อินเดียที่ฉันเห็น (เดลลี-มะนาลี-ลาดัคห์-แคชเมียร์) 8 - 21 กรกฎาคม 2551
ReadyPlanet.com
dot dot
อินเดียที่ฉันเห็น article

บันทึกโดย : "ซ้อสี่" (พี่อ้วน-วันเพ็ญ)
เรียบเรียงและภาพโดย :  "สาริศา"

 

อินเดียที่ฉันเห็น

8-21 กรกฎาคม 2551 เดลลี-มะนาลี-ลาดัคห์-แคชเมียร์

 

 

ฉันได้ตัดสินใจที่จะเดินทางไปอินเดียด้วยคำเชิญชวนของกานดาและกัลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เผอิญได้มีโอกาสอ่านบทความในหนังสือเล่มหนึ่งโดยผู้เขียนคือ คุณอ้น (สราวุธ ดาราหนึ่งในดวงใจ) กล่าวถึงการเดินทางไปสัมผัสกับธรรมชาติและภูเขาสูง หมู่บ้านชาวธิเบตน้อยและทะเลสาบพันกอง นี่คงเป็นสัญญาณหนึ่งที่รู้สึกว่าเค้าคงอยากให้เราไปชื่นชม

ต้นเดือนพฤษภาคม ได้ยืนยันว่าจะเดินทางแน่นอน ในขณะนั้นจำนวนลูกทัวร์ที่ยืนยันคือ 4 คน กานดาและเพื่อน กัลและเรา และก็ได้รับข่าวว่าจะมีผู้ร่วมเดินทางอีก 4 คน จนถึงปลายเดือนมิถุนายนจึงได้พบกับปลาและนุ้ยจากวันแรมทาง (บริษัททัวร์ที่จะไปด้วย โดยข้อมูลที่ได้รับคือ ปลาเป็นนักเรียนอินเดียถึง 7 ปี) และยืนยันลูกทัวร์ 10 คน แล้วยังได้รับข้อมูลในการเตรียมตัวเดินทางว่าอากาศจะเป็นอย่างไรในช่วงที่จะไปเที่ยว (ร้อน, เย็น, ฝนตก....)

ใกล้วันเดินทาง ตื่นเต้นเพราะว่าเป็นการเดินทางระยะยาว(หมายถึงไปเที่ยวนะ) และสถานที่ไปก็ไม่รู้จักดีด้วยด้วยเอง (ไม่ทำการบ้านเลย เพราะว่ากัลและดาคงมีข้อมูลเพียบ) ถึงแม้ว่าจะ search จากอินเตอร์เน็ทและก็ได้รับคำเตือนว่าที่ๆ จะไปอยู่สูงจากน้ำทะเลถึง 5,000 กว่าเมตร ด้วยความที่ไม่มั่นใจในความสมบูรณ์และความพร้อมของตนเอง วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม เลยไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ผลปรากฏว่าความดันสูง (145-95) เลยกะว่าจะขอยา แต่ด้วยความวุ่นวายในโรงพยาบาลและมีนัด เลยกะว่าจะไปแก้ปัญหาเอาข้างหน้า ไปเสี่ยงกันเลย วันอาทิตย์ก็จัดกระเป๋าแบบว่าเอาเสื้อไปเปลี่ยนถ่ายรูปทุกวัน ส่วนกางเกงก็เอาไปแค่ 3 ตัวพอ เสื้อหนาว 2 ตัว แต่เผอิญว่าวันจันทร์ กัลส่งเมล์มาว่าจะหนาวกว่าที่คาดเลยต้องเอาไปเพิ่มอีกตัว เฮ้อ! กระเป๋าก็เยอะเหมือนเดิม แถมไม่สามารถยัดถุงนอนไปได้ด้วย เออ..นอกจากจะต้องแก้ปัญหาร่างกายแล้ว ยังต้องแก้เรื่องนี้ด้วย ทนไหวไหมหนา

 _______________________________________

 

8 กรกฎาคม 2551 กรุงเทพฯ (BANGKOK) – เดลลี (DELHI)

 

หลังจากจัดการกับกระเป๋าในวันอาทิตย์และไปทำงานแบบน่าเบื่อในวันจันทร์ วันนี้เราก็ได้ฤกษ์ออกเดินทางไปเที่ยวแล้ว นัดกัน 11 โมง รวมพลพร้อมกันที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประตู 10 เคาน์เตอร์สายการบิน Indian Airline ทีมงานวันแรมทางจะคอยต้อนรับ และอำนวยความสะดวกในการ Check in บัตรโดยสารและโหลดสัมภาระ

 

 

 

เจอผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด 10 คน ชาย 1 หญิง 9 (รวมทีมงาน 2 คน) รายชื่อคือ พี่ฮุ้ง (สุวรรณี สามีอนุญาตให้มาเที่ยวคนเดียว ตัวเองอยู่เฝ้าบ้าน), พี่ปิติ + คุณเก (สามีและภรรยา มีลูกชาย 2 คน อายุ 14 และ 12 ปีตามลำดับ ปล่อยให้อยู่กันเองกับปู่-ย่า), พี่หนิง (จากโคราช, สามีเสียแล้ว เลยเป็นโสด), สายม่าน (ทำงานอยู่องค์การเภสัช), กานดา, กัล และเรา เช็คได้ที่นั่งกันแล้ว (สายการบิน Indian Airline เที่ยวบินที่ IC854 เวลา 13.30) แล้วก็เข้าไป shopping กันใน King Power Duty Free (แต่ก่อนเข้าก็หาของกินรองท้องกันหน่อย โชคดีที่เชื่อพี่ปิติ) พอเข้าไปก็ซื้อของ แล้วก็ไปรอที่ Gate F1 หลังจากนั่งรอถึง 13.30 น. พร้อมผู้โดยสารที่มากกว่า 95% เป็นคนอินเดีย คงมีแค่ 10 คนนี้แหละที่เป็นคนไทย หลังจากนั้นก็มีประกาศเครื่องขัดข้องแล้วจะแจ้งให้ทราบเวลาที่ออกต่อไป โอย! เกิดอาการโกรธปานกลาง แต่หลังจากนั้นก็มีประกาศว่าเครื่องจะออกเดินทางได้ (เป็นเวลา 14.30 น.) แล้วเราก็ออกเดินทางจริงเมื่อเวลา 15.15 น. ได้ไปเสียที ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.20 ชั่วโมง (เวลาในประเทศอินเดีย ช้ากว่าเวลาในประเทศไทย 1.30 ชั่วโมงพอดี)

 

 

 

 

            * ขอบอกเรื่องบนเครื่องบินเล็กน้อย เครื่องเล็กขนาด 3x3 แต่มี Business Class ด้วย ไม่มีโทรทัศน์และวิทยุ แอร์โฮสเตสแต่งชุดประจำชาติ อวบๆ แต่สวยงาม หน้าตาคมดี

            * กัปตันและหัวหน้าแอร์ไม่ค่อยมีใจในการให้บริการเลย ไม่ค่อยได้ให้ความรู้ในเรื่องเส้นทางการเดินทางและเวลา

            เราใช้เวลาในการเดินทาง 3.30 ชั่วโมง หลังจากครึ่งชั่วโมงผ่านไป แอร์โฮสเตสก็มาเสริฟน้ำ หลังจากนั้นอีกหนึ่งชั่วโมง (เวลาในไทย 5 โมงเย็น) เราก็ได้กินข้าวกลางวันบนเครื่อง เป็นข้าวหุงสีเหลืองกับแกงมัสมั่นไก่ มีสลัดแล้วก็ขนมเค็กด้วย อาหารโอเค ยังกินได้อยู่ แต่ระหว่างนั่งในเครื่องต้องผ่านอากาศแปรปรวน เครื่องสั่นเป็นช่วงๆ อาจจะมาจากเครื่องบินดีเลย์และช่วงนี้เป็นหน้าฝนพอดี

กัปตันประกาศจะร่องเครื่องลง เวลาที่เครื่องแตะพื้นบ้านเค้าคือ 18.30 น. เท่ากับบ้านเรา 2 ทุ่ม ผ่านด่านศุลกากรและตรวจกระเป๋าออกมาได้อย่างปลอดภัยทุกคน นั่งรถออกจากสนามบิน Indira Ghandi International Airport ไปโรงแรม Ambica Delux Hotel ผ่านถนนลาดยาง แต่ปลาบอกว่าต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ยังไม่เชื่อเพราะถนนค่อนข้างดี แต่หลังจากเจอของจริง เออ! คิดถึงตอนที่ไปอินโดเลย เพราะว่ารถเยอะมาก (รถเก๋งนะ ซึ่งมีหลายยี่ห้อ Hundai, Suzuki, TATA, Cheverolet etc..) และก็สามารถจัดการถนนที่มี 3 เลนให้เป็น 4 เลนได้ มีการใช้แตรรถกันอย่างมากมาย พี่ฮุ้งให้ข้อสังเกตว่า รถที่นี่ไม่ค่อยเปิดแอร์ ก็เออ..จริงอย่างที่ว่า แต่ก็หาเรื่องโจ๊กให้ขำขันกันว่า เพราะเปิดแอร์แล้วทำให้กระจกเป็นฝ้า ทัศนวิสัยไม่ดี ที่เดลลีเป็นหน้าฝน อากาศชื้นมากเลยและต้นไม้เยอะมาก แต่สังเกตได้ว่าไม่มีการจัดระเบียบต้นไม้เลย ปล่อยให้โตแบบตามบุญตามกรรม รถผ่าน Apartment ม่านบอกว่าตอนแรกนึกว่าเป็น Apartment ร้าง แต่ปรากฏว่ามีคนอยู่ ถ้าเป็นเมืองไทยคงไม่กล้าอยู่เพราะต้นไม้รก ไม่มีการจัดการเลย

ชมวิวกันจนไม่มีเรื่องจะคุยและฝ่าการจราจรจนในที่สุดก็ถึงโรงแรมโดยสวัสดิภาพ สภาพของโรงแรมระดับ 2 ดาว คล้ายๆ ตึกแถว (เหมือนกับที่เราไปเที่ยวที่นครวัด-นครธม) ใช้หนุ่มบริการอย่างเดียว เราค้างห้องเดียวกับพี่ฮุ้ง ได้ห้องเบอร์ 204 สภาพห้องก็โอเค มีแอร์ เตียงคู่ ดูสะอาดใช้ได้ โทรทัศน์มี UBC หลายช่องมาก พร้อมด้วยภาษาอินเดีย เข้าห้องพักประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ออกไปกินข้าวบรรยากาศดาดฟ้าเลย สมาชิกขาดแต่พี่ผู้ชายคนเดียวเพราะว่าแกรู้สึกไม่ค่อยสบายเลยกินขนมปังและยาแล้วก็นอน

ส่วนพวกเราก็กิน Full course เหมือนกัน มีซุป เปาะเปี๊ยะทอดไส้ผัก(อร่อยดี) แกงผักรวม แกงมัสมั่นไก่ไม่มีมันเทศ พร้อมกับข้าวและจาปาตี(โรตีแบบหนึ่งของอินเดีย) อาหารส่วนใหญ่เค็มจากการใส่เกลือ กว่ามื้ออาหารจะจบก็ปาไปสี่ทุ่ม (ที่บ้านเราก็ 5 ทุ่มกว่าแล้ว) รีบเข้าห้อง อาบน้ำแล้วนอนเลย (พี่ฮุ้ง บอกว่าเป็นคนทำอะไรช้า เลยให้อาบทีหลัง)

* โรงแรมนี้เสียงดังมากเลย แต่ก็ข่มตาหลับได้ แต่พี่ฮุ้งบอกว่าไม่ค่อยหลับ*


_______________________________________

 

9 กรกฎาคม 2551 เดลลี (DELHI) – มะนาลี (MANALI)

 

นัดกันตื่นตี 3.45 น.โดยพี่ฮุ้งตื่นก่อน แล้วเราตื่นตี 4 เพราะว่ามี morning call & wake up call จากเจ้าหน้าที่ ทุกคนพร้อมและตรงต่อเวลา แต่ยังกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักกระเป๋าที่จะ load เพราะโหลดกระเป๋าได้หนัก ไม่เกิน 15 กิโลกรัมเท่านั้น

 

 

 

ตี 4.30 น. ล้อหมุนออกจากโรงแรมมุ่งหน้าสู่สนามบินภายในประเทศ หลังจากมาถึงสนามบินก็โล่งใจ เพราะสายการบิน Air Deccan (สีแดงเหมือน Air Asia) อนุญาตให้ 20 กิโลกรัม ทำให้ผ่านการตรวจ โอเคเลยค่ะ หลังจากนั้นก็นั่งเล่นและกินอาหารเช้าเบาๆ กัน พอใกล้เครื่องออกก็เคลื่อนย้ายมาที่หน้า gate แต่ก็ delay อีกแล้วครับท่าน จากเวลา 6.55 น. เป็น 7.30 น. แล้วประกาศใหม่อีกรอบเป็น 8.45 น. ซึ่งสาเหตุเนื่องมาจากฝนตกหนักที่ Manali เมืองที่จะไปพอดี แต่พวกเราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ คงต้องรอต่อไป ตอนนี้เวลา 9.00 น. ได้รับการยืนยันว่าทางสายการบินขอ Cancel flight เนื่องจากว่าทัศนวิสัยไม่ดี พวกเราก็ตัดสินใจด้วยความไม่รู้และไม่อยากรอชะตากรรมจึงได้ออกเดินทางโดยทางรถยนต์แทน

พวกเรารับกระเป๋าคืน และกินอาหารเช้า+กลางวันเวลาประมาณ 10 โมง กินกันในสนามบินแหละ อาหารยังโอเคอยู่ เป็นบุฟเฟ่ต์ หัวละ 250 รูปี ระหว่างที่รอรถที่ทางปลาติดต่อไว้ เป็นรถโดยสารคันใหญ่ที่บรรจุคนได้ 11 คนรวมคนขับด้วย ออกเดินทางเวลา 11.00 น. มุ่งหน้าสู่ Manali อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเดลลี ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร เป็นทางตรงวิ่งธรรมดา 350 กิโลเมตร และทางคดเคี้ยว ขึ้นเขาอีก 265 กิโลเมตร ระหว่างทางได้เห็นวิถีการดำรงชีวิตของชาวอินเดียด้วย สภาพบ้านเมืองไม่นับว่ามีระเบียบมากนัก ไม่มีทางเท้า ขยะเต็มถนนเลย รถขับไม่มีระเบียบ แต่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย

ข้อสังเกต การขับรถที่นี่ไม่มีการใช้ไฟเลี้ยวเลย กลางวันถ้าจะแซงให้ใช้แตร (ด้านหลังรถบรรทุกจะเขียนว่า BLOW HORN หรือ HORN PLEASE) การออกรถจากถนนรองไปถนนหลักไม่มีการชลอ ออกมาแล้วก็กดแตรขอทาง รถมอร์เตอร์ไซด์ที่นี่มีศัพท์ว่า MTV หรือ Two wheeler ยังไม่มั่นใจว่าเรียกรถประเภทอื่นด้วยหรือไม่ มีการจำกัดความเร็วของรถบนถนนตามแหล่งชุมชน ส่วนถ้าไม่ใช่แหล่งชุมชนจะมีความเร็วที่เพิ่มขึ้น (รถเก๋ง 90 km/hr, รถบรรทุก 60 km/hr, Two wheeler 45 km/hr.)

 

 

 

ออกจากสนามบิน รถก็วิ่งออกจากเดลลี ผ่านแหล่งชุมชนย่อยๆ ซึ่งเนื่องด้วยการขับรถที่ไม่ค่อยมีระเบียบ ดังนั้นทำให้ใช้ระยะเวลาในการเดินทางยืดเยื้อออกไป แวะรับประทานอาหารกลางวันเวลาบ่าย 2 โมงกว่า อาหารมื้อนี้กินกันในโรงแรมชื่อ HAVELI อยู่ในเมือง Karnal จึงได้เรียนรู้ศัพท์เกี่ยวกับอาหาร 3 อย่างเผื่อต้องสั่งอาหารเอง เช่น จาวัล (ข้าวสวย), สับจี (แกงผักรวม) และ Chicken tandoori (ไก่หมักสมุนไพรย่าง) เป็นเมนูอร่อยสำหรับเรา

หลังจากมื้อนี้เราก็รีบออกเดินทางต่อ โดยมื้อเย็นทานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในเมืองที่มีระยะห่างจากมะนาลี ถึง 267 กิโลเมตร เราออกจากร้านอาหารเวลา 3 ทุ่ม ซึ่งคาดว่าน่าจะขับถึงมะนาลีตี 4 (จากคำบอกเล่าของคนขับ) แต่เนื่องจากสภาพชุมชนที่เล็ก ถนนเล็ก และรถบรรทุกมากมาย ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากและเชื่องช้า ไหนจะติด ไหนจะมีปัญหาสภาพรถที่ต้องหยุดจัดการ (ในที่สุดจึงได้รู้ว่ายางล้ออะไหล่รถหลุด หยุด 2 ครั้ง จนครั้งที่ 2 ต้องจัดการขั้นเด็ดขาดโดยนำไปมัดไว้บนหลังคารถ คนขับง่วงนอนและแวะพัก) พอถึงตี 2 กว่าๆ คนขับทนไม่ไหวขอนอน 2 ชั่วโมง จึงแวะพักที่โรงแรมระหว่างทางปล่อยให้แกไปนอน จนถึงตี 4 ครึ่ง แกกลับออกมาด้วยความสดชื่น และระหว่างทางช่วง 130 กว่ากิโลเมตรหลัง  เป็นเส้นทางเลียบเขา น่ากลัวถ้าต้องขับกลางคืน หลังจากหัวสั่นหัวคลอนกันมาหลายช่วโมง ในที่สุด พวกเราก็ถึงมะนาลีด้วยความสวัสดิภาพ


_______________________________________

 

10 กรกฎาคม 2551 มะนาลี (MANALI)

 

8.00 น. ขนของขึ้นห้อง 402 (Hotel Hillnass, Manali) พอเข้าห้องก็จัดการอาบน้ำสระผมทันที เพราะกะว่าจะต้องนอนค้างที่นี่ไม่เดินทางต่อแน่นอน

9.30 น. อาหารเช้าเสิร์ฟหน้าห้องเราเลย หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน เพราะว่าเสียงส่วนใหญ่ลงมติค้างที่นี่อีกคืนแล้วค่อยเดินทางต่อ

14.00 น. เริ่มมีกำลังแล้ว หลังจากได้นอนเอาแรงสัก 3-4 ชั่วโมง เริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวมะนาลีโดยสถานที่แห่งแรกที่ไปคือ Rainbow Trout Fish Farm ระยะทางค่อนข้างไกลพอสมควร สภาพบ้านเมืองก็ยังเก่า ถนนสายเล็กๆ และก็ฝุ่นเหมือนเดิม พวกเราได้ชิมปลาเทร้าท์ปรุงสดๆ เป็นอาหารกลางวันด้วย (นึ่ง, ย่างพร้อมหมักสมุนไพร และต้มแกงแบบอินเดีย) อร่อยดี เนื้อแน่น เนื่องจากว่าปลาชนิดนี้ต้องเลี้ยงในน้ำสะอาด และไหลอยู่ตลอดเวลา

 

 

16.00 น. หลังอาหารกลางวัน เดินทางไป Vashiht temple เป็นวัดฮินดู ที่มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่ในบริเวณวัด และมีนักบวชชาวไทย ชื่อ Bamboo baba แกอยู่ที่นี่มานานหลายสิบปี ต้องฝึกภาษาฮินดี ศึกษาศาสนาฮินดูจนสำเร็จเป็น Baba ได้ ไม่ได้กลับเมืองไทยมานานมากแล้ว


 

 

 

               หลังจากนั้นก็ไป Dhungri Temple ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชา Hadimba Devi เป็นวัดที่สร้างด้วยไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในมะนาลี ถ้าโชคดี อาจได้เห็นพิธีฆ่าแพะ บูชายัญ หน้าตาคล้ายวัดแบบญี่ปุ่น แต่เป็นวัดฮินดู อยู่กลางป่าสน แล้วปิดท้ายด้วยวัดธิเบต (ซึ่งเพิ่มมาจากตารางเที่ยวเดิม)

ประมาณทุ่มกว่าเดินทางกลับโรงแรม และรับประทานอาหารเย็นตอน 2 ทุ่มกว่าๆ สรุปกันว่าเพื่อไม่ให้เป็นการทำให้ตารางเที่ยวรวน พวกเราจึงตั้งใจจะยึดตามตารางเดิม ทำให้พรุ่งนี้ต้องออกเดินทางกันแต่เช้ามืด สรุปแล้วหลังอาหารเย็น ต่างแยกย้ายกันไปนอน

_______________________________________

 

 

11 กรกฎาคม 2551 มะนาลี (MANALI) – เลห์ (LEH)

 

ตี 2 ครึ่ง ทุกคนพร้อมแล้วที่จะออกเดินทางไป Leh พวกเราอำลา Manali กันตอนตี 3.10 น. ระยะทางระหว่างมะนาลีและเลห์ ประมาณ 471 กม. เรามุ่งหน้าสู่เลห์ด้วยรถจี๊บ 2 คันค่ะ มีไกด์ท้องถิ่นจากเลห์มารับพวกเรา 1 คนชื่อ ลามา อายุ 27 ปี ดังนั้นรถเรามีสมาชิกรวมคนขับ 6 คน คือ ดา, กัล. พี่ฮุ้ง, เรา, ปลาและลามา อ้อ! คนขับด้วย (ชื่อ Dessral) ส่วนอีกคันมี พี่ปิติ, คุณเก, ม่าน, พี่หนิงและนุ้ย คนขับไม่รู้ว่าชื่ออะไร ช่วงนี้อากาศเย็นค่ะ และท้องฟ้ายังมืดอยู่ พวกเราจึงขอนอนพักเอาแรงในรถก่อน






 

 

 

9.00 น. แวะพักรับประทานอาหารเช้าที่เมือง Koksar แล้วเริ่มออกเดินทางต่อทันที ทัศนียภาพตลอดทางเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าอัศจรรย์ สวยงาม น่าพิศวงสงสัยในธรรมชาติว่าสร้างสรรค์ได้อย่างไร เราขับรถผ่านเทือกเขามากมาย ที่จำได้คือ Rathong หมู่บ้าน Sussi ระหว่างทางไป Keylong ระหว่างนี้ช่วง กม.70 เราพบทะเลสาบ Deepaktal


 

 

            15.00 น. ถึง Sachu ที่ตั้งแคมป์ บริเวณนี้เป็นที่ราบระหว่างเขา สวยงาม ถนนค่อนข้างดี ฟ้าโปร่งสวย เทือกเขาสวย มีแคมป์เป็นระยะๆ อากาศกำลังดี ลมแรงเป็นช่วงๆ เราพักรับประทานอาหารกลางวันที่แคมป์ชื่อ Goldrop เป็น Noddle soup จาปาตีและเครื่องดื่มประเภทชา (มัสซาร่าไจ ชานมแขกใส่ซินนาม่อน) จากนี้ไปถึงเลห์ยังต้องใช้ระยะทางถึง 250 กม. ดังนั้นหลังอาหารกลางวัน เราจึงรีบเดินทางต่อ เรามองหลักกิโลเมตรข้างทางตลอด ลุ้นให้ถึงเร็วๆ

 

 

20.00 น. คนขับรถขอพักกินน้ำชาประมาณ 20 นาที ช่วงนี้อยู่ที่หลัก กม.160 และเราก็เริ่มมีอาการไม่ค่อยจะดีนัก เหมือนจะอาเจียร ปวดหัว จึงหาอาหารรองท้องไปพลางๆ และทานยาพาราเข้าไป นอนหลับไปจน 4 ทุ่ม มองหลักกม. อีกทีอยู่ที่ 116 โห!ยังอีกไกล ช่วงนี้รถไต่ระดับขึ้นไปอีกประมาณ 4,000 กว่าเมตร จึงได้รู้ว่ามีผู้ป่วยอยู่ในรถอีกคัน (คันเราก็โอเคดีกันทุกคน แข็งแรงค่ะ) พี่หนิงที่เป็น Mountain sickness ล้มไปเมื่อช่วงบ่าย สำแดงอาการ ม่าน อาเจียรเพราะว่าไม่มีอะไรลงท้อง พี่ปิติ เริ่มเวียนหัว จากน้ำในหูไม่เท่ากัน คุณเก มีอาการวิงเวียนเล็กน้อย สุดท้ายจอดรถลงมาตกลงกันท่ามกลางอากาศที่หนาวมาก สุดท้าย (ตามความคิดเห็นของคนขับ) ควรรีบเดินทางต่อให้พ้นจากระดับความสูงนี้ เพราะบริเวณนี้สูงราว 5,000 เมตร ยิ่งอยู่นานจะยิ่งแย่กันหมด ช่วงนี้มืดแล้ว แต่คนขับขับอย่างระมัดระวัง และทางไม่ค่อยดีเลย เราผ่านจุดที่ได้ชื่อว่าสูงเป็นอันดับสองแต่ไม่มีใครสนใจแล้ว เพราะว่าอยู่ในสภาพที่ไม่อยากจะรับรู้อะไร จึงเดินทางไปต่อ

_______________________________________

 

12 กรกฎาคม 2551 HEMIS FESTIVAL – SIGHTSEEING – SHOPPING

 

เราเริ่มขึ้นเขตเลห์ช่วงดึกมาก คนในรถตื่นกันแล้ว และยังต้องตะบึงกันต่อ จำได้ว่าจอดรถผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตอนประมาณตี 2 กว่าๆ พบคนนอนห่มผ้ากันที่หน้าร้านขายของ พวกเราผ่านด่านและขับอีกประมาณครึ่งชั่วโมง

ตี 3 ถึงหน้าโรงแรม Lumbini (Port Road) เสียที ลามาลงไปเรียกคนที่โรงแรมให้มาเปิดประตู อากาศเย็นมากเลย รู้สึกหนาวขึ้นมา แต่ก็ยังมีแรงที่จะเดินและช่วยกันขนของบางส่วนเข้าไปข้างในด้วยความเหนื่อยอ่อนและบ่นกันว่าไม่ไหวแล้ว จะขึ้นเครื่องกลับบ้างละ วันนี้ไม่ไปไหน ขอนอน และอื่นๆๆๆ ปลากับนุ้ยก็หน้าจ๋อยและเหนื่อย สุดท้ายก็จบลงที่ทุกคนได้ห้องและเข้าไปนอนกัน เรากับกัลและดาได้ห้อง 210 อยู่กัน 3 คน มีการเสริมที่นอน ก็โอเค แต่ก่อนนอนขออะไรอุ่นๆ กินหน่อย ดังนั้น เรากับดาเลยไปหาน้ำร้อนและโอวัลตินกินกันที่ห้องปลากับนุ้ย แหม! อุปสรรคยังมากเช่นเดิม ไฟดับอีก เฮ้อ! ทัวร์ทรหดจริงๆ เลย

หลังจากท้องอุ่น เราก็อาบน้ำและเข้านอน ยังจำได้ว่าปลากับนุ้ยบอกว่าจะเตรียมอาหารเช้าไว้ให้ตั้งแต่ 7 โมงเป็นพวกข้าวต้ม ใครตื่นก่อนก็ไปกินก่อนได้ ก็โอเค กะว่าจะตื่นสัก 9 โมงแล้วจะลงไปกินข้าว ใครไม่กินก็ตามใจ

 

 

 

9.00 น. ตื่นแล้วก่อนเวลาอีก แล้วก็นั่งเม้าท์กันเล่นๆ ในห้อง ปลาเดินมาเรียกบอกว่าพี่ๆ ลงไปกินข้าว 10 โมงนะ เพราะว่าพวกห้องอื่นเค้าตื่นกันหมดแล้ว อะไรหว่า? เมื่อเช้ามืดยังโวยๆ กันอยู่เลยว่าจะนอนตื่นสายๆ แต่ไหงกลับ ตา-ลา-ปัด ไปได้ ก็โอเคเร่งรีบกันอีกแล้ว กว่าจะลงไปได้ก็ปาไป 10.30 น. เป็นอาหารมื้อที่อร่อยที่สุดนับตั้งแต่เหยียบย่างมาอินเดีย เพราะว่ามีข้าวต้ม ผักต้มและหมูหยอง หมูฝอยที่เตรียมมาด้วย อิ่มอร่อยแล้ว อารมณ์สุนทรีย์ขึ้นเยอะเลย

11.00 น. ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับเจ้าของ land ที่นี่ (บริษัททัวร์ที่เราใช้ในทริปนี้) ชื่อ Mr. Sam (Mr.Rigzin) และสมาชิกใหม่ของกลุ่มชื่อคุณสาหร่าย (ตั๊ก) ร่างเล็กกะทัดรัดดี ขึ้นเครื่องมาจอยกับทริปเราที่เลห์เลย

เมืองเลห์ ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 3,520 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่นี่ยังคงมีกลิ่นอายวัฒนธรรมของชาวทิเบตให้เห็น

ออกเดินทางไปเที่ยว ที่แรกคือวัดเฮมิส ซึ่งวันนี้ตรงกับงานเทศกาลเทชูของวัดเฮมิสด้วย อ้อ! วันนี้เราใช้รถเล็กสบายๆ ไปกัน 3 คัน เพราะว่าพี่ปิติยังไม่ชัวร์ในอาการตัวเองเลยขอบาย มีไกด์ไปด้วยคนหนึ่งชื่อ Jigmi (ชื่อเหมือนกับกษัตริย์ภูฏานเลย) อายุน้อยเพราะว่าเพิ่งเรียนจบ แต่ภาษาอังกฤษก็โอเค สื่อสารกันได้ ตามเส้นทาง ไกด์ได้ชี้ให้ดูลานแสดงธรรม และธรรมะศาลาที่องค์ดาไลลามะประทับเวลาที่เสด็จมาแสดงธรรมที่เลห์ แต่ช่วงนี้ท่านไม่อยู่ค่ะ ถึงวัดเฮมิสก็ได้เข้าไปกราบพระและชมระบำหน้ากาก มีเวลาอยู่ที่นี่ประมาณ 1.30 ชม.

เฮมิสเป็นวัดใหญ่ที่สุดและมั่งคั่งที่สุดในลาดัคห์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสินธุ (Indus) เช่นเดียวกับวัดสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Lamayuru, Alchi, Stok และ Thiksey 
 

 

 

 

เทศกาลเทชูจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี เพื่ออุทิศให้ท่านคุรุปัทมสัมภวะ พระอาจารย์ชาวอินเดีย ผู้นำพุทธศาสนามาเผยแผ่ในดินแดนทิเบต ในศตวรรษที่ 8 โดยในงานจะมีการร่ายรำระบำทางศาสนาโดยเหล่าพระลามะ (Chaam dances) ตั้งแต่สายๆ ไปจนบ่ายแก่ๆ และที่เราตั้งใจจะไปดูเป็นพิเศษคือระบำหน้ากาก ซึ่งเป็นระบำชุดใหญ่ของเทศกาลนี้

พวกเราก็เพลิดเพลินกันไปตามประสา ออกจากวัดนี้ก็ไปกินข้าวกลางวันที่ภัตตราคาร Chambotel ใกล้กับ Thiksey Monastery (อาหารกลางวันเป็นแบบแพ็คใส่กล่องมา มีโดนัท(เค็ม) น้ำผลไม้ กล้วยหอม ไข่ต้ม ช็อคโกแล็ต) ดังนั้นพวกเราจึงสั่งชาเพิ่ม สั่งข้าวผัดด้วย แต่นานมากๆ สุดท้ายก็ไม่ได้กินข้าวผัด ที่นี่เราพบกลุ่มคนไทยที่มากันเอง เค้าเล่าประสบการณ์ที่ไปพักที่ Sachu ให้ฟังว่าทรมานขนาดไหน พวกเราเลยคิดว่าโชคดีแล้วที่พวกเราไม่ได้ค้างที่นั่น หลังอาหารกลางวันก็ไปเที่ยวและนมัสการพระที่วัด Thiksey กัน


 

 

 

วัดธิคเซย์ (Thiksey Monastery) ถือว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดของลาดัคห์ เป็นวัดของนิกายเกลุคปา (นิกายหมวกเหลือง) ภายในวัดมีรูปปั้นของพระศรีอารยะเมตไตรย์ ซึ่งชาวพุทธสายมหายานเชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์ต่อไป ที่จะคอยช่วยเหลือมนุษย์


 

 

หลังจากนั้นก็ไปต่อกันที่ พระราชวังเลห์ (Leh Palace) ซึ่งเป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นกลางเมืองเลห์ ขนาดความสูง 9 ชั้นถูกสร้างในปี ค.ศ.1630 มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระราชวังโปตาลาในทิเบต คือมีผนังเอียงเข้าหากันทุกด้าน จากที่นี่ มีมุมที่สามารถมองเห็นเมืองเลห์ได้ทั้งเมือง วิวด้านบนสวยดี

            กว่าจะกลับถึงที่พักวันนี้ก็ปาไปเกือบ 2 ทุ่มแล้ว มีเวลาก่อนอาหารค่ำอีกเล็กน้อยเลยไปซื้อผ้า Pashmina ที่ร้านใกล้ๆ โรงแรม ปลาและนุ้ยไม่ชัวร์เรื่องที่พักในหมู่บ้านนูบราว่าจะหนาวแค่ไหน ประกอบกับพี่ปิติ ไปเดินสำรวจตลาดมาแล้ว บอกว่าถุงนอนที่นี่โอเค คุณภาพคุ้มราคา เลยชักชวนกันไปซื้อ เพราะกลัวที่นูบราจะหนาวมาก ส่วนเรายืนกรานที่จะไม่ซื้อ (สาวมั่นสุดๆ แต่ก็เตรียมเครื่องกันหนาวไปพร้อมแหละ) ดังนั้นหลังกินข้าวเสร็จ พวกเราเตรียมเสื้อผ้าใส่กระเป๋าใบเล็ก เพราะว่าพรุ่งนี้ต้องไปค้างที่หมู่บ้านนูบรา แล้วฝากกระเป๋าใบใหญ่ไว้ที่โรงแรมนี้

_______________________________________

  

13 กรกฎาคม 2551 เลห์ (LEH) – หุบเขานูบรา วัลเลย์ (NUBRA VALLEY)

 

 

7.00 น. กินอาหารเช้าในห้องอาหารของโรงแรม แล้วออกเดินทางไปเที่ยวที่อีกเมือง วันนี้เราใช้รถ 3 คันเลย เพราะว่าจะได้นั่งสบายๆ Mr.Sam ตามไปด้วย แต่อยู่รถคันอื่น ดังนั้นพี่ฮุ้งจึงมาร่วมขบวนกับเรา และคนขับรถของเราคนใหม่ชื่อ Jigmet หน้าตาก็ธรรมดาแต่นิสัยน่ารักมากค่ะ คุยภาษาอังกฤษได้เยอะเหมือนกัน และเป็นขวัญใจกลุ่มเราด้วย พี่ฮุ้งมาอยู่รถเราคุยกันสนุกมากเลย เรามุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือ ผ่านเส้นทางรถยนต์ที่สูงที่สุดในโลก Khardung-la (altitude 5,578 m / 18,301 ft) อากาศเย็นมีหิมะตกโปรปรายไปทั่ว แวะพักถ่ายรูปและพยายามหาห้องน้ำ แต่ไม่เจอ เลยแวะเข้าไปร้านขายของที่ระลึก ได้เสื้อยืดพิมพ์คำหรูว่า Khardung-la the highest motorway in the world, I was there.” เลยซื้อมาใส่เล่นพร้อมพี่หนิงและกัล ระหว่างอยู่ในร้าน ก็มีฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาล้งเล้งขอออกซิเย่น เพราะว่ามีคนเป็นลมล้มไป เป็นสาวไทยด้วย แต่เราไม่เห็นเพราะว่าออกจากร้านมาเจอห้องน้ำ เลยทยอยกันเข้าแล้วก็รีบขึ้นรถไปต่อกันเลย  

13.30 น. มัวแต่โอเอ้ถ่ายรูประหว่างทางอยู่นาน กว่าจะมาถึงร้านอาหารเพื่อทานอาหารกลางวัน อีกประมาณ 64 km. จะถึงหุบเขานูบรา กินข้าวร้านอาหารระหว่างทาง ก็โอเคค่ะ กินชาใส่ซินนาม่อนอีกแล้วค่ะ

เส้นทางวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคาราวานในอดีต และเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมอันโด่งดัง


 

 

บ่ายแก่ๆ ก็จะเข้าสู่หุบเขานูบรา นูบราหมายถึงหุบเขาแห่งดอกไม้ เป็นแหล่งปลูก Apricot และผลไม้หลากหลายของลาดัคห์ และเป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด อยู่ห่างจากเลห์ไปทางเหนือ 125 km. โอบล้อมด้วยเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาคาราโครัม (Karakoram Range) ซึ่งเทือกเขาคาราโครัมนี้ เป็นเขตแดนตามธรรมชาติกั้นอินเดียกับปากีสถาน และก่อนหน้าปี ค.ศ. 1994 ทางการอินเดียไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในหุบเขาเลย


 

 

 

ประมาณ 16.30 น. เราก็ถึงโรงแรมที่พักชื่อ Olthang Hotel & Guest house ซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน Diskit หนึ่งในหลายๆ หมู่บ้านของ Nubra Valley (ระหว่างทางก็แวะถ่ายรูป เก็บภาพความประทับใจไปเรื่อยๆ) แวะเข้าห้องพัก ดื่มน้ำชากาแฟ พักกันให้หายเหนื่อยแล้วก็ออกไปเที่ยววัด Diskit (วัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1420 วัดนี้เป็นวัดสาขาของวัดธิคเซย์ที่เลห์ คือเป็นนิกายหมาวกเหลือง เป็นวัดใหญ่และดูเก่าแก่มากแห่งหนึ่งทีเดียว) พระอาทิตย์ยังไม่ตก เลยแวะไปตลาดของเมืองต่อ แต่วันนี้เป็นวันอาทิตย์นะ ตลาดไม่เปิด แต่ก็มีคนเอาของมาตั้งขายบ้าง ใช้เวลาที่ตลาดครู่ใหญ่เลย ถ่ายรูปบ้าง ปลาไปซ่อมรองเท้าบ้าง ให้อาหารแพะบ้าง ซื้อผักบ้าง อื่นๆ อีกมากมาย หลังจากนั้นก็กลับเข้าโรงแรม


 

 

           เย็นนี้พวกเราอยากจะทำอาหารกินกันเอง โดยมีคุณเก, พี่ฮุ้ง, กัล. พี่หนิงและเรา พร้อมกับปลาและนุ้ย(ช่วยเป็นกำลังใจ) ช่วยกันตระเตรียมส่วนประกอบ และสุดท้ายพี่หนิง (ซึ่งพวกเราตั้งฉายาใหม่ให้เป็นคุณหรีด เจ้าแม่ทำอาหารระดับไฮโซ) เป็นคนลงมือผัด และสุดท้ายก็ได้กินอาหารรสเลิศ ส่วนคนอื่นที่ไม่ได้เอ่ยนามก็ไปเดินเที่ยว ถ่ายรูปกันสนุกสนานแถวๆ โรงแรม คุณตั๊กกลับมาทำแกงจืดทันการ


 

ประมาณ 2 ทุ่มได้กินอาหารเย็นรสเลิศ อาหารอร่อยและมีเรื่องเม้าท์และแซวกันในช่วงรับประทานอาหาร สนุกมากค่ะ พวกเราจบมื้ออาหารกันด้วยผลไม้ที่ซื้อมา และต่างแยกย้ายกันไปนอน

* โรงแรมที่ Nubra นั้นเป็นลักษณะของ Guest house + Hotel ค่ะ ค่อนข้างสะอาดและปลอดภัยดี สุดท้ายเราก็เลยโชคดีเช่นเคยที่ไม่ต้องหอบถุงนอนมา เพราะที่โรงแรมมีผ้าห่มให้พร้อม และอากาศไม่เย็นมากนัก

_______________________________________

 

 

14 กรกฎาคม 2551 หุบเขานูบรา วัลเลย์ (NUBRA VALLEY) –  เลห์ (LEH) 

 

 

 

ตื่นเช้ามากเช่นเคย กินอาหารเช้า อำลาโรงแรม แล้วขึ้นรถไปชมวัด Hundur Gompa ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านฮุนเดอร์ และเป็นวัดสาขาของวัดดิสกิตอีกที เราได้คิวไปนั่งหน้ารถบ้าง จะได้คุยกับ Jigmet มั่ง แต่ไม่รู้ว่า Sam แกโผล่มาจากไหน มานั่งขับรถเฉยเลย (พวกเราสงสัยว่าแกคงรู้อะไรเลาๆ ว่ารถคันเราช้าที่สุดในขบวน จึงมาขับ) แรกๆ พวกเราทำตัวไม่ถูกเลย เอาก็เอา นั่งคุยไปเรื่อยๆ ก็มันดี แถมได้กัดแกไปด้วย (กัดแกไปหลายเรื่องเลย แต่ก็ได้ความรู้เหมือนกันนะ)

จากนั้นก็ไปที่หมู่บ้าน Hundur ที่นี่เรายังสามารถพบเห็นอูฐหลัง 2 หนอก (Bactrian camels) ที่หลงเหลือมาจากสมัยที่ขบวนคาราวานยังผ่านไปมาในเส้นทางสาย Trans-Karakoram อันเก่าแก่ ทุกวันนี้อูฐทำงานรับจ้างบริการนักท่องเที่ยว แทนอาชีพคาราวานดั้งเดิม 


 

 

ที่หมู่บ้านอูฐ มีสองคนที่จ่ายเงินและนั่งอูฐถ่ายรูป คือคุณเกกับพี่ฮุ้ง ส่วนพวกเราที่เหลือ ไม่รับประทานค่ะ หลังจากนั้นขึ้นรถไปเที่ยว Samstanling Gompa ที่หมู่บ้าน Sumur ซึ่งเป็นวัดของนิกายหมวกเหลือง (Gelug-pa) ที่ค่อนข้างใหม่ อายุเพียงกว่าร้อยปี คือสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1841 (ใน guidebook บอกว่าเป็นวัดที่เป็นที่เลื่อมใสที่สุดในหุบเขานูบรา) วัดสวยค่ะ และอยู่บนเขาสูง เนื่องจากว่าเราไปหลายที่ เวลาจึงน้อยและกระชั้นมาก ดังนั้นเวลาที่วัดนี้จึงน้อยไปด้วย สุดท้ายก็ออกจากวัดประมาณ 11 โมง แล้วเรายังต้องย้อนใช้เส้นทางเดิมกลับไปเลห์ด้วย


 

ช่วงบ่ายๆ แวะรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านเดิมตอนขามา รอบนี้เราไม่พลาดที่จะได้กินข้าวราดด้วยผักต้มในแบบของชนพื้นเมือง (เพราะว่าเมื่อวาน Sam สั่งมากินแล้วพี่ฮุ้งขอชิม บอกว่าอร่อยดี) พวกเราก็เลยได้กินอาหารที่กินได้หน่อย ผสมกับน้ำพริกเลยรอดไปอีกมื้อ หลังอาหารกลางวัน เราก็กลับไปแวะที่ Khardung-la อีกรอบ รอบนี้เราได้เสื้อสีฟ้าสวยเชียว (สุดท้ายตัดใจให้ Yasuo-san ไป) แต่พี่หนิงสุดสวยของเรากวาดไปสิบกว่าตัว แล้วคนอื่นๆ ด้วย พี่ฮุ้งก็ซื้อถ้วยกาแฟไป ราคาไม่แพง หลังจากนั้นพวกเราก็ดิ่งกลับไปเลห์ พักโรงแรมเดิม


 

          เนื่องจากกลับมาเร็ว พวกเราเก็บของแล้วก็ได้ไปเดินชมตลาดและเมืองสมใจ มีเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ไปเดินตลาดและซื้อของไปเรื่อยๆ เราไม่ซื้ออะไรแล้วเพราะว่ากระเป๋าที่เอามาไม่สามารถบรรจุของอย่างอื่นได้ และคิดว่าจะไม่ซื้ออะไรมาฝากที่ทำงาน จึงไปเป็นเพื่อนคนอื่น แวะร้านเสื้อยืด คุณพี่หนิงก็กวาดอีกตามเคย ตามด้วยน้องดา ไม่ให้น้อยหน้า แวะร้านนั้น ผ่านร้านนี้ ก็ไปจบที่ร้านขายผ้าคลุมก็ซื้อกันอีก ตอนเดินกลับโรงแรม ผ่านออฟฟิต Sam ดีที่เจ้าตัวไม่อยู่แต่เจอลามากับ Jigmet ก็เลยคุยกันนิดหน่อย เจ๊หนิงเราก็เจ้าแม่ซื้อของเหลือเกิน แวะซื้อผลไม้อีกแล้ว กว่าจะกลับถึงโรงแรมก็ปาไปเกือบ 3 ทุ่มแน่ะ กินข้าว (วันนี้อาหารก็มีแกงไก่มัสมั่น ไม่ค่อยเหมือนบ้านเราเท่าไร ที่นี่เน้นมังสวิรัส แต่พวกเราไม่ไหวเลยต้องมีเนื้อบ้าง อาหารหวานเป็นกุหลาบจามู คล้ายโดนัทกลมทอดแล้วจุ่มหรือแช่ในน้ำเชื่อมที่หวานมาก แต่ก็อร่อยดีค่ะ) แล้วก็เอาของออกมาอวดกัน หลังจากนั้นแยกย้ายกันไปนอน

_______________________________________

 

 

15 กรกฎาคม 2551 เลห์ (LEH) – ทะเลสาปพันกอง (PANGONG LAKE)

 

  

 

06.00    ตื่นเช้าขึ้นมา กินอาหารเช้ากัน แล้วขึ้นรถมุ่งหน้าสู่ ทะเลสาบพันกอง (Pangong Tso) ระยะทางถึงทะเลสาปประมาณ 200 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง เส้นทางนี้จะวิ่งผ่าน ชางลา (Chang La Pass) เส้นทางรถยนต์ซึ่งอยู่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เส้นทางนี้อยู่สูง ภูเขายังคงมีหิมะปกคลุมอยู่ เราแวะพักถ่ายรูปกันจนจุใจแล้วเดินทางต่อ

 

 

            เดินทางถึงจุดหมาย ทะเลสาบพันกอง (Pangong Lake) มีความยาวถึง 40 ไมล์ และกว้าง 2-4 ไมล์ เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่อยู่สูงที่สุดในโลก คือมีความสูงถึง 14,256 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ความงามของทะเลสาบที่มีภูเขาสูงเป็นฉากหลัง ทางการเพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเมื่อไม่นานมานี้ น้ำในทะเลสาบแห่งนี้มีสีสันที่งดงามมาก โดยเฉพาะในช่วงเย็นน้ำจะมีสีน้ำเงินเข้ม ส่วนในช่วงเช้าจะมีสีที่อ่อนกว่าและพื้นที่ 75% ของทะเลสาบอยู่ในดินแดนทิเบต มีแค่ 25% อยู่ในเขตของประเทศอินเดีย

 

 

 

ที่นี่เราก็ถ่ายรูปกันจุใจ ดูน้ำทะเลสีสวยและก็พยายามที่จะเก็บรูปให้ได้มากที่สุด สุดท้ายก็วิ่งรถลึกเข้าไปด้านใน และหาสถานที่ไปปลดเบาด้วย รถคุณเกแถเข้าไปด้านใน ทำให้รถติดหล่ม ตอนแรกคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็เลยเถลไถลถ่ายรูปกันกระหน่ำ แต่สุดท้ายก็ตัดใจเดินไปดู ปรากฏว่าคุณเกบอกว่าคงเอาไม่ขึ้น เลยระดมกันมาช่วยเพราะว่าพี่ปิติช่วยอยู่แค่คนเดียว ลองกันหลายหน สุดท้ายพวกเราก็สามารถเอารถขึ้นจากหล่มได้ ดีใจสุดๆ เพราะว่าทุกคนเริ่มรู้สึกหิวกันแล้ว หลังจากเอารถขึ้นมาได้ พวกเราก็เดินทางลงมาด้านล่างและแวะรับประทานอาหารกลางวันกันตอนประมาณ 3 โมงกว่า หลังจากเสร็จสิ้นอาหารกลางวัน พวกเราก็เดินทางกลับ ระหว่างทางกลับก็แวะถ่ายรูปเป็นช่วงๆ ทำให้กลับถึงโรงแรมค่อนข้างช้า เกือบถึงเวลาอาหารเย็น ตอนแรกกะว่ากลับเร็วจะแวะไปซื้อ Apricot แห้งเสียหน่อย แต่ช้าไปเสียแล้ว

 20.30 น. คืนนี้เราก็ทานอาหารเย็นกันที่โรงแรมอีกเช่นเคย มีข้าว ผักต้ม แกงไก่ และแกงผัก ของหวานเป็นข้าวมธุปายาส (ที่นางสุชาดาถวายแด่พระพุทธเจ้า เป็นข้าวบาเลร์ต้มใส่นมและน้ำตาล) ก็อร่อยดี

          คืนนี้ต้องเก็บกระเป๋าเพื่อย้ายที่นอนอีกแล้ว เรากับกัลเลยตกลงกันว่าจะเตรียมเฉพาะกระเป๋าเล็กดีกว่าจะได้ไม่ต้องเปิดกระเป๋าใหญ่เพราะว่าจะไปค้างแค่คืนเดียว

_______________________________________

 

16 กรกฎาคม 2551 เลห์ (LEH) – ลามายุรุ (LAMAYURU) – การ์กิล (KARGIL)

 

06.00 น. ตื่นแต่เช้าเช่นเคย กินอาหารเช้าให้เรียบร้อย เก็บของออกเดินทาง คราวนี้เราจะเดินทางออกจากเขตแดนของ ลาดัคห์ เพื่อมุ่งหน้าสู่ แคชเมียร์ อันมีเมือง ศรีนาการ์ (Srinagar) เป็นจุดหมายปลายทาง

เช้านี้มีเรื่องให้น่าจดจำ เพราะว่าตั้งแต่มาอยู่ที่โรงแรมนี้ เราไม่เคยสังเกตุเจ้าหน้าที่โรงแรมเท่าไรนัก แต่เช้านี้หลังจากเดินลงมาแล้วมีคนทักให้ไปกินข้าว ก็เดินตามกัลไป พอจะลงเดินไปที่ห้องอาหาร แหมเจอหนุ่มคุยโทรศัพท์หันมายิ้มให้ งงไปเลย แต่พอเดินเข้าห้องอาหาร กัลหันมาบอกว่าหนุ่มนั้นหล่อเนอะ จึงถึงบางอ้อว่าที่เค้าส่งยิ้มมาให้เพราะว่ากัลส่งยิ้มให้ก่อน แหมเลยโชคดีที่มีหนุ่มมายิ้มให้ หลังอาหารเช้า ก็ออกมารอรถกันที่หน้าโรงแรม เจอรถเราคันเดียว เลยยืนคุยกับปลาและ Sam เดินเข้ามาคุย ยังเล่าว่าเมื่อวานเจอรถติดหล่ม เสียดายที่ he ไม่เจอ แต่ he บอกว่าเจอบ่อยแล้ว เราก็เลยเดินไปเที่ยวที่อื่น และก็ถ่ายรูปผ้าที่ร้านฝั่งตรงข้ามกับโรงแรม แต่ตา Sam ดันไปขับมอเตอร์ไซด์มาแกล้งจอดปังผ้าอีก

8.00 น. เฮ้อ! รถอีก 2 คันถึงได้ฤกษ์มาถึงโรงแรม ขนของขึ้นรถแล้วก็เริ่มออกเดินทาง ต้องร่ำลา Sam ก่อน วันนี้มีไกด์ท้องถิ่นตามไปด้วยชื่อ Stanzin


 

            เราไปแวะเที่ยวที่ เมืองเชย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของลาดัคห์ ที่ พระราชวังเชย์ (Shey Palace) สร้างโดยกษัตริย์ Deldan Namgyal เพื่อระลึกถึงผู้เป็นพระบิดา Singge Namgyal แต่เดิมกำแพงพระราชวังถูกฉาบด้วยทองคำผสมทองแดง(แต่ปัจจุบันไม่เหลือแล้ว) ก่อสร้างเพื่อเป็นพระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์แห่งลาดัคห์ ภายในมีรูปปั้นของพระศากยมุณีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ (แต่ตอนนี้ปิดปรับปรุง เลยไม่ได้เข้าไปชม)

 

 

 

            ออกจาก Shey Palace  ก็ขับรถออกจากเลห์ มุ่งหน้าไปศรีนาการ์ การไปศรีนาการ์ ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2 วัน ในเส้นทางรถยนต์ แต่ก็เป็นเส้นทางที่สวยงามมากที่สุด เราต้องแวะพักและผ่านไปที่เมืองต่างๆ หลายแห่ง จุดหมายต่อไปที่เราจะแวะคือที่ วัดอัลชิ (Alchi Gompa) วัดเก่าแก่อายุหลายร้อยปี เป็นวัดเล็กๆ ในหมู่บ้านที่ดูเงียบสงบ ทางเดินเข้าไปที่วัดจะผ่านหมู่บ้าน และได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่าย วิหารของวัดนี้สร้างด้วยไม้ผสมโครงสร้างที่เป็นอิฐในรูปแบบดั้งเดิมของชาวลาดัคห์ และภายในวิหารเก่าๆ นั้นมีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ด้วย

 

 

 

ใช้เวลาในวัดไม่นานมาก ก็ต้องรีบเดินทางต่ออีก เราได้ผ่านภูเขาที่มีแม่น้ำสินธุไหลผ่านด้วย (แม่น้ำสินธุ ในภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Indus ค่ะ) ตอนนี้น้ำในแม่น้ำเป็นสีขุ่นเทาเพราะเกิดจากการละลายของหิมะบนเขาผสมกับแร่ธาตุต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าแร่อะไรบ้าง แล้วเราก็นั่งรถไปถึงเมืองอินดัส (Indus) แวะหาข้าวกลางวันกินกันที่นี่แหละ อินดัสเป็นเมืองเล็กๆ ที่ดูเรียบง่าย ผู้คนน่ารักและเป็นกันเอง มีร้านอาหารหลายร้านให้เลือก แต่ร้านที่เราแวะน่าจะดูดีที่สุดแล้ว (Morning restaurant) แต่ลองแล้วรสชาติอาหารใช่ได้ เราสั่งอาหารกันเอง มีข้าวผัดมังสะวิรัส กินได้แน่นอน เราสั่งก๋วยเตี๋ยวผัดพริก ก็โอเคนะแต่เผ็ด ปลาสั่งข้าวผัดเนื้อแพะ อร่อยดีเพราะว่าไม่มีกลิ่นสาบเลย คุณตั๊กสั่งซุปแล้วบอกว่าไม่อร่อย คนอื่นๆ ก็กินคล้ายๆ กัน ที่อินเดียนี่คงมีมะม่วงมากเพราะว่าน้ำผลไม้บรรจุกล่องส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมะม่วง ก็อร่อยดี อ้อ! ที่นี่พวกเราซื้อผลไม้ไปกินกันต่อบนรถ


 

หลังจากนั้นขับรถผ่านสถานที่ที่เรียกว่า Moonland เพราะว่าภูเขาเป็นแบบไม่เรียบ มีสภาพคล้ายผิวดวงจันทร์มาก แถมยังร้อนเหมือนกับทะเลทรายเลย (ข้างนอกรถมีแดดจัดมาก แต่อากาศเย็นค่ะ) จากนั้นก็ไปแวะเที่ยววัดทิเบตกันหน่อยนะ


 

 

วัดลามายุรุ (Lamayuru) อยู่ในหุบเขา Moonland และทุกวัดที่เราไป จะเห็นมีภาพเขียนของเทพ 4 องค์อยู่บริเวณด้านหน้าประตู ทั้ง 4 เป็นเทพผู้พิทักษ์ธรรมะทั้ง ทิศ (Four Cordinal Kings) ซึ่งมีนามและได้รับความนับถือศรัทธาในแต่ละด้านแตกต่างกันไป

องค์แรก Virudhaka (Phakskespo) เทพผู้พิทักษ์ทิศตะวันตก ในมือถือดาบ

องค์ที่ 2 Dritarashtra (Yul kho srung) เทพผู้พิทักษ์ทิศตะวันออก ในมือถือพิณ

องค์ที่ 3 Virupaksha (Mikmizang) เทพผู้พิทักษ์ทิศใต้ ในมือถือสถูป และงู

องค์ที่ 4 Vaisravana (Namthos-sas) เทพผู้พิทักษ์ทิศเหนือ ในมือถือพังพอน และองค์นี้จำได้แม่นว่าเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความร่ำรวม มั่งคั่ง (พวกเราหลายคนบูชาองค์นี้เป็นพิเศษค่ะโดยเฉพาะเรา)

ออกจาก ลามายุรุ (Lamayuru) เรามุ่งหน้าสู่แคชเมียร์ โดยเราจะแวะพักที่เมืองระหว่างทางก่อนจะเดินทางถึงศรีนาการ์ คือที่เมือง Kargil ตลอดเส้นทางเราจะได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย เรานั่งรถข้ามเขาอีกหลายลูก จนมาถึง Fotula Topจุดสูงสุดบนเส้นทางสายเลห์สู่ศรีนาการ์ หรือ Highest Point the Srinagar Leh Road จุดนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 13,479 ฟิต หรือประมาณ 4,118 เมตร 


 

 

จากนั้นอีกพักใหญ่ พลขับก็มาจอดที่ Chamba Statue ที่นี่มีพระพุทธรูปแกะสลักอยู่บนภูเขาหิน อายุเก่าแก่กว่าพันปี เราได้เจอแม่ชีของอินเดีย การแต่งกายเหมือนพระลามะเพราะว่านุ่งห่มสีแดงเหมือนกัน

ใช้เวลาเดินทางจนกระทั่งเย็น เราก็มาถึงเมือง Kargil เมืองนี้ตามที่ปลาบอกก็คือเมืองทางผ่านเพราะว่าจะต้องใช้แวะพักเนื่องจากไม่สามารถเดินทางจากเลห์ถึงเมืองศรีนาการ์ได้ในวันเดียว ดังนั้นปลาแนะนำว่าไม่ควรออกไปเดินเที่ยวเล่นกันเพราะว่ามันอันตราย ตามสภาพบ้านเมืองที่เห็นก็โอเคนะ แต่เพื่อความปลอดภัย และมันก็ค่อนข้างเย็นแล้วตอนไปถึงโรงแรม ดังนั้นพวกเราก็สงบเสงี่ยมอยู่แต่ในโรงแรมดีกว่า

คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม อาหารที่จัดให้จึงเป็นไก่และผัก ที่มีกินอย่างเหลือเฟือ ทำให้มื้ออาหารเย็นนี้โอเคมากเลย อิ่มด้วย อร่อยด้วย

* มาอินเดียรอบนี้แปลกเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวประหลาดแน่เลย นับตั้งแต่ Sam ที่เข้ามาคุยและวุ่นวายแล้ว คนต่อมาคือเจ้าของโรงแรมที่ Kargil เนี่ย คุยสนุกมากไปหรือเปล่านะ มาสนใจจริงๆ เลย พวกที่มาด้วยเลยให้ข้อสังเกตว่าสงสัยคนที่นี่ชอบผู้หญิงอวบแหงเลย เราเลยเป็นจุดสนใจ เฮ้อ! คงมีที่นี่ประเทศเดียวมั้งที่เราดูโดดเด่น ฮ่าๆๆๆ ก็ดีเนอะ                

 22.00   พักผ่อนนอนหลับกันตามสบาย คืนนี้เราจะค้างที่ Kargil โรงแรมชื่อ SIACHEN HOTEL อากาศตอนกลางคืนโอเคเลย แต่ก่อนจะนอน ได้ยินเสียงสวดมนต์กับเสียงเคาะอะไรก็ไม่รู้ แต่เราก็เผลอหลับไปได้แหละ พรุ่งนี้ต้องตื่นเช้ามากด้วย

_______________________________________

 

17 กรกฎาคม 2551 การ์กิล (KARGIL) – โซนามาร์ค (SONAMARG) – ศรีนาการ์ (SRINAGAR)

 

06.00    ตื่นกันแต่เช้า กินอาหารเช้าให้เรียบร้อย (ตื่นแต่ตี 4.30 น. แล้วอาบน้ำ ลงมากินข้าวเช้า อาหารเช้าเป็นข้าวต้มเปล่ากับแป้งโรตี กับพวกเนยและแยม งงไปเลย ดีที่พวกเราเอาหมูหยองกับหมูฝอยมา แต่เจ้าดาทำแผนแตกเพราะว่าไปบอกเจ้าของโรงแรมว่าเป็นหมู ทั้งๆ ที่เมืองนี้เป็นอิสลาม เลยเจื่อนๆ ไปหน่อย) แต่พอออกจากโรงแรมยังมีคนมาแซวนะ ก็เจ้าของโรงแรมนั่นแหละ ชวนให้อยู่ต่อ แต่ไม่ไหวหรอกไม่สามารถค่ะ ไม่ใช่คนใจง่ายนะ ขนาดพี่หนิงอภิเชษฐ์คนอินเดียยังไม่เอาเลย นับประสาอะไรกับเราเนอะ เดินทางต่อกันดีกว่า เราต้องแวะเมืองเล็กๆ ถัดไปเพราะว่าคนขับรถต้องกินข้าว พวกเราเลยหาที่ปลดเบาอีก คราวนี้ต้องระวังหน่อยเพราะว่าเมืองมุสลิมเค้าค่อนข้างสะอาด จะไปเพ่นพ่านไม่ได้ เลยได้ขออาศัยที่โรงแรมแห่งนึ่ง เจ้าของใจดีจัง และพวกเราก็ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนแถวนี้ด้วย หลังจากนั้นเดินทางต่อจนถึง


  

 

11.30 น. ถึง โซนามาร์ค (Sonamarg) เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น ประตูสู่ลาดัคห์ (Gateway to Ladakh) หรืออีกความหมายหนึ่งคือเมืองที่ยากแก่การค้นหา ถึงแล้วกินอาหารกลางวันกันก่อน จากนั้นเราจะขี่ม้า ไปเที่ยวดูธารน้ำแข็งกัน ซึ่งไม่ค่อยจะมีแล้วเพราะว่าเป็นหน้าร้อนค่ะ โซนามาร์ค (Sonamarg) ตั้งอยู่ในหุบเขาชิน (Sindh) เป็นจุดที่มีน้ำตกที่เกิดจากการละลายของ ธารน้ำแข็ง (Garcier) พอเดินทางถึงเชิงเขาชิน เราจะเดินทางต่อสู่ธารน้ำตก ระหว่างทางชมความสวยงามของเทือกเขา Shakhdan (ภาษาท้องถิ่น ทาจิวาส) ซึ่งปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี


 

ถ่ายรูปกันพักใหญ่ ได้เวลาพอสมควร เราเดินทางออกจากโซนามาร์ค มุ่งหน้าเข้าสู่ศรีนาการ์ (Srinagar) ระหว่างทางจะพบนายทหารเดินถือปืนเป็นระยะๆ พวกเราก็ส่งยิ้มไปให้ตลอดเส้นทางเลย มีช่วงหนึ่งที่ขับรถผิดแล้วกลับรถจะไปอีกเส้น โหนายทหารไม่รู้แอบอยู่ตรงไหน เดินออกมาเลย แสดงว่าเยอะจริง บริเวณเมืองศรีนาการ์ตั้งอยู่ในแคว้นแคชเมียร ซึ่งขณะนี้เป็นที่ๆ เรียกว่าอ่อนไหว เพราะว่าเกิดการแย่งดินแดนนี้ระหว่างอินเดียและปากีสถาน (ยังเป็นกรณีพิพาทกันอยู่) แต่อย่างไรก็ตามพวกเราก็ยังสนุกสนานได้อยู่


 

 

18.00 น. เดินทางถึง ทะเลสาบ Nageen Lake ลงเรือชิคารา (Shikara) เข้าสู่ที่พักของเรา House Boat ได้สัมผัสกับเรือที่จะพาเราไป House boat แล้วรู้สึกเหมือนเป็นเศรษฐีอย่างไรไม่รู้ หรูดีแฮะ นั่งสบายด้วย นอนก็ได้ถ้าอยากจะนอน พอขึ้นเรือใหญ่ได้ ไปเดินสำรวจห้อง น่าอยู่แฮะ พวกเราสามคนได้ห้องใหญ่สุด แต่กัลบอกว่าเตียงเล็กเลยนอนที่โซฟาแทนให้ดานอนเตียงใหญ่ ส่วนเรานอนเตียงเล็ก

 
 

       

            หลังจากชมห้องเสร็จ ยังมีเวลาอีกมากมาย พวกเราตื่นเต้นถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน และที่เรือก็เอาน้ำชามารับแขกอีก แหมดูดี มีชาติตระกูล นั่งเล่น ถ่ายรูป และเราเลยไปอาบน้ำ

20.00 น. อาหารเย็น หรูอีกแล้วค่ะ มีซุป ข้าว แกงและอื่นๆ อ้อ! พวกเราแวะซื้อผลไม้มาด้วย วันนี้ได้กินน้ำเย็นจากตู้เย็นด้วย เย้! ไม่ได้เจอมาหลายวันแล้ว อิ่มอาหารแล้วก็ได้ฤกษ์คนพายเรือมาขายของ แต่วันนี้ไม่ค่อยมีมามากเท่าไร เราเลยเปิดดู DVD กับกัล โดยมีปลาและนุ้ยเป็นเพื่อนดู พร้อมกับพ่อบ้านและ Stanzin พอหนังจบก็เข้านอน พักผ่อนกันตามสบาย ใน House Boat ทะเลสาบ Nageen Lake พอดีนึกได้ว่าลืมผลไม้ที่หั่นใส่จานไว้ที่ห้องดูโทรทัศน์ก็เลยเดินออกมาดู แต่ปรากฏว่าเค้าปิดไฟหมดแล้ว เลยเอาไฟฉายออกมา เจอคนนอนอยู่ด้วย (เป็นสองหนุ่มที่ดูหนังกับเรา) เลยรีบขอโทษแล้วก็กลับไปนอน


_______________________________________

 

18 กรกฎาคม 2551 พาฮาลแกม (PAHAGRAM)

 

07.00    ตื่นกันแต่เช้า กินข้าวเช้าแล้วก็เปลี่ยนตารางกันใหม่ว่าวันนี้จะไปเที่ยวที่พาฮาลแกมกันก่อน วันนี้พี่ปิติไม่ร่วมทัวร์ด้วย เลยให้พี่ฮุ้งไปนั่งกับคุณเกแล้วปลาให้ Stanzin มานั่งคันเดียวกับเรา ก็โอเคไม่มีปัญหาอะไร วันนี้ Stanzin มาถามเรื่องการสวดมนต์กับเราและกัล ก็เลยได้คุยกันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เขารู้จักหลวงปู่ชาด้วย แต่ทางแกเรียกว่าพระอาจารย์


 

แวะที่แรกคือ Avantiswamin Temple ซึ่งเป็นวัดฮินดูแต่เป็นศิลปะผสมผสานกันหลายๆ ที่ มีศาสนาพราหม, ศิลปะกรีก และอื่นๆ ไกด์คนอินเดียเป็นคนอธิบาย แต่ภาษาแกสุดๆ เข้าใจยากเหมือนกัน แล้วก็ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย

จุดหมายต่อไปคือ พาฮาลแกม (Pahalgam) หรือหุบเขาแกะ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นหมู่บ้านของคนเลี้ยงแกะ อยู่ห่างจากศรีนาการ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 95 กิโลเมตร พาฮาลแกม เป็นเมืองที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,130 เมตร ด้วยความงดงามของทุ่งหญ้าและป่าสน พาฮาลแกมจึงเป็นสถานที่ที่ถูกใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์อินเดียมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง ระหว่างทางที่นั่งรถไป สองข้างทางจะพบวิถีชีวิตของชาวแคชเมียร์ เช่น หมู่บ้านที่ทำครกหิน หมู่บ้านที่ทำไม้คริกเก็ต กีฬายอดฮิตของคนอินเดีย ไม้คริกเก็ตนี้ทำมาจากต้นหลิว ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปทั้งในและนอกเมือง แต่จะพบเห็นได้มากระหว่างทางสู่พาฮาลแกม

นอกจากนี้เราจะได้เห็นทุ่งโล่งๆ ท้องทุ่งแห่งนี้เป็นแหล่งปลูก หญ้าฝรั้น หรือ Saffron ที่ใหญ่ที่สุด จัดเป็นเครื่องเทศและยาที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง


 

 

การนั่งม้าวันนี้ต่างจากเมื่อวานเพราะว่านั่งไกลกว่าและเป็นทางชันมากกว่า ม้าที่ใช้ตัวใหญ่กว่าที่โซนามาร์ค แต่พวกเราก็โอเค เรารับประทานอาหารกลางวันกันก่อน วันนี้มีแกงลูกชิ้นแพะ ไก่ย่าง (อร่อยที่สุด)แกงชีส (ภาษาแขกเรียกปาเนีย เอาชีสเป็นก้อนๆ มาใส่เครื่องแกง) ผัดผักรวมแบบแขก (สับจี) และสลัดแบบแขก(กรีนสลัด มีผักสดพวกแตงกวา แครอท มะเขือเทศ หัวหอม มีมะนาวให้บีบแล้วก็โรยเกลือเข้าไปหน่อย อร่อยดีค่ะ) แกงอร่อยดี พี่หนิงกับเราเลยกินกันใหญ่เลย อิ่มมาก หลังจากนั้นไปนั่งม้าไป 3 จุดหลักๆ คือ Lidder Vally - Dubrian - Baisaran 3 จุดที่หยุดพักและถ่ายรูปกัน


 
 

บนจุดชมวิว Baisaran มีชุดให้เช่าเปลี่ยนถ่ายรูปเป็นสาวแคชเมียร์ ดังนั้นพี่หนิงและคุณเก เอาอีกแล้วค่ะ แปลงร่างเป็นสาวแคชเมียร์ ถ่ายรูปกันสนุกสนานมากเลย เราก็แจมกันด้วย Stanzin บอกให้เราลองใส่ดู แต่ไม่เอาหรอก ไม่อยากเป็นตัวประหลาดมากกว่านี้ แล้วคนขายยังจะให้เราออกเงินให้ Stanzin แต่งเป็นหนุ่มแคชเมียร์อีกนะ ตลกดีแฮะ หลังจากสนุกสนานกันพอสมควร ขากลับ เรารู้สึกว่าม้าเหนื่อยนะ แต่ก็ไต่กันลงมาได้ พอลงพื้นราบเท่านั้นแหละ ได้เรื่องเลย ม้าที่นั่งมาขาอ่อนทำให้เราตกม้า ฮือๆๆๆ ไม่เจ็บเท่าไรหรอก แต่ว่าพอลงมาได้ ทุกคนบอกว่าเพราะหนักเกินไป ม้าเลยเหนื่อย เศร้าจัง เจ็บที่มือนิดหน่อย กับตรงก้นและเอวด้านขวา แต่ก็โอเค                                                    

           ช่วงบ่ายเดินทางกลับที่พักในศรีนาการ์กัน

19.30 น. กินอาหารค่ำในเรือตามระเบียบ วันนี้เรากะว่าจะดู DVD ต่อจากเมื่อวานเพราะว่าแผ่นหนึ่งมี 3 เรื่อง ดังนั้นจึงต้องอาศัยพ่อบ้านมาเปิดให้ (มี remote ของเครื่องเล่น DVD แต่เราไม่รู้) แต่ก่อนที่จะดูก็ Shopping เลือกซื้อของพื้นเมือง ที่มีพ่อค้านำมาเสนอขายให้ถึงบนเรือที่เราพักก่อน เราได้ผ้าตัดกระโปรงหนึ่งผืนและกำไลชุบอีกวง ส่วนคุณนายหนิงซื้อเยอะมาก ผ้าไม่รู้กี่ผืน ม่านก็ได้ไปหลายเหมือนกัน มีแต่กัลที่ไม่ได้ซื้อแต่เป็นที่ปรึกษาให้กับคนที่ซื้อ มองดูสาวๆ ซื้อของด้วยความวุ่นวาย แต่ก็ไม่สนเพราะว่าพ่อบ้านเปิด DVD ให้ดูแล้วเลยดูหนังกับปลาและนุ้ยดีกว่า อ้อ! ปอกผลไม้กินกันหนุกด้วย

22.30 น. หนังจบแล้วนอนหลับพักผ่อนกันตามอัธยาศัย

_______________________________________

 

19 กรกฎาคม 2551 กุลมาร์ค (GULMARG) – SRINAGAR SIGHT SEEING

 

 

 

04.30 น. ตื่นกันแต่เช้ามืด แค่ล้างหน้าแปรงฟันแล้วออกไปท่องตลาดน้ำที่ขายดอกไม้ Flower Market ในทะเลสาบ Nageen Lake คนขายส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ขนผักมาขาย ดูวุ่นวายดีเหมือนตลาดน้ำบ้านเราแหละไม่ได้ซื้ออะไรเลย แล้วกลับมากินข้าวเช้าที่บ้านเรือ 

7.00 น. ออกเดินทางไปทางด้านตะวันตกเฉียงใต้สู่ กุลมาร์ค (Gulmarg) ระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร ( สูง 2,730 เมตรจากระดับน้ำทะเล) เป็นภูเขาที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในแคชเมียร์  เดิมเรียกเการิมาร์ค ตั้งโดยสุลต่านยูซุปชาร์ ในศตวรรษที่ 16 เนื่องจากที่นี่เป็นทุ่งหญ้าที่เต็มไปด้วยดอกไม้ป่าตามฤดูกาล โดยนั่ง กระเช้าเคเบิ้ล ขึ้นไป ระหว่างทางขึ้นจะเห็นทุ่งหญ้าและต้นสนเมืองหนาวบนหุบเขา ทัศนียภาพที่สวยงามจนถึงยอดเขากุลมาร์ค

เช้านี้ฝนตกค่ะ ทำให้เราต้องติดค้างที่ร้านกาแฟประมาณครึ่งชั่วโมง และระยะทางที่เดินไปขึ้นกระเช้าก็ไม่ใช่ใกล้ๆ ขาลากเหมือนกันนะ แต่พอขึ้นไปเห็นแล้วก็โอเคเลย โชคดีที่มาหน้านี้ ไม่งั้นต้องหนาวมากแน่นอน ถ่ายรูปสนุกสนานและมีคนมาร่วมแจมด้วย(คนอินเดีย)

 

 

13.30 น. ลงมาจากกุลมาร์ค ได้เวลาท้องหิว กินอาหารกลางวันที่ร้านข้างล่าง มื้อนี้ก็ได้กินลูกชิ้นแพะ แต่สู้เมื่อวานไม่ได้เลย มีกลิ่นค่ะ แต่กล้ำกลืนกินเข้าไป อ้อ! ที่นี่เราตกลงที่จะรวบรวมทิปให้กับคนที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะได้รู้ว่ามีเงินเหลือเท่าไรในการจับจ่ายซื้อของฝาก ก็ดี โอเคเลย 


 

           

           ช่วงบ่ายเดินทางกลับเข้าตัวเมืองศรีนาการ์ ระหว่างทางไปแวะมัสยิดชาห์ฮามดาน (สุเหร่าเขียว) Sham Hamden Mosque จากนั้นไปเดินเที่ยวดูความงดงามของมัสยิดจามี (Jami Mosque) ซึ่งถือว่าเป็นมัสยิดกลาง เป็นมัสยิดที่ชาวฮินดูและมุสลิมร่วมกันสร้าง เป็นสุเหร่าแห่งแรกในแคชเมียร สร้างในศตวรรษที่ 14

 

 

 

          เที่ยวชมสวนโมกุล สวนเก่าแก่เหมือนกัน แต่ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจไปที่นี่หรอก จะไปอีกที่หนึ่งที่มีต้น Chinar อายุร้อยกว่าปี (ต้นไม้ที่คล้ายกับเมเปิ้ล) แต่ไม่เป็นไรเพราะว่าสวนดอกไม้น่าจะคล้ายๆ กันและแวะโรงงานทำพรม แต่ไม่ได้ซื้ออะไรเท่าไรนัก

 

  

 

18.00 น. เย็นนี้พอดีเพื่อนทำธุรกิจของปลาชวนไปกินข้าว ปลาเลยชวนพวกเราไปด้วย มีพี่ปิติ คุณเกและพี่ฮุ้งไม่ไป บ้านเรือของมุสตาฟาอยู่อีกทะเลสาบหนึ่ง ทะเลสาบดาล (Dal Lake) ไปล่องเรือ ดู House Boats หรือบ้านเรือ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนของชาวแคชเมียร์ ชาวแคชเมียร์ส่วนใหญ่อพยพมาจากดินแดนเปอร์เซีย ค้าขายโดยใช้เรือไม้เป็นบ้านล่องจากแม่น้ำมายังทะเลสาบ จนกระทั่งถึงยุคอาณานิคม ชาวอังกฤษก็ได้ดัดแปลงเรือเหล่านี้ให้กลายเป็นโรงแรมที่พัก ได้รับความนิยมมากจนชาวแคชเมียร์สร้างบ้านเรือเป็นที่อยู่อาศัย ที่นี่คนอยู่กันอย่างพลุกพล่านค่ะ เราไม่ชอบหรอก แต่เรือของเขาหรูหรา และเงียบดี อาหารก็อร่อยมาก มีสาวญี่ปุ่นอยู่คนหนึ่ง มาอยู่เป็นเดือนเลย สงสัยมาติดใจมุสตาฟาแหงๆ เลย เพราะเจ้าหน้าที่ที่เรือให้ความเกรงใจมาก ขากลับเธอยังติดเรือเข้าฝั่งมากับมุสตาฟาด้วยเลย เค้าขับรถมาส่งพวกเราที่ท่าเรือด้วย คนนี้หล่อนะ แถมใจดีอีกต่างหาก มิน่าถึงเป็นขวัญใจสาวๆ กว่าจะกลับถึงเรือพวกเราก็ปาไปเกือบสี่ทุ่มแล้ว พอกลับมาพ่อบ้านถามว่าจะดูหนังไหม เลยต้องขอโทษเพราะว่าดึกแล้ว พรุ่งนี้ยังต้องเดินทางกลับ กระเป๋าก็ต้องแพคอีก เฮ้อ! งานเยอะจริงๆ เลย

23.00 น. นอนหลับพักผ่อนกันตามอัธยาศัย คืนนี้รู้สึกร้อนจริงๆ เลย ทำให้นอนหลับไม่สนิท มารู้สาเหตุตอนเช้าเพราะว่าเมื่อคืนดาปิดม่านหมดเลย


_______________________________________

 

20 กรกฎาคม 2551 ศรีนาการ์ (SRINAGAR) – เดลลี (DELHI) - SHOPPING AT JANPATH

 

             06.30 น. ตื่นกันแต่เช้า กินอาหารเช้าที่บ้านเรือ วันนี้เป็นวันสุดท้ายในอินเดียแล้ว หลังอาหารเช้า พวกเราก็ร่ำลาคนที่บ้านเรือแล้วก็ให้สินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเค้าได้ดูแลเราเป็นอย่างดี จัดเก็บสัมภาระให้เรียบร้อย แล้วเตรียมตัวเดินทางกลับ Delhi กัน

 

 

 

07.30 น. เดินทางไปที่สนามบินเมืองศรีนาการ์ ถึงสนามบิน Check-in โหลดกระเป๋าเดินทางเรียบร้อย โชคดีที่วันนี้เที่ยวบินไม่ Cancel & delay ทำให้พวกเราเดินทางได้อย่างโล่งใจ ก่อนเข้ามาในสนามบินก็ได้ให้สินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ กับคนขับรถทั้งสอง และ Stanzin ตานี่ก็ดีนะ ส่ง message มาขอบคุณเสียด้วย

10.40 น. ได้เวลาเหินฟ้าสู่ นิวเดลี (New Delhi) โดยสายการบินภายในประเทศ Air Deccan ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที

11.50 น. เดินทางถึงสนามบิน นิวเดลี (New Delhi) รถมารับที่สนามบิน ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารจีน อาหารอร่อยถูกปากมากเลย ทำให้มีแรงที่จะไปเดิน Shopping ที่ถนนจันปาทร์ (Janpath)


 

14.30 น. แต่เนื่องจากว่าวันนี้เป็นวันอาทิตย์ ร้านในถนนจันปาทร์ปิดเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ใช้เวลาเดินไม่นานนัก และอากาศค่อนข้างร้อน สุดท้ายเราไปซื้อของฝากที่ร้านเอ็มโพเรียม (เหมือนกับนารายณ์ภัณฑ์บ้านเรา) คุณภาพสินค้าดูดีค่ะ

19.30 น. กินอาหารเย็นให้อิ่มท้องกันก่อน (ร้านอาหารจีนเช่นกัน แต่เป็นอีกร้านหนึ่ง ซุปถ้วยเดียวทำพิษเลย อิ่มมาก แต่ก็สามารถที่จะกินอย่างอื่นต่อได้แหละ) แล้วเดินทางไปที่สนามบินนานาชาติ นิวเดลี (New Delhi)

22.00 น. Check-in โหลดกระเป๋าและสัมภาระขึ้นเครื่อง แล้วรอเวลากลับบ้าน โอมเพี้ยงขออย่าให้เครื่องบิน delay นะคะ

_______________________________________

 

21 กรกฎาคม 2551 เดลลี (DELHI) – กรุงเทพฯ (BANGKOK)

 

00.50 น. บอกลาอินเดีย ออกเดินทางกลับสู่มาตุภูมิโดย สายการบิน Indian Airline เที่ยวบินที่ IC853 มุ่งหน้าสู่ กรุงเทพมหานคร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง คืนนี้หลับพักผ่อนกันบนเครื่อง

เครื่องบินไม่ delay เท่าไร แต่พอขึ้นเครื่องได้เหมือนกับว่าหมดลานเลยเรา นอนลูกเดียวถึงแม้ว่านั่งข้างพี่หนิงแต่ก็ไม่อยากจะคุยกันแล้ว

06.15 น. เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสวัสดิภาพ พร้อมกับมุมมองใหม่ๆ ในโลกใบเดิม โลกที่แคบลงเสมอเมื่อการเดินทางสิ้นสุด....สวัสดีเมืองไทย

_______________________________________

 

 

 

ความประทับใจในทัวร์นี้

            ขอบอกว่าเป็นทัวร์ครั้งแรกในชีวิตที่โหดสุดสำหรับการนั่งรถ และไม่รู้ชะตากรรมตัวเองเลย เป็นการไปเที่ยวที่แปลกไปอีกแบบเพราะว่าโดยปกติจะต้องศึกษาไปก่อนแต่รอบนี้ ไปแบบตาบอด แต่ได้ความประทับใจในระดับหนึ่งซึ่งก็คงจะอยากไปเที่ยวอินเดียอีกแน่นอน ประทับใจในสถานที่ บุคคลและหลายๆอย่าง ได้รู้ถึงวิถีการดำรงชีวิตซึ่งไม่ลึกซึ้งแต่ก็สามารถสัมผัสด้วยตนเอง คงไม่ลืมง่ายๆ

 

 

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ จากอินเดีย

            เนื่องจากสถานที่ที่ไปนั้นเต็มไปด้วยภูเขาและถนนหนทางไม่ดีเท่าไร การคมนาคมยุ่งยากและไม่สามารถที่จะกำหนดเวลาที่แน่นอนตายตัวได้ และเนื่องจากต้องใช้เวลาในการเดินทางยาวนาน เป็นการน่าเบื่อที่จะนั่งชมวิวสองข้างทาง ดังนั้นทางการทางของอินเดียภายใต้ชื่อ Himark จึงได้ทำป้ายพร้อมคำเตือนใจสำหรับผู้ขับขี่ยวดยาน ให้ระมัดระวังการขับรถเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น 

         -  Alert today. Alive tomorrow

         -  If you are married, pelase divor speed

         -  If you drink whisky, driver is whisky

         -  Life is short don’t make it shorter

 

การขับรถในอินเดียต้องมี 3 G

-           Good break

-           Good horn and

-           Good luck

 

ที่สุดของอินเดียคือ

-           Population

-           Pollution

-           Corruption

_______________________________________

 

กระทู้การเดินทางของทริปนี้ มีรูปให้ดูอีกเยอะเลยค่ะ ตามไปดูกัน

 

แสดงความคิดเห็น
ติชมบทความ คลิ้กที่นี่ค่ะ

 

 

 

 

 

 




บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang