คำแนะนำ
|
|
เรื่อง อาการแพ้ความสูง
Altitude sickness
หรือ
เรื่อง อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง
Acute Mountain Sickness (AMS) |
|
|
|
เวลาไปเที่ยว เลห์ ลาดักห์ สปิติวัลเลย์
หรือ พื้นที่อื่นๆ
ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากๆ
เชื่อเถอะ เราผ่านมันมาแล้ว |
|
สาเหตุเพราะ เมื่ออยู่บนพื้นที่สูง ออกซิเจนเบาบาง ร่างกายพวกเราปรับตัวกันไม่ทัน เป็นอาการสุ่ม ที่เกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ทั้งชายและหญิง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของเราตอนนั้น ไม่สามารถบอกได้เลยว่า ใครจะเป็นหรือไม่เป็น |
|
อาการที่พบ |
ตัวอย่างอาการที่พบ เช่น นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว หายใจไม่ทัน เดินเซ ปวดหัว ปวดไหล่ ปวดกระบอกตา แน่นท้อง ไม่ถ่าย ง่วงตลอดเวลา อาเจียน ท้องเสีย หรือ เริ่มเห็นภาพหลอน เป็นต้น |
โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงมาก และร่างกายจะค่อยๆปรับตัวได้เองภายใน 1-2 วัน ถ้ามีอาการแบบนี้ แนะนำให้ นอนพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และกินยารักษาตามอาการ ไม่ต้องกลัวหรือกังวลจนเกินไป ทุกคนมีอาการมากน้อยเป็นธรรมดา |
วันแรกไม่เป็นอะไร ไม่ได้หมายความว่า วันต่อๆมาจะไม่เป็น มันเป็นกันได้ทุกคน เป็นได้ตลอดเวลา ให้คอยสังเกต และระวัง ห้ามทำกิจกรรมเร็วๆ เช่น วิ่ง กระโดด ลุกพรวดพราด แต่ก็อย่ากังวลมากจนเกินไป โดยในระหว่างทางท่องเที่ยว พยายามค่อยๆ ปรับตัวด้วยตัวเอง เช่น เดินเที่ยว เดินถ่ายรูป เดินช้าๆ |
|
ควรดื่มน้ำให้มาก |
จิบน้ำ หรือ ดื่มน้ำ ตลอดทั้งวัน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ น้ำจะช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด |
|
|
|
ยา Diamox |
|
Acetazolamide (Diamox) 250 mg (หรือตามคำแนะนำของแพทย์)
แนะนำให้กินทุกคน ยกเว้นท่านที่แพ้ยา เราแนะนำจากประสบการณ์การเดินทางในพื้นที่ที่มีความสูงมาก ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ ถ้าไม่มั่นใจ กรุณาปรึกษาแพทย์ และขอรับยาจากแพทย์ ด้วยตัวเองก่อนเดินทาง |
- ในพื้นที่ ที่มีระดับความสูง 4000 เมตร ขึ้นไป
กินวันละ 2 เม็ด โดยให้กินหลังอาหาร
เช้า 1 เม็ด และ เย็น 1 เม็ด
|
- ในพื้นที่ ที่มีระดับความสูง 3000 เมตร ขึ้นไป
กินวันละ 1 เม็ด โดยให้กินหลังอาหาร
เช้าหรือเย็น |
ถ้าเริ่มปรับตัวได้ ให้หยุดยา หรือค่อยๆพิจารณาตามอาการ |
|
ยา Diamox ไม่ใช่ยารักษาอาการแพ้ที่สูง |
เป็นยาที่ใช้รักษาโรคต้อหิน ยานี้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ สามารถลดความดันตา แต่มีหลักฐานทางการแพทย์ และงานวิจัยมากมายยืนยันว่า ยา Diamox สามารถช่วยป้องกันอาการจากการแพ้ที่สูงได้ และยังสามารถช่วยย่นระยะเวลาในการปรับตัว (Acclimatization) เมื่อขึ้นสู่ที่สูงได้ |
อย่างไรก็ตาม Diamox ไม่ใช่ยาที่กินแล้วจะป้องกันอาการได้ 100 % หรือกินแล้วจะทำให้ขึ้นที่สูงได้โดยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัว ยา Diamox ยังไม่สามารถใช้รักษาอาการแพ้ที่สูงอย่างรุนแรงได้ ในกรณีดังกล่าว จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ |
|
ทำไม Diamox ถึงสามารถป้องกันภาวะ High Altitude Sickness ได้ ? |
อาการแพ้ที่สูงเกิดจาก การที่ร่างกายไม่คุ้นเคยและปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากขึ้นไปอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งมีออกซิเจนในบรรยากาศเบาบาง ซึ่งกลไกอย่างหนึ่งของร่างกายในการช่วยเพิ่มออกซิเจนคือ การหายใจให้เร็วขึ้น ทำให้ได้ออกซิเจนมากขึ้น การกินยา Diamox จะทำให้ร่างกายหายใจเร็วขึ้น จากหลายกลไก ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการหายใจโดยตรง และการทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดมากขึ้น ร่างกายจะได้หายใจเร็วขึ้นเพื่อขับกรดออกไป ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ของยาจริงๆ ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากมาก จะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ |
|
ผลข้างเคียงของยา |
1. มีอาการชา หรือรู้สึกเป็นเหน็บที่ปลายมือปลายเท้า อาจรู้สึกซ่าๆ ตามปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ส้นเท้า หรือที่แก้มทั้งสองข้าง อาการนี้มักจะไม่รุนแรงและหายเองได้ เมื่อหยุดยาแล้ว |
2. การรับรสที่ลิ้นจะแปลกไป โดยรู้สึกแปร่งๆเวลาดื่มน้ำอัดลม อาการนี้พบได้บ่อย แต่ไม่รุนแรงและหายเองได้ |
3. ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากยา Diamox มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ทำให้บางคนปัสสาวะบ่อยขึ้น ควรดื่มน้ำมากๆ ดื่มให้เพียงพอ |
4. บางท่านมีอาการนอนไม่หลับ ให้เปลี่ยนมากินยาตอนเช้า แทนการกินหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน |
|
การแพ้ยา |
ถ้ามี ผื่นขึ้น ลมพิษ แน่นหน้าอก เหล่านี้เป็นอาการของการแพ้ยา ควรหยุดยาทันที ! ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ในกลุ่ม Sulfa รวมถึงยาปฏิชีวนะกลุ่ม Bactrim ไม่ควรกินยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง นอกจากนี้ในผู้มี โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง เพราะอาจมีปัญหาเวลาเดินทางขึ้นที่สูง รวมถึงมีปัญหาในการใช้ยาได้ |
|
ยาสมุนไพร |
พวกยาสมุนไพรต่างๆ เตรียมไปกินได้ เช่น |
กระเทียม น้ำมันกระเทียม กระเทียมเม็ด ช่วยไม่ให้เลือดหนืด ช่วยการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดความดัน
|
ขมิ้นชัน ช่วยไม่ให้ท้องอืด ลดแก็สในกระเพาะอาหาร กินแล้วสบายท้อง |
ขิง ช่วยขับลม ลดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนได้ดี
|
มะขามแขก ช่วยการขับถ่าย กรณีไม่ถ่ายหลายวัน |
|
ข้อควรปฏิบัติและสิ่งที่ควรทำ |
1. ก่อนเดินทาง ควรออกกำลังกายบ้าง แข็งแรงไว้ก่อนดีกว่า |
2. อย่าวิตกกังวล เวลาเที่ยวก็ทำใจให้สบายๆ ไม่ต้องห่วงอะไร |
3. ไปถึงวันแรก ควรพัก อย่างน้อยครึ่งวันควรอยู่แต่ในที่พัก อย่าออกไปไหน นั่งพัก ดื่มชาร้อนๆ ปล่อยใจสบายๆ สูดอากาศดีๆให้เต็มปอด ไม่ต้องรีบออกไปเที่ยว อย่าคิดว่าตัวเองไหว อย่าคิดว่าตัวเองแข็งแรง |
4. อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดความอบอุ่น ใส่เสื้อกันหนาวให้อุ่นเพียงพอ |
5. ดื่มน้ำ จิบน้ำบ่อยๆ ดื่มน้ำเยอะๆ อย่ากังวลเรื่องการเข้าห้องน้ำ |
6. พยายามหลีกเลี่ยง การกินอาหาร ผลไม้ หรือ ขนม ที่ย่อยยาก |
7. พอเริ่มปรับตัวได้ การเดินบ่อยๆ เดินช้าๆ จะช่วยปรับร่างกายได้ดีขั้น ขยันเดินเข้าไว้ |
8. ทำกิจกรรมทุกอย่างช้าๆ ลุกนั่งช้าๆ เดินช้าๆ อาบน้ำแต่งตัวช้าๆ มีสติตลอดเวลา ช้าๆเข้าไว้ |
9. ทำชีวิตให้รื่นเริง สนุกสนาน อย่าปล่อยให้ตัวเองหงอยหรือง่วงซึม อาการแพ้ที่สูง ชอบเล่นงานคนที่เซื่องซึม |
10. การง่วงในเวลาที่ไม่ควรง่วง คือภาวะของการเริ่มขาดออกซิเจน ควรดื่มน้ำทันที กระตุ้นร่างกายให้กระฉับกระเฉง |
11. ระหว่างนั่งรถ ควรเปิดหน้าต่างรถบ้างเป็นบางเวลา เพื่อให้ร่างกายรับออกซิเจนให้มากที่สุด |
12. ถ้ามีอาการแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ควรเขินอาย หรือปิดบัง ควรรีบบอกไกด์ หรือเพื่อนๆ ใกล้ตัว |
13. ไกด์ทัวร์หรือคนขับ สามารถให้คำแนะนำได้ ให้บอกเพื่อนหรือไกด์ทันที ที่มีอาการไม่สบายตัว |
14. ที่สำคัญ ไม่ควรกระโดดถ่ายรูป อันเป็นสิ่งที่เราอยากห้าม แต่ดูเหมือนจะห้ามไม่เคยได้เลย |
|
|
O2 แท็งค์ |
ใช้ในกรณีที่เริ่มมีอาการ หรืออาการไม่ค่อยดี
ทัวร์ท้องถิ่นที่เลือกใช้บริการ ควรมีเตรียมให้ |
|
download pdf |
โหลดไฟล์ไปอ่านกันนะ |
|
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ |
ที่อยู่ |
|
|
บ้านวันแรมทาง
1/60 ซ.อนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
|
โทรศัพท์ |
024054561 |
มือถือ - ปลา |
0898119139 (AIS) |
มือถือ - นุ้ย |
0816928233 (DTAC) |
Email |
wanramtang@hotmail.com |
Line Official ID |
@wanramtang |
|
|
วันทำงาน |
วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น.
|
วันเสาร์ เวลา 09.00-12.00 น. |
นอกเวลางาน งดการติดต่อทุกเรื่อง |
ถ้าไม่รับสายหรือโทรไม่ติด กรุณาติดต่อทาง Line |
|
|
|