ร้อยมุมมอง ส่องอินเดีย พระราชรัตนรังษี ว.ป. วีรยุทโธ พระธรรมทูตไทย เที่ยวอินเดีย พุทธคยา พาราณสี คงคา หิมาลัย แสวงบุญ สังเวชนียสถาน ฮินดู ทัชมาฮาล
ReadyPlanet.com
dot dot
ร้อยมุมมอง ส่องอินเดีย


บทความต่อไปนี้ คัดลอกจากหนังสือ
"ร้อยมุมมอง...ส่องอินเดีย" โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ) Ph.D
เนื้อหาและบทความทั้งหมดที่นำมาลงในคอลัมน์นี้ ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน
เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เรื่องราวในพุทธประวัติ แก่ผู้สนใจทั่วไป
น้องๆพี่ๆที่เข้ามา Copy ข้อมูล เพื่อไปทำรายงาน หรืออ่านเพื่อเป็นความรู้ ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยค่ะ

 แจ้งการคัดลอกข้อมูล แนะนำ หรือ ติชม ..คลิ้กที่นี่



 

ร้อยมุมมอง...ส่องอินเดีย
มองอินเดียด้วยตนเอง...ยิ่งกว่าพันคำบอกเล่า หมื่นตำราเรียน

 

 โดย

พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

 

 

๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐ 

            “การได้ท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง มีผลดีเสมอ เป็นการฝึกคนเราให้มีทัศนะกว้างไกล บางครั้งเราจะหมกมุ่นอยู่กับความคิดแคบๆ และปัญหาของตนเอง

             การมองโลกในภาพรวมจะเห็นว่า ผู้อื่นมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ชีวิตเขาอย่างไร เห็นอย่างนี้แล้ว จะลดอคติในการตัดสินใจของเรา การยอมรับในวิถีชีวิตและความคิดของผู้อื่นมากขึ้น จะทำให้มีเสรีภาพในหัวใจของเรา ไม่ผูกมัดยึดอยู่แต่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกินไป”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

(จากหนังสือ “ทัศนะจากอินเดีย” หน้า ๕๑๔)

๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐

 

คำบอกเล่า

            อินเดียเป็นมหาอาณาจักรที่รวบรวมความหลากหลาย ทั้งเก่าใหม่ ล้ำสมัย ล้าสมัย มั่งมี จนยาก ให้อยู่ด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ผู้คิดเห็น ทั้งพบเจอ เกิดมุมมองที่กว้างแคบ ถี่ห่าง ต่างกันไปตามวิสัยทัศน์อย่างอิสระ

            “ร้อยมุมมอง ส่องอินเดีย” เล่มนี้ ลืมตาดูโลกกับเขาได้ก็เพื่อสนองความปรารถนาของผู้เดินทางสู่ชมพูทวีป แผ่นดินผู้ให้กำเนิดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมากมาย ขอเสนอให้ได้ทราบเพียงมุมมองที่ผ่านความเป็นนักบรรยาย นักการศึกษา นักก่อสร้าง นักบริหาร ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในอินเดียมาเกินกว่า ๑๐ ฤดูฝน

            ทุกมุมล้วนแต่ได้กลั่นจากประสบการณ์ที่ตกผลึกแล้วทั้งนั้น เรียกว่า น่าจะเป็นเส้นนำสายตาให้ท่านย่อได้ ขยายได้ ตามความประสงค์ และสามารถปรับให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจใฝ่รู้ได้ไม่มากก็น้อย

            ขอฝาก “ร้อยมุมมอง ส่องอินเดีย” เล่มนี้ เพื่อเป็นบรรณาการ ขอบคุณด้วยสนิทใจ มองอินเดียด้วยตนเอง เข้าให้ถึงเนื้อหา ยิ่งกว่าพันคำบอก หมื่นตำราเรียน คุ้มเกินคุ้ม

พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทฺโธ)
พระธรรมทูตไทย สายประเทศอินเดีย – เนปาล
เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย
เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐

 

คุ้นเคยกันก่อน

พื้นที่                 ๓,๒๘๗,๕๙๐ ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง         นิวเดลี

มหานคร           มุมไบ (ประชากรมากกว่า ๑๕ ล้านคน)

ประชากร          ๑ พันล้านคน อัตราการเพิ่มของประชากรทุกๆ ระยะสิบปี คิดเป็นร้อยละ ๒๔ สัดส่วนของผู้หญิงคิดเป็น ๙๒.๙%

ยอดเขา            “ยอดเขากังซันจังกา” ในสิกขิม เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด มีความสูงถึง ๘,๕๘๖ เมตร

ภาษาที่ใช้          ฮินดี (เป็นภาษาแม่ของชาวอินเดียกว่า ๓๖๐ ล้านคน) ภาษาเตลุคุ ภาษาเบงกาลี  ภาษามราฐี และภาษาทมิฬ

ศาสนา              ฮินดู (ร้อยละ ๘๐) อิสลาม (ร้อยละ ๑๑) คริสต์ (ร้อยละ ๒) สิกข์ (ร้อยละ ๒) ที่เหลือเป็นเชนและพุทธและศาสนาอื่นๆ

สกุลเงิน             ๑ รูปี เท่ากับ ๑ บาทไทย (โดยประมาณ)

โซนเวลา           เวลาเร็วกว่าเวลามาตรฐานที่กรีนิช ๕ ชั่วโมงครึ่ง ช้ากว่าไทย ๑ ชั่วโมงครึ่ง

ไฟฟ้า               ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับแรงดัน ๒๒๐ โวลต์

ภูมิอากาศ         เวลาที่เหมาะจะมาเที่ยวที่สุด คือ ช่วงหลังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมเป็นฤดูกาลที่มีอากาศเย็นสบายเหมาะแก่การมาเที่ยวและจาริกแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน คือที่ พุทธคยา สารนาถ กุสินารา และลุมพินี (เนปาล) ฤดูร้อนจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน ไปจนถึงมิถุนายน อากาศจะร้อนและแห้งแล้งไปเกือบทั่วทุกภูมิภาค

การทักทาย       “นมัสเต” คือการทักทายตามแบบชาวอินเดีย กระทำโดยการพนมมือไหว้และสามารถใช้ในการขอบคุณได้ด้วย

เสื้อผ้า               ควรเลือกให้เหมาะกับฤดูและเส้นทาง จะให้ดีควรปรึกษาบริษัททัวร์ก่อน ไม่ควรขนของไปมากเกินจำเป็น

ฟิล์ม                 กล้อง-ฟิล์ม ควรเตรียมไปจากเมืองไทย (ในจำนวนที่เพียงพอ) เพราะราคาถูกและคุณภาพดีกว่า อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการถ่ายรูป แบตเตอรี่ ที่ชาร์จไฟ Memory card เป็นต้น

อื่นๆ                  ยา ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น หมวก แว่นตา ผ้าอนามัย เครื่องสำอาง ครีมกันแดด อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ น้ำปริก หมูหยอง หมูแผ่น สำหรับคนที่รับประทานอาหารท้องถิ่นไม่ค่อยได้ หมอนครึ่งวงกลมแบบเป่าลม สำหรับเวลานอนบนรถ ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทางนาน (มาก) จะทำให้ไม่เมื่อยคอ

สุขภาพ             พักผ่อนให้เต็มที่ในวันแรกที่เดินทางมาถึง (ร่างกายจะได้แข็งแรง) รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ผลไม้ที่ปอกเปลือกแล้วดื่มน้ำสะอาด ขวดมีฝาที่ยังไม่เปิดใช้ หรือที่ทางบริษัททัวร์จัดให้ ห้ามดื่มน้ำประปา ควรหลีกเลี่ยงน้ำแข็ง ที่สำคัญ อาหารทุกชนิดต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

เวลาทำงาน        ราชการเปิดทำการ จันทร์ – ศุกร์
เวลา ๙.๓๐ – ๑๘.๐๐ น. แต่งานต่างๆ จะดำเนินการในช่วง ๑๐.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. และพักเที่ยงค่อนข้างนาน

ไปรษณีย์          ทำการ จันทร์ – ศุกร์
เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๘.๐๐ น.

ธนาคาร            ทำการ จันทร์ – ศุกร์
เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๔.๐๐ น.
วันเสาร์ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.

รถไฟ                เป็นการเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศที่ดีที่สุด เพราะปลอดภัยและสะดวกสบาย แถมประหยัดอีกต่างหาก รถไฟอินเดียแบ่งออกเป็นหลายชั้น เช่น รถนอนปรับอากาศชั้น ๑ ห้องละ ๔ เตียง ล็อกได้ / รถนอนปรับอากาศชั้น ๒ ห้องละ ๖ เตียง มีผ้าม่านกั้นเพื่อความเป็นสัดส่วน รถนอนปรับอากาศชั้น ๓ ห้องละ ๙ เตียง รถนั่งปรับอากาศ / รถนอนพัดลมชั้น ๑ และชั้น ๒ ให้เลือกตามใจและสตางค์ในกระเป๋า แต่ต้องทำใจ เนื่องเพราะรถไฟของอินเดียวิ่งค่อนข้างช้า ถึงช้ามาก... และขอแนะนำว่า ควรจองตั๋วล่วงหน้าก่อนเดินทางทุกครั้ง

 

๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐

จงใช้ชีวิตเสมือนว่าคุณจะตายในวันพรุ่งนี้
จงเรียนรู้เสมือนว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์
 

มหาตมะ  คานธี

 ๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐

 

 

 

คือเมืองแห่งคนใช้หัว
คือเมืองให้ผัว เฝ้าห้าง
คือเมืองเดินทาง ต้องทำใจ
คือเมืองวัวเป็นใหญ่ นักเลงโต
คือเมืองสุดโอ่ วรรณะ
คือเมืองมีพระ ปางแก้ผ้า
คือเมืองคนเสพ ปรัชญา
คือเมืองสนทนา กลางถนน

 

 

คือเมืองปฏิบัติ ทรมานตน

สาธุ คือนักบวชชาวฮินดู ที่ยังมีชีพอยู่ด้วยการภิกขาจาร ทรมานตน และใช้ชีวิตอย่างสมถะเพื่อให้บรรลุธรรม มีสองนิกาย คือ ไศวนิกาย กับ ไวษณพนิกาย เครื่องหมายบนหน้าผากที่เป็นริ้ว จะบ่งบอกว่าบุคคลผู้นั้นนับถือพระเจ้าองค์ใด 

คือเมืองคน ขี้อวด
คือเมืองนักบวช พระฤๅษี
คือเมืองประเพณี รายวัน
คือเมืองคนธรรพ์ เทวทูต
คือเมืองชอบพูด เจรจา
คือเมืองศาสนา สารพัด
คือเมืองปฏิบัติ ทรมานตน
คือเมืองยกคน อรหันต์

 


คือเมืองสิบล้อ ชอบกินหญ้า

สิบล้อ (๒ ตัว ๘ ขา บวกล้อเกวียนอีก ๒ เป็น ๑๐ พอดี) ไม่กินน้ำมัน แต่กินหญ้าแทน แถมให้นมอีกต่างหาก เป็นพาหนะยอดนิยมให้ทั้งเทพและคน ทุกชนชั้นทุกวรรณะโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ คนอินเดียจึงรัก และไม่ทำร้ายวัว 

คือเมืองสวรรค์ ราคาถูก
คือเมืองลูก ผู้เป็นเจ้า
คือเมืองสาว ขอชายหนุ่ม
คือเมืองตุ่ม ไม่เก็บน้ำ
คือเมืองฟาร์ม เต็มประเทศ
คือเมืองเปรต ปราชญ์ ฉลาดขอ
คือเมืองสิบล้อ ชอบกินหญ้า
คือเมืองนก กา พญาแร้ง
 

 

 

เมืองคนตื้อ ถือขันขอ พอไม่เป็น

อินเดียเป็นเมืองที่ประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากประเทศจีน และเป็นสาเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้คนในประเทศมีฐานะยากจน โดยเฉพาะในรัฐพิหาร ซึ่งถือเป็นรัฐที่ยากจนที่สุด จะมีขอทานมาบริการท่านในทุกๆ แหล่งท่องเที่ยวที่ท่านเดินทางไป 

คือเมืองแซงหน้า แซงข้าง ขวางทางแย่
คือเมืองกลัว แต่ทวงถาม ตามยึกยื้อ
คือเมืองคนตื้อ ถือขันขอ พอไม่เป็น
คือเมืองเห็นงู กับแขก แปลกแขกเจ็บ
คือเมืองเก็บท่ารำ ทำเพลงร้อง
คือเมืองเห็นพ้อง เปิบมือ ถือหม้อน้ำ
คือเมืองสามหลงใหล ใจจดจ่อ
คือเมืองก่อบ้านอิฐ น้อยคิดฉาบ
                                   

 

คือเมืองสดโคมมัย ฉาบไล้บ้าน

เมืองที่แม้แต่ขี้ (วัว) ก็ยังมีค่า (โคมัย = ขี้วัว) ขี้วัวสดจะถูกนำมาผสมกับหญ้าแห้งหรือฟาง ปั้นเป็นก้อนแบนๆ ขนาดพอเหมาะ แปะไว้ตามข้างฝาบ้านให้แห้ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดี (มีกลิ่นเล็กน้อย) ย่างมันเผาได้หอมอร่อยยิ่งขึ้น (ไกด์คนไทยยืนยัน) 

คือเมืองคะร้าบ ทางซอย คอยกำหนด
คือเมืองผื่นผด กดเกา กิลาโส
คือเมืองตาโต โชว์พุง นุ่งโธตี
คือเมืองสร้างบารมี โพธิสัตว์ วัดความแท้
คือเมืองเสียงแตร เสียงสังข์ สนั่นหู
คือเมืองครูกับพระ ปะหน้ารถ
คือเมืองสดโคมัย ฉาบไล้บ้าน
คือเมืองสุสาน อารยธรรม นำวิถี
 

 

                                          


คือเมืองสร้างสรรค์ภาพยนตร์ พ้นกลางแปลง

อินเดียมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ผลิตภาพยนตร์ออกมาปีละกว่า ๙๐๐ เรื่อง MGR ฟิล์มเป็นสตูดิโอถ่ายหนังที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่ที่เมืองเชนใน หรือฮอลลีวู้ดแห่งอินเดียใต้ 

คือเมืองขับดี บาบูแขก เหมือนแหลกแน่
คือเมืองถ่องแท้ ทั้งขี้ทอง มองแล้วเลือก
คือเมืองเปลือก เมืองปน คนรู้ทัน
คือเมืองสร้างสรรค์ภาพยนตร์ พ้นกลางแปลง
เมืองหม้อแกง แพะไก่ ไปอย่าดม
เมืองขนม หนักหวาน น้ำตาลสูง
เมืองปรับปรุง ร้อยปี ไม่มีเปลี่ยน
เมืองต้องเตือน โรคาพาธ ระบาดป่วย
  

 

                                

คือเมืองดินแห้ง ไม่แล้งน้ำ

แม่น้ำเนรัญชรา ที่เมืองคยา (เห็นมหาเจดีย์พุทธคยาอยู่ไกลๆ) มองไปไม่เห็นน้ำ เห็นแต่ผืนทรายแห้งผาก แต่จากปากของผู้รู้บอกว่า หากขุดลงไปไม่เท่าไหร่ ก็จะมีน้ำไหลออกมาให้ใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดเวลา 

คือเมืองสาวสวย* จักรวาล ปานฟ้าแต่ง
คือเมืองดินแห้ง ไม่แล้งน้ำ
คือเมืองรุ่มร่าม รูปา กายาห้อย
คือเมืองถดถอย ล้าหลัง คลังสินค้า
คือเมืองขายผ้า ขายผม ขายพรมทอ
คือเมืองคนท้อ คนทึ่ง คนถึงทุกข์
คือเมืองแดดสุก สนุกหลายหลาก
คือเมืองกินหมาก มากรส ทั้งสดแห้ง
  

 

                        

คือเมืองคงคา แดนสวรรค์

แม่น้ำคงคาช่วงที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือช่วงที่ไหลผ่านเมืองพาราณสี ทุกๆ วันจะมีชาวฮินดูทยอยกันลงไปอาบน้ำชำระล้างบาปเป็นจำนวนมาก
...แม่น้ำคงคามีความยาวจากระยะทางต้นน้ำจนถึงปากอ่าว ยาวถึง ๑,๕๔๑ ไมล์
 

คือเมืองพลิกแพลง พระคัมภีร์
คือเมืองส่าหรี ครองบ้าน
คือเมืองพลุกพล่าน ตลาดถนน
คือเมืองอิทธิพล เจ้าลัทธิหลวง
คือเมืองตักตวง ต่อตึก ตากทุกอย่าง
คือเมืองต่างห่างสิ้น เหมือนดินฟ้า
คือเมืองคงคา แดนสวรรค์
คือเมืองสันตุฏฐิ์
* อาวุธลับ นับไว้รบ

                                               (* สันตุฏฐี = สันโดษ)

  

                                   

คือเมืองสำคัญ แสวงบุญ

สถูปและวิหารปรินิพพานที่เมืองกุสินารา สถานที่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลือกเป็นที่เสด็จปรินิพาน อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ เป็น ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถาน ที่พุทธศาสนิกชนเดินทางมากราบไหว้สักการะและแสวงบุญ 

คือเมืองจันทน์อบ ผ้ากาสี นารีฟ้อน
คือเมืองวิงวอน พระเจ้าช่วย
คือเมืองกล้วยแขกทอด ไม่มี
คือเมืองนั่งอี้ คุยกัน
คือเมืองสำคัญ แสวงบุญ
คือเมืองกลิ่นฉุน เครื่องเทศ
คือเมืองเหตุ เมืองผล
คือเมืองคนจน ผู้ยิ่งใหญ่
 

 

คือเมืองวิจิตร หิมาลัย

ชาวฮินดูเชื่อว่าขุนเขาเป็นที่สถิตของเหล่าเทพเจ้า และเทือกเขาหิมาลัยในรัฐอุตตรประเทศศักดิ์สิทธิ์กว่าที่อื่นๆ เพราะเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ต้นกำเนิดของแม่น้ำคงคา (คังโคตรี) และแม่น้ำยมุนา (ยมโนตรี) ยอดเขานันทาเทวีที่อยู่ในเขตนี้ สูงถึง ๗,๘๑๗ เมตร 

คือเมืองไฟดับ เกวียนพาติด
คือเมืองวิจิตร หิมาลัย
คือเมืองเมตไตรย์ จะอุบัติ
คือเมืองเห็นชัด ยอดสุด สุดที่สุด
คือเมืองขุดสลัก ถักหิน เป็นศิลป์เอก
คือเมืองเสกเจิม เติมอาถรรพณ์
คือเมืองเขตขัณฑ์ สุเมรุมาศ
คือเมืองประพาสยาตรา มหากุศล

 

                            

คือเมืองสงสาร ม้าอินเดีย เมียฮินดู

สังคมอินเดีย เป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีกฎเกณฑ์ข้อห้ามเข้มงวดมากมาย เพื่อควบคุมความประพฤติของสตรี โดยเฉพาะในชนบท
แต่ปัจจุบัน มีการเรียกร้องสิทธิสตรีมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมือง เนื่องจากสตรีได้รับการศึกษามากขึ้น

ส่วนม้าฮินดู (พูดไม่ได้ เรียกร้องสิทธิ์ไม่เป็น) จึงต้องทำงานหนัก และไม่ได้รับการเคารพยกย่องเท่าวัว
 

คือเมืองมีคน ล้วงทรัพย์ จับอย่าเผลอ
คือเมืองบาร์เบอร์ ปลงตัด จัดอิฐนั่ง
คือเมืองตาชั่ง ตักตวง กลวงทะนาน
คือเมืองสงสาร ม้าอินเดีย เมียฮินดู
คือเมืองเลี้ยงหมู เทศบาล ทำงานแทน
คือเมืองเขียนแปลน แผ่นกระดาษ วาดลงดิน
คือเมืองทำกิน นาน้ำ ตามสายสินธุ์
คือเมืองระบิล พาณิชย์ คิดค้าขาย
 

 

คือเมืองสังเวช (นีย) สถาน

ธัมเมกขสถูป สถานที่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปัจจุบันเรียกว่า “สารนาถ” อยู่ที่เมืองพาราณสี เป็น ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถาน 

คือเมืองนิยาย มหาอมตะ
คือเมืองกะ ไม่ค่อยถูก
คือเมืองเพาะปลูก การเกษตร
คือเมืองสังเวช (นีย) สถาน
คือเมืองโอฬาร แต่กาลก่อน
คือเมืองนคร เทวาลัย
คือเมืองคนไทย ใจถึง
คือเมืองที่พึ่ง ชาวโลก
  

                            

คือเมืองขลุกขลัก จราจร

สภาพจราจรจลาจลบนท้องถนนของอินเดีย เพราะจะมีพาหนะตั้งแต่รถลาก (Rikshaw) สามล้อ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน เกวียน รถยนต์ รถโดยสารประจำทาง เช่น รถเมล์ รถราง รถบัส นอกจากนั้นยังมีวัว ควาย แพะ แกะ เดินเพ่นพ่านกันไปทั่วท้องถนน 

คือเมืองโศก ผู้เกรียงไกร*
คือเมืองประชาธิปไตย ใหญ่ที่สุด
คือเมืองตีนกุด ขาชา การัมจัย
คือเมืองเห็นภัย อบายมุข
คือเมืองขลุกขลัก จราจร
คือเมืองยกกร ส่ายหน้า ขามีสร้อย
คือเมืองเพชรพลอย ลดามหาประสาธน์
**
คือเมืองฉลาดผลิต คิดครองโลก

(* พระเจ้าอโศกมหาราช เดิมเป็นกษัตริย์ฮินดู ภายหลังหันมานับถือพุทธศาสนา และได้ทำนุบำรุงจนเจริญรุ่งเรือง มีการส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่ยังต่างแดนถึง ๙ สาย รวมถึงเขตสุวรรณภูมิ ที่ตั้งของประเทศไทยด้วย)

(** ประสาธน์ = เครื่องประดับ)

 

 

คือเมืองสถูปเจดีย์ มีความหมาย

มหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็น ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถาน ที่สำคัญของพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่เมืองคยา รัฐพิหาร (รัฐที่ถือว่ายากจนที่สุดในโลก) 

คือเมืองบริโภค บริขาร บริรักษ์
คือเมืองรู้จัก เนื้อแท้ เบญจศีล
คือเมืองถวิลหา เมื่อลากลับ
คือเมืองขยับ ส่ายหน้า ผ้าหลากสี
คือเมืองสถูปเจดีย์ มีความหมาย
คือเมืองคนตาย คนเป็นไม่เห็นต่าง
คือเมืองข้างทาง ไม่ว่าง วางขายของ
คือเมืองชอบมอง ชอบมุง ยุงก็มาก

   

                                      

คือเมืองส่องหา โมกข์สันติ

อินเดียเป็นดินแดนที่ให้กำเนิดศาสนาที่สำคัญของโลกถึง ๓ ศาสนา นั่นคือ ฮินดู พุทธ และเชน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งชุมนุมของศาสนาอื่นๆ เช่น คริสต์ อิสลาม สิกข์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจุดหมายปลายทางล้วนแล้วแต่ไม่ต่างกัน 

คือเมืองลำบาก ยากเย็น เหมือนเข็นครก
คือเมืองวณิพก ศิลปิน
คือเมืองแดนดิน ถิ่นเทวดา
คือเมืองส่องหา โมกข์สันติ
คือเมืองตำหนิ ทางสองแพร่ง
คือเมืองแสดง ปาฏิหาริย์
คือเมืองส้วมถาน มีทุกที่
คือเมืองโยคี ฌานเสื่อม
  

                                  

คือเมืองยอดเยี่ยม พิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์อินเดีย ที่เมืองกัลกัตตา (ใหญ่ที่สุดในอินเดีย) ก่อตั้งเมื่อปี ๑๘๑๔ แต่เปิดให้คนเข้าชมในปี ๑๘๗๘ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่โตมาก มีห้องจัดแสดงทั้งหมด ๓๖ ห้อง รวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุไว้มากมาย
เปิดทำการเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ปิดวันจันทร์
 

คือเมืองยอดเยี่ยม พิพิธภัณฑ์
คือเมืองครบครัน ปริยัติ
คือเมืองคนสัตว์ เสมอภาพ
คือเมืองกราบ ผู้ให้ก่อน
คือเมืองตอน ไม่นิยม
คือเมืองชื่นชม สิ่งมหัศจรรย์
คือเมืองประชัน หนวดงาม
คือเมืองคดีความ ล้นศาล
 

  

                          

คือเมืองสาว – แก่ เจาะจมูก

หญิงชาวอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อย (แก่มาก) หรือสาวใหญ่ (แก่น้อย) ทั่วทุกภาคของประเทศจะนิยมเจาะจมูกเพื่อใส่เครื่องประดับ 

คือเมืองตำรวจ ทหาร ถือแส้
คือเมืองสาว – แก่ เจาะจมูก
คือเมืองท้องผูก เห็นไม่มี
คือเมืองแต้มสี แสกกลางผม
คือเมืองนิยม โบราณ
คือเมืองจาร
* พระคัมภีร์
คือเมืองปลอดหนี้
IMF
คือเมืองเจ็บ แล้วจดจำ
 

                                                (* จาร = การใช้เหล็กแหลมเขียนอักขระลงบนใบลาน) 

 

                           

คือเมืองเพลีย รถไฟ ไปแล้วคุ้ม

อินเดียมีเครือข่ายรถไฟครอบคลุมกว้างขวาง การท่องเที่ยวโดยทางรถไฟ จึงเอื้อให้เราได้รู้จักอินเดีย ผู้คน และภูมิประเทศอย่างถึงแก่น (แบบแน่นขนัด) แต่หากต้องใช้บริการรถไฟในอินเดียตามลำพัง ขอแนะนำให้ใช้บริการตู้นอนแอร์ เพราะจะสะดวก สบาย และปลอดภัยกว่า 

คือเมืองทำ ชักช้า
คือเมืองโจรา บัณฑิต
คือเมืองชีวิต เรียบง่าย
คือเมืองหลากหลาย สามัคคี
คือเมืองตาดีได้ ตาร้ายเสีย
คือเมืองเพลีย รถไฟ ไปแล้วคุ้ม
คือเมืองกลุ้ม ไข่ทอด ปลอดแม่ไก่
คือเมืองไถ ไถ่ถาม ตามอยากได้
 

 

                              

คือเมืองกองฟอน ริมฝั่ง

การเผาศพที่ท่าน้ำมณิกรรณิการ์ฆาต เมืองพาราณสี ซึ่งชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ตำนานเชื่อว่าพระศิวะได้ทำต่างหูข้างหนึ่งตกลง ณ ที่ตรงนี้) ทุกคนจึงต้องการให้ซากศพของตนได้มาเผาที่นี่ เมื่อเผาเสร็จก็จะโกยขี้เถ้าลงสู่แม่น้ำคงคา ที่เป็นเสมือนพาหนะที่จะนำพาพวกเขาไปสู่สวรรค์

คือเมืองไม้ยืนต้น คนเซ่นสรวง
คือเมืองแหนหวง เผ่าพงศ์ คงเชื้อสาย
คือเมืองเมื่อตาย สบายคนอยู่
คือเมืองตู้ พระไตรปิฎก
คือเมืองชูชก เวสสันดร
คือเมืองกองฟอน ริมฝั่ง
คือเมืองสตางค์ มีรู
คือเมืองปู่ ไม่เลี้ยงหลาน

 

 

คือเมืองไม้ขม ใช้สีฟัน

กิ่งไม้สะเดาชนิดหนึ่ง ใช้แทน “แปรงสีฟัน” และ “ยาสีฟัน” แบบทูอินวัน ไม่ต้องพึ่งทันตแพทย์แนะนำ มีวางขายตามถนนหนทางทั่วไป ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง 

คือเมืองสงสาร พาหนะ
คือเมืองศพพระ ถ่วงน้ำ
คือเมืองไต่ถาม ไม่ขัดข้อง
คือเมืองปกป้อง ชาตินิยม
คือเมืองไม้ขม ใช้สีฟัน
คือเมืองอยู่รวมกัน อุดอู้
คือเมืองหมู่หมู อิสระ
คือเมืองพบปะ ชอบชุมนุม
 

  

                                   

คือเมืองปราดเปรื่อง ช่างฝีมือ

อินเดียมีชื่อเสียงในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือ เรื่องช่างฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นพรม แพรพรรณ อัญมณี เครื่องประดับ เครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง เครื่องทองแดง และงานแกะสลักไม้จันทน์ นอกจากนั้นยังมีงานฝังพลอยและหินสีลงในหินอ่อนอีกด้วย

คือเมืองก่อทูม ทับถม
คือเมืองคารม แย่งขยาย
คือเมืองซื้อขาย ร้านเล็กๆ
คือเมืองเด็ก ปัญหาน้อย
คือเมืองรอคอย แทบทุกเรื่อง
คือเมืองปราดเปรื่อง ช่างฝีมือ
คือเมืองเชื่อถือ คำสอนพราหมณ์
คือเมืองเรียน ตามใต้ต้นไม้
 

  

                     

คือเมืองเทศน์ เวทย์โอม พรหม นิพพาน

กราบแทบเบื้องบาทพระศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วิหารปรินิพพาน เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ 

คือเมืองมีเครื่องหมาย แสดงถิ่น
คือเมืองบ้าบิ่น พิธีกรรม
คือเมืองผู้นำ นุ่งผ้าเตี่ยว
คือเมืองนักท่องเที่ยว กลัวก่อนมา
คือเมืองชาวพารา นับพันล้าน
คือเมืองตระการ งานแต่ง
คือเมืองแช่งสาป ปราบกิเลส
คือเมืองเทศน์ เวทย์โอม พรหม นิพพาน

 

  

คือเมืองประเทือง ไม่ประกาย ย้ายขั้วแขน

อินเดียมีประชากรแปลงเพศประมาณ ๗๕๐,๐๐๐ คน เรียกว่า “ฮิจระ” อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ หาเลี้ยงชีพด้วยการแสดงตามงานหรือพิธีมงคลต่างๆ ในชนบท เพราะชาวบ้านเชื่อว่าพวกฮิจระมีอำนาจวิเศษดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์และขจัดปัดเป่าเคราะห์กรรมต่างๆ ให้หมดไปได้ 

คือเมืองแกล้งโง่งาน ฉลาดการเงิน
คือเมืองเดิน นอนดิน ป่ายปีนเขา
คือเมืองเผาสตรี สามีม้วย
คือเมืองควาย วัว แพะ แกะ ลา อูฐ
คือเมืองฉาดฉูด เล่นสี กาลียักษ์
คือเมืองกินผัก กินถั่ว ตัวทาน้ำมัน
คือเมืองนัดกัน ทูมอโร่ โซตามเรื่อง
คือเมืองประเทือง ไม่ประกาย ย้ายขั้วแขวน
 

 

                           

คือเมืองรถ เกวียน แท็กซี่ ม้า ลา รถแวน

ประเทศที่เปิดให้มีการคมนาคมอย่างเสรี
ใครใคร่ขี้ม้า (ลา) ขี่     ใครใคร่ขี้เกวียน ขี่
ใครใคร่นั่งแท็กซี่ นั่ง     ใครใคร่ปั่นจักรยาน ปั่น
ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคในการใช้ถนนหนทางเดียวกันได้ (เพราะมีอยู่เส้นเดียว)
 

คือเมืองแก่นแกน สูงส่ง ลงสู่สามัญ
คือเมืองสวรรค์ กับนรก ปรากฏชัด
คือเมืองขูดขัด ตัดแต่ง แปลงนิสัย
คือเมืองใกล้ไกล ธรรมเนียมไม่เปื้อนแปลก
คือเมืองผิวแขก ขาว คล้ำ ดำไม่หมด
คือเมืองรถ เกวียน แท็กซี่ ม้า ลา รถแวน
คือเมืองวางแผน ธรรมนูญ ค้ำคูนยิ่ง
คือเมืองของจริง แกร่งกล้า กะลาปิดทอง
 

 

                       

คือเมืองความรัก อนุสรณ์

ทัชมาฮาล (ตั้งอยู่ที่นครอัคระ รัฐอุตตรประเทศ) สุดยอดของงานสถาปัตยกรรมในยุคมุฆัล สุสานที่จักรพรรดิ์ชาห์จะฮานทรงสร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่มเหสี พระนางมุมตาซมาฮาล ผู้ออกแบบ คือสถาปนิกเอกชื่อ อุสตาด อาหมัด ละฮอรี วัสดุที่ใช้เป็นหินอ่อนสีขาวจากเมืองมะกรานา ที่อยู่ห่างออกไปถึง ๓๐๐ กิโลเมตร ในรัฐราชสถาน 

คือเมืองเนืองนอง ทรัพย์ในดิน สินมนุษย์
คือเมืองเปลืองสุด สินสอด ขอดแทบสิ้น
คือเมืองพิณสามสาย ความหมายใหญ่
คือเมืองซื้อไก่ พีผอม ยอมไปชี้
คือเมืองโรตี โอชา อาหารผัก
คือเมืองความรัก อนุสรณ์
คือเมืองทวยเทพ ประสาทพร
คือเมืองละคร แห่งชีวิต
 

๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐

ทุกมุมมองล้วนกลั่นจากประสบการณ์
อันลุ่มลึก...ตกผลึกแล้วทั้งนั้น
เรียกว่าน่าจะเป็นเส้นนำสายตา
ให้ท่านย่อได้ขยายได้ตามประสงค์
และสามารถปรับให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจใฝ่รู้

มองอินเดีย.......ผ่านสายตา........ของคุณเอง 


๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐


 

                  ข้อมูลผู้เขียน

                                              

พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทฺโธ)
พระอมตานันทะ
* (นามแฝง)
รางวัลเสมาธรรมจักรพระราชทาน
สาขาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสายต่างประเทศ
(พ.ศ. ๒๕๓๗)

* พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทะภิกขุ) ให้นามนี้เมื่อคราวจาริกธรรมสู่อินเดีย พ.ศ. ๒๕๒๙ โดยที่ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยาย ท่านเห็นว่าจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิได้ จึงให้มงคลนามว่า “พระอมตานันทะ” ตั้งแต่บัดนั้น

 

การศึกษา

B.A. Political Science
M.A. Buddhist Studies (First Class)
Ph.D. Buddhist Studies (Ecology)

 

การงาน

สมณศักดิ์ ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๙) พระราชรัตนรังษี
พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย – เนปาล
ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ – อินเดีย
ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

 

ประสบการณ์ งานเขียน

·         อันว่า ศรีลังกา

·         อันว่า เนปาล

·         อันว่า อินเดีย

·         อันว่า อินโดนีเซีย

·         สมุดภาพพุทธภูมิ

·         พุทธสถานปริทัศน์

·         มหานครโกสัมพี

·         สู่แดนพุทธองค์

·         อันว่า แขกทั้งหลาย

·         คู่มือสวดมนต์อินเดีย – เนปาล

·         วิสัยทัศน์ การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ

·         หมอชีวก โกมารภัจจ์

ฯลฯ 

 

๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐๑๐๐

 

 

ขอสงวนสิทธิ์

ห้ามคัดลอกเนื้อหาและบทความ เพื่อจัดพิมพ์จำหน่าย

 

 

_______________________________________________________________________


อยากอ่านเรื่องราวแบบเต็มอิ่ม พร้อมภาพประกอบสวยๆ
สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่

มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย
373/4-5 ซอย รามคำแหง 39 (เทพลีลา แยก 7) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โทร. 02-1844539-41

 

หนังสือดี ต้องมีเก็บ

 

อย่าลืมไปหามาอ่านกันนะคะ




งานเขียนพระธรรมโพธิวงศ์

สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๒
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๓
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๔
วาทีหิมาลัย
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๑)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๒)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๓)
อินไอเดีย
พระราชรัตนรังษี ในบ้านเกิดพระพุทธเจ้า
เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา
วิสัยทัศน์การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ...พระราชรัตนรังษี
อินเดียในมุมมองของบุคคลสำคัญ
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."เกี่ยวกับผู้เขียน" พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ)
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."วาทะ ๑"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๕.... "นาลันทา"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๖..."แผ่นดินมคธ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๗..."เขาคิชฌกูฏ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๘ ...."เมืองปาฏลีบุตร"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๙ .... "นครเวสาลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๐ .... "นครสาวัตถี อาณาจักรโกศล"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๑ .... "มหานครเดลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๒ .... "เมืองกัลกัตตา"



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang