บันทึกคนนำทาง ตอน Boarding Pass
ReadyPlanet.com
dot dot
Boarding Pass
           
 เรื่องโดย:  ชนิตา กัลยาณมิตร
ภาพโดย: สาริศา ชาวบ้านเกาะ
           
บันทึกคนนำทาง
ตอน:    BOARDING PASS
             

เขียนที่ กรุงเทพมหานคร
วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554
   
....

         

ประเทศอินเดีย  เช้าวันใหม่เริ่มต้นขึ้นอย่างสดใส วันนี้พวกเราต้องไปสนามบินกันแต่เช้าเพื่อเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองศรีนากา อากาศยามเช้าเย็นสบายๆ ทุกอย่างดูราบรื่นและปลอดโปร่ง 
  
คณะถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวเดินทาง หลังจากจัดการภารกิจส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อย พวกเราทุกคนมานั่งรอกันที่ล็อบบี้ของโรงแรม ได้เวลานัดหมายแล้วแต่รถยังไม่มาสักที รถของเรามาถึงโรงแรมสายกว่าที่นัดประมาณครึ่งชั่วโมง โชคดีที่โรงแรมที่พักอยู่ใกล้กับสนามบิน  เพียงแค่ 15 นาที พวกเราทุกคนก็มายืนพร้อมกันอยู่ที่หน้าสนามบินกรุงนิวเดลี
   
ทุกคนช่วยกันยกกระเป๋าใส่รถเข็น บอกลาคนขับรถ แล้วเดินเรียงแถวทยอยเข้าสู่สนามบิน เจ้าหน้าที่ทหารที่รักษาความปลอดภัย ขอตรวจเอกสาร ตั๋วเครื่องบินและพาสปอร์ตของพวกเราทีละคน ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เราเข้ามาภายในสนามบินแล้วก็รีบตรงดิ่งไปที่เคาน์เตอร์สายการบิน Jet Airways เพื่อทำเรื่อง Check In และโหลดกระเป๋าเดินทาง

   
เราได้รับ Boarding Pass กระเป๋าทุกใบไหลผ่านสายผ่านไปเรียบร้อย น้ำหนักก็ผ่านฉลุย ทุกคนทยอยเดินเข้าสู่ขั้นตอน Immigration และ Security Check แล้วก็เดินมุ่งหน้าไปที่ Gate เพื่อรอขึ้นเครื่อง

  
ประตูขึ้นเครื่องของเราอยู่ที่ Gate 47 เดินกันไกลมากทีเดียว ใช้เวลาร่วม 10 นาที กว่าจะเดินไปถึง พวกเราเดินผ่านโซนร้านขายสินค้าปลอดภาษี ผ่านรูปภาพสวยๆที่ตกแต่งอยู่ภายใน หลายคนตื่นเต้นกับเครื่องขายน้ำและขนมอัตโนมัติที่ตั้งอยู่ระหว่างทาง ก็อินเดียมันไม่ค่อยจะมีของเล่นแบบนี้ให้เห็น บางคนก็แวะถ่ายรูป บางคนก็ไปทดลองซื้อน้ำ ซื้อขนมมากิน พวกเรานั่งรอเวลาเรียกขึ้นเครื่อง กินขนม พูดคุย ถ่ายรูป ใช้เวลากันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งได้เวลาขึ้นเครื่องแล้ว ทุกคนก็ยังใจเย็นรอให้นักเดินทางคนอื่นๆเดินขึ้นเครื่องกันไปก่อน พวกเรากะจะเป็นกลุ่มสุดท้ายเพราะไม่อยากจะไปเบียดเสียดกับคนท้องถิ่นให้เสียความรู้สึก
   
เสียงเจ้าหน้าที่สนามบินประกาศเรียกครั้งสุดท้าย สายการบิน Jet Airways เที่ยวบินที่ 9W603 ดังแว่วมา ได้เวลาขึ้นเครื่องแล้วล่ะ ทุกคนเริ่มขยับตัวลุกขึ้นจากที่นั่งแล้วเดินเข้าสู่ประตูทางออกทีละคน
    
มาถึงนาทีนี้ ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเรียบร้อยดี จนกระทั่ง..
“นุ้ย ! Boarding Pass ของพี่ปลาอยู่ไหน อยู่กับนุ้ยหรือเปล่า?”

   
“เปล่า !! ของนุ้ยอยู่นี่ แต่ของพี่ปลามันไม่ได้อยู่ที่นุ้ย พี่ปลาเก็บมันไว้ไหน?” !!!

   
น้ำเสียงของนุ้ยเริ่มตกใจเล็กน้อย แล้วเราสองคนก็เริ่มตกใจจริงๆเมื่อเราหามันไม่เจอ

   
กระดาษใบนั้นมันหายไป เราสองคนช่วยกันหาแทบจะทุกซอกทุกมุม ในกระเป๋ากางเกง กระเป๋าเสื้อ กระเป๋าเดินทาง ซองเอกสาร ทุกๆจุดเท่าที่จะหาได้ เท่าที่จะคิดออกในนาทีนั้น แต่ก็มีแต่ความว่างเปล่า สีหน้านุ้ยเริ่มจะตกใจมากจริงๆ น้ำเสียงสับสนขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้คณะของพวกเราขึ้นเครื่องไปเกือบหมดแล้ว

    
เราตัดสินใจเดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่สายการบิน ซึ่งมีอยู่เพียงคนเดียวตรงนั้น พยายามถามไปว่า Boarding Pass หายไป เราต้องทำอย่างไร คุณช่วยแนะนำหรือช่วยอะไรเราได้บ้างไหม ตอนแรกเรายังคิดว่าเขาน่าจะช่วยอะไรเราได้บ้าง เจ้าหน้าที่คนนั้นขอดูพาสปอร์ต แต่แล้วเขาก็พูดกับเราว่า “เครื่องจะออกแล้ว ช่วยอะไรไม่ได้ ไม่มี Boarding Pass ก็ขึ้นเครื่องไม่ได้ เรารอไม่ได้”  เราพยายามขอให้เขาให้เวลา เพื่อที่จะไปออก Boarding Pass ใบใหม่ แต่เขาก็พูดอยู่แค่คำเดียวว่า “ไม่ได้ ไม่รอ” เจ้าหน้าที่คนนั้นให้เวลาเรา 2 นาที ให้เราหาBoarding Pass ให้เจอ แค่นั้นเองที่เขาบอกให้เราทำ น่าแปลกที่ไม่มีเจ้าหน้าที่สายการบิน Jet Airways คนอื่นๆอยู่ตรงนั้นด้วยเลย ที่หน้าประตูนั้นมีเจ้าหน้าที่ผู้ชายคนนี้อยู่แค่คนเดียว และเขาก็ไม่ช่วย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจอะไรเราเลย

   
จะถึง 2 นาทีหรือไม่ก็ไม่รู้ ทุกอย่างมันผ่านไปเร็วมาก เจ้าหน้าที่คนนั้นตะโกนบอกด้วยน้ำเสียงที่ไม่สุภาพกับเราอย่างแรง เขาตะคอกถามนุ้ยว่า “จะอยู่ที่นี่หรือจะขึ้นเครื่อง ถ้าจะไปก็ต้องไปเดี๋ยวนี้”  ตอนนั้นเราทั้งโกรธและเกลียดผู้ชายคนนั้น แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย

    
ยังไงนุ้ยก็ต้องบินไปกับคณะ เราสองคนรีบแบ่งกระเป๋ากัน ของสำคัญส่วนใหญ่แบ่งไปให้นุ้ย เหลือไว้แต่เป้สะพายหลังใบเล็กกับของที่จำเป็นนิดหน่อยเท่านั้น เจ้าหน้าที่สายการบินพานุ้ยเดินขึ้นเครื่องไปเป็นคนสุดท้าย เราสองคนพยายามตะโกนบอกอะไรกันบางอย่าง ทั้งที่สติตอนนั้นคงแทบไม่มีใครฟังกัน “ไปก่อน แล้วพี่จะรีบตามไป ไม่ต้องห่วงนะ”  พูดออกไปทั้งๆที่นาทีนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะพูดอะไรกับน้องดี เห็นหน้าก็รู้ว่าทั้งกลัวทั้งตกใจ นุ้ยยังไม่เคยนำพาคณะไปแคชเมียร์คนเดียว น้องคงตกใจกลัวมาก แต่ตอนนั้นเราสองคนก็ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกันจริงๆ

    
เวลาผ่านไป ที่หน้า Gate 47 เงียบไปหมดแล้ว ไม่เหลือใครแม้แต่คนเดียว มันเงียบจริงๆ มีผู้โดยสารบางคนเดินผ่านไปมาเพื่อจะไป Gate อื่นๆ พอมองไปรอบๆมันโหวงๆบอกไม่ถูก บางอย่างมันหนักๆหน่วงๆอยู่ในอก ความรู้สึกอ้างว้างและโดดเดี่ยว “ทุกคนไปกันหมดแล้ว เราเองก็ควรไปกับเขาด้วย แล้วนี่มันเกิดอะไรขึ้น แล้วจะทำยังไงต่อไปดี”
         
....

             

10:30 น.   ยังพอมีเวลาหาเครื่องบินไปศรีนากาวันนี้ได้ ต้องรีบหาตั๋วเครื่องบินใหม่ให้ได้ก่อน อย่างอื่นไว้ค่อยว่ากัน ตอนนั้นก็คิดแบบนี้ ไม่ได้รู้มาก่อนเลยว่า “วันนรกแตกของจริงมันเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น” ..
   
ในนาทีนั้น ขาสองข้างเริ่มเดินไปเรื่อยๆด้วยสัญชาตญาณ ไม่รู้เหมือนกันว่าควรไปไหนควรทำอะไรก่อน ระหว่างทางที่เดินกลับออกไปมีเจ้าหน้าที่สายการบิน Jet Airways เดินสวนมาสองคน คนหนึ่งเป็นผู้หญิงหน้าตาดีใส่เครื่องแบบสาหรีสวยเช้งแต่หน้าตาบึ้งตึงบอกบุญไม่รับ ในมือถือวิทยุสื่อสารมีป้ายติดที่หน้าอกว่า Duty Manager พอเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง เธอบอกแต่เพียงว่า "เสียใจค่ะ เครื่องออกไปแล้ว ตอนนี้เราช่วยอะไรคุณไม่ทันแล้ว”  เธอแนะนำให้ออกไปติดต่อที่เคาน์เตอร์สายการบินเพื่อขอเดินทางเที่ยวบินถัดไป เฮ้อ..ก็แค่นั้นเองที่เธอทำ

     
ฟังดูเหมือนมันจะง่ายๆ แต่ขั้นตอนการออกจากสนามบินมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย ทันที่ที่เดินไปถึงทางออกตรงส่วนของ Security Check เจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่ตรงประตูกลับบอกว่า “ออกไม่ได้ คุณต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน ต้องไปติดต่อที่เจ้าหน้าที่ตรงโน้น” เขาและเธอในเครื่องแบบทหารเหล่านั้นช่างมีอยู่มากมาย พวกเขาพากันชี้ไปทางโน้นทางนี้ ไปหาคนนั้นคนนี้ ให้เดินกลับไปกลับมาบริเวณนั้นอยู่ร่วม 20 นาที แล้วก็มีคนชี้ไปที่เจ้าหน้าที่ที่มีดาวเต็มบ่าระดับหัวหน้าคนหนึ่งในที่สุด ผู้ชายที่มีดาวเต็มบ่านั่น ชี้กลับไปที่ด้านในบริเวณโซนร้านขายสินค้าปลอดภาษี ส่วนที่เพิ่งเดินผ่านออกมา และพยายามอธิบายว่า “คุณต้องกลับไปติดต่อที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ด้านใน ตรงโน้น”  น้ำเสียงเน้นย้ำว่าตรงโน้นมันฟังดูไกลมาก ตรงไหนก็ไม่รู้คงเป็นสักแห่งที่เพิ่งเดินผ่านออกมานั่นแหละ

    
ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ มีผู้ชายนั่งอยู่ 2-3 คน สองในสามนั่งดื่มชาและคุยกัน ดูท่าทางแล้วไม่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอะไรตรงนั้น ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ มีไมโครโฟนวางอยู่ตรงหน้า ข้างๆตัวมี Boarding Pass ของสายการบินต่างๆวางอยู่ 5-6 ใบ“น่าจะเป็นของใครหลายคนทำหล่นไว้ แต่ช่างเถอะ ดูไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว”  หลังจากพยายามอธิบายเหตุการณ์ให้เจ้าหน้าที่คนนี้ฟัง คำตอบที่ได้รับก็คือ 
    
“คุณต้องเดินกลับไปที่ Gate 36 ไปติดต่อเจ้าหน้าที่สายการบิน Jet Airways ให้เขาพาออกไป คุณจะออกไปไม่ได้ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่พาไป”  
     
“เฮ้ย.. Gate 36 มันบ้าไปแล้ว นี่เดินวนอยู่ในนี้ชั่วโมงหนึ่งแล้ว เดินจนรอบ จะให้เดินกลับไปไหนอีก”  ตอนนั้นมันปรี๊ดแล้ว โกรธอย่างแรง โมโหจนสั่น นี่มันอะไรของมันวะเนี่ย !!

    
อาการปรี๊ดแตก คงสื่อได้ถึงเจ้าหน้าที่หนุ่มน้อยคนนั้น เขาบอกให้ใจเย็นๆรอก่อน แล้วเขาก็พยายามมองหาเจ้าหน้าที่ของสายการบิน Jet Airways ที่เดินผ่านไปมา เขาตะโกนถามเจ้าหน้าที่ของ Jet Airways ที่เดินผ่านไป 2-3 คน แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ทุกคนปฏิเสธแล้วก็เดินจากไป จนในที่สุด ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเดินผ่านมา อีกแล้วที่เป็นผู้หญิงคนนี้หน้าตาสวย ใส่ส่าหรี และมีป้ายที่หน้าอกว่า Duty Manager เหมือนกัน “ในนี้มันมี Duty Manager กี่คนกันวะ ?” 

   
ที่ต่างกันคือ ผู้หญิงคนนี้เดินยิ้มมาแต่ไกลแล้วถามว่า “มีอะไรให้ช่วยไหมคะ” แล้วเธอก็ช่วยจริงๆ ในที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นน้ำใจและมิตรภาพเล็กๆของวัน  
   
....

          

11:45 น.   เวลาผ่านไปกับความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะออกมาด้านนอกสนามบิน ในที่สุดก็มายืนอยู่ตรงหน้าเคาน์เตอร์สายการบิน Jet Airways จนได้ ที่เคาน์เตอร์มีแต่ความวุ่นวายสับสนโดยไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีผู้โดยสารมากมายตกเครื่อง เปลี่ยนเครื่อง เครื่องดีเลย์ สารพัดสารพันปัญหา ผู้คนไร้ซึ่งมารยาท ตะโกนโหวกเหวก ไร้ระเบียบวินัย วุ่นวาย เห็นแก่ตัว และไม่มีการต่อคิว กว่าจะได้เข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ก็เสียเวลาอยู่นาน
   
“วันนี้ไม่มีเที่ยวบินไปศรีนากาแล้ว คุณต้องบินไปพรุ่งนี้แทน”

   
คำตอบง่ายๆสั้นๆได้มาแค่นี้  

    
“พรุ่งนี้เลยเหรอ ไม่ได้หรอกยังไงก็ต้องไปวันนี้ให้ได้”

    
ป้ายตารางบินตรงหน้า บอกว่ามีเพียงสายการบิน Air India กับ Spice Jet Airlines ที่จะบินไปศรีนากาในอีกชั่วโมงกว่าๆข้างหน้า ดูเวลาแล้วถ้าโชคดีน่าจะยังพอหาซื้อตั๋วทัน แต่โชคก็ไม่ได้เข้าข้างกันขนาดนั้น เจ้าหน้าที่ขายตั๋วของทั้งสองสายการบินบอกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยเลย “ไม่มีค่ะ เที่ยวบินเต็มแล้ว เสียใจด้วย”  

    
“บ้าชะมัด เอายังไงต่อไปดีล่ะทีนี้”

    
สถานการณ์มันเริ่มจะบ้าขึ้นมาแล้วจริงๆ Counter Ticketing ของทุกสายการบินเต็มไปด้วยผู้คน และเจ้าหน้าที่ที่หน้าตาบอกบุญไม่รับ ถามไม่ตอบ แล้วก็ให้รอ รอ และรอ เวลาเดินผ่านไปเรื่อยๆ จะเที่ยงแล้วจนป่านนี้ยังทำอะไรไม่ได้เลย

    
เสียงโทรศัพท์ดังเรียกขึ้นมาอีก เพื่อนๆเอเยนต์ทัวร์ด้วยกันรู้เรื่องกันหมดแล้ว เราพยายามช่วยกันหาตั๋วเครื่องบินใบใหม่ ทุกเที่ยวบิน ทุกราคา ยังไงก็ต้องบินไปให้ได้วันนี้ แต่..
“เราจองให้ไม่ได้นะ ต้องจองล่วงหน้าสองชั่วโมง ตอนนี้คุณต้องช่วยตัวเองที่สนามบิน ต้องซื้อตั๋วจากเคาน์เตอร์ที่สนามบินเท่านั้น”
   
....

           

12:10 น.   มีเสียงแนะนำจากเจ้าหน้าที่ขายตั๋วคนหนึ่งดังมาจากช่องของสายการบิน Spice Jet Airlines  “ทำไมคุณไม่ลองไปที่Teminal  1 อาคารสายการบินภายในประเทศดูล่ะ  สายการบิน Go Air จะออกประมาณ 13:30 น. ลองไปจองที่นั่น อาจจะมีตั๋วว่าง” เหมือนเสียงสวรรค์มาโปรดเลยทีเดียว ไม่มีเวลาหันไปกล่าวขอบคุณด้วยซ้ำ ตอนนี้ที่ต้องทำคือการออกไปจากสนามบินให้เร็วที่สุด เพื่อไปเรียกรถแท็กซี่ไปที่ Terminal 1
   
อธิบายง่ายๆว่าเหมือนกับสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง สนามบินที่กรุงนิวเดลี มีชื่อเดียวคือ Indira Gandhi International Airport แต่แบ่งโซนเป็น Terminal ต่างๆ  สายการบินและเที่ยวบินหลักๆทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศจะอยู่ที่ Terminal 3  อันเป็นส่วนของ Terminal ใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้งานได้ไม่นาน ส่วนพวกสายการบินต้นทุนต่ำหรือ Low Cost Airlines ทั้งหลายที่บินภายในประเทศจะอยู่ที่ Terminal 1 ซึ่งอยู่ห่างกันออกไป ใช้เวลานั่งรถประมาณ 20-30 นาที 

    
ปัญหาก็คือ การออกจากสนามบินไม่ได้ทำกันง่ายๆ แค่ออกจากส่วนของผู้โดยสารรอขึ้นเครื่องมาตรงบริเวณเคาน์เตอร์เช็คอินยังเลือดตาแทบกระเด็น แล้วมีเหรอที่จะยอมให้ออกนอกสนามบินกันง่ายๆ ที่ประเทศอินเดียทุกสนามบินมีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมากๆ ถ้าไม่มีตั๋วเดินทางวันนั้นก็ไม่มีสิทธิ์เข้ามาภายในอาคารผู้โดยสารเด็ดขาด มีตั๋วเข้ามาภายในแล้วถ้าไม่เดินทางก็ไม่สามารถกลับออกไปภายนอกได้ง่ายๆ จะต้องมีเจ้าหน้าที่สายการบินนั้นๆพาออก พร้อมต้องกรอกเอกสาร ชี้แจงเหตุผลถึงสาเหตุที่ไม่เดินทาง โอย..มันช่างมากมาย มากมาย

    
กว่าจะไปขอเจ้าหน้าที่ ให้พาออกจากสนามบินได้ก็เสียเวลาไปพักใหญ่

    
ข้างนอกสนามบิน บริเวณหน้าอาคารผู้โดยสารขาออกที่อยู่ชั้น 2 ไม่มีรถแท็กซี่ให้เห็นแม้แต่คันเดียว ตอนนี้จำเป็นต้องวิ่งให้เร็วที่สุด ไปยังชั้น 1 ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารขาเข้า ที่นั่นมีคิวรถแท็กซี่อยู่ พอมาถึงก็เจอนักท่องเที่ยวฝรั่งกลุ่มหนึ่ง ยืนมุงกันอยู่หน้าห้องขายตั๋ว วุ่นวายพอๆกันกับคนอินเดีย “โธ่เอ้ย..นี่มันอะไรอีกวะเนี่ย” กว่าฝรั่งพวกนั้นจะจ่ายค่าแท็กซี่กันเรียบร้อยก็รอกันหลายนาที จ่ายค่าแท็กซี่ไป 150รูปี เพื่อไป Terminal 1 ได้เบอร์ลานจอดที่ 35 พอมาถึงลานจอดกลับว่างเปล่า ไม่มีรถจอดอยู่ หันไปถามคนขับแท็กซี่ที่ลานจอดใกล้ๆกัน ก็เหมือนเดิม “รอก่อน เดี๋ยวรถมา”

    
มันไม่มีเวลาให้รอแล้ว
    
“มีใครไปส่งให้ก่อนได้ไหม เดี๋ยวจะให้เงินเพิ่ม”  คนขับแท็กซี่ใส่เสื้อสีมอมๆที่ดูเหมือนไม่ได้ซักมาหลายวัน ที่ตรงลานจอดถัดไปเดินมาถามว่าจะไปไหน หลังจากคิดอยู่อึดใจก็เอียงคอเล็กน้อยเหมือนบอกให้รู้ว่า “โอเค ตามมาเลย” 
    
“รีบหรือเปล่า ถ้ารีบจะขับให้อย่างเร็วขอเพิ่มอีก 200 ละกัน”
    
“ไปเถอะ เร็วๆหน่อยเดี๋ยวจ่ายให้ No problem!”
    
....

             

12:45 น.   เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ตอนนี้ภาพที่ปรากฏเป็นเหมือนในหนัง คนๆหนึ่งยืนอยู่ภายในห้องจำหน่ายตั๋ว มีเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วของทุกสายการบินรายล้อมอยู่ตรงหน้า ภาพถ่ายวนไปวนมารอบๆ สับสนและงุนงงไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปดี 
   
“เที่ยวบินไปศรีนากาวันนี้มีหรือเปล่า เต็มหรือยังคะ”
   
“เสียใจครับ วันนี้เต็มหมดแล้ว คุณต้องไปพรุ่งนี้แล้วล่ะ”  เจ้าหน้าที่สายการบิน Go Air ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงเรียบๆ
   
“แล้ววันนี้มีเที่ยวบินอื่นอีกหรือเปล่าคะ ??”
   
“ไม่มีแล้วครับ เที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินสุดท้าย ยังไงลองไปถามที่เคาน์เตอร์ Travel Agents ด้านโน้นนะ เขาน่าจะช่วยแนะนำได้”
   
“วันนี้เที่ยวบินไปศรีนากา ไม่มีแล้ว Go Air เป็นเที่ยวบินสุดท้าย เต็มแล้วครับ over booking เลย เสียใจด้วยครับ ต้องเป็นพรุ่งนี้แล้วล่ะครับ” 

   
“แล้วเครื่องที่จะไปลงเมืองอื่นล่ะ เมืองใกล้อย่าง Jammu น่ะค่ะ มีไหม”
   
“ไม่มีครับ เต็มหมด เที่ยวบินสุดท้ายปิดรับจองแล้วเหมือนกัน”
    
เหมือนโลกทั้งใบมันจะมืดดับลงในนาทีนั้น ไม่มีทางอื่นๆเลยหรือไง ความอดทนอดกลั้นทั้งหมดที่เคยมีหมดลงในทันใด สติเริ่มแตก ความเสียใจเข้ามาแทนที่ ความรู้สึกแย่ๆถาโถมเข้ามาอย่างมากมาย 
   
ณ ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารภายใน Terminal 1 สนามบินกรุงนิวเดลี
   
ผู้หญิงคนหนึ่งยืนร้องไห้สะอึกสะอื้นอย่างไม่อายใคร ไม่อายฟ้าดิน ไม่อายใครหน้าไหนทั้งนั้น น้ำตาเอ่อล้นพรั่งพรูออกมาอย่างมากมาย ร้องไห้คนเดียว ท่ามกลางคนแปลกหน้ามากมาย ความคิดเพียงอย่างเดียวในตอนนั้น..

   
“พรุ่งนี้เลยเหรอ ไม่ได้หรอกยังไงก็ต้องไปวันนี้ให้ได้”
   
“ต้องไปหานุ้ย ต้องไปหาคณะ วันนี้ให้ได้”
   
เจ้าหน้าที่สายการบิน Go Air คนหนึ่งเห็นสภาพนั้นแล้วคงจะนึกสงสารเห็นใจขึ้นมาบ้าง ควักมือเรียกให้เข้าไปหา แล้วถามว่า 
   
“จ่ายเท่าไรก็จะไปอย่างนั้นเหรอ รอสักครู่นะ” 
   
แม้จะเป็นความหวังที่ริบหรี่แต่มันก็ยังมีอะไรให้หวังบ้าง 
   
“ขอโทษคะ แน่นจริงๆไม่มีที่ว่างเลย เสียใจด้วยนะคะ ฉันช่วยอะไรคุณไม่ได้จริงๆ”
   
เหมือนทุกอย่างมันจะจบจริงๆแล้วล่ะที่นี้

   
เสาต้นหนึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางของห้อง มีเก้าอี้นั่งล้อมรอบ ผู้โดยสารที่พยายามหาตั๋วเครื่องบินมากมายนั่งกันอยู่ตรงนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งกับผ้าเช็ดหน้าผืนน้อย ยังคงนั่งร้องไห้สะอึกสะอื้น ไม่มีความคิดใดๆ ทุกอย่างว่างเปล่าและเลื่อนลอย

        
....

               

13:00 น.   เสียงโทรศัพท์ทางไกลจากพาราณสีจากเพื่อนคนหนึ่งดังขึ้นอีก ครั้งนี้คำถามมีขึ้นอย่างร้อนรน ไม่มีเวลาให้ตัดสินใจอะไรมากมาย คำตอบต้องมาในวินาทีนั้น ทันทีที่วางสาย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดแล้วละนะ
   
“ปลา มีเที่ยวบินสุดท้ายของวันนี้ สายการบิน Spice Jet กำหนดบินไป Jammu เที่ยวบ่ายโมงครึ่ง แต่เครื่องดีเลย์ออกไปเป็นบ่ายสองโมง ที่นั่งยังว่างอยู่ แต่ผมออกตั๋วให้คุณไม่ได้ ถ้าคุณจะไป คุณต้องซื้อเองที่เคาน์เตอร์ ด่วนเลยนะ ด่วนเลย!!” 

   
“อีกอย่าง เที่ยวบินที่จะบินต่อจาก Jammu ไปศรีนากา วันนี้ไม่มีแล้ว คุณต้องค้างที่ Jammu คืนหนึ่งแล้วต่อเครื่องไปตอนเช้า หรือไม่ก็ต้องเหมารถยนต์ต่อไปเองอีก 8 ชั่วโมง จะเอายังไงตัดสินใจ ด่วนเลยนะ”

   
อีกห้านาทีถัดมา ตั๋วเครื่องบินใบใหม่ถูกพิมพ์ออกมาจากเครื่องปรินท์ แลกกับราคาค่าโง่ของผู้หญิงคนหนึ่ง จำนวน 10,531 รูปี แพงที่สุดเท่าทีเคยบินภายในประเทศอินเดีย เจ้าหน้าที่ขายตั๋วบอกว่าให้รีบเข้าไป Check-in เวลาเดิมเครื่องจะออก 13:40 น. แต่ตอนนี้เครื่องดีเลย์เวลาใหม่จะเป็น 14:05 น. และอาจจะดีเลย์ออกไปอีก 30-40 นาที

   
Check-in เรียบร้อยแล้ว ไม่มีกระเป๋าอะไรให้โหลดเลย ครั้งนี้เดินเข้าข้างในอย่างง่ายดาย กระเป๋าเป้บนหลังใบเล็กใบเดียวที่แทบไม่มีอะไรอยู่ข้างใน แทบไม่มีอะไรให้ตรวจค้น ทุกอย่างเหมือนจะเรียบร้อย คราวนี้ก็ได้แต่รอเวลา


....

           

14:05 น.   ได้เวลาที่เครื่องต้องออกแล้ว แต่ยังไม่มีประกาศเรียกให้ขึ้นเครื่อง หลายชั่วโมงผ่านมาแล้ว ยังไม่มีอะไรตกถึงท้อง ไม่ได้กินน้ำ ไม่ได้กินอะไร มีเรื่องมากมายจนไม่รู้สึกหิวเลยสักนิด ตอนนี้เงินที่มีก็ใกล้หมดแล้ว เหลือเงินติดตัวอีกไม่มาก น่าจะพอเป็นค่ารถต่อไปถึงได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือ โทรศัพท์ที่แบตเตอรี่ใกล้หมดเต็มที ถ้าไม่รีบหาที่ชาร์ตละก็แย่แน่ๆ ภายในบริเวณที่นั่งรอ มีที่ให้ชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์ เลือกที่นั่งใกล้ประตูขึ้นเครื่องหน่อยละกัน ไม่อยากจะพลาดอะไรอีกแล้ว
   
ตอนนี้ต้องรีบติดต่อไปทางแคชเมียร์ก่อน คณะคงเดินทางถึงศรีนากากันแล้ว ป่านนี้จะเป็นยังไงกันบ้างก็ไม่รู้

   
“นุ้ยเป็นยังไงบ้าง ทุกอย่างเรียบร้อยหรือเปล่า”
   
น้องต้องเจอเรื่องยากๆที่สนามบินศรีนากาแน่ๆ แต่นุ้ยแทบจะไม่ได้ตอบเลยว่าทางนั้นเป็นยังไง เอาแต่ถามว่าพี่ปลาเป็นยังไงท่าเดียว
   
“พี่หาเครื่องไปศรีนากาไม่ได้ เดี๋ยวจะบินไป Jammu แล้วจะเหมารถต่อไปหานุ้ยที่ พาลฮาลแกมเลย ยังไงคืนนี้พี่ก็ต้องไปหานุ้ยให้ได้ ไม่ต้องห่วงนะ”

   
นุ้ยพูดอะไรอีกมากมาย น้ำเสียงทั้งห่วง ทั้งกังวลและสับสน
   
“เครื่องบินไปศรีนากาที่ปกติมีวันละหลายเที่ยวบิน ทำไมวันนี้ไม่มี ทำไมมันเต็มหมด ทำไมพี่ปลาหาตั๋วมาไม่ได้ ทำไม??”
   
แม่หนูจำมัยส่งคำถามมามากมายเลยทีเดียว

  
“ไม่ต้องกังวลนะ พี่จะโทรหาเรื่อยๆ”
   
พวกเราไม่มีโทรศัพท์ที่แคชเมียร์ เลขหมายเดิมที่เคยใช้ถูกตัดสัญญาณไปแล้ว เพราะเราไม่ได้เข้าแคชเมียร์กันมากกว่า 3 เดือน ตอนนี้ถ้าจะติดต่อกันต้องโทรไปหาไกด์ของเราที่แคชเมียร์แล้วก็ขอคุยสายกับนุ้ยอีกที การติดต่อค่อนข้างลำบาก นุ้ยกับไกด์นั่งรถกันคนละคัน ที่สำคัญเดี๋ยวพอไปถึง Jammu โทรศัพท์ที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็จะถูกตัดสัญญาณ ถึงตอนนั้นคงติดต่ออะไรใครไม่ได้ ต้องใช้โทรศัพท์สาธารณะอย่างเดียว
   
เรื่องยุ่งยาก คงต้องตามมาอีกเยอะเลย

  
....

       

14:20 น.   มีประกาศให้ขึ้นเครื่องได้ บนเครื่องบินผู้โดยสารเต็มลำ กว่าเครื่องจะออกก็เกือบๆจะบ่ายสามโมง วันนี้อากาศไม่ดีเอาเลย ฝนตก ท้องฟ้ามืดครึ้ม  เครื่องสั่นและตกหลุมอากาศตลอดเวลา เที่ยวบินนี้ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง 30 นาที ดูมันช่างยาวนาน บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า “เราจะมาเครื่องบินตกตายคนเดียวเสียละมั้ง บนเครื่องนี้ไม่รู้จักใครเลย เฮ้อ.. ตายเหงาๆนี่มันไม่ดีเลย”
  
ชั่วโมงกว่าๆผ่านไป หลับไปหนึ่งตื่นแล้วก็ตกใจตื่นทันได้ยินเสียงกัปตันแว่วๆมาปลายเสียงว่า
  
“Situation under control, please don’t worry”
   
“โธ่ เกิดอะไรขึ้นล่ะ อะไรกันอีกวะ ดันตื่นมาทันฟังแค่ตอนจบซะได้”
   
“ได้เวลาเครื่องลงแล้ว ทำไมมันไม่ลงวะ ?? !!”

   
หันไปมองชายหนุ่มที่นั่งข้างๆ หนุ่มน้อยชาวสิกข์ หน้าตาดูสะอาดใต้หนวดเคราครื้มที่จัดตกแต่งอย่างเป็นระเบียบ หนุ่มน้อยนี่ดูหล่อเหลาเอาการ นั่งใกล้กันมาตั้งนานกลับไม่ทันได้สังเกต

   
“เกิดอะไรขึ้นคะ กัปตันพูดว่าอะไรนะ?”
   
“เขาบอกว่า อากาศไม่ดี ตอนนี้ต้องบินวนและต้องรอให้เครื่อง Air India ลงก่อน กัปตันบอกว่า ไม่ต้องกังวล สถานการณ์ควบคุมได้”
   
อือ.. ถึงว่าตื่นมาทันได้ยินแค่ตอนจบ
 
เล่นซะตกใจ..
  
....

        
                  

16:45 น.   สนามบิน Jammu เล็กและเงียบมาก แทบไม่มีอะไรเลย ร้านโทรศัพท์เล็กๆมีอยู่ร้านเดียวภายในตัวสนามบิน ถ้าออกไปข้างนอกแล้วก็จะกลับเข้ามาโทรไม่ได้อีก ตอนนี้ต้องส่งข่าวก่อน จากนี้ต้องเดินทางไกล จะเป็นยังไงบ้างก็ไม่รู้ อย่างน้อยบอกใครให้รู้ไว้บ้างก็ยังดี
   
ภายนอกสนามบิน เงียบกว่าด้านในเสียอีก บูทแท็กซี่เล็กๆมีเจ้าหน้าที่อยู่คนเดียว บอกราคาค่ารถไปพาลฮาแกม อยู่ที่ 4,000 รูปี แต่ให้คำตอบไม่ได้ว่าจะมีรถหรือไม่ ผู้โดยสารคนอื่นๆเริ่มทยอยกันออกมาเบียดเสียด ต่างคนต่างพยายามจับจองแท็กซี่ของตนให้ได้เร็วที่สุด เจ้าหน้าที่คนนั้นเริ่มไม่สนใจจะหารถให้ แล้วไปใส่ใจกับผู้โดยสารคนอื่นๆแทน เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ท้องฟ้าก็มืดลงทุกที 

   
ตอนนี้ต้องลองหาโทรศัพท์ติดต่อเพื่อนดู เผื่อจะทำอะไรได้ดีกว่าที่เป็นอยู่บ้าง แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็ไม่ให้กลับเข้าไปด้านในแล้ว แย่จัง..เอายังไงล่ะทีนี้ 
   
ขณะที่กำลังมองซ้ายมองขวาอยู่ จู่ๆก็มีเจ้าหน้าที่สายการบิน Jet Airways คนหนึ่งเดินผ่านมาพอดี เขาถามมาเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงกระท่อนกระแท่นว่า “มีอะไรให้ช่วยไหม”  ก็เลยบอกเขาไปว่าอยากจะโทรศัพท์แต่เข้าไปไม่ได้แล้ว
   
พี่คนนั้นส่งโทรศัพท์มือถือมาให้ พูดเป็นภาษาฮินดีว่า “เอ้า..โทรเลย ไม่เป็นไร” 
   
คนอินเดียที่มีน้ำใจก็มีเยอะเหมือนกันนะ คุยโทรศัพท์เสร็จก็เดินกลับไปที่บูทแท็กซี่อีก ตอนนี้เจ้าหน้าคนนั้นพูดเต็มปากเต็มคำเลยว่า “ไม่มีรถ ลองออกไปดูแท็กซี่ ข้างหน้าสนามบินดู ตรงนั้นอาจจะมี” 
    
เจ้าหน้าที่ Jet Airways คนเดิม ที่คงจะเดินตามมาห่างๆเข้ามาคุย เราพยายามคุยกันอย่างยากลำบากเป็นภาษาฮินดี เขาก็พาเดินออกด้านนอกสนามบิน ตรงนั้นมีคิวรถแท็กซี่อยู่จริงๆ มีผู้โดยสารหลายคนกำลังเจรจาต่อรองราคา พี่เขาก็เข้าไปช่วยเจรจากับหัวหน้าคิวให้ บอกว่าเราต้องการรถไปพาลฮาลแกมวันนี้ ยืนคุยกันอยู่พักใหญ่ตอนแรกก็ไม่มีใครยอมไป แต่ในที่สุดเราก็ได้รถเล็กๆมาคันหนึ่ง คนขับเป็นชาวสิกข์ เรียกราคามาที่ 4,500 รูปี จ่ายทั้งหมดเมื่อถึงปลายทาง ก็โอเค.. มีทางเลือกไม่มากอยู่แล้วนี่นา 

  
....

           

17:30 น.   ระยะทางจาก Jammu ถึง พาฮาลแกม ประมาณ 300 กิโลเมตร ถ้าขับไปเรื่อยก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง คิดว่าถ้าออกเดินทางตอนนี้ ไม่เกินตีสอง คงไปถึงโรงแรมที่คณะพักกันอยู่ เจ้าหน้าที่ Jet Airways ยังคงตามมาส่งขึ้นรถ แล้วยังให้ยืมโทรศัพท์เพื่อโทรบอกเพื่อนและไกด์ที่แคชเมียร์ ถึงข้อมูลคนขับ ชื่อนามสกุล หมายเลขโทรศัพท์มือถือ เลขทะเบียนรถ ยี่ห้อและรุ่นของรถที่นั่ง เราบอกลากัน เขาโบกมือให้กำลังใจ ไม่ได้ขอเงินหรืออะไรอย่างที่แอบนึกกลัวๆแต่แรก วันนี้จะว่าไปแล้วก็โชคดีเหมือนกันนะที่ได้เจอคนดีๆมากมาย 
   
ผ่านมาได้เพียง 15 นาที รถวิ่งผ่านเข้าไปในตัวเมือง Jammu คนขับรถเลี้ยวเข้าปั้มน้ำมัน เติมน้ำมันจนเต็มถัง แล้วเรื่องที่คาดไว้แล้วแต่แรกก็เกิดขึ้นจนได้ 

   
“คุณจ่ายค่าน้ำมันให้ด้วยได้ไหม ที่เหลือค่อยไปจ่ายเมื่อถึง”
   
นั่นไง คิดไว้แล้วเชียวว่าพี่แกต้องมามุขนี้ เถียงกันอยู่สักครู่หนึ่ง ก็ตัดสินใจจ่ายไป 2,000 รูปี ยังไงเราก็เดินทางคนเดียว เขาจะทุบหัวเอาเงินไปหมดเมื่อไรก็ทำได้ง่ายๆอยู่แล้ว อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิดล่ะงานนี้
   
ออกจากปั้มน้ำมันไม่เท่าไร พี่แกก็บอกว่าจะต้องเปลี่ยนรถ แกไปไม่ได้โทรศัพท์แบตเตอรี่หมด ไปไม่ได้ ไอ้เราก็งง “แล้วมันเกี่ยวอะไรกันวะ?”  คนขับยืนยันว่าต้องเปลี่ยนรถ แต่ไม่ต้องห่วงอะไร เดี๋ยวหารถใหม่ให้ ค่ารถไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แล้วแกก็พาขับมาถึงคิวรถแท็กซี่ในเมือง ที่นั่นมีรถจอดอยู่มากมาย ถึงตรงนี้ก็พอจะนึกภาพออกแล้วว่า พี่แกทำตัวเป็นนายหน้าชัวร์ 2,000 รูปี ที่ให้แกไปแล้วนั้น แกกินเข้ากระเป๋าตัวเองแน่ๆ ที่เหลือคงตกเป็นของคนขับที่ยังเป็นใครก็ไม่รู้

   
คนขับพยายามติดต่อรถคันใหม่ อยู่ 2-3 คัน จะว่าไปแกก็ดี ที่แกพยายามเลือกรถคันใหญ่ๆที่ดูดี และน่าจะวิ่งทางไกลได้ปลอดภัย รถคันแรกๆที่เราจอดถาม เรียกราคาถึง 7,000 รูปี พวกเขาคุยกันเป็นภาษาฮินดี โชคดีที่เขาไม่รู้ว่าเราเข้าใจ คนขับส่ายหน้าปฏิเสธ แล้วก็หันมาบอกว่าแพงไป ไม่ไหว ไม่ดี ก็ยังดีที่แกไม่ได้โกหกอะไร 

    
เรามาเจอรถคันสุดท้าย รถใหม่คันใหญ่และสภาพดีทีเดียว คนขับรถที่มารู้ทีหลังว่าชื่อ อับดุล เรียกราคาค่ารถที่ 3,000 รูปี จริงๆแล้วราคานี้เป็นราคามาตรฐานที่เช็คข้อมูลมาก่อนแล้ว อับดุล ไม่ได้โก่งราคาอะไร แต่ลุงนายหน้าไม่ยอมควักเนื้อตัวเอง แกบอกว่า “รถใหม่มาก คุณจ่ายเพิ่มอีก 500 รูปี นะ โอเคไหม?” ตกลงว่าจ่ายลุงคนขับคันแรกที่ทำตัวเป็นนายหน้า ไป 2,000 รูปี และต้องจ่าย อับดุลเป็นค่ารถคันใหม่อีก 3,000 รูปี อับดุลไม่ได้เรียกเก็บเงินก่อนแต่อย่างใด บอกให้จ่ายเมื่อไปถึง เราใช้โทรศัพท์อับดุลโทรหาเพื่อนและไกด์ที่แคชเมียร์อีกรอบ เมื่อทุกอย่างพร้อม เราก็ออกเดินทาง 

  
....

                

18:00 น.   คราวนี้การเดินทางไกลเริ่มต้นจริงๆเสียที รถเริ่มวิ่งออกจากตัวเมือง ไต่ขึ้นไปตามไหล่เขา เส้นทางจาก Jammu ไปพาฮาลแกม เป็นเส้นทางเดียวกันกับที่จะวิ่งไปเมืองศรีนากา ถนนคดเคี้ยวขึ้นลงตามไหล่เขา จริงๆแล้วมันเป็นถนนที่สวยงามมากเส้นหนึ่ง เวลาเย็นมากแล้ววันนี้รถไม่ติดเหมือนเมื่อปีก่อนนี้ที่เคยมากับคณะ อับดุลขับรถได้ดีทีเดียว เขาใช้ความเร็วไม่มากนัก ค่อนข้างระมัดระวัง ไม่ค่อยพูดคุยและเคี้ยวหมากตลอดเวลา 
   
ไกด์ที่แคชเมียร์โทรศัพท์เข้ามาเช็คทุกๆชั่วโมง ว่าเราถึงไหนกันแล้ว

    
อับดุลไม่ได้หงุดหงิดอะไรที่มีคนโทรมาเช็คบ่อยๆ เขาดูจะเป็นคนที่ชอบพูดคุยโทรศัพท์ด้วยซ้ำ เครื่องโทรศัพท์ของอับดุลเป็นเครื่องรุ่นใหม่ มี 2 ซิม อับดุลโทรกลับไปบอกเมียที่บ้านว่าไม่ต้องรอ เพราะคืนนี้ต้องไปส่งลูกค้าที่พาฮาลแกม พรุ่งนี้ถึงจะกลับ เขาโทรไปหาเพื่อนๆที่ศรีนากา บอกให้หาลูกค้าที่ต้องการรถจากศรีนากากลับไป Jammu วันพรุ่งนี้ ไอ้หมอนี่ฉลาดดีทีเดียว เตรียมหาลูกค้าขากลับไว้ด้วย

   
รถวิ่งมาได้ 3 ชั่วโมง ฝนเริ่มโปรยปราย อากาศเริ่มหนาวเย็นกว่าเดิม

   
ในเป้สะพายหลังใบเล็กที่ติดตัวมา มีแค่เพียงผ้าพันคอผืนเล็กๆ หมวกกันหนาว เสื้อกันหนาวสีดำใส่ติดตัวอยู่ตั้งแต่แรกคงทำให้อุ่นพอประมาณ  ท้องเริ่มหิวแต่ในกระเป๋ามีน้ำขวดเล็กอยู่แค่ 2 ขวด คงพอกินได้ไปจนถึงที่หมาย ขนมขบเคี้ยวไม่มีติดมาด้วยเลย แต่ก็ไม่คิดจะกินอยู่แล้ว คืนนี้คงหลับไม่ได้ ปล่อยให้ท้องหิวก็ดีเหมือนกันจะได้ไม่ง่วง 

    
ฝนตกหนักมากขึ้น อากาศหนาวเหน็บ อับดุลขับช้าลงกว่าเดิม แต่พักเดียวก็รู้สึกอุ่นขึ้น อับดุลคงเปิด Heater ในรถ ตอนนี้อุ่นสบายเลยทีเดียว เรามากันได้อีกสักพัก ผ่านตลาดเล็กๆในเมืองแห่งหนึ่ง อับดุลชวนลงไปกินชาร้อนๆ ร้านขายชาเป็นร้านเล็กๆมีคนอยู่ไม่มาก คนขายกำลังดูหนังแขก หนังเก่ามากมี Amitabh Bachchan ที่ยังดูหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวเป็นพระเอก หนังกำลังสนุก แทบไม่มีใครอยากชงชาให้เรากิน เรานั่งกินชาและดูหนังกันครู่หนึ่ง ก็ออกเดินทางกันต่อ

   
ระยะทางอีก 100 กิโลเมตร ฝนตกหนักกว่าเดิม อับดุลแวะจอดกินข้าวและสูบบุหรี่ เขาขอสูบบุหรี่และกินหมากไปตลอดทาง อับดุลเริ่มจะง่วง เขาขับช้าลง ฝนตกหนักขึ้นจนแทบมองไม่เห็นอะไร รถวิ่งผ่านอุโมงค์ การได้เห็นอุโมงค์นี้นับเป็นเรื่องดีที่บอกให้รู้ว่าเราใกล้จะถึงแล้ว เส้นทางจาก Jammu ไป ศรีนากา จะต้องผ่านอุโมงค์ที่ยาวมากแห่งหนึ่ง อุโมงค์นี้เจาะรอดภูเขาทั้งลูกเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของถนนเส้นนี้ ผ่านอุโมงค์แล้วไม่นานก็จะถึงทางแยกระหว่างการไปศรีนากากับพาฮาลแกม อีกไม่ไกลแล้วล่ะ

   
ตอนนี้เที่ยงคืนกว่าแล้ว อับดุลจอดที่จุดเช็ครถแห่งหนึ่ง เขาลงไปพร้อมเอกสารเพื่อเสียภาษี คิดว่าน่าจะเป็นภาษีข้ามเมือง หรืออะไรทำนองนั้น ฝนตกหนักเหมือนฟ้ารั่ว ตอนนี้เขาทำความเร็วได้ไม่ถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราแทบจะคลานกันแล้ว กิ่งไม้เริ่มหักลงมาบนถนน ตลอดทางเราไม่เห็นรถคันอื่นๆวิ่งสวนทางมาเลยแม้แต่คันเดียว

   
เราเลี้ยวเข้าสู่ถนนที่มุ่งหน้าไปพาลฮาลแกมแล้ว อับดุลไม่แน่ใจเส้นทาง คิดว่าเขาอาจจะหลง เราแวะดูป้ายและหลักกิโลเมตรกันไปตลอด เหลืออีกเพียง 30 กิโลเมตรก็จะถึงพาลฮาลแกม แต่ลมแรงขึ้นเรื่อยๆ รถวิ่งไปช้าๆ ถนนมืดมิดไม่มีแม้แต่แสงไฟ แต่อย่างน้อยเราก็มากันถูกทางแล้ว เส้นทางคุ้นเคยเริ่มผ่านเข้ามาในความทรงจำ อีกไม่ไกลจริงๆแล้ว

   
....

            

02:10 น.   รถมาถึงตลาดกลางเมืองพาฮาลแกม อับดุลโทรหาพนักงานที่โรงแรม คนที่ไกด์ของเราให้เบอร์โทรไว้ เขาถามทางเข้าสู่โรงแรม เราไปกันช้าๆฝนเริ่มซาแล้ว แต่น้ำยังท่วมเจิ่งนองเต็มถนน เราเห็นแสงไฟจากไฟฉายส่องวับๆแวมๆเป็นการบอกทางมาจากเบื้องหน้า อับดุลหันมายิ้ม เขาขับไปตามแสงไฟนั้น แล้วรถก็มาจอดหน้าโรงแรมในที่สุด 
   
อับดุลขอทิปให้เขานิดหน่อย หลังจากได้รับเงินค่ารถ 3,000 รูปี เงินสองร้อยรูปีที่ให้เพิ่มไปทำให้เขายิ้มอย่างพอใจ อับดุลบอกว่าคืนนี้เขาจะจอดรถนอนตรงนี้แหละ พรุ่งนี้เช้าถึงจะกลับ เขาฝากโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่โรงแรมเอาไปชาร์ตแบตเตอรี่ให้ แล้วเราก็บอกลากัน

   
เจ้าหน้าที่โรงแรมเป็นหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่อยู่คอยจนดึก เขาเอาร่มมารับพากันเดินเข้าไปในโรงแรม ฝนตกลงมาอีกแล้ว ลงมาจากรถจึงรู้ว่า อากาศข้างนอกเย็นจัดและหนาวเหน็บแค่ไหน ละอองฝนที่กระเซ็นมาโดนเย็นเฉียบราวกับน้ำแข็ง เราเดินข้ามสะพาน ข้ามแม่น้ำรีดเดอร์เข้ามาที่หน้าโรงแรม หน้าประตูมีกองหิมะเก่าๆอยู่กองหนึ่ง อากาศเย็นเฉียบหนาวเข้าไปในกระดูก ประตูโรงแรมปิดล็อคอยู่ คนเฝ้าคงหลับไปแล้ว เด็กหนุ่มนั้นทั้งตะโกนและเขย่าประตู เขาเรียกอยู่นานมากกว่าจะมีคนเดินออกมาเปิดประตูให้

  
....

           

02:30 น.   ห้อง 119 นุ้ยเปิดประตูห้องออกมารับ พร้อมด้วยรอยยิ้ม รอยยิ้มที่แสนจะอบอุ่น เราสองคนกอดกันแน่น แน่นที่สุดเหมือนไม่เคยกอดกันมาก่อนในชีวิต น้ำตาที่แห้งเหือดไปแล้วเมื่อตอนบ่ายกลับมาอีกครั้ง มันพรั่งพรูมาจากไหนก็ไม่รู้ 
  
“พี่มาหานุ้ยได้แล้วนะ มาหาได้แล้ว”  คำพูดวกไปวนมาอยู่แค่นี้ 
  
ค่ำคืนที่มีความสุขกลับมาอีกครั้ง เรื่องเลวร้ายผ่านไปแล้ว

  
ความหนาวเย็นหายไปแล้วเหมือนกัน ห้องนี้อบอุ่นเหลือเกิน

   
....

         

29 มีนาคม 2554   เช้าวันใหม่ในเมืองพาลฮาลแกม ทุกคนรออยู่แล้วที่ห้องอาหาร รอยยิ้มและคำทักทายที่อบอุ่นมีขึ้นมากมาย ความสุขตลบอบอวลไปทั่วห้อง เวลาที่มองหน้าทุกคน ก็อยากจะบอกขอโทษสักร้อยครั้งพันครั้ง ขอโทษในความผิดพลาดที่ไม่สมควรเกิดขึ้น เรื่องโง่ๆที่ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร
   
เวลาผ่านไปช้าๆ การเดินทางของคณะนี้จบลงแล้ว

   
วันนี้ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านมาแล้ว แต่หัวใจดวงนี้ยังคงรู้สึกหนักอึ้ง ภาพเหตุการณ์ต่างๆยังคงตามมาหลอกหลอน ทุกครั้งที่เดินขึ้นเครื่องบิน ก็เหมือนคนจิตตกที่ต้องคอยหยิบบัตร Boarding Pass ขึ้นมาดูทุกห้านาที …
  
“Where is my Boarding Pass??”
อย่าถามนะว่ามันอยู่ไหน เพราะว่าจนป่านนี้ก็ยังหาไม่เจอ
   
สิ่งที่ควรถามคือ..
  
ถ้ามันเกิดขึ้นกับคุณ คุณจะทำยังไง

  
....

             

จบบันทึก-
  
 
ขอบคุณ "นุ้ย" น้องสาวแสนดี ที่รอคอยอย่างเข้มแข็งและอดทน
ขอบคุณ "ลูกทัวร์" ทั้ง 12 ชีวิต ที่ห่วงใยและให้อภัย
  
ขอบคุณค่ะ..

             
 



บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
สู่แดนพระพุทธองค์ article
สัมผัสหิมาลัย ในดินแดนทิเบตน้อย article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang