วาทีหิมาลัย คติสอนใจ หลักธรรม คติธรรม หลักคำสอน ปรารถธรรม หลักการทำงาน พระราชรัตนรังษี ว.ป.วีรยุทฺโธ
ReadyPlanet.com
dot dot
วาทีหิมาลัย


บทความต่อไปนี้ คัดลอกจากหนังสือ
"ปรารภธรรม วาทีหิมาลัย" โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ) Ph.D
เนื้อหาและบทความทั้งหมดที่นำมาลงในคอลัมน์นี้ ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน
เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เรื่องราวในพุทธประวัติ แก่ผู้สนใจทั่วไป
น้องๆพี่ๆที่เข้ามา Copy ข้อมูล เพื่อไปทำรายงาน หรืออ่านเพื่อเป็นความรู้ ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยค่ะ

 แจ้งการคัดลอกข้อมูล แนะนำ หรือ ติชม ..คลิ้กที่นี่


     

           ปรารภธรรม วาทีหิมาลัย หลักธรรมสู่หลักการปลูกฉันทะ การทำงานของนักเผยแผ่งาน พระธรรมทูตในแดนหิมาลัยวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล พรรษากาล  ๒๕๔๘ พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ) พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย ปฏิบัติการเจ้าอาวาส วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

 

 

วาทีหิมาลัย

 

“คนทำงานดี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน งานที่ดีก็อยากเข้าไปหา

อยากเข้าใกล้ อยากให้คนนั้นได้ทำ

เพราะงานที่ทำแล้วมีคุณภาพ เป็นผลงานที่น่าพึงพอใจ

ถ้าคนไหนไม่ใส่ใจงาน ทำงานจับจด ไม่มีผลในชื่อเสียงเกียรติยศ เช่นนี้

งานก็กลัว วิ่งหนี ไม่อยากผ่านมือคนนั้น

กลายเป็นว่า งานจึงไม่อยากเข้าใกล้

เพราะเสน่ห์ของคนอยู่ที่คนเขาอยากใช้ให้ทำงาน

 

ใครที่ถูกเพื่อนมาชวนให้ช่วยในกิจการงานของเขา

พึงรู้ว่ามีเสน่ห์เป็นที่ถูกตาต้องใจเข้าแล้ว

ใครก็ตามที่ถูกเมิน ไม่มีใครชักชวนให้ช่วยอะไรเลย

นั่นแหละ พึงรู้ว่าเสนียดได้เกาะกุมชีวิตของเราแล้ว

คนได้งานถือว่าได้โชค

จงทำงานอย่างจริงจัง อย่าทำแบบเล่น ๆ  ที่สุดแล้วเราจะถูกเล่นงาน

 

ระวังอย่าเป็นคนตื่นสาย อย่าคลายความเพียร

อย่าเรียนคบชู้ อย่าอวดรู้เดินทางไกล

อย่านิสัยดุร้ายขี้โมโห นอนซมโซขี้เซา หนักก็ไม่เอา เบาก็ไม่สู้

สู่รู้ไปทุกเรื่อง เหล่านี้คือเสนียดของคน”

 

พระราชรัตนรังษี

(วีรยุทธ วีรยุทฺโธ) 

พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย

ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย

ปฏิบัติการเจ้าอาวาส วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

พระพุทธภาษิต

สพฺพตฺถ เว สปฺปริสา วชนฺติ

น กามกามา ลปบนฺติ สนฺโต

สุเขน ผุฏฐา อถวา ทุกฺเขน

น อุจฺจาวก ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ ฯ

 

คำแปล

สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเลิกละ คือไม่ติดในธรรมทั้งปวง

ผู้สงบแล้ว ย่อมไม่เพ้อเพราะความใคร่ในกาม

บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง

เพราะประสบสุขหรือทุกข์

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

ผีเข้า ผีออก ผีหลอกตัวเอง

 

คุณภาพของพระต้องระวังเรื่องความขึ้นลงของอารมณ์

หรือเรียกว่า “อย่าบุ่มบ่าม” ยิ่งมีอารมณ์แปรปรวนทั่วไปเรียก

“ผีเข้า ผีออก” อย่างนี้ก็ลำบาก จะทำอะไรก็ไม่สำเร็จ

กลายเป็นคนจับจด จับนั่น วางนี่

แถม (มัน) วางไม่เป็นที่เป็นทางอีกก็ยุ่ง

 

ที่ว่าการทำงาน คือ การปฏิบัติธรรมอยู่ตรงนี้

อยู่ที่ความร่าเริงเป็นสุข ลืมวัน ลืมคืน ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน

แสดงว่าธรรมเข้าสิงแล้ว ความไม่มีตัวตนออกไปแล้ว

จำไว้เถิดว่า “ยิ่งอัตตาตัวตนมาก ใจยิ่งแคบ”

อะไรที่แคบ ๆ (มัน) ไม่มี มันอึดอัด ขัดข้อง อ้างโน่น อ้างนี่

เพราะกิเลสมันเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “ขี้เกียจ” เลยใช้คำว่าสุภาพหน่อย

คนโง่ก็เลยหลง หลงประเด็น หลงทิศ หลงทาง จะไปรอดได้อย่างไร

ศาสนาจะไปรอดได้อย่างไร

 

ดังนั้น การทำงานให้ระวังการขึ้นลงของอารมณ์ให้มาก

เพราะจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน รำคาญ ถ้ารู้สึกเท่าทันอารมณ์

งานทุกอย่างก็ไม่ตัน…ขอให้มีความเพียรในศีล สมาธิ ปัญญา

ให้พยายามขวนขวายกระทำในงาน ในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย

ให้งานสำเร็จ และผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวจึงขึ้นอยู่ที่การควบคุม

ความขึ้นลงของอารมณ์ให้นิ่ง และตั้งมั่นอย่างเดียว…

 

 

 @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

.  แปรรูปขวานกับไม้ ค้อนกับตะปู สู่หลักธรรม

 

การที่คนเขาจะสร้างบ้านแปลงเรือนนั้น

แรกเริ่มจะต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

ไม่มีไม้ ก็ต้องหาไม้มาตัด มาต่อ มาแต่ง

มาเสริมให้เป็นแบบที่ต้องการ กว่าจะได้แต่ละชิ้นแต่ละส่วน

ต้องผ่านหลายขั้นหลายตอน

“ถ้าเป็นประเภทไม้หนีขวาน” หลบไปทางซ้าย หลบไปทางขวา

รอเวลาหมดอายุ การใช้งาน หรือไม่ก็ผุกร่อนไป

 

พระสงฆ์เราก็เช่นกันเปรียบเสมือนต้นไม้ที่มาจากหลายป่าหลายเขา

มาอยู่ มารวมในที่เดียวกัน ก็ต้องมาติดตา ต่อกิ่ง

ไม้ประเภทหนีขวาน ก็เหมือนพระผู้ต้องการฝึกฝนตัวเองให้เก่ง

ให้ช่ำชอง หนีครูบาอาจารย์ หนีธรรม หนีคำสั่งสอน

ก็ไม่ได้รับการถากการถางให้สวยงามได้

ค้อนกับตะปูเป็นอุปกรณ์ทำบ้านตีไม้ให้แน่น ผู้นี้ คือช่างผู้ชำนาญ

ตะปู คือเหล็กที่ตอกลงในไม้ ส่วนค้อน คืออุปกรณ์ที่มีน้ำหนัก

ตอกตะปูให้สนิทกับไม้ ถ้าตอกไม่ดีเวลาเดินบนไม้

ก็จะได้ยินเสียงแอ๊ดๆๆๆ…อย่างนี้ยังใช้ไม่ได้

ระบบการทำงานเพราะก็เหมือนกัน

ผู้ตีตะปู คือครูบาอาจารย์ที่คอย พร่ำสอนไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

ไม่รู้จักหนัก หนักทั้งค้อนทั้งตี ทั้งเตรียมไม้และดูแลรักษา

ตะปู คือคำสั่งสอนที่คอยอบรมว่ากล่าว การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

 

งาน คือชีวิต คือการเคลื่อนไหวพัฒนา

ส่วนค้อน คืออาการที่คอยพร่ำสอน ต้องดูภาพรวม

ทำงานอย่ามองแค่จุดใดจุดหนึ่ง ถ้าดูภาพรวมแล้วก็จะได้ไม่ประมาท

ส่วนที่เป็นตัววัดความสนิทแน่นของตัวไม้

ถ้าไม้ชิ้นใดมีเสียงดังแอ๊ดๆๆ ก็แสดงว่ายังไม่ผ่าน

อาการอย่างนี้ เป็นอาการของผู้รับคำสอนไม่ได้

สอนอะไรบอกอะไร ก็จะได้ยินเสียงของคนพร่องขึ้นมา

ไม่มีบ้าง ไม่เป็นบ้าง ไม่รู้บ้าง ที่ไม่..ไม่ นั้น ก็เป็นแค่เหตุผล

ที่เอามาอ้างให้ “ความขี้เกียจไม่ชอกช้ำ”

อยู่ติดกาย ติดใจ คือรักความเสื่อมนั่นเอง

 

 

 @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

  

.  ปั้นดินเผาให้เป็นภูเขาใหญ่

 

คนที่ไม่เควศึกษาเรื่องเครื่องปั้นดินเผา

ก็จะไม่รู้ว่า มีขั้นตอนในการทำอย่างไร

ดิน คือส่วนที่อยู่ต่ำสุด แต่มีค่าได้ด้วยช่างผู้มีฝีมือในด้านนี้โดยตรง

ประดิดประดอย คอยตกแต่ง กว่าจะได้หม้อหรือเครื่องปั้น

ที่มีรูปทรงสวยงาม มีราคา หรือที่เรียกเป็นสำนวนกันว่า

“ปั้นดินให้เป็นดาว” การจะนำดินไปปั้นเป็นดาวบนท้องฟ้าได้นั้น

เป็นเรื่องเหนื่อยแสนเข็ญ

 

ขั้นตอนที่สำคัญอันดับแรกก็คือ คือ การเตรียมดิน และการนวดดิน

กว่าจะได้ดินที่มีคุณสมบัตินำมาปั้นได้นั้นต้องใช้เท้านวดแล้วนวดอีก

ไม่ได้ใช้มือเลย ตอนที่ใช้มือคือขั้นตอนในการปั้น

ขั้นตอนนี้ก็ยากเหมือนกัน แต่จู่ๆ จะนำดินที่ไม่ผ่านการนวด

มาปั้นนั่นไม่ได้ ถึงปั้นไปก็ไม่สวย

 

การที่เราจะมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง

ก็ต้องผ่านกระบวนการเช่นเดียวกับการปั้นหม้อทั้งนั้น

คือต้องผ่านกระบวนการนวด (โดยเท้า) และกระบวนการปั้นด้วยมือ

กว่าจะเป็น “ดาว” ต้องใช้เวลา และที่สำคัญ “ดิน” ต้อง “อดทน”

 

  

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

.  พิจารณาปัจจัย ๔ (ทำไม?)

 

บทพิจารณาปัจจัยเครื่องอาศัย ๔ คือ

พิจารณาจีวรก่อนนุ่งห่ม

พิจารณาภัตตาหารก่อนฉัน

พิจารณาเสนาสนะก่อนใช้สอย

และพิจารณายารักษาโรค

 

ถามว่า ทำไมต้องพิจารณา ?

 

คำตอบมีไม่มากหรอก

 

ที่พิจารณาจีวรก่อนนุ่งห่มก็เพื่อ…เมื่อห่มก็จะงาม

ที่พิจารณาภัตตาหาร ก่อนฉัน ก็เพื่อ…ฉันอาหารอะไรแล้วก็อร่อย

ที่พิจารณาเสนาสนะก่อนใช้สอยก็เพื่อ…อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้

และที่พิจาณายารักษาโรคก็เพื่อ…ถ้าเกิดอาพาธฉันยาแล้วก็จะหาย

 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไม่ให้ติดในรูป ในรส ในสัมผัส ในเวทนานั่นเอง

 

  

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

เริ่มต้นที่ตนเองก่อนแล้วค่อยขยับไปสิ่งอื่น

 

การทำงาน ทำกันได้ทุกคนนั่นแหละ

ถ้าคิดอยากจะทำ ถ้าเพียงก็ยังไม่ทำแล้วจะหวังอะไร

ถ้าคิดจะทำอะไร ทำกับใคร ใกล้ไกล ก็ทำได้ทั้งนั้น (ถ้าจะทำ)

ผลสำเร็จมากหรือน้อย อยู่ที่เราเองเป็นตัวตั้งหรือเป็นผู้เริ่มก่อน

งานทุกเรื่องที่คิดว่าจะต้องทำ ต้องลงมือทำเลย

อย่าหาเรื่องกับคนทำงาน (เท่านั้น)

 

งานมีพลังมาก คืองานที่มีปัญหามาก

 

เพราะวัดภูมิปัญญาว่าใครเล็ก ใครใหญ่

หรือใครเป็นผู้นำ ใครเป็นผู้ตาม

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

   

 

สายใยบ้านกับวัด สายใจประเทศกับที่ทำงาน

 

วันพระเป็นวันศักดิ์สิทธิ์  กำหนดขึ้นมาเพื่อดูแลคนในศาสนา

ดังนั้น วันพระจึงเป็นวันพิเศษของพระพุทธศาสนา

เป็นวันหยุดเพื่อชำระจิตใจ

วันหยุดโดยทั่วไปในสังคมมีลักษณะเป็นวันพักผ่อน (relax)

เที่ยวสนุกสนาน เพลิดเพลิน ตามประสาโลก

แต่วันพระเป็นวัน “พัฒนาคน”

ให้คนมีจิตใจสูงขึ้นด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

ยกตัวอย่าง คนสมัยก่อนจะไม่ทำงาน

กลัวเกรงว่าจะเบียดเบียนสัตว์ขณะทำงาน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าแผ่นดินจะต้องมารับถวายพรจากพระ

เพื่อความสงบร่มเย็นของบ้านเมือง นี้คือความสำคัญของวันพระ

 

การบิณฑบาตของพระสงฆ์จึงเป็นการสร้างสายใยสัมพันธ์

ระหว่างวัดกับบ้าน เป็นการเก็บข้อมูลข่าวสาร (hearing)

ภาษาพระเรียกว่า “ปรโตโฆษะ” คือ มีข้อมูลว่าสังคมต้องการอะไร

ตอนนี้สังคมกำลังเดินไปในทิศทางไหน เมื่อมีข้อมูลแล้ว

ก็ต้องมีการพิจารณา เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ”

ถ้ามีข้อมูลมาก การทำงานก็ผิดพลาดน้อย

ถ้ามีข้อมูลน้อย การทำงานก็มีโอกาสผิดพลาดสูง (อันหลังนี้อันตราย)

อันนี้อาจเรียกว่าเป็นหัวใจของการทำงานก็ได้ ให้จับหลักนี้เอาไว้

ในการทำงานทุก ๆ อย่าง มีหลักแล้วจะไม่หลวม

วัดกับบ้านจะแน่นแฟ้น เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

มุ่งมั่นในการสร้างประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต

และประโยชน์สูงสุด

  

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

  

 

งานเพื่อชีวิต หรือชีวิตเพื่องาน

งานสร้างคน เพระคนสร้างงาน

 

แปรรูปการปฏิบัติให้งานเป็นการปฏิบัติธรรม

เวลาทำงานให้เอาตัวตน ออกไป ให้เหลือแต่งานที่เราจะทำเท่านั้น

จะเบาเพราะใจเราจะให้ เมื่อตั้งจิตได้อย่างนี้ เสนียดจัญไรจะไม่เข้าสิง

เสน่ห์ คืองานดี ๆ คนดี ๆ สิ่งดี ๆ จะอยากมาอยู่ด้วย

วิ่งหนีเท่าไหร่ก็ไม่พ้น เสน่ห์ทางธรรมขลังและศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้

ดังที่กล่าวมา เสน่ห์จู่ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้

เสน่ห์มาจากการทำงาน เพราะงานคือชีวิต ชีวิตคืองาน

ข้อควร

“การทุกอย่างจะต้องมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง

พัฒนา ไปสู่สิ่งดีๆ” ด้วยบูรณาการแห่งไตรสิกขา

ศีล คือ กรอบ ในการทำงาน

สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น

และปัญญาคอยหล่อเลี้ยงศีล สมาธิ

แล้วจะตกผลึกเป็นความรู้ของเรา

ไตรสิกชาจะหมุนหล่อเลี้ยงงาน หล่อเลี้ยวชีวิต

กลายเป็นว่า ธรรมเป็นจิต จิตเป็นธรรม นี้เรียกว่า บูรณาการ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

  

คุณภาพสอดคล้องกับคุณภาพจึงจะทราบว่ารอดหรือ

 

ทั้งงานและตัวผู้ทำงาน ต้องมีการปรับ

ปรับเพื่อให้เข้าที่ เข้าทาง เข้าระบบระเบียบ แบบแผน

เพื่อยกระดับให้เป็นงานที่มีมาตรฐาน

และให้คนที่ทำงานเป็นคนที่มีคุณภาพ

เมื่อปรับระดับคุณภาพของพระได้แล้ว

จะมีผลส่งถึงการปรับศรัทธาของคนที่จะข้ามาในศาสนาด้วย

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ถ้าพระมีคุณภาพ

ก็จะได้คนที่มีคุณภาพมาอยู่ในศาสนา

ศรัทธาของเหล่านั้นจะไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน

ถ้าพระไม่มีคุณภาพ อย่าพูดถึงคนที่จะมาอยู่ในศาสนา

แต่ให้มองว่าศาสนาจะรอดได้อย่างไร

การปรับให้มีมาตรฐานและคุณภาพก็เพื่อการนี้

  

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 เติมเต็มคนละไม้ละมือ

 

ระบบการทำงานที่ดี เครือข่ายงานที่ดี

เกิดจากการ “ร่วมไม้ร่วมมือ”  “เต็มไม้เต็มมือ”

และที่สำคัญ “เต็มใจ” ด้วย

ถ้าเราอยู่ในสายงานนั้น

เพื่อนเขาช่วยกัน “เติมเต็ม” ให้งานออกมาคนละไม้ละมือ

สมมุตินะสมมุติ

สมมุติว่าเราอยู่ในองค์กรและไม่คิดจะทำอะไรเลย

คนอื่นจะคิดกับท่าน…(อย่างไร)

  

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๑๐ใจเป็นประธาน ใจคือนายผู้บงการชีวิต

 

ความคิดเหมือนกับเครื่องยนต์ที่แล่นไป

หากไม่มีคนขับก็ไม่รู้ว่าเครื่องยนต์จะวิ่งไปที่ไหน?

ไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่รู้จักหลบสิ่งกีดขวาง ไม่เคารพกฎจราจร

ไม่รู้จักเส้นทาง ผ่อนหนัก ผ่อนเบาไม่เป็น

เกียร์ต่ำ เกียร์สูงก็ไม่รู้ ดีไม่มีอาจจะชนรถคันอื่น

หกคะเมนตีลังกา ลงข้างคู ข้างคลองก็อาจเป็นได้

แต่ถ้ารถที่แล่นไปมีผู้ขับ

ก็สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยถึงจุดหมายปลายทาง

 

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างว่า

ความคิดหากไม่มีการควบคุม คิดไปเรื่อยเปื่อย ฟุ้งซ่าน กังวล

ง่วงเหงาหาวนอน หรือความคิดประกอบด้วยนิวรณ์ ๕

คนที่มีความคิดอย่างนั้นจะทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ก็ล้มเหลว

มีปัญหา อะไรก็ตัน เป็นโรคงงกับทุกเรื่อง มึนกับทุกอย่างที่ขวางหน้า

ตาเบลอๆ ลอยๆ อ้าปากค้าง ส่ายหัว หรือออกอาการฮึดฮัด

เจออะไรก็ตัน ไม่ถึงจุดหมายปลายทาง

ไม่รู้จักหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ไม่เคารพกฎจราจร

คือไม่เคารพในกฎระเบียบการปฏิบัติ แบบแผน

เป็นหัวสมัยใหม่ อ้างสังคมประชาธิปไตยบ้าง สิทธิบ้าง

ที่อ้างนั้น เพื่อมาปกป้องการไม่ทำอย่างลอยหน้าลอยตา

ประกาศยี่ห้อคนนั้นว่าเป็นอย่างไร

ถ้าคนที่สามารถควบคุมความคิดได้

ก็จะรู้จักเส้นทางการทำงาน รู้จักงาน เครือข่ายของงาน

ความสำเร็จของงานอยู่ที่ไหน

แผนการปฏิบัติงาน หนึ่ง สอง สาม สี่ เป็นอย่างไร

คนรับผิดชอบแผนกนี้ แผนกนั้นใครรับผิดชอบ

ไม่ใช่จะคอยรับชอบแต่อย่างเดียว (ประเภทนี้มีเยอะ)

แต่ต้องคอยรับผิดด้วย ผิดเพื่อปรับปรุงให้ดี ให้งาม

 

รถมีคนขับ ก็ปลอดภัย

ความคิด หากดูแลเอาใจใส่ มีการพัฒนา คือ การภาวนา

งานก็สำเร็จ ก็ภูมิใจไม่อายดิน อายฟ้า

ก้มหน้า ก้มตา หน้าหงิก หน้างอ

แต่จะองอาจ ร่าเริง สง่างาม (มากๆ )

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๑๑งานไม่เหน็ดเหนื่อยเดี๋ยวเจอเพชรเม็ดงามเอง

 

ในการทำงาน มีทรัพย์ดีอย่างเดียวไม่ได้

ต้องมีระบบดีด้วยเพื่อให้งานขับเคลื่อนไปตามแผน

ทุกๆ แผนกหรือแต่ละส่วนต้องมีการจัดการบริหาร

ภายใต้กรอบนโยบาย และสิ่งที่เป็นภาพรวม

 

การทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องคำนึงถึง บุคคล วัตถุสิ่งของ และงาน

สามสิ่งนี้ให้สอดคล้องประสานกัน ใช้คนให้ถูกกับงาน

วัตถุสิ่งของก็ตรงกับประโยชน์การใช้สอยของงาน

การทำงานอะไรต้องให้ได้ภาพรวมครบทุกจุด พิเคราะห์พิจารณา

ถ้าสักแต่ว่าทำ ก็จะโดนงานเล่นงาน (เข้าสักวัน) เสียผู้เสียคน

 

งานที่เป็นระบบก็จะเป็นวงจร

คือ หมุนไปด้วยการพัฒนาที่เป็นธรรม

คือ ธรรมจักร หมุนไปไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย

สุข ยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่มีเงื่อนไข มีแต่งานกับการสร้างงาน

รู้จักกาลและเทศะ ความสำเร็จของงานเป็นอย่างนี้ อย่างนี้

รู้แล้วก็เดินไป ทำไป ไม่  (นั่งคิดอย่างเดียวก็ใช้ไม่ได้)

 

การทำงานสิ่งใด ขอให้ยึดนโยบายหลักๆ ดังนี้คือ

ประโยชน์ คือ คำนึงถึงประโยชน์ปัจจุบัน อนาคต สูงสุด

ประหยัด คือ การใช้จ่าย รายรับรายจ่ายและทุนสำรอง

ประยุกต์ คือ ปรับสภาพให้ใช้การใช้งานให้ได้

ประเพณี คือ สอดคล้อง ไม่ฝืด ไม่ขัด งดงามตามภูมิปัญญา

ประสิทธิภาพ คือ ต้องเป็นที่ยอมรับของบัณฑิตทั้งเชื่อถือและนับถือ

 

อย่างนี้งานก็จะสำเร็จได้ไม่ยาก

และคนก็จะมีคุณภาพไปด้วย

  

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๑๒.  ทำงานเพื่อให้ เบา เบา เบา

 

การทำงานที่ประกอบด้วย “ศรัทธา” จะไม่รู้จักคำวา “หนักเหนื่อย”

เพราะการทำงานทั้งหมดนั้น คือ

ทำเพื่อ  “ถวายเป็นพุทธบูชา” ในดินแดนพุทธมาตุภูมิ

 

ถ้าพระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนกับต้นไม้

รากแก้ว คือแหล่งกำเนิดพระศาสนา

ส่วนกิ่งก้าน สาขา ร่มเงา แผ่ขยายกระจายออกไป

แม้ประเทศไทยก็ได้รับผลนั้นด้วย

คิดมองอีกมุมหนึ่ง หากเรามัวแต่เก็บดอกผล ลืมดูแลรากเหง้า

รดน้ำ พรวนดิน ป้องกันแมลงและวัชพืช ไม่นานต้นไม้ก็จะเฉาตาย

เพราะไม่มีใครรักษา ดูแล

 

ดังนั้น ท่านทั้งหลายที่ได้มาปฏิบัติงานในดินแดนแห่งนี้

ควรตั้งจิตในการงาน หน้าที่ ว่าจะทำงานนั้นตอบแทนบุญคุณ

พระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาในพระพุทธองค์

รดน้ำ พรวนดิน เพื่อให้ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้ เป็นร่มเงาที่สงบเย็น

ออกดอกออกผล เมื่อผลงานออกมา พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่

งานจะทำให้เราแช่มชื่น นี่แหละตั้งจิตไว้ถูกก็ดีอย่างนี้

ทำงานเพื่อให้ เบา เบา เบา

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า

อุกฺกฏฺเฐ สูรมิจฺฉนฺติมนฺตีสุ อกุตูหลํ

ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิอตเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ

 

เมื่อเกิดเหตุร้ายแรง ย่อมต้องการคนกล้าหาญ

เมื่อเกิดข่าวตื่นเต้น ย่อมต้องการคนหนักแน่น

เมื่อมีน้ำข้าวบริสุทธิ์ ย่อมต้องการคนที่รัก

เมื่อเกิดเรื่องราวลึกซึ้ง ย่อมต้องการบัณฑิต

 

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อที่ ๙๒)

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 ๑๓.  ศรัทธานุภาพสู่ปัญญามหาศาล

 

เราจะทำสิ่งใด จะต้องมั่นใจ เชื่อใจ และเข้าใจในสิ่งนั้น

เพราะนี้คือบุญมหาศาลที่ศรัทธาเริ่มต้นไว้ดีแล้ว

จะสัมฤทธิ์ประโยชน์ให้อย่างน่าอัศจรรย์

อย่างเช่นเหตุการณ์เนปาลในขณะนี้ เราก็รู้อยู่ว่าเขาเป็นอย่างไร

และเราควรจะวางบทบาทอย่างไร เราต้องรู้ถึงธรรมะที่ว่า “ตถตา”

คือเป็นเช่นนี้เอง เป็นเช่นนี้เอง ภาวนาให้มาก ๆ เถิด

แล้วความยุ่งทั้งหลายความยากทั้งหมด ก็จะไม่ก่อตัวถึงขีดอันตราย

ถ้าเพียงวกวนอยู่กับความคิด ไม่ใกล้ชิดกับความจริง

อาจส่งผลให้ขาดความเชื่อมั่นในการทำงาน

ที่สุดผู้ที่คอยตาม ก็จะขาดความมั่นใจในความเป็นผู้นำของเรา

 

ถ้าจะทำสิ่งใด ๆ ที่มีความยากลำบากให้สำเร็จสูงสุดนั้น

ต้องมีศรัทธาดี ปัญญาดีเป็นที่ตั้ง (ตัวเราก่อน)

แล้วความวิตก กังวล ท้อแท้ สงสัย

จะไม่มีอิทธิพลเข้าท่วมทับพุทธิปัญญาของเราเลย

ขณะเดียวกันความตื่น รู้ เบิกบานก็จะตามมาเอง

ไม่ต้องอะไรมาก เพียงเปิดทางให้คำว่า “ตถตา”

งอกงามในสติปัญญาตามปกติ คือ ไม่ไปปรุงแต่งจนเกินจริง

ไม่กลัวจนเกินการณ์ ไม่ลนลานจนเกินรู้ นี่แหละประตูชัย

ขอฝากสมณะ พระสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายว่า

ศรัทธาย่อมอยู่เหนือความกลัว (ตาย) ใดๆ

มีศรัทธาต่อสิ่งใด ย่อมอยู่เหนือเงื่อนไขทั้งสิ้น

มีศรัทธาที่เติมเต็มแล้ว ย่อมไม่กังวล ไม่สงสัย

มีความมุ่งมั่นต่อสิ่งที่ตั้งใจไว้ดีแล้ว ย่อมนำความสำเร็จมาให้

มีศรัทธาต่องานที่บริสุทธิ์จึงไม่เหน็ดเหนื่อยไม่มีเงื่อนไขไม่มีข้อสงสัย

และเพลิดเพลินในธรรม “ตถตา” อีกต่างหาก

 

ขอย้ำว่า ทุกท่านต้องสร้างศรัทธาให้มั่นคง ดำรงตนอยู่อย่างมั่นใจ

คิดใกล้ไกลด้วยปัญญา รู้จักแยกแยะให้ออก

บอกหนักเบาให้ได้ คลี่คลายไปสู่ทางที่ดีเท่านั้น

ไม่ควรถือมงคล ตื่นข่าว จนขาดความเป็นตัวของตัวเอง

ถูกความกังวลเข้าครอบงำ จะส่งผลให้งานดีๆ

ที่มีค่าความหมายต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

อันเป็นที่รัก เทิดทูนของเราถูกกระทบไปด้วย

  

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 ๑๔.  ศากยบุตรทายาทผู้กล้าหาญในธรรมะ

 

คำว่า ศากยะบุตร แปลว่า บุคคลผู้มีความกล้าหาญ องอาจ สง่างาม

เพราะบรมศาสดาของพวกเราท่านเป็นเจ้าชาย

เป็นมกุฏราชกุมารแห่งแคว้นสักกะ เป็นพระราชามหากษัตริย์

ในสมัยพุทธกาลถือว่าเป็นวรรณะหรือตระกูลสูง

 

เมื่อคิดได้อย่างนี้การประพฤติ ปฏิบัติ ที่เป็นความงาม ความดี

เราจะต้องเคารพพระธรรม วินัย สมณลีลา สณสัญญา สมณสารูป

ที่พระองค์ประทานไว้ เราเป็นพระฝ่ายเถรวาทต้องมีความหนักแน่น

ในข้อวัตรปฏิบัติ อาจหาญ ร่าเริง ในการปฏิบัติงาน

เพราะการปฏบัติงาน คือ การปฏิบัติธรรม

 

ในการทำงานจะต้องประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล คือ ระเบียบ แบบแผน กฏที่ต้องเคารพและเคร่งครัด

สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคปัญหา

ปัญญา คือการแก้ทุกข์หรือปัญหา

รักษาความนิ่งและให้คิดเสียว่า

“เอาอุปสรรค มาเป็นอุปกรณ์ในการทำงาน”

ที่ไหนมีปัญหา ให้อาสาเข้าไปแก้

เพราะเมื่อปัญหาหมดแล้วนั่นคือปัญญาของเรา

ความรู้ที่ได้เรียนมาเป็นความรู้ของเขา คือความรู้ที่เราท่องมา อ่านมา

การวัดผล ประเมินผล ใครจำได้ก็ผ่าน ใครลืมก็ตก

แต่ความรู้ที่แท้จริงต้องเป็นความรู้ที่เกิดจากการทำงาน

รู้ว่าจะสร้างความสุขในการทำงานอย่างไร

อยู่กับงานอย่างไรไม่ให้เหน็ดเหนื่อยให้มีแต่ใจรัก สุขและสนุก (ล้วนๆ)

มีปัญหาอุปสรรคมากระทบ แต่เราไม่กระเทือน (ซะอย่าง)

ให้สร้างงานขึ้นมา ปัญหาก็ทำอะไรเราไม่ได้

อย่าตีบ อย่าตัน อย่าเดินชนกำแพง ให้ปีนให้ป่ายหรือหาทางออกไป

บางอย่างต้องปรับ บางอย่างต้องขยับ บางอย่างต้องสงบ

และขั้นสูงสุดคือสามารถที่จะนำผลงานออกมา

นั่นเป็นมรรคเป็นผลแล้ว เราเป็นผู้ฝึกฝนตนเองแล้ว

“ศากยบุตร”  เป็นอย่างนี้

  

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๑๕.  ทำงานเพื่อเอา หนัก หนัก หนัก

 

ถ้าตั้งจิตในการทำงานผิดแล้ว อะไรก็ผิดไปหมด

นั่งก็ผิด เดินก็ผิด พูดก็ผิด ที่ผิด ผิด ผิด ทำงานอะไรก็เลยหนัก (อึ้ง)

ไม่รู้แบกอะไรต่ออะไรไว้ ที่แบกไว้ไม่ใช่อะไรหรอก

คือ “แบกว่าจะเอาอะไร” นี่แหละที่บอกว่า

“จิตคิดจะ “ให้” มันเบา จิตคิดจะ  “เอา” มันหนัก”

ทำงานไม่ประกอบด้วยศรัทธา จึงเหน็ด จึงเหนื่อย

เบาก็ว่าหนัก ไม่หิวก็ว่าหิว ไม่ร้อนก็ว่าร้อน

งานน้อยก็ว่างานมากมาย (มหาศาล) งานยุ่ง ไม่มีเวลาบ้าง

นี่แหละอะไรก็หนักไปหมด ติดไปหมด

เพราะทำงานเพื่อ “เอา” คำเดียวเท่านั้น ทุกอย่างก็จอดแล้ว

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

  

๑๖.  ความทุกข์เป็นเพื่อนเรา  (ไปก่อน)

 

คนที่มีความทุกข์ ให้คิดเสียว่า  “ความทุกข์เป็นเพื่อนเรา” ไปก่อน

เราเห็นทุกข์จึงจะมีความสุข

เพราะว่าทุกข์นั่นแหละจะไม่ทำให้เพื่อนของเราต้องเดือดร้อน

“ถ้าเรารู้จักหาประโยชน์จากความทุกข์ เราจะมีแต่ความสุขตลอดไป”

ความสุขบางทีก็เหมือนกับยาเสพติดที่ร้ายแรง

เพราะตัวสุขทำให้เกิดความเคยชิน ไม่สู้การ ไม่สู้งาน

ทำให้เสียนิสัยได้เหมือนกัน

ฉะนั้น จะต้องรู้จักความทุกข์ให้มาก

เพราะจะทำให้เกิดความอดทน มีความพยายาม

 

ความสบายเกินไป จะเป็นโรคโปลิโอทางวิญญาณ

ยิ่งแก้ยิ่งยากเข้าไปอีก

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

  

 

๑๗.  ช่องว่างระหว่างความขาดกับความเกิน

 

การทำงานของแต่ละฝ่ายต้องมีการประชุมปรึกษาหรือก่อนเป็นดี

ระดับสมอง ประคองสองมือ ในลักษณะที่ว่า

“พี่รู้สองน้องรู้สี่ ใครมีดีเอามารวมกัน”

งานทุกอย่างก็ย่อมมีปัญหา เพราะปัญหาคืองานของเรา

แต่ถ้ารู้ใช้ปัญญาแก้ ปัญหาก็ค่อยคลี่คลาย

ในที่สุดงานก็เป็นความภูมิใจของทุกฝ่าย

 

พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ด้วยทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)

ไม่สุดโต่ง ไม่มากไป ไม่น้อยไป คือ ความพอดีนั่นเอง

ทำอะไรก็ให้พอดี ไม่ดีใจมากไป ไม่น้อยใจ ยิ้มน้อยๆ แต่มุมปาก

หลักการง่ายๆ ที่ท่านทั้งหลายสามารถปรับใช้ได้กับสายงาน คือ

ให้ช่วยบอก กล่าวตักเตือนกันว่า

“ถ้าขาดช่วยกันเติม ถ้าเกินช่วยตัดลงมา

ถ้าพอดีแล้วให้ล็อกเอาไว้”

ถ้าทำได้อย่างนี้ ถึงท่านไม่ต้องการความเจริญ

ท่านก็หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

ความเจริญจะมาหาท่านโดยไม่ต้องสงสัย

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

  

๑๘.  มีงานมาก ทำเป็นมีงานน้อย เสน่ห์ของคนทำงาน

 

“มีงานมาก ทำเป็นมีงานน้อย” จะกลายเป็นคนที่มีเสน่ห์

สิริจะปรากฏ ที่ใบหน้าจะมีประกาย

คนลักษณะเช่นนี้จะไม่งุ่มง่าม ลุกลี้ลุกลน

เพราะคนนั้นเขาพิเคราะห์งานแล้ว ว่างานนี้เป็นอย่างไร

ยิ้มแล้ว มีแผนแล้ว ไม่ใช่สักแต่ว่าทำๆ

แต่การทำงานต้องมีจุดหมาย

เหมือนกับการเรียนก็ต้องมีจุดประสงค์การเรียนรู้

วันนี้ทำอะไร วันนี้มีงานอะไร วันนี้จะทำได้แค่ไหน

ตารางการทำงานเกิดขึ้นแล้ว โน่น  ทะลุถึงเดือนหน้า ปีหน้า

ความสำเร็จมันเกิดที่ใจแล้ว

 

การทำงานก็เหมือนกับการสร้างตึกราม บ้านช่อง

คือ งานมันเสร็จแล้วตั้งแต่อยู่ในกระดาษ

เพราะแปลนมีอยู่ วัสดุอุปกรณ์ก็มีอยู่

เพียงแค่ลงมือปฏิบัติตามแผน ทุกอย่างก็สำเร็จ

การทำงานระบบนี้เป็นระบบสากล

คนที่เจริญและประสบความสำเร็จเขารับรอง

มีแผนงาน มีแผนการ ความรู้ ความสามารถ สติปัญญาใส่ลงไป

งานมากแค่ไหนก็กลายเป็นงานน้อย จะมีงานมากแค่ไหนก็สง่างาม

 

  

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๑๙.  เสน่ห์อยู่ที่ไร้เสนียด

 

คนทำงานดี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน งานที่ดีก็อยากเข้าไปหา

อยากเข้าใกล้ อยากให้คนนั้นได้ทำ เพราะงานที่ทำแล้วมีคุณภาพ

เป็นผลงานที่น่าพึงพอใจ

ถ้าคนไหนไม่ใส่ใจงาน ทำงานจับจด ไม่มีผลในชื่อเสียงเกียรติยศ

เช่นนี้งานก็กลัววิ่งหนี ไม่อยากผ่านมือคนนั้นกลายเป็นว่า

งานจึงไม่อยากเข้าใกล้

เพราะเสน่ห์ของคนอยู่ที่คนเขาอยากใช้ให้ทำงาน

 

ใครที่ถูกเพื่อนมาชวนให้ช่วยในกิจการงานของเขา

นี้แหละพึงรู้ว่ามีเสน่ห์เป็นที่ถูกตาต้องใจเข้าแล้ว

ใครก็ตามที่ถูกเมินไม่มีใครชักชวนให้ช่วยอะไรเลย

นั่นแหละพึงรู้เสนียด ได้เกาะกุมชีวิตของเราแล้ว

 

คนได้งานถือว่าได้โชค จงทำงานอย่างจริงจัง

อย่าทำแบบเล่นๆ แล้วที่สุดแล้วเราจะถูกเล่นงาน

 

ระวังอย่าเป็นคนตื่นสาย อย่าคลายความเพียร อย่าเรียนคบชู้

อย่าอวดรู้เดินทางไกล อย่านิสัยดุร้ายขี้โมโห นอนซมโซขี้เซา

หนักก็ไม่เอา เบาก็ไม่สู้ สู่รู้ไปทุกเรื่อง เหล่านี้คือเสนียดของคน

  

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๐.  อย่าท้อแท้ เพราะท้อไม่ถึงแท้

 

การทำงานของพวกเรามาที่นี้ อาสามุ่งรับใช้พระพุทธเจ้าแบบยกชีวิต

ถวายเป็นทาสรับใช้พระองค์จึงทุ่มเทงานทุกอย่างเพื่อเทิดทูนพระองค์

แม้จะเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าสักปานใด ต้องอดทน

และสิ่งที่ปรากฏมีทั้งชม มีทั้งชัง ทั้งชอบ ทั้งเฉย ทั้งสมเพชเวทนา

อาจจะมีทั้งนั้น ทั้งลบทั้งบวกในหมู่คน

บางทีเขาอาจมองว่า “เรามุ่งลาภ มุ่งยศ มุ่งตำแหน่ง”

นั่นคือเสียงของคนพร่อง คนขาด คนไม่เต็ม”

มองด้านลบจนเคยชิน

 

เราเพียงฟังแล้วต้องขอบคุณผู้นั้นอย่างมาก

อย่าท้อแท้ มุ่งทำงานต่อไป อย่าหยุดยั้ง

ผมเคยท้อ เคยจะทิ้ง อยู่เฉยๆ น่าจะดี

แต่ก็นึกถึงบุญคุณของพระพุทธศาสนา

รางวัลของการทำความดี คือ ความดีที่เราทำนั่นเอง

นอกนั้นฟ้าดินเป็นผู้กำหนด

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๑.  พระคล้องใจ อุปนิสัยคล้องธรรม

 

ถ้าสังเกตรูปภาพจะต้องประกอบด้วยกรอบ

ยิ่งกรอบสวย ราคาก็จะสูง

กรอบของรูปภาพมีส่วนช่วยภาพโดดเด่นมากขึ้น

รักษาภาพไม่ให้กระทบกระเทือน ชำรุด เสียหาย

เช่นเดียวกันการทำงานของพระสงฆ์เราต้องมีกรอบ

คิดไว้ก็ไม่เสียหายว่า “พระดีต้องมีกรอบ”

คือ กรอบนโยบายที่ตั้งเอาไว้ คอยดูแลงานให้เข้าเป้า

สอดส่องให้งานและความคิด เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ตรงความต้องการของลูกค้า (เขาต้องการอะไร)?

 

ถ้าเป็นละครให้ตีบทให้แตก ถ้าเป็นงานให้ตีโจทย์ให้ออก

ถ้ามีปัญหาให้ตีให้กระจุย กรอบทำให้งานมีราคา

ยิ่งกรอบทองด้วยแล้ว (อย่าไปพูดถึง)

ที่พูดเรื่องกรอบมาทั้งหมดก็เพียงอยากจะบอกว่า

ถ้าพระปฏิบัติอยู่ในกรอบ คือ ธรรมวินัย

ก็ยิ่งทำให้พระนั้นงามในสมณลีลา สมณภาวะ ทุกท่วงท่าก็สง่างาม

เมื่อนั้น (ใคร) ก็จะอดใจไม่ไหวต้องเอาพระไปเลี่ยมทอง

เลี่ยมแล้วเขาไม่คล้องคอหรอก แต่เขาจะคล้องไว้ที่ใจ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๒.  งานเผยแผ่สู่ความแท้จริงของศาสนา

 

เรามาทำงานเผยแผ่ ต่างบ้าน ต่างเมือง

ต่างธรรมเนียม ต่างภาษา

 

การทำงานไม่ต่างกับการขับรถยนต์

…ถึงคราวตาม      …ก็ต้องตาม        ถึงแม้รถข้างหน้าจะไม่มียี่ห้อ

…ถึงคราวแซง      …ก็ต้องแซง        แซงได้แล้วต้องเข้าที่

…ถึงคราวหยุด     …ก็ต้องหยุด        ในที่ที่เขาให้หยุด

…ถึงคราวซ่อม     …ก็ต้องซ่อม        ในอู่ที่เรารู้จัก

…ถึงคราวโค้ง      …ก็ต้องโค้ง         อย่าแหกโค้ง

…ถึงคราวชน       …ก็อย่าไปชน      ถ้าไม่มีประกัน

 

เราทำงานเผยแผ่ ต้องคล่องตัว

ในการประยุกต์ธรรมะเทียบเคียงกับตัวอย่างนี้

จะเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นก็ได้

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๓.  อยู่อย่างลม ไร้ตัวตน แต่ทรงพลัง

 

เมื่อทำงานให้ลดตัว ลดตน ลงไปหางาน

ให้เห็นแก่งานและผลงานที่จะออกมา

มุ่งให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคม

นั่นแหละคือ การทำงานเพื่องาน

ทำงานก็ต้องทำให้เป็น คือ เป็นการเป็นงาน และใช้การใช้งานได้

ทำตนให้เป็นคนน่าใช้ และทำตัวให้น่าเข้ามารับใช้

ทำงานต้องเอาชนะงาน อย่าเอาชนะคน

ทันโลก ทันเหตุการณ์ ทันสังคม

งานสร้างคน ก็เพราะคนสร้างงาน นี่เอง

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๔.  กุญแจแห่งความสำเร็จ

 

เรานักทำงานต้องหาเรื่องจะทำงาน

อย่ามัวไปหาเรื่องกับคนทำงาน

เดี๋ยวจะถูกเล่นงานทีหลัง

คนทำงานจะได้ผล…

ต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักยอมคน เพื่อให้ตนได้งาน

สิบนิ้วต้องประสาน เพื่อให้ตนสำเร็จ

อย่าเข็ดอย่าหลาบ จงรู้จักกราบกราน รู้จักไหว้วาน

บริหารงานให้สำเร็จ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๕.  ออกเสียงเหมือนกันก็จริง

 

งานคือหน้าที่ที่มีเกียรติ งานจึงไม่คู่ควรกับคนที่ขี้เกียจ

เพราะงานคิดว่าคนนั้น (มัน) น่ารังเกียจ

ประการหนึ่งที่น่าสนใจ หากจะถามว่าพระจะสูงด้วยอะไร

ตอบอย่างไรไม่ลังเลสงสัย (แม้แต่น้อย) ว่าพระจะสูงด้วยการทำงาน

เพราะงานจะให้เกียรติ เมื่อเกียรตินี้จะฟุ้งขจายไป

คนทั้งหลายจะถามพระรูปนั้นชื่ออะไร พระรูปนั้นอยู่ที่ไหน

ระหว่างเกียรติ (ขี้) เกียจออกเสียงเหมือนกันก็จริง

(แต่มันคนละเรื่อง)

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๖. ไม่ต้องมาก

 

พระอยู่ในพุทธภูมิทำงานที่นี้ไม่ต้องฉลาดนักก็ได้

บางอย่างโง่บ้างก็ยังมีเสน่ห์มากกว่าอีก

ขอเพียงให้ฉลาดในสิ่งที่ให้ฉลาด โง่ในสิ่งที่ได้โง่

อย่าโง่ในสิ่งที่ให้ฉลาด หรืออย่าฉลาดในสิ่งที่ให้โง่

เพียงแค่นี้ก็จะทำงานด้วยกันได้สนุก

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๗.  คำสอนหลวงพ่อสมเด็จฯ

 

ผมไปช่วยงานอบรมพระธรรมทูตที่พุทธมณฑลในเมืองไทย

และได้เข้าร่วมพิธีประสาทปริญญาบัตร

หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้โอวาทที่ถือว่าสุดยอด

จนจะต้องจดนำมาฝากให้พระธรรมทูต

พวกเราอยู่ในปัจจันตชนบท

ถือเป็น Supper Highway ของเราเลยว่า

 

“ขอให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้มีความสนใจว่า

ปริญญาบัตรนี้เป็นเพียงกระดาษที่ปราศจากความรู้ ความสามารถ

ผู้ที่ได้รับ ถ้าไม่มีความรู้ความสามารถจริง

ปริญญาบัตรย่อมไม่มีความหมาย จึงควารเพิ่มพูนความรู้

ความสามารถให้กลายเป็นปัญญาที่แท้จริง ให้ได้ผลทั้งทางวิชาการ

คือความรู้ และ จรณะ คือความประพฤติ

ปริญญาบัตรจะมีความหมายและทำให้ผู้ถือมีเกียรติ

ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ในการปฏิบัติงานด้านการศึกษาและพระพุทธศาสนา

ขอให้หมั่นเพียรแสวงหา บุกเบิกให้ทันสมัยและทันโลก

เพื่อนำมาปรับใช้ในบ้านเมืองของเราให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น”

 

เป็นข้อคิดที่สามารถติดอาวุธทางปัญญาได้

เป็นคาถาหรือมนต์ขลังที่เราต้องท่องบ่นสาธยาย

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๘.  ถักทอสายใยแห่งศรัทธา

 

พระบรมศาสดาของพวกเราทั้งหลาย

ผู้เป็นนาถะของโลก ผู้บำเพ็ญพุทธกิจมหาศาล

พระองค์ทรงงานหนักตลอดพรชนม์ชีพ

ด้วยอานิสงส์ผลบุญตกมาถึงพวกเราได้อยู่สบาย

เมื่อสำนึกเช่นนี้ จึงได้มากันคนละทาง ห่างกันคนละถิ่น

จากที่ใกล้ไกลทั้งทางเหนือใต้ ปักหลักถักทอสายใยศรัทธา

สติ ปัญญา เจริญงอกงาม ช่วยกันรดน้ำ พรวนดิน

ต้นไม้ที่พ่อปลูก… ด้วยสองมือเท้าและหนึ่งหัวใจของเรา

เต็มไม้ เต็มมือ เต็มร้อย เต็มใจ

เต็มที่ เติมเต็มงานพระพุทธศาสนาไพบูลย์

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๒๙.  ให้เลือดเข้มข้น ให้ใจเข้มแข็ง

 

ณ สถานที่ประสูติสวนลุมพินีวัน

ซึ่งถือว่าเป็นแดนกำเนิดพระพุทธศาสนา

พระศาสดามหาบุรุษได้ถือประสูติที่นี่

ให้ท่านทั้งหลายตั้งจิตตั้งใจให้ดี

ทำงานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

รักษาเลือดศากยบุตรในใจเข้มข้น ให้มีกายที่เข้มแข็ง

การงานจึงเริ่มต้นที่ปลูกศรัทธาสู่ปัญญามหาศาล

ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติงานกับการปฏิบัติธรรมจึงแยกกันไม่ออก

แม้หลายใครจะมีเหตุผลที่เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ (เพียงใดก็ตาม)

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๐.  คิดให้ได้ อ่านให้ออก บอกให้ถูก

 

งานทุกอย่างของแต่ละแผนกต้องคำนึงกรอบนโยบาย

ทำงานต้องมองภาพรวมให้ออก

หลายครั้งที่ผมเน้นเรื่องนี้ เป็นหลักที่ต้องจับไว้

ถึงขนาดต้องเกาะติดสถานการณ์ วิเคราะห์ เจาะประเด็น

คิดให้ได้ อ่านให้ออก บริหาร จัดการงานให้ลงตัว

แบ่งโซน แบ่งกอง แบ่งหน้าที่กันไป

แม่งาน แม่แรง เจ้าภาพ ทิศทางของงาน เครือข่ายเชื่อมโยง

สงวนจุดต่าง  ประสานจุดร่วม หาจุดที่ลงตัว

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๑.  ภูผาหิมาลัย ย่อลงในหัวใจคนทำงาน

 

สมณศากยบุตร ณ แดนผาหิมาลัย

ถึงจะห่างเมือง ไกลฐานบ้านเกิด แต่ขอให้ภูมิใจเถิดว่า

กาย วาจา ใจเราได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า

สวมหัวใจสิงห์ปฏิบัติงานตอบบุญแทนคุณพระพุทธศาสนา

ในหิมวันตะประเทศ มิหวั่นพรั่นพรึง

เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

หิว กระหาย ชาติหนึ่งอย่างน้อยสัก…ครั้ง…

จะมีสักกี่รูป…อย่างพวกเรานี้

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๒.   การปฏิบัติงานคือการปฏิบัติธรรม

 

การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม

หมุนไปสู่อริยมรรค เข้าหลักอริยผล

จักต้องหมั่นภาวนา ทำให้มี ทำให้เป็น

ทำให้ดีขึ้นในการงานหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ

พระพุทธองค์ทรงสอนมิให้สันโดษในการทำความดี

ดีต้องพัฒนา ความดีอย่าหยุดแค่ดี (แค่นี้) ก็น่าจะพอแล้ว

แต่ดี ต้องเจริญ พัฒนา

เพราะในเนื้อแท้ของความดี

คือ เพชรที่ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา มีค่ามหาศาล

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๓.  งานนี้คือบุญของเรา

 

ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า จะไม่ท่วมทับ

หรือสิงสถิตย์ใจของพระผู้ปลูกฉันทะในการทำงาน

ด้วยตั้งจิตว่า “งานนี้คือบุญของเรา คนให้งานมีคุณกับเรา”

แม้จะเดินเก็บขยะ ชิ้นเล็กๆ แต่กลับยิ้มน้อย ยิ้มใหญ่ ไม่เคอะเขิน

เพราะคนที่ตั้งจิตถูกกลับมองว่า

“นี้เรากำลังเดินเก็บบุญอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน” สุขแค่ไหน?

หรือกระทั่งล้างห้องน้ำ – ห้องสุขาอยู่

กลายเป็นการล้างจิต ล้างใจ จนวาววับ เรืองรอง เปล่งรัศมี

เพื่อรับบุญ ยิ้มแย้ม แจ่มใส เหนือเงื่อนไขใดๆ ทั้งปวง

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๔.  ปัญญาแท้มีไว้แก้ปัญหา

ปัญญาเทียมมีไว้สร้างปัญหา

 

งานทุกอย่างต้องตั้งมาตรฐานไว้ แล้วพัฒนาคนให้มีคุณภาพ

โดยขยับ ปรับ ตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ตั้งเอาไว้

ตามหลักไตรสิกขา คือ วงจรแห่งการเรียนรู้

 

ศีล คือ การจัดระบบ โครงสร้าง

พัฒนาศีลให้ถึงขั้นสูงสุดเข้าถึงภาวะปกติ

 

สมาธิ คือ หลักการบริหารภายใน ตั้งจิตให้มั่นและถูกต้อง

หล่อเลี้ยงระบบให้ดี

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๕.  ค่อยเรียนรู้และเลียนแบบ

 

การทำงานต้องเข้าใจถึงระบบ เข้าถึงเครือข่าย

พัฒนาบุคลากรในสายงานให้มีคุณภาพ

เพื่อให้เข้าถึงมาตรฐานงานที่ตั้งไว้

โดยมีหลักใหญ่ที่ต้องคำนึงคือกรอบนโยบาย

เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญขององค์กรหรือหน่วยงานนั้น

จะตีความแตกต่างจากหลักแม่บทไม่ได้

การทำงาน จึงต้องศึกษางาน พิเคราะห์งานให้ทะลุ แทงตลอดสาย

 

ค่อยๆ เรียนรู้และเลียนแบบตามทางที่ท่านวางและเดินไว้ดีแล้ว

งานจึงเป็นสมบัติอันประมาณค่ามิได้

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๖.  งานดีได้ เพราะคนดีทำ

 

งานการทุกอย่างให้ตั้งเป้าหมาย รวมถึงความสำเร็จเอาไว้ในใจก่อน

ภาวนาทรงไว้ในใจ นี้เรียกว่าการบริหารภายใน

ให้ภายในมีฉันทะ มีความสุข ยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่มีกลางวันกลางคืน

ทางโลกใช้วิธีการนี้เพิ่มเสน่ห์ ซึ่งมักจะได้ยินว่า

 

“งามจากข้างใน งามใจ งามกาย

งามเป็น งามตาย งามมีความหมายในตัวงาม”

 

เมื่อภายในที่ตั้งของจิตแล้ว ให้เอาหลักการของพุทธเจ้ามาใช้

คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มาบูรณาการกับกาย วาจา  ใจ

งานทั้งหลายก็งดงามสูงส่ง เรียกว่า

 

“งานดีได้ เพราะคนดีทำ

งานเป็นตัวนำ คนทำเป็นตัวกำหนด”

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๗.  ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว

 

งาน คือ ชีวิต ชีวิต คือ งาน

ใครรักงานคนนั้นก็รักชีวิต ใครชังงานคนนั้นก็ทำร้ายตนเอง

ฝากข้อคิดว่า “ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัง”

แน่นอนว่างานของสมณผู้หวังความเจริญ

ย่อมไม่คั่งค้าง สับสน แต่อุดมด้วยระเบียบแบบแผนที่ท่านวางไว้แล้ว

ก้าวต่อก้าว ตามรอยเท้าผู้ใหญ่ฝ่าค่ายกลไปสู่ความเจริญ

ตกแถวไม่ประกันความชอกช้ำ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๘.  สูงส่ง สง่างาม ตามสูตร

 

ขอย้ำหรือพูดกันให้เข้าใจอีกสักหนว่า

ในการทำงานต้องจับหลักที่การตั้งมาตรฐานไว้เป็นจุดเริ่มต้น

ก่อนเคลื่อนขบวน และการพัฒนาคนให้ได้คุณภาพ

งานจึงเป็นการจัดรูปแบบ ปรับกระบวนท่า

เสริมสร้างศีล สมาธิ ปัญญา

พัฒนากาย วาจา ใจ ให้พระเป็นอัญชลียะบุคคล

ควรค่าแก่การกราบไหว้ ด้วยความสูงส่งและสง่างาม

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๓๙.   ปณิธานอันหาญกล้า สู่พระศาสดาสายตรง

 

คิดแล้วก็น่าใจหาย หากชั่วโมงนี้เราไม่ช่วยกันอย่างเต็มไม้ เต็มมือ

เต็มปาก เต็มคำ สนองงานและสานงานต่องานพระพุทธศาสนา

มิเช่นนั้นพุทธศาสนิกชนอาจถูกศาสนาอื่นแย่งไป

บนถนนสายประเสริฐแห่งเพศสมณภาวะนี้

งานการทั้งหลายทั้งปวงให้น้อมถวายเป็นพุทธบูชา

 

“ข้าพเจ้าทั้งหลาย จักตั้งใจศึกษา

จักตั้งใจปฏิบัติ ตามคำสั่งสอนของพุทธองค์ฯ”

หวังว่าพวกเราเจ้าท่านจักไม่ลืมปณิธานอันหาญกล้านี้

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๔๐.   มุมกล้อง มุมงาน มองผ่านกรอบ

 

งานการทั้งหลายให้ตั้งอยู่บนประโยชน์

ควบคู่กับความเรียบง่าย (แต่ดูดี)

 

ครั้งหนึ่งโยมเคยนิมนต์ผมไปฉันภัตตาหาร

ที่ภัตตาหารแถวสวนลุมพินีเนปาล เจ้าของร้านเป็นชาวญี่ปุ่น

ที่ประทับใจไม่ใช่อะไรหรอก คือ ผมมองจากข้างนอก

นึกว่าข้างในร้านจะไม่มีอะไร ที่ไหนได้ข้างในอัดแน่นด้วยมาตรฐาน

และคุณภาพตามสไตล์ญี่ปุ่น หรูหรา

งดงาม ละเอียดลออ บรรเจิดจริง ๆ

 

ที่ผมปรารภอย่างนี้ก็อยากจะปรับทัศนะคติต่อการคำว่า “งาน”

ซึ่งคนทั้งหลายมองว่าเป็นเรื่องเหนื่อยหนัก (อักโข)

แต่อยากให้ท่านเข้าชมดูเนื้อแท้ของงาน

เหมือนกับผมเข้าไปในภัตตาคารดังกล่าว แล้วท่านก็จะพบว่า

ความหมายของ “งาน” ในมุมมองของคนไม่ทำงาน

จะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับมุมมองของนักทำงาน

เพราะแท้ที่จริงเพชรน้ำดีก็คือ งาน (ที่ท่านกำลังทำอยู่)

จงช่วยกันค้นและคว้า (ให้ได้)

เอาเพชรมาประดับกาย วาจา ใจ ให้สง่างามเถิด

 

 

ปัญญา คือ การใช้ และการแก้ปัญหา

หลักการดังกล่าวเป็นวิธีการของพระพุทธเจ้า ตามหลักไตรสิกขา

งานการทุกอย่างจะไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่บ่นร้องทุกข์

ที่สำคัญไม่เจริญ จะไม่มี

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

๔๑.  โชคเราสร้าง วาสนาเราทำ

 

ถ้าหากแต่ละแผนกสามารถวางระบบ จัดระเบียบ

เพรียบพร้อมด้วยคุณภาพ

งานที่ได้รับมอบหมายก็แทบไม่ต้องกังวลเลย

เป็นเพียงแค่การเรียงร้อยสติปัญญา

ถักทอผลงานออกมาตรงตามความประสงค์และเป็นไปตามมาตรฐาน

อุดมการณ์ อย่าหวั่นไหว ถดท้อ น้อยใจในโชควาสนา

ถ้าต้องการโตไปในวันข้างหน้า ต้องกล้าทำงานใหญ่

 

ท่านครับ…”โชคเราเป็นคนสร้าง วาสนาเราเป็นคนทำ

กรรมเราเป็นคนเสวย” อย่าเฉยๆ รอให้ราชรถมาเกย…

คิดเช่นนั้นย่อมเชยแท้ๆ

จะคิดทำงานใหญ่มัวกังวลอยู่ได้ แม้ตายแล้วยิ่งไม่ได้ทำ

รอให้เกิดใหม่คนอื่นก็ชิงทำไปก่อนแล้ว

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

             ๔๒.  หัวใจสิงห์จึงยิ่งใหญ่ หัวใจเสาะจึงเปราะง่าย

 

งานสิ่งใดต้องให้ใจเป็นประธาน เป็นใหญ่ในการทำงาน

ต้องเป็นประเภทพระหัวใจสิงห์

หากใจเสาะ ใจปลาซิว ปลาสร้อย ก็ทำอะไรไม่สำเร็จแน่

ทำท่าทำทางไปอย่างงั้น (แต่ไม่คือ) หัวหดตดหาย

เดี๋ยวก็ไข้ เดี๋ยวก็ไอ ปวดหัว ตัวร้อน เจ็บแข้ง เจ็บขา

สารพัดสารเพประเดประดังเข้ามา

หากไม่รีบรักษาอาจลุกลามใหญ่โต ที่สำคัญจะลามปาม

เพราะเสนียดจะเข้าสู่ จัญไรจะเข้าสิง

ใครหว่า…จะกล้าเข้าใกล้ งานที่ไหน…จะกล้าเข้าหา (ล่ะ! หลวงพี่)

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@ 

 

 

๔๓.  ขุมทรัพย์ทางปัญญา

 

พระนักทำงานอย่างพวกเรา ต้องใจใหญ่จึงได้ทำงานใหญ่

ทำงานสิ่งใด ต้องใจกว้างสุด () จึงจะได้อยู่ที่กว้าง

ทำงานอยู่กับมนุษย์ ต้องให้มนุษย์นี่แหละมาช่วยงาน

อย่ามัวแต่ฝันหวานบานเบอะ ฝันลมๆ แล้งๆ

ฝันกลางวัน ฝันไปเรื่อยเปื่อย

มีงานอะไรก็อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง

จงมุ่งหาหนทางทำให้เสร็จตามที่ผู้ใหญ่มอบหมาย

เพราะ “งาน คือ ขุมทรัพย์”

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๔๔.  ความกลมกลืนในความแตกต่าง

 

งานจะเกิดขึ้นได้ต้องมีเจ้าภาพ เป็นผู้รับผิดชอบ

เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นเจ้าของงงาน

ส่วนระบบการทำงานให้ใช้หลักเอกภาพ คือ

ต้องมองงานเป็นจุดสายตาอันเดียวกัน

ความแตกต่าง แต่ไม่ใช่ความแตกแยก

ทำงานกันเป็นทีม มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน

ภายใต้กรอบนโยบาย บนพื้นฐานของความเจริญ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๔๕.  เก่ง ดี และมีสุข ทำงานสนุก ทุกข์หนีไปเอง

 

ท่าน…เอย

งานการของบัณฑิตผู้หวังความเจริญนั้น

ต้องมีความรู้ที่เพียงพอแก่การใช้สอยในงานนั้นๆ

อย่าให้น้อยขัดสน จนไม่มีจะใช้

อย่าให้มากจนรกรุงรังกีดขวางทางจราจร

ที่สำคัญจะต้องมีนิสัยดีด้วยถึงจะไปได้สวย

ดังกล่าวนี้เป็นวิชาปักหลักในหัวใจคน

เป็นวิชาทำงานร่วมกับคน เข้าลักษณะที่ว่า “เก่ง ดี และมีสุข”

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๔๖.  ไตรลักษณ์กับการทำงาน

 

การทำงานต่างๆ ให้คำนึงถึงกฎไตรลักษณ์

อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

ดูแลในการทำงานให้มีการขับเคลื่อนด้วยความไม่ประมาท

สู่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีๆ

ทุกขัง คือ ความเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้

การทำงานก็เช่นเดียวกันก็ย่อมมีปัญหา

แต่ปัญหาจะทนอยู่ไม่ได้โดยอาศัยความไม่ประมาทมาหล่อเลี้ยง

อนิจจังในระบบการทำงาน

สติปัญญา ความรู้ความสามารถแสวงหามาเพื่อแก้ทุกข์ ดับปัญหา

โดยตั้งมาตรฐานแล้วพัฒนาคุณภาพให้ได้ตามนั้น

อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน

ให้มีแต่ตัวงาน หน้าที่ คุณธรรม เกียรติ

รวมทั้งความสำเร็จของพระศาสนา

ต้องยังความไม่ประมาทเพื่อก้าวล่วงปัญหา

ด้วยปัญญาเหนืออัตตาตัวตน เช่นนี้การทำงานสำเร็จโดยไม่ยาก

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๔๗.  กิ้งก่าปรับตัวได้ จึงไม่ตายเหมือนไดโนเสาร์

 

ในการฝึกฝนและขั้นตอนการเรียนรู้งาน ต้องเข้าใจถึงระบบการทำงาน

โดยปรับผู้ทำงานให้เข้ากับระบบ มิใช่ปรับระบบให้เข้ากับผู้ทำงาน

ลักษณะนี้เปรียบได้กับการปรับสีของต้นไม้ให้เข้ากับกิ้งก่า

(มัน) จะเป็นไปได้ไหม?

มีแต่กิ้งก่านั่นแหละจะต้องปรับสีให้เข้ากับต้นไม้

เป็นการปรับ (ตัว) ให้เข้าเป็นระบบ

(เช่นเดียวกัน) นิเวศวิทยาที่ธรรมชาติจัดสรร

 

การทำงานก็เช่นเดียวกัน ต้องปรับ (ตัวผู้ทำงาน)

ให้เข้ากับระบบทำงาน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

ดูกรอบนโยบาย และที่สำคัญต้องเชื่อมกับผู้บริหาร

แล้วบูรณาการจะเกิดขึ้นเองโดยอาศัยเหตุปัจจัยนั้น

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๔๘.  กาย วาจา ใจ เป็นกำไรก็ได้ ขาดทุนก็มี

 

การงานที่มีความพร่อง หมายถึง ระบบงานยังไม่ Smooth

คนทำงานยังไม่ Bright และไม่ (ยอม) Smart อาจหาญร่าเริง

ลักษณะกายยังผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง

ทำงานบ้าง ไม่เอาถ่านบ้าง (เยอะ)

วาจา ยังอ้อมๆ แอ้มๆ หรือไม่ก็ทะเล่อทะล่า

โพล่งขึ้นมาไม่รู้จักกาลเทศะ

เวลาให้ดังกลับซุบซิบ ซุบซิบ เวลาประชุมกลับเงียบกริบ

ประชุมเสร็จเสียงจ๋อยๆ ใจยังพร่องอยู่

ขยะในใจยังกองพะเนินเทินทึก ไม่ยอมปัดกวาดทำความสะอาด

 

ดังนั้นการทำงานต้องคำนึงหลักนี้ด้วย

คือหลักการพัฒนากาย วาจา ใจ

ให้เข้าถึงสาระ (สำคัญ) ของงาน

“เบิกบานได้ทุกที ดีได้ทุกเวลา”

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๔๙.  เฝ้าพระบรมศาสดา ฟังเทศน์เช้าเย็น

 

ทุกวัน เราท่านสวดมนต์เช้าเย็น

นักพรตคนขยัน บำเพ็ญสมณธรรมเจริญจิตภาวนา ทำจิตใจให้สงบ

กำหนดทิศทางของชีวิต ลิขิตกาย วาจา ให้เรียบร้อย

ให้ใจมีความตั้งมั่น ไม่ตีบ ไม่ตัน ยิ้มแย้ม แจ่มใส

ปัญญาสว่างไสว ส่องกลางใจ เพื่อฝ่าฟัน ผ่านพ้นอุปสรรคให้ก้าวล่วง

ถวายเสียงสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยด้วยใจเบิกบาน

เต็มปากเต็มคำ

ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น

จงริเริ่มและสานต่อคุณงามความดีถวายเป็นพุทธบูชา

ก็สุขล้นจนเกินที่จะบรรยายฯ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๐.  หยาดเหงื่อจากแรงกาย หยาดน้ำใจจากแรงศรัทธา

 

ทุกย่างก้าว ทุกฝ่าเท้าที่เหยียบดิน

สมณผู้วิเศษต้องสามารถแปลงร่างทำอะไรต่อมิอะไรได้ทุกอย่าง

หยาดเหงื่อ แรงกาย ใจศรัทธา จึงจะเย็นสบาย

ร้อนแค่ไหนก็ชุ่มเย็น หิวแค่ไหนก็บรรเทา กระหายเพียงใดก็ไม่เศร้า

หนักเท่าไหร่ก็จะเบา เหนื่อยเพียงไหนจะไม่ท้อ

 

“สายน้ำไหลแรงเพราะความสูง

คนศรัทธาแรงเพราะมีปัญญา คิดไกล ใจกว้าง ใฝ่สูง”

 

ใครสามารถนำมาใช้ ได้ดีกันทุกคน

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๑.  ด้วยสำนึกว่าเราเป็นหนี้พระพุทธเจ้า

 

ด้วยสำนึกว่าพระพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอนันต์

พระองค์ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาขึ้นด้วยพระหัตถ์

และปฏิบัติด้วยพระองค์เอง

ดังนั้นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาลนี้จะยากหรือง่าย

ขึ้นอยู่กับความตั้งใจในฐานะที่เราเป็นหนี้ศาสนา

เป็นหนี้พระพุทธเจ้า เป็นหนี้พุทธบริษัท

ว่าจะแกร่ง เก่ง กล้า สามารถกันเพียงใด

หรือพอพบความยาก ความลำบาก

พบช่องทางก็เผ่นแนบแล้ว…หรือไม่?

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

๕๒.  ทหารเอกของพระพุทธเจ้า

 

ทหารเอกของพระพุทธเจ้า

ตอบคำถามตัวเองได้หรือยังว่า หนักไม้ หนักมือ กันเพียงใด

ในการงานหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบมอบหมาย

เพราะงานเป็นพลังเมตตาที่ผู้ใหญ่มีต่อเรา

ถ่ายทอดแบบอย่าง ประสบการณ์ทางเดิน

ปรับนิสัยใจคอ บุคลิกท่าทาง ให้รักงาน หวงแหนพระพุทธศาสนา

เพียรเพื่อพุทธศาสน์ด้วยสำนึกและวิญญาณอย่างแท้จริง

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๓.  สรีระที่ปราศจากวิญญาณ

 

สิ่งที่สำคัญ พระนักทำงานต้องปลูกฉันทะในหน้าที่

ทำงานด้วยศรัทธาและใจรัก

ปรับมุมมองก่อนทำงาน ขณะทำงาน และหลังการทำงานว่า

 

เจตนา งาน รวมทั้งผลงานที่ออกมามิใช่เพื่อตัวเอง

แต่ให้มองทะลุมิติ  แทงตลอด  ถึงหน้าที่ของพระสงฆ์

ผู้ต้องตอบบุญ แทนคุณพระศาสนา

 

ถ้าขาดหัวใจตรงนี้ก็ไม่แตกต่างกับความตายซากของร่างกาย

ที่มีแต่สรีระ หากปราศจากวิญญาณ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๔.  ปัญหาสร้างคนเก่ง ปัญญาสร้างคนดี

 

งานทุกอย่างต้องมีการตั้งปัญหาในการทำงาน

เพื่อจะได้สาวให้เห็นภาพรวม

จึงต้องมีการคุยกันเพื่อปรับ ตีกรอบ

และเรียนรู้เป้าหมายเพื่อขยายผล

 

ปัญหา คือสิ่งสะท้อนของบุคคลผู้ทำงาน

เพราะนักทำงานย่อมจะเจอปัญหาในงานที่ทำอย่างแน่นอน

แต่จะเป็นบทพิสูจน์คนทำงานให้สร้างปัญญา

 

แล้วปัญหาจะสร้างคนให้เป็น “บัณฑิต”

คือ ผู้รู้ทุกข์และมรรคคือเครื่องดำเนินไปสู่การดับทุกข์

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๕.  รูปแบบและสาระ คือชัยชนะของนักทำงาน

 

การปฏิบัติงานสิ่งใดให้คำนึงถึง รูปแบบ

คือ พระวินัย กรอบ แบบแผน ให้มีวินัยเป็นที่ตั้งของการทำงาน

ต้องมีรูปแบบที่สวยงาม เพื่อป้องกันบุคคลที่เก้ออยาก

ว่ายาก สอนยาก รูปแบบจึงต้องปรากฏออกมาข้างนอก

คือ กาย วาจา ที่เรียบร้อย

นอกจากต้องคำนึงถึงรูปแบบแล้ว

ต้องให้จิตสัมผัสถึงสาระของรูปแบบ เป็นการปฏิบัติทางจิต

ให้เพลิดเพลินในธรรม ในการทำงาน

ขวนขวายให้กาย วาจา ใจ งามพร้อม

ทั้งข้างนอกและข้างใน สุกใสแต่ไม่เป็นโพรง

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๖.  มองให้ไกล ทำให้ใกล้ คือหัวใจผู้นำ

 

พระโพธิสัตว์ถือประสูติกาล ณ สวนลุมพินีวัน

ได้เปล่งพระอาสภิวาจาว่า

“เราจะเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก เจริญที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก

ชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้ายของเรา ภพใหม่ต่อไปไม่มี”

 

จากพระอาสภิวาจาดังกล่าว

จึงเป็นการหลักของการมองให้ไกล ทำให้ใกล้

เป็นแบบแผนการทำงานของพระโพธิสัตว์

เป็นแบบอย่างการทำงานของพระผู้ประสบความสำเร็จสูงสุด

ในฐานะศาสดาเอกของโลก

พระองค์มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ พระโพธิญาณ

มีแผนงานที่แน่นอนคือการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการให้เต็มพร้อม

โดยเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ๆ คือเริ่มต้นที่พระองค์เอง

อาศัยเวลา ๔ อสงไขยแสนมหากัปป์

จึงได้บรรลุเป้าประสงค์ที่พระองค์วางไว้

 

เราเจ้าท่านเมื่อศึกษาพุทธประวัติจึงได้ทราบข้อนี้

ขอให้น้อมเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจขณะทำงานว่า

เรามีเป้าหมายการทำงานหรือยัง? แผนงานมีหรือเปล่า?

อย่าเริ่มต้นในสิ่งไกลตัว ยิ่งไปกว่านั้น “อย่าแก้ตัว ให้แก้ที่งาน”

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๗.  มองทั้งกระดาน บริหารทั้งระบบ

 

ถ้าเปรียบการทำงานดังเช่นการเล่นหมากรุก

หมากรุกต้องใช้สมองอย่างยิ่งยวด

งานก็ต้องใช้ปัญญาอย่างมหาศาล

 

หากหมากรุกต้องมองทั้งกระดาน

การทำงานก็ต้องมองภาพรวม

 

หากหมากรุกมีทั้งรุกและรับ

การทำงานก็ต้องปรับคุณภาพสู่มาตรฐาน

และต้องรับได้ทุกสถานการณ์ แก้ปัญหาในงานได้อย่างเข้าใจ

หากหมากรุกต้องรู้เขารู้เรา จึงจะชนะ

การทำงานของพระต้องพินิจพิเคราะห์ แทงตลอดสาย

การงานต้องเริ่มจากสิ่งใด ประสานงานไปให้ลุล่วง

ด้วนใจจริงและมั่นคงฯ

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๘.  งานหนุน เป็นสงฆ์มีค่า เพราะงานที่ทำ

 

พระสงฆ์เราที่สังคมยอมรับและยกย่อง

ต้องมีความขวนขวายในงานของพระศาสนา

มีทีมงานที่แกร่ง ทำงานเข้าเป้า เข้าตา

ชีวิตพระก็จะดีไปเอง และด้วยการงานนั้นนั่นเอง

จะทำให้ความรู้ ความสามารถ อยากมาอยู่ด้วย

เพราะความรู้ ชอบพระนักทำงาน ความรู้คู่คนทำงาน

งานจึงพาไปสู่ภพที่ดี ภูมิที่สูงส่ง เป็นความสำเร็จที่งดงาม

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

๕๙.  ความเหมือนที่แตกต่าง ความเหินห่างมีความแตกแยก

 

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นโดยไม่ยาก

หากการทำงานมี “แปลนนิ่ง” (planing)

การวางแผน ขั้นตอนการทำงาน จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติตามแผน

หนึ่ง สอง สาม สี่ ในที่สุดก็จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

อีกประการหนึ่ง ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้โดยยากลำบาก

หรือไม่อาจจะไม่เกิดขึ้นเลย หากการทำงานมี  “แปลน (แน่) นิ่ง”

คือ แปลนนิ่งจนเกินไป ไม่ขยับตามแผน ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน

ที่สำคัญนิ่งจนไม่ทำอะไรเลย

ในที่สุดก็จะบรรลุเป้าหมายที่ไม่ (เคย) วางไว้

คือ ความบรรลัยอย่างแน่นอน

 

ดังนั้น แปลนนิ่ง กับ แปลน (แน่) นิ่ง

จึงเป็นความเหมือนที่แตกต่างทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@ 

 

 

ขอสงวนสิทธิ์

ห้ามคัดลอกเนื้อหาและบทความ เพื่อจัดพิมพ์จำหน่าย

 

 

_______________________________________________________________________


อยากอ่านเรื่องราวแบบเต็มอิ่ม พร้อมภาพประกอบสวยๆ
สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่

มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย
373/4-5 ซอย รามคำแหง 39 (เทพลีลา แยก 7) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โทร. 02-1844539-41

 

หนังสือดี ต้องมีเก็บ

 

อย่าลืมไปหามาอ่านกันนะคะ




งานเขียนพระธรรมโพธิวงศ์

สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๒
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๓
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๔
ร้อยมุมมอง ส่องอินเดีย
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๑)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๒)
ร้อยวาทะ...ธรรมะปิดทอง (๓)
อินไอเดีย
พระราชรัตนรังษี ในบ้านเกิดพระพุทธเจ้า
เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา
วิสัยทัศน์การเผยแผ่ในแดนพุทธภูมิ...พระราชรัตนรังษี
อินเดียในมุมมองของบุคคลสำคัญ
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."เกี่ยวกับผู้เขียน" พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทโธ)
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนพิเศษ..."วาทะ ๑"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๕.... "นาลันทา"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๖..."แผ่นดินมคธ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๗..."เขาคิชฌกูฏ"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๘ ...."เมืองปาฏลีบุตร"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๙ .... "นครเวสาลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๐ .... "นครสาวัตถี อาณาจักรโกศล"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๑ .... "มหานครเดลี"
สู่แดนพระพุทธองค์ ตอนที่ ๑๒ .... "เมืองกัลกัตตา"



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang