐานมวลชนรองรับและเห็นชอบด้วย งานเผยแผ่ก็ล่มสลาย

 

บูรณาการแห่งการเผยแผ่

            พระพุทธศาสนาที่ขยายได้กว้างไกล ลงหลักปักฐานได้ในครั้งนั้น ก็ด้วยอาศัยการเผยแผ่นำหน้า เสมือนหนึ่งงานแนวหน้าที่ถือธงชัยของพระอรหันต์ดังใน ธชคสูตร พระสูตรที่ชูธงชัยของพระอริยเจ้านำขบวน กล่าวคือ หัวใจหรือกำลังใจของการทำงาน คนทั้งหลายในสมัยนั้นหันมาร่วมงานกับพระพุทธเจ้าก็เพราะความเข้าใจ พระพุทธเจ้าสอนในสิ่งที่คนอื่นเขารู้ตามได้ สอนให้สิ่งที่คนอื่นเขาปฏิบัติตามได้ สอนในสิ่งที่คนอื่นเห็นผลตามได้ และได้ประโยชน์จากทั้งสามที่กล่าวนั้น จึงได้รับการยอมรับจากมวลชน

            พุทธศาสนาจึงแนบแน่นฝังลึกในความรู้สึกที่ดีๆ ของคนสมัยพุทธกาล หยั่งลงในศรัทธาอย่างสนิทแนบแน่น ถึงขนาดว่ามีลัทธิอิงแอบเข้ามาเป็นคู่แข่งอย่างมากเหลือเกิน แต่ก็ไม่สามารถช่วงชิงประชาชนที่เข้ามานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ให้ตกไปเป็นเหยื่อของขบวนการลัทธิอื่นในขณะนั้นได้ สิ่งใดที่ทำให้คนทั้งหลายเหล่านั้นเชื่อสนิทติดใจ ถ้าไม่ใช่งานเผยแผ่...เรามองสงฆ์ของเราในปัจจุบันทำไมขึ้นมาอภิปรายเหมือนกับไม่รู้จักกัน หรือขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งขบวนการซักฟอก ตรวจสอบพระเจ้า พระสงฆ์ ยิ่งกว่าบุคคลที่พึงแปลกปลอมเข้ามาในบ้านนี้เมืองนี้เสียอีก สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น เราต้องยอมรับว่างานเผยแผ่ของเราน่าจะอ่อนตัว จนกระทั่งคนทั้งหลายไม่รู้ว่าพวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่

 

มุ่งประโยชน์สุขของมหาชน

            งานปกครองเจาะจง เน้นหนัก จัดการภายในส่วนการศึกษา เป็นเรื่องการร้อยเรียงสติปัญญาให้เป็นแนวเดียวกัน เรื่องการเผยแผ่เป็นเรื่องที่เน้นประโยชน์โดยตรง บุคคลที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ประชาชน เมื่อประชาชนได้รับประโยชน์ เขาก็จะคุ้มครองพระพุทธศาสนาอย่างที่เขาทำอยู่ในปัจจุบันนี้

            เมื่อประชาชนเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ดีแล้ว จึงจะเข้ามาเห็นใจ ถ้าคนไม่เข้าใจ ทำไปก็ถูกความกินใจเข้าครอบครองงานก็จะไม่สำเร็จ งานการเผยแผ่นั้นยิ่งใหญ่ เพราะงานเผยแผ่เป็นบูรณาการที่ร่วมกันอยู่ เป็นบูรณาการที่เป็นภาพซ้อนภาพ คือ มีการปกครอง การศึกษา การสาธารณูปการอยู่ในนั้นหมด ภาพเชิงซ้อนที่ทำให้มีรายละเอียดที่ต้องติดตาม

            หากเราสามารถจัดระบบ จัดระเบียบ เพียบพร้อมด้วยคุณภาพการปกครองแทบจะไม่ต้องไปกังวลเลย เพราะการขับเคลื่อนงานเผยแผ่พุทธกรรมเข้าสู่การพัฒนาพฤติกรรมของสังคมได้มากเท่าไร ก็เท่ากับช่วยงานปกครองจัดระเบียบตัวเอง จัดระเบียงการงาน จัดระเบียบบุคคลเหล่านี้ ถ้าเผยแผ่คุณประโยชน์ให้ถึงรากหญ้าแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ ผู้ที่สามารถปกครองตนเองได้นั่นเอง หากเราปกครองดูแลตนเองได้ พึ่งตนเองได้ เหล่านี้เป็นการช่วยงานสายปกครองให้เบา ดี งาม ง่าย แบบวิถีพุทธ ทำตามพุทธวิธีเป็นความดีที่เรียบง่าย เข้าถึงได้ทุกระดับชั้นเลยทีเดียว

 

สร้างวัดไทยด้วยไมโครโฟน

            บุคคลที่ผ่านโลก ผ่านสังคม ผ่านชีวิตความเป็นนักเผยแผ่ เป็นนักเทศน์ นักสอนแล้ว ถ้าตนไม่ผ่านการฝึกหัดดัดตนตามพุทธวิธีเช่นนี้มาก่อน ต่อให้เอาด้ายสายสิญจน์ไปผูกจูงก็ไม่มา เพราะเขายังไม่เข้าใจว่างานเผยแผ่นั้นคืออะไร เกี่ยวข้องกับความอยู่ได้ของตนกับความอยู่รอดของศาสนาอย่างไร งานนี้เป็นเครื่องฉุดนำให้ท่านเดินทางมาโดยไม่ต้องกังวลสงสัย บางท่านมีธุรภาระศาสนกิจเป็นเจ้าคณะปกครอง บางท่านผ่านการอบรมมาจากสถาบันคณะสงฆ์ เป็นพระธรรมทูต เป็นนักวิชาการ นักเทศน์ก็มี

            ที่เรามาประชุมกันในครั้งนี้ เพราะเรามีหัวใจดวงเดียวกัน ใจรักต่อขบวนงานที่พระพุทธเจ้าฝากฝังมอบหมายไว้ในงานเผยแผ่ที่พวกเรากำลังมาสัมมนากำหนดข้อตกลงร่วมกัน วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์แห่งนี้เป็นวัดที่มีรูปฐานเด่นตระการสู่สายตาชาวโลกขึ้นได้ พูดชัดๆ ว่างานการปกครอง การศึกษา เข้ามามีส่วน เข้ามาเป็นหลักสนับสนุนเต็มร้อย แต่ที่ออกหน้าออกตา คืองานเผยแผ่นี้เอง สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า สร้างวัดไทยด้วยไมโครโฟน

            งานเผยแผ่นั้นยอมรับว่ามีอิทธิพลสูงเข้าครองใจมวลชนได้ทุกระดับ ที่พวกเราได้โอกาสมาเรียนหนังสือ ศึกษาหาปัญญา ต้องยอมรับ เพราะหลวงปู่ หลวงพ่อ ท่านเผยแผ่ศาสนาจนไปโดนใจชาวบ้าน จึงเสียสละสตางค์ถวายหลวงพ่อส่งเราเรียนปริยัติธรรม

            ย้ำอีกทีนะครับว่า...วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์สร้างขึ้นมาได้ ไมโครโฟนมีส่วนช่วยมากเลย ผมภูมิใจกับงานเผยแผ่มาก เพราะเป็นงานรับใช้พระพุทธเจ้า ที่เราต้องอุทิศตน มอบใจ กาย ถวายชีวิต แด่พระองค์ สุดแต่จะทรงใช้อะไร และเห็นว่าเป็นเรื่องของเกียรติ คุณธรรม และความสำเร็จของศาสนา

 

โชคเราสร้าง วาสนาเราทำ

            วัดที่สร้างขึ้นมานี้ มีส่วนที่เราจะต้องคำนึงว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นได้นั้น เพราะเพชรเม็ดงามในพระพุทธศาสนาถูกนำมาเจียระไนด้วยช่างศิลปกรรมชาวอินเดีย พระสงฆ์ไทยที่ขวนขวายเดินทางมาศึกษาในแดนพระพุทธเจ้า พระเหล่านี้ คือ อิฐ หิน ปูน ทราย ต้องขอชื่นชมว่าเป็นผู้เลิศด้วยวิริยะบารมี ต้องมีความกล้าแกร่ง กล้าแสดงภูมิธรรม กล้านำตนเองมาสู่วิถีที่หล่อหลอมความเชื่อให้เติบโตเป็นสัดส่วนอย่างอาจหาญ เข้าทำนองว่า อยากกินปลาตัวใหญ่ ต้องขุดบ่อให้กว้างและลึก ต้องการโตไปในวันข้างหน้า ต้องกล้าทำงานใหญ่ ใจถึง ตรึงมั่นในอุดมการณ์อย่าหวั่นไหว ถดถอยและน้อยใจในโชควาสนา

            ท่านครับ...โชคเราเป็นคนสร้าง วาสนาเราเป็นคนทำ กรรมเราเป็นผู้เสวย อยู่เฉยๆ รอให้ราชรถมาเกย ...คิดเช่นนี้ ช่างเชยแท้ๆ หรือประมาณฝันกลางแดด กว่าจะเป็นจริงได้คงถูกแสงพระอาทิตย์เผาจนมอดไหม้ก่อนแน่ๆ

 

เสน่ห์ของตนอยู่ที่คนเขาใช้บริการ

            พระที่เดินทางมาทำงานพระธรรมทูตที่อินเดียได้นั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่พระธรรมดาแน่ๆ ต้องประเภทพระใจเพชร ใจสิงห์ หากเป็นพระใจเสาะ มาไม่ถึงแน่ แม้มาถึงก็อยู่ไม่ได้ เพราะมาอินเดีย มิใช่มาด้วยเท้าอย่างเดียว ต้องมาด้วยใจ จริงใจ เข้าใจ และเต็มใจ ถ้าไม่ได้มาด้วยหัวใจอันเต็มเปี่ยม ถือขันติเป็นอาวุธแล้ว ก็ไม่แตกต่างกับความตายซากของร่างกาย ที่มีแต่สรีระปราศจากจิตวิญญาณ

            เมื่อท่านทั้งหลายมาอยู่อินเดีย ต่างคนต่างมา ทั้งทีท่าและเทคนิค ลีลา ขวนขวายแสวงหาวิธีจะมา เพราะอินเดียเป็นเมืองในฝันของนักบวช เป็นแดนปรารถนาของชาวพุทธ อย่างผมมาก็แตกต่างจากท่าน ผมมาครั้งแรกไม่มีอะไรเลย ถือกล้อง NIKON FM2 ชิ้นเดียวมาถ่ายภาพสารคดีทางพระพุทธศาสนา สมัยที่หลวงพ่อพระสุเมธาธิบดี เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตไทย สายประเทศอินเดียในขณะนั้น ท่านทำโครงการสร้างสมุดภาพพุทธภูมิ และโครงการสำรวจพุทธสถานทางวิชาการถวายพระราชกุศลของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครบ ๖๐ พรรษา

            ผมเองอาสามา แม้ความรู้หากจะวัดในขณะนั้นว่ามีมากแค่ไหน บอกได้แบบตรงไปตรงมาว่า มีความรู้ไม่เท่าหางอึ่ง ที่มาอินเดียครานั้นมีแต่หัวใจและศรัทธา ส่วนปัญญาคิดว่ามาแสวงหาเอาข้างหน้า เราไปอยู่ที่ไหนน่าจะมีปัญญาปั้นแต่งในที่นั้นๆ ให้พียงพอแก่การใช้สอยใช้งานได้ก็พอแล้ว ผมว่าความรู้หากมีมากไปมันก็รุงรัง มีน้อยไปมันก็โหยหา มีพอใช้ได้ในเรื่องนั้นๆ ก็คงพอแก่การอยู่รอดอยู่ได้แล้วกระมัง

 

ฝันบ่อยๆ ความจริงจะตามมา

            ขอย้ำว่า ศรัทธาพามาบวกกับพลังเมตตาจากผู้หลักผู้ใหญ่ หมายความว่า เราต้องทำตนให้ผู้ใหญ่ท่านเมตตาต่อเราเสมอ ด้วยการเสนอตัวให้ท่านใช้ ถือว่า “เสน่ห์ของเราอยู่ที่คนเขาใช้บริการ” การที่มีคนมาเรียกใช้ วานบอกอย่างนั้นอย่างนี้ รู้ตัวเองเถอะครับ เราเป็นคนมีเสน่ห์ คนจึงให้เกียรติมาเรียกใช้ ถ้าเขารังเกียจ ก็ตรงที่เราขี้เกียจบริการสังคมนั่นแหละ

            ผมมาทำหน้าที่จัดทำต้นฉบับหนังสือถวายหลวงพ่อ ก็เราไม่มีความรู้อื่นเลย บอกแล้วไงว่า หางอึ่งยังยาวกว่า หลวงพ่อของผม (พระสุเมธาธิบดี) ต้องบอกในที่นี้เลยว่า ท่านเป็นยอดพระ ยอดครู ยอดนักเสียสละ บอกให้ทำโน่นทำนี่ จนบัดนี้ทำให้มีนิสัยติดตัวคือ รักการทำหนังสือ เผยแผ่ จัดกระดาษชิ้นเล็กๆ น้อยๆ แจกคราวนั้นแจกงานนี้ นั่นละครับ... ผมเห็นพรรคพวกกันที่เรียนปริญญามาจากมหาวิทยาลัยโน้นบ้าง มหาวิทยาลัยนี้บ้าง จบแล้วมาพุทธคยาเพื่อกราบไหว้ต้นโพธิ์ ก่อนจะประคองปริญญากลับไปเมืองไทย หัวใจเราห่อเหี่ยวสงสารตนเองว่า เราจะมีโอกาสได้เรียนไหมหนอ...หลวงพ่อผมเป็นยอดครู ให้โอกาส แนะบอก สอนสั่ง ให้สตังค์ด้วย ท่านพระครูเศรษฐกิจ (พระครูปลัดสาธุวัฒน์) กับพี่นวลจันทร์  เพียรธรรม มีคณะมาก็นิมนต์ให้เราไปบรรยายนั่นแหละครับ แววนักเผยแผ่เริ่มกะพริบๆ มาทีละน้อยๆ ขออนุญาตโม้แก้ง่วงหน่อยเดียว จนกระทั่งมาตกหลุมพรางของความฝันที่อยากจะทำประโยชน์ไว้ในแดนพุทธภูมิตามที่สายพระธรรมทูตต้องการสร้างวัดที่กุสินารา จึงอาสาเข้ามาแบกหามภาระของพระศาสนา

 

ผู้ใหญ่ให้งาน คือ ให้ทรัพย์มหาศาล

            ผมเองไม่ใช่หัวกระบวนอะไรทั้งนั้น ยกย่องกันเกินงาม น่าจะเป็นฝุ่นกระบวนด้วยซ้ำ จะเรียกว่าหางแถวก็ยังนับว่ามีแถว จะเรียกว่าอย่างไรก็บอกไม่ถูก เล่าให้ฟังอีกนิดหนึ่งว่า ทำงานที่เรามาช่วยกันทำอย่างนี้ อย่างเพิ่งน้อยใจ หาทางทำงานให้เสร็จตามที่ผู้ใหญ่มอบงาน คือ ขุมทรัพย์มหาศาล เริ่มแรกหลวงพ่อให้ผมไปติดต่อซื้อที่กุสินารา ขณะที่ท่านกลับประเทศไทยแล้ว ไปเฉยๆ แขกเขาก็ไม่สนใจแม้หางตา เราบอกว่ามาจากวัดไทยพุทธคยา ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เขาก็ถาม Who are you? คุณเป็นใคร

            แขกเขาอยากรู้ว่า เรามีตำแหน่งการงานอะไรไหม ก็พึ่งรู้ว่าการทำงานมีตำแหน่ง ก็เหมือนมีสะพานเชื่อมให้ ผมก็คิดขึ้นได้ว่า ถ้าเรามีตำแหน่งอะไรสักอย่างหนึ่ง คงจะเป็นใบเบิกทางช่วยเราได้บ้าง ผมคิดว่าต้องทำหนังสือขึ้นสักฉบับหนึ่ง แล้วขอให้เรามีตำแหน่งพอไปซื้อที่เท่านั้นเอง ไม่จริงไม่จังอะไรก็ได้ ขอให้มีตราประทับกับลายเซ็นก็เป็นพอ...ท่านครับ...ยังมีพวกปรารถนาดีคิดเพิ่มให้อีกว่า เราอยากใหญ่ อยากโต ขอเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ผมได้สติว่าที่กำลังคิดกันคนละทางแล้ว

            ต้องตั้งสติอย่าโมโหตามลมปาก ต้องพกหลวงพ่อเฉย อย่าดิ้นไปตามเพลงอสูร ทำไปตามที่เรามั่นใจ โชคดีครับ ผู้ใหญ่ท่านยังมองออก คนเราไม่ต้องอยากใหญ่ ถึงเวลามีผู้ช่วยให้เราใหญ่เอง อย่าลืมว่าต้องผู้ใหญ่เท่านั้น ที่จะให้เราใหญ่ได้

            ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชโพธิวิเทศ (ทองยอด) (สมณศักดิ์ปัจจุบัน พระเทพโพธิวิเทศ) เมตตา คิดไกล ใจกว้าง เลยออกหนังสือรับรองว่า ผมปฏิบัติงานนี้ เป็นตัวแทนของวัดไทยพุทธคยา วัดที่ทางรัฐบาลไทยสนับสนุนอยู่...เท่านั้นเอง ลำแสงก็ส่องให้เห็นทาง แม้ก้าวแรกค่อยคลำค่อยเดิน ที่เล่าสู่เพื่อนผองน้องพี่ฟังเช่นนี้ ก็เพื่อจะปลูกฝังให้หนักแน่นในการทำงาน กว่าสังคมเขารู้ก็แทบหมดกำลังใจเหมือนกัน

            ขอย้ำว่า การเป็นนักเผยแผ่ อย่าใจน้อย เราทำงานใหญ่ต้องใจใหญ่ ทำงานกว้างไกล ต้องใจกว้างสุด ทำงานอยู่กับมนุษย์ ต้องให้มนุษย์นี่แหละ...มาช่วยงาน เหมือนกับเราออกไปพูด ออกไปบรรยาย ก็ต้องให้มนุษย์เขาฟัง เขาเข้าใจ มิใช่ทำตัวเป็นซุปเปอร์แมน โชว์บทเด่นอยู่คนเดียว ระวังนะครับ วันหนึ่งหมดฤทธิ์ สิ้นอำนาจ เหาะเหิน เดินไม่ได้ แปลงร่างไม่เป็น จะกลายเป็นจิ้งหรีดร้องประสานเสียงนะครับ

 

พระสงฆ์ไทยเจียระไนได้

            หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้แล้ว จึงรู้ว่าพระสงฆ์ไทยที่มาอยู่ในอินเดีย มีแต่เพชรก้อนงามๆ ทั้งนั้น อย่างน้อยๆ ก็ใจเพชร เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ชาญฉลาด ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อพระสุเมธาธิบดี ท่านหาวิธีสอนด้วยการจัดสนทนาโต๊ะกลม เรียกพระมานั่งคุยกัน แล้วก็พูดคุยกันเหมือนอย่างที่เราทำกันอยู่ในวันนี้ ต้องยกให้ว่านี่เป็นผลผลิตจากมันสมอง หัวคิดที่หลวงพ่อถ่ายทอดวิธีการเผยแผ่ไว้ให้เรา จึงมีวันนี้มานั่งคุยกัน

            การที่เรามานั่งพบกันวันนี้ไม่ใช่มาอบรมบ่มนิสัยกันหรือเพียงว่ามานั่งสัมมนาแบบลมๆ แล้งๆ แต่เป็นการสัมมนาของหัวใจคนทำงาน นัดให้นักทำงานมารวมกลุ่มกันเพื่อจะได้คุยกัน ก็เข้ากับฤดูกาลที่อยู่ระหว่างพรรษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระบรมพุทธานุญาตให้มีพรรษาทำไม เหตุผลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติให้มีการเข้าพรรษา เพราะต้องการให้พระทำอุปสินกถา คือมีการจับเข่าคุยกัน ปรึกษาหารือตามประสาคนหัวอกเดียวกัน เพราะพระสงฆ์เป็นพระทำงานทั้งนั้น ออกไปทำงานเผยแผ่ทางอตุตรประเทศ ทางทักษิณชนบท ทางหิมาลัยหิมวันตประเทศ พอหน้าฝนกลับเข้าค่าย คือวัดในสังกัด ก็มีโอกาสหาที่หลบฝน ทบทวนข้ออรรถข้อธรรม

            ในสมมัยนั้นไม่มีที่ใดจะดีเท่ากับในวัดหรืออาราม พระพุทธเจ้าตรัสเรียกให้สาวกที่พระองค์ทรงให้นำพุทธธรรมตรัสรู้ชอบดีแล้ว ไปประกาศให้คนทั้งหลายรู้ตาม ได้กลับเข้ากรมเข้ากองมาทบทวนบทบาทของตัวเองว่า ที่ท่านได้ไปทำงานนั้น พบความสำเร็จ พบความยาก

พบความลำบาก พบความสบาย พบช่องทางของการนำพระพุทธศาสนาไปสู่เขตแคว้นแดนนครเหล่านั้นได้อย่างไร นี้แหละเป็นจุดประสงค์หลักของพระสงฆ์ที่จะนำงานมาคุยกัน พอออกพรรษาทหารเอกของพระพุทธเจ้าลั่นกลองนำกองทัพธรรมส่องแสงให้ลัทธิต่างๆ ในสมัยนั้นราพณาสูร เพราะประสบการณ์ได้จากสมองของคนทำงานสายตรง เราไม่มีโอกาสมานั่งคิด มานั่งปรึกษากัน ในทำนองที่ว่า

            “พี่รู้สอง น้องรู้สี่ ใครมีดีเอามารวมกัน
            เป็นการเฉลี่ยความฉลาด เพื่อให้ศาสน์เจริญ”

 

ต่างสายตา เส้นนำอันเดียวกัน

            งานของเราต้องประกอบด้วยภาพ ๓ ภาพ

            คือ เจ้าภาพ เอกภาพ บูรณาภาพ

            งานจะเกิดขึ้นได้ ต้องมี

            ๑.  เจ้าภาพ คือผู้รับผิดชอบเป็นเจ้าของเรื่อง เป็นเจ้าของงาน ประสานงานได้ถูก

            ๒.  เอกภาพ หมายถึงว่า งานต้องมองเป็นจุดสายตาอันเดียวกัน หรือว่ามีเส้นนำจุดสายตาเส้นเดียวกัน เครือข่ายของงานกำลังเดิน กำลังก้าว กำลังอยู่ กำลังหยุดของงาน วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์จึงจับประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นตัวชูโรงว่าทำอย่างไร? จึงจะได้เพชรเม็ดงามที่มาจากที่ต่างๆ ซึ่งเรียนหนังสืออยู่ตามมหาวิทยาลัยเดลี พาราณสี มคธ สันสกฤต ไมซอร์ (mysore) โครักขปูร์ (Gorakpur) เอารังกาบาด (Aurangabad) ทำอย่างไรเราจึงจะได้เพชรเม็ดงามเหล่านี้ มาร้อยเรียงให้เป็นเครื่องประดับของศาสนาให้ได้
 

วางรูปแบบ แล้วเติมสาระช่วยกัน

            เราจึงพยายามตั้งโครงการขึ้นมาให้คนทั้งหลายเสนอทำงานได้เลย โดยวัดออกทุนสนอง งานหลักที่เราใช้เป็นเครื่องถักทอนักเรียนทุนที่วัดไทย ให้มีใจรักวัด ผูกพันกับวัด เพราะเราใช้ทฤษฎีที่ว่า หากว่าเพลินกับการอยู่หอ วันหนึ่งคงต้องหลับตานึกถึงเรือนหอ แต่ถ้าหากว่าได้มีวัดเป็นเชื้อแล้ว หลวงพ่อไม่ผิดหวังแน่ ท่านสร้างวัด ลงทุนไปกับลูกศิษย์ ท่านก็หวังให้พวกเราไปช่วยท่าน เฝ้า ๔ วัด คือ วัด (วัดวาอารามหรือศาสนสถาน) วัตร (กิจวัตรของสงฆ์) วัฒนะ (วิธีแห่งภาวนา) วัจนะ (คำสอน) โถ...ท่านเอย การทำงานของบัณฑิต...หวังผลทั้งนั้น หลวงพ่อท่านส่งเรามาเรียน  ท่านก็หวังฝากผีฝากไข้ พอลูกศิษย์กำลังดีๆ ถูกสอยไป ไม่ใช่เสียดายนะครับ... เพียงแต่ใจมันหายวาบวาบ จึงใช้วิธีการ “โครงการสร้างพระให้อยู่วัด” ให้ผูกพันกับวัด พระที่วัดหรือพวกเรานี้ ผมจัดให้มีกิจกรรมให้พระมีงานทำเกี่ยวข้องกับคนอื่น โดยยกหลักว่า วิชาใดๆ ที่เรียน เราต้องมีวิชาที่เป็นหลักปักในหัวใจให้ได้ ก็คือ วิชาการทำงานร่วมกับคน วิชาที่จะอยู่ร่วมกับคน เรียกว่า วิชามนุษยสัมพันธ์

 

จัดโซนงานตามสายทางพุทธภูมิ

            ครั้งนั้นได้จัดนักศึกษาออกเป็น ๓ โซน แต่ก่อนแบ่งโซนพุทธคยา แบ่งโซนพาราณสี แบ่งโซนเดลี แบ่งทำไม แบ่งเพื่ออบรมให้พระเหล่านั้น มีที่เรียนตามที่ต่างๆ แล้วพระของเราก็จะมีโอกาสทำงานได้ ทำงานดูแลญาติโยมผู้เดินทางมาพุทธภูมิ คืองานเผยแผ่ ก็จะไปตั้งทุนทางมคธ แต่ขณะนั้นเป็นยุคที่บ้านเมืองไม่ค่อยสะดวก ติดต่อยาก ก็กลับเข้าพาราณสี ตรงนั้นเราตั้งไม่ได้ เพราะผมฝันที่ปัตนะ ผมฟังข่าว คุณกาจ พลเสน  คุณณรงค์ศักดิ์ ป้องสันเทียะ ผู้ประกาศข่าว BBC สองคนเรียนที่ปัตนะ เรียนภาษาอังกฤษ จบปริญญาโทไปจัดรายการวิทยุ BBC ที่ลอนดอน

 

เชื่อมสายงาน ไหลผ่านทางเดิม

            จึงได้ส่งพระไปปฏิบัติศาสนกิจ ขณะนั้นเป็นวิกฤตของบ้านเมือง มันฝืดไปหมด น้ำท่วม ก็มาเหลือ ๒ จุด จุดพาราณสี กับจุดเดลี พาราณสีจึงตั้งโครงการให้เป็นฐานของการเผยแผ่ โดยจับประเด็นที่กลุ่มเพื่อนสหธรรมิก คือพระให้พยายามประสานพระเอาไว้ ถือคติหลวงพ่อว่า มีเงินมีทองมากเท่าไร สู้มีพวกมากไม่ได้ หลวงพ่อพระสุเมธาธิบดี ถ้าไม่มีท่าน เราคงไม่มีสมองอะไร ผมคิดอย่างนี้ ก็ให้พวกพาราณสีจับกลุ่มเพื่อนที่มีหัวใจรักงาน มาคุยกันว่าจะทำอย่างไร โยงใย ๓ จุด เป็นบรรทัดฐาน ก็คือ  ๑.พระนักศึกษาไทย  ๒.วัดไทยในอินเดีย  ๓.สถานทูตไทย  หรือ วัด ราชการ ชุมชน เพราะมองเห็นประเด็นของการติดต่อราชการบ้านเมือง ถ้าเราไปหาติดต่อเขาโดยที่ไม่มีคุณประโยชน์ตอบบุญแทนน้ำใจให้เขาโดยธรรมชาติบ้าง มัวแต่จะเจริญธรรม เจริญพรอยู่อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องมีงานนิมนต์เรียนเชิญสถานทูตมาบรรยาย รับรู้ รับทราบเสียก่อน โดยใช้วัดเป็นฐานให้ และก็จัดงานนี้ขึ้นมา โดยที่ให้เรานั้นได้รู้ว่างานนี้เพื่ออะไร

 

รวมหลากหลายให้กลายเป็นหนึ่ง

            ส่วนที่เดลีนั้น มุ่งไปที่ฆราวาส คฤหัสถ์ เยาวชน นักศึกษาที่มาศึกษาในพุทธภูมิ เด็กมาเรียนมากมาย เราได้ทำวิจัยแล้วว่าเด็กรู้จักพระในหน้าหนึ่ง มากกว่ารู้จักพระในหน้าที่ เพราะสอบถาม เด็กรู้จักหลวงพ่อรู้นี้รูปนั้นไหม รู้จักหมด เพราะลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ แต่รู้จักพระทำหน้าที่รูปนี้ๆ บ้างไหม ไม่รู้ ก็เรียนพระนักศึกษาฝ่ายเดลีว่าเราต้องดูแลเด็ก

            ก็จัดโครงการ “ไปไหว้พระ แสงธรรมนำชีวิต”  โดยขอความอุปถัมภ์จากสถานทูต ทั้ง ๒ อย่างที่เรียนถวาย คือ การขยายกระบวนการประกาศ พระพุทธศาสนาให้เป็นเครือข่าย เป็นเสมือนปลาตัวใหญ่ๆ ให้เราได้ฉันได้ เพราะอะไร เพราะเส้นด้ายมันจับข่ายกัน ถ้าเราจับเครือข่ายกันให้ดี ผมว่าศาสนาอื่นเข้าบ้านเราไม่ได้หรอกครับ ถ้าเราไม่โว แบกแค่ไม้กางเขน ก็เดินผ่านเข้าไปได้ ถ้าเราไม่เปิดประตูเขาจะเข้าเหรอ มัวประมาท เพลิน ควรจะจัดอย่างไรกับระบบการเผยแผ่ เพราะเครือข่ายเดี๋ยวนี้ เรามีศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา กำลังทำเครือข่ายของการเผยแผ่ที่จะเป็นแนวปราการป้องกันขึ้นมาอีกแรงหนึ่ง

 

งานจะก้าวหน้า ถ้ายิ่งหมั่นขยันชุมนุม

            การมาร่วมประชุมกันในวันนี้ ด้วยความซาบซึ้งของผู้ที่มีหัวอกที่พกไว้แห่งเดียวกัน รักในการประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อนร่วมงานเราหลายรูปที่จบธรรมทูตมาแล้ว แต่ยังไม่เป็นพระธรรมทูตในสายประเทศอื่น ยังรักอินเดียอยู่ กลับมาช่วยกันเผยแผ่ มาประกาศศาสนาอยู่นี่ก่อน เดี๋ยวค่อยไปประเทศอื่น ไม่ยากหรอก จบดอกเตอร์ไปแล้ว ไปอยู่ประเทศไหนก็ได้ สบายทั้งนั้นแหละ เพราะนี่คืองานสายตรงจากแดนพุทธภูมิ ที่กำเนิดเกิดรูปกายและธรรมกายของพระพุทธองค์ และมวลหมู่พระอรหันตสาวกเจ้า ที่ฝากรอให้สืบทอดสืบสานแผ่ประโยชน์แก่พหุชนทั่วทั้งโลก

 

อาหารดี ต้องมีสูตรดี และคนปรุงดีด้วย

            การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักใหญ่ใจความก็เพื่อเรียกน้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนหาแนวทาง ตลอดจนเทคนิควิธีการอย่างเดียวกัน มีโยมท่านหนึ่งเล่าว่า มีพระรูปหนึ่งมาบรรยายบนรถ พอจับไมค์ขึ้นก็บอกก่อนเลยว่า ที่จะบรรยายต่อไปนี้เป็นไปตามสูตรของท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังษี สูตรนี้เป็นสูตรที่ปรุงมาเฉพาะ สูตรดวงตาเห็นทำ (เห็นแล้วลงมือทำ) อย่างนี้ก็เว่อไป ผมก็เจาะหาตัว เจอก็ถามว่า ทำไมไปขึ้นปาฐกถาเช่นนั้น ท่านบอกว่าเป็นยันต์ยามออกรบ จึงกระซิบเบาๆ ว่า ที่หลังเพลาๆ ไว้เป็นดี เดี๋ยวผู้บรรยายเองนั่นแหละจะถูกหมั่นไส้โดยไม่มีเหตุ มีแต่ผล

            วันนี้ตั้งใจจะมานั่งคุยกัน จะไม่ใช้เวลามากเพียงแค่ ๔๐ นาที คงเพียงพอ จะได้แจกเอกสารให้อ่าน จากนั้นผมจะให้พวกท่านช่วยกันตีความ คือ ผมได้เรียง ๘ ลำบาก มาแจก ทุกปีจะมีแม่บทเป็นแนวเท่านั้น เช่น เมืองพาราณสี ของดี ๑๐ ม. ปีนี้ก็แต่งมาอีก ๘ ลำบาก มาฝาก

 

งานพระธรรมทูตต้องต่อเนื่องเชื่อมโยง

            ขอหยิบยกอะไรเป็นเครื่องแก้ เครื่องอ้าง ผมคงจะใช้วิธีรื้อฟื้น ให้ความคิดเก่าๆ ฟูลอยขึ้นมาว่า เรามาทำอะไรนะ ครับ...เท่านั้นเอง ส่วนเทคนิควิธีการ มุขเด็ดๆ ลูกหยอด ลูกโยน ลูกเล่น ลูกจริง ไม่จำเป็นต้องให้แล้ว ระดับนี้โกอินเตอร์กันทุกท่านแล้ว...กระดาษที่ผมแจกให้เป็นเรื่องวิสัยทัศน์นักเผยแผ่ ที่บรรยายอบรมสัมมนาพระธรรมทูต มีผู้ถอดความมาขอพิมพ์ ก็ปรับข้อความให้เล็กน้อยจะได้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น บางตอนก็ปรับเปลี่ยนไปตามเนื้อหา ถึงจะเล็กน้อยก็เพียงฉายน้ำใจให้เห็น การทำงานในครั้งนี้ ทำงานในโครงการสร้างพระนักเผยแผ่ช่วยงานพระธรรมทูต หรือว่าช่วยงานสายพระธรรมทูต ถ้าพูดอย่างนี้เกิดจะมีผู้คิดมากจนมีอคติ ก็ตั้งข้อปุจฉาอย่างจริงจังว่าโครงการนี้ไปขอใครหรือยัง? ขอบอกเดี๋ยวนี้เลยว่า ทำงานเพื่อช่วยงานพระธรรมทูต คือ ผมเป็นพระธรรมทูต ต้องการกำลังช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจบตรงนี้เลยนะครับ ตอบแบบทิ้งห่างๆ จะได้ไม่คิดมาก ทำงานมัวคิดมากกว่าทำ จะเสียเวลาเปล่าๆ

            งานเผยแผ่เป็นงานบุญที่มีเกียรติ...ผู้ทำงานก็ได้บุญได้เกียรติ และขณะเดียวกัน ผู้ทำงานก็ต้องให้เกียรติกับผู้ที่ทำให้เรามีงาน งานพระธรรมทูตนี้ บางท่านคิดง่ายๆ คือ เทศน์ได้ก็เป็นพระธรรมทูตได้...จริง!!!บ้างครับ แต่ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สมประกอบเสียทีเดียว เพราะงานพระธรรมทูต ใช่ว่าเพียงแค่เทศน์จบรับเครื่องกัณฑ์ที่จัดถวายยถา...สัพพี...จบ ก็หมดเรื่องแล้ว ไม่ใช่...งานพระธรรมทูตต้องต่อเนื่อง เชื่อมโยง รับผิดชอบต่อคำที่ตนแสดงทัศนะไป อธิบายไปแล้ว

 

นักเผยแผ่มีทุนมาก ขอให้ใช้ให้เป็น

            การทำงานสายนี้นั้น ต้องมุ่งให้ประโยชน์สุขแก่ผู้ฟังเป็นเกณฑ์ จะเห็นได้ว่ากองทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้น บางครั้งเราก็ไม่นึกว่ามันจะเกิด เช่น กองทุนข้าวสารของกลุ่มผู้ใจบุญชาว เอ ไอ เอ ท่านรองธัลดล บุนนาค พาคณะผู้บริหารระดับสูงคราวที่นำคณะมาอินเดีย เกิดศรัทธาขึ้นที่พาราณสี ตอนที่ไปบรรยายอยู่ที่แม่น้ำคงคา จะสรรหาคำอะไรมาให้คนเข้าใจว่า ทำบุญกับพระนักศึกษาเรียนหนังสืออยู่...ได้บุญมาก และถวายอะไรจะได้บุญมาก ผมก็คิดว่าคงไม่มีอะไรได้บุญมากกว่าเกินเมล็ดข้าวสาร กระสอบหนึ่งมีหลายเมล็ด ขณะนั้นมีความรู้สึกเช่นนั้น

 

สร้างพระให้อยู่วัด

            จึงชวนคณะก่อตั้งกองทุนข้าวสารขึ้นกลางแม่น้ำคงคา และชวนคณะผู้ใจบุญชาว เอ ไอ เอ ร่วมปลูกฝังกลางสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นก็ขยายความอีกว่า ข้าวสารมีเมล็ดที่แตกแล้ว ไม่สามารถกลับไปเกิดอีกได้ พระสงฆ์ทั้งหลายเหล่านี้บวชแล้วก็อยู่ในศาสนานี้แหละ ก็บอก...เขาไม่ไปเกิดอีกแล้ว ข้าวสารเมล็ดสีขาว ใจของท่านทั้งหลายต้องขาวผ่อง เราไปช่วยกันทำบุญสุนทานกับท่าน จึงเป็นกระบวนการที่ต่อยาวมา

            งานพระธรรมทูตนี้ไม่ใช่เพียงเทศน์เป็นแล้วออกงานพระธรรมทูตได้เลย ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ต้องมีความเป็นอย่างที่ผมเรียนถวายเพิ่มอีก ได้แก่ ความเป็นนักบวช ความเป็นนักการศาสนา ความเป็นนักการทูต ความเป็นนักเทศน์ ความเป็นนักวิชาการ ความเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ความเป็นนักกฎหมาย ความเป็นนักจัดกิจกรรม ความเป็นนักบริหาร ความเป็นนักปรัชญา ความเป็นนักการจัดการ ความเป็นนักเขียน นักพูด และนักสังเกตการณ์ ทั้งหมดนี้มันอยู่ในตัวพระธรรมทูต แต่จะอยู่ได้หลายขนาดเพียงใดนั้น ก็อยู่ที่กรอบที่พระธรรมทูตเราได้ไปเป็นสมบัติเท่าไร แต่ในบรรดา ๑๒ ข้อ มีอยู่ ข้อหนึ่งที่เราปักเอาไว้อย่างหนัก เป็นหลักของชีวิต นักเผยแผ่นั่นก็คือความเป็นนักบวช

 

ถึงจะแตกต่าง แต่คุณค่าอันเดียวกัน

            ความเป็นนักบวชกับนักการศาสนานี้ลึกๆ มีความต่างและความเหมือนกันนะครับ นักบวชต้องเป็นพระทรงศีล ห่มผ้ากาสาวะ[1] อย่างเรานี่แหละ เรียกว่านักบวช ส่วนพุทธศาสนาสายมหายาน เขาไม่ใช้พระนำหน้า ส่วนพวกเรานำคำว่าพระนำหน้าชื่อ ก็อย่าไปตีความจนประเด็นร้อน เพียงขอใช้ให้อุ่นใจเฉยๆ นานเข้าก็คุ้นกับคำว่า พระครู พระมหา พระดอกเตอร์ เป็นต้น นักบวชเป็นยากนะครับ บางทีนักการศาสนาพลอยมาเล่นงานนักบวช หาว่าไม่รู้จริงบ้างล่ะ ไม่เคร่งบางล่ะ ตรวจสอบพระกันสนุกไปเลยก็มี พระบางองค์ถูกเล่นงานหนักชักทนไม่ไหว หันไปแว้ดสวนคืนเอามั่ง ตั้งท่าตรวจสอบศีล ๕ โยมเข้าบ้าง

            เอ้า...โยม...ไหนล่ะมาว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง ศีลโยมรักษาได้สมบูรณ์บริสุทธิ์ไหม ข้อกาเมฯ เป็นอย่างไร ข้อสุราเป็นอย่างไร ผมว่ามันชักจะมั่วแล้วนะ นี่ดีว่าเราอยู่ห่างกระสุน แต่วันหนึ่งไม่แน่ อาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคลก็ได้นะ เดี๋ยวนี้นักการศาสนา เกิดขึ้นเยอะแยะ เกิดขึ้นมาบางทีอ่านหนังสือเล่มสองเล่ม แล้วก็พูดจ๋อยๆ เต็มไปหมด หยิบความคิดของตนมาประกอบจนกลายเป็นคัมภีร์ใหม่ คำสอนหลักเลยกลายเป็นพระรองไป เหล่านี้นักการศาสนาไม่ใช่นักบวช อาศัยฐานที่ตัวเองมีก่อน ในความมีความเป็นต่างๆ สุดยอดของความเป็นในความหมายนี้ก็คือ ความเป็นนักบวช เวลาเราออกไปเป็นพระธรรมทูต เราต้องเป็นนักบวช เป็นนักบวชที่มีคุณภาพนะครับ

 

รวมวิสัยทัศน์ พระธรรมทูตไทยในพุทธภูมิ

            ขอย้ำการบรรยายกันนี้ให้ชัดเจนอีกว่าธรรมทูตเป็นงานที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งมอบหมายให้นำธรรมะคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ไปปฏิบัติให้เห็นผล แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอด คือสอนธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นเอง เรียกว่าธรรมทูต หรือจะเรียกว่า สมณทูต คือผู้นำสันติภาพไปสู่ชาวโลกก็ได้ พระธรรมทูต จึงเป็นบุคคลที่อาสาไปปฏิบัติงานสายตรงสืบทอดจากงานที่พระพุทธองค์ทรงเริ่มไว้แต่แรก ณ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

            คณะสงฆ์ไทยจึงจัดองค์กรบริหารหลัก ๑ ใน ๔ มีงานการเผยแผ่ก็คือต้องทำหน้าที่พระธรรมทูตนั่นเอง งานนี้จึงเป็นงานที่ต้องนำหน้าอะไรทั้งหมด ไม่ว่างานปกครอง การศึกษา สาธารณูปการ งานพระธรรมทูตนี้ เป็นเสมือนธงชัยที่ต้องนำหน้าขบวนทัพทั้งหมด เพราะการนำธรรมะออกไปประกาศในที่ต่างๆ เป็นการขยายศาสนธรรมออกไปให้เป็นที่ยอมรับแก่คนทั้งหลาย ส่วนงานการปกครอง การศึกษา และสาธารณูปการ เป็นการจัดขบวนทัพของคณะสงฆ์ไทย จัดการภายในก็ตามมาต่างหาก

            เรามาทำหน้าที่ที่จุดนี้ด้วยความภาคภูมิใจ พยายามตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างมีจุดยืน ให้สมกับที่ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านไว้ใจ ได้มอบหมายงานอันทรงเกียรตินี้ไว้ในมือ สิบนิ้วนี่เอง จะเป็นอาวุธนำพาไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่

 

อย่าถดถอย ท้อแท้ ทางแก้มี

            หลวงปู่หลวงพ่อผู้บริหารระดับสูงท่านมีประสบการณ์ รู้รอบกรอบการแสดงในกิจทั้งหลาย ได้ถ่ายทอดวิชาความเป็นพระธรรมทูตระดับแนวหน้าไว้ให้เรา งานเช่นนี้อย่าให้อ่อนกำลัง อย่าให้ทดถอยท้อแท้ว่าผู้ใหญ่ท่านไม่เห็น ท่านไม่มองเรา ท่านหันไปสนใจเรื่องอื่นมากกว่างานธรรมทูต อย่าคิดเช่นนั้นนะครับ เป็นบาปมหันต์ ท่านให้งานเรามาทำ ไว้วางใจเรา ท่านเห็นแล้วว่าเราทำได้ ทำไปเถอะครับ เดี๋ยวก็ได้ ได้อะไร? ก็ได้ทำสิ่งที่เราอยากทำนั่นเอง

            ในความเป็นพระธรรมทูต มิใช่ว่าพูดได้ ใช้ไมค์เป็น เทศน์ให้โยมฟังเท่านั้นหามิได้ พระธรรมทูตกับพระนักเทศน์ หลายคนอาจตอบแบบผสมกลมกลืนกันว่า พระนักเทศน์กับพระธรรมทูต ก็คือสิ่งเดียวกัน ถ้าเรามองที่แค่ลำต้น แต่ถ้ามองให้ถึงการแตกกิ่งก้านสาขา ให้ร่ม ให้เงา ให้ผล ให้เมล็ด งานพระธรรมทูตมีเอกลักษณ์เฉพาะตน เมื่อแสดงแล้ว ปฏิบัติลงไปแล้ว ต้องติดตามงานและผลที่จะตามมา มีสิ่งใดที่ต้องแก้ไข เพิ่มเติม ลดหย่อน ผ่อนไป งานพระธรรมทูตวางไม่ได้นะครับ ต้องตามดูทุกขณะ งานพระธรรมทูตจบลงที่ผลของงาน มิใช่รับเครื่องกัณฑ์ ยะถา... สัพพี...จบลง ก็หมดหน้าที่ ขอเรียนถวายว่า มิใช่เช่นนั้น ยังมีอะไรอีกมาก ที่เราต้องแบกภาระต่อไปอีก

            ผมมิใช่ธรรมทูตแนวหน้าอะไร ตามที่พิธีกรท่านยกย่อง ธรรมทูตที่อินเดียปัจจุบันคงไมต่างอะไรกันกับดาบสฤๅษีที่ต้องฉันเผือก ฉันมัน ห่มผ้าบังสุกุล[1] อยู่โคนต้นไม้ เราไปทำงานสายอินเดีย ท่านคงดีใจว่าไปเมืองนอก ที่จริงไปบ้านนอก...อาจจะเป็นนอกสายตาไปเลยก็ได้

            ขอเรียนถวายเพื่อนสหธรรมิกเป็นแนวทางตามที่ตั้งหัวข้อให้มาบรรยายให้ชี้แนะว่า ทำอย่างไรจะได้เป็นพระธรรมทูตระดับแนวหน้า ผมว่าควรไปอ่านในพระไตรปิฎกนั่นแหละครับ จบเลย ดีตามสูตร เหมือนอาหารตามสั่งไม่มีผิดเพี้ยน แต่ที่จะนำมาเสนอในวันนี้ เป็นเส้นทางพระธรรมทูตในทัศนะของผมที่สะสมไว้ ในขณะที่รับสนองงานคณะสงฆ์ในฐานะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย...นะครับ

ซ้อนภาพซ่อนความหมาย

            ดังที่กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า ความเป็นพระธรรมทูตกับความเป็นพระนักเทศน์ มีความแตกต่างกันในหลายๆ หลัก ลองจับประเด็นดูว่าหลักไหนใครจับไว้ได้ และหลักไหนที่ใครปฏิบัติอยู่ ในความเป็นพระธรรมทูต มีความเป็นอีกหลายอย่างเป็นภาพซ้อนภาพที่เกาะเกี่ยวกันอยู่ภายใน ขอนำฝากเพื่อนผู้ใฝ่รู้ว่า องค์ประกอบของพระธรรมทูตน่าจะมีดังนี้

·         ความเป็นนักบวช

·         ความเป็นนักการทูต

·         ความเป็นนักการวิชาการ

·         ความเป็นนักกฎหมาย

·         ความเป็นนักบริหาร

·         ความเป็นนักการจัดการ

·         ความเป็นนักการศาสนา

·         ความเป็นนักเทศน์

·         ความเป็นนักสังคมสงเคราะห์

·         ความเป็นนักจัดกิจกรรม

·         ความเป็นนักปรัชญา

·         ความเป็นนักเขียน นักพูดและนักสังเกตการณ์

            นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ควรสลักถักทอให้ก่อตัวเป็นอุดมการณ์ในตัวของพระธรรมทูตให้ได้ ยิ่งเพาะชำให้งอก ออกราก เกิดต้น กิ่งก้านสาขา เป็นดอก เป็นผลได้มากเท่าไร แล้วหยิบยื่นให้สังคมเขาได้รับประโยชน์ ก็จะพลอยให้พระพุทธศาสนาของเราแผ่ไพศาลไปสู่นานาอารยประเทศ ตามเจตนาของมหาเถรสมาคมและด้วยความตั้งใจสนับสนุนของหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ อุปเสนมหาเถร (วัดสระเกศ) ผู้เป็นประธานฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ท่านตั้งความหวังไว้ที่พวกเราอย่างมาก ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ดูแลพระธรรมทูตในสายต่างประเทศทั้งหมด ทุกครั้งที่ไปกราบ ท่านเมตตาไถ่ถามงานเผยแผ่ในสายต่างประเทศมาก โดยเฉพาะสายอินเดียของพวกเราอย่างสนอกสนใจและเห็นอกเห็นใจ บอกได้เลยว่าเจ้าพระคุณเป็นปราชญ์ เป็นเสาหลัก รู้รอบ รู้ลึก ในสายต่างประเทศทะลุปรุโปร่ง ขอย้ำให้อบอุ่นว่า ไม้ใหญ่ร่มเงากว้าง แผ่ความร่มเย็นเป็นสุขถึงพวกเราแน่นอนครับ

 

ให้เกียรติกับงาน งานจะให้เกียรติกับเรา

            พวกเราต้องรวมใจกันสนองงานพระธรรมทูต อย่าให้ท่านผิดหวัง ต้องตั้งใจทำงาน ถวายอก ยกพระพุทธศาสนามาไว้ที่หัวใจ ให้เกียรติกับงานเผยแผ่ เมื่อเราให้เกียรติกับงาน งานที่มีเกียรติก็จะมาหาเรา ในทำนองเดียวกันถ้าขี้เกียจทำงาน งานที่น่ารังเกียจก็จะเกิดขึ้นแก่เรา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสัจจะความจริง ถ้าเราไม่ตั้งใจทำจริงเราจะถึงความจริงที่เป็นสัจธรรมได้อย่างไร ทำงานกันจริงจัง เราก็ได้ความจริงใจจากเพื่อนร่วมงาน จากมวลชน คนในเป้าหมายเราทำงานอย่างตั้งใจ เราก็จะได้ผลงานอย่างสมใจเช่นกัน หากเราทำงานเล่นๆ หรือมัวเล่นอยู่กับงาน จะถูกเล่นงานเข้าบ้าง รักหยอกอย่ากลัวหยิก กินพริกอย่ากลัวเผ็ด

            งานเป็นเครื่องบอกถึงความหยาบความละเอียดของคนทำงานเผยแผ่พระพุธศาสนาในต่างประเทศ เป็นความละเอียดถี่ถ้วน เรียกว่าทำไป เรียนไป ขณะเดียวกันก็เกรงใจเจ้าของประเทศเขาด้วยเหมือนกัน มิใช่ว่าหลับหูหลับตาว่าแต่ของเราไปอย่างเดียว กระทั่งไปเกี่ยวหูแทงความรู้สึกคนอื่นเข้า กลายเป็นความขัดแย้งชนิดที่เรียกว่า ผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ อะไรทำนองนั้นก็มีขึ้นได้

 

นำพุทธธรรมเข้าถึงหัวใจคน

            พระพุทธศาสนาที่เป็นปึกแผ่นแผ่ไพศาลไปทั่วชมพูทวีปได้อย่างรวดเร็ว เพราะคณะทำงานยกส่วนการเผยแผ่ให้เป็นงานส่วนหน้า บุคลากรที่พระพุทธเจ้าคัดจัดไว้ชั้นเยี่ยมทั้งนั้น ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งหวังให้พุทธธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขยายปกคลุมทั่วชมพูทวีปได้เร็วที่สุด ทำให้พุทธธรรมเข้าถึงหัวใจคน แม้ต่างลัทธิ ต่างศาสนา ต่างทิฐิในครั้งนั้น มิใช่ธรรมดา ยากนะครับ เราจะปฏิเสธอย่างอื่นไม่ได้เลยว่า การจัดขบวนทัพของพุทธศาสนาเราใช้การเผยแผ่ของพระธรรมทูตชุดแรกนี่เองนำศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ขจรเกรียงไกร ส่วนอย่างอื่นตามมาทีหลัง ถ้าเราไม่หลงทางเสียก่อน ก็จะพบจุดหมาย คือ ความงอกงามไพบูลย์ของพระพุทธศาสนา ที่เราพระธรรมทูตต้องสำนึกเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา แม้นอนหลับก็ต้องเก็บเอาไปฝัน ฝันจนเป็นจริง ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดจากความฝันของวันนี้ละครับ อย่าลืมต้องสานฝันให้เป็นจริง ด้วยความไม่ประมาท

 

ฝึกเกาะในหลัก ถักทอวิธีการ

            งานพระธรรมทูตจะสัมฤทธิ์ผลสู่ประโยชน์สูงสุดของมหาชน มิใช่เราจะไปยึดเกาะติดตรึงอยู่กับหลักอะไรก็ไม่รู้ จนเป็นอัตตาที่น่ากลัว งานพระธรรมทูตที่ออกดอกออกผลจริงๆ นั้น ต้องกลั่นจากประสบการณ์ คือการผ่านงานทุกรูปแบบ งานพระธรรมทูตนี้มิใช่งานในห้องเรียน ห้องสอนอย่างเดียว แต่เป็นการลงพื้นที่จริงอย่างไม่หวั่นไหว

            ผมออกงานธรรมทูตที่เนปาล เคยนั่งซ้อนท้ายจักรยานที่เจ้าภาพ เขามารับให้ไปเป็นประธานสวดมนต์นะครับ..อยู่อย่างนั้นก็ต้องจัดขบวนท่าของเราให้เป็นไปตามข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ความตั้งใจของเราต้องสูงส่ง ยิ่งเราทำงานใหญ่ เราก็ต้องใจใหญ่ ทำงานเพื่อคนหมู่มาก ก็ต้องลงทุน คือความเสียสละมาก ทำงานที่ผ่านความลำบาก ถึงคราวทนก็ต้องยอมทุกข์ยากอย่างนี้ล่ะครับ เพื่อให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาล

            มีท่านสมาชิกอยากให้เล่าเรื่อง สร้างวัดไทยด้วยไมโครโฟน คืออย่างไร? เรื่องนี้ยาวมากแบบทีฆนิกาย มหาวรรคเลยทีเดียว จะไม่พูดเสียเลย เดี๋ยวจะกลายเป็นคนหวงวิชา พวกจะเหน็บเอาว่ามีวิชาแค่หางอึ่ง ยังหวงไว้อีกต่างหาก ขอเรียนถวายว่า การทำงานในสายพุทธภูมิ มีทั้งเชิงรุก เชิงรับ เชิงหลบ เชิงเลี้ยง นะครับ

 

แยกให้ออก รวมยอดให้ได้

            เชิงรุก หมายความว่า เราต้องออกไปทำงานบรรยาย แบบ ๗ วัน ๗ คืน สวดมนต์ตั้งแต่หน้าต้นจนใบสุดท้าย ออกพูดตามพุทธสถานชี้อิฐหัก กากปูน ชวนดูหิน หลับตาให้ถวิลถึงเรื่องในอดีต มันช่างยากจริงๆ แต่ก็สนุก เป็นงานที่ผมชอบ ทำงานที่ชอบมันก็สนุกและไม่มีเงื่อนไข

            เชิงรับ หมายถึงเราต้องตั้งขบวนการรับรองที่วัดให้ดี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องให้แตะสัมผัสได้ทุกอย่างในวัด เขาก็ชื่นชม คนมาหาเหมือนเทวดามาสู่ เลี้ยงดูเขาให้เป็นเทวดาในดวงใจให้ได้

            เชิงหลบ หมายถึงเราทำงานกับแขก ถ้าไม่หลบบ้างเราก็แย่ หลบเข้าสู่มุมสงบ ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ เสริมดีให้ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้กล้าแกร่ง มิใช่เดินหน้าจนลืมหลัง หาเวลานั่งสงบอยู่กับลมหายใจของเรา เรียกพลังมารวมตัวด้วยภาวนา หลบขึ้นหิมาลัยเขาป่าหิมพานต์ไปเลย กลับไปชาร์จพลังเต็มแล้วลงมาทำงานต่อ รู้จักหลบบ้างนะครับ

            เชิงเลี้ยง เราต้องเลี้ยงคนไว้เป็นพวก ไม่ว่าแขกท้องถิ่น ไทยมาแสวงบุญ นักศึกษามาเรียน กระทั่งคนอกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารโทรม ต้องเลี้ยงทั้งนั้น ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราทำงานแบบนักบวช มันมีกรอบขนาบแน่นไปหมด พูดให้เขาฟัง พูดไม่เอาสตางค์ พูดอะไรก็พอไหว

            ให้แนวนิดหนึ่งว่า เทศน์ให้โยมฟัง เทศน์ให้โยมเชื่อ เทศน์ให้โยมจำ เทศน์ให้โยมทำตาม ต้องเทศน์ให้สูงถึงใจ มิใช่ป้วนเปี้ยนอยู่แถวกระเป๋าสตางค์เท่านั้น ถ้าเทคนิคประสบการณ์ไม่มากพอ บางทีอาจจนแต้มกลางกระดานง่ายๆ ฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

 

๘ ลำบาก

นั่งถานถ่ายกลางทุ่ง นี่ลำบาก

ขอทานมุงล้อมกรอบ นี่ลำบาก

ไม่ชอบกลิ่นแขก นี่ลำบาก

ขนแบกสัมภาระ นี่ลำบาก

ไปทัวร์ไม่มีพระนำ นี่ลำบาก

รำคาญเสียงแตร นี่ลำบาก

คนแก่ขึ้นเขาคิชกูฏ นี่ลำบาก

ธรรมทูตสายอินเดีย นี่ลำบาก (มากกว่าเพื่อน) 

พระวิเทศโพธิคุณ (ว.ป. วีรยุทฺโธ)
๘ ตุลาคม ๒๕๔๖

____________________________________________
 

แถลงการณ์คณะสงฆ์
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒/๒๕๔๗
ฉบับ รายงานการปฏิบัติศาสนกิจ
และการสนับสนุนวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
 

มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ ๒/๒๕๔๗
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

 

มติที่     ๒๔/๒๕๔๗

เรื่อง      รายงานการปฏิบัติศาสนกิจและการสนับสนุน วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย

            เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า พระวิเทศโพธิคุณ พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุศินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ได้มีลิขิตที่ ทร.๐๐๑๙๑๖๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๖ รายงานการปฏิบัติศาสนกิจและการสนับสนุนวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์

            สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประสานหารือเป็นการภายในกับพระวิเทศโพธิคุณ ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้ประมวลข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า เนื่องจากวัดไทยในต่างประเทศ เดิมได้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่คนไทยเป็นหลัก ในโอกาสที่มาพำนักและจาริกแสวงบุญประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่แคบๆ ในวงชุมชนคนไทยด้วยกันเอง มิใช่เพื่อคนพื้นเมือง พระสงฆ์ทั้งหลายก็จะถูกขอให้จัดพิธีกรรม งานประเพณี และพยายามรักษาเฉพาะวัฒนธรรมไทย ประกอบกับพระสงฆ์ที่ไปเป็นพระธรรมทูตมาก่อน เป้าหมายของงานพระธรรมทูตไม่ชัดเจนพอ ทำให้งานของวัดไทยในต่างประเทศไม่ค่อยเจริญก้าวหน้า และไม่ได้รับการยอมรับจากบุคคลในพื้นที่เท่าที่ควร จึงเห็นควรพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการของวัดและพระสงฆ์ไทยในต่างประเทศดังนี้

            ๑.  การสนับสนุนงานด้านพระธรรมทูต โดยจัดการอบรมสร้างความเข้าใจ เน้นให้มีความรู้ ความสามารถ และความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจตามวัตถุประสงค์ มีจำนวนเพียงพอต่อภารกิจและการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การอำนวยความสะดวกในการประทับตราหนังสือเดินทางเข้าเมือง (การขอและการต่ออายุวีซ่า และหนังสือเดินทาง) การจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน ได้แก่ นิตยภัต (อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายแด่ภิกษุ) ค่าเดินทาง เป็นต้น

            ๒.  การสนับสนุนงานด้านการศึกษาและเผยแผ่ ควรจัดทำแผน/โครงการเพื่อการดำเนินงาน โดยมุ่งหมายให้บุคคลในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษา ปฏิบัติธรรม การจัดกิจกรรมและนิทรรศการทางวิชาการ โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อการศึกษาสงเคราะห์สำหรับพระสงฆ์ สามเณร และเยาวชนในพื้นที่ การจัดทำโครงการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องในวัด การฝึกวิทยากร การจัดทำห้องสมุดเพื่อการค้นคว้าศึกษา และการจัดสัมมนาทางวิชาร่วมกับคณะสงฆ์และหน่วยงานวิชาการในพื้นที่

            ๓.  การสนับสนุนด้านการสงเคราะห์ ได้แก่ การสงเคราะห์ด้านอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และอื่นๆ ที่จำเป็นเหมาะสมต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความผูกพันและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สร้างความร่วมมือระหว่างวัดกับประชาชน หน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศต่อไป

            ๔.  การสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ และกระจายข้อมูลข่าวสารให้แพร่หลาย ด้วยการจัดทำแผ่นพับ เอกสาร หนังสือธรรมะ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี เพื่อแจกจ่ายและมอบให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมวัด การจัดทำข้อมูลเผยแพร่ในเว็บไซต์ และการเชิญผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมของวัด

            ๕.  การสนับสนุนด้านการก่อสร้างและบูรณะ เพื่อให้วัดมีอาคารเสนาสนะที่มีความมั่นคง แข็งแรง มีความพร้อมและสามารถในการอำนวยประโยชน์ในการระกอบพิธีกรรม การเผยแผ่และการปฏิบัติธรรม ซึ่งจะเป็นสิ่งดึงดูดให้บุคคลสนใจในธรรมและเข้ามาร่วม อาจกล่าวได้ว่า อาศัยสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมนำบุคคลเข้าสู่ศาสนาและการท่องเที่ยว การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการนี้จึงยังมีความจำเป็น และสำคัญต่อการบริหารจัดการและการพัฒนาของวัด โดยมุ่งเน้นในด้านการควบคุม ระบบนิเวศ ด้วยการปลูกต้นไม้ จัดระบบระบายน้ำ สร้างความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้วัดมีความร่มรื่นเป็นรมณียสถาน

            ๖.  การสนับสนุนด้านการวางแผนจัดการ/บริหาร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งงชาติจะต้องประสานหารือ และเสนอความเห็นต่อฝ่ายการปกครองคณะสงฆ์ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงต่างประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายและจัดทำแผนการบริหารจัดการ กิจกรรมและเป้าหมายของวัดไทยให้มีความชัดเจน และมีความต่อเนื่องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อการเตรียมพร้อมเกี่ยวกับบุคลากรและงบประมาณ ที่สามารถสนับสนุนให้แก่วัดไทยได้

            จากข้อคิดเห็นดังกล่าว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงมีความเห็นในแนวทางดำเนินการและสนับสนุนวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ที่พระวิเทศโพธิคุณ ประธานสงฆ์ของวัดได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ดังนี้

            ๑.  เห็นควรให้วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาปกครองดูแลโดยคณะสงฆ์ไทย เพื่อให้การจัดส่งพระธรรมทูตไปปฏิบัติหน้าที่ การกำหนดนโยบาย แผนงาน/โครงการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายการดำเนินงานของวัดไทยมีความสอดคล้องและต่อเนื่อง รวมทั้งการติดตามประเมินผลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

            ๒.  หน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรทางพระพุทธศาสนา ควรร่วมให้การสนับสนุนส่งเสริมในด้านงบประมาณและการปฏิบัติงาน เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา เผยแผ่ การปฏิบัติธรรม หรือการจัดกิจกรรมที่สำคัญ โดยเป้าหมายหลักจะเน้นให้วัดมีกิจกรรมเพื่อชักจูงให้คนเข้ามาร่วมในการปฏิบัติ ทั้งชาวไทยที่มาจาริกแสวงบุญและประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้การเผยแผ่เป็นอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง โดยกำหนดให้วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ จัดทำแผนงาน/โครงการ และงบประมาณ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้พิจารณาและให้การสนับสนุนเป็นรายปี

            ๓.  การจัดตั้งกองทุนหรือมูลนิธิเพื่อนำปัจจัยที่ได้จากการบริจาคมาใช้ในการบริหารจัดการภายในวัด ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของพระธรรมทูต นอกเหนือจากที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน โดยมีหน่วยงานทางราชการเข้าร่วมดูแล คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินเดีย

            สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อโปรดทราบ

 

                                                                                                ที่ประชุมรับทราบ

 

                                                                                           พลตำรวจโทอุดม  เจริญ
                                                                                          เลขาธิการมหาเถรสมาคม

 _________________________________________________________________________________

 

ทูตชั้นเยี่ยม 

            “...พระพุทธศาสนาที่เป็นปึกแผ่นแผ่ไพศาลไปทั่วชมพูทวีปได้อย่างรวดเร็ว เพราะคณะทำงานส่วนการเผยแผ่เป็นงานส่วนหน้าที่แข็งแรง บุคลากรที่พระพุทธเจ้าคัดจัดไว้ชั้นเยี่ยมทั้งนั้น ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งหวังให้พุทธธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปกคลุมทั่วชมพูทวีปได้เร็วที่สุด...”

พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทฺโธ)
พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย
ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์

  _________________________________________________________________________________

  

...จร ภิกฺกขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย
โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ...

ภิกขุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก
โดยอาศัยความอนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล
และเพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

วิ.มหา. ๔/๓๒/๒๗ 

 

เผยแผ่โดย
กองทุนพระพุทธสยัมภูญาณ
วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
WATTHAI KUSINARA CHALERMRAJ
KUSHINAGAR 224 403 (U.P.) INDIA
Phone : (91) 5564-271189  Fax : (91) 5564-272089
http://www.watthaikusinara-th.org

อยากอ่านเรื่องราวแบบเต็มอิ่ม พร้อมภาพประกอบสวยๆ สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่

มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย
373/4-5 ซอย รามคำแหง 39 (เทพลีลา แยก 7) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โทร. 02-1844539-41

 

หนังสือดี ต้องมีเก็บ

 

อย่าลืมไปหามาอ่านกันนะคะ




งานเขียนพระธรรมโพธิวงศ์

สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๒
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๓
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๔
วาทีหิมาลัย
ร้อยมุมมอง ส่องอินเดีย
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๑)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๒)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๓)
อินไอเดีย
พระราชรัตนรังษี ในบ้านเกิดพระพุทธเจ้า
เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา
อินเดียในมุมมองของบุคคลสำคัญ
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."เกี่ยวกับผู้เขียน" พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ)
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."วาทะ ๑"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๕.... "นาลันทา"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๖..."แผ่นดินมคธ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๗..."เขาคิชฌกูฏ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๘ ...."เมืองปาฏลีบุตร"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๙ .... "นครเวสาลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๐ .... "นครสาวัตถี อาณาจักรโกศล"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๑ .... "มหานครเดลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๒ .... "เมืองกัลกัตตา"



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang