ท่องเที่ยวอินเดีย เนปาล ตามรอย พุทธประวัติ สู่แดนพระพุทธองค์
ReadyPlanet.com
dot dot
สู่แดนพระพุทธองค์ article

      

         เรื่องและภาพ โดย "สาริศา ชาวบ้านเกาะ"

 

 

บันทึกแรมทาง ตามรอยพุทธประวัติ สู่แดนพระพุทธองค์

วันที่ 17 - 21 กุมภาพันธ์ 2550

 

การเดินทางไปอินเดียอาจไม่ยากนัก แต่ก็ไม่ง่าย ทุกอย่างอยู่ที่ข้อมูลและการเตรียมตัว แต่ถึงจะรู้ทั้งรู้ เราเองกลับไม่ได้เตรียมตัวอะไรสักเท่าไหร่ ด้วยหลายๆ เหตุผล แต่ที่สำคัญกว่าการเตรียมตัวที่ดี คือการมีมิตรดีๆ สักคนเป็นเพื่อนร่วมทางต่างหาก

ขั้นตอนการขอหนังสือเดินทาง (Passport) และวีซ่าเข้าประเทศอินเดีย ไม่ยุ่งยากวุ่นวายอะไร ดำเนินการได้ก่อนการเดินทางแต่เนิ่นๆ ก็จะดีมาก กันพลาด แต่ก็อีกนั่นแหละ ขนาดรู้ทั้งรู้ก็ยังพลาด แต่ก่อนวีซ่าอินเดียให้คนไทย 6 เดือน และสามารถขอเป็นแบบ Multiple ได้ คือเดินทางเข้าออกกี่ครั้งก็ได้ใน 6 เดือน แต่ปัจจุบัน ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางอย่าง อินเดียให้วีซ่าคนไทยแค่ 3 เดือน และให้เป็นแบบ Single อย่างเดียว คือเข้าและออกได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น มันก็สร้างปัญหากับโปรแกรมการเดินทางของเราบ้างเล็กน้อย เพราะการจะออกไปสักการะชาตะสถานของพระพุทธองค์ ณ ลุมพินีวันสถาน ซึ่งอยู่ในเขตประเทศเนปาล ถ้าออกไปแล้วเราจะกลับเข้าอินเดียไม่ได้อีกเป็นรอบที่ 2 แต่ทุกปัญหามีทางออกเสมอ อันนี้อยู่ที่กำลังภายในเล็กน้อย

เอกสารพร้อมแล้ว ก็ดำเนินการเรื่องตั๋วเครื่องบินไปและกลับให้เรียบร้อย ส่วนเรื่องพาหนะที่ต้องใช้ระหว่างการเดินทางที่อินเดีย ทั้งรถไฟ รถเช่าพร้อมคนขับและคนนำทาง ถ้าไม่ได้ไปกับบริษัททัวร์ ก็ควรติดต่อหาตัวแทนทางอินเดียจัดการไว้ให้เรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการเดินทางของเรา อย่าหวังน้ำบ่อหน้า เพราะว่าอาจไม่มีและไม่ง่าย จะโดนแขกฟันแหลกเสียเปล่าๆ 

ทริปนี้เราเดินทางกัน 2 คนจากกรุงเทพ แล้วไปเจอกับทีม คือพระอาจารย์ที่จะนำเราไปสักการะสังเวชนียสถานแต่ละที่ รวมทั้งให้ข้อมูลความรู้แก่เรา, Escort ชาวอินเดียที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกในการเดินทางทุกขั้นตอน และพลขับ พร้อมรถที่จะพาเราไปทุกที่ที่มีทาง (ที่ไม่มีทางเราขอละไว้ก่อน)

เป้าหมายหลักในการเดินทาง 5 วันของเรา (วันที่ 17 21 กุมภาพันธ์ 2550) คือพุทธสังเวชนียสถานทั้ง 4 ใน 4 ตำบล ของประเทศอินเดียและเนปาล ได้แก่ ตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้, ตำบลสารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา ตำบลกุสินารา สถานที่ปรินิพพาน, สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ ในประเทศเนปาล และมาเยือนอินเดียทั้งทีถ้าไม่ถึงพาราณสี นครอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูอายุกว่า 4,000 ปี ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ก็เรียกว่ามาไม่ถึงอินเดีย เราจึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

วันแรกของการเดินทาง (วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2550)

จุดหมาย - พุทธคยา แดนตรัสรู้

มาถึงสนามบินแต่เช้า เพื่อ Check in ตอน 8.25 น.ก่อนเวลาบิน 2 ชั่วโมง พอโหลดกระเป๋าเรียบร้อย เวลาที่เหลือก็ไปหาอะไรกินรองท้อง และแลกเงินให้เป็น US ดอลล่าร์ เพื่อเตรียมไปแลกเป็นเงินอินเดียรูปีที่อินเดียอีกที ค่าเงินอินเดียรูปีถูกกว่าเงินบาทเล็กน้อย แลกไปซัก 150 200 ดอลล่าร์ก็น่าจะพอ ขึ้นอยู่กับว่าเดินทางอย่างไร พักที่ไหน และจะซื้อของฝากมากน้อยแค่ไหน สำหรับทริปนี้เราพักวัดไทยทุกคืน กินข้าววัดแทบทุกมื้อ เดินทางโดยรถเช่า และรถไฟ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่หัวหน้าทริปอยู่แล้ว เผื่อติดตัวไว้สำหรับทำบุญตามศรัทธา และซื้อของฝากบ้างเท่านี้ก็เหลือเฟือแล้ว

สายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 8820 เครื่องขึ้นตรงเวลา 10.25 น. เหิรฟ้าออกเดินทางจากสุวรรณภูมิ ปลายทางที่สนามบินนานาชาติเมืองคยา(Gaya International Airport) รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.10 ชั่วโมง ถ้ามีเพื่อนคุย นั่งมองวิวท้องฟ้าและก้อนเมฆไปเรื่อยๆ ก็ไม่ถือว่านานนะ ตอนที่เครื่องกำลังจะลง มองเห็นทิวทัศน์เมืองคยาด้านล่าง สวยแปลกตาดี เห็นสายทางของแม่น้ำเนรัญชราแต่ไกล ทีแรกคิดว่าน้ำในแม่น้ำแดงจัง สงสัยเป็นเพราะฝนที่ตกลงมาที่นี่เมื่ออาทิตย์ก่อนเราเดินทางมา แต่พอได้เห็นในระยะใกล้ขึ้น กลายเป็นว่าที่เห็นนั้นคือพื้นทรายของแม่น้ำเนรัญชรา ฤดูนี้ไม่มีน้ำเพราะเริ่มเข้าแล้งแล้ว

เราถึงสนามบินเมืองคยา 12.15 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอินเดีย ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 1.30 ชั่วโมงพอดี ที่นี่ห้ามถ่ายภาพในบริเวณสนามบินนะ แต่ก่อนจะโดนห้ามก็ถ่ายไปได้นิดหน่อย ระหว่างรอเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร ก็ไปเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยเสียก่อนเป็นดี เพราะอินเดียหาห้องดียาก ผ่านขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อย พระอาจารย์ชาญชัย, โมรารี ซิง ผู้ช่วยชาวอินเดีย พร้อมรถและคนขับก็มารอรับอยู่ด้านหน้าสนามบินแล้ว มีคนช่วยยกกระเป๋าขึ้นรถเรียบร้อย ทีแรกคิดว่าเค้ามาด้วยกันกับทีมเรา แต่จริงๆ แล้วคือเค้าอยากช่วยเพราะอยากได้เงินเรา แต่ก็ไม่จำเป็นต้องให้นะ

จากสนามบินคยาเรามุ่งหน้าเข้าสู่วัดไทยพุทธคยา เพื่อรายงานตัวเข้าที่พักในคืนแรกและเก็บสัมภาระเข้าห้อง จริงๆ เราควรจะต้องกินอาหารกลางวันที่วัดเมื่อมาถึง แต่เพิ่งกินก่อนจะลงจากเครื่อง และไม่อยากรบกวนแม่ชี เพราะมันเลยเวลาอาหารกลางวันแล้ว พักผ่อนสักครู่ เราจะออกเดินทางสู่มหาเจดีย์พุทธคยากัน

ล้อหมุนอีกครั้ง พาเราไปสักการะมหาเจดีย์พุทธคยา(Mahabodhi Main Temple) เป้าหมายแรกของเรา ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็มาถึง ไม่เสียค่าเข้าชม แต่ต้องเสียค่ากล้องถ่ายรูป 20 รูปีต่อวัน ค่าฝากรองเท้าคู่ละ 5 รูปี ก็เป็นปกติของการเข้าชมสถานที่ต่างๆ ทั่วไปนะ

 

     

 

การได้มาที่นี่ทำให้ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสถึงความเชื่อถือศรัทธาที่หลากหลายและแตกต่างจากผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ ทุกคนมุ่งมาในที่เดียวกัน มีเป้าหมายเหมือนกัน แค่แสดงออกต่างกัน ได้เห็นหลากหลายเครื่องสักการะที่รายล้อมอยู่โดยรอบพระเจดีย์ ทั้งธง ผ้า ดอกไม้ น้ำชา และการสวดมนต์ที่ต่างภาษา การกราบไหว้ที่ต่างลีลากันไป ตามความเชื่อถือของแต่ละเชื้อชาติ ผู้มาเยือนก็เยอะ คนขายของก็แยะ ขอทานก็มาก ทุกชั้นชน ทุกวรรณะ และทุกความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ล้วนมารวมกันอยู่ที่นี่ เป็นมหาเจดีย์แห่งศรัทธาโดยแท้

โดยรอบเจดีย์มีสิ่งที่ควรสักการะและควรศึกษา คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ 4 ซึ่งมีอายุถึงปัจจุบัน 127 ปี (พ.ศ. 2550) พระแท่นวัชรอาสน์ ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช อนิมิสสเจดีย์ เป็นสถานที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอันเกิดจากการได้หลุดพ้นจากสัพพกิเลสในสัปดาห์ที่ 2 รัตนจงกรมเจดีย์ ที่ทรงเสด็จดำเนินจงกรมไปมาเสวยวิมุตติสุขอยู่ตลอด 7 วันในสัปดาห์ที่ 3 สระมุจลินท์ (จำลอง) ที่ประทับเสวยวิมุตติสุข ในสัปดาห์ที่ 6

ออกจากบริเวณเจดีย์ รู้สึกงงๆ เล็กน้อย สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเคยมา ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าคนไทยมีอิทธิพลกับชาวอินเดียที่นี่ขนาดนี้ เค้าทักทาย เชิญชวนให้ซื้อของเป็นภาษาไทย บอกราคาเป็นเงินบาท และไม่ใช่เฉพาะที่นี่นะ ในพุทธสถานอื่นๆ ก็เหมือนกัน แสดงให้เห็นเลยว่าคนไทยเดินทางมาสักการะพุทธสถานที่อินเดียเยอะมาก จนกลายเป็นตลาดหลักของเค้าไปแล้ว แต่ก็รู้สึกดีนะ ฟังดูอุ่นใจดี ไม่โดดเดี่ยว ไม่เหงา ไปที่ไหนก็เจอคนไทยด้วยกันอยู่เนืองๆ

จากเจดีย์พุทธคยา เราเดินทางต่อไปยังบริเวณเจดีย์ที่เชื่อว่าสร้างครอบบ้านนางสุชาดาผู้ถวายข้าวมธุปายาสก่อนวันตรัสรู้ จากที่นี่สามารถเดินไปยังบริเวณที่เชื่อว่าเป็นจุดที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธเจ้า และมองเห็นภูเขาดงคสิริ สถานที่ซึ่งเชื่อกันว่าพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา มีปัญจวัคคีย์คอยรับใช้ดูแล อย่างที่เคยเรียนตอนมัธยมถ้ายังจำกันได้นะ

ออกจากบริเวณบ้านนางสุชาดา ไปที่บริเวณสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอธิษฐานจิตลอยถาดทองคำริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แต่ตอนนี้ไม่มีน้ำเลย มีแต่ทราย บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า อุรุเวลาเสนานิคม หมู่บ้านที่สร้างเขตกั้นด้วยทราย พระอาจารย์เล่าว่าแม่น้ำเนรัญชราจะมีน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น คือช่วงเดือนสิงหาคม ตุลาคม และยามเย็นที่พระอาทิตย์ตกริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราจะสวยมาก เราเลยตั้งใจจะวนกลับมาที่นี่อีกครั้งในตอนเย็น เพื่อเก็บภาพพระอาทิตย์ตกในเย็นวันแรกของการมาเยือนอินเดีย

ระหว่างรอเวลาพระอาทิตย์ตก เราก็เลยไปทัวร์วัดพุทธนานาชาติกัน เป็นวัดที่ชาวพุทธจากนานาชาติสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแห่งชาติของตนเอง มีทั้งสายเถรวาท อย่างวัดไทยพุทธยาที่พำนักในคืนนี้ของเรา วัดศรีลังกา วัดสงฆ์อินเดีย วัดพม่า วัดโพธิ์คำ วัดสงฆ์บังคลาเทศ และสายมหายาน อย่างวัดทิเบต วัดภูฏาน วัดเกาหลี วัดเวียตนาม วัดจีน และวัดญี่ปุ่น แต่เราดูได้แค่ 3 วัด คือวัดภูฏาน สีสันสดใส, วัดญี่ปุ่น มีพระพุทธรูปหิน (ไดบุสสึ) ศิลปะแบบญี่ปุ่นองค์ใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า และวัดทิเบตที่มีลามะน้อยสวดมนต์อยู่ แล้วก็ได้เวลาต้องไปรอพระอาทิตย์ตกแล้ว

ก่อนพระอาทิตย์จะตกที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ก็ได้เก็บภาพบรรยากาศยามเย็น วิถีชีวิตผู้คนอินเดียที่ผ่านไปมา พระอาทิตย์คล้อยต่ำลงเรื่อย แต่เด็กๆ ยังคงตามติดพวกเราไม่ห่าง พวกเด็กๆ เห็นเราเหมือนขนม พุ่งเข้าใส่ตลอดเวลา เพราะการให้โดยไม่คิด แต่มันจะสร้างปัญหาในระยะยาว เพราะเค้าเคยชินกับการขอไปแล้ว แต่ถ้าเราทำเฉยๆ เดินหนี ไม่ต้องสนใจ เค้าก็จะไปเอง อย่าให้ความรู้สึกเวทนามาทำลายชีวิตเค้าดีกว่า แต่ที่น่าแปลกคือเหมือนเค้าจะมีเรดาร์อะไรสักอย่างที่รับรู้ได้ว่าเราเป็นคนไทยนะ เพราะเค้าไม่ตามคนชาติอื่นเลย สงสัยคนไทยใจดี(เกินไป)

 

พระอาทิตย์ตกตอนประมาณ 17.30 น. ได้ภาพพระอาทิตย์สีแดงกลมโตลับฟ้าสมใจแล้ว ก็กลับมากินข้าวเย็นที่วัดไทยพุทธคยา แล้วก็นัดกันว่าจะออกไปท่องราตรีเพื่อเก็บภาพบรรยากาศเจดีย์พุทธคยายามต้องแสงไฟกันรอบตอนค่ำ

บรรยากาศยามกลางคืนของเจดีย์พุทธคยา ดูมีมนต์ขลังไปอีกแบบ ยังมีคนอยู่พอประมาณ บางคนก็พักแรมที่นี่เลย แต่ต้องเสียเงินนะ คนละ......รูปี เมื่อตอนกลางวันเราเดินวนรอบในด้านล่าง ค่ำนี้เราเลยเดินวนรอบนอกด้านบนกัน เพื่อเปลี่ยนมุมมอง แล้วก็ทำให้เสียดายว่าทำไมเมื่อกลางวันไม่เดินวนด้านบน เพราะได้เห็นมหาเจดีย์พุทธคยาในมุมกว้างกว่า และน่าจะถ่ายรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ต้นต้นอย่างสวยงามกว่า แต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเราได้เห็นในระยะใกล้ ได้เห็นรายละเอียดชัดเจนกว่าก็แล้วกัน

ออกจากมหาเจดีย์เราก็ไปแวะชิมชาอินเดียกันก่อนกลับ ที่นี่เค้าเรียกชาว่า ไจ๋ ถ้าเป็นชาร้อนก็ต้องสั่งว่า กาลำไจ๋ ถ้าชาเย็นก็ ทันด้าไจ๋ รสชาติเหมือนชานมบ้านเรานะ แต่เค้าใช้นมสด เป็นพวกนมแพะกับนมควาย เค้าไม่ใช้นมวัว เพราะสำหรับที่นี่วัวคือพระเจ้า เราเลยเห็นวัวเดินอยู่ทั่วไปอย่างอิสระ แต่ก็มีที่เลี้ยงไว้ใช้งานบ้างเหมือนกันนะ           

ชิมชาไปคนละแก้ว แล้วก็ไปเดินชมตลาดกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่ที่นิยมหาซื้อกันจะเป็นพวกผ้า อย่างผ้ากาสี ซึ่งเป็นผ้าคุณภาพดีขึ้นชื่อของอินเดีย ผ้าขนแกะที่อุ่นดีราคารสูง และผ้าอื่นๆ ตามแต่ความชอบ นอกจากผ้าแล้วก็จะเป็นพวกเครื่องประดับ สร้อย กำไล งานแกะสลักหินและหล่อเรซินเป็นรูปเจดีย์พุทธคยาขนาดเล็ก สำหรับเป็นของที่ระลึก สรุปว่าเลือกอยู่นานได้ผ้าคลุมไหล่มาคนละ 2 ผืน ได้ของแล้วสบายใจ ก็เลยกลับไปพักผ่อนได้

คืนนี้อากาศเย็นพอสมควร เมื่อตอนค่ำคืนประมาณ 18-19 องศา ดึกๆ คงเย็นลงอีก แต่ห้องพักของที่วัดมีน้ำอุ่น พวกเราก็เลยได้อาบน้ำอย่างสบายใจ และนอนหลับสบายในคืนแรกบนดินแดนพุทธภูมิ พรุ่งนี้คงมีเรื่องให้ตื่นตาอีกเยอะ สำหรับการมาเยือนอินเดียครั้งแรกในชีวิต 

 

วันที่ 2 พาราณสี สารนาถ ถิ่นกำเนิดปฐมเทศนา (วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550)

ตื่นกันตั้งแต่ตี 5 เตรียมตัวเก็บสัมภาระ และตุนเสบียง เป็นข้าวห่อจากแม่ชีพร้อมผลไม้ สำหรับเป็นอาหารเช้าระหว่างเดินทาง ขนของขึ้นรถเรียบร้อย คืนกุญแจและทำบุญชำระหนี้สงฆ์แล้วก็ลาพระอาจารย์ชาญชัย เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายถัดไปของเรา...พาราณสี

ระยะทางจากพุทธคยาถึงพาราณสี ประมาณ 200 กว่ากิโล ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง (สำหรับรถเล็กอย่างเรานะ) ระหว่างทางก็แวะกินข้าวเช้าที่เตรียมมา ที่ร้านอาหารริมทาง ซึ่งเป็นจุดพักที่เค้ารู้กันอยู่ และจะมีเป็นระยะๆ แต่ห่างๆ กัน สามารถเข้าไปแวะกินข้าวกินน้ำได้ ห่อข้าวมาก็ไม่ว่ากัน สั่งน้ำ สั่งโรตีมาเพิ่มบ้างเล็กน้อยพอเป็นพิธี เช้านี้เลยได้ลองชิมโรตีผสมมันเทศ อาหารเช้าของชาวอินเดียเป็นครั้งแรก (และครั้งเดียวตลอดทริป) สั่งกาลำไจ๋(ชาร้อน) มากินด้วย อาหารโอเค บรรยากาศใช้ได้ แต่ห้องน้ำยังแย่อยู่มาก ก็ยังดีที่มีห้องน้ำ ดีกว่าต้องไปนั่งกลางทุ่ง

ตลอดเส้นทางจากพุทธคยาไปพาราณสีมีวิถีชีวิตริมทางของชาวอินเดียให้ได้ชมกันไปเพลินๆ เป็นทุ่งข้าวสาลีบ้าง เป็นทุ่งมัสตาดบ้าง บวกกับเสียงเพลงแขกในรถที่พลขับของเราเปิดไปตลอดทางก็ได้อารมณ์อินเดียขนานแท้ แถมเสียงแตรรถบีบแทรกแทบจะตลอดเวลา แต่ก็เป็นปกติธรรมดาของที่นี่นะ เพราะท้ายรถแทบทุกคันจะมีคำว่า BLOW HORN หรือ HORN PLAESE คงประมาณว่าถ้ารีบก็ไป จะแซงก็บอก เพราะรถรุ่นเก่าๆ ของบ้านเค้าไม่มีกระจกมองข้าง ต้องใช้แตรส่งสัญญาณกันตลอดทาง และในบางช่วงบนถนนหนทางจะได้เห็นวัวเดินไปมา บางก็นอนอยู่บนถนนเลย โดยไม่มีใครทำร้าย ทุกสรรพชีวิตมีสิทธิ์ใช้ถนนได้เท่าเทียบกัน ดูเหมือนไม่มีระบบระเบียบสักเท่าไหร่ แต่เค้าก็ใช้ชีวิตอยู่กันได้อย่างปกติสุข ได้เห็นช้างระหว่างทางด้วย เค้าว่ามาอินเดีย ถ้าได้เห็นช้าง เห็นผี เห็นซากศพและนกแร้งจะโชคดี อย่างน้อยทริปนี้เราก็ได้เห็นช้างไปแล้ว

บีบแตร ปาดซ้าย แซงขวา เบรกหน้าขมำกันไปตลอดทาง ในที่สุดก็มาถึงพาราณสีเสียที เมืองนี้วุ่นวายหนอ เป็นเมืองที่สับสนอลหม่านที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ทั้งรถ ทั้งคน ทั้งสารพัดสัตว์ ทุกชีวิตวนเวียนวุ่นวายอยู่บนถนน แวะเข้าไปรับพระอาจารย์นิเวศน์ ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี พร้อมด้วยผู้ติดตามของพระอาจารย์อีกหนึ่งคน เป็นเด็นไทย นักศึกษาปริญญาเอกสาขาปรัชญาศาสนา มาช่วยทำหน้าที่บอร์ดี้การ์ดให้เรา

รวมพลครบ ก็มุ่งหน้าสู่วัดไทยสารนาถ ที่พักพิงในคืนที่ 2 ของเรา พระที่นี่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เรียกกินข้าว กินน้ำ ซักถามเจรจา เจอคณะคนไทยกลุ่มใหญ่ที่นี่ด้วย หลังจากเก็บของและกินข้าวกลางวันเรียบร้อย เราก็ไปเดินชมวัดกัน ก่อนจะออกไปชมพิพิธภัณฑ์สารนาถและสักการะธัมเมกขสถูปกันตอนบ่าย

ได้เวลาชีพจรลงเท้าอีกครั้ง เราเปิดโปรแกรมที่พาราณสีด้วยพิพิธภัณฑ์สารนาถ ค่าเข้าชม 2 รูปี ถูกมากๆ แต่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นที่รวบรวมเก็บรักษาพระพุทธรุปและวัตถุโบราณที่ขุดได้ในบริเวณสารนาถเมื่อปี พ.ศ. 2483 มียอดเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช แกะสลักเป็นรูปสิงโต 4 เศียรหันหลังชนกันดูสง่างามโดดเด่น และพระพุทธรูปหินทรายแดงเนื้อละเอียดปางปฐมเทศนาที่สวยที่สุดก็ว่าได้เป็นไฮไลน์ น่าเสียดายที่เค้าห้ามถ่ายรูป เลยได้แต่บันทึกไว้ในความทรงจำเท่านั้น

 

 

ออกจากพิพิธภัณฑ์ไปยังธัมเมกขสถูป สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ คนเยอะเพราะเป็นวันอาทิตย์ มีหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งมาถวายสักการะตามความเชื่อถือศรัทธาของตน มีชาวศรีลังกามาเดินวนรอบสถูปพร้อมกับสวดมนต์เป็นพุทธบูชา เห็นชาวทิเบต 2-3 กลุ่มและมีธงบทสวดมนต์อันเป็นสัญลักษณ์ของการถวายสักการะของทิเบตประดับอยู่ทั่วไป คนไทยเองก็มีไม่น้อย

พระอาจารย์นิเวศน์นำสวดมนต์สรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ บริเวณแท่นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา มีคุณน้าใจดีที่มาแสวงบุญร่วมวงด้วย แถมให้แผ่นทองพวกเราเพื่อนำไปถวายสักการะพระแท่น บรรยากาศของที่นี่ทำให้รู้สึกอิ่มอย่างบอกไม่ถูก อิ่มตาที่ได้เห็นพลังศรัทธาของผู้คน อิ่มใจที่ได้ถวายสักการะพระพุทธเจ้าในดินแดนของพระองค์ หรือจริงๆ แล้วควรเรียกว่า อิ่มบุญ บุญที่ได้มาสัมผัสความรู้สึกนี้ด้วยตัวเอง

ออกจากธัมเมกขสถูป ไปแวะที่เจาคันทีสถูป (Chaukhandi Stupa) สถานที่ที่พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก หลังจากเสด็จมาจากพุทธคยา ได้อึดใจหนึ่ง แล้วก็รีบไปที่แม่น้ำคงคา เพื่อล่องเรือชมบรรยากาศยามค่ำคืนริมฝั่งมหานทีแห่งนี้ แม่น้ำคงคามีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ชาวฮินดูถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากสรวงสวรรค์ ผู้ที่ได้อาบและดื่มกินถือว่าเป็นมงคลและชำระล้างปาบได้ เผาศพก็เผาริมฝั่ง ทิ้งศพก็ทิ้งลงน้ำ เรียกว่าทั้งดีทั้งร้ายแม่น้ำคงคารับไว้ทั้งหมด แต่เค้าก็ใช้น้ำในแม่น้ำนี้ทั้งดื่มทั้งอาบกันแบบไม่รู้สึกอะไรเลย เค้าถึงว่าศรัทธาอยู่เหนือทุกสิ่ง

คืนนี้มีงาน ศิวะราตรี พอดี ทำให้บรรยากาศดูคึกคักและยิ่งใหญ่กว่าทุกคืน มีผู้คนมากมายมารวมตัวกันเพื่อทำพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อ แม้แต่ชีเปลือยที่ไม่ค่อยออกมาปรากฏตัวให้ใครเห็น ก็มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย นับว่าการมาครั้งนี้โชคดีทีเดียว และชีเปลือยก็ไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัวเหมือนภาพในหัวที่เคยจินตนาการไว้ตอนเด็กๆ สมัยเรียนพระอภัยมณีนะ

เราล่องเรือจากท่าดัศวเมธไปตามลำน้ำ เพื่อไปดูกองไฟศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยดับ บริเวณท่ามณิกรรณิการ์ เพราะมีการเผาศพอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ตามความเชื่อที่ว่าที่นี่เป็นท่าของพระศิวะ หากนำศพมาเผา และเอากระดูกพร้อมเถ้าถ่านโปรยลงที่ท่าน้ำนี้จะได้ไปสวรรค์ แต่ถ้าเป็นศพเด็ก หญิงสาวพรหมจารี นักบวช และผู้ที่ถูกงูกัด ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จะไม่เผา แต่จะถ่วงน้ำแทน ถึงเราจะไม่โชคดีถึงขนาดได้เห็นซากศพลอยน้ำ แต่ที่ได้มาล่องคงคา ได้ถวายเครื่องสักการะดอกไม้และเทียน ก็รู้สึกว่าโชคดีมากแล้ว จากที่เคยแต่อธิษฐานบูชาพระแม่คงคาในวันลอยกระทงที่บ้าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าท่านจะได้รับรู้มั้ย เพราะสายน้ำนั้นห่างไกลกันเหลือเกิน แต่ครั้งนี้ ที่นี่คือคงคา มหานทีจริงๆ 

พระอาจารย์สวดนำเพื่อทำพิธีลอยกระทงดอกไม้และเทียนบูชาพระแม่คงคาจบ ต่างคนต่างอธิษฐานและปล่อยให้กระทงลอยไปตามสายน้ำ เป็นความรู้สึกดีๆ ที่บอกไม่ถูก มันชุ่มฉ่ำเย็นอยู่ในใจ จากพิธีทางน้ำ เราก็ล่องไปชมพิธีบูชาไฟกัน เป็นการบูชาแบบเต็มรูปแบบสำหรับงานศิวะราตรี ทำให้คืนนี้เป็นคืนที่มีสีสันที่สุดในการมาเยือนอินเดีย และได้สัมผัสความวุ่นวายหนอของอินเดียอย่างแท้จริง เพราะผู้คนที่ล้นหลามตามเส้นทาง ทำให้ต้องเดินพันกับแขกจนเหนื่อย จะข้ามถนนทีแสนลำบาก ยังดีที่มีเพื่อนร่วมทางคอยดูแลกัน

ในที่สุดก็ผ่านดงแขกและงานเฉลิมฉลองที่สุดสนุกและแสนวุ่นวายของแขกมาได้ นี่แหละวิธีการรับน้องในอินเดียของหมู่มิตร พามาสัมผัสแขกแบบเต็มๆ มันคงเป็นเมืองที่วุ่นวายที่สุดในโลกจริงๆ นอกจากความเป็นที่สุดในหลายๆ ด้านที่เค้าภูมิใจ

แล้วเราก็กลับมาถึงวัดไทยสารนาถโดยสวัสดิภาพ พร้อมอาการครบ 32 แต่หิวมากๆ เพราะเลยเวลากินข้าวมาเยอะ กับข้าวที่วัดนี้อร่อยนะ ไม่ได้รู้สึกเหมือนอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเลย พักวัดไทยอุ่นใจจริงๆ ข้าวเรียงเม็ดสักพัก อาบน้ำอุ่นสบายตัวแล้วเตรียมเข้านอนได้ เช้ามืดพรุ่งนี้เราจะไปล่องคงคาชมพิธีบูชาพระอาทิตย์กันก่อนเดินทางสู่กุสินารา

 

วันที่ 3  กุสินารา ดินแดนพุทธปรินิพพาน (วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550)

ตี 5 ครึ่ง ล้อหมุนแต่เช้าตรู่ เพื่อไปสัมผัสบรรยากาศยามเช้าที่สดชื่นและเย็นพอทนได้ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น มีผู้คนมาทำพิธีอาบน้ำล้างบาป บูชาพระอาทิตย์กันพอสมควร แต่น้อยลงกว่าแต่ก่อนมากตามคำบอกเล่าของผู้ที่คุ้นเคย เราใช้เวลาล่องจากท่าดัศวเมธ ไปถึงท่าอัสสี ประมาณ 1 ชั่วโมง ได้เห็นวิถีชีวิตที่หลากหลายริมฝั่งน้ำ ทั้งเรือขายของให้นักท่องเที่ยว การซักผ้าแบบเดิมๆ การอาบน้ำล้างบาป บูชาพระอาทิตย์ แม้ว่าน้ำจะเย็นมากในยามเช้าอย่างนี้ แต่ศรัทธาและความเชื่อของคนที่นี่สงบเย็นยิ่งกว่าสายน้ำ การบูชาพระอาทิตย์จึงเป็นเสมือนความอบอุ่นที่อยู่ภายในใจของพวกเค้า

     

 

ที่ท่าอัสสี ก็มีวิถีชีวิตริมฝั่งอีกหลายรูปแบบให้เห็น และเป็นวิถีปกติที่เห็นได้ทั่วไปตลอดการเดินทาง ทั้งขอทาน ร้านขายของ ร้านตัดผมและโกนหนวดริมทาง แบบที่มีแค่หวี กรรไกร กระจก และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ประกอบ ยึดทำเลแถวริมกำแพง หรือข้างถนนเป็นที่รับลูกค้า ดูดิบๆ ดีและไม่มีให้เห็นในเมืองไทยแน่นอน

เรากลับมากินข้าวเช้าที่วัด เก็บสัมภาระเรียบร้อย ชำระหนี้สงฆ์และนมัสการลาพระอาจารย์ที่วัดเสร็จสรรพ ก็ออกเดินทางสู่จุดหมายต่อไป กุสินารา

สนุกสนานกับการนั่งรถเหมือนเดิม และแวะกินข้าวกลางวันที่ร้านริมทางตามระเบียบ ข้าวห่อจากที่วัดมื้อนี้เป็นข้าวกระเพราไก่ ไข่ดาว สั่งน้ำกับไก่ทอดของร้านมาเพิ่มนิดหน่อยพองาม แต่อภิสิทธิ์ที่พกข้าวมากินในร้านเค้าแบบนี้ มีเฉพาะคนไทยนะ เพราะคนไทยเข้าไปช่วยสอนอะไรเค้าหลายอย่าง จริงๆ ก็คงเหมือนเป็นการเบิกทางไว้เพื่อคนข้างหลังที่จะตามมานั่นแหละ

ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง ถึงวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นวัดไทยที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมเป็นพุทธบูชา และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อวัดให้ ต่อมาจึงได้จัดสร้างพระมหาเจดีย์ขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเมื่อสร้างเสร็จทรงเสด็จแทนพระองค์ประกอบพิธีสมโภช และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระราชทานในพระมหาเจดีย์ และได้รับพระราชทานชื่อว่า พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา คนไทยมาพักที่นี่เยอะ ห้องพักสะดวกสบายสะอาด คุณภาพระดับ 5 ดาวทีเดียว แต่ต้องติดต่อมาล่วงหน้านะ เป็นกฎของที่นี่ และเป็นการให้เกียรติสถานที่ด้วย

เหนื่อยจากการเดินทางมาเกือบทั้งวัน เราก็เลยใช้เวลาพักผ่อนกันเต็มที่ จนได้เวลาอาหารเย็น มื้อนี้มีไข่เจียว น้ำพริกกระปิ ผัดผัก และตบท้ายด้วยกล้วยหอม เป็นอีกมื้อที่อร่อยแบบไทยๆ ในอินเดีย

อิ่มท้องแล้วก็ไปอิ่มบุญกันต่อ เราไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา ด้วยการเดินวนรอบพระมหาเจดีย์ 9 รอบ พร้อมกับสวดมนต์บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อากาศเย็นๆ บรรยากาศเงียบสงบ ที่นี่คือดินแดนที่หลุดพ้นจากความวุ่นวายของโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกดีสำหรับการมาที่นี่ คือการได้ร่วมทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้พ่อ แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจมาก่อนเลย หวังว่าพ่อจะได้รับผลบุญแห่งการมาของลูกในครั้งนี้ ไม่ว่าพ่อจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม

เดิมเราตั้งใจกันว่ารุ่งขึ้นจะตื่นมาสวดมนต์ทำวัตรเช้าพร้อมคณะสงฆ์ที่นี่ แต่ต้องเปลี่ยนแผนเพราะต้องออกไปสักการะมกุฏพันธนเจดีย์ และมหาวิหารปรินิพพาน แต่เช้าก่อนเดินทางไปลุมพินี และคืนนี้ก็เป็นอีกคืนที่ได้นอนหลับสบายในวัดไทยที่อบอุ่น

 

วันที่ 4 ลุมพินีวัน แดนประสูติ (วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550)

ตื่นตั้งแต่ตี 5 มาทำภารกิจและเก็บสัมภาระขึ้นรถเตรียมตัวออกเดินทางสู่ลุมพินี ชาตะสถาน ประเทศเนปาล ห่อข้าวเช้าไปกินระหว่างทางเหมือนเดิม เราออกจากวัดพร้อมพระอาจารย์ตุ๊ ซึ่งจะพาพวกเราไปทำพิธีสักการะมกุฏพันธนเจดีย์ ที่เป็นบริเวณถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า และทำพิธีแจ้งตาย คือให้เราได้ละทิ้งสิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งปวง สิ่งที่ไม่ดีไม่ประสงค์ทั้งหลาย เสมือนว่าเราได้ตายไปแล้ว สิ่งไม่ดีเหล่านั้นให้หมดสิ้นไป แล้วค่อยไปแจ้งเกิดใหม่ที่ลุมพินีซึ่งเป็นสถานที่ประสูติอันศักดิ์สิทธิ์

 

 

ไปถึงมกุฏพันธนเจดีย์ (Makutabandana Stupa) แต่เช้าตรู่ หมอกลงพอสมควร และยังไม่ค่อยมีคน อากาศเย็นและเงียบสงบมาก พอทำพิธีสักการะมกุฎพันธนเจดีย์แล้ว เราก็ไปที่มหาวิหารปรินิพพาน ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางมหาปรินิพพาน คือปางอนุฏฐิตสีหไสยาสน์ หรือปางเสด็จบรรทมครั้งสุดท้าย มีอยู่ที่นี่ที่เดียวในอินเดีย และเราไม่เคยเห็นปางนี้ในเมืองไทยเลย เห็นแต่ปางไสยาสน์ (ไม่รู้ว่ามีอยู่ที่ไหนหรือป่าว เพียงแต่เราไม่เคยไปเห็น) พระอาจารย์บอกว่าการขอพรที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มาก ให้สวดมนต์แล้วปิดทอง(ถวายทอง) ที่ฝ่าพระบาทพระพุทธรูป จากนั้นก็จรดศรีษะที่บริเวณฝ่าพระบาท แล้วอธิษฐานขอพร เราไม่รู้ว่าพรที่ขอจะเป็นจริงมั้ย แต่ที่รับรู้ได้ ณ เวลานี้ คือความรู้สึกสงบในใจนะ รู้สึกว่าตัวเองนิ่ง และมีสมาธิกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ รู้สึกดีจัง

เราเริ่มต้นการเดินทางอันยาวไกลอีกครั้ง มุ่งหน้าสู่ชายแดนอินเดีย เพื่อจะข้ามไปสักการะลุมพินีสถาน ในประเทศเนปาล เป้าหมายสุดท้ายของเรา เช้านี้กินข้าวกันบนรถเลย แล้วก็ไปแวะที่พุทธวิหาร สาลวโนทยาน 960 ทีเดียวก่อนเข้าสู่เนปาล

พุทธวิหาร สาลวโนทยาน 960 เป็นโครงการที่พักริมทาง สำหรับพุทธศาสนิกชนผู้เดินทางแสวงบุญจากทั่วโลก มีห้องน้ำ และศาลาอเนกประสงค์สำหรับรับประทานอาหารระหว่างทาง สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะเดินทางไปสักการะลุมพินีสถานที่เนปาล เพราะที่อินเดียหาห้องน้ำยาก ไม่สะดวกและไม่สะอาด การสร้างห้องน้ำที่นี่จึงเป็นการทำบุญที่ถาวรอีกทางหนึ่ง ช่วยให้คนพ้นทุกข์แบบทันตาเห็น และเป็นอีกที่หนึ่งซึ่งเกิดจากพลังศรัทธาของชาวไทย ตอนที่เราไปถึงเค้าเพิ่งปูอิฐทางเดินเสร็จพอดี พระอาจารย์สังวร และพระอาจารย์ปรีชา ซึ่งคุมงานก่อสร้างที่นี่บอกว่าเราเป็นชาวพุทธคู่แรกของโลกเลยนะ ที่ได้ฝากรอยเท้าบนทางเดินนี้ ต้องจารึกไว้เป็นความภูมิใจเล็กๆ ในทริปนี้ของเราซะเลย

ออกจากพุทธวิหาร สาลวโนทยาน 960 ประมาณ 11 โมง ไปที่ด่านโสเนาลี (Sonauli) เพื่อทำเรื่องข้ามแดนเข้าเนปาล แต่งานนี้เราไม่มีวีซ่าเนปาล เพราะขอวีซ่าอินเดียได้แบบ Single ถ้าออกไปจากอินเดียแล้ว เราจะกลับเข้ามาไม่ได้อีก งานนี้เลยต้องใช้ตัวช่วย เป็นเจ้าหน้าที่อินเดียซึ่งคุ้นเคยกับผู้นำทริป ของเรา และเงินหัวละ 1,000 รูปี เรื่องทำนองนี้คงมีแทบทุกที่ในโลก ไม่เฉพาะเมืองไทย

เสียเวลาติดต่ออยู่ที่ด่านพักหนึ่งทุกอย่างก็เรียบร้อย ระหว่างนั่งรออยู่ในรถก็เก็บภาพบรรยากาศชายแดนไปเรื่อยๆ แยกกันไม่ค่อยออกระหว่างคนอินดียกับคนเนปาล คงเพราะเป็นช่วงชายแดนเลยดูกลมกลืนผสมปนเปเหมือนกันไปหมด แต่ถ้าเข้าไปในเมืองมากกว่านี้ คงได้เห็นความเป็นเนปาลชัดเจนขึ้น เอาไว้โอกาสหน้าเราจะมาเยือนเนปาลแบบเต็มๆ อีกสักครั้ง

จากด่านใช้เวลาอีกประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าๆ ก็เข้าสู่เขตพุทธอุทยานลุมพินี เราเข้าไปที่วัดไทยลุมพินีก่อนเพื่อกินข้าวกลางวัน ทั้งที่ห่อมาและที่แม่ชีกรุณาเตรียมไว้ให้เพิ่มเติม อิ่มท้องกันแล้วก็ได้เวลาเยี่ยมชมสถานที่และนมัสการพระอาจารย์ที่วัด ท่านรับรองเราด้วยกาแฟพร้อมด้วยขนมดอกจอกและโดนัทที่แม่ชีทำกันเอง ทั้งเพื่อไว้กินและขายให้แก่ผู้ที่แวะเวียนมา เพราะในบริเวณนี้จะหาของกินยาก ไม่คิดว่าจะได้มากินขนมดอกจอกไกลถึงอินเดียเลย

เจรจาความกันพอสมควร เราก็นมัสการพระอาจารย์มิตร ให้พาไปที่ลุมพินีวัน ชาตะสถานของพระพุทธเจ้า ที่นี่ได้รับการบูรณะปรับปรุงขึ้นมาก ถ้าเทียบกับรูปเดิมในโปสการ์ดเก่าๆ ที่มีขายกันอยู่ พระอาจารย์นำสวดมนต์สักการะและทำพิธีแจ้งเกิดให้เราทั้งสองคน หลังจากที่แจ้งตายไปแล้วที่กุสินารา เสมือนให้เราได้เกิดใหม่ ได้พบเจอแต่สิ่งดีๆ และให้ขอพรในสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะที่นี่คือสถานที่อันศักสิทธิ์และทรงพลัง สิ่งดีๆ จะเริ่มต้นขึ้นที่นี่ นับแต่นี้ไป

 

 

เชื่อกันว่าบริเวณซึ่งเป็นที่ประสูติของสิทธัตถราชกุมาร คือจุดที่เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชตั้งอยู่ ยังมีข้อความภาษาพราหมีจารึกไว้อย่างสมบูรณ์เขียนว่าเป็นสถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ด้านหลังเสาศิลาคือมหามายาเทวีวิหาร (The Mahamaya Devi Temple) ด้านในมีศิลาสลักภาพพุทธประวัติปางประสูติ เป็นรูปพุทธมารดาอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งไม้สาละ มีรูปเจ้าชายสิทธัตถะโผล่ออกมาทางปัสสะขวาของพระพุทธมารดา

ด้านหน้ามหามายาเทวีวิหาร มีสระโบกขรณี (The Sacred Pond) ที่สรงสนานของพระนางสิริมหามายาเทวี ก่อนจะให้ประสูติกาลพระกุมาร และหลังการประสูติ

ออกจากบริเวณลุมพินีสถานแล้ว ก็ไปแวะชมตลาดกัน เลือกซื้อของฝากจากเนปาลมาได้นิดหน่อย ค่าเงินของเนปาลรูปี ถูกกว่าอินเดียรูปีเล็กน้อย คือ 1 อินเดียรูปี จะประมาณ 1.55 เนปาลรูปี ได้ของฝากมา 4-5 ชิ้น ก็หมดเวลาชมตลาดแล้ว

กลับไปที่วัดไทยลุมพินีอีกรอบ เพื่อส่งพระอาจารย์และนมัสการลา ได้ของฝากเป็นขนมดอกจอกและโดนัทไปกินระหว่างทาง พร้อมด้วยลูกอม จริงๆ เราซื้อลูกอมจากเมืองไทยไปตั้งเยอะเพื่อฝากวัดต่างๆ ที่ผ่านมาตามรายทาง มาถึงวัดนี้เราไม่มีลูกอมมาฝาก แต่ได้ลูกอมเป็นของฝากแทน นี่แหละน้ำใจคนไทย จะอยู่ที่ไหนเราก็สื่อถึงกันจริงๆ

เราออกจากวัดไทยลุมพินีด้วยความรู้สึกดีๆ ที่นี่อบอุ่นเป็นกันเอง รู้สึกดีใจที่ได้มาเยือน และวันหนึ่งข้างหน้าอาจได้มาอีกครั้ง

การไปเยือนสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล บรรลุตามเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว และได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากพระอาจารย์ทุกรูปที่ให้การดูแล แนะนำและให้ความรู้ในทุกสถานที่ที่ไปเยือน ที่นี่ไม่ใช่ดินแดนแสนไกลสำหรับเราอีกแล้ว แต่เป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่และหลังแรกของชาวพุทธทั่วโลก บ้านที่อบอุ่น สงบ ร่มเย็น และเต็มไปด้วยพลังศรัทธา

เราเดินทางกลับเข้าอินเดียอย่างราบรื่น และตีรถเข้าเมืองเพื่อไปขึ้นรถไฟที่สถานีโครักปูร์ไปพาราณสี เพราะไม่อยากนั่งรถบนถนนตอนกลางคืน คืนนี้เราจะนอนบนรถไฟกัน มาถึงสถานีรถไฟประมาณ 2 ทุ่ม แวะเข้าไปหาอาหารเย็นกินในร้านอาหาร เพราะลืมห่อข้าวมาจากที่วัด เลือกสั่งอาหารได้ 2 อย่าง นั่งรออีกพักหนึ่ง ดูหนังแขกไปพร่างๆ จัดการอาหารเสร็จเพิ่งจะ 3 ทุ่มกว่าๆ ออกไปนั่งรอรถไฟที่สถานีอีกพักใหญ่ รถไฟออกตั้ง 22.40 น. เห็นบริเวณสถานีมีผู้คนมากมาย วุ่นวายตามระเบียบ แต่เอาเข้าจริงๆ หลังจากที่เดินผ่านฝูงชนเข้าไปด้านในแล้ว เค้าก็มีห้องให้รออยู่บนชั้น 2 ของอาคาร คนไม่พลุกพล่านนัก อารมณ์ต่างกับด้านล่างมากทีเดียว ก็ยังแปลกใจอยู่ว่าทำไมเค้าไม่ขึ้นไปรออยู่ข้างบนกันบ้าง มานั่งๆ นอนๆ กองกันอยู่ทำไม

เสียงประกาศจากสถานีบอกว่ารถไฟขบวนไหนจะจอดอยู่ที่ชานชลาหมายเลขอะไร เพราะที่นี่เป็นสถานีใหญ่ มีรถหลายๆ ขบวน จากหลายที่และหลายจุดหมาย ก็ต้องเช็คต้องเตรียมตัวกันให้ดีๆ กันพลาด เราได้ขึ้นรถไฟกันเรียบร้อย และรถออกตรงเวลา นับว่าโชคดี เพราะสำหรับรถไฟที่อินเดียการดีเลย์เป็นเรื่องปกติ 

รถไฟขบวน CHAURICHAURA EXP no 5004 ที่เราโดยสารไป ออกจากสถานีโครักปูร์ 22.40 น. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ถึงสถานีรถไฟพาราณสี ตี 4.30 น. เราใช้บริหารรถไฟตู้นอนปรับอากาศ สภาพดี และกว้างขวางกว่ารถไฟบ้านเราอีก คงเพราะแขกตัวใหญ่กว่า คนไทยอย่างเราเลยสบาย จริงๆ ที่วาดภาพรถไฟอินเดียไว้แย่กว่านี้มาก อย่างที่เราเคยเห็นในข่าว แต่ถ้าเป็นตู้ธรรมดาก็อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะถ้าผู้คนมากมายที่ทั้งเดิน ทั้งยืน นั่งบ้าง นอนบ้าง อยู่ในบริเวณสถานี ขึ้นไปอยู่บนรถไฟกันทั้งหมด มันคงแออัดเอาการอยู่

เราเก็บสัมภาระทั้งหมดขึ้นไปไว้บนเตียงนอนชั้น 2 ของตัวเอง รวมทั้งรองเท้า เพราะผู้มีประสบการณ์ท่านเตือนมา ถ้ารองเท้าหายบนรถไฟต้องเดินลงไปเท้าเปล่า มันคงจะแย่จริงๆ และก่อนที่จะมีคนใช้ห้องน้ำกันมากจนมันสกปรก เราก็ต้องชิงเข้าก่อน ทำภาระกิจ ล้างหน้าแปรงฟันให้เรียบร้อย ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ไม่มีอะไรน่าห่วงเท่าที่คิด แม้จะนอนไม่ค่อยสบายนักด้วยความไม่คุ้นกับอาการโยกไปโยกมาของรถไฟ แต่สุดท้ายก็หลับไปด้วยความเพลีย

 

วันที่ 5 พาราณสี สุวรรณภูมิ (วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550)

ยังไม่ทันได้เต็มตื่นนัก รถไฟถึงสถานีพาราณสี ตี 4.30 น.ตรงเวลา ขนของลงจากรถไฟเรียบร้อย รถยนต์คันเดิมก็มารับช่วงต่อพาเราไปส่งที่วัดไทยสารนาถอีกครั้ง เพื่อทำภารกิจส่วนตัว จัดของให้พร้อมสำหรับการเดินทางกลับบ้าน และกินอาหารมื้อเช้าที่วัด  

กราบลาพระอาจารย์ที่วัดไทยสารนาถ เพื่อออกไปหาซื้อของฝากแถวหน้าธัมเมกขสถูป แล้วจะเลยไปที่บ้านราชู เพื่อนชาวอินเดียของผู้นำทริปตามคำเชิญของเจ้าบ้าน เสียดายที่ยังเช้าเกินไป ร้านขายของที่ระลึกยังไม่เปิด ที่เปิดก็ไม่ใช่ของที่อยากได้ สรุปว่าเราไม่ได้อะไรเป็นของฝากจากสารนาถ ทั้งที่เล็งไว้หลายอย่าง แต่เราก็ไปได้ของฝากจากร้านขายผ้าของพี่ชายราชูแทน มีผ้าสารพัดชนิด หลากแบบ หลายลายให้เลือกตามชอบ คุยกันไปเลือกผ้ากันไป สรุปสุดท้ายได้ไปคนละไม่น้อยเลย

คุยเสร็จเลือกผ้าเรียบร้อย ได้เวลาอาหารกลางวันพอดี จริงๆ ก็แค่สายๆ แต่เราต้องเข้าไป Check in ที่สนามบินพาราณสี ตอน 13.30 น. ควรออกจากที่นี่ไม่เกิน 11.00 โมง ก็เลยต้องกินข้าวกลางวันกันเร็วหน่อย และเป็นอาหารแขก 1 ใน 3 มื้อของทริปนี้ นี่เป็นมื้อสุดท้ายที่อร่อยทีเดียว โดยมีลักษมี ภรรยาเจ้าของบ้านให้การดูแลเราอย่างดี แปลกตรงที่เค้านั่งกินข้าว แต่พวกเราเลือกกินโรตี ก็กินข้าวมาหลายวันแล้ว ขอเปลี่ยนเป็นอาหารแขกจริงๆ บ้าง เดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึงอินเดีย

เราออกจากบ้านราชู มุ่งหน้าสู่สนามบินพาราณสี โดยมีพระอาจารย์นิเวศน์ และพระอาจารย์อีกรูปหนึ่ง พร้อมบอร์ดี้การ์ดคนเดิมของพวกเรามาส่งด้วย สนามบินนี้เป็นสนามบินเล็กๆ แต่วุ่นวายพอดู คงเพราะเป็นสนามบินใหม่ เจ้าหน้าที่น้อยและยังไม่ค่อยมืออาชีพนัก บริการจึงไม่ดีเท่าที่ควร แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ได้ขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยโดยไม่มีปัญหา บอกลาอินเดียด้วยความสบายใจ

เครื่องขึ้นช้ากว่าเวลา 14.45 น. ที่ระบุหน้าตั๋วเล็กน้อย เพราะความเรื่องมากของเจ้าหน้าที่สนามบิน แต่เราก็มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิตรงเวลา 19.30 น. ใช้เวลาบิน 3.10 น. (เวลาของประเทศไทย เร็วกว่าอินเดีย 1.30 ชั่วโมง) รับกระเป๋าแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ปิดทริปอย่างสวยงาม ทุกอย่างเรียบร้อยดี กลับสู่ชีวิตปกติที่วุ่นวายอีกครั้ง....สวัสดีเมืองไทย

 

ใครสนใจจะไปตามรอยกับเรา ติดต่อได้ที่นี่"วันแรมทาง"

 

 

 แสดงความคิดเห็น
ติชมบทความ คลิ้กที่นี่ค่ะ




บันทึกแรมทาง

พุทธคยาเย็นใจ 10-14 ตุลาคม 2567
ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang