พระราชรัตนรังษี วีรยุทโธ ในบ้านเกิดพระพุทธเจ้า นิตยสารดิฉัน คอลัมน์เปิดอก พระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย-เนปาล วัดไทยกุสินารา วัดไทยลุมพินี ดินแดนพุทธภูมิ สังเวชนียสถาน
ReadyPlanet.com
dot dot
พระราชรัตนรังษี ในบ้านเกิดพระพุทธเจ้า


บทความต่อไปนี้ คัดลอกจาก "นิตยสาร ดิฉัน" คอลัมน์เปิดอก
เนื้อหาและบทความทั้งหมดที่นำมาลงในคอลัมน์นี้
เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เรื่องราวในพุทธประวัติ แก่ผู้สนใจทั่วไป
ห้ามนำไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ
น้องๆพี่ๆที่เข้ามา Copy ข้อมูล เพื่อไปทำรายงาน หรืออ่านเพื่อเป็นความรู้ ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยค่ะ

 แจ้งการคัดลอกข้อมูล แนะนำ หรือ ติชม ..คลิ้กที่นี่



 


พระราชรัตนรังษี

ในบ้านเกิดพระพุทธเจ้า

           
           
ประเทศอินเดียเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา เป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นศาสดาของศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชนจำนวนมากจึงตั้งเป้าหมายว่าอยากไปสักการะพระพุทธเจ้า ณ บ้านเกิดของพระองค์สักครั้งในชีวิต

            ย้อนหลังไปราว ๓๐ ปีที่แล้ว คนไทยยังเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดียกันน้อย เพราะการคมนาคม ถนนหนทางตลอดจนที่พักยังไม่สะดวก แต่หลังจากพระสงฆ์ไทยไปสร้างวัดไทยในเมืองอันเป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถาน ๔ แห่งที่อินเดีย การเดินทางไปแสวงบุญก็เริ่มสะดวกขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้เดินทางไปสักการะพุทธสังเวชนียสถานกันเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

            ถือได้ว่าพระสงฆ์ไทยนี่เอง ที่เป็นผู้ไปบุกเบิกและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่อินเดียให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง

            ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทโธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระภิกษุรุ่นแรกๆ ที่ไปบุกเบิกสร้างวัดไทยในดินแดนสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย และจำพรรษาอยู่ที่นั่นมานานถึง ๒๓ ปีแล้ว โดยขณะนี้ท่านดำรงตำแหน่งประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย และปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

            พระราชรัตนรังษีมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านจบปริญญาโทและเอก สาขารัฐศาสตร์บัณฑิตที่ประเทศอินดีย และเป็นพระธรรมทูตไมค์ทองที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียที่ซบเซาไปเป็นเวลานานให้พลิกฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง

            ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้เกิดยุคทองที่พุทธศาสนิกชนไทยพากันเดินทางไปแสวงบุญในพุทธภูมิมากมาย จนท่านได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักรทองคำ สาขาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

            ท่านเจ้าคุณฯ ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กและบวชเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ

            “ที่บวชเพราะชอบพระเวลาท่านบิณฑบาต งามดี เราอยากทำตามคนที่ทำอะไรแล้วสง่า แล้วเวลาฟังพระสวดมนต์ เราเหมือนกับจะต้องฟังให้จบ

            ...ตอนบวชนี่อาตมาอยากบวชเอง ก็ไปอยู่วัดก่อน ไปอยู่กับพระจนแม่ไปตาม แม่เห็นว่าเอากลับไม่ได้แล้ว ให้บวชซะเลย (หัวเราะ)

            ...ก็บวชที่วัดมหาธาตุฯ แล้วเรียนชั้นประถมไปด้วยถึง ป.๖ ก็ไปสอบเทียบ ป.๗ สอบได้แล้วก็เรียนมัธยม ๑ แล้วสอบเทียบมัธยม ๓

            ...ตอนเป็นเณรก็เขียนหนังสือแลกค่าเทอม เขียนกลอนส่งไปลงสตรีสาร ได้บรรทัดละ ๑๐ บาท บทดอกสร้อยก็ ๖ บรรทัดเอง ได้เป็นดาว ถ้า ๔ ดาวก็ได้ ๖๐ บาท เขียนตั้งแต่ไม่มีดาวจนได้ ๔ ดาว

            ...ตอนนั้นใช้อยู่ ๖-๗ นามปากกา กระทุงเลียบโขง พญาหงส์เหินหาว กาขาวไร้คอน ฯลฯ เขียนเป็นกลอน ๑๔ ตุลาฯ กร้าวๆ ไม่เพราะ”

            เมื่ออายุครบเกณฑ์ ท่านเจ้าคุณฯ ก็เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

            “พ.ศ. ๒๕๑๘ อายุ ๑๙ อาตมาก็บวชเป็นพระ และจัดรายการสนทนาพระไตรปิฎกที่วิยุยานเกราะ

            ...พ.ศ. ๒๕๒๑ อาตมาสอนวิชาพระพุทธศาสนาที่โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ และดูแลโรงเรียนในเขต ๘  ทั้งหมด ๘ โรงเรียน อาตมานำวิชาพุทธศาสนาเข้าไปบริหารจัดการในโรงเรียน ช่วยลดภาระฝ่ายปกครองเรื่องการลงโทษเด็ก คือให้เด็กไม่มีความดื้อ

            ...อาตมาจะสอนให้เขารู้จักพระพุทธเจ้า ให้เขารักพระพุทธเจ้าก่อน ให้เขามีคนต้นแบบก่อน และให้เขาเชื่อมั่นว่าระเบียบวินัยของพระพุทธศาสนาช่วยเขาได้ เป็นการเอาพุทธศาสนาเข้ามาพัฒนาเด็ก

            ...อาตมาจะตั้งพระไว้ในโรงเรียน ให้เด็กรู้จักทำความเคารพโดยไม่ต้องให้ครูมายืนอยู่หน้าโรงเรียน แล้วเด็กก็ไหว้ครูอย่างเดียว เด็กก็มีความสำนึกในการที่จะทำตัวของตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาเตือนสติ จนกลายเป็นคนคุ้นเคยกับการถูกเตือน”

            การนำศาสนาเข้าไปอบรมเด็กดูจะได้ผลงดงาม เพราะโรงเรียนที่ท่านสอน ได้รับรางวัลถึง ๕ แห่งในปีเดียว

            “สมัยนั้นอาตมาค่อนข้างจะเอาจริงเอาจังกับการศึกษามากๆ เพราะมีความมั่นใจว่าถ้าหากคนไม่มีการศึกษาแล้วพัฒนายาก

            ...อาตมาสอนอยู่ ๘ ปีก็ลาออก เมื่อปี ๒๕๒๗ เพราะเรื่องการศึกษาของเรา ระยะหลังเขวไปตามฝรั่ง มันจะเกิดผลเสียข้างหน้าที่จะตกถึงครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งที่ควรเปิดเผย และไม่ควรเปิดเผย

            ...สิ่งที่ควรเปิดเผยก็คือเรื่องสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ยิ่งเสนอออกมาเท่าไหร่ก็ยิ่งมีคนเดินตามและปฏิบัติตาม แต่ระยะหลังมานี้บ้านเมืองก็ไม่ค่อยตอบสนอง ที.วี.ก็เสนอแต่เรื่องมิจฉาทิฐิทั้งนั้น ไม่มีเรื่องสัมมาทิฐิเลย

            ....ตรงนี้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่กระจายออกให้ผู้คนรับสิ่งที่ไม่ดีไว้เป็นสมบัติ เพราะเมื่อเด็กดูแล้วได้รับการชี้นำอย่างนี้ มันไม่ถูก ก็เสียหาย

            ...อาตมาเลยคิดว่าจะต้องไปหาวิธีอื่น เรามีวิธีอื่นที่จะต้องทำ ซึ่งไม่ใช่ตรงนี้แล้วล่ะ ก็คือไปพุทธภูมิ ไปเรียนปริญญาเอกให้จบก่อน แล้วตั้งหลักการเผยแผ่ในพุทธภูมิ

            ...อาตมามีความมั่นใจว่าคนที่จะไปอินเดียต่อไปในวันข้างหน้านี่ เราจะสอนง่ายกว่า แล้วให้คนเหล่านี้ ซึ่งเป็นพลังที่ได้ใกล้ชิดพระศาสนาแล้วกลับมาเมืองไทย”

            ท่านเจ้าคุณฯ ไปเรียนปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยที่พาราณสี ประเทศอินเดีย

            “มหาวิทยาลัยที่อาตมาเรียนเป็นมหาวิทยาลัยทั่วไป ที่อินเดีย การศึกษาคือการศึกษา ไม่แยกว่าสงฆ์หรืออะไร เขาจะไม่แบ่งสถานภาพ

            ...เริ่มแรกอาตมาไม่ได้ตั้งใจไปเรียนหนังสือโดยตรงหรอก ทีนี้เมื่อคราวที่หลวงพ่อพระสุเมธาธิบดี วัดมหาธาตุฯ ท่านเป็นพระอยู่ที่พุทธคยา ท่านจะจัดงานเฉลิมฉลอง ๖๐ ปีพระเจ้าอยู่หัว ท่านเห็นว่าอาตมาก็ทำงานเกี่ยวกับเด็กๆ อยู่แล้ว ท่านเลยให้โอกาสไปทำหนังสือ

            ...อาตมาก็เดินทางไปอินเดีย ไม่มีปากกา ไม่มีสมุด ถือกล้องแคนนอนไปตัวเดียวกับน้ำยาฮวงโปสำหรับล้างฟิล์ม เพราะสมัยก่อนอินเดียไม่มีแล็บล้างรูป ต้องทำเอง

            ...อาตมาก็ไปถ่ายภาพตามโครงการสำรวจพุทธสถานในพุทธภูมิ หลวงพ่อก็พาไปสำรวจสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า คือที่พุทธคยาซึ่งเป็นที่ตรัสรู้ แล้วขยายไปราชคฤห์ ไวสาลี พาราณสี กบิลพัสด์ กุสินารา ลุมพินี ในโครงการสำรวจพุทธสถานทางวิชาการ

            ...หลวงพ่อท่านมีความคิดว่าวิชาทางพุทธศาสนา ณ ขณะนี้ กำลังที่จะส่งให้เห็นตามความเป็นจริงน่ะมันยาก อย่างเรานับถือพุทธศาสนาในเมืองไทย เราก็ยังไม่เห็นว่าพุทธสถานคืออะไร

            ...เพราะการศึกษาเรื่องศาสนาต้องขึ้นต้นด้วยศรัทธา ถ้าศึกษาทางโลกต้องขึ้นต้นด้วยปัญญา มีปัญญาก็ศึกษาทะลุปรุโปร่ง แต่เรื่องศาสนาต้องศรัทธา คือความมั่นใจ เชื่อใจมาก่อน แล้วค่อยเติมด้วยปัญญา นี่คือเรื่องของศาสนา เราก็เอ๊ะ ทำยังไง

            ...หลวงพ่อก็พาไปดูตามที่ต่างๆ”

            การได้ไปเห็นและสัมผัสยังสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า สร้างความประทับใจให้กับท่านเจ้าคุณฯ อย่างมาก

            “อาตมารู้สึกยิ่งใหญ่ เราได้อยู่ใกล้กับผู้ยิ่งใหญ่ เราได้รับใช้ศาสดาเอกของโลก เราจะได้ทำงานในระดับพระศาสดาทำ เราจะได้รับใช้ แล้วคิดว่าจะต้องรับการถ่ายทอดสายตรงจากพระองค์เองด้วย เรามั่นใจถึงขนาดนี้

            ....อาตมาตั้งใจไว้ตั้งแต่นั้นเลยว่าเราจะสนองคุณพระพุทธศาสนา โดยจะหาจะพาผู้คนทั้งหลายมาถวายให้กับพระพุทธเจ้าให้จงได้ จะเกณฑ์คนมาให้เป็นสาวกของพระองค์ แล้วให้คนเหล่านี้มารับความสุขอย่างสูงสุดกลับไปครอบครัวของเขาให้ได้

            ...ให้ตัวเขามีสิ่งที่เรียกว่าศาสนา คือความร่มเย็นเป็นสุข นำไปใช้ในสามสี่ที่ให้ได้ คือใช้ที่บ้าน ที่ทำงาน และในสังคมของประเทศ ต้องทำให้ได้ ฉะนั้นพลังที่เราจะส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้ยาวไกลได้ต้องมีฐาน ฐานก็คือพุทธสถาน

            ..เราต้องเผยแผ่เรื่องพุทธสถานให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มีจริง พระพุทธเจ้าไม่ใช่ตัวละคร ไม่ใช่นิยาย เป็นชีวิตคนเป็นๆ เหมือนอย่างเรา ท่านมีพ่อมีแม่ มีชีวิตอยู่ บ้านท่านก็มี ที่เรียนหนังสือท่านก็มี ที่ทำงานท่านก็มี มีหมด

            ...เราอยากให้คนเห็นว่าพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างพวกเราเลย ท่านเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนเองโดยใช้หลักธรรมอย่างที่พวกเราจะทำตามพระองค์ได้หมด อย่าไปย่อท้อ

            ...ก็มาคิดว่าการที่เราจะพาผู้คนทั้งหลายไปที่นั่นได้นี่เราจะทำยังไง ถ้าคนมามาก เราต้องมีสถานที่ให้เขาพัก เพราะถ้าชวนคนมามีความทุกข์เราก็ไม่อยากชวน เพราะในปี ๒๗-๒๘ ไม่มีที่พัก ไม่มีอะไรเลย เป็นป่าอย่างเดียว แล้วถ้าคนมา เขาจะพักที่ไหน

            ...โถ...พระจะไปคิดได้ยังไงว่าจะสร้างโรงแรม สร้างรีสอร์ท พระก็ต้องมองว่าสร้างวัด”

            ขณะนั้นมีวัดไทยอยู่ในอินเดียบ้างแล้ว โดยมีวัดไทยพุทธคยา ที่พุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นวัดไทยแห่งแรก

            “วัดไทยพุทธคยาเป็นวัดไทยแห่งแรกของโลกเลย เกิดขึ้นจากรัฐบาลอินเดียสมัยเยาวหราล เนรูห์ จัดฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ เฉลิมฉลองเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอก

            ...จริงๆ ท่านเนรูห์เป็นฮินดู แต่อินเดียนี่แปลก ศาสนาใดเกิดขึ้นในประเทศของเขา เขาถือว่าเป็นแนวความคิด แนวคำสอนที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเขา เขาไม่รังเกียจ อยู่ร่วมกันได้ อินเดียเหมือนกับท้องแม่ เป็นที่ให้เกิด เกิดศาสนามา แม่ก็ต้องเลี้ยง เขาคิดอย่างนี้ ไม่ได้คิดทำลาย

            ...แต่พุทธศาสนาสมัยหนึ่งก็ถูกเบียดเบียน ถูกครอบงำปรับเปลี่ยน ก็ไปใช้แบรนด์เนมอย่างอื่นคือฮินดู แต่ก็น่าเห็นใจว่าทำไมเปลี่ยนพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในฮินดู ไปอยู่ในนารายณ์อวตาร ๑๐ ปาง

            ...ใหม่ๆ เราโกรธเหมือนกัน ย่ำยีเรา กลืนศาสนาเรา แต่พอเราเรียนไปแล้ว อ๋อ ไม่ใช่ เพราะตอนนั้นศาสนาพุทธถูกรุกรานจากศาสนาที่มาจากต่างประเทศถึง ๒ ครั้งใหญ่ๆ คือ จากอิสลามเข้ามายึดครอง และจากอังกฤษเข้ามายึดครอง ฮินดูต้องปรับแผนรักษาศาสนาเขาไว้ เพราะแต่ก่อนมันกระจายหมด ความเชื่อกระจายไปหมด ก็เก็บความเชื่อทั้ง ๑๐ หลักใหญ่ๆ เป็นอวตาร ๑๐ ปาง พระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งในนั้น

            ...เดี๋ยวนี้เรามีความเข้าใจแล้วว่า อ๋อ นี่เป็นเซฟเฮ้าส์ เป็นการปกป้องพระพุทธศาสนาไว้ แล้วขณะนี้เราสามารถเปิดตู้นี้ได้ เอามาโชว์คนทั้งหลายได้

            ...ฮินดูจะมีวิธีการเหมือนเก็บไว้ในที่ปลอดภัย อย่างชาญฉลาดด้วย เหมือนคัมภีร์ที่ต่างวางอีเหละเขละขละไปหมด แล้วเอามาใส่เล่มเดียวกันไม่ให้กระจายไป ต่อมาถ้าคนอื่นเขารู้เห็นว่าดี เขาไปซีร็อกซ์เองแหละ ก็เป็นแง่มุมที่ดี ไม่โกรธ

            ...แต่ตอนนั้นพุทธศาสนาในอินเดียไม่มี พุทธศาสนาในอินเดียตอนนั้นสลบอยู่ ท่านก็อยากฟื้นฟูขึ้นมา”

            ท่านเนรูห์ได้ส่งหนังสือเชิญพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ให้ไปสร้างวัดในอินเดีย

            “ท่านเนรูห์ตั้งใจเฉลิมฉลองวันเกิดของพระพุทธเจ้าครบ ๒,๕๐๐ ปี ท่านก็คิดอยากให้มีวัด ก็ออกหนังสือเชิญทั่วโลกให้มาสร้างวัด เพราะการสร้างวัดเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม แบบลงทุนน้อยที่สุด

            ...ไทยเป็นประเทศแรกที่ตอบรับคำเชิญในสมัยจอมพล ป. โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัด ใช้เวลาสร้างวัด ๖ ปี ก็สมบูรณ์

            ...พ.ศ. ๒๕๐๒ ก็ส่งพระธรรมทูตไป ชุดแรกก็คือพระธรรมธีรราชมหามุนี ต่อมาเป็นสมเด็จพระธีรญาณมุนีที่วัดสามปลื้ม ท่านอยู่ได้ ๓ ปี ก็กลับมา

            ...หลวงพ่อก็ส่งพระเทพวิสุทธิโมฬี วัดมหาธาตุฯ หรือต่อมาได้สมณศักดิ์ว่าพระสุเมธาธิบดีไป ยุคนี้ก็เป็นยุคที่ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาตามรูปแบบวิธีการใหม่ๆ ซึ่งหลวงพ่อใช้คำว่าให้ปัญญาเป็นตัวนำปริญญา อย่าให้ปริญญาเป็นผู้นำปัญญา หมายความว่าหลวงพ่อให้ทุกคนมีปัญญาแล้วค่อยมีปริญญา ท่านสอนพระ

            ...นั่นคือจุดที่พุทธศาสนาไปเกิดที่อินเดีย วัดก็เกิดขึ้น มีพระสงฆ์สืบทอดต่อกันมาตอนนี้เป็นชุดที่ ๓”

            การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียในระยะแรกไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าคนอินเดียจะเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์คืออะไร

            “แรกๆ คนที่นั่นเขาไม่รู้หรอกว่าพระคืออะไร ก็ต้องทำความเข้าใจกับเขาให้เขารู้ว่าเราคือใคร ต้องเชื่อมโยงให้เขารู้ว่า ที่เห็นห่มผ้าเหลืองอย่างนี้ไม่ใช่อยู่ๆ เราโผล่ขึ้นมานะ ผ้าเหลืองเกิดขึ้นมาที่เมืองพาราณสีตอนที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้น

            ...แล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่นี่ ที่พุทธคยา พอตรัสรู้เสร็จก็นำหลักธรรมไปเผยแผ่ให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็เกิดพระสงฆ์ขึ้น จากการแสดงธรรมจักร แล้วพอพระสงฆ์เกิดขึ้นได้ ๖๐ รูป พระพุทธเจ้าก็ประกาศพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนากระจายไปทั่วประเทศ และทั่วโลก เราก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

            ...เขาฟังแล้วก็ อ๋อ...นี่ของเรานะ ไปอยู่ถึงเมืองไทย แล้วเดินกลับมาได้ เขาเริ่มพอใจตัวเขาเองแล้วว่า อ๋อ นี่สมบัติของเรานี่

            ....เขาก็เริ่มมาคุยกับเรา เราก็เริ่มให้เขารู้ว่าพระพุทธเจ้าคืออย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าคือบุคคลที่เกิดขึ้นมาในชมพูทวีป มีชีวิตเป็นอย่างนี้ๆ เหมือนเราไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาจากที่สลบไปแล้ว ฟื้นฟูจากที่จ่อมจมไปแล้ว

            ...การฟื้นฟูใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี เดี๋ยวก็มีสายทิเบตนุ่งกางเกงเข้ามา สายญี่ปุ่นใส่เสื้อ มีกลอง ตีฉิ่งตีฉาบ สายเวียดนาม สายจีน เข้ามาเต็มไปหมดเลย เขาบอก เอ๊ะ ทำไมไม่เหมือนพุทธศาสนา

            ...ก็บอกเขาว่าพุทธศาสนาเหมือนต้นโพธิ์ เกิดขึ้นจากที่นี่นะ แล้วเขานำไปปลูกในสิ่งแวดล้อมต่างกัน ก็ออกดอกออกกิ่งก้านต่างกัน แต่พื้นฐานเดียวกัน

            ...แล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไร ใหม่ๆ เขาก็ไม่ค่อยฟัง แต่เขาดูพระแล้ว พวกนี้เรียนจบปริญญาเอก มากวาดวัดก็ได้ เทศน์ก็เป็น ซ่อมรถก็ได้ เขียนหนังสือก็ได้ นำสวดมนต์ก็ได้ คนป่วยคนเจ็บพาไปโรงพยาบาลได้ เขามาถามว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่ อาตมาบอกไม่มีเงินเดือน

            ...เขาก็ เอ๊ะ พวกนี้เชื่ออะไร ไปฟังใครสอนถึงไม่ต้องเสียสตางค์เลย แล้วทำงานไม่มีเสาร์-อาทิตย์ ไม่มีกลางวันกลางคืน เขาจะสงสัย สนใจพระ สนใจในมุมที่พระมีความเสียสละสูง

            ...แล้วพอหน้าหนาว คนเหล่านี้เขาห่มผ้าเหมือนอย่างห่มผ้าหน้าร้อน แต่แปลก เขาไปบ้านที่ประเทศไทยเขามา แทนที่จะมีผ้าห่ม เปล่า มีกางเกง มีเสื้อผ้าของเด็กๆ ที่คนทางเมืองไทยฝากเขามา แล้วเขาก็หอบแจกเด็กๆ ที่ไม่มีผ้าห่ม ที่นอนจะตายอยู่ข้างกำแพง เอ๊ะ ใครสอนอะไรเขา เขาก็เริ่มสนใจแล้วล่ะ

            ...เขาก็เข้ามาวัด พระก็พาสวดมนต์ เราก็พาเขาดูว่าที่เรามาอยู่ที่นี่ไม่ใช่เราอยากมาเองหรอก เรามาเพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนพวกเรา

            ...ถ้าไม่มีองค์นี้เสียแล้วเราจะไม่แบกของมาจากเมืองไทย แล้วคนไทยก็จะไม่ได้ให้ของเรา ไม่มาแจกสตางค์ให้พวกเธอเรียนหนังสือ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้านะ เราไม่มาหรอก”

            เมื่อเป็นพระก็ต้องออกบิณฑบาต ซึ่งก็ไม่ง่ายนักที่ชาวบ้านจะเข้าใจเรื่องการใส่บาตร

            “พอชาวบ้านพอรู้เรื่อง เราก็ออกบิณฑบาต ซึ่งเราถือว่าบิณฑบาตเพื่อหน้าที่ เพราะจริงๆ เราหุงข้าวกินที่วัดเองง่ายกว่า แล้วฉันท์ได้เร็วกว่า

            ...แต่ไม่ใช่ว่าอุ้มบาตรไปแล้วเขามาใส่บาตรให้เลยนะ ต้องวัดใจกัน เราต้องอุ้มบาตรไปผ่านหน้าบ้านเขาก่อนรอบนึง ไปโชว์ตัวก่อน เขาก็จะเห็นว่า เอ๊ะ พระมา ไม่รู้ลัทธิไหน แล้วมาทำไม เขาจะมาดู เราก็ทำมือไปที่บาตรกับที่ปาก เขาก็ อ๋อ....

            ...พอเขารู้ว่าเรามาขอบิณฑบาต เขาก็จะเข้าไปก่อไฟ เราก็เดินไปที่อื่นก่อน แล้วค่อยกลับมา เขาก็เอาแป้งจาปาตีมาใส่ให้ บางทีใส่ให้เราเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราเดินกลับมา เจอขอทานรุมขออีก เราก็ฉีกให้ กว่าจะถึงวัดก็เหลือมานิดนึง ต้องมาหุงข้าวกินต่อ (หัวเราะ)”

            ขณะนั้นมีพระสงฆ์ไทยในอินเดียเพียง ๕ รูป ซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ฟื้นฟูศาสนาพุทธในอินเดียเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลคนไทยที่เริ่มเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดียด้วย

            “ตอนนั้นเราไม่ได้สอนเฉพาะแขก สอนคนไทยด้วย เพราะ พ.ศ. ๒๕๑๐ กว่าๆ คนไทยเริ่มไปอินเดียกัน แต่ไปในฐานะไม่มีที่พึ่งอื่นใด นอกจากพึ่งพระสงฆ์ตั้งแต่ลงเครื่องบิน อาตมาต้องไปรับเขา นั่งรถไฟไปสองวันสามวันเพื่อไปรับ

            ...บางคนเขียนจดหมายมา เป็นเดือนจดหมายค่อยมาถึง พอไปรับปรากฏว่าไม่มีใครมา แล้วอีกสักเดือนกว่าๆ ก็มีจดหมายมาบอกว่าคณะนี้ขอยกเลิก (หัวเราะ)

            ...สมัยนั้นติดต่อกันทางจดหมายอย่างเดียว แล้วจะถึงหรือไม่ถึงไม่รู้ เพราะบางทีจดหมายมา แขกก็เอาไปทิ้งไว้ที่บ้านลูกฉีกเล่นบ้างอะไรบ้าง (หัวเราะ) มีบางคนสงสารพระ ส่งขนมไป เขาก็เอาไปไว้ที่ไปรษณีย์ ของมาถึงเห็นแต่รูโบ๋ๆ หนูกินหมด”

            หากคณะไหนมาถึงอินเดียตามที่นัดหมายกันไว้ ก็ต้องเดินทางข้ามเมืองกันอย่างทุลักทุเลไปยังวัดไทย

            “พอเราไปรับที่สนามบินแล้วก็พานั่งรถมา ต้องพาไปค้างที่หนึ่งก่อน บางทีนั่งแท็กซี่มา มันพาวิ่งหนีไปที่อื่น บางทีขับมาทำท่ารถเสีย เราก็ไปช่วยเข็น พอรถติดมันไปทั้งของหมดเลย

            ...สมัยก่อนไม่ธรรมดา ลำบาก สมัยก่อนพระไม่ได้ห่มจีวรอย่างนี้หรอก ต้องมัดเอว เพราะต้องช่วยดูแลโยม ปกป้องโยม ยิ่งจะเข้าไปรถไฟนี่ โอ้โฮ

            ...แรกๆ เราก็ยังไม่เก่ง เราไม่รู้ว่าต้องขึ้นตู้ไหน ภาษาเราก็ยังไม่ได้ พาโยมเดินตั้งแต่หัวตู้จนถึงท้ายตู้ ๔๐ กว่าโบกี้น่ะ (หัวเราะ) เหนื่อย สมัยก่อนไม่มีใครดูแล ทัวร์ยังไม่เข้าไป

            ...บางทีเราก็ต้องเป็นเบลล์บอย ยกกระเป่าให้อีก บางโยมบอกท่านอย่ายกกระเป๋าเลย เสื้อผ้าโยมใส่แล้วทั้งนั้นอาตมาบอกโยมมันจะไม่ทันรถไฟ มา เอามา เพราะโยมแต่ละคนระดับใกล้จะหมดอายุทั้งนั้น

            ...บางทีอาตมาแบกใส่ไหล่เลย โยมต้องมากราบขอขมาพระ ร้องให้ พระนี่จะร้องให้เพราะกลัวไปรถไฟไม่ทัน โยมน่ะร้องให้เพราะกลัวบาป (หัวเราะ)

            ...สมัยก่อนคนที่มีความรู้สูงๆ ยังไม่ไปอินเดียกัน เพราะยังกลัวความทุกข์ความจนอยู่ มีแต่พวกคุณยายคุณย่าที่ศรัทธาไป พระก็ต้องดูแล ขึ้นรถไฟบางครั้งก็มีที่นั่งบ้าง ไม่มีบ้าง บางทีรถไฟมาไม่ตรงเวลา ก็ต้องคอย แล้วกว่าจะนั่งรถไฟไปถึงวัดก็เป็นวันๆ เป็นคืน นี่คือยุคเริ่มแรกของการแสวงบุญ

            ...แล้วสมัยนั้นยังไม่มีโรงแรม ก็พาไปนอนที่วัด มีห้องให้นอน แต่โยมไม่มี พระก็ต้องเป็นคนเซอร์วิส เพราะแขกก็ปูที่นอนไม่เป็น แขกก็สกปรก เหม็นๆ คนไทยก็รังเกียจ หลวงพ่อก็ฝึกให้พระทำ พระก็เป็นทั้งรูมเซอร์วิส, Housekeeping, รีเซฟชั่น เป็นพ่อครัวด้วย

            ...ที่วัดพ่อครัวไม่มี บางทีโยมไปถึงสี่ทุ่มห้าทุ่ม ก็ให้พระนี่แหละเป็นหลวงพ่อครัว ทำกับข้าวรอโยม จนเกิดศัพท์ว่า อาหารรสพระทำ ซึ้งในรสพระทำ (หัวเราะ)

            ...บางครั้งโยมเลื่อมใสพระ ให้พระสอนกรรมฐาน พระก็สอน เอ้า ไหว้พระนะ หลับตาลง เจริญสติอย่างนี้ๆ

            ...พอโยมเจริญสติปั๊บ เราก็แอบไปข้างหลัง ไปติดไฟหุงข้าว แล้วไม่มีเตาแก๊ส ต้องเอาใบไม้มาจุดไฟ เอาก้านมะละกอเป่า พระสมัยนั้นจะหน้าดำคร่ำเครียด (หัวเราะ) เพราะเขม่า

            ....แล้วพระก็ไม่ใช่ว่าเก่งเรื่องพวกนี้มา ที่ทำก็เพราะว่าแรกๆ ยังไม่มีบริษัททัวร์ขนของพวกนี้ไป น้ำปลาก็ไม่มี ที่โยมกินอาหารก็เพราะสงสารพระ

            ...แล้วสมัยก่อนไม่เหมือนปัจจุบัน ปัจจุบันเราโทรศัพท์ได้ แต่ตอนนั้นบางทีโยมโผล่มาถึงวัดแล้ว โยมมาจากไหน มาจากเมืองไทย จะมาค้างที่วัดด้วย เราก็ต้องเข้าไปในห้อง แบกฟูกออกมาให้ โยมก็เห็นใจ ช่วยพระแบก

            ...ฉะนั้นคำว่ากุลี ก็คือไปถึงแล้วแขกช่วยเราขนของแบบกุลี บางทีเราก็ต้องช่วยชิ้วว....(ไล่) บ้างพวกกุจอ แต่พอถึงที่วัดไม่มีกุลีกุจอ กูเอง (หัวเราะ) อาตมาเอง”

            นอกจากจะต้องดูแลญาติโยมเรื่องที่พักและอาหารการกินแล้ว ท่านยังต้องเป็นไกด์ พาโยมไปไหว้พระตามเมืองต่างๆ ด้วย

            “สมัยนั้นก็ไปตามสถานที่อย่างปัจจุบันนี้แหละ แต่ไม่ได้สะดวกสบายอย่างเดี๋ยวนี้ ต้องนั่งรถม้าปุเลงๆ ไป แล้วแต่กรรมเวร

            ...สมัยก่อนไปยาก อย่างเส้นพุทธคยาไปพาราณสี ไปกุสินารา สมัยก่อนใช้เวลาเดินทาง ๑๔ วัน บางทีรถจิ๊ปไปไม่ถึง บ้าง หม้อน้ำแตก ยางแตก สารพัด พระองค์ที่ไปก็ต้องช่วยซ่อม เป็นช่างฟิตอยู่ใต้ท้องรถอีก (หัวเราะ)

            ...ฉะนั้นพระที่ไปอยู่ที่นั่นจึงต้องเป็นพระประเภทมีฤทธิ์ สามารถแปลงร่างได้ อยู่ในโบสถ์ก็เป็นนักเทศน์ อยู่ในครัวก็เป็นกุ๊ก ต้องพร้อมจะทำทุกอย่าง เรียกว่าไม่มีเนื้อไม่มีหนัง ไม่มีตัว ไม่มีตน

            ....บางทีไปถึงที่สวดมนต์บางแห่งเขาไม่ให้เราเข้าไปอีก เขาก็ เอ๊ะ มาจากไหน จะมาทำอะไร บางทีแขกก็มาล้อเรา เห็นเราหัวโล้นๆ ฉะนั้นกว่าจะไหว้พระได้สมัยก่อน โอ้โฮ ยาก เพราะรถก็ไปลำบาก ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เพราะเป็นทางเกวียน แต่คนที่ไปมีศรัทธา

            ....ซึ่งศรัทธานี่แหละที่ทำให้เราเกิดพลัง เกิดความกระฉับกระเฉง เหมือนถอดกายทิพย์ไปไว้กับพระพุทธเจ้าเลย เราจึงไม่ทุกข์ทุรนทุรายกับกายเนื้อ เราคิดว่าเราจะไปไหว้พระ เราก็เอาจิตเราไว้ที่พระแล้ว

            ...เราเห็นว่าการเหน็ดเหนื่อยเป็นการบูชาสมเด็จพ่อ เพราะพระพุทธเจ้าเหน็ดเหนื่อยกว่าเรา เราก็คิดหาทางปลอบใจกัน ท่านเป็นกษัตริย์เท้านุ่ม ไม่เคยถูกแดดเลย ท่านยังมาอยู่อย่างนี้ แล้วเราเป็นใครมาจากไหน เราเริ่มปลอบตัวเองแล้ว

            ...เราคิดถึงว่า พระพุทธเจ้าทรงลำบากกว่าเรา เราก็มีกำลังใจ”

            สถานที่ที่ท่านนำญาติโยมผู้แสวงบุญเดินทางไปสักการะก็คือสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ที่ลุมพินีวัน พุทธคยา พาราณสี และสุสินารา อันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า

            สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งนี้ ได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอินเดียในปัจจุบัน สร้างรายได้ให้กับประเทศอินเดียอย่างมหาศาล

            “ปัจจุบันที่อินเดียเห็นความสำคัญของพุทธศาสนา เขามองเห็นว่าพุทธศาสนาทำให้อินเดียมีชื่อเสียง มีเครดิตในสังคม เขาเลยเห็นคุณค่า

            ...เดี๋ยวนี้ภาษาอินเดียหรือภาษาบาลีกระจายไปทั่วโลก คือบทสวดมนต์ ทั่วโลกเริ่มสนใจพระพุทธศาสนา ยิ่งทิเบตแตก เวียดนามแตก ก็หอบพุทธศาสนาไปอยู่อเมริกา อยู่ฝรั่งเศส แล้วคนเหล่านี้ก็ไปสอนศาสนาต่อ ก็บอกว่าพุทธศาสนาเกิดมาจากไหน

            ...เดี๋ยวนี้อินเดียมีนักท่องเที่ยวมากมายที่มาไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำให้อินเดียมีรายได้ปีละเป็นแสนล้าน

            ...แล้วพวกนี้มาใช้เงินแบบไม่บันยะบันยัง เมื่อเขาศรัทธาขึ้นมา เขาก็ไปช่วยทำบุญ ไม่ใช่กับตู้รับบริจาคนะ เห็นโรงเรียนคนยากจน เห็นสมาคมคนพิการ เขาก็กลับไปตั้งมูลนิธิหาเงินมาช่วยเหลือ อินเดียจึงหันมาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว

            ....เขาก็มาดูว่าพลังของการดึงดูดที่เป็นเสน่ห์ให้คนเข้ามาอยู่ที่ไหน ก็คือพุทธสถาน ๔ แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน คนอาจจะคิดว่า เอ๊ะ อินเดียโฆษณาการท่องเที่ยวหรือเปล่า ไม่ใช่

            ...เจ้าของศาสนาคือพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้เลยว่า หลังจากเราละสังขาร ปรินิพพานแล้ว พวกเราอยู่อย่าได้น้อยอกน้อยใจว่าเราเป็นลูกกำพร้า พ่อมีสถานที่ ๔ แห่ง ไว้ให้ลูกได้แตะต้อง สัมผัสได้ ที่ ๔ แห่งนี้ มีความสำคัญในพระชนม์ชีพทั้งนั้น คือ
            ...๑. ที่พ่อเกิด ที่ลุมพินีวัน (ประเทศเนปาล)
            ...๒. ที่ตรัสรู้ คือที่ประสบผลทางการศึกษาเรียนรู้ที่สูงสุด ที่ต้นศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา
            ...๓. ที่แสดงปฐมเทนา พระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ที่เมืองพาราณสี และ
            ...๔. ที่ปรินิพพานที่กุสินารา คือที่ดับขันธ์ ที่หยั่งมองให้เห็นคุณค่าของคน

            ...การจะรู้ว่าใครมีคุณค่ายังไงให้ดูตอนชรา ว่าเขามีอะไรจริงหรือเปล่า เช่นถ้าเขามีลูกจริง เด็กคนที่เขาให้เกิดจะต้องกลับมาดูแลเขา ทำให้เขามีเกียรติในสังคม ทำให้เขาได้รับผลจากความเคลื่อนไหวของลูกเขา สะท้อนความสุขมาให้

            ...ทรัพย์ที่เขามี ต้องดูตอนสุดท้ายว่าเขาได้ใช้ทรัพย์นั้นไหม อำนาจวาสนา ยศถาบรรดาศักดิ์ที่เขามี ส่งผลมาตอนเขาชรายังไง

            ...ที่ทั้ง ๔ แห่งนี้ พระองค์ทรงตรัสว่า กุลบุตรกุลธิดาผู้ศรัทธาเลื่อมใสทั้งหลาย จักได้ไปทัศนียัง (ไปดู) สังเวชนียัง ให้เกิดความกล้าหาญและเกิดความสังเวช

            ...สังเวชนียสถานคือที่ให้เกิดความสลดใจ สลดใจในความเป็นพระพุทธเจ้าว่า ขณะที่พระองค์ทรงมีพระบารมีล้นพ้นยังต้องลำบาก ทนต่อสภาพการแตกดับของร่างกายได้ทั้งหมด พอสลดปั๊บ จะเกิดเม็ดพันธุ์ในปัจฉิมโอวาท คือความไม่ประมาท เราก็จะหาวิธีการแก้ไข

            ...๒. ให้เกิดความห้าวหาญ คือต้องรีบทำสิ่งที่เราทำไว้ให้เสร็จ ในภารกิจต่างๆ ที่เรามีอยู่ แล้วเราก็สามารถจะประกาศได้ว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าอย่างห้าวหาญ

            ...ฉะนั้น คนไปอินเดียทั้ง ๔ แห่ง กลับมานี่เหมือนมีการันตี ได้เกรด ๔ ว่าเราเป็นชาวพุทธเกรด ๔ เราจะห้าวหาญเหมือนเราจบจากสถาบันไหน เราก็จะห้าวหาญกับสถาบันของเรา เรามีครู

            ...พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ให้คนไปดูสังเวฯ ๔ แห่ง เกิดความห้าวหาญ อาจหาญ ไม่หดหู่ คนที่มีศาสนาแล้วเดินไม่หยองกรอด สมาร์ท ฉะนั้นสังเวฯ ทั้ง ๔ แห่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสเชิญชวนว่าให้ไป

            ...ปาฐกถาจารย์ได้กล่าวในคัมภีร์มิลินทปัญหาว่า ผู้ที่ได้กราบสังเวชนียสถานเหมือนได้กราบแทบพระบาท หรือกราบแทบพระเพลา (ตัก) ขอบพระพุทธเจ้า แล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ

            ...อาตมาพูดแล้วน้ำตาจะไหล เวลากราบลง เราเหมือนกับกราบที่ตักท่าน เวลาเราทำอะไรเหนื่อยๆ เหมือนพระองค์เอามือมาลูปหัวเรา งานคือหน้าที่ของเราลูก คนที่มีเสน่ห์คือคนมีงานทำ ถูกใครเขาใช้นั่นคือมีเสน่ห์ เสน่ห์ของตนอยู่ที่คนเขาเรียกใช้ อย่าเหนื่อย พระพุทธเจ้าสอนให้ทำงาน พลังอย่างนี้เราจะได้จากที่ทั้ง ๔ แห่ง

            ...ทำไมถึงได้จากที่ ๔ แห่ง เพราะเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด อยู่นานที่สุด มีรอยพระบาทอยู่ที่นั่น มีตัวอย่างที่เราไม่ต้องลังเลสงสัย

            ...พอชาวพุทธเดินทางไปมากเข้าๆ ก็เกิดมีกระบวนการขึ้น ไปเห็นแล้วปลื้ม ปีติ ได้กราบ บางคนไม่เคยสวดมนต์ ๑๐๘ จบ บางคนทำวัตรไม่เป็น บางคนไม่รู้จักธรรมจักร

            ...บางคนเป็นชาวพุทธที่ไว้ใจว่าตัวเองถือพุทธศาสนา เลยไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา ที่ไม่เข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เหมือนกับเป็นของเราอยู่แล้ว เลยไม่ศึกษา เลยไม่เห็นว่านำไปใช้ยังไง”

            สำหรับการสักการะสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง เชื่อกันว่า
            ๑. บูชาสถานที่ประสูติ จะได้ชีวิตดี ได้ความเป็นหนึ่ง ได้ความก้าวหน้า
            ๒. บูชาสถานที่ตรัสรู้ จะได้ปัญญา ความรู้แจ้ง ได้ชัยชนะที่ไม่กลับไปแพ้
            ๓. บูชาสถานที่แสดงปฐมเทศนา ได้บริวารช่วยงาน ได้ความไม่วุ่นวาย ได้ดวงตาเห็นธรรม
            ๔. บูชาสถานที่ปรินิพพาน ได้อายุยืนยาว ได้ทรัพย์สินมรดก ได้พ้นเครื่องเสียดแทง

            ในระยะหลัง มีพุทธศาสนิกชนไทยเริ่มเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานกันเป็นจำนวนมาก เพราะการเดินทางเริ่มสะดวกสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่พักก็มีมากขึ้น เพราะมีวัดไทยหลายแห่งตามสังเวชนียสถานต่างๆ

            ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังษี เป็นแรงสำคัญในการสร้างวัดไทย ๒ วัด คือวัดไทยลุมพินีที่ประเทศเนปาล และวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ณ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย

            ท่านเจ้าคุณฯ ได้รับมอบหมายจากพระสุเมธาธิบดี อดีตหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย ให้ไปดูแลการสร้างวัดไทยกุสินาราฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖

            “วัดกุสินาราที่เราสร้างขึ้นมาก็เพราะความลำบากของโยมนี่แหละ แล้วไม่มีใครคิดไปสร้าง เพราะเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็กลัวผี ไม่ไป อาตมาก็เดินทางไป หลวงพ่อมอบสตางค์ให้ไปสร้างวัด ๔,๐๐๐ บาท ตอนนั้นปี ๓๖

            ...ก่อนที่จะสร้างวัด อาตมาทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พุทธคยา ออกไปบรรยาย สมัยก่อนผู้บรรยายต้องทำตั้งแต่ หุงข้าว ทัวร์สมัยก่อนพอกลับประเทศไทยจะฝากหม้อไว้กับพระ เวลาพระจะไปรับก็ถือหม้อข้าวของเขาติดตัวไปให้เขาหุงกันเอง (หัวเราะ)

            ...อาตมาบรรยายอยู่ ๑๑ ปี การออกบรรยายก็มีเป้าหมายว่าเราได้รับเกียรติ ได้ทำงานอย่างสูง คืองานให้ธรรมะกับคน

            ...ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่สูงส่ง พระพุทธเจ้าเป็นเอกบุรุษ เราได้ทำงานของเอกบุรุษ เราได้นำของสูงมอบให้คนที่มาที่มีศรัทธาสูง โดยมหาเถระสมาคมมอบหมายให้มาทำ ก็ภูมิใจกับงานตรงนี้

            ...พอโยมไปอินเดียก็จะมีกัณฑ์เทศน์บูชาธรรม แต่กัณฑ์เทศน์ที่อินเดียจะอาภัพ ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเมืองไทย ไม่มีบุญมากเหมือนพระนักเทศน์ที่เมืองไทย พระที่เทศน์ในเมืองไทยเทศน์สัก ๓๐ นาที ลงมามีโยมทำบุญถวายกัณฑ์เทศน์แล้ว เพราะกำลังบุญมาก

            ...แต่ไปอยู่อินเดียกำลังบุญไม่เพียงพอเหมือนที่เมืองไทย บางทีเทศน์ ๘ วันเหมาจ่าย (หัวเราะ) คนก็บูชาธรรมด้วยการถวายสตางค์ ก็ไม่ได้มาก เราก็ไม่ได้คิดเรื่องมากน้อย พอได้ค่ารถกลับก็ โอ.เค. 

            ...อาตมาก็ได้ปัจจัยที่โยมถวายมา ส่วนใหญ่จะนำไปส่งเสริมให้พระเรียนหนังสือ แล้วฝากปัจจัยกลับมาประเทศไทย

            ...เช่นมีพระจากปัตตานีมาเรียน อาตมาก็จะฝากปัจจัยกลับไป บอกให้ช่วยนำไปส่งเสริมการศึกษาลูกเณรส่วนหนึ่ง อีกส่วนแบ่งให้โยมผู้เฒ่าที่มาฟังเทศน์

            ...อีกส่วนให้สตรีตั้งครรภ์ ซื้ออะไรก็ได้ให้ลูกในท้องเขากิน ขอให้เขามีลูกมีเต้ามา แล้วเขาค้ำคูณบำรุงพระพุทธศาสนา ตั้งใจอย่างนี้มา ๑๑ ปี แม้มีสตางค์ก็ใส่ตู้บริจาค ขอทานมาขอก็ให้

            ...ตอนจะไปสร้างวัดที่กุสินารา หลวงพ่อก็ให้เงินไป ๔,๐๐๐ บาท ก็ตั้งจิตอธิษฐานใต้ต้นโพธิ์ว่า ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญบุญบารมีมา ให้ทานเอาไว้ให้เทวดาทั้งหลายรับรู้รับทราบ ข้าพเจ้าได้ฝากทรัพย์เอาไว้แล้ว นับจากนี้ไปข้าพเจ้าจะขอทรัพย์ที่ฝากไว้ทั้งหมด ๑๑ ปี ไปสร้างวัด ให้เทวดาผู้มีหูทิพย์ตาทิพย์ นำเงินข้าพเจ้ามาคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย ก็มีโยมมาทำบุญ

            ...ฉะนั้น วัดที่อาตมาสร้างขึ้นได้ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยโยมที่ดวงตาเห็นทำ คือคนที่ไปเห็นแล้วค่อยทำ ไม่ได้แจกซอง บางคนมีทรัพย์เอาทรัพย์ไป บางคนทรัพย์ไม่พอก็เอาร่างกายไป

            ...บางคนไม่มีทรัพย์เป็นเงินทอง แต่มีทรัพย์ทางปัญญา ก็นำไปอยู่ด้วยกัน เลยเกิดการทำงานร่วมกัน มีจุดประสงค์อันเดียวกัน”

            ขณะนี้มีวัดไทยในประเทศอินเดียนับ ๑๐ วัด ส่วนใหญ่อยู่ในเขตสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง

            “วัดไทยขณะนี้เกิดขึ้นตามสังเวฯ ๔ แห่ง ไล่จากวัดไทยพุทธคยาเป็นแห่งแรก วัดเนรัญชราวาส วัดป่าพุทธคยา วัดมคธวิปัสสนา วัดรัชคุณวิหาร วัดไทยสิริราชคฤห์ที่ราชคฤห์ วัดนารันธาที่นารันธา วัดไทยไวสาลีที่ไวสาลี วัดไทยสารนาถที่สารนาถ วัดไทยกุสินาราที่กุสินารา ที่เนปาลมีแห่งเดียว คือ วัดไทยลุมพินี

            ...วัดทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นมาตามความปรารถนาของชาวพุทธ ที่ประสงค์จะมีที่พักพิงอิงอาศัย แต่ภาระก็ยังไม่หนักเหมือนสมัยก่อน เพราะคนที่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอก็มีโรงแรมให้พัก ถึงแม้จะไม่ใช่โรงแรมสี่ห้าดาว แต่ก็มีความสะดวกสบาย ซึ่งถือว่าแบ่งเบาภาระวัดได้มาก แต่โยมก็ยังมีความผูกพัน คือมีโยมอีกประเภทหนึ่งที่ตั้งใจไปนอนวัด

            ...อย่างที่กุสินารา ๘๐% ไปนอนวัด แม้นอนโรงแรมได้ เพราะที่วัดมีสิ่งที่โรงแรมให้ไม่ได้ คือพระมหาเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปสร้าง โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์ไปประดิษฐานที่นั่น มีเจดีย์ มีลานให้เดินจงกรม มีโบสถ์ให้ทำวัตรสวดมนต์ มีโรงพยาบาลให้รักษาโรค คนก็อยากไปที่วัด

            ...ที่นี่รับคนได้ประมาณ ๘๐ คน นอนห้องละ ๔ คน ถ้าคณะเอื้องหลวงไป เรามีเวลาจำกัดก็พักที่โรงแรม เพราะถ้าไปที่วัด ไปถึงดึกๆ ก็ไม่สะดวก”

            นอกจากสร้างวัดแล้ว ท่านเจ้าคุณยังสร้างโรงพยาบาลขึ้นในบริเวณวัดด้วย

            “ที่กุสินารามีโรงพยาบาล มี ๘ ห้องตรวจ มีหมออินเดียอยู่ประจำ เป็นหมอแผนปัจจุบันกับหมอแผนโบราณ ๓ คนต่อวัน มีคนไข้รักษาวันนึง ๒๐๐ คน ส่วนใหญ่คือคนอินเดีย

            ...แต่พิเศษ คือคนไทยที่แสวงบุญไปป่วย คนฮ่องกง สิงคโปร์ไปป่วย พวกนี้ไม่มีสถานที่รองรับเขาให้สนิทใจ พอเห็นว่ามีโรงพยาบาลไทย Clinic for Body and Mind เขาก็เข้ามาขอรับการรักษา

            ...เราก็สร้างโรงพยาบาลขึ้นมา ชั้นล่างก็รักษาคนอินเดียทั่วไป ๘ บาทรักษาหายทุกโรค ข้างบนก็รักษาคนไทยและต่างชาติ คนไทยเราจะมีเตียงไว้ ๔ เตียง มีห้องพักหมอ ๒ ห้อง มีห้องวิจัยโรค ส่วนนี้เรามีเครื่องมือให้ครบหมด แต่ไม่มีหมอประจำ

            ...ที่ไม่มีเพราะเดี๋ยวนี้คณะเดินทางไปไหว้พระคณะหนึ่ง ๔๐-๕๐ คน จะมีคุณหมอติดตามคณะไป ก็เชิญท่านมารักษา โดยที่เรามีเครื่องมือและยาไว้ให้ท่านเลือก

            ...โรงพยาบาลนี้ดูแลชาวพุทธที่ไปแสวงบุญ เพราะชาวพุทธปีนึงไปตายปีละสองสามคน ลังกาไม่ต้องพูดถึง ปีที่แล้ว ๔ ศพ

            ...แต่ก่อนจะไปหนักที่กุสินารา ตอนลงจากพุทธคยายังปกติอยู่ แล้วเดินทางรถคร่อกแคร่กๆ ไปถึงพาราณสี อาหาร อากาศก็เปลี่ยน การเดินทางก็บึกบึน ส่วนใหญ่จะไปป่วยที่กุสินารา

            ...เหมือนหลวงพ่ออุตตมะท่านไป ไปถึงต้องไปอุ้มหลวงพ่อมาจากรถ เอาไปไว้ในห้อง ท่านบอก โอ้โฮ มากุสินารา กว่าจะมาถึงเหมือนจะมานิพพานกับพระพุทธเจ้า (หัวเราะ) เราถึงสร้างโรงพยาบาลเพราะเหตุนี้ ไว้ดูแลคนไทย แขกเป็นผลพลอยได้”

            แต่เหตุผลแท้จริงที่ท่านต้องการสร้างโรงพยาบาลนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

            “ลึกๆ ที่เราสร้างโรงพยาบาลที่กุสินารา มันเป็นความในใจ เพราะเรามีความสะเทือนใจ ว่าที่ตรงนี้พระพุทธเจ้าของเราสิ้นลมหายใจ แล้วป่วยหนักที่สุด"

            ...ในชีวิตของพระพุทธเจ้าไม่เคยขอสิ่งใดจากใครเลยเพื่อตนเอง แต่หลังจากเสวยพระกระยาหารที่บ้านนายจุนทะเป็นมื้อสุดท้าย โรคเบียดเบียนแล้ว ท่านป่วยหนัก ก็เกิดเวทนาอยากเสวยน้ำ ขอพระอานนท์ อานนท์ ขอน้ำเราฉันเถอะ ท่านไม่เคยขออะไรเลยนะ

            ...พระอานนท์ก็ไม่ตอบ ท่านก็ขออีก อานนท์ ขอน้ำเราฉันสักหน่อยเถอะ พระอานนท์บอกว่าเกวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่งผ่านไปที่แม่น้ำ ไม่สามารถเสวยได้พระเจ้าขา ท่านบอกอานนท์ไปตามมาเถอะ นั่นคือขอน้ำ ท่านป่วยหนักขนาดนั้น

            ...ฉะนั้น เมื่อท่านป่วยหนักขนาดนั้น มันสะเทือนใจอาตมา ต้องทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับการป่วยที่ตรงนี้

            ...๒. เมื่อเสวยน้ำไม่นาน ชีวิตพระองค์ดับ นิพพานที่นั่น

            ...แล้วหลวงพ่อของอาตมา (พระสุเมธาธิบดี) มรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช พอหลวงพ่อเสียชีวิต นำหลวงพ่อกลับวัดสวด อาตมากลับไปศิริราช หอบสิ่งของไปขอบคุณหมอ แล้วยังไปถามคุณหมอว่ามีอะไรจะสร้างไหม มีอะไรให้อาตมาทำบุญบ้าง จะทำบุญให้หลวงพ่อ

            ...โรงพยาบาลมีตึกข้างหลัง แต่เขาจองกันหมดแล้ว อาตมาไปขอแบ่งลูกกลอนประตู ได้แค่นั้น ก็สะเทือนใจอีก

            ...ก็คิดว่านี่พระพุทธเจ้าแท้ๆ จะทำอะไร เลยคิดว่าพระพุทธเจ้านิพพานที่นี่ เราต้องสร้างโรงพยาบาลเพื่อเป็นเกียรติประดับใจให้กับชาวพุทธทั้งหลาย ว่าเรามีรอยอาลัยอยู่ที่นี่ ก็สร้างโรงพยาบาล

            ...แล้วคนไทยไปอินเดียมากมายก็ป่วย นักศึกษาไทยในอินเดียป่วยก็ไม่กล้าไปหาแขก กลัว อาตมาเองก็ไม่กล้าไปหาแขก

            ...มีพระองค์นึงที่วัดทำหน้าที่ช่าง ชื่อพระคะนอง ไปถึงที่คลินิกแขก หมอแขกฉีดยาให้ ๑๑ เข็ม กลับมาถึงวัดเลิกคะนองเลย ซึมเลย (หัวเราะ) เราก็ไม่ค่อยกล้าไปโรงพยาบาลแขก กลัวโดนฉีดยา

            ...อาตมาจะบอกนักศึกษาว่า ถ้าท่านป่วยหนัก กลับมาวัดเรา เรามีอาหารไทย มีพระไทยอยู่ เพราะพวกเราเหมือนลูกกำพร้า เราดูแลกันเอง ก็มีห้องพยาบาลสงฆ์ไว้”

            อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้ก็คือห้องสุขา ซึ่งท่านสร้างไว้รองรับพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

            “นอกจากโรงพยาบาลแล้ว การบำบัดทุกข์ประจำวันก็คือห้องสุขา ไปถึงที่ชายแดนเนปาลกับอินเดีย รถติด ๒๕ กิโล บางทีประเทศเนปาลปิด จากความขัดแย้งทางการเมือง รถก็เข้าเนปาลไม่ได้ ที่วัดไทยลุมพินีมีคนไปนอนเต็มเลย เพราะโรงแรมไม่มี

            ...แล้วคนที่เดินทางไป ๔ ชั่วโมง ห้องน้ำไม่ได้เข้าก็อึดอัด โยมผู้ชายยังพอบรรเทาได้ โยมผู้หญิงหาที่สะดวกไม่ค่อยได้ ไปถึงก็อึดอัด บางคนเจ็บป่วย อาตมาก็สร้างห้องน้ำ ๓๒ ห้อง เป็นห้องน้ำผู้หญิง ๒๑ ห้อง เลยตั้งชื่อว่าที่ปลดทุกข์เห็นสุขทันตา

            ...ที่นี่จะมีกาแฟบริการฟรี มีคนขอให้ตั้งตู้บริจาค อาตมาบอกว่าขอเว้นสักแห่งเถอะ แต่เพื่อไม่ขัดศรัทธาก็ตั้งไว้ตู้นึงข้างที่พระทำวัด ซึ่งอยู่ไกล ไม่ใช่ว่ามาสร้างส้วม สร้างร้านกาแฟแล้วมีตู้บริจาค

            ...อาตมาบอกอย่าเลย คนเขามาทุกข์มายาก มาอึมาฉี่ แล้วไปเก็บตังค์เขาทำไม เอาที่เขามีความสุขมากกว่านี้ เขามาสบาย มีโรตี กาแฟ มีหมากให้

            ...ที่ต้องทำอย่างนี้ ลึกๆ ก็คือ อาตมาอยู่อินเดียมาสร้างวัดที่กุสินาราโยมก็ช่วย สร้างวัดที่ลุมพินีโยมก็ช่วยบริจาคจนเสร็จ โยมช่วยขนาดนี้ เราน่าจะทำอะไรอภินันทนาการให้โยมบ้าง ห้องส้วมนี่แหละท่าน

            ...ห้องส้วมได้ประโยชน์ ๓ ส่วน ๑. พระได้ประโยชน์ ได้ทำหน้าที่ดูแลคนของตน ชาวพุทธทั้งหลายคือคนของพุทธศาสนา พระเป็นขบวนหน้าของรถไฟ เราต้องเข้าไปดูแลก่อน คนจะได้เห็นว่าพระมีประโยชน์ต่อสังคม เป็นที่พึ่งได้
            ...๒. ญาติโยมที่ไปได้ปลดทุกข์ แล้วถ้ามีพระไป ไม่มีที่ฉันท์ ก็พาพระไปฉันท์ที่นั่น หรือโยมจะเดินทางข้ามชายแดนต่อไปอีก ๖ ชั่วโมง เราก็มีมาม่า มีข้าวต้มให้กินรองท้องไปก่อน มีโรตีให้ ๒ ชิ้น กินโรตีแล้วให้กินน้ำตาม ขึ้นไปบนรถถ้าเผื่อใครหลับเราเก็บตังค์เลยนะ ซึ่งเก็บได้หมด หลับหมด เพราะโรตีมันพองไง (หัวเราะ)

            ...นี่คือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับพุทธบริษัทที่เดินทางไปอินเดีย

            ปัจจุบันการเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดียสะดวกขึ้นมาก เพราะมีการบินไทยบินไปลงที่นั่น จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง ๒ ฝ่าย คือศาสนกิจและธุรกิจ เพื่อประโยชน์ของ ๓ ฝ่าย

            “เมื่อการบินไทยบินไปลงที่นั่น นำพุทธบริษัทไป อาตมาเลยตั้งทฤษฎีว่าคนที่จะเดินทางไปมีอยู่ ๒ ประเภท
            ...๑. คนที่มีเวลามาก มีปัจจัยน้อย
            ...๒. มีปัจจัยมาก มีเวลาน้อย

            ...คนที่จะไปอินเดีย ส่วนหนึ่งไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากไป เขาอยากไหว้พระ แต่มันไปลำบาก แล้วบางทีกินเวลานาน เลยนั่งคุยกัน ๓ ฝ่าย พิจารณาตั้งหลักไว้ ๓ หลัก
            ...๑. หลักราชกิจ
            ...๒. หลักธุรกิจ
            ...๓. หลักศาสนกิจ
            ...ราชกิจคือบ้านเมือง ว่าเราจะช่วยบ้านเมืองอย่างไร ขณะนี้บ้านเมืองเราเป็นดินแดนของชาวพุทธ แต่ชาวพุทธเราเขวแล้ว แล้วการฝึกอบรมผู้คนก็มีความจำเป็น เราต้องช่วยกันนำคนของพระเจ้าอยู่หัวไปเพิ่มพลัง เพิ่มบุญ และสวดมนต์ถวายพระเจ้าอยู่หัว สวดมนต์ให้แผ่นดิน

            ...คนเหล่านี้เขายอมเสียสละสตางค์เป็นหมื่นๆ เป็นแสน เป็นล้าน เดินทางไปพุทธภูมิ แสดงว่าคนเหล่านี้ยอมพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องเกณฑ์ไปเลย เขาไปโดยสมัครใจ

            ...แล้วผู้คนเหล่านี้ก็กลับมาเบา ทำงานกับใครก็เบาไปหมด ไม่หนักเหมือนสมัยก่อน เพราะเขาไม่คิดหนัก เขาคิดเบา เรื่องครอบครัว เรื่องญาติพี่น้องก็ดี ไม่มีอะไรหนักปากเลย มันคล่องตัว เพราะคนมีธรรมะ มีศรัทธาจะคล่องตัว เราก็ได้ช่วยราชกิจ ช่วยประเทศชาติ

            ...สองคือธุรกิจ ก็คือเราได้เพิ่มเที่ยวบิน และการมีเที่ยวบินไปอินเดียทำให้มีธุรกิจเกิดขึ้นทั้งในไทยและอินเดียมากมาย ทางอินเดียก็เช่น โรงแรม รถบริการ ทำให้แขกมีงานทำ เมื่อเขามีงานทำ เขาก็จะมารักษาพุทธสถานให้กับเรา เลยกลายเป็นธุรกิจเพื่อศาสนกิจ

            ...สามคือศาสนกิจ ก็คือชาวพุทธได้ปฏิบัติกิจทางศาสนา แล้วพระสงฆ์ไทยหรือพระธรรมทูตก็ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีเยี่ยม เพราะการฟื้นฟูพุทธศาสนาเราไปฟื้นฟูในอินเดียก็จริง แต่ผลที่ได้รับจากการฟื้นฟูไม่ได้อยู่ในอินเดียเต็มร้อย อยู่แค่เพียง ๑๐%

            ...คนไทยที่ไป เราต้องยอมรับสภาพพุทธศาสนาของพวกเราเองว่ามันเหมือนเส้นอยู่ลึก จับไม่ถึง พอไปอินเดียมันเหมือนจะอ่านธรรมะก็เข้าใจเร็ว จะสวดมนต์คล่องปาก ความทุกข์ยากก็คลายลง

            ...ศาสนาในบ้านเราเป็นบทบาทของสงฆ์ เป็นเรื่องของความเชื่อ บางครั้งคนก็เบื่อศาสนา เบื่อพระสงฆ์องค์เจ้า ศรัทธาก็ทรุด แต่เมื่อคนเหล่านี้ที่ศรัทธาทรุดไปถึงอินเดียกลับได้รับธรรมะ เห็นพระสงฆ์ทำงานทั้งวันทั้งคืน ช่วยกันบรรยาย นำธรรมะมาพูด สอน นำสวดมนต์ไหว้พระ โยมก็ชักฟื้นแล้วว่าพระสงฆ์ท่านเป็นอย่างนี้ๆ เข้าใจแล้ว

            ...แล้วพอคนเหล่านี้กลับมาถึงเมืองไทย ก็นำสิ่งที่ฟื้นฟูนั้นมาฟื้นฟูในบ้านตัวเอง จัดห้องพระไหว้พระ มีลูกหลานญาติพี่น้องก็คิดถึง แม้ในที่ทำงาน ก็ทำให้ศาสนาอาศัยตัวเองไปทำงาน จากที่เคยจุกจิกจู้จี้ก็ตั้งใจทำงาน เรื่อง โอ.ที. ไม่พูดถึง เอางานเป็นเกณฑ์
            ...คนที่กลับจากอินเดียจะเปลี่ยนไปเยอะ เปลี่ยนไปในทางสร้างสรรค์ จะเข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิตและสังคมรอบด้าน พอกลับมาก็อยากพาพ่อแม่ไป อยากพาลูกไป ซึ่งท่านเหล่านี้มีทรัพย์สมบัติพอใช้จ่าย แต่เวลาไม่พอ การบินไทยก็รับภาระศาสนกิจตรงนี้ ช่วยจัดโปรแกรมขึ้นมา มีพระไปเทศน์วันละ ๖-๘ ชั่วโมง ตั้งแต่บนรถเลย

            ...บนรถก็สวดมนต์ฟังพระเทศน์ รถที่เรานั่งไปเหมือนโบสถ์ พระจะเทศน์ตลอด ๒๗๐ กิโลฯ ทีแรกเราจะเฮิร์ท อะไรกันนักหนา แต่พอเวลาไปจริงๆ บางคนจะคิดว่าเวลามันน้อย ยังศึกษาไม่จบเลย เราอยากจะรู้เรื่องพระไตรปิฎก พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม มันยังไม่หมดเลย ทำไง กลับกลายเป็นทุกคนไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ตรงนี้ศาสนกิจได้ พระได้ทำหน้าที่พุทธบริษัท

            ...ฉะนั้น ๓ อย่างนี้ ราชกิจ ธุรกิจและศาสนกิจ จึงไปด้วยกัน

            ...แล้วสองปีที่แล้วพอดีกับเวลามหามิ่งมงคล ในหลวงทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปีในหลวง ก็พาผู้คนไปสวดมนต์ถวายพระพร กำลังบุญก็เพิ่มขึ้น แล้วปีนี้ในหลวง ๘๐ ปี เลยคิดว่าต้องเพิ่มกำลังบุญ ก็นิมนต์พระสงฆ์จากไทยไปสวดมนต์ ๘๐ องค์”

            เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดโครงการ ‘ไมล์สร้างบุญ’ ขึ้น

            “พอจะนิมนต์พระไปสวดมนต์ที่อินเดีย การบินไทยก็คิดว่าทำยังไงให้คนที่มีไมล์สะสมทำบุญโดยไม่ต้องใช้สตางค์ก็ได้ ก็ประกาศให้คนที่มีไมล์ เอาไมล์มาทำบุญได้ เลยเกิดไมล์สร้างบุญขึ้นมา

            ...ซึ่งพระที่ทางการบินไทยนิมนต์ไปสวดมนต์ก็ไม่ธรรมดา เป็นพระที่เป็นหัวหมู่คณะ เป็นพระราชาคณะ เป็นพระผู้ใหญ่ และพระนักเทศน์ นักสอนตามหัวเมืองที่ไม่เคยมีโอกาสไปอินเดียเลย บางท่านอยากจะไปแต่ไม่มีโอกาสได้ไป บางท่านอยู่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทำงานเพลิน ไม่มีโอกาสเข้ามากรุงเทพฯ เลย

            ...การบินไทยก็วางนโยบายว่าจะขออาราธนาท่านเหล่านี้ไปในโครงการไมล์สร้างบุญ ก็มีหนังสือไปถึงเถรสมาคมขอให้คัดพระให้ โครงการไมล์สร้างบุญขณะนี้เป็นรุ่นที่ ๓ ไปทีละ ๑๐ รูป ๘ เที่ยวบิน เป็น ๘๐ รูป

            ...พระเหล่านี้ไปบำเพ็ญบุญในที่ต่างๆ เมื่อกลับถึงประเทศไทย ท่านเหล่านี้ก็จะได้แผ่ส่วนบุญให้กับผู้ที่ไม่มีโอกาสจะไปทางวาจาเทศน์ โดยพูดจาได้มั่นใจยิ่งขึ้น พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะท่านได้ไปเห็นกับตามาแล้ว นักเทศน์นักสอนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้

            ...พอไปสองเที่ยวแรกกลับมา พระท่านพูดเองว่าท่านเป็นเจ้าคณะภาค เป็นมหาเถระผู้ใหญ่ จบเปรียญเอก พอได้ไปเห็นพุทธสถานท่านก็ปีติ และกลับมาต้องปรับขยายวิธีการเทศน์การสอนใหม่ เพราะแต่ก่อนเราอ่านคัมภียร์ เรียนในตำรา ก็ต้องว่าไปตามตำรา แต่ไวยากรณ์ในตัวหนังสือกับในชีวิตมันต่างกัน ไปดูไวยากรณ์ชีวิตของอินเดียมันไม่ใช่อย่างนั้น

            ...แล้วเวลาไปกราบไหว้ที่ต่างๆ พอจิตสัมผัสถึงสมาธิได้ ปีติเกิดขึ้นเลย น้ำตาร่วง เหมือนยกระดับจิตของตัวเองด้วย พระบางรูปที่อายุมาก ท่านเหลือเวลาอีกไม่กี่ปี ท่านได้ไปอินเดีย ท่านก็ โอ้โฮ...

            ...ฉะนั้นไมล์สร้างบุญที่สมาชิกรอยัลออร์คิดพลัสได้บริจาคให้กับพระธรรมทูต พระสงฆ์ พระราชาคณะไปกราบไหว้พระพุทธองค์ เหมือนเปิดโอกาสให้ลูกที่อยู่โดดเดี่ยวเหมือนลูกกำพร้า กลับคืนไปดูบ้านพ่อ แผ่นดินพ่อ ไปดูสถานที่ที่พ่อประสบความสำเร็จในการทำงาน และไปดูที่พ่อสิ้นใจ นี่แสดงว่าลูกไม่กำพร้าแล้ว มีกำลังใจในการทำงาน ถือเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่

            ...แล้วไมล์สร้างบุญไม่ได้ถวายเฉพาะพระที่นิมนต์ไปสวดมนต์ ยังถวายพระธรรมทูตที่ไปทำงานที่อินเดียได้ใช้ไปปฏิบัติศาสนกิจด้วย รวมทั้งให้พระที่เจ็บป่วยกลับเมืองไทย และยังขยายไปถึงเด็กนักเรียนตามโรงเรียนในต่างจังหวัดที่มีการศึกษาดี จริยธรรมดี เราจะให้รางวัลเขา เหมือนไปดูงานที่อินเดีย

            ...อาตมายังบอกในที่ประชุมว่า แม้บรรดาทายกที่อาราธนาศีลตามบ้านนอก อยู่กับพระมาจนอายุจะหมดแล้ว ขอให้เขาไปบ้างเถอะ บางคนอายุ ๗๐ ตาจะมองไม่เห็นแล้ว อยากจะไปอินเดีย ก็บอกพระให้ส่งชื่อมา

            ...คนไปอินเดียบางคนตาบอดสนิท มองอะไรไม่เห็นเลย ไปไหว้ที่พระพุทธภูมิ อาตมาบอกว่าสังเวชนียสถานแม้แต่คนตาบอดยังไปไหว้ แล้วเราคนตาดีทำไง (หัวเราะ)”

            คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับศรัทธา เพราะในฐานะพุทธศาสนิกชน คงมีสักครั้งในชีวิตที่อยากจะไปเยือนพุทธภูมิ เพื่อสักการะพระพุทธเจ้าในบ้านเกิดของพระองค์

_________________________________________




งานเขียนพระธรรมโพธิวงศ์

สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๒
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๓
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๔
วาทีหิมาลัย
ร้อยมุมมอง ส่องอินเดีย
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๑)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๒)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๓)
อินไอเดีย
เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา
วิสัยทัศน์การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ...พระราชรัตนรังษี
อินเดียในมุมมองของบุคคลสำคัญ
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."เกี่ยวกับผู้เขียน" พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ)
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."วาทะ ๑"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๕.... "นาลันทา"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๖..."แผ่นดินมคธ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๗..."เขาคิชฌกูฏ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๘ ...."เมืองปาฏลีบุตร"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๙ .... "นครเวสาลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๐ .... "นครสาวัตถี อาณาจักรโกศล"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๑ .... "มหานครเดลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๒ .... "เมืองกัลกัตตา"



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang