สะพายกล้องท่องธรรม สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ตอนที่ 1 : ริมทางที่พบเห็น บันทึกโดย "ฉุน" ภาพจาก "แฟ้มปัญญาวุฒิไกร" เดินทาง 5-15 พฤศจิกายน 2551
ReadyPlanet.com
dot dot
สะพายกล้องท่องธรรม ๑ article

สะพายกล้องท่องธรรม

 

บันทึกโดย "ฉุน"
ภาพจาก "แฟ้มปัญญาวุฒิไกร"

เดินทาง 5-15 พฤศจิกายน 2551

 

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล
ตอนที่
1 :   ริมทางที่พบเห็น


 

 

 

 

 

ะมัสเต  สัพ โลค สวัสดีครับ”  ผู้อ่านทุกๆท่าน ผมขอพาทุกท่านสะพายกล้องท่องเที่ยวไปในดินแดนภารตะ  ดินแดนนารายณ์.....นารายณ์ (ต้องอ่านออกเสียง นาร้ายยยยยย  นารายยยยยย ด้วยนะครับ) ตามที่พวกเราชอบเรียกกันในฐานะที่มีความรัก ความชอบและความรู้สึกสนิทสนมต่อชาวอินเดียซึ่งได้อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยภายใต้ร่มบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่

 

จุดมุ่งหมายของการเยือนอินเดียที่ผมไปกับ “วันแรมทาง” ครั้งนี้ คือ การสักการะสังเวชนียสถานทั้งสี่ อันได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ดับขันธปรินิพพาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงแนะนำอย่างยิ่งว่าชาวพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาจะต้องหาโอกาสมาทัศนา เมื่อได้มาแล้วก็สมควรให้เวลากับการปฏิบัติ ธรรมอย่างเต็มที่เพื่อสร้างกำไรให้กับชีวิตอันเป็นอริยทรัพย์ซึ่งมีค่ามากมายกว่าโภคทรัพย์จนเปรียบกันไม่ได้   ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี่เองผมแม้จะอยู่ในจำพวกคนรักการถ่ายภาพ แต่ก็ตัดสินใจนำกล้องถ่ายรูปคอมแพคท์เล็กๆ ไปเพียงตัวเดียวซึ่งมีมูลค่าไม่มากมายนักแค่ สี่พันทอนร้อย” และได้ใช้งานมากว่าปี เพื่อที่จะได้ไม่มีภาระในการดูแลห่วงใยทรัพย์สินทั้งในยามปฏิบัติธรรมและยามเดินทาง ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าผมขนกล้องชุดใหญ่มาก็จะทำให้ตกอยู่ในภาวะโลเลลังเล จะถ่ายรูปดีหรือจะปฏิบัติธรรมดี ซึ่งทำให้ผลในการปฏิบัติและรูปที่ถ่ายออกมาไม่ดีไม่ได้งดงามหรือไม่ถูกใจเข้าทำนองเหยียบเรือสองแคม...จับปลาสองมืออะไรทำนองนั้น


 

 

 

 

ผมจึงใช้เวลาขณะนั่งรถบัสโดยสารปรับอากาศ ถ่ายรูปบ้านเรือนผู้คนด้านข้างซ้ายมือและด้านหลังรถเท่าที่จะทำได้เพื่อจะได้มีรูปมาคละเคล้ากับคำบอกเล่าประสบการณ์ที่พบเห็นตลอดการเดินทางครั้งนี้ เพื่อแบ่งปันความสุขให้กับผู้สนใจรักการท่องเที่ยวพร้อมกับการถ่ายภาพ และอาจจะเป็นอีกมิติที่อาจช่วยให้ภาพบันทึกเรื่องราวของผู้อ่านมีสีสันมี มุมมองแปลกใหม่ และเป็นศิลปะดูสวยงามถูกใจมากขึ้น

 
การถ่ายรูปภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ด้วยกล้องคอมแพคท์สี่พันทอนร้อยย่อมต้องมีอุปสรรคอยู่หลายประการซึ่งล้วนแล้วแต่ท้าทายคนรักการถ่ายภาพอย่างเราๆท่านๆ ที่จะต้องหาทางชนะขวากหนามนี้ให้ได้


 

 


อุปสรรคประการที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการโฟกัส โดยปกติแล้วกล้องคอมแพคจะมีคุณสมบัติในการโฟกัสได้ช้า และ โฟกัสได้ยาก เมื่อต้องถ่ายผ่านกระจกรถบัสซึ่งมีความขุ่นจากความเก่าของกระจกระคนกับฝุ่นที่เกาะด้านนอกกระจก  ปัญหานี้จะทำให้ไม่ได้ภาพที่ต้องการ จึงต้องแก้ไขปัญหาโดยใช้การโฟกัสแบบแมนนวล ซึ่งกล้องกำหนดให้เลือกว่าจุดโฟกัสจะเริ่มจากระยะห่างกี่เมตรจากตัวกล้อง ซึ่งเลือกได้ตั้งแต่ครึ่งเมตรไปจนกระทั่งสามเมตร ผมเลือกสามเมตรเพราะน่าจะเป็นระยะที่เหมาะสมที่สุดในการถ่ายภาพบ้านเรือนผู้คน และวิวทิวทัศน์ข้างทาง และยังเป็นการลดปัญหาเงาสะท้อนที่กระจกได้พอสมควร

 

ขวากหนามต่อมาคือ Shutter lag โดยคุณสมบัติของกล้องคอมแพคท์ทั่วไปนั้นจะมีระยะหน่วงอยู่นานพอสมควรเมื่อเทียบเคียงกับกล้องประเภท DSLR เมื่อต้องมาถ่ายภาพขณะโดยสารบนรถบัสที่วิ่งอยู่ ก็จะส่งผลให้ได้ภาพที่ไม่ต้องการ พูดง่ายๆก็คืออยากได้ภาพแมวเต็มตัวแต่กลับได้ภาพแมวครึ่งตัวบ้าง หนึ่งในสามตัวบ้าง หรือบางทีก็แค่หางแมวเท่านั้น ผมจึงต้องถ่ายซ้อมไปมากโขอยู่ กว่าที่จะกะคาดเดาจังหวะกดชัตเตอร์ล่วงหน้าสักเล็กน้อย ให้เหมาะสมกับความเร็วของรถบัสเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ

 

 


ปัญหาประการต่อมาคือ ความเร็วชัตเตอร์ ในเมื่อกล้องไม่มีฟังก์ชั่นเลือกความเร็วชัตเตอร์หรือเลือกขนาดรูรับแสง ผมจึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเลือกรูปแบบการถ่ายภาพกีฬาซึ่งกล้องตัวนี้มีแต่รูปไอคอนคนวิ่ง ไม่มีไอคอนรถแข่งซึ่งน่า จะเป็นการบอกทางอ้อมว่าความเร็วชัตเตอร์จะเพิ่มขึ้นได้ไม่มากตามที่ต้องการ  เนื่องจากคนวิ่งวิ่งยังไงก็ช้ากว่ารถวิ่งดังนั้นการเลือกรูปแบบการถ่ายภาพคนวิ่ง ก็เลยได้ภาพที่ใช้การไม่ได้ดูไม่ออกว่าถ่ายอะไร หรือดีหน่อยก็ได้ภาพซ้อนภาพ ไม่มีความคมชัด อันเนื่องมาจากความเร็วชัตเตอร์ไม่ทันความเร็วรถ ผมจึงต้องปรับ ISO จาก ISO พื้นฐาน 80 มาเป็น ISO 350 ส่งผลให้ความเร็วชัตเตอร์เพิ่มขึ้นมาสองสต๊อปกว่าๆ แต่ก็ต้องแลกกับ noise ที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ความท้าทายประการต่อมาก็คือ ผมต้องพยายามมองไปข้างหน้าให้มากที่สุด เพื่อให้เห็นสิ่งที่ต้องการจะบันทึกภาพนานพอในการยกกล้องและกดชัตเตอร์ล่วงหน้าเล็กน้อย ดังที่กล่าวมาแล้ว และท้ายสุดก็คือการจัดองค์ประกอบของภาพให้หลวมๆสักหน่อยเพื่อมีพื้นที่ในการหมุนภาพ (Rotation) และตัดส่วนของภาพ (Cropping) ให้ได้องค์ประกอบตามที่ต้องการ  

 

 


 

 

อุปสรรคทั้งห้าประการ เป็นปัจจัยที่เราพอจะควบคุมได้ตามสภาวะซึ่งมีอยู่เป็นอยู่ แต่จะได้ภาพถ่ายที่ถูกใจตามที่ต้อง การหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ นั่นก็คือความเร็วและทิศทางของรถที่เราโดยสาร เพราะวิ่งอยู่ดีๆก็ตกหลุมบ้าง กระเด้งกระดอนบ้าง เบรคหัวทิ่มบ้าง รถที่เดิมวิ่งช้าๆ อยู่ๆก็วิ่งเร็วๆ วิ่งบนผิวจราจรเต็มคันแล้วทันใดนั้นก็เอาครึ่งคันด้านซ้ายลงข้างทางบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องทำใจอย่างยิ่งกับการเดินทางด้วยรถในอินเดียเพราะสภาพถนนที่เล็กแคบ เป็นหลุมเป็นบ่อและหลังเต่า อีกทั้งสภาพการจราจรที่คนเดินเท้า  จักรยาน มอเตอร์ไซค์  รถสี่ล้อ รถบรรทุก สัตว์เลี้ยงต่างๆ และเกวียนทั้งทางตรงไปและสวนกลับล้วนแต่อยู่บนผิวถนนเดียวกันและยังกว้างไม่พอที่รถสองคันจะวิ่งสวนกันได้อย่างสบายๆ ทั้งหมดนี้คือบทสรุปที่ว่าเดินทางสองถึงสามร้อยกิโลเมตรต้องใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่าแปดชั่วโมง และถ่ายรูปบนรถให้สวย นอกจากต้องรู้วิธีแก้ปัญหาแล้วยังต้องอาศัยโชคอีกด้วย


เกริ่นนำที่มาที่ไปของภาพถ่ายมามากพอแล้ว  ผมขออนุญาตพาทุกท่านสะพายกล้องท่องเที่ยวไปดูอินเดียกันดีกว่า  อย่าทานอิ่มเกินไปนะครับ  นั่งรถกระเด้งกระดอนอย่างนี้แผลบเดี๋ยวเดียวก็จุกแล้ว  

 

 

 

 

อินเดียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ 3,287,240 ตารางกิโลเมตร นับได้มากเป็นอันดับที่ 7 ของโลกแต่มีประชากรประมาณ 1,200 ล้านคน เป็นรองแค่ประเทศจีนเท่านั้น  อินเดียมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ในรูปของสาธารณรัฐอันประ กอบด้วยรัฐต่างๆจำนวน 28 รัฐและ 7 เขตการปกครอง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ฝ่ายบริหารประเทศ มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP, as PPP basis) เป็นลำดับที่ 4 ของโลก เป็นรองสหรัฐอเมริกา  สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น  แต่เมื่อนำมาหารด้วยจำนวนประชากรแล้วอินเดียมีขนาดจีดีพีที่ 2,563 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อหนึ่งคน จัดลำดับได้ที่ 165 ซึ่งเป็นประเทศลำดับท้ายๆของโลก

 

 

 

 

สังเวชนียสถานทั้งสี่ที่ได้ไปนั้น สถานที่อันเป็นที่ตรัสรู้ ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ส่วนสถานที่ที่เป็นที่แสดงปฐมเทศนาหรืออิสิปตนมฤคทายวัน ตั้งอยู่ที่เมืองสารนาถ และสถานที่ที่ทรงปรินิพพาน ตั้งอยู่ที่กุสินารา ซึ่งทั้งสองที่นี้อยู่ในเขตของรัฐอุตตรประเทศ  ส่วนสถานที่อันเป็นที่ประสูตินั้นจะตั้งอยู่ที่ลุมพินีสถาน ตำบลลุมมินเด ประเทศเนปาลซึ่งอยู่ติดกับรัฐอุตตรประเทศ

 

จะว่าไปแล้วนี่บริเวณพื้นที่ของรัฐพิหารและอุตรประเทศของอินเดียนี่ ช่างอุดมสมบูรณ์เสียจริงๆ ตลอด 11 วัน ที่นั่งรถไปนั่งรถมานี่เห็นแต่ความอุดมสมบูรณ์อันเป็นผลมาจากแม่น้ำคงคา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ แม่น้ำที่เกิดจากน้ำที่ไหลผ่านพระเกศาของพระศิวะ เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของศาสนฮินดูได้ไหลผ่านรัฐทั้งสองรัฐดังกล่าวและก่อให้เกิดที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ไพศาล  แต่ความอุดมสมบูรณ์ที่ประดุจดังเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ประทานให้มานั้นจะไร้ค่าถ้าผู้คนที่อาศัยอยู่มิได้ลงแรงกายแรงใจ  ช่างน่าดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รู้ได้เห็นว่านาแปลงไหนที่เก็บเกี่ยวข้าวไปนานพอที่จะได้พักเหนื่อยตามสมควรแล้วพวกเขาก็ลงแรงเซาะร่องเพื่อปลูกผักบ้าง ปลูกถั่วบ้าง หรือปลูกมัสตาร์ดบ้าง เพาะปลูกเก็บเกี่ยวกันตลอดทั้งปี  ไม่มีการปล่อยให้ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์นี้รกร้างหรือเอาดินตากแดดเฉยๆเลย  

 

 

 

 

เห็นเขาขยันทำมาหากินเช่นนี้แล้วก็ให้เกิดสงสัยอย่างยิ่งจริงๆว่าคนอินเดียทำไมถึงยากจนค่นแค้นกันมาก ยิ่งรัฐพิหาร นี่ถือได้ว่าเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย หรือว่าความยากจนเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นกันในบรรดาประเทศโลกที่สาม อันเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือดีหน่อยก็เป็นประเทศที่กำลังจะพัฒนา ด้วยหันทิศทางประเทศมาเป็นอุตสาหกรรมแทนที่การกสิกรรมตามนิยามของโลกทุนนิยม  เหตุใดที่ความจนต้องอยู่คู่กันกับเกษตรกรชาวไร่ชาวนา เขายากจนเพราะเขาขี้เกียจไม่ขยันทำมาหากินเช่นนั้นหรือ หรือว่าพวกเขายากจนเพราะกลไกในการสร้างความมั่งมีตกอยู่ในมือคนเพียงแค่หยิบมือหนึ่ง หรือว่าเขาจนเพราะเขาเลือกที่จะจน จนในสายตาของคนที่มีความมั่งคั่งมากกว่า เขาจนในสายตาของคนที่มีความคิดมีค่านิยมของคำว่ารวยว่าจนในมุมมองของการสะสมทรัพย์ ในมุมมองของการแสวงหาการตอบสนองความทะยานอยากในรูปรสกลิ่นเสียงด้วยเงินตรา จนในมุมมองของอำนาจกำลังซื้อ อย่างไรก็ตามความจนความรวยหาได้เกี่ยวข้องกับความดีความไม่ดีในจิตใจของผู้คน  บางคนร่ำรวยล้นฟ้าแต่กลับยากจนความดี  บางคนยากจนแสนเข็ญแต่กลับเป็นมหาเศรษฐีความดีงามในจิตใจ

 

 

 

 

บ้านคนจนของอินเดียนี่ เขาก่อด้วยอิฐเผาไฟ  ฉาบและยึดด้วยดินเหนียว  และไม่นิยมทาสี  เพราะถ้าทาสีจะถูกเก็บภาษีหลังละ 5 พันรูปีต่อปี แต่ก็อาจพบบ้านบางหลังทาสีทั้งหลังด้วยสีเหลืองแถมมีตัวหนังสือโฆษณาสีแดงแลเห็นได้ชัดแต่ไกลๆ การก่อบ้านที่อยู่อาศัยด้วยวัสดุดินเช่นนี้จะส่งผลให้ภายในบ้านไม่ร้อนแต่กลับมีความเย็นสบายขณะที่อุณหภูมิภายนอกอาจจะสูงถึง 48 องศาเซลเซียสในยามฤดูร้อน ในทางกลับกัน เมื่อถึงหน้าหนาวภายในบ้านกลับอบอุ่น ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้สุขสบายไม่ต้องทุกข์ร้อนกับสภาพอากาศจนเกินไป

การอยู่อย่างเพียงพอของคนในชนบทที่อินเดียนี่ไม่เพียงแต่การแลกเปลี่ยนผลผลิต เพื่ออยู่อาศัยกันเองภายในหมู่ บ้านแล้วพวกเขายังมิได้รังเกียจมูลต่างๆที่พวกเราขยะแขยงรังเกียจกัน โดยการนำขี้วัวขี้ควายและมูลของสัตว์ต่างๆ มาคลุกเคล้ากับเศษฟางเศษหญ้าและดิน  ปั่นแผ่เป็นวงกลมๆ แล้วตากแห้งโดยปะติดข้างฝาผนังนอกบ้านเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติในการหุงหาอาหาร และ ให้ความอบอุ่นในยามหนาวๆ และเป็นสินค้าที่เปลี่ยนเป็นเงินตราได้  ภาพบ้านดินที่ตกแต่งฝาผนังด้านนอกของบ้านด้วยแผ่นกลมๆ สีดำปะซ้อนๆ กันจนเต็มพื้นที่จึงเป็นภาพที่เห็นจนคุ้นตานักท่องเที่ยวอย่างเราอย่างยิ่ง นอกเหนือจากแผ่นมูลของสัตว์อันเป็นเอกลักษณ์ของการอยู่อาศัยของคนในชนบทแล้ว  สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างของบ้านพวกเขาก็คือบ้านเป็นบ้านที่ไม่มีห้องน้ำห้องส้วม   เวลาปวดเบาปวดหนัก......โน่นวิ่งทุ่งเอา  เวลาปวดน้อยก็วิ่งได้ไกลสักหน่อย  ถ้าปวดมากก็วิ่งใกล้ๆก็พอ  แต่ถ้าปวดฉุกเฉินนี่ข้างๆ บ้านข้างๆ ถนนนี่แหละกำลังดีไม่ต้องไปไกล  ลักษณะการปลดทุกข์เช่นนี้ไม่เพียงพบพานในเขตชนบทเท่านั้น เมื่อเข้ามาในตัวเมืองเราก็มักจะเห็นการปลดทุกข์ริมตึกร้างบ้านร้างบ้าง ริมถนนบ้าง เขาถือกันว่าการปลดทุกข์เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่มีการตั้งแง่รังเกียจกัน เพราะอย่างนี้นี่เองในยามจอดรถโดยสารให้พวกเราได้ปลดทุกข์นี่พวกเราต้องมองแล้วมองอีกว่าจะไม่เหยียบกับระเบิด ไม่เคยจอดที่ไหนแล้วไม่เจอกองอึเลยหละ

 


การอาบน้ำชำระกายก็เช่นกัน หลายๆ บ้านจะเจาะน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกัน เขาบอกว่าที่อินเดียนี่ไม่ต้องเจาะลึกหรอกเพียงไม่กี่เมตรก็เจอตาน้ำแล้ว พวกเขาบอกเล่าด้วยความภูมิใจว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้าที่ประทานให้กับคนอินเดีย ความเชื่อความศรัทธาต่อพระเจ้าของพวกเขาตามหลักศาสนาฮินดูทำให้สิ่งร้ายๆกลับกลายเป็นดี ที่ร้ายมากก็ร้ายน้อย ที่ร้ายน้อยก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่น่าเชื่อเลยว่าแม่น้ำคงคาอันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขานั้นในยามที่เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ความยากลำบากในสภาพความเป็นอยู่ และอาจจะต้องสูญเสียญาติสนิทมิตรสหายไป แต่ในใจพวกเขากลับรู้สึกถึงความโชคดีที่ปีนี้ พระศิวะได้มาเยือนถึงบ้านเรือน

 

ผมพาท่านผู้อ่านตะลอนไปให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ ความเชื่อความศรัทธาของชนชาวอินเดียส่วนใหญ่มาถึงตรงนี้ ก็เห็นทีจะต้องขอหยุดไว้ก่อนเพื่อที่จะได้มีเนื้อที่ในการลงรูปให้ได้ชมกัน จึงจำต้องขอกล่าวคำ “ ธันยะวาท  และ  นะมัสเต สัพ โลค” เพื่อแทนคำขอบคุณและกล่าวคำสวัสดีที่จะต้องอำลาท่านผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนถึงตรงนี้ พบกันใหม่ตอนหน้า “ท่องไปในดินแดนสังเวชนียสถาน 4 ตำบล

 

_______________________________________________________________________________________________

Comment by: APPLE ( Patcharaporn Panyawuthikrai ค่ะ
เห็นว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับสมาชิก "วันแรมทาง" ที่ต้องการเทคนิคเพิ่มเติมในการถ่ายรูปเพื่อบันทึกเรื่องราว ที่ได้มุมมองดีๆ ประกอบอารมณ์ศิลป์ ส่วนเทคนิคในการถ่ายภาพแต่ละรูป อาจต้องดูประกอบในนิตยสารนะคะ ไม่ได้ประกอบในบันทึกฯ นี้

 

 

 

 

 แนะนำ ติชม คลิ้กที่นี่

 

 

 




บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang