ดาร์จีลิ่ง สิกขิม เมืองแห่งขุนเขาในอ้อมกอดหิมาลัย
ReadyPlanet.com
dot dot
ดาร์จีลิ่ง สิกขิม เมืองแห่งขุนเขา article

เรื่องและภาพ โดย
นุ้ย.. สาริศา ชาวบ้านเกาะ

 

ดาร์จีลิ่ง สิกขิม เมืองแห่งขุนเขาในอ้อมกอดหิมาลัย

กัลกัตตา ดาร์จิลิ่ง กาลิมปง กังต็อก ลาชุง ยุมถัง เพ็ลลิ่ง นิวเดลี

วันที่ 5 – 18 มิถุนายน 2550

 

 

 

            ดาร์จีลิ่ง สิกขิม เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทริปที่ 2 ที่เราได้มาเยือนในอินเดีย หลังจากเส้นทางแรกสู่สังเวชนียสถานทั้ง 4 อินเดีย เนปาล การเดินทางครั้งนี้ทำให้ได้สัมผัสกับอินเดียในอีกมุมหนึ่งที่สวยงาม และน่าประทับใจมากๆ จนไม่น่าเชื่อว่าที่นี่คืออินเดีย ดินแดนแห่งนี้ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะ ยังมีอีกหลายอย่างที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเคยรับรู้ และเคยสัมผัส ที่แน่ๆ ดินแดนแห่งนี้ยังคงสร้างความประทับใจให้ได้เสมอในทุกครั้งที่มาเยือน

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

วันที่ 1   วันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2550     

กัลกัตตา (Kolkata) นิวจัลไปกุรี(New Jalpaiguri)

 

            หลังจากส่งลูกทัวร์คนแรกจากทริปสังเวชนียสถานขึ้นเครื่องกลับสู่มาตูภูมิเรียบร้อย ระหว่างรอลูกทัวร์คนที่สอง คือ พลอย บินจากเมืองไทยมาสมทบเพื่อไปทริปสำรวจดาร์จีลิ่ง-สิกขิมด้วย เรากับพี่ปลาก็เริ่มตื่นเต้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเส้นทางที่จะไปต่อจากนี้เป็นทริปสำรวจในดินแดนที่พวกเรายังไม่เคยไป ยังไม่รู้ว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นยังไงบ้าง จะต้องเจออะไรบ้าง แต่ก็คิดว่าศึกษาข้อมูลทั้งจากเอกสาร จากบันทึกของคนที่เคยไปมาแล้ว และจากคำบอกเล่าให้ข้อมูลของเจ้าถิ่นเอง ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรต้องหนักใจนัก ยกเว้นเรื่องความคดโค้งและยาวไกลของเส้นทางที่ต้องเจอแน่ๆ ซึ่งข้อนั้นพวกเราก็เตรียมใจกันไว้แล้ว

 

            พลอยออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิโดยสายการบิน Indian Airlines เที่ยวบินที่ IC 732 แต่โชคร้ายหน่อยที่เที่ยวบินนี้ออกช้าไปถึง 3 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องออก 14.12 น. เป็นกว่าห้าโมงเย็น เราเข้าไปถึงสนามบินกัลกัตตาตั้งแต่ประมาณ 5 โมงครึ่ง และใช้ชีวิตอยู่ในสนามบินอีกหลายชั่วโมงกว่าพลอยจะมาถึง และกว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ออกมาเจอกันก็ประมาณทุ่มกว่าๆ

            พวกเรากับพลอยยังไม่เคยเจอกัน เพราะพลอยอยู่พังงา เลยไม่ได้นัดเจอกันก่อน ได้แต่คุยกันทาง MSN และส่งรูปมาแลกกันดูเพื่อจะได้หากันเจอ แล้วเราก็เจอกันอย่างไม่มีปัญหา คงเพราะว่าที่สนามบินนี้คนน้อยด้วย ถึงหุ่นกับสีผิวของพลอยจะไม่แตกต่างจากแขกเท่าไหร่ แต่ด้วยการแต่งตัวและทรงผมที่ไว้ทรงสกีนเฮด(เพราะเพิ่งไปบวชชีมา) ก็ทำให้พลอยดูแตกต่างจากคนรอบข้างอยู่แล้ว แต่ที่ทำให้แปลกใจกว่าคงเป็นปริมาณสัมภาระของพลอยที่แบกมาด้วย ดูน้อยเสียจนน่าตกใจ นี่เราไปกัน 14 วันนะน้อง อากาศก็น่าจะเย็นด้วย น้องมีเสื้อผ้ามาแค่นี้เองเหรอ แล้วพลอยก็สารภาพว่าไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย เพราะก่อนหน้านี้ยุ่งมาก ไม่ได้อ่านคำเตือนทั้งหลายที่พวกพี่ส่งไปถึง โธ่! น้องเอ๋ย พี่อุตส่าห์หาข้อมูลสารพัดเพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมกับสถาการณ์ข้างหน้า แต่ไม่เป็นไรนะ ก็มาถึงนี่แล้วนิ ค่อยไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันเอาแล้วกัน

            หลังจากไต่ถามสารทุกข์สุขดิบในการเดินทางกันพอประมาณ เรายังมีเวลาอีกพักใหญ่ก่อนจะต้องออกไปที่สถานีรถไฟ ก็เลยทำการนั่งประชุมแผนกันก่อนเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าครั้งนี้เป็นทริปสำรวจ เส้นทางข้างหน้าเรายังไม่รู้ว่าจะเจอปัญหาอะไรบ้างมั้ย การเดินทางจะลำบากแค่ไหน ทุกคนต้องช่วยเหลือกันและพร้อมที่จะผจญภัยร่วมกัน ลุยเหมือนๆ กัน มีอะไรก็คุยปรึกษากันได้ตลอด ที่สำคัญทริปนี้คงไม่สบายนัก เพราะเรามาลุยสำรวจแบบประหยัดๆ หน่อย จะได้ไปได้หลายๆ ที่ ว่าแล้วก็เก็บเงินกองกลางรอบแรกคนละ 3,000 รูปีก่อน และจ่ายค่ารถไฟทั้งไปและกลับที่ได้จองไว้แล้วอีกคนละ 3,011 รูปี เฉพาะค่ารถไฟน่ะ 2,711 รูปี ขาไปคนละ 956 ขากลับคนละ 1,755 เพราะเป็นขบวนที่ดีกว่า และนั่งไกลกว่ามาก ส่วนที่ต้องจ่ายอีกคนละ 300 นั้นเป็นค่าภาษี 100 ต่อคนต่อเที่ยว และอีกคนละ 50 ต่อคนต่อเที่ยวเป็นค่าดำเนินการ คือให้เอเย่นต์อินเดียจองให้ เพราะรถไฟเป็นพาหนะหลักในการเดินทางของอินเดีย การจองรถไฟค่อนข้างต้องแข่งขันกันสูงมาก เพื่อให้ได้ที่ และบางขบวนก็หาที่ว่างยากเหลือเกิน เราไม่สะดวกที่จะมายืนต่อแถวรอลุ้นเพื่อซื้อตั๋วเอง ขนาดฝากให้คนที่นี่ไปจองให้ถึงที่สถานีก่อนเดินทางตั้งนาน ยังไม่ได้ตั๋วเลย สุดท้ายเลยต้องพึ่งเอเย่นต์อยู่ดี เพื่อความแน่นอนว่าเรามีตั๋วเดินทาง ก็ต้องยอมเสียค่าน้ำร้อนน้ำชาให้แขกหน่อย       

  

   

            จากสนามบินกัลกัตตา เราต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงไปที่สถานีรถไฟ SEALDAH ออกจากสนามบินกันตอนประมาณสองทุ่มครึ่ง เราไปถึงสถานรถไฟประมาณ 3 ทุ่มกว่าๆ รถไฟขบวน Darjeeling Mail ที่เราจองไว้จะออกเวลา 22.05 น. ดีที่รถขบวนนี้ออกจากที่นี่เป็นสถานีต้นทาง เลยไม่ต้องวุ่นวายกับการแย่งกันขึ้นแย่งกันลงกับแขกมากนัก พอรถไฟเข้าเทียบชานชลา พวกเราก็เดินไปขึ้นรถจับจองที่นั่งตามหมายเลขของตัวเอง เสียดายที่โดนแยกเป็น 2 ที่ คือมี 2 เตียงอยู่ด้วยกัน แต่อีกเตียงซึ่งก่อนหน้านี้เป็น Waiting List อยู่ ได้เตียงที่แยกออกไป แต่ก็ยังดีแหละที่ได้ที่นอนและยังอยู่ในตู้เดียวกัน เพราะถึงจะเป็น Waiting List แต่ก็เสียเงินไปครบตามจำนวนเรียบร้อยแล้ว บางทีก็ไม่ได้ที่นั่ง แล้วก็ไม่คืนเงินด้วย คือขึ้นรถไปได้ แต่ไม่มีที่ให้ ถ้าไม่มีเพื่อนไปด้วยเจอแบบนั้นก็คงแย่ ต้องรอจนกว่าจะมีคนลงที่ถึงจะว่าง ทีแรกก็คิดแผนสำรองไว้แล้วว่าถ้าไม่ได้ที่จริงๆ ก็ต้องนอนเตียงเดียวกันสองคน สรุปว่าเรากับพลอยนอนอยู่ใกล้กัน ส่วนพี่ปลาแยกออกไปนอนอีกที่ เพราะน่าจะเอาตัวรอดได้มากกว่าคนอื่น คุยกับแขกรู้เรื่องหน่อย พอรถออกได้สักพัก เราก็เตรียมตัวนอนเอาแรงกัน ถึงแขกซึ่งมากันเป็นครอบครัวใหญ่ที่นอนใกล้ๆ กับเราจะยังวุ่นวายเดินไปเดินมากันอยู่ก็ตาม

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

 

วันที่ 2   วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2550          

นิวจัลไปกุรี(New Jalpaiguri) ดาร์จีลิง(Darjeelimg)

 

  

  

  เช้าวันใหม่ 8 โมงตรง รถไฟถึงสถานีนิวจัลไปกุรี คนเยอะมากๆ ลงจากรถไฟเดินข้ามสะพานลอยลงมาซ้ายมือจะเป็นคิวรถ(มาตามคำบอกเล่าของผู้ที่เคยมาก่อน) มีรถทุกรูปแบบ ทั้งเล็กใหญ่ แชร์และเหมา ปลายทางก็มีหลายๆ เมืองที่อยู่ในโซนใกล้เคียง ทั้งสิลิกุรี่ (Siliguri) กังต๊อก ดาร์จีลิ่ง จุดหมายของเราคือดาร์จีลิ่ง ถ้าเหมาคันก็ 1,000 รูปี ถ้าแชร์จี๊ป ก็คนละ 110 รูปี จริงๆ จากที่เราสืบถามราคามาน่าจะอยู่ที่ 80 – 100 รูปี แต่ก็อย่างว่า ต้องยอมให้แขกฟันบ้าง ถ้าจำเป็น เราก็เลยมาแชร์จี๊ปรวมกับแขกอีก 7 คน มุ่งหน้าสู่ดาร์จีลิง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ความจริงอยากนั่ง Toy Train มากกว่า แต่ตั๋วเต็มหมด เลยอด อีกอย่างคือ Toy Train ต้องใช้เวลานานกว่ารถยนต์ประมาณ 2 เท่า คือ 7-8 ชั่วโมงได้ เราก็เลยไม่เสียดายเท่าไหร่ ขึ้นไปถึงเร็ว ก็จะได้มีเวลาเที่ยวได้นานขึ้น            

  

            ตำแหน่งที่นั่งบนรถจี๊ปของเรา 3 คนอยู่ด้านหลัง มีหนุ่มแขกตัวอ้วนดำอีกคนมาสมทบเป็นตำแหน่งที่ 10 ซึ่งพวกเราเรียกเขาว่า โดเรมอน สำหรับพวกเราเส้นทางที่คดโค้ง การขับรถของลุงที่สุดจะบรรยาย กับเวลา 3 ชั่วโมง และมีแวะพักระหว่างทางประมาณ 10 นาที ถือว่าโอเค ไม่ลำบากยากเย็นนัก แต่สำหรับโดเรมอน สงสัยจะหฤโหดทีเดียว เพราะอาการดูน่าเป็นห่วง เหมือนเขาจะเมารถ ขออย่างเดียวอย่ามาอ้วกใส่เราก็แล้วกัน

  

จุดแวะรถ เป็นที่แรกที่พวกเราได้ลงมาสัมผัสอากาศเย็นๆ และหมอกหนาๆ ของดาร์จีลิ่ง ความรู้สึกช่างแตกต่างกันอย่างสุดจะจินตนาการ ก็เราเพิ่งจะเจออากาศร้อน 45 องศาอยู่เมื่อสองวันก่อนนี้เอง เล่าให้พลอยฟังพลอยก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าแค่ต่างเมืองในประเทศด้วยกันมันต่างกันขนาดนั้นได้ไง นึกแล้วก็อยากให้แบงค์ได้มาสัมผัสความรู้สึกนี้ เพราะไปเผชิญ 45 องศามาด้วยกันในเส้นทางไหว้พระ

  

อีกความโดดเด่นหนึ่งของดาร์จีลิ่งที่เราได้เห็นก็คือที่นี่เป็นเมืองแห่งการศึกษา มีโรงเรียนมากมายหลายแห่งในเมืองนี้ คนไทยก็นิยมส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง และได้เรื่องภาษาอังกฤษด้วย โรงเรียนที่นี่มีมาตรฐานสูงเพราะอังกฤษวางรากฐานไว้ และประเทศอินเดียก็ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก เครื่องแบบของนักเรียนดูเป็นสไตล์นักเรียนอังกฤษ มีหลากแบบหลายสี ดูดีจัง

    

  

            เที่ยงกว่าๆ รถจอดที่ท่ารถแถวหอนาฬิกา ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองดาร์จีลิ่ง ได้สัมภาระลงจากหลังคารถเรียบร้อยครบถ้วน ก็ออกเดินไปหาที่พักที่จองไว้ Bellevue Hotel ถึงอาจจะแพงไปหน่อยสำหรับ Backpacker คืนละ 1,200 รูปี แต่สำหรับผู้หญิง 3 คน ก็ถือว่าโอเคแล้วนะ ซื้อความสบายใจในความปลอดภัยและความสบายในคืนแรก คืนพรุ่งนี้ค่อยเปลี่ยนที่ หาที่ถูกกว่านี้หน่อย ประหยัดงบ เพราะต้องเดินทางอีกหลายวัน

    

  

            เดินมาถึงโรงแรม ได้ห้องพักเรียบร้อย สภาพห้องพักโอเคมากๆ เป็นของคนทิเบต ดูสะอาด สงบและก็บรรยากาศดี มองออกไปนอกหน้าต่างห้องเราเห็นสวนเล็กๆ มีดอกไม้ออกดอกดูสดชื่นดี มีน้ำอุ่นช่วงเช้ากับเย็น ห้องใหญ่ๆ มีฮีทเตอร์รุ่นโบราณอยู่ในห้องด้วย แต่ห้องเราไม่มีนะ

 

            เก็บของเสร็จ พวกเราก็ออกไปหาข้าวกลางวันกินกัน มีฝรั่งที่พักที่เดียวกันเขาแนะนำร้าน Kunga บอกว่าโอเค เราก็เลยไปตามคำแนะนำ มีโมโม่ และอาหารทิเบตอีกหลายๆ อย่างที่รสชาติใช้ได้ สรุปว่าร้านนี้ผ่าน อย.(อย่อย) ของพวกเรา แต่ร้านเล็กไปหน่อย มีไม่กี่โต๊ะเอง คนเต็มตลอด จนบางคนมาแล้วไม่มีโต๊ะนั่ง แต่ถ้าโต๊ะเยอะหรือว่าร้านใหญ่กว่านี้เค้าคงทำไม่ทันแน่ เพราะร้านแค่นี้ยังต้องรออาหารกันอยู่ครู่ใหญ่

  

 

            จัดการอาหารกลางวันมื้อแรกของทริปกันเรียบร้อย เราก็ออกเดินเที่ยวในย่านชอร์ราสต้า ลาเด็นลา ดูของบ้าง ดูที่พักเป็นหลัก เพื่อหาที่พักสำหรับคืนต่อไป บ้างที่ก็น่าสนใจ ราคาถูกแบบหัวละ 125 รูปี แต่สภาพแวดล้อมดูน่ากลัวไปหน่อย ที่โอเคก็แพงไป ในระดับราคา 1,200 รูปี เท่าๆ ที่เราพัก ไม่มีที่ไหนดูดีเท่าของเราสักที่ แต่มีที่หนึ่ง 550 รูปี บอกว่าพรุ่งนี้เช้าให้มาดูอีกที เพราะวันนี้เต็มอยู่ พวกเราก็ตกลงกันว่าจะเอาที่นี่แหละ ประหยัดงบประมาณ

     

            เดินกันได้พักใหญ่ ไปหาร้านนั่งกินชาสบายๆ แถวโรงแรมสักหน่อยดีกว่า ได้ที่นั่งเรียบร้อยนั่งรออยู่อีกครู่ใหญ่ แขกดันลืมชาที่เราสั่ง สรุปว่าได้กินแต่ขนม ไม่ได้กินชา  ขี้เกียจรอแล้ว ก็เลยกลับเข้าห้องไปอาบน้ำอุ่นก่อนที่มันจะหมดช่วงโปรโมชั่น แล้วค่อยลงไปเดินเล่นตอนค่ำ และหาข้าวเย็นกินกัน

 

 

    

            ยิ่งเย็นค่ำแขกยิ่งเต็มถนน ช่วงนี้เป็นฤดูแขกเที่ยว (Indian Season) พวกเค้าหนีร้อนขึ้นมาเที่ยวที่หนาวๆ กัน พอค่ำๆ ก็จะออกมาเดินช็อปปิ้ง ของขายมากมาย น่าสนใจหลายอย่างทีเดียว แต่ที่น่าแปลกคือราคาที่พ่อค้าแม่ค้าเค้าบอกเรา กับราคาที่เค้าบอกแขกมันไม่เท่ากันนะ เค้าบอกแขกแพงกว่าที่บอกพวกเรา เท่าที่เจอก็ 2 – 3 ร้านเป็นแบบนี้หมด ไม่รู้ทำไม สงสัยแขกหลอกฟันง่ายกว่าพวกแบกเป้เที่ยวอย่างพวกเรา เพราะพวกเราต่อแล้วต่ออีก เราถามราคาผ้าคลุมไหล่ คนขายบอกเราผืนละ 150 รูปี เราต่อได้ผืนละ 125 รูปี แต่พอแขกมาถามเค้าบอก 180 แขกได้ไปในราคา 150 หรือเพราะได้กำไรจากพวกเราน้อย เลยหันไปฟันแขกแทนก็ไม่รู้นะ

 

            พอได้ของกันสมใจ บางอย่างก็เล็งๆ ไว้ กะว่าพรุ่งนี้ค่อยมาซื้อ เริ่มหิวกันแล้ว มื้อนี้กินอาหารข้างทางกันดูบ้าง เพราะพลอยอยากลอง เป็นเฉาเหมี่ยน หน้าตาประมาณหมี่ผัดบ้านเรา ซื้อแถวร้านในซอยข้างโรงแรม ระหว่างรอเฉาเหมี่ยนก็มีการเดินขบวน ส่งเสียงดังลั่นไปทั้งเมือง เล่นเอาตกใจหมด นึกว่าเค้าประท้วงอะไรกัน แต่จริงๆ เป็นแค่กลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น Indian Idol หรือประมาณบุคคลต้นแบบที่หนุ่มสาวอินเดียคลั่งไคล้ โดยการโหวต แม่ค้าบอกว่าเค้าออกมาชุมนุมกันหลายคืนแล้ว นักศึกษาที่นี่มีเสรีภาพทางความคิดและกล้าที่จะแสดงออกอย่างชัดเจน  

            อย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเมืองดาร์จีลิ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คือการรณรงค์เรื่องการไม่ใช้ถุงพลาสติก แล้วที่นี่เค้าก็ไม่ใช้ถุงพลาสติกจริงๆ มีแต่ถุงกระดาษ และพวกกระทงใบไม้สำหรับใส่อาหารอย่างเฉาเหมี่ยนที่เราสั่ง ดีจัง ถ้าทุกเมืองรณรงค์อย่างนี้ได้ คงลดปริมาณขยะและการทำลายสิ่งแวดล้อมลงได้เยอะเลย

พอได้อาหารตามที่สั่ง เราก็เอาขึ้นมานั่งกินที่ Lobby หน้าห้องพัก รสชาติโอเคนะ พอกินได้ เสร็จภาระกิจเรื่องกิน เราก็เตรียมนอนได้ เพราะพรุ่งนี้ต้องตื่นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ Tiger Hill กันแต่เช้ามืด ประมาณตี 3 ครึ่ง เราควรจะออกจากโรงแรม เพราะเราต้องไปหารถแชร์คาร์แถวหอนาฬิกา แต่ถ้าเหมารถก็ออกสักตี 4 ก็ได้

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

วันที่ 3   วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2550

ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling)

 

            เดินออกจากโรงแรมกันตอนตี 3 ครึ่ง ประตูใหญ่ของโรงแรมยังปิดอยู่เลย ไปถึงท่ารถแถวหอนาฬิกาก็เจอโชเฟอร์หนุ่มเข้ามาถามพอดีว่าจะไป Tiger Hill หรือเปล่า เค้าบอกราคาคนละ 100 รูปี แถมบอกว่าเป็นราคาเที่ยวเดียวด้วยนะ ไม่ใช่ไป-กลับ พอเราบอกว่าข้อมูลที่เราได้มาราคาประมาณ 80 – 90เอง และเป็นราคารวมทั้งไปและกลับ เค้าก็บอกว่าอันนั้นสำหรับรถเล็ก รถเค้าใหญ่กว่าและไปแค่ 7 คน ถ้าเราไปรถก็ออกเลย เพราะมีอยู่ 4 คนแล้ว มองไปรอบๆ ก็เห็นว่าไม่มีรถคันอื่น เราก็เลยโอเค คนละ 100 รูปีไปและกลับ เกือบจะโดนแขกฟันซะแล้ว พอขึ้นรถก็เห็น 4 คนที่นั่งรออยู่ก่อนแล้ว เป็นครอบครัวแขกซิกส์ 4 คน พ่อ แม่ ลูกสาวตัวเล็กๆ อีก 2 ดีเลยไม่ได้เบียดกันมาก ไปแบบชิวๆ  

 

            ไปถึงทางเข้าจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น Tiger Hill รถจอดรอให้เราลงไปซื้อตั๋ว เราเลือกตั๋วชั้น 2 ที่ได้อยู่ในห้องกระจกชั้น 2 คนละ 30 รูปี ถ้าเป็นชั้นหนึ่ง จะอยู่บนห้องกระจกชั้น 3 ราคา 40 รูปี ชั้นล่าง 20 รูปี ส่วนแบบที่ยืนเผชิญลมหนาวอยู่ด้านนอกคนละ 5 รูปี คนเยอะทุกชั้นเลย และสรุปสุดท้ายไม่ว่าจะจ่ายมากจ่ายน้อยก็ไม่มีใครได้เห็นโฉมงามคันเช็งจุงก้ายามที่ต้องแสงแรกของพระอาทิตย์สักคน เห็นแต่สายหมอก กับฝูงชน หมอกหนามาก อากาศเย็น ยิ่งเวลาลมพัดยิ่งหนาวใหญ่ เรารออยู่จนครบเวลาที่คนขับรถให้ 30 นาที ก็ยังไม่มีวี่แววของแสงอาทิตย์ เลยไปเลือกภาพโปสการ์ดกลับไปดูแทน เดินลงมาถึงข้างล่าง คนขับรถกำลังเดินมาตามพอดี เพราะสมาชิกครอบครัวนั้นเค้ามารออยู่แล้ว

    

ออกจาก Tiger Hill รถไปแวะที่จุดชมวิว Batasia Loop & War Memorial อีกที่ นักท่องเที่ยวก็เยอะ คนขายของก็แยะ วางของขายกันบนรางรถไฟ Toy Train เห็นแล้วนึกถึงแม่ค้าแถวสถานีรถไฟแม่กลองบ้านเราเลย แต่ตอนนี้ยังเช้ามาก Toy Train ยังไม่มาถึงแน่ๆ เสียดายจัง เลยไม่ได้เห็นภาพรถไฟ Toy Train วนรอบอนุสาวรีย์นี้อย่างที่เห็นในภาพโปสการ์ดที่เค้าถ่ายกัน

 

จากจุดชมวิวนี้ เราได้แวะที่วัด Dali Monastery อีกแห่ง คราวนี้มีแต่พวกเราที่ลงไป เพราะครอบครัวแขกซิกส์ เค้าจะไม่เข้าไปในสถานที่ของศาสนาอื่น โชเฟอร์ให้เวลา 15 นาที พวกเราขึ้นไปชมวิวและถ่ายรูปกัน ที่นี่มีกงล้อมนต์ขนาดใหญ่หลายอัน มีพระลามะนั่งสวดมนต์อยู่ และมีผู้คนเข้ามาสักการะ แล้วหมุนกงล้อกันอยู่เนืองๆ ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้านในเค้าห้ามถ่ายรูป พอได้เวลาพวกเราก็รีบกลับลงไปที่รถ เพราะเกรงใจครอบครัวแขกที่นั่งรออยู่ 

รถเข้ามาส่งเราแถวหอนาฬิกาที่เดิม และบอกค่ารถ 400 รูปี เพราะแวะให้เที่ยวหลายที่ มีเรื่องให้ต้องต่อรองกันตลอดเวลาเลยนะแขกเนี่ย สรุปว่าเรายอมจ่ายให้ 350 อย่างน้อยก็ได้แวะตั้ง 3 ที่ จากที่คิดว่าไป Tiger Hill ที่เดียว

เราตื่นกันมาตั้งแต่ตี 3 ใช้พลังงานไปพอสมควร คราวนี้ก็ได้เวลาหิวแล้วซิ แต่ร้านอาหารไม่เปิดกันเลย ส่วนใหญ่เปิด 8 โมง นี่เพิ่งจะ 7 โมงเอง เดินดูอยู่ 2-3 ร้านแล้วก็ไม่มีเปิด สุดท้ายเลยเดินกลับมาตั้งหลักที่โรงแรม พอดีแวะไปดูซอยข้างๆ โรงแรมมีร้านขายของเปิดอยู่ร้านหนึ่ง มีไจ(ชา) เฉาเหมี่ยน และอื่นๆ ด้วย เราก็เลยกินอาหารเช้าเป็นชาร้อนกับ Egg Bun และเฉาเหมี่ยนกัน รวมค่าอาหารมื้อนี้แค่ 35 รูปี ประหยัดดีจริงๆ

 

 

 

อิ่มจากอาหารเช้าประมาณ 8 โมงพอดี พี่ปลาเลยเดินไปดูโรงแรมที่เรากะจะไปนอนคืนนี้ แต่สุดท้ายก็กลับมาบอกว่าสภาพห้องมันไม่ค่อยดี ประชุมตกลงกันว่า เราจะลองถามที่เดิมดูว่ามีห้องที่ถูกกว่านี้มั้ย เผื่อเราจะย้ายห้อง เค้าบอกว่ามีห้อง 1,000 รูปี แต่ต้องรอว่าแขกจะ Check out วันนี้อย่างที่แจ้งไว้หรือป่าว ตกลงตามนั้นแหละ อยู่ที่นี่น่าจะดีที่สุดแล้ว จะได้ไม่ต้องเก็บของย้ายบ้าน เวลาที่เหลือก่อนจะเที่ยงซึ่งจะรู้ผล เราก็ไปหาที่เที่ยวเล่นกัน กะว่าจะไปขึ้นกระเช้าลอยฟ้าชมวิวดาร์จีลิ่งสักหน่อย แต่ดันเลี้ยวผิดทาง กว่าจะถึงกระเช้าเลยต้องผ่านสวนสัตว์ก่อน พอตัดสินใจว่าจะเข้าไปเที่ยวในสวนสัตว์ กลายเป็นว่าวันพฤหัสเป็นวันที่สวนสัตว์ที่นี่ปิด วันนี้โชคไม่เข้าข้างจริงๆ เลย เราก็เลยเดินต่อไปถึงกระเช้า แล้วโชคร้ายก็ยังอยู่กับเรา กระเช้าปิดให้บริการไปแล้ว ไม่มีข้อมูลจากที่ไหนบอกเลยสักนิด เวลาถามทางเค้าก็บอกแค่ทางจริงๆ ทำไมไม่มีใครบอกว่ามันปิดไปแล้วนะ เดินมาตั้งหลายกิโล ไม่รู้ว่าวันนี้พวกเราก้าวเท้าผิดออกจากที่พักกันหรือไง ขากลับนี้เดินไม่ไหวแล้ว นั่งแท๊กซี่กลับกัน โดนแขกฟันไปกินอีก 150 รูปี

             

มาถึงย่านชอร์ราสต้าประมาณ 11 โมงได้ ไปหาของกินที่ร้าน Kunga กันดีกว่า วันนี้ลองกินโมโม่ทอดดูบ้าง เมื่อวานกินแบบนึ่งไปแล้ว มีแพนเค้กกล้วยน่ากินมากๆ ของโต๊ะข้างๆ เลยสั่งมาลองสักหน่อย อันใหญ่มากเลย ส่วนพลอยสั่งข้าวเปล่ากับไข่เจียว แล้วก็ควักน้ำพริกแกงไตปลาคั่วแห้งชื่อดังของภูเก็ตที่พกมาจากบ้านขึ้นมากินกับข้าวร้อนๆ อร่อยไปเลย แต่เค้าลืมไข่เจียวน่ะ อดเลย

จัดการอาหารเสร็จ กลับเข้าไปพักผ่อนที่โรงแรมกันก่อน อาการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เลยกินยานอน ที่กะว่าจะไปดูไร่ชาตอนบ่ายก็เลยไม่ได้ไป เพราะคิดว่าไปบ่ายก็คงไม่เห็นอะไรนอกจากไร่แต่ไม่มีคนงานแต่งชุดพื้นเมืองเก็บชาให้เห็นแล้ว ส่วนห้องก็ไม่ได้ย้าย ไหนๆ ก็รื้อของกันไว้เต็มห้องแล้ว จะได้ไม่ต้องเก็บของหลายรอบ พักต่อที่ห้องนี้แหละ จ่ายแพงอีกหน่อย แล้วค่อยไปประหยัดเอาวันหลังนะ

       

กินยานอนได้พักหนึ่ง ตื่นมาก็ดีขึ้นแล้ว เตรียมตัวออกเที่ยวต่อได้ เราแวะซื้อโปสการ์ดแล้วไปนั่งกินชากับเค้กที่ร้าน Glenary เขียนโปสการ์ดส่งข่าวถึงเพื่อนฝูงไปจิบชากันไป ที่นี่มีบริการอินเตอร์เน็ตด้วย ฝรั่งเต็มร้านเลย ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะมานั่งที่ร้านนี้ เรานั่งกันอยู่พักใหญ่ๆ ก็ออกไปเดินเล่นข้างนอกต่อ โปสการ์ดก็หย่อนลงตู้หน้าร้านเลย เราตั้งใจจะไปซื้อชาดาร์จีลิ่งซึ่งเป็นชาชื่อดังระดับโลกที่ร้าน Nathmulls เป็นของฝากซะหน่อย เดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึง ได้ชาเขียว(Green Tea) คุณภาพปานกลาง (ประมาณระดับที่ 4 จากสูงสุด 7 ระดับ) มาคนละห่อสองห่อ ส่วนชาดำ(Black Tea) มันขมมากไปสำหรับพวกเราเลยไม่ได้เอามา พอออกจากร้านชา กำลังจะเดินกลับก็ดันไปสะดุดตากับร้านขายของประมาณพวกของเก่าน่ะ เลยแวะเข้าไปดูของ โดนไปอีกคนละหลายร้อยกับของถูกใจและของฝากหลายอย่าง ตัวเบากันไปเลย จากที่บอกตัวเองกันว่าต้องประหยัดนะเนี่ย แล้วนี่เพิ่งจะเมืองแรกของทริปเองนะ

 

   

เอาล่ะ หลังจากวันนี้เราจะไม่ซื้อของอะไรกันอีกนะ ช่วยกันเตือนตัวเองและเพื่อนฝูงด้วย แล้วสายตาก็เบนไปเห็นร้าน Lemon Grass Thai Cuisine at The Park Restaurant เป็นร้านอาหารไทยด้วย โอ้แม่เจ้า...ต้องลองซะแล้ว เผื่อพาคณะมาเที่ยว จะได้มีร้านอาหารไทยให้กิน เอานะยอมจ่ายแพงอีกสักมื้อแล้วกัน จากที่คิดไว้ว่าจะกลับมาขอน้ำร้อนที่โรงแรมกินมาม่ากัน พอเข้าไปในร้านก็ได้ยินเพลงไทยลอยมาต้อนรับเลย เพลงของอิทธิ พลางกูรด้วย ในร้านมีภาพวิวทิวทัศน์ที่ต่างๆ ของเมืองไทยติดอยู่ พอได้เมนูมาเราก็เลือกสั่งต้มยำไก่ ผัดกระเพราไก่ และไข่เจียว อาหารธรรมดาๆ เพื่อทดลองว่ารสชาติจะเป็นยังไง แล้วเราก็ได้ต้มยำไก่ใส่มะเขือเทศ ผัดกระเพราไก่ใส่ใบมะกรูดกับตะไคร้ และไข่เจียวสารพัดผักมากินกัน พร้อมด้วยแกงไตปลากระปุกเดิมของพลอย รสชาติอาหารไทยที่แขกทำก็ดูงงเล็กน้อย ไอ้เครื่องที่ใส่ในผัดกระเพรามันดูน่าจะเป็นเครื่องที่ใส่ต้มยำมากกว่านะ ต้มยำก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องใส่มะเขือเทศด้วย ไม่รู้ว่าอาหารไทยสูตรไหนแน่ แต่สรุปว่าก็พอกินได้ สำหรับคนที่ไม่กล้าลองอาหารแขกหรือคิดถึงรสชาติอาหารไทย ก็พอแก้ขัดแหละ

อิ่มท้องเรียบร้อย กลับที่พักเตรียมอาบน้ำโดยด่วน ก่อนที่น้ำร้อนจะหมด แล้วก็เก็บของเตรียมไว้เลย สำหรับการเดินทางเช้าพรุ่งนี้ เราจะไปกาลิมปงกัน

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

 

วันที่ 4   วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2550         

ดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) – กาลิมปง (Kalimpong)

 

  

            ตื่นกันแต่ตี 5 เตรียมตัวทำภารกิจและเก็บของให้เรียบร้อย เราจะออกเดินทางไปกาลิมปงกัน 6 โมงเช้าเรา Check out เรียบร้อย แบกเป้ขึ้นหลังเดินไปที่ย่านรถแท๊กซี่ เรียกรถไปที่ท่ารถแชร์จี๊ปเพื่อหารถไปกาลิมปงที่ย่านตลาดเก่า(Old Market) โดนค่าแท๊กซี่ไปอีก 100 รูปี แต่คนขับแท๊กซี่ก็ยังมีน้ำใจพาพวกเราเดินไปตรงที่ขายตั๋วรถแชร์จี๊ป ทางเข้าไปที่บูธขายตั๋วอยู่ในตัวตึกเก่าๆดูมืดๆน่ากลัวพิกล ข้างนอกมีป้ายบอกชื่อบริษัทฯรถ บอกเส้นทางไปกาลิมปง เข้าไปซื้อตั๋วรถเรียบร้อย คนละ 70 รูปี เลือกที่นั่งได้ตามใจชอบ เพราะยังไม่มีใครจองเลย

            รอกว่าคนจะเต็มรถ และล้อหมุนก็ประมาณ 7 โมงได้ หลังจากกินชาร้อนรอและยืนรออีกพักหนึ่ง ที่นั่งของเราอยู่แถว 2 หลังคนขับ ซึ่งต้องนั่ง 4 คน เบียดกับผู้ชายหน้าตี๋ๆ ตัวไม่ใหญ่นักอีกคนหนึ่ง ข้างหน้าปกตินั่ง 2 คน แต่คันนี้อัด 3 รวมคนขับก็เป็น 4 แถวหลังก็ 4 เหมือนกัน แต่เป็นแขกล้วนๆ ดีแล้วที่เราเลือกมุมนี้ แถมรถเป็นแบบจี๊ปไม่มีหน้าต่าง เปิดโล่งเลย ได้บรรยากาศมากๆ

   

            กาลิมปงเป็นเมืองเล็กๆ บรรยากาศคล้ายๆ กับดาร์จีลิ่ง แต่ยังเงียบสงบกว่า มีชื่อเสียงเรื่องเป็นเมืองตากอากาศ และเป็นเมืองแห่งกล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ อยู่ห่างจากดาร์จีลิ่งประมาณ 55 กิโล ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เส้นทางก็ขึ้นเขาลงเขาคดโค้งอีกเช่นเคย แต่คราวนี้โชเฟอร์ดูจะมีมารยาทและใจเย็นหน่อย ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ แบบไม่เร่งมาก มีจุดแวะพักระหว่างทางให้ลงมายืดเส้นยืดสาย แขกบางคนก็หาอาหารเช้ากินเลย ผู้คนแถวนี้ดูเป็นมิตรและมีน้ำใจมากกว่าที่ดาร์จีลิ่งนะ ห้องน้ำก็ให้เข้าฟรี หน้าตาก็ดูยิ้มแย้ม ที่ดาร์จีลิ่งทุกอย่างดูเป็นการค้าไปหน่อย

  

            เราออกเดินทางต่อมุ่งหน้าสู่กาลิมปง ระหว่างทางผ่านแม่น้ำสีขาว(White River) ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ทำให้น้ำในแม่น้ำแห่งนี้เป็นสีขาวขุ่น ผ่านแม่น้ำไปอีกพักใหญ่ก็เข้าสู่เมืองกาลิมปง ระหว่างอยู่ในรถพี่ปลาก็หาข้อมูลใน Lonely Planet India ได้ชื่อที่พัก Deki Lodge ฟังดูน่าสนใจ นั้นก็เลยเป็นที่หมายของพวกเรา

ประมาณ 9 โมงเช้า พอรถจอดที่ท่ารถ แบกเป้ออกเดินกันได้หน่อย ถามทางคนแถวนั้นเค้าบอกว่า Deki Lodge อยู่ไกลพอสมควร เลยเรียกแท๊กซี่ โชเฟอร์บอกค่ารถ 30 รูปี เราก็โดดขึ้นรถกันเลย เมืองนี้ไม่ฟันนักท่องเที่ยวเหมือนดาร์จีลิ่งนะ คงเพราะเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวยังไม่นิยมมากนัก หลายอย่างถูกกว่าและคุณภาพดีกว่าที่ดาร์จีลิ่งด้วย

    

แท๊กซี่จอดส่งเราถึงหน้าโรงแรม Deki Lodge เป็นโรงแรมเล็กๆ ที่น่าอยู่ แต่เราไม่ได้จองมาก่อน ไม่แน่ใจว่าห้องจะเต็มป่าว ก็เลยยังไม่เอาของลงจากรถ ส่งทัพหน้าไปเจรจาก่อน พอตกลงว่าโอเคมีห้องว่าง มีหลายราคาให้เลือก ก็ขนของลงจากรถมากองไว้ที่ Lobby แล้วไปดูห้องกัน ก่อนจะตัดสินใจเลือกห้องราคา 450 รูปี มี 3 เตียง ห้องน้ำในตัว น้ำร้อนไม่มีนะ แต่ถ้าอยากได้น้ำร้อนก็สั่งเอากระป๋องละ 10 รูปี เก็บของเข้าห้องเรียบร้อย ท้องร้องว่าหิวมากแล้ว ไปหาอาหารเช้าใส่กระเพาะที่ห้องอาหารของโรงแรมกันก่อนดีกว่า บรรยากาศที่นี่ดีมาก ตรงห้องอาหารมีสวนเล็กๆ มีดอกไม้บาน ดูแล้วสดชื่นดี แถมมีฝรั่งหนุ่มสาวคู่หนึ่งแต่งตัวเหมือนพวกลามะธิเบต นั่งอยู่ก่อนหน้าเรา เหมือนจะเป็นพวกฝึกปฏิบัติอยู่น่ะ

 

            เช้านี้เราสั่งไข่ดาว ไข่ลวก ขนมปัง และกาแฟกินกัน พร้อมทั้งกำจัดอาหารที่ตกค้างมาจากมื้อก่อนๆ ให้สิ้นซาก กินเสร็จพักให้อาหารย่อยสักครู่ เราจะไปเที่ยวรอบๆ เมืองกาลิมปงกัน เราสอบถามข้อมูลจากเจ้าของโรงแรม เค้าก็แนะนำและติดต่อให้อย่างดี ราคาเหมาแท๊กซี่ 4 ชั่วโมงไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ของเมืองกาลิมปง กี่ที่ก็ได้ภายในเวลา 500 รูปี โอเคมากๆ

    

            11.30 น. รถมารับเราที่หน้าโรงแรม แล้วพาเราไปที่โรงเรียน Dr. Graham’ Homes หรือ D.G.H School เป็นที่แรก เป็นโรงเรียนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1900 และเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของเมือง โบสถ์ที่นี่สวยดี แต่ตอนที่เราไปมีหมอกปกคลุมทั่ว อากาศเย็นๆ ฟ้าคลื้มๆ ให้อารมณ์เหมือนโบสถ์ในหนังผีไปหน่อย ก็แปลกไปอีกแบบ

                

            ออกจากที่โรงเรียน เราไปต่อที่ Lord Buddha Statue เป็นพระพุทธรูปที่นั่งอยู่ในดอกบัว ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวกาลิมปง มีดอกไม้หลายชนิดที่สะดุดตา โดยเฉพาะดอกไม้ที่เราเห็นทางเหนือบ้านเรา ซึ่งเคยเข้าใจว่ามันเป็นดอกไม้แห้งมาตลอด เพิ่งรู้ก่อนมาอินเดียไม่นานนักว่ามันเป็นดอกไม้สด แต่ยังไม่เคยเห็นต้นมันจริงๆ แล้วก็ได้มาเห็นที่อินเดียคราวนี้เอง

   

  

            สถานที่ต่อไป เราไปที่รูปเคารพหนุมานองค์ใหญ่ ที่เรียกว่า Hanuman Park เป็นหนุมานสีแดงที่รูปร่างหน้าตาเรียกว่าหล่อล่ำทีเดียว ที่นี่มีแขกมาเที่ยวบ้างเล็กน้อย มีเจ้าหน้าที่นั่งเฝ้าอยู่ตรงบันได คอยท่องคาถาอะไรสักอย่างคงเหมือนให้พร แล้วก็เจิมหน้าผากด้วยสีแดงให้ เราก็เลยได้เจิมหน้าผากแบบแขกเป็นครั้งแรกที่นี่ จากมุมนี้ในวันที่ฟ้าเปิดน่าจะได้เห็นวิวเทือกเขาหิมาลัย แต่น่าเสียดายที่วันนี้ฟ้าปิด เราก็เลยไม่ได้วิวสวยๆ เลย พอออกจากหนุมาน พาร์ค เราให้โชเฟอร์แวะตรงหลักกิโลเมตร ซึ่งเล็งไว้ตั้งแต่ขาไปแล้ว เป็นหลักกิโลเมตรที่บอกระยะทางอีก 8 กิโลถึงกาลิมปง เราถ่ายรูปกันอยู่พักหนึ่งจนโชเฟอร์สงสัยว่าหลักกิโลเมตรนี้สำคัญยังไง พลอยก็ตอบไปว่าพวกเราจะเอารูปไปลงเว็ปไซด์ เพราะกำลังจะเปิดทำทัวร์ แขกคงงงว่าทำไมต้องถ่ายรูปกับหลักกิโล ก็แค่ชอบเป็นการส่วนตัว และอยากให้รู้ว่าเราเดินทางมาที่นี่น่ะ

     

            จากหลักกิโล เราไปที่ Deolo Hill จุดชมวิวเป็นสูงที่สุดของกาลิมปง มองลงไปเห็นวิวเมืองกาลิมปง และ Durpin Hill ซึ่งถ้าเป็นวันฟ้าเปิดเราจะได้เห็นยอดคันเช็งจุงก้าด้วย แต่วันนี้หมดสิทธิ์ ไม่มีลุ้นตั้งแต่ออกมาจากที่พักแล้ว เพราะหมอกเยอะมาก แต่ด้านบนนี้อากาศดีมาก ลมเย็นๆ ลมเอื่อยๆ มีทิวแถวดอกไฮเดรนเยียที่ออกดอกช่อใหญ่ๆ บานสะพรั่งเต็มต้น สวยมากๆ ถูกใจอย่างแรง เรียกว่าเมืองนี้เป็นเมืองดอกไม้สำหรับพวกเราเลยก็ว่าได้ กาลิมปง เมืองดอกไม้บาน เราขึ้นไปดูวิวอยู่พักนึง นอกจากเมฆ วิวภูเขา และแม่น้ำสีขาว โฉมงามคันเช็งจุงก้ายังคงอายพวกเราอยู่ ไม่รู้ว่าทริปนี้เราจะได้เห็นเธอหรือเปล่านะ

 

            จุดชมวิวอีกจุดหนึ่งที่โชเฟอร์พาเราไปดูคือที่สนามกอล์ฟอาร์มี กอล์ฟ คอร์ส (Army Golf Course) แต่ก็ตามเคยแหละ มีแต่เมฆกับหมอก ไม่ได้เห็นวิวเทือกเขา เห็นแต่นักกอล์ฟเดินอวดวงสวิงอยู่ 2-3 คน เวลาฟ้าใสๆ ที่นี่คงเป็นสนามกอล์ฟที่วิวสวยมากๆ เลย

   

            จากจุดนี้แล้วเราก็ขึ้นไปที่วัดทิเบตแห่งหนึ่ง ชื่อว่า Zang Dog Palri Monastery (Durpin Monastery) เป็นวัดใหญ่ ตอนที่เราไปถึงพระลามะกำลังนั่งสวดมนต์กันอยู่ในโบสถ์ เราเลยไม่ได้เข้าไปไหว้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้านใน ได้แต่ไหว้และถ่ายรูปอยู่ด้านนอก

 

 

            ออกจากวัดโชเฟอร์พาเราไปชมสวนกระบองเพชร มีกระบองเพชรมากมายหลากหลายพันธุ์ ที่สำคัญคือมันกำลังออกดอกแข่งกันเต็มไปหมด สารพัดสีสารพัดทรง สวยแปลกตา และไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ แน่ เพราะกว่ากระบองเพชรจะออกดอกให้ได้เห็น แปลว่ามันต้องมีอายุมากพอสมควรแล้ว เราเลยถ่ายรูปกระบองเพชรกันซะเพลินไปเลย แต่เท่าที่เราสืบค้นข้อมูลมาเมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไม้นะ ทำไมพาเรามาดูกระบองเพชรหว่า

  

            ออกจากสวนกระบองเพชรก็หมดเวลา 4 ชั่วโมงตามที่ตกลง เค้าก็พาเราไปส่งที่โรงแรม เก็บของเข้าห้องพักเสร็จ พวกเราก็ตรงดิ่งไปที่ห้องอาหารเลย เพราะหิวกันแล้ว ก็เรากินข้าวเช้าตอน 10 โมงกว่า แล้วนี่มันบ่าย 4 โมงเย็นแล้วน่ะ ก็สมควรได้เวลาหิวอยู่แหละ สั่งอาหารทิเบตมากินกันจนอิ่มหนำเรียบร้อยก็มาตกลงกันว่าเราจะทำอะไรต่อดีสำหรับเวลาที่เหลือของวันนี้ ไปสอบถามข้อมูลจากเจ้าของโรงแรมก็ได้ความว่าร้านรวงในตลาดจะเปิดถึงประมาณ 2 ทุ่ม เป็นร้านทั่วๆ ไป เหมือนร้านขายของในเมืองต่างๆ ไม่ใช่ร้านที่มุ่งขายนักท่องเที่ยว และจะอยู่กระจายๆ กันไป ต้องลองเดินดู ส่วนโปรแกรมของพรุ่งนี้ เราอยากไปดูกล้วยไม้กัน ไปที่ไหนดี แล้วต้องจ่ายค่าแท๊กซี่เท่าไหร่ เค้าก็ใจดี หาข้อมูลและแนะนำให้เป็นอย่างดี พรุ่งนี้เค้าจะให้แท๊กซี่มารับเรา 8 โมงเช้า และสรุปว่าคืนนี้พวกเราจะออกไปเดินที่ตลาดกัน ไหนๆ ก็มาถึงถิ่นแล้ว ก็ไปซะให้ทั่วเลยแล้วกัน พรุ่งนี้กลับจากสวนกล้วยไม้สายๆ ค่อยไปเดินอีกรอบ เพราะพรุ่งนี้เป็นวันเสาร์ เค้าจะมีตลาดนัด ที่คนพื้นเมืองแต่งตัวด้วยชุดประจำถิ่นมานั่งขายผักผลไม้และสินค้าต่างๆ เรียกว่าเป็นไฮไลต์ของเมืองนี้ก็ว่าได้ ซึ่งตลาดนัดนี้จะมีเฉพาะวันพุธกับวันเสาร์ โชคดียังพอมีอยู่สำหรับพวกเราบ้างนะ

  

   

             ตลาดกาลิมปงไม่มีอะไรแปลกใหม่ มีร้านขายข้าวของเครื่องใช้ ร้านขายขนม ร้านขายดอกไม้และร้านขายของที่ระลึกไม่กี่ร้าน เราไม่ได้ซื้ออะไรนอกจากน้ำอัดลมหวานๆ เย็นๆ คนละขวด แล้วก็เดินกลับเข้าที่พัก มาถึงห้องก็เตรียมอาบน้ำกันโดยด่วน เพราะที่นี่ไม่มีน้ำอุ่น ยิ่งดึกจะยิ่งหนาว ทีแรกก็ลังเลกันอยู่ว่าอาบหรือไม่อาบดี แต่ด้วยความที่เดินไปเดินกลับกันจนเหนื่อย ได้ร้อน ได้เหงื่อพอสมควรทุกคนเลยสมัครใจอาบน้ำเย็นๆ นั่นแหละ กาลิมปงไม่หนาวมาก อากาศสบายๆ น้ำไม่เย็นจนสุดขั้ว อยู่ในเกณฑ์พอทนได้น่ะ เสร็จภาระกิจก็รีบนอนเอาแรงให้แขนขาได้ซ่อมบำรุงจากความเหนื่อยเมื่อยล้าสักหน่อย พรุ่งนี้เช้า 8 โมง แท๊กซี่จะมารับเราไปชมสวนกลับไม้กัน มาถึงเมืองนี้ไม่ได้ชมกล้วยไม้คงไม่ได้ เพราะเลือกที่จะมาก็เพราะได้ยินว่าเป็นเมืองแห่งกล้วยไม้นี่แหละ ยังไงคงต้องไปเห็นสักหน่อย

  

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

วันที่ 5   วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2550        

กาลิมปง (Kalimpong) – กังต็อก (Gangtok)

 

วันนี้ได้ตื่นนอนกันสายหน่อย เกือบ 7 โมง หลังจากที่เพลียกันมาหลายวัน แต่ละคนเริ่มมีอาการสภาพร่างกายไม่เป็นใจกันบ้างแล้ว กว่าจะล้างหน้าล้างตาเก็บของกันเสร็จก็เกือบ 8 โมง ส่งตัวแทนไปสั่งอาหารเช้าไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตามออไปจัดการกันเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว ระหว่างที่กำลังคิดอยู่ว่าแท๊กซี่จะมารอนานหรือป่าว เพราะบอกว่าจะนัด 8 โมง และยังไม่เห็นมาบอกราคาค่ารถที่จะไปสวนกล้วยไม้เลย แล้วคำตอบก็มาทันใจ เจ้าของโรงแรมเค้ามาบอกว่า ช่วงนี้กล้วยไม้ไม่ค่อยมีดอก ยังไม่ใช่ฤดูของมัน ไปก็ไม่มีอะไร ไม่น่าสนใจ ดีนะที่เค้าบอกกันตรงๆ ไม่เหมือนที่ดาร์จีลิ่ง กระเช้าปิดไปแล้วก็ไม่คิดจะบอก(แอบเคือง) เราเลยสรุปกันว่าไม่ไปดูกล้วยไม้ก็ได้ งั้นเราไปเดินเที่ยวตลาดนัด ที่คนพื้นที่เค้าเรียกว่า Hat Bazaar กันดีกว่า เป็นตลาดที่ชาวพื้นเมืองเค้าเก็บผักผลไม้และผลผลิตต่างๆ มาวางขายกันอย่างคึกคัก มีเฉพาะวันพุธและวันเสาร์ ประมาณตลาดนัดบ้านเราที่มีอาทิตย์ละ 2 วันนั่นแหละ

 

ออกมาจากโรงแรม เราไปแวะแลกเงินเพิ่มอีก 100 ดอลล่าร์ ได้อัตรา 1 ดอลล่าห์/ 40 รูปี และก่อนจะเดินถึงตลาด พี่ปลาก็ขอแวะซ่อมบำรุงรองเท้าคู่ใจเป็นรอบที่ 2 ของการเดินทางมาอินเดียในคราวนี้     

 

พอมาถึงตลาด โอ้โห! ดูดีจัง มีพืชผักผลไม้และของขายหน้าตาแปลกๆ ให้ได้สงสัยกันไปตลอดทาง สนุกดีนะ นี่เป็นวิถีชีวิตจริงๆ และเป็นอีกสีสันหนึ่งที่เราได้เห็นในเมืองกาลิมปง เป็นสีสันที่สดใสและน่ากินมากๆ มีชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อของกินของใช้กันคึกคัก ทุกคนมีถุงจ่ายตลาดมากันเอง ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกใส่ของ ยังใช้การชั่งตวงแบบถ่วงลูกเหล็กอยู่เป็นส่วนใหญ่ ดูคลาสสิคดี ชั่งเสร็จก็เอารวมใส่ในถุงจ่ายตลาดของแต่ละคน และด้วยความที่เป็นตลาดนัดแบบมีแค่อาทิตย์ละ 2 วันมั้ง คงมีการซื้อตุนไว้กินหลายๆ วันหน่อย แต่ละคนเลยหิ้วถุงกันข้อกางเลย แบบว่าซื้อกันจนเต็มถุง ถึงจะกลับบ้านได้ 

    

เดินชมตลาดและถ่ายรูปกันอยู่พักใหญ่ ไปเจอโมโม่ไส้ผัก กำลังปั้นและนึ่งกันร้อนๆ ควันฉุย เลยอดไม่ได้ต้องชิมกันสักหน่อย ก็เรียกว่าใช้ได้นะ แป้งนิ่มๆ น้ำจิ้มรสเด็ด กินร้อนๆ ถึงจะมีแต่ผักก็โอเค นอกจากโมโม่แล้ว เราก็ได้ทับทิมจากตลาดมาครึ่งกิโล 40 รูปี เพราะฤดูนี้ไม่ใช่ฤดูของมัน เลยแพงหน่อย กิโลละ 80 รูปีแน่ะ ผลไม้ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นมะม่วง ลูกพลัม มีลิ้นจี่บ้างเล็กน้อย ฝรั่ง(ที่ลองจากกัลกัตตาแล้วไม่อร่อย) แล้วก็ส้มเช้งซึ่งยังไม่ได้ลองเพราะปลอกลำบากไม่น้อย

 

เราชมตลาดกันจนถึงประมาณ 11 โมง กลับเข้าที่พักเก็บของเรียบร้อย เตรียมตัวเช็คเอาท์ ค่าห้อง 450 รูปี รวมค่าอาหารเช้าซึ่งค่อนไปเกือบกลางวันและมื้อบ่ายแก่ๆ ซึ่งรวบกับมื้อเย็นไปเลย แล้วก็มื้อเช้าของวันนี้ เบ็ดเสร็จทั้งหมด 760 รูปี นับว่าถูกทีเดียว เคลียร์เงินเรียบร้อยเราก็ขอให้เค้าเรียกแท๊กซี่มารับเราไปส่งที่ท่ารถแชร์จี๊ป เสียค่ารถไป 40 รูปี ซื้อตั๋วรถแชร์จี๊ปไปกังต๊อกคนละ 90 รูปี แต่เรามาถึงเที่ยง รถจะออกบ่ายโมง กะว่าจะไปหาอะไรกินสักหน่อยระหว่างรอ เพราะกว่าจะไปถึงกังต๊อกคงหิวแย่ แต่ฝนดันตกลงมา และไม่ยอมหยุด จนได้เวลารถจะออกแล้วก็แค่ซา เราเลยฟาดเสบียงในกระเป๋ากันไปซะหลายอย่างระหว่างนั่งรถ ดีที่ได้ที่นั่งแถวหลังอยู่แล้ว เลยไม่ต้องเกรงใจคนอื่นมาก ผู้หญิงแขกที่นั่งแถวเดียวกับพวกเรา เค้าก็ไม่มีปฏิกิริยาอะไร โอเค กินโลด 

  

เราไปถึงด่านเข้าสิกขิมประมาณบ่าย 2 โมงครึ่ง ตรวจหนังสือเดินทางเรียบร้อยผ่านฉลุย (ก็ขออนุญาตมาจากเมืองไทยแล้วนิ ไม่น่ามีปัญหา) ระหว่างเราตรวจหนังสือ รถเค้าก็จอดพักไปด้วยในตัว ผู้โดยสารก็ลงไปหาของกินบ้าง ยึดเส้นยึดสายบ้างตามแต่ถนัด สักครู่เราก็ออกเดินทางกันต่อ ตอนนี้เราเข้าสู่สิกขิมกันแล้ว บรรยากาศสองข้างทาง ด้านหนึ่งเป็นภูเขาและริมผา อีกด้านหนึ่งจะมองเห็นแม่น้ำสีขาวไปตลอด เหมือนเราไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ สู่ต้นน้ำ เพราะเป็นน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย มองสูงขึ้นไปจะเห็นภูเขาสูงที่มีเมฆหมอกปกคลุมอยู่ตลอดเวลา ดูเหมือนเมฆฝนจะลอยอยู่ทั่วเลย เส้นทางที่ผ่านมาก็ดูเปียกชื้นตลอดและฝนโปรยเป็นระยะๆ เราเจอฤดูมรสุมของอินเดียเข้าแล้ว

โชเฟอร์คันนี้อารมณ์ดีมาก คุยกับผู้โดยสารคู่หน้าตลอดทาง แถมมีจอดให้พวกเราซื้อข้าวโพดปิ้งระหว่างทางด้วยนะ เราลองซื้อมาแบ่งกันกินดูบ้าง จากที่เคยได้ลองที่พุทธคยาแล้วไม่ถูกใจ มันแข็งมาก เพราะเค้าปิ้งแบบวางฝักข้าวโพดลงไปบนถ่านเลย แต่คราวนี้แตกต่างนะ เค้าปิ้งทั้งเปลือกและวางบนตะแกรง ข้าวโพดนิ่มอร่อยเลย แต่เราซื้อมาลองกันแต่ฝักเดียว แบ่งกันกิน 3 คน กินข้าวโพดหมดฝัก นั่งมาสักพักแต่ละคนก็มีคำถามอยู่ในใจเหมือนกันเลยว่า ทำไมซื้อมาฝักเดียว เพราะเห็นร้านข้าวโพดปิ้งขายไปตลอดทาง ตั้งใจว่าไปถึงกังต๊อกจะซื้อกินซะให้หนำใจ

 

บ่าย 4 โมงกว่าๆ เราไปถึงกังต๊อกกัน โรงแรมที่เราเพิ่งติดต่อตอนนั่งรถมาบอกว่าจะส่งคนมารับที่ท่ารถ เค้าเดินมารับและพาเราเดินไปที่โรงแรม ที่แรกในใจคิดว่า นี่จะพาเราเดินจริงๆ เหรอ มารับแบบเดินมาเนี่ยนะ นึกว่าจะเอารถมารับซะอีก เป้เราก็หนักใช่ย่อย แถมต้องปีนขึ้นสะพานลอยอีกนะ โอ้แม่เจ้า แต่สรุปว่ามันเดินแค่แป๊ปเดียวก็ถึง มีทางเชื่อมจากสะพานลอยเข้าไปในโรงแรมได้เลย ที่พักของเรา คือ Modern Central Hotel ตามคำแนะนำของน้อย (น้องคนหนึ่งที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยพาราณสี และคอยอำนวยความสะดวกให้เราอย่างดี เวลาไปไหว้พระที่พาราณสี สารนาถ) ซึ่งเพิ่งมาเยือนที่นี่ก่อนพวกเราไม่นาน ราคาถูก สภาพพอรับได้ และมีคนไทยมาพักกันเยอะ ก็นับว่าโอเคสำหรับการเดินทางแบบประหยัด จ่ายแค่ห้องละ 300 รูปี พัก 3 คน มีห้องน้ำในตัวและมีน้ำอุ่น 24 ชั่วโมง ถือว่าคุ้มมากๆ แล้ว จะมีที่ติอยู่หน่อยก็ตรงที่มันอยู่ติดถนน ในย่าน M.G. Marg ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองกังต็อก เรียกว่าใช้บันไดเดียวกับสะพานลอยเลยแหละ ใกล้ชิดสนิทกันยิ่งกว่าทางเชื่อมของ BTS ที่เข้าอาคารใหญ่ๆ หรือห้างบ้านเราเสียอีก แถมเป็นย่านใจกลางเมืองด้วย ได้ยินเสียงรถวิ่งผ่านไปมาอยู่แทบจะตลอด ตอนดึกแล้วไม่เท่าไหร่ แต่ตอนเช้านี่สิ หมดสิทธิ์ตื่นสายเลย เพราะมีเสียงรถปลุกแต่เช้า

หลังจากเก็บของและออกไปหาข้าวเย็นกินกันเรียบร้อย ซึ่งมื้อแรกที่กังต๊อกนี้ ทำเอามึนไปบ้าง ก็เราออกไปกินกันตอนประมาณ 5 โมงกว่าๆ เข้าไปถึงร้านจะสั่งอาหารพวกข้าวผัดหรืออาหารหลักแบบหนักๆ ท้องหน่อยก็สั่งไม่ได้ เพราะช่วงเวลานี้เค้าเสิร์ฟพวกอาหารชุด เป็นพวกอาหารใต้ของเค้าเท่านั้น เมนูอาหารมื้อเย็นหรืออาหารหลักอื่นๆ จะสั่งได้ต้องประมาณ 6 โมงครึ่งเป็นต้นไป แบบว่าเค้าจะไม่ทำอาหารเมนูอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่กำหนดน่ะ ซะงั้น จะเดินออกไปกินร้านอื่นก็เกรงใจ ก็เลยเลือกอะไรกินๆ ไปแค่พออิ่ม มื้ออื่นค่อยว่ากันอีกที

กินอิ่มแล้วก็ว่าจะออกมาเดินเล่นชมเมืองกันสักหน่อย แต่ฝนตกตลอดเวลา เลยไม่ได้ดูอะไรมาก กังต๊อกเป็นเมืองค่อนข้างใหญ่และเจริญกว่าทุกเมืองที่เราผ่านมา เพราะเป็นเมืองหลวงของรัฐสิกขิม มีร้านรวงมากมาย ของที่ขายก็มีสารพัด ทั้งของกิน ของใช้ ของที่ระลึกที่เน้นขายนักท่องเที่ยว แต่ละร้านดูใหญ่โตหน่อยและเรียงรายกันอยู่เป็นระเบียบ ไม่ได้เป็นร้านเล็กๆ หรือแบกะดินเหมือนที่ดาร์จีลิ่ง แต่เราชอบบรรยากาศที่ดาร์จีลิ่งมากกว่า ดูอบอุ่นเป็นกันเอง และบ้านๆ กว่ากันเยอะ

เดินกลับมาถึงโรงแรม เราก็เข้าไปติดต่อสอบถามเรื่องที่จะไปเที่ยวในวันพรุ่งนี้ และวันอื่นๆ หลังจากนี้ บริษัททัวร์ Modern Treks & Tours มีออฟฟิตอยู่ชั้นล่างของโรงแรมที่เราพักพอดี (รู้สึกว่าทั้งโรงแรมและบริษัททัวร์จะเป็นเจ้าของเดียวกันแหละ) เลยสะดวกหน่อย พอได้ความเรียบร้อย สรุปว่าพรุ่งนี้เราจะไปเที่ยว Sightseeing รอบๆ เมืองกังต๊อกกัน คืนนี้ก็รีบนอนเก็บแรงกันแต่หัวค่ำ พรุ่งนี้จะได้ไปลุยต่อ 

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

วันที่ 6   วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2550  

กังต็อก (Gangtok)

 

            พวกเราตื่นมาล้างหน้าล้างตาอาบน้ำ(เป็นบางคน) กันเรียบร้อย รีบออกไปหาอะไรใส่ท้องก่อนออกเดินทาง แต่ไม่มีร้านไหนเปิดเลย นอกจากห้องอาหารในโรงแรมใหญ่ๆ หน่อย มื้อนี้เลยไปโดนอาหารเช้าที่โรงแรม Golden Heights ก็สั่งขนมปัง ไข่ดาว ไข่ลวก กาแฟ น้ำส้ม ตามสูตรอาหารเช้าแหละ เพราะอย่างอื่นเค้าก็ยังไม่ทำอยู่แล้ว อิ่มแล้วก็เตรียมตัวออกไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ รอบๆ กังต๊อกกันตามเวลานัดหมาย 8 โมงครึ่ง เราจะไปเที่ยวกัน 7 แห่ง เสียค่ารถแท๊กซี่แบบเหมาคัน 800 รูปี วันนี้เป็น Sightseeing แบบที่ไม่ต้องขออนุญาตเป็นพิเศษ สามารถไปเที่ยวได้ตามสบาย 

  

  

            เราไปวัดเอนเซ่ (Enchey Monastery) เป็นที่แรก ที่นี่บรรยากาศร่มรื่นดี มีกำแพงที่เป็นกงล้มมนต์ยาวตลอดแนวจากหน้าประตูทางเข้าไปถึงตัววัด เช้านี้อากาศก็สดชื่น มีหมอกบางๆ ปกคลุมทั่วบริเวณ เห็นลามะน้อยเดินกันไปมา แล้วก็ตีฆ้องส่งเสียงสัญญาณ เหมือนจะเรียกกันไปสวดมนต์หรือทำอะไรสักอย่าง มุมหนึ่งของวัดมีห้องบูชาที่จุดเทียนไว้สว่างไสว เห็นนักท่องเที่ยวบางคนเข้าไปจุดเทียนบูชา คงมีความเชื่อคล้ายกับการเติมน้ำมันตะเกียง หรือการถวายเทียนบ้านเรา ขากลับออกไปก็เดินหมุนกงล้อมนต์ไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าทำให้มีสติดีเหมือนกัน เพราะต้องจดจ่ออยู่กับการหมุนกงล้อแต่ละอัน จากอันหนึ่งไปอีกอันหนึ่ง สำหรับคนพื้นเมืองระหว่างหมุนกงล้อเค้าจะสวดมนต์ไปด้วย เพิ่งได้สัมผัสด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เค้าปฎิบัติกันดีอย่างนี้เอง 

           ออกจากวัดเอนเซ่ โชเฟอร์พาเราไปต่อกันที่ศูนย์จัดแสดงดอกไม้ (Flower Exhibition Centre) เสียค่าเข้าไปคนละ 5 รูปี เข้าไปถึงเห็นแล้วอึ้ง ไม่ได้อึ้งในความงามของดอกไม้นะ แต่อึ้งว่าดอกไม้ที่เห็นมันเป็นดอกที่ปักอยู่ในแจกันไม้ไผ่แล้วก็วางไว้รอบๆ ห้องหนึ่งห้องเท่านั้นเอง นอกนั้นก็มีต้นไม้ใบไม้ที่แทบจะไม่มีดอกเลย นี่หรือศูนย์จัดแสดงดอกไม้ของเค้า ไม่น่าขายได้เลย นอกจากช่วงเทศกาลที่ดอกไม้ออกดอกในฤดูจริงๆ เสียดาย 5 รูปี ยังดีที่ได้อาศัยเข้าห้องน้ำหน่อย ไม่งั้นคงไม่คุ้มแน่ๆ

    

            ผิดหวังจากศูนย์แสดงดอกไม้ เราไปที่ศูนย์หัตถกรรมพื้นเมือง(Handicraft & Handloom) กันต่อ ก็มีศิลปหัตถกรรมสวยๆ หลายอย่าง มีส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมและจัดแสดงงานฝีมือในท้องถิ่น แล้วก็มีส่วนที่ขายของหัตถกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว แต่มีของไม่กี่อย่างและราคาค่อนข้างสูงนะ งั้นล่ะถึงไม่มีแขกถือของออกมาเลยสักคน ถ้าขนาดฟันแขกยังไม่ได้เนี่ย พี่ไทยไม่ต้องพูดถึง พวกเราออกมามือเปล่า

 

            แล้วก็ไปต่อกันที่วัดอีกแห่ง Do-Drul Chorten (Stupas) มีเจดีย์สีขาวตั้งเด่นเป็นสง่า แต่มุมมองของที่นี่ดูไม่สวยนัก เพราะคับแคบ ดูแออัดและถูกล้อมรอบด้วยตึกซึ่งกำลังก่อสร้างเพิ่มเติม ความเป็นวัดที่น่าจะมีเสน่ห์อยู่ที่ความเงียบสงบมันดูหายไป 

  

            ออกจากวัดเราเดินไปที่พิพิธภัณฑ์ Namgyal Institute of Tibetology ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องศาสนานิกายทิเบต มีพระพุทธรูป ภาพต่างๆ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ดูเก่าแก่โบราณดี แต่ที่เราชอบมากๆ ของที่นี่คือประตู หน้าต่าง ที่มีลวดลายและสีสันสดใสสวยงาม เราใช้เวลาถ่ายรูปบานประตู ซุ้มประตู และดาวเพดานด้านนอกที่เค้าไม่ห้ามมากกว่าใช้เวลาอยู่ด้านในพิพิธภัณฑ์เสียอีก บัตรเข้าชมที่ต้องจ่ายคนละ 10 รูปีของที่นี่ก็ทำเป็นแบบโปสการ์ดรูปอาคารพิพิธภัณฑ์นี้แหละ พอเค้าฉีกหางบัตรไปแล้ว ส่วนที่เป็นโปสการ์ดก็ใช้ส่งได้ ที่นี่ค่อยดูดีคุ้มกับ 10 รูปีหน่อย

 

            จากพิพิธภัณฑ์คราวนี้ตีรถยาวไปวัดรุมเต็ก(Rumtek Monastery) เลย วิวทิวทัศน์ระหว่างทางขึ้นไปที่วัดรุมเต็กสวยดี มองเห็นเมืองกังต๊อกในระยะไกล มีบ้านเรือน อาหารสีต่างๆ กระจายกันอยู่ไล่ระดับไปบนภูเขา เป็นเมืองที่ใหญ่ทีเดียว ภูเขาด้านบนถูกปกคลุมด้วยกลุ่มเมฆหมอก บางมุมเห็นทุ่งข้าวโพด หรือแปลงนาขั้นบันไดที่กำลังเตรียมการเพาะปลูกอยู่ด้วย และนี่คือสัญลักษณ์ว่าฤดูฝนกำลังมาแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นนิมิตหมายที่ไม่ดีเท่าไหร่สำหรับพวกเรา เพราะฝนคืออุปสรรคในการเดินทาง แต่นี่คือธรรมชาตินะ เราคงเปลี่ยนแปลงอะไรตอนนี้ไม่ได้ แค่ภาวนาให้หลังฝนตกแล้วให้ฟ้าเปิดสักวันเถอะ อยากเห็นแม่โฉมงามคันเช็งจุงก้าน่ะ

            ระหว่างทางโชเฟอร์แวะให้เราลงที่จุดชมวิว Santi View Point ด้วย แต่เราใช้เวลาอยู่ตรงนี้แค่แป๊ปเดียว เพราะคนเยอะ มีทั้งร้านขายของ คนซื้อของ และมีบริการแต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองสิกขิมเพื่อถ่ายรูปกันด้วย ดูวุ่นวายไปหมด แถมวิวตรงนี้ก็ไม่เห็นจะสวยเลย ติดโดมสีขาวๆ เหมือนโรงเรือนของอะไรสักอย่างด้วย ไม่ได้มองเห็นวิวสวยๆ ไกลๆ เหมือนบางจุดบางมุมที่ขับรถผ่านมาด้วยซ้ำ มันอาจจะเคยสวยก็ได้นะ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว

   

            ก่อนถึงวัดรุมเต็ก เราแวะที่สวนอีกแห่ง ชื่อ Botanical Garden มีต้นไม้ดอกไม้พอสมควร ไม่ได้งดงามอลังการเท่าไหร่ แค่เดินเล่นๆ ถ่ายรูปดอกไม้ได้ไม่กี่ดอก ก็ออกจากสวนกัน แล้วก็ไปสนใจวิวที่ฝั่งตรงข้ามสวนมากกว่า เห็นแปลงนาของชาวบ้าน ข้างๆ เป็นไร่ข้าวโพด ห่างออกไปมีทิวไม้ใหญ่อยู่ และมีวิวเมืองกังต๊อกที่อยู่บนแนวภูเขาเป็นฉากหลัง มุมนี้ค่อยดูโอเคหน่อย แอบหวังมุมมองบนวัดรุมเต็กอีกที่ว่าน่าจะสวยได้ใจ

  

            รถไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงวัดรุมเต็ก มีทหารเฝ้าอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้า ต้องตรวจพาสปอร์ตก่อน พอเรียบร้อยก็เดินขึ้นไปตามทาง เป็นทางขึ้นเขา เหนื่อยใช้ได้ เดินขึ้นไปถ่ายรูปดอกไม้เล็กๆ ริมทางไปเรื่อยๆ เพื่อพักเหนื่อยไปในตัว อย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับรูปสวยๆ ของเราคือสายไฟ ซึ่งมีอยู่แทบทุกที่ และติดแทบทุกมุม จนเราเกลียดสายไฟกันไปเลย แม้แต่วิวเมืองกังต๊อกจากมุมสูงของวัดที่เราตั้งใจจะได้เห็นแบบเคลียร์ๆ กว้างๆ โดยไม่ติดอะไร ก็ยังมีสายไฟเป็นอุปสรรคอยู่ดี ความเจริญทำลายหลายๆ อย่างจริงๆ แต่มันก็เป็นผู้สร้างอีกหลายอย่างด้วยเช่นกัน คงแล้วแต่ว่าเราเลือกใช้มันแบบไหนมากกว่า ก็หวังว่ามันจะนำสิ่งที่ดีกว่ามาให้คนที่นี่นะ

 

  

 

            วัดรุมเต็กเป็นวัดใหญ่ที่เก่าแก่และสำคัญมากของสิกขิม ส่วนสิกขิมก็เป็นพื้นที่อ่อนไหวทางการเมือง ทำให้ที่วัดนี้มีทหารคอยคุมควบดูแล ต้องเสียค่าบัตรเข้าชมคนละ 5 รูปี มีทหารยืนเฝ้าอยู่ตามจุดต่างๆ แทบทุกประตูที่สามารถเข้าออกได้ นอกจากเป็นวัดที่มีความสำคัญมากๆ สำหรับคนที่นี่แล้วคงมีความสำคัญในด้านการเมืองด้วยไม่ใช่น้อย ภายในบริเวณวัดมีพวกแม่เฒ่าพ่อเฒ่าชาวสิกขิมหมุนกงล้อมนต์และสวดมนต์กันอยู่รอบๆ ลามะทั้งโตทั้งเด็กก็เยอะ สมแล้วที่ใครๆ มากังต๊อกต้องมาวัดรุมเต็ก เพื่อให้ได้เห็นวิถีแห่งศรัทธาของที่นี่ เสียดายที่วันนี้ฟ้าฝนและเมฆไม่เป็นใจให้เราเลย ดูครื้มๆ ตลอด แสงไม่สวย ภาพออกมาไม่ถูกใจ สวยไม่ได้เท่าของจริงน่ะ

            เราออกจากวัดกันตอนประมาณบ่าย 2 โมงครึ่ง ที่นี่เป็นที่สุดท้ายของการทัวร์รอบเมืองกังต๊อก 7 แห่ง สรุปแล้วที่น่าสนใจคงเป็นแค่ที่วัดเอนเซ่ และวัดรุมเต็กที่แหละ ที่อื่นๆ ไม่มีอะไรมาก บางที่เรียกว่าไม่น่าไปเลยด้วยซ้ำ โชเฟอร์พาเรากลับเข้าเมืองกังต๊อก ระหว่างทางที่ผ่านมา เราเห็นมีข้าวโพดปิ้งขายอยู่ 2-3 ที่ อยากกินมาก ตั้งใจกันว่าขากลับจะต้องให้โชเฟอร์จอดแวะซื้อข้าวโพดกินกันให้หายอยาก แล้วเราก็ได้แวะสมใจ แต่กลับไม่ได้กินข้าวโพดดังใจอยาก เพราะเค้าขายโก่งราคามากไปหน่อย วันก่อนตอนเราขึ้นมา ข้าวโพดฝักใหญ่ๆ หน้าตาน่ากินที่พวกเราซื้อแค่ฝักละ 5 รูปี แต่ถามคราวนี้บอกว่า 8 รูปี พอเราบอกว่าวันก่อนซื้อ 5 รูปี เค้าก็โชว์ฝักเล็กให้ดูว่า 5 รูปีฝักแค่นี้ แม้ว่าน้องพลอยจะโมโหหิวบ้างแต่ก็โมโหแขกมากกว่าที่กะฟันพวกเรา เลยไม่ซื้อซะเลย อดกินข้าวโพดไปอีกตามระเบียบ พอขึ้นรถได้สักพักฝนก็กระหน่ำลงมา เราก็เลยไม่ได้แวะดูข้าวโพดร้านอื่นๆ อีก

            เรากลับมาถึงที่พักบ่าย 3 โมงกว่าเกือบ 4 โมง หิวมากๆ ขึ้นไปเข้าห้องน้ำบนห้องเรียบร้อยแล้วก็ออกไปหาข้าวกินโดยด่วน มื้อนี้พี่ปลาขอเป็นอาหารทิเบตที่ร้าน Test Tibet อาหารอร่อยสมใจ กินกันเต็มอิ่ม รวบมื้อเย็นไปด้วยเลย โปรแกรมที่กะว่าจะขึ้นกระเช้าวันนี้คงต้องเลื่อนไปก่อน เพราะฝนตกและเย็นแล้ว พรุ่งนี้กลับจากทะเลสาบฉางกูค่อยดูสถานการณ์อีกที สรุปว่าวันนี้หมดโปรแกรมท่องเที่ยวแล้ว หาซื้อขนมปังไว้กินสำหรับมื้อเช้าพรุ่งนี้ แล้วกลับเข้าห้องพักผ่อนนอนเอาแรง พรุ่งนี้ต้องออกไปฉางกูกันแต่เช้า ตามที่ตกลงซื้อทัวร์ไว้ ถ้าจะไปกันเองโดยไม่ซื้อทัวร์อาจจะยุ่งยากหน่อย เพราะฉางกูอยู่ในพื้นที่ซึ่งต้องขออนุญาตเป็นพิเศษอีก ไปกับทัวร์เค้าจะจัดการให้หมดทุกอย่าง  

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

  

 

วันที่ 7   วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2550     

กังต็อก (Gangtok) – ทะเลสาบฉางกู (Changu Lake)

 

            ตื่นแต่เช้าเพราะเสียงรถอีกตามเคย เตรียมตัวออกไปทะเลสาปฉางกูตอน 8.20 น. ตามเวลาที่ทัวร์นัด เราอยู่บนชั้น 2 ของบริษัททัวร์อยู่แล้ว เดินลงจากห้องไป 2 นาทีก็ถึง พลขับพร้อมไกด์มารออยู่แล้ว แต่สมาชิกร่วมทางอีก 2 คน ยังไม่เห็น เค้าบอกว่าต้องไปแวะรับ พวกเราก็ลุ้นอยู่ว่าจะเป็นแขกหรือฝรั่งหรือว่าชาติไหน พอรถเลี้ยวเข้าไปที่โรงแรมซึ่งอยู่ห่างออกไปหน่อยบนเขา ก็เห็นฝรั่งคู่หนึ่งนั่งรออยู่ สรุปว่าเป็นฝรั่งหัวแดง เราเห็นฝรั่งคู่นี้เมื่อวานตอนนั่งรถสวนกัน สงสัยเมื่อวานเค้าคงเที่ยว Sightseeing เหมือนกัน ก็ดีนะที่ได้ฝรั่ง น่าจะดีกว่าไปกับแขก

            ออกเดินทางได้ประมาณชั่วโมง ก็ถึงด่านที่ต้องขออนุญาต ไกด์ลงไปจัดการทุกอย่างเรียบร้อย แล้วก็ไปกันต่อ ระหว่างทางแหม่มถามไกด์ว่าเราสามารถจอดรถตามที่ต่างๆ ตามที่ต้องการได้ใช่มั้ย ไกด์บอกว่าใช่ ดีเลย อยากแวะตรงไหนเราจะได้แวะกัน เห็นตรงไหนสวย แวะโลด และจุดแรกที่แหม่มเธอขอให้แวะคือน้ำตกริมทาง ซึ่งตอนนั้นเรากำลังง่วงๆ หลับๆ อยู่เชียว ตื่นเลย ลงจากรถมาก็ได้สัมผัสกับละออกน้ำที่ฟุ้งกระจาย เป็นน้ำตกเล็กๆ แต่สูงขึ้นไปหลายเมตร อยู่ติดริมถนน แบบว่าน้ำตกลงมาแล้วไหลพาดผ่านถนนไปตกอีกฝั่งเลยแหละ พอเลยน้ำตกนั้นมาหน่อยก็เป็นอีกน้ำตกใหญ่กว่า ซึ่งรถจะจอดให้นักท่องเที่ยวลงไปถ่ายรูป กินชา และซื้อของกัน เจ้าพลอยไปโดนหมวกมาหนึ่งใบ เพราะไม่ได้คิดว่าอากาศจะเย็นมาก เลยไม่ได้เอาหมวกกันหนาวมาด้วย ส่วนเราเอาหมวกเอาผ้าคลุมไหล่มา แต่ไม่ได้เอาเสื้อแขนยาวมาด้วย แต่ก็โอเคนะ ไหวอยู่ ไม่ถึงกับหนาวมาก ควักปรอทขึ้นมาเช็คอุณหภูมิ ประมาณ 13 – 16 องศา เย็นเอาเรื่องอยู่เหมือนกันนะ แต่ว่าไม่รู้สึกหนาวเท่าตอนไปเที่ยวแม่ฮ่องสอนบ้านเราด้วยซ้ำ สงสัยเพราะค่อนข้างจะปรับตัวได้กันแล้วมั้ง อยู่มาตั้งหลายวันแล้วนิ

            ตลอดเส้นทางมีน้ำตกน้อยใหญ่อยู่มากมาย และที่เห็นอยู่ทั่วไปไม่แพ้น้ำตกคือทหาร เราเห็นทหารและค่ายทหารอยู่เป็นระยะๆ แถบนี้เป็นพื้นที่อ่อนไหวทางการเมืองสูง เพราะเป็นเขตชายแดนติดต่อกับจีน(ทิเบต) เนปาลและภูฏาน สิกขิมเลยเป็นเสมือนรัฐกันชน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นของอินเดียมาแต่แรก ผู้คนพื้นถิ่นของที่นี่ก็เลยไม่ใช่แขก แต่เป็นพวกทิเบต เนปาล หน้าตาเป็นอาหมวยอาตี๋มากกว่า เลยต้องดูแลอย่างเข้มงวดตลอดเวลา เพื่อความมั่นคงของประเทศ แต่ก็ดูอุ่นใจดีนะ รู้สึกปลอดภัยดี และเราก็ไม่ได้มีปัญหากับการขออนุญาตอะไร เพราะทางทัวร์จัดการให้เรียบร้อย ดีกว่าต้องมาเสียเวลาลุ้นกันเอาเองว่าเค้าจะอนุญาตมั้ย จะต้องจ่ายอีกคนละเท่าไหร่ มากับทัวร์รวมทุกอย่างทั้งค่ารถ ค่าไกด์ และเรื่องขออนุญาตทั้งหมด จ่ายคนละ 450 รูปี สำหรับทริป 5 คน แต่ถ้ามีแค่เรา 3 คน จะต้องจ่ายคนละ 600 รูปี โชคดีที่มีฝรั่งคู่นี้มาด้วยนะ

            ระหว่างทางมีวิวสวยๆ ของภูเขาและลำธารให้ดูเพลินไปเลย มีหญ้าเขียวๆ และตัวแย็ค หรือจามรี ขนดกๆ เดินเล็มหญ้าอยู่ข้างทาง สายหมอกเย็นๆ ไหลเอื่อยๆ บรรยากาศดีจัง แม้ว่าจะไม่ได้เห็นฟ้าสีฟ้าสดใส แต่อย่างน้อยเราก็ได้อีกอรรถรสหนึ่งนะ ความจริงมีหลายจุดที่เราอยากแวะลงไปถ่ายรูป แต่ก็เกรงใจเพื่อนร่วมทาง และพลขับ เอาเป็นว่าไปให้ถึงทะเลสาปฉางกูก่อนแล้วกัน ขากลับลงมาค่อยว่ากันอีกที

            เราไปถึงทะเลสาปประมาณ 11.30 น. ตกลงนัดหมายเวลากันเพื่อนร่วมทางผมทอง 2 คน และพลขับกับไกด์ว่าเราจะอยู่ที่นี่จะถึงเที่ยง แล้วจะกลับกัน เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไปเก็บภาพบรรยากาศตามอัธยาศัย พอรถเข้ามาจอดก็จะมีคนจูงแย็คคู่ใจ พุ่งเข้ามาหาพวกเรา ถามว่าจะขี่แย็คมั้ย จะถ่ายรูปกับแย็คมั้ย ไม่ได้กินเงินเราหรอก ไม่นิยมน่ะ เห็นมีแต่เด็กๆ เค้าขี่กัน เราแค่แอบถ่ายรูปคนอื่นที่เค้าขี่กัน แล้วก็ถ่ายรูปแย็คแบบเดี่ยวๆ ไม่มีคนขี่ดีกว่า

 

            ริมทะเลสาปอากาศเย็น โดยเฉพาะเวลาที่ลมพัดมา หอบเอาทั้งหมอกและความเย็นยะเยือกมาด้วย เราเดินเลาะริมทะเลสาปเพื่อถ่ายรูปมุมต่างๆ เท่าที่จะสามารถ เพราะทัศนวิสัยน์แย่ หมอกเยอะ ฟ้าปิดเกือบตลอด พอเห็นแสงมาได้หน่อยก็จะมองเห็นอีกฝั่งของทะเลสาปแป๊ปนึง แล้วไม่นานมันก็จะหายไปในม่านหมอกอีก ภาพที่ได้เลยไม่สวยสมใจ และไม่ใช่มุมที่งดงามอย่างที่เห็นในโปสการ์ด สำหรับฤดูนี้ทะเลสาปฉางกูดูธรรมดาๆ นะ ไม่ได้อลังการงานสร้างอะไรนัก แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตก และน้ำในทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง นั่นแหละคงจะสวย ยิ่งถ้าฟ้าเปิดเห็นวิวเทือกเขาที่ล้อมรอบอยู่ ตอนนั้นคงสวยได้ใจ อย่างนี้ต้องมาซ่อมช่วงหน้าหนาวซะแล้ว

 

 

            ระหว่างเดินชมบรรยากาศอยู่ ก็เห็นรถหลายๆ คันเค้าขับเลาะขึ้นไปเหนือทะเลสาป แต่ไกด์บอกเราว่าเดินชมได้แค่ระหว่างนี้เท่านั้น เลยขึ้นไปเป็นเขตหวงห้าม เลยสงสัยว่าแล้วทำไมรถเค้าขึ้นกันได้ แล้วก็ได้ข้อสรุปว่าเค้าอนุญาตให้ไปต่อได้เฉพาะคนอินเดียเท่านั้น สำหรับชาวต่างชาติไม่อนุญาต และเส้นทางนั้นคือเส้นทางไปชายแดนด้านที่ติดกับจีน(ทิเบต) อีกประมาณ 17 กิโลเอง น่าเสียดายจัง แล้วก็ไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมต้องห้าม แต่เค้าคงมีเหตุผลทางการเมืองของเค้าแหละ ยังดีนะที่รถคันเรามีแต่ต่างชาติอยู่แล้ว เกิดถ้ามากับแขก แล้วแขกจะขึ้นไปต่อ เราไปด้วยไม่ได้ก็คงต้องแขวนรออยู่ที่ริมทะเลสาปนี่แหละ

            เดินเล่นสักพัก พวกเราก็ไปหาร้านนั่งกินชาร้อนๆ กัน แล้วก็จัดหาอาหารกลางวันกินซะเลย แต่แขกเค้ากินอาหารกลางวันกันตอนบ่าย เลยมีหลายร้านที่อาหารยังไม่เสร็จ สุดท้ายพวกเราเลยกินมาม่าต้มในร้านที่เลือกแล้วว่าน่าจะโอเค และมีโมโม่ด้วย ในร้านนอกจากขายอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ยังมีอุปกรณ์กันหนาวแขวนอยู่มากมาย ทั้งเสื้อ หมวก ถุงมือ ผ้าพันคอ เค้าให้แขกที่จะขึ้นไปเที่ยวชายแดนเช่า สงสัยขึ้นไปคงจะหนาวกว่าที่ทะเลสาปไม่น้อย มีแขกมาเช่าเสื้อกันหนาวกันหลายคนเลย เราจัดการอาหารกันเสร็จก็เตรียมตัวขึ้นรถกลับได้ ฝรั่งมาตรงเวลาเหมือนกัน แล้วพวกเราก็เคลื่อนพลออกจากทะเลสาปฉางกู พอเราจะกลับแสงก็มา มองเห็นทะเลสาปชัดขึ้น ให้มันได้อย่างนี้ซิ...เศร้า!

    

            ระหว่างทางกลับเราให้รถจอดตรงบริเวณที่เห็นฝูงแย็คกินหญ้าอยู่ริมลำธารเล็กๆ รอบๆ เป็นวิวภูเขา ทิวสน และต้นไม้ สวยได้ใจมากๆ ถึงแสงจะไม่ดีเท่าไหร่ แต่บรรยากาศโอเค ฝรั่งก็ลงมาถ่ายวีดีโอ และถ่ายรูปเหมือนกัน จากจุดนี้เราก็ได้แวะกันอีกหลายจุด ทั้งที่ฝรั่งขอให้แวะและที่แวะจอดระหว่าทำเรื่องออกที่ด่าน เลยได้เก็บภาพบรรยากาศในหลายๆ มุมมอง ประทับใจกับการเดินทางในเส้นทางนี้จัง บางภาพบางมุมที่ไม่สามารถเก็บภาพมาได้ ก็จะบันทึกไว้ในความทรงจำที่งดงามแล้วกันนะ

            เรากลับมาถึงกังต๊อกประมาณบ่าย 2  โมงกว่าๆ เข้าที่พักทำธุระส่วนตัวกันเรียบร้อยก็ออกไปหาอะไรกินกัน วันนี้ตั้งใจจะกินอาหารจีน เดินหาร้านกันอยู่นานจนเกือบถอดใจ แต่สุดท้ายก็หาเจอ และได้กินสมใจอยาก ข้าวผัดใช้ได้ หมี่กรอบราดหน้าก็พอไหว ผัดพริกหมู รสชาติดี ถ้าไม่มีหมูมันๆ เยอะจนเกินไปจะดีมาก แล้วก็ผ่านไปอีกหนึ่งมื้อ ท้องอิ่มแล้ว ได้เวลาของโปรแกรมต่อไปคือกระเช้าลอยฟ้าที่ติดค้างมาแต่เมื่อวาน โชคดีที่วันนี้ฝนไม่ตก และมีแสงแดดพอประมาณ เราเดินขึ้นไปที่สถานีกระเช้าลอยฟ้า ติดต่อสอบถามได้ความว่า คนละ 50 รูปี ขึ้นและลง 1 รอบ ประมาณ 20 นาที แต่ต้องรออีก 40 นาทีกว่าจะได้ขึ้นนะ เพราะคนเยอะ มีแขกรออยู่ก่อนเราหลายคนเลย เอาไงก็เอา รอก็ได้ ไหนๆ ก็มาถึงนี่แล้ว

            พอถึงคิวได้ขึ้นกระเช้า พร้อมกับแขกอีกประมาณ 10 กว่าคน ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี ขึ้นไปและกลับแค่นั้น ไม่มีอะไรตื่นเต้นมากมาย(ยกเว้นถ้าใครกลัวความสูงนะ) ความสูงจากพื้นก็พอประมาณ(ประมาณว่าถ้าตกไปก็คงไม่รอดน่ะ) ได้เห็นวิวเมืองกังต๊อกในมุมสูง แต่ทั้งขาขึ้นและขาลง เราก็ได้เห็นวิวเดิมนั่นแหละ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ แขกเต็มกระเช้า แล้วก็แค่นี้แหละ 50 รูปี แค่ขึ้นให้รู้ แล้วก็รู้แล้ว่าไม่มีอะไรน่าสนใจสำหรับกระเช้าลอยฟ้า แต่ถ้าฟ้าเปิดก็ไม่แน่ อาจได้เห็นวิวภูเขาที่สวยๆ ก็ได้ สงสัยทริปนี้ต้องซ่อมจริงๆ

 

ลงจากกระเช้า พวกเราเดินไล่ลงมาเรื่อยๆ เข้าเส้น M.G. Marg แวะดูโรงแรมที่พักหลายๆ ที่ เผื่อว่าจะลองเปลี่ยนที่นอนดูบ้าง จะได้รู้ว่าที่ไหนเป็นยังไง สำหรับการพาลูกทัวร์มาพัก ก็ได้ข้อมูลของหลายๆ ที่มาประกอบการพิจารณา เป็นอันว่าเสร็จสิ้นภาระกิจของวันนี้ แล้วก็กะว่าจะไปหาร้านนั่งจิบชาชิวๆ ซะหน่อย แต่คนแน่นทุกร้าน เลยอด สุดท้ายหลังจากตุนเสบียงของมื้อเช้าแล้วก็เลยกลับเข้าห้องเตรียมตัวพักผ่อนให้เต็มที่ พรุ่งนี้ต้องออกไปเมืองลาชุงแต่เช้า ยังไม่รู้เลยว่าสมาชิกอีก 2 คนที่จะร่วมทริปกับเราพรุ่งนี้เป็นใคร ไม่รู้ว่าจะเป็นฝรั่งคู่เดิมที่เจอกันวันนี้รึป่าว ต้องรอลุ้นกัน 

 

 

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

วันที่ 8   วันอังคารที่ 12 มิถุนายน 2550   

กังต็อก (Gangtok) – ลาชุง (Lachung)

 

            8.20 น. ตามเวลานัดหมายเดียวกับเมื่อวาน เราเช็คเอาท์เรียบร้อย ลงไปที่ออฟฟิตทัวร์ สมาชิกอีก 2 คนยังไม่มา แต่แว่วๆ ว่าเป็นฝรั่งแน่นอน พอเราจ่ายเงินและถามรายละเอียดต่างๆ กันเรียบร้อย ไกด์และสมาชิกอีกคน ซึ่งทีแรกเราคิดว่าเป็นคนขับรถก็พาเราออกเดิน เค้าบอกว่ารถใหญ่จะจอดถนนเส้นหน้าออฟฟิตไม่ได้หลังจาก 6 โมงเช้า เลยต้องไปจอดตรงที่จอดรถอื่น แล้วเราก็ต้องเดินแบกเป้ไต่ระดับขึ้นไปหารถ ซึ่งจอดอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร แต่เป็นทางขึ้นเขาน่ะ กว่าจะถึงรถก็ได้เหงื่อเล็กน้อย แล้วก็พอดีเดินสวนกับฝรั่งชายหญิงคู่หนึ่ง นี่แหละเพื่อนร่วมทางของเราในวันนี้ โรซารีกับแอนดรู ไกด์เรียกเค้าเข้าขบวนแล้วก็เดินชักแถวตามกันไปที่รถ ทักทายอรุณสวัสดิ์ และแนะนำตัวกันเรียบร้อย ก็จัดของขึ้นรถ โดยพลขับที่รออยู่ที่รถจัดการให้ แล้วอีกคนที่มากับไกด์ ใครหว่า มีไกด์แล้ว ต้องมีผู้ช่วยไกด้ด้วยเหรอ แต่ก็ช่างเถอะ ไกด์จัดการจัดสรรที่นั่งให้เรา 3 คนนั่งเบาะหลังคนขับ ฝรั่งสองคนนั่งเบาะหน้าคู่คนขับ ส่วนไกด์และผู้ช่วยอีกคน นั่งเบาะหลังสุด

            ออกรถไปได้สักพัก ก็เจอรถติดยาวเหยียด ข่าวแจ้งว่าถนนปิด พอรถเคลื่อนผ่านมาได้ถึงได้รู้ว่าปิดเพราะหินถล่ม เป็นหินก้อนใหญ่ๆ จากภูเขาตามเส้นทาง เจอฝนตกหนักๆ ก็จะถล่มอยู่เรื่อยๆ เค้าถึงได้บอกว่าหน้าฝนไม่ควรมาเที่ยว เราเจอปิดถนนและเห็นร่องรอยของหินถล่มตามเส้นทางเป็นระยะๆ ดูน่ากลัวอยู่เหมือนกัน แต่ก็มีเจ้าหน้าที่และทหารคอยคุมงานเคลียร์หินออกจากเส้นทาง ให้ถนนใช้การได้อยู่ตลอดทาง ถึงจะเสียเวลาไปบ้างก็เถอะ

 

      

     

            จุดแรกที่รถแวะให้พวกเราไปยืดเส้นยืดสายคือที่น้ำตก 7 สาวน้อย จริงๆ มันชื่อว่า 7 Sister แต่พวกเราเรียกมันว่า 7 สาวน้อยน่ะ ลงไปถ่ายรูปกันได้แป๊ปนึง เราก็ออกเดินทางต่อ จุดแวะต่อไปคือวัดโพดอง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ พอไปถึงวัด เห็นลามะน้อยวิ่งเล่นแตะฟุตบอลกันอยู่ที่สนามหญ้า เราเข้าไปไหว้พระในโบสถ์ก่อน แล้วถึงออกมาเดินดูรอบๆ วัด เสียดายจังพอออกมาลามะน้อยหายไปหมดแล้ว รู้สึกว่าจะไปเข้าห้องเรียน แต่เรียนวิชาอะไรไม่รู้นะ ได้ยินเสียงท่องกันเจื้อยแจ้ว พลอยไปได้ขนมหลายอย่างมาจากร้านค้าที่อยู่ใกล้ๆ วัด เป็นขนมเด็กๆ ที่เดาได้เลยว่าลูกค้าสนใหญ่คงเป็นลามะน้อยในนี่แหละ

พอออกจากวัดได้สักพักก็ได้เวลาอาหารกลางวัน ไกด์พาพวกเราไปแวะร้านอาหารระหว่างทาง และบอกพวกเราว่าที่นี่มีแต่ไก่ มื้อนี้กินไก่ไปก่อนแล้วกัน ไปถึงลาชุงจะมีให้เลือกหลายอย่าง พวกเราจัดการอาหารมื้อนี้กันตามระเบียบ ไม่ได้อร่อยนักแต่ก็พอกินได้ แค่จืดและมันไปหน่อย กินกันตาย อย่าคิดไรมาก

 

 

หลังมื้ออาหาร ตีรถยาวไปถึงลาชุงเลย ระหว่างทางมีน้ำตกน้อยใหญ่ วิวภูเขา ต้นไม้ และสายน้ำให้เห็นอยู่ตลอด ฝนตกเป็นระยะๆ คนขับรถซิ่งเอาการ เหวียงซ้ายทีขวาที แบบว่าเข้าโค้งไม่มีเบรค ไม่รู้พ่อเจ้าประคุณจะรีบไปไหน ไม่ได้ใส่ใจลูกทัวร์เลย แต่บรรยากาศสองข้างทางก็ช่วยให้การเดินทางที่ยาวนาน ดูมีชีวิตชีวาและมีสีสันขึ้นไม่น้อย เหมือนอยู่ในอ้อมกอดของภูเขา ไล่เลาะจากลูกนั้นไปลูกโน่นมาลูกนี้ ไม่รู้ว่าเราข้ามเขาไปกี่ลูกแล้ว ภาพของภูเขาสุดลูกหูลูกตา เรียงสลับทับซ้อนกันสวยดี มีต้นไม้เขียวขจี แล้วก็มีสายหมอกปกคลุมยอดเขาอยู่ อากาศเย็นๆ ตลอดเส้นทาง มีร้อนบ้างเป็นบางช่วงที่แดดแรง

หลังจากผ่านหลายต่อหลานเส้นทาง หลายหมู่บ้าน จนเราเริ่มนับระยะทางถอยหลังตามหลักกิโล ในที่สุดเราก็มาถึง ลาชุง ประมาณบ่าย 3 โมงกว่าๆ มาถึงที่พัก Modern Hospitality มีพนักงาน ซึ่งก็ดูเป็นเด็กชาวบ้านแถวๆ นั้นแหละ มาช่วยกันขนของยกกระเป๋าของพวกเราขึ้นไปให้ถึงบนห้อง ที่นี่คงเป็นเครือเดียวกันกับ Modern Central Hotel ที่กังต๊อก เรียกว่ามีธุระกิจครบวงจรเลย ทั้งที่พักทั้งทำทัวร์ ที่พักดูโอเค สะอาด บรรยากาศใช้ได้ วิวสวย และบริการเราเป็นอย่างดี ก มีชากาแฟพร้อมอาหารว่างมาต้อนรับ พอจิบชาและกินขนมรองท้องเสร็จ เราก็ขึ้นไปดูวิวบนดาดฟ้ากัน มองเห็นทิวเขา และวิถีชีวิตในหมู่บ้านได้กว้างไกลดี เป็นหมู่บ้านที่ดูเงียบสงบ เหมือนชนบทที่ยังบริสุทธิ์ เหมาะแก่การพักผ่อนมากๆ เสียดายที่พวกเรามีเวลาอยู่ที่นี่แค่คืนเดียว ถ้ามีเวลาได้อยู่อีกสักคืนคงจะดี พอลงจากดาดฟ้า เราก็ไปเดินเล่นรอบๆ หมู่บ้าน ตามคำแนะนำของไกด์ เพราะพรุ่งนี้เราจะออกกันแต่เช้า คงไม่มีเวลาได้เดินเล่นที่นี่แล้ว 

เมืองนี้อาการดี เย็นสบาย มีวัวและม้าเดินกินหญ้าอยู่ทั่วไป ตามบ้านต่างๆ มีแปลงปลูกพืชผักของตัวเอง เดินไต่ระดับขึ้นไปตามถนนในหมู่บ้านก็ไปสะดุดกับสตอร์เบอร์รี่ป่าสีแดงสด แต่ลูกเล็กๆ ขึ้นอยู่ข้างทางเต็มไปหมด แล้วเราก็เปิดฉากเก็บสตอร์เบอร์รี่กันอย่างสนุกสนาน หลังจากที่เคยเห็นเด็กแขกเก็บกินกันและพี่ปลาก็ยืนยันว่ากินได้จริงๆ รสชาติเหมือนสตอร์เบอร์รี่แหละ แค่มันลูกเล็กกว่า ระดับความสูงและอากาศเย็นๆ ประมาณนี้ คงจะเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของมัน

 

 

 

เดินเที่ยวชมวิวไป ตามเก็บสตอร์เบอร์รี่ไป ถ่ายรูปไป มีทั้งบ้าน ต้นไม้ คนและสัตว์ ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติดี มีสาวน้อย สาวใหญ่และเด็กๆ กลุ่มหนึ่งเห็นเราเดินถ่ายรูปอยู่ เด็กน้อยหน่วยกล้าตาย 2 คนวิ่งมาทัก Hello ช็อคโกแล็ต ไม่รู้ว่าใครสอนนะ สวัสดีเสร็จ ต้องช็อคโกแล็ตตามมาทันที คงมีคนเคยให้เค้าบ่อยๆ แต่เราไม่มีช็อคโกแล็ตอ่ะ มีแต่ลูกอม พอถ่ายรูปเค้าได้ 2-3 รูป ก็เลยแจกลูกอมเป็นการตอบแทน ค่านายแบบและนางแบบอีกกลุ่ม สนุกสนานกับการถ่ายรูปเด็กๆ และโดดเด็กรุมดูรูปตัวเองจากกล้องดิจิตอลอยู่สักครู่ ฟ้าก็เปิดให้เห็นยอดเขาด้านหลังที่มีหิมะปกคลุมอยู่บนยอด ตอนนี้ลืมเด็กไปเลย หันไปถ่ายรูปภูเขาแทน ถึงจะไม่รู้ว่ายอดนี้ชื่อว่าอะไร รู้แต่ว่าไม่ใช่ยอดคันเช็งจุงก้าแน่ๆ แต่ยังไงก็สวยและสร้างความตื่นตะลึงให้เราไม่น้อย จากที่รอคอยให้ฟ้าเปิดและอยากเห็นยอดเขาสูงๆ มาหลายวัน วันนี้ฝันเป็นจริงแล้วที่ลาชุง เราลัวชัตเตอร์แบบไม่ยั้ง กลัวว่าเมฆหมอกจะเข้ามาบังยอดเขาอีก มันงามอย่างนี้นี่เอง ผู้คนถึงได้มุ่งมั่นที่จะมายล นี่ขนาดยังไม่ใช่ยอดที่สูงที่สุด ของแม่โฉมงานคันเช็งจุงก้านะ

  

 

เราเดินกลับมาที่โรงแรม แบบที่เรียกได้ว่าเดินถอยหลัง เพราะไม่อยากให้ยอดเขานั้นคลาดสายตาไป เก็บทุกมุมทุกระยะจนฉ่ำจิต และเฝ้ามองจนเมฆค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาบังยอดเขา พรุ่งนี้ที่ยุมถังจะได้เห็นอย่างนี้มั้ยนะ แต่อย่างน้อยการเดินทางมาลาชุงครั้งนี้ก็ได้กำไรไปแล้วแหละ พรุ่งนี้ค่อยลุ้นกันต่อ

หลังมื้ออาหารค่ำตอน 1 ทุ่ม เราเข้าห้องพัก อาบน้ำ นอนเก็บแรงไว้ รุ่งเช้าเราจะออกเดินทางต่อไปยุมถัง ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเรา  

 

 

  

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

   

วันที่ 9   วันพุธที่ 13 มิถุนายน 2550           

ลาชุง (Lachung) – ยุมถัง (Yumthang Valley) กังต็อก

 

            7 โมงเช้า ได้เวลาอาหารเช้า มื้อนี้เป็นพวกขนมปัง โรตี แย้ม มีข้าวต้มที่ทำจากข้าวโอ๊ต แพนเค้กกินกับน้ำผึ้ง และชากาแฟ ดูแปลกๆ ดีเหมือนกัน จะฝรั่งก็ไม่เชิงจะแขกก็ไม่ใช่ แต่สุดท้ายก็ซัดกันจนอิ่ม เพื่อเพิ่มพลังงานให้ตัวเอง จะได้ไปเที่ยวอย่างสบายๆ

            เติมพลังเรียบร้อย เตรียมพร้อมออกเดินทางสู่ยุมถัง (Yumthang Valley) สรวงสวรรค์บนดินกลางเทือกเขาหิมาลัย อยู่ห่างจากลาชุงประมาณ 24 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ไกด์บอกให้เราเตรียมเสื้อแจ็คเก็ตไปด้วย เพราะอากาศเย็น แล้วก็เย็นจริงๆ โดยเฉพาะระหว่างทาง ซึ่งมีภูเขาสูงล้อมรอบ มีต้นไม้หนาแน่น เห็นสายธารของน้ำแข็งที่ขาวเป็นเทือกอยู่ตามแนวร่องเขา และมีลำธารน้ำเล็กๆ ซึ่งเป็นธารน้ำที่เกิดจากน้ำแข็งที่ละลายลงมาจากยอดเขา นอกจากวิวตลอดเส้นทางที่สวยงามแล้ว เม็ดสีแดงๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปสองฝั่งถนนก็ทำให้เราตื่นเต้นไม่ใช่น้อย อยากโดดลงไปเก็บเสียจริงๆ เลยสตอร์เบอร์รี่ป่า

            เรานั่งนับถอยหลังเข้าสู่ยุมถังด้วยหลักกิโลเมตรเช่นเคย และในที่สุดก็มาถึงหลักกิโลเมตรที่ “0” (ศูนย์) ยุมถัง ถึงแล้วเป้าหมายของเรา ถึงจะไม่สวยเท่าที่เคยได้เห็นรูปจากที่ต่างๆ เพราะไม่เห็นยอดเขาหิมะ และลำธารน้ำที่จับตัวกันเป็นน้ำแข็ง แต่ที่นี่ก็สวยไปอีกแบบในสไตล์ของฤดูนี้ มีน้ำไหลแรงและน้ำเย็นมากๆ เพราะละลายลงาจากหิมะบนเขา พื้นหญ้าเขียวขจี มีดอกไม้เล็กๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป และมีร่องรอยของมูลสัตว์มากมาย ที่แสดงให้เห็นว่าน้ำในลำธารนี้เป็นแหล่งรวมของสรรพสัตว์ที่มาอาศัยดื่มกิน สีสันของที่ยุมถังในเวลานี้ ก็ดูชุ่มฉ่ำและสดชื่นสดใสดี คงต่างจากบรรยากาศที่ขาวโพนของหิมะที่ปกคลุมในฤดูหนาวมากทีเดียว

 

  

            ดื่มด่ำกับบรรยากาศและถ่ายรูปที่ยุมถังกันจนหนำใจ รวมพลสมาชิกขึ้นรถประจำตำแหน่งเรียบร้อย เดี๋ยวเราจะไปแวะที่น้ำพุร้อนยุมถังกัน ทั้งพลอย และโรซารีกับแอนดรู ตั้งใจว่าจะไปอาบน้ำพุร้อน แต่เรากับพี่ปลาคิดว่าไม่เอาดีกว่า อาบน้ำรวมกับแขกคงไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ แล้วเราก็ติดสินใจถูกจริงๆ เพราะสภาพที่พลอยเข้าไปดูมาบอกว่าเห็นแล้วอาบไม่ลง รับไม่ได้ สกปรกมาก สุดท้ายก็เลยไม่มีใครได้อาบน้ำพุร้อน เราเลยคุยกันว่าจะใช้เวลากับการแวะถ่ายรูปในจุดที่อยากแวะระหว่างทางดีกว่า ว่าแล้วก็ออกเดินทางกัน น่าเสียดายที่ขากลับเจอหมอกลงตามเส้นทางซึ่งมีหลายจุดที่เห็นว่าสวยๆ ตอนขามา แต่ตอนนี้มองไม่เห็นแล้ว เราก็เลยไม่ค่อยได้แวะระหว่างทางนัก อย่างมากก็แค่หยุดรถแล้วถ่ายรูปจากบนรถกัน มีที่หยุดจริงๆ ก็ตอนที่พลขับของเราจอดรถลงไปทักทายทำธุระกับรถอีกคัน (ซึ่งคนขับรถที่นี่ เวลาเค้าเจอกันกลางทาง เค้าก็จะจอดทักทายคุยกันกลางถนนนั่นแหละ เป็นเรื่องปกติ) ได้ทีเลย เพราะบริเวณนั้นมีสตอร์เบอร์รี่ป่าแดงเต็มไปหมด มีเด็กแขงเดินเก็บอยู่ริมทาง เราก็เลยได้โอกาส ลงจากรถไปถ่ายรูปและเก็บสตอร์เบอร์รี่กันอย่างเมามัน กว่าพลขับจะคุยเสร็จ เราก็ได้สตอร์เบอร์รี่มาเยอะพอประมาณ เป็นอีกกิจกรรมที่สนุกสนานและสร้างสีสันให้กับการเดินทางทริปนี้... แวะเก็บสตอร์เบอร์รี่ป่าข้างทาง

 

  

            เรากลับมากินอาหารกลางวันที่โรงแรม ก่อนจะออกเดินทางกลับกังต๊อก เพราะระหว่างทางจะหาของกินยากกว่า อาหารทุกอย่างและแทบทุกมื้อที่ผ่านมาของที่โรงแรมนี้เป็นผักล้วนๆ มีแปลกมาอย่างเดียวคือไข่เจียว ซึ่งพลอยขอเป็นการส่วนตัว แต่สุดท้ายก็ต้องเอามากินรวมกันแหละ ไอ้ที่ไกด์บอกว่ามื้อแรก(มื้อกลางวันของเมื่อวาน) กินไก่ไปก่อน ไปถึงลาชุงแล้วจะมีหลายอย่าง ไอ้หลายอย่างที่ว่ามันคือผักทั้งสิ้น ผัดสารพัดชนิด ไม่มีเนื้อสัตว์เลยสักอย่าง สงสัยว่าที่นี่จะเป็น Vegetarian กันหมด เอาน่า กินเพื่ออยู่นะ ตุนพลังงานไว้สำหรับการเดินทางอันยาวนาน จากลาชุงกลับกังต๊อก ส่วนพ่อหนุ่มที่พวกเราสงสัยตอนขามาว่าทำไมมีไกด์แล้วต้องมีผู้ช่วยไกด์อีกเหรอ เขาคือพ่อครัวที่มาทำอาหารให้พวกเรากินนี่เอง

            ออกเดินทางออกจากโรงแรมประมาณบ่ายโมงตรง ระหว่างทางไม่ได้แวะที่ไหนเลย แต่เจอฝนตกบ้าง ถนนพังและมีก้อนหินที่ถล่มลงมาขวางถนนบ้าง ซึ่งเพิ่มมาจากตอนขาไปหลายจุดมาก แสดงว่ามันเพิ่งถล่มลงมาใหม่อีก ต้องนั่งลุ้นใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กลัวว่ามันจะลงมาตอนที่รถเราผ่านน่ะ ทำให้การเดินทางครั้งนี้ยาวนานขึ้นไปอีก แต่เราก็ผ่านมาได้ด้วยดีปลอดภัยทุกประการ โชคดีไปมาถึงกังต๊อกกันตอน 6 โมงกว่าๆ ฝนตกปรอยๆ ทั้งเมือง พวกเราล่ำลาแอนดรูกับโรซารีเรียบร้อย แล้วก็แยกย้ายกัน เรากลับมาพักที่เดิม เพราะหาที่อื่นไม่ทันแล้ว ราคาก็ถูกและอยู่ใกล้ นอนอีกไม่กี่ชั่วโมง ก็ต้องออกเดินทางไปเพ็ลลิ่งกันแต่เช้า เข้าห้อง(ได้ห้องเดิม) เก็บของกันเสร็จ มื้อเย็นนี้เราไปกินอาหารทิเบตที่ร้าน Test Tibet อีกรอบ ทิ้งทวนกังต๊อก แล้วก็กลับมาอาบน้ำนอนเอาแรงกัน พรุ่งนี้จะไปเยือนเพ็ลลิ่ง เมืองเล็กๆ ที่เป็นเมืองสุดท้ายทางตะวันตกซึ่งอนุญาติให้นักท่องเที่ยวไปถึงได้ เป็นศูนย์กลางของการเทรกกิ้งในสิกขิม นักปีนป่ายสู่ภูเขาหิมะจะออกสตาร์ทจากเมืองนี้ และเป็นเมืองที่จะมองเห็นยอดคันเช็งจุงก้าได้ในระยะที่ใกล้กว่าทุกเมืองที่เราผ่านมา หวังว่าคงได้เห็นแม่โฉมงามคันเช็งจุงก้าเต็มๆ ตาจากเพ็ลลิ่งสักครั้งนะ 

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

  

วันที่ 10             วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2550           

กังต็อก (Gangtok) เพ็ลลิ่ง (Pelling)

 

            เป็นอีกหนึ่งวันทีต้องรีบตื่นกันแต่เช้า เพื่อออกไปซื้อตั๋วรถที่ท่ารถแชร์จี๊ปให้ได้รถเที่ยวเช้า รถเที่ยวแรกจะออกไปเพ็ลลิ่งตอน 7 โมงตรง เราออกจากโรงแรมตั้งแต่ 6 โมง เพราะกลัวจะได้รถเที่ยวบ่าย ลงมาจ่ายเงินค่าห้องพัก 1 คืน 300 รูปี แล้วก็ออกมาเรียกแท๊กซี่จากหน้าโรงแรมไปท่ารถ 30 รูปี ความจริงเมื่อวันก่อนเราก็เดินมาขึ้นกระเช้าตรงแถวท่ารถนี่แหละ แต่วันนั้นไม่มีกระเป๋าสัมภาระใบโต เช้านี้จะให้เดินมาพร้อมแบกเป้อยู่บนหลัง คงแย่หน่อย อาจจะซื้อตั๋วไม่ทันได้ เราก็เลยขอตัวช่วยเป็นแท็กซี่ดีกว่า ไม่ถึง 10 นาทีก็ไปถึงท่ารถ จัดการติดต่อซื้อตั๋วรถเรียบร้อย ในราคาหัวละ 150 รูปี จากกังต๊อก เพ็ลลิ่ง ได้ที่นั่งเป็น 3 ที่สุดท้ายของเบาะหลังสุด ต้องนั่งรถอีกประมาณ 5 ชั่วโมง แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

            ระหว่างที่รอเวลารถออก อีกกว่า 40 นาที เรารีบเดินไปส่งโปสการ์ดที่เขียนไว้แล้วแต่ลืมส่ง เพราะกลัวว่าถ้าไปส่งที่เมืองอื่น จะไม่ได้ตราประทับของกังต๊อก แล้วก็เดินกลับมารอรถต่อ พร้อมกับจัดการอาหารเช้าเป็นขนมปังและเค็ก ซึ่งซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อคืน แล้วหลังอาหารเช้าเราก็ได้ของขวัญพิเศษ เป็นยอดคันเช็งจุงก้า ที่แหวกเมฆออกมาให้ได้ยลโฉมอยู่ครู่หนึ่ง ตื่นเต้นมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 วัน ที่พวกเราเฝ้ารอยลโฉมของเธอ แต่เธอก็แสนจะขี้อาย ไม่ยอมออกมาให้เห็นเลย จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายที่เราจะโบกมือลากังต๊อก เธอก็ยอมให้เราได้ยลสักครั้ง ถึงมุมที่เห็นจะไม่เป็นใจให้ได้ภาพที่งดงามนัก แต่ก็งามเกินคำบรรยายของพวกเราแล้ว

            คนขับรถเรียกให้เอาของขึ้นรถ และเข้านั่งประจำที่ของตัวเอง คนที่ต้องนั่งเบียดกับเราเป็นแขกผู้ชายวัยกลางคน ตัวไม่อ้วนเท่าไหร่แต่ก็สูงใหญ่พอประมาณ นั่งเบียดกันไปตลอดทาง หลับๆ ตื่นๆ ผลัดกันนั่งสลับฟันปลา แล้วก็ได้เวลาพักก้นตอนประมาณ 9 โมง เวลาแขกกินอาหารเช้าน่ะ ร้านที่รถแวะเต็มไปด้วยแขก สั่งอาหารกันวุ่นวายเจี๊ยวจ๊าวเห็นแล้วเวียนหัว รอให้เค้าสั่งกันจนเสร็จ เราก็สั่งไวไวต้ม 3 ที่ ไม่มีใครเหมือน แล้วก็ชาร้อนๆ อีก 3 แก้ว ไวไวมาแบบผัดแห้งเล็กน้อย เค็มเลยอ่ะ เค้าใส่น้ำน้อยไปหน่อย เราก็เลยแก้ไขโดยการใส่ซอสมะเขือเทศเข้าไปผสม ค่อยมีรสหวานขึ้นมาหน่อย กินยังไม่ทันเสร็จดี แขกที่มารถคันเดียวกันก็เตรียมกลับไปขึ้นรถแล้ว ชาที่ตามมาทีหลังเลยต้องถือขึ้นไปกินบนรถอย่างระมัดระวัง จัดการกับชาเสร็จเข้าสู่สภาวะสงบอีกครั้ง ต้องนั่งรถอีก 2 ชั่วโมงกว่าๆ ก็จะถึงเพ็ลลิ่งแล้ว ระหว่างนี้พี่ปลาก็หาข้อมูลที่พัก และเลือกที่ๆ คิดว่าน่าสนใจไว้ ไปถึงจะได้มุ่งตรงไปที่นั่นเลย

   

            รถจอดให้เราที่ท่ารถซึ่งอยู่แถวโรงแรม Garuda เป็นที่ที่คนขับแนะนำว่าดีและถูกด้วย ส่วนโรงแรม Mt.Pandim ที่เราเลือกมาจากข้อมูลในหนังสือ เค้าบอกว่ามันไกล เค้าไม่ไปส่งให้ พวกเราก็เลยลงกะว่าค่อยหาแท็กซี่ต่อไปก็ได้ แล้วก็หันไปเห็นชื่อโรงแรมหลายๆ ที่ซึ่งพอมีข้อมูลจากหนังสือพูดถึงอยู่บ้าง เลยลองเข้าไปสอบถามดู เผื่อว่าจะโอเค แล้วเราก็เข้าไปถามที่โรงแรม Norbu Ghang Resort เป็นที่แรก ห้องละ 1,800 รูปีแน่ะ เกินงบของพวกเราไปเยอะเลย แล้วก็เลยไปถามที่ Garuda บอกห้องละ 250 รูปี โอ้โห! แตกต่างอย่างแรง ถึงสภาพจะธรรมดาๆ ไม่ได้ดูดีมีสกุลนัก แต่ก็พอรับได้ ในราคาเท่านี้ จะเอาอะไรมาก เราก็เลยเลือกพักที่ Garuda นี่แหละ เพื่อประหยัดเงินไว้เที่ยวในอีกหลายที่ 3 คน นอนเตียงเดียวกันได้ เพราะเป็นเตียงใหญ่ เตียงเสริมไม่ต้อง จะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม และอากาศเย็นๆ อย่างนี้ นอนเบียดกันดีกว่า

            เก็บของเรียบร้อย พลอยลงไปเล่นเน็ตอยู่พักใหญ่ แล้วเราก็ตามลงไปเล่นต่อ เพราะไม่ได้เข้าบ้าน วันแรมทาง มาหลายวัน ไม่รู้ว่าโทรศัพท์พี่ปลามีปัญหาอะไร ก่อนหน้านี้ก็ใช้ต่อเน็ตได้อยู่นะ เข้าไปรายงานตัวและตอบคำถามได้พักหนึ่ง เริ่มหิวอย่างแรง สั่งข้าวผัด ซุป ผัดพริกไก่และไข่เจียวมากินกัน พลอยเล่นเสร็จก่อนก็เข้าไปสั่ง และจัดการของตัวเองไปเรียบร้อย แล้วเราก็มาสั่งตามไปอีกชุด เสร็จจากอาหารมื้อนี้ก็เกือบบ่าย 3 โมงได้ กลับเข้าห้องตกลงกันว่าเราจะทำอะไรดีในวันนี้ เพราะโปรแกรมท่องเที่ยวทั้งหมดรวมอยู่พรุ่งนี้แล้ว เราจองทริป 1 วันเพื่อไปเที่ยวรอบๆ เมืองเพ็ลลิ่ง โดยไปแชร์จี๊ปซึ่งต้องไปกันถึง 12 คน ราคาหัวละ 175 รูปี ยังไม่รู้ว่าขี่คอกันไปยังไง พรุ่งนี้เห็นสภาพแล้ว อาจจะอยากเปลี่ยนใจก็ได้นะ

            แล้วก็สรุปว่าวันนี้ไม่มีโปรแกรมอะไรเลย แค่จะออกไปเดินเล่น ชมบรรยากาศรอบๆ แถวนี้ยังไม่ได้ไปเพราะฝนตกตลอด แต่ก็แอบหวังว่าวันนี้ฝนตกทั้งวัน พรุ่งนี้ฟ้าคงจะเปิดให้เรา แต่คนที่นี่เค้าบอกว่าตกอย่างนี้มาเป็นอาทิตย์แล้ว ความหวังสุดท้ายของเราที่เพ็ลลิ่ง ที่จะได้เห็นยอดคันเช็งจุงก้าจะเป็นจริงมั้ยหนอ พรุ่งนี้ต้องรอลุ้นกัน

            มื้อค่ำนี้เรากินอาหารที่โรงแรมเหมือนเดิม เพราะไม่อยากออกไปกินข้างนอก ฝนตก อากาศไม่เป็นใจนัก แค่เดินออกไปหาซื้อขนมกินเล่นนิดหน่อยเท่านั้น กลับมาสั่งอาหารที่โรงแรม มีเมนูอาหารท้องถิ่นสำหรับมื้อค่ำชื่อว่า Deki Dinner ด้วยความอยากรู้ว่ามันคืออะไร เลยลองสั่งมา 1 ชุด และหนึ่งในชุดที่มาก่อนเลยคือเครื่องดื่มที่คล้ายกับกะแช่บ้านเรา มีเมล็ดพืชเล็กๆ อะไรสักอย่างใส่มาในเหยือกอลูมิเนียมพร้อมหลอดอลูมิเนียมเข้าชุด แล้วก็มีน้ำร้อนหนึ่งกาไว้เติมลงไป ลองชิมแล้วกลิ่นเหมือนข้าวหมากมากๆ แต่รสชาติออกเปรี้ยวๆ ขื่นคอนิดน้อย กินเข้าไปแล้วร้อนๆ ท้อง คงอารมณ์เดียวกับกินเหล้าหมักนั่นแหละ ถึงรสชาติจะไม่ดึงดูดพวกเราเท่าไหร่ แต่ไหนๆ ก็สั่งมาแล้ว ดูดได้คนละ 2 ทีก็เลย ไม่ไหวแน่ รสชาติแบบนี้มีหวังเมาได้ เอาแค่พออุ่นๆ ท้องก็พอ ส่วนข้าวและกับข้าวถ้วยเล็กๆ อีก 3-4 อย่างในถาดขนาดใหญ่ก็ตามมาเสิร์ฟ นี่คือทั้งหมดในชุด Deki Dinner นอกจากอาหารค่ำแล้วก็ยังมีชุดอาหารเช้าและกลางวันด้วยนะ แต่ไม่รู้ว่าพวกเราจะกล้าลองกันหรือเปล่า หลังจากเจอชุดของมื้อค่ำเข้าไป

            จัดการกับอาหารค่ำเสร็จ ซึ่งรวมถึงเฉาเหมี่ยนและโมโม่อย่างละ 1 แล้วก็น้ำรสชาติต่างๆ ที่สั่งมาลองกันอีก ได้เวลาอาบน้ำนอนได้ พรุ่งนี้จะตื่นแต่เช้ามานั่งเฝ้าโฉมงาม เผื่อว่าเช้าฟ้าจะเปิดอีกครั้ง แล้ว 8 โมงครึ่ง เราจะไปเที่ยวรอบเมืองเพ็ลลิ่งกัน

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

   

 

 

 

วันที่ 11             วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2550       

เพ็ลลิ่ง (Pelling)

 

            อกหักอีกแล้ว รุ่งเช้าวันนี้มีฝนตกพรำๆ จริงๆ ก็ตกมาทั้งคืนนั่นแหละ แววที่เราจะได้เห็นยอดคันเช็งจุงก้าคงยากเต็มที่ แต่ยังไงก็ยังแอบหวังว่าฝนอาจจะหยุดและฟ้าจะเปิดในระหว่างวันนะ

            7 โมงกว่าๆ เราลงไปเติมพลังด้วยอาหารเช้าสารพัดไข่กัน ก่อนจะต้องออกเดินทางท่องเที่ยวตอน 8 โมงครึ่ง มีฝรั่งหนุ่มสาวคู่หนึ่งมากินอาหารเช้าพร้อมๆ กับพวกเรา คิดอยู่แล้วเชียวว่าสงสัยจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่จะไปแชร์จี๊ปกับเราวันนี้ แล้วก็จริงดังคาด เด็กโรงแรมมาตามเราที่ห้องว่ารถมาแล้ว ออกไปก็เจอฝรั่งคู่นั้นพร้อมอยู่แล้วเหมือนกัน คู่ฝรั่งนั่งเบาะหน้ากับคนขับ พี่ปลากระเด็นไปอยู่เบาะหลัง เรากับพลอยอยู่เบาะแถวที่ 2 หลังคนขับ และมีแขกคู่หวานแหววอีกคู่นั่งเบาะเดียวกับเรา แล้วรถก็วนไปรับสมาชิกเพิ่มอีกโรงแรมหนึ่ง รออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง กว่าพ่อคุณแม่คุณจะโผล่ออกมาได้ สรุปว่าเป็นครอบครัวแขกที่นั่งรถมาจากกังต๊อกพร้อมกับพวกเรา มีคู่พ่อ แม่ ลูกเล็กๆ และยายหรือย่าอีกคนหนึ่ง ช่างไม่รักษาเวลากันเสียเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะมีเด็กหรือป่าว แถมคนแก่อีกคนด้วย พี่ปลาบอกว่าการต้องรอแขกเป็นเรื่องธรรมดา เค้าไม่ใส่ใจว่าคนอื่นจะยังไง เรื่องความเกรงใจคงไม่ต้องพูดถึง

 

 

            พอสมาชิกครบโชเฟอร์ก็พาเราออกเดินทาง ที่แรกที่ไปแวะคือน้ำตก Rumbi มีน้ำพอประมาณ อยู่ริมถนนเลย แต่เราไม่ตื่นเต้นกันสักนิด เพราะน้ำตกที่เราแวะและเห็นกันตลอดเส้นทางที่ไปลาชุงอลังการกว่าเยอะเลย อีกอย่างคือฝนตกตลอดเวลา เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายรูปมากๆ เราเลยไม่มีอารมณ์จะชมน้ำตก ลงจากรถกันได้แป๊ปเดียว ทุกคนก็กลับขึ้นประจำที่เดิม ออกเดินทางต่อไปที่ Rumbi Rock Garden สำหรับที่นี่ไอ้ที่ทำให้เราตื่นเต้นหน่อยก็ไม่ใช่สวนหิน แต่เป็นลำธารน้ำข้างสวนมากกว่า ฝนยังตกเหมือนเดิม เดินวนได้ครู่หนึ่งก็เตรียมกลับไปที่รถกัน ก่อนถึงรถเห็นภาพโดนใจเป็นแม่ไก่ตัวใหญ่มีลูก 2 ตัวอยู่บนหลัง แอบถ่ายรูปไก่อยู่แป๊ปนึงก็เห็นลูกไก่โผล่มาข้างหน้าอีก แล้วก็มีโผล่ออกมาข้างหลังด้วย ค่อยๆ โผล่มาทีละตัว สรุปรวมแล้ว 5-6 ตัว น่ารักมากๆ แม่ไก่กกลูกไก่ พวกมันคงจะหนาวเพราะอากาศเย็นและฝนตกน่ะ ส่วนท่านแขกทั้งหลายก็สงสัยว่าเราถ่ายอะไร เดินมาชะลอดู แล้วก็ถ่ายกันมั้ง

  

            ออกจากสวนหิน เราไปที่น้ำตกอีกที่ คราวนี้ใหญ่กว่าที่แรก มีร้านขายของอยู่ริมทาง ทั้งที่ริมถนนและริมทางเดินขึ้นไปน้ำตก ถ่ายรูปน้ำตกได้ 2-3 รูปก็เปลี่ยนมาถ่ายใบไม้ริมทางแทน เพราะแขกเต็มไปหมด ฝนก็ตกไม่เลิก แล้วสมาชิกทั้งคันก็กลับมาที่รถโดยพร้อมเพรียงในเวลาอันรวดเร็ว แต่ยังไปไหนไม่ได้ เพราะขาดอยู่คนเดียวคือคนขับรถ พวกเรานั่งรอคนขับรถกันอยู่นาน ท่านก็ไม่มาสักที ทั้งที่เห็นว่านั่งอยู่ที่ร้านขายของริมทาง และเค้าก็น่าจะเห็นว่าพวกเรากลับมาที่รถครบแล้ว แต่ก็ไม่สนใจ นั่งคุยกินอะไรต่ออย่างสบายอารมณ์ ปล่อยให้ลูกทัวร์ทั้งคันรถรอท่านคนเดียว กว่าพ่อคุณจะเสด็จขึ้นรถได้ พวกเรารอกันจนเซ็ง แขกไม่ใส่ใจใครจริงๆ อย่างที่พี่ปลาว่า อยากทำอะไรเค้าก็จะทำอย่างนั้น ใครจะคิดยังไงรู้สึกยังไง ตูไม่สน

 

  

   

 

            จุดหมายต่อไปของเราคือวัดและทะเลสาบ Khecheopalri ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Wishing Lake” ต้องเดินเข้าไปด้านในซึ่งเป็นป่าไม่กี่ร้อยเมตรก็จะถึงทะเลสาบ มีธงสีสันสดใสปักเรียงรายอยู่ด้านข้างทะเลสาบเต็มไปหมด คงเป็นเครื่องบูชาสักการะ หรืออาจจะเป็นเสมือนเครื่องแก้บนก็ไม่รู้นะ เพราะเค้าเรียกที่นี่ว่า Wishing Lake น่าจะมีคนอธิษฐานขอพรแล้วได้ดังประสงค์ เลยมีธงมากมายที่ยังดูใหม่ สีสดใส เรียงรายอยู่ จากทะเลสาบเราเดินออกไปที่วัด แล้วเข้าไปในวิหาร ซึ่งมีกงล้อมนต์ขนาดมหึมาตั้งอยู่เพียงหนึ่งเดียว เราลองหมุนกงล้อดู หนักมากทีเดียว ก็เลยหมุนและอธิษฐานขอให้ได้เห็นยอดคันเช็งจุงก้า เพราะเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสนไกล ก็เพื่อให้ได้เห็นโฉมงามของเธอสักครั้ง เช่นเดียวกับที่อธิษฐานที่ทะเลสาบ แต่ฝนก็ยังตกต่อเนื่องอยู่นะ คำอธิษฐานอาจไม่สามารถสู่พลังธรรมชาติน่ะ

            เราออกจากทะเลสาบ กลับมาที่โรงแรมเพื่อกินข้าวกลางวัน และนัดหมายโปรแกรมในช่วงบ่ายว่ารถจะมารับตอนบ่าย 3 โมง ตอนนี้ 2 โมงแล้ว เราเข้าไปสั่งอาหาร แล้วผลัดกันไปเข้าห้องน้ำที่ห้องพัก นั่งรออาหารกันอีกพักใหญ่กว่าจะทยอยมาจนครบ กว่าจะกินเสร็จก็ 3 โมงกว่าหน่อยๆ แต่เราไม่ได้รีบมากเพราะเข้าใจแล้วว่าแขกไม่รักษาเวลาสักเท่าไหร่ เรารีบออกไปก็คงต้องไปรออีกตามเคย แล้วก็เป็นจริงอย่างที่คิด พวกเรา 3 คนและฝรั่งอีก 1 คู่ออกไปยืนรอรถอยู่ครู่ใหญ่ กว่ารถจะมารับ แต่ก็ยังดีที่ครอบครัวใหญ่ที่เราต้องรอเมื่อเช้านั่งอยู่บนรถครบแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งรอกันอีกรอบ

 

 

            สถานที่แรกสำหรับการเที่ยวภาคบ่าย เราไปที่วัดพีมายางเซ (Pemayangtse) อารามทางพุทธศาสนาของทิเบตที่เก่าแก่ และสวยมาก มีลามะน้อยวิ่งกันไปมา น่าเสียดายที่ฝนตกและภายในวัดไม่ให้ถ่ายรูป เลยได้รูปที่วัดนี้น้อยมาก จริงๆ ยังอยากถ่ายรูปต่อ ถึงจะมีน้ำฝนเม็ดเล็กๆ ที่ตกปรอยๆ เป็นอุปสรรคบ้าง แต่สมาชิกขึ้นไปรอพร้อมกันอยู่ที่รถแล้ว เลยต้องตัดใจ ก็เค้าโฆษณาว่าที่วัดนี้เป็นจุดที่มองเห็นยอดคันเช็งจุงก้าได้สวยมาก เรียกว่าเป็นจุดที่ดีที่สุดในเพ็ลลิ่งเลย แต่ฟ้าปิดมาทั้งวัน เราก็เริ่มจะเลิกหวังแล้วแหละ

            จุดหมายที่ 2 คือที่พระราชวังเก่าแร็บเด็นเซ(Rabdentse Palace) เมืองหลวงเก่าแห่งที่ 2 ของสิกขิม เดินไกลเป็นกิโลกว่าจะเห็นร่องรอยของวัง เดินจนเกือบถอดใจเสียแล้ว เพราะฝนตกพรำๆ ตลอดเวลา และเส้นทางเป็นเหมือนทางเดินป่า มีหินปูเป็นทางเดิน และมีแต่ต้นไม้ล้อมรอบทุกทิศ เดินมาสักพักก็เริ่มมีคนถอดใจเดินกลับ เพราะป้ายแรกที่เจอบอกว่าอีก 450 เมตร พร้อมกับให้กำลังใจว่าอย่าเพิ่งยอมแพ้ แล้ววันนี้จะเป็นวันที่ดีของคุณ เอาน่ะ ไหนๆ ก็เดินมาถึงนี่แล้ว ไปต่อเถอะ เดินไปอีกพักหนึ่งก็มีป้ายบอกว่า อีก 250 เมตร โอ๊ย...เดินมาตั้งนานเพิ่งได้ 200 เมตรเอง โอเคไปต่อ ใกล้เข้ามาแล้วอีก 200 เมตร แล้วก็ถึง 100 เมตรสุดท้าย ค่อยมีกำลังใจหน่อย ในที่สุด ซากพระราชวังเดิมซึ่งเป็นวังแห่งที่ 2 ของสิกขิมต่อจากยุคสม ที่เป็นพระราชวังแรกก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า เดินต่อขึ้นไปอีกนิดก็ถึงมุมยอดฮิต ที่ได้เห็นเจดีย์ 3 องค์ตั้งอยู่ ถ้าฟ้าเปิดมุมนี้จะได้เห็นยอดคันเช็งจุงก้า เป็นฉากหลัง เสียดายจริงที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นภาพนั้น แต่ต้องได้เห็นสักวัน เพราะเราจะกลับมาใหม่ในวันที่ฟ้าเป็นใจแน่นอน

            ขาขึ้นกว่าจะเดินถึงก็ว่าแย่แล้ว ขาลงแย่ยิ่งกว่าตรงที่ทางลื่นพอสมควร เพราะเปียกฝนและเป็นทางหินที่ค่อนข้างเรียบ แถมมีใบไม้ร่วงปกคลุมเส้นทางอีก เกือบจับกบไป 2 รอบแน่ะ แต่ก็ออกมาได้อย่างปลอดภัย ไม่ได้กบสักตัวนะ สมาชิกทั้งคันรถรอเราอยู่พร้อมออกเดินทางต่อไปยังจุดหมายสุดท้ายของทริป Sightseeing วันนี้ เป็นจุดชมวิว ซึ่งเราได้เห็นเพียงเงาภูเขาลางๆ และหมู่เมฆหมอกเต็มไปหมด รวมทั้งเพื่อนร่วมทางที่อยู่กับเราตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไปจนถึงค่ำเลย คือ สายฝน

            เรากลับถึงที่พักเกือบ 5 โมงเย็น พักผ่อนนิดหน่อยแล้วเตรียมตัวออกไปหาอาหารเย็นกิน กะว่ามื้อนี้จะไปกินข้าวข้างนอกกันสักหน่อย เปลี่ยนบรรยากาศ แต่สุดท้ายก็ตายอยู่ที่เดิมนี่แหละ เพราะพี่ปลาเป็นไข้ เรากับพลอยเลยสั่งลงไปกินข้างล่างกัน เสร็จแล้วก็สั่งอาหารขึ้นมาให้พี่ปลาที่ห้อง สรุปว่าเราฝากท้องไว้ที่ห้องอาหารของโรงแรมนี้ทั้ง 2 วัน 5 มื้อ ซึ่งรสชาติอาหารเค้าก็โอเค น่าจะดีกว่าอีกหลายๆ ร้านด้วย เพราะมีลูกค้าที่พักที่อื่นหลายๆ คนมากินที่นี่ เราเช็คบิลรวมทุกอย่างไว้ค่ำนี้เลย เพราะพรุ่งนี้ต้องออกแต่เช้า รวมค่าอาหารทั้งหมด 1,038 รูปี ค่าห้องพัก 2 คืน 500 รูปี ค่าทริป Sightseeing เต็มวัน คนละ 175 รูปี แล้วก็รวมค่ารถที่ให้ทางโรงแรมจองให้เพื่อจะไปสิลิกุรีในวันพรุ่งนี้อีกคนละ 140 รูปี รวมแล้วเรา 3 คนใช้เงินที่นี่ไปประมาณ 2,480 รูปี ถือว่าไม่เกินงบที่ตั้งไว้วันละ 1,800 รูปีนะ

            พรุ่งนี้เช้ารถจะมารับเราตอนประมาณ 6 โมงครึ่ง เป็นรถเที่ยวแรกเที่ยวเช้าสุดที่จะไปสิลิกุรี เพราะรถไฟที่เราจองไว้จะออก 13.10 น. ถ้าไปไม่ทันรถไฟแย่แน่ หวังว่าพรุ่งนี้รถจะมารับตรงเวลา และยังแอบหวังเล็กๆ ว่าพรุ่งนี้เช้าก่อนเราจะบ๊ายบายเพ็ลลิ่ง เราจะได้เห็นยอดของโฉมงามคันเช็งจุงก้าชัดๆ สักครั้ง

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

  

วันที่ 12             วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2550      

เพ็ลลิ่ง(Pelling)–สิลิกุรี่(Siliguri)–“นิวเดลี”(New Delhi)

 

            ตี 4 ครึ่งกว่าๆ เราตื่นขึ้นมาเพราะเสียงนาฬิกาของพี่ปลาปลุก แต่พี่ปลานอนเงียบเพราะไม่ค่อยสบายตั้งแต่ก่อนนอนแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือลุกไปเปิดหน้าต่างห้อง เพื่อดูว่าวันนี้ฝนตกมั้ย ฟ้าจะเปิดหรือป่าว วันนี้ฝนไม่ตก ดีใจจัง พระอาทิตย์จะขึ้นตอนประมาณตี 5 พอฟ้าเริ่มสาง ความหวังก็เริ่มมา เตรียมตัวเก็บของไปก็ค่อยชโงกดูนอกหน้าต่างไปด้วย รีบอาบน้ำแต่งตัวให้เสร็จก่อนตี 5 กะว่าพระอาทิตย์ขึ้นแล้วน่าจะได้เห็นยอดเขา พอตัวเองเสร็จก็ตามปลุกพี่น้องให้ขึ้นมาเก็บของ และเตรียมตัวกันให้พร้อม

            ตี 5 กว่านิดๆ ความหวังเริ่มเป็นจริง วิ่งออกไปนอกห้องเห็นยอดหิมะยอดหนึ่งโผล่ออกมาจากม่านเมฆไกลๆ ดีใจเหมือนได้แก้ว (อยู่ในห้องมองจากหน้าต่างดันมีต้นไม้สูงอีกฝั่งถนนบังสายตาอยู่ต้นหนึ่ง พอออกมาข้างนอก ใช่เลย มันบังยอดเขาอยู่เต็มๆ) มาแล้วๆ โวยวายเรียกเพื่อนฝูงมาดู แล้วก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวจากที่พักอื่นๆ โผล่ออกมาเล็งเหมือนกัน แล้วความหวังก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากยอดเดียวที่ไม่ใช่ยอดสูงสุด ฟ้าก็เริ่มเปิดให้เห็นยอดโฉมงาม คันเช็งจุงก้า และยอดที่อยู่ใกล้เคียงชัดขึ้น จากระเบียงด้านนอกห้องตัวเอง เราเริ่มขยับขึ้นไปบนดาดฟ้าโรงแรม

 

            เสียงฮือฮาจากนักท่องเที่ยวบ้านข้างเคียงเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลายคนคงรอคอยที่จะได้เห็นยอดคันเช็งจุงก้ามาหลายวันเหมือนกันพวกเรา ถึงจะได้เห็นในชั่วโมงสุดท้ายก่อนจะบอกลาเพ็ลลิ่ง แต่เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว อย่างน้อยที่สุดการเดินทางมาในครั้งนี้ก็บรรลุวัตถุประสงค์ เราได้ยลยอดโฉมงามสมดังที่ตั้งใจ ถึงจะไม่ได้เห็นในยามฟ้าใส ทุกอย่างกระจ่างตา ไม่ได้เห็นทิวเขาทั้งเทือกหิมาลัย แต่นี่ก็แสนจะสุขใจแล้ว เราจะกลับมาเยือนและยลโฉมงามแบบเต็มๆ ตาอีกครั้ง ในวันที่ฟ้าเปิดในช่วงฤดูหนาว

            เวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ กับการเฝ้ามองโฉมงามดูสั้นเหมือนเกิน เราต้องออกเดินทางตอน 6 โมงครึ่ง แบกเป้ขึ้นหลัง และออกจากที่พักด้วยความเสียดาย ทำไมต้องเป็นเวลานี้นะ ระหว่างรอรถมารับอีกพักใหญ่ สายตาก็ยังจับจ้องอยู่ที่แม่โฉมงาม มีเมฆหมอกลอยมาบังสายตาบ้างเป็นระยะๆ และเริ่มหนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเราขึ้นรถ พอรถเริ่มเคลื่อนที่ไป ก็ยังไม่มีใครวางตาจากโฉมงาม แต่แค่ไม่กี่นาทีต่อมาเมฆหนาก็เข้ามาบัง ถึงแสงอาทิตย์จะยังคงอยู่และร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ แดดจ้ากับฟ้าเปิดเป็นคนละเรื่องกัน ใช่ว่ามีแดดแล้วจะได้เห็นโฉมงาม เธอออกมายิ้มให้พวกเราก่อนจะโบกมือลากัน และเราก็สัญญากับเธอว่าเราจะกลับมา

            การเดินทางอันยาวไกลเริ่มขึ้นอีกครั้ง เราต้องนั่งรถประมาณ 5 ชั่วโมง จากเพ็ลลิ่งไปสิลิกุรี เพื่อต่อรถไปขึ้นรถไฟที่สถานีนิวจัลไปกุรี(New Jalpaiguri) และขึ้นรถไฟไปเดลลี นั่งรถคราวนี้โดนจับแยกกันหมดเลย เรานั่งเบาะสองหลังคนขับกับแขกครอบครัวหนึ่ง พ่อ แม่ ลูก พี่ปลานั่งเบาะสามกับแขกอีกบ้านหนึ่ง ส่วนพลอยนั่งเบาะหลังสุด กับแขกอีกคนที่รับขึ้นมาระหว่างทาง งานนี้เราเลยได้แต่นั่งดูวิวข้างทางกันไป ไม่ได้คุยอะไรกัน พอสายหน่อยรถจอดแวะให้กินข้าว เราก็ไปหาอะไรกินเหมือนแขกเค้ากินกัน อาหารเช้าที่เรียกว่าปู้รี่ กินแค่พออยู่ท้องกันหิวกว่าจะไปถึงที่หมาย เพราะไม่วางใจเรื่องความสะอาด เกิดท้องไม่รับขึ้นมาแล้วจะยุ่ง ยังต้องเดินทางอีกไกลทีเดียว

จัดการอาหารเช้าเรียบร้อย รถก็พร้อมออกเดินทางต่อ เส้นทางที่ผ่านก็เป็นภูเขาๆๆ ลัดเลาะไต่ระดับลงมาเรื่อยๆ อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ความเย็นที่เคยได้สัมผัสที่สิกขิมเริ่มจางหายไปแล้ว รถวนออกทางสิกขิมใต้(South Sikkim) สภาพอากาศคล้ายๆ กับบ้านเราทางภาคเหนือ ในช่วงหน้าฝน มีต้นสักปลูกอยู่ริมทาง เห็นภูเขา สายน้ำ อากาศร้อนชื้น พอเข้าเขตเมืองอากาศก็เริ่มร้อนขึ้น และความวุ่นวายของเมืองก็เริ่มกลับเข้ามาอยู่ในสายตาอีกครั้ง เรากลับสู่โลกของความจริงแล้ว หลังจากที่หนีไปอยู่ในโลกของความฝันและความสุขเสียนานหลายวัน

            รถจี๊ปมาถึงสิลิกุรี่ และเข้าจอดที่ท่ารถ ประมาณ 11 โมงครึ่งกว่าๆ เราต้องนั่งรถต่อออกไปทีสถานีรถไฟอีกประมาณครึ่งชั่วโมง รถที่นี่ไม่สนใจว่าจุดที่เค้าไปจอดจะลำบากสำหรับผู้โดยสารแค่ไหน เรื่องจะขอลงหรือส่งลงในจุดที่สามารถต่อรถได้สะดวกๆ เหรอ ไม่มีทาง เค้าต้องเข้าไปในที่ของเค้า แล้วเราก็ต้องหาทางออกมาเอง พอทุกคนลงจากรถสามล้อรับจ้างหรือที่แขกเรียกว่า ลิกชอร์(Rikshaw) ก็จะเข้ามารุม คงรู้ว่าต้องต่อรถแน่ๆ เค้าก็ทำมาหากินแบบพึ่งพากันแหละ พอพี่ปลาบอกที่หมายและต่อรองราคาเรียบร้อย ได้รถสามล้อ 2 คัน คันละ 25 รูปี พอขึ้นรถได้พลถีบก็เริ่มทำหน้าที่ พาเราออกไปสู่ถนนใหญ่ ท่ามกลางการจราจรที่คับคั่งและไร้ระเบียบอย่างแรง สักพักเค้าก็หยุดรถเจรจาอะไรกันสักอย่าง แล้วสรุปว่าจะเรียกรถสามล้อเครื่อง หรือ ออโต้-ลิกชอร์(Auto-Rikshaw) ประจำทางที่ไปถึงสถานีรถไฟให้เราแทน ไม่รู้ว่าปั่นไม่ไหวเพราะอีกไกล หรือเพราะโกงกันหน้าด้านๆ เพราะราคาที่ตกลงคือไปถึงสถานีรถไฟ แต่ไปส่งเราไม่ถึงที่หมาย กลับมาเรียกรถให้เราไปต่อเอง ต้องจ่ายตังค์ค่ารถอีกรอบด้วย พอจ่ายค่ารถให้คนหนึ่ง 25 รูปีแล้วก็ส่งของอีกคันไว้ให้ด้วย เพราะพลถีบอีกคนเค้าช่วยเรียกรถประจำทางอยู่ รับเงินไปเรียบร้อยยังจะทำเป็นตุกติกให้เพื่อนพลถีบมาขอค่ารถอีกรอบ เราก็ไม่สนใจฟังแล้ว ก็ให้ไปแล้วไปแบ่งกันเอาเองซิ แล้วเราก็ขึ้นออร์โต้ลิชอประจำทางต่อไปอีกเกือบครึ่งชั่วโมง ยังคิดอยู่ว่าถ้าสามล้อถีบปั่นมาส่งเราถึงนี่ มันคงจะแย่อยู่นะ งั้นล่ะถึงได้ถอดใจ

            เราไปถึงสถานีรถไฟประมาณเที่ยงกว่าๆ แบกเป้เดินไปหาที่รอรถไฟแถวๆ ชานชลาที่ 5 ที่รถไฟ Train No. 2423 ขบวน GHY Rajdhani(ราชธานี) จะเข้าเทียบสถานี กะระยะว่าตู้ที่เราจองไว้น่าจะอยู่ประมาณนี้ เพราะตัวเลขบอกตำแหน่งที่แน่นอนยังไม่ขึ้น แถมมีประกาศว่ารถไฟจะช้ากว่าเวลา 13.10 น.ไปประมาณ 15 นาทีด้วย กว่ารถจะมาถึงก็ประมาณบ่ายโมงครึ่ง พี่ปลากะระยะได้ค่อนข้างใกล้เคียงมาก พอเลขแสดงว่าตู้หมายเลขไหนจะจอดตรงไหน เดินขึ้นมานิดเดียวก็ถึงตู้ที่เราจองแล้ว เป็นตู้นอนปรับอากาศชั้น 3 คือตู้แอร์ที่ต้องนอนเรียงกัน 3 ชั้น ซึ่งแบบนี้ไม่เคยเห็นในบ้านเรานะ ของบ้านเราเป็นแค่ 2 ชั้น คนที่อยู่ชั้นล่างสุดกับชั้นบนก็ยังโอเคนะ แต่ชั้นกลางเนี่ยลำบากหน่อย แบบว่านั่งไม่ได้เพราะหัวจะติดเตียงชั้นบน ต้องก้มตลอด ต้องทำภารกิจทุกอย่างให้เสร็จแล้วขึ้นไปก็นอนเลย ดีนะที่เที่ยวนี้พวกเรามา 3 คนและจองได้ 3 เตียงเรียงกันเป็นขนมชั้น ส่วนแขกที่เป็นอีก 3 เตียงในล็อคเดียวกับเราเป็นแขกซิกส์ ผู้ชาย 3 คน ซึ่งพวกเราสันนิษฐานจากรูปร่างหน้าตา ท่าทางการพูดคุยและเล่นกันของพวกเค้าแล้ว คิดว่าเค้าน่าจะเป็นพี่น้องกันนะ เราก็นินทาเค้า เค้าก็นินทาเราเหมือนกัน แต่พวกเราทั้งสองแก๊งค์ไม่ได้คุยกัน เพราะเค้าคงจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ไม่งั้นคงชวนคุยแล้ว ก็ดีเหมือนกันจะได้ต่างคนต่างอยู่ ไม่วุ่นวายกับเรา มีช่วงเวลาเดียวที่พวกเราพูดจากับเค้าบ้าง คือตอนกินข้าว

            ขึ้นรถแล้ว เก็บของเรียบร้อย รถออกได้สักพัก เขาก็เริ่มเสิร์ฟอาหารกลางวัน ซึ่งทีแรกพวกเราก็ไม่แน่ใจว่าในราคาตั๋วรวมอาหารด้วยหรือป่าว แต่ตามแหล่งข่าวบอกว่ารถไฟขบวนราชธานีนี้อาหารโอเค กินได้หายห่วง เลยกะว่าค่อนมาสั่งอาหารบนรถไฟกินกัน จนเค้ามาถามว่าจะเอาอาหารเป็นแบบ Vegetarian หรือ Non Vegetarian คือแบบกินแต่ผัก หรือแบบกินเนื้อ แล้วก็เห็นเค้าเสิร์ฟให้ทุกคน เลยแน่ใจว่ามีอาหารรวมอยู่ในค่าตั๋วทุกที่นั่งแล้ว มื้อแรกบนรถไฟเป็นข้าวสวย โรตี แกงกะหรี่ไก่ แกงถั่วเหลืองและสลัด จากนั้นสักพักก็มีโยเกิร์ตตามมา เป็นโยเกิร์ตแท้ๆ แบบไม่ผสมอะไร เปรี้ยวจี๊ดเลย เราชิมไปนิดเดียวก็ขอบาย แต่แขกเค้ากินกันเป็นปกติ จริงๆ มันดีต่อสุขภาพ ยิ่งอากาศร้อนๆ ก็ยิ่งควรกินทุกวัน เพราะจะทำให้ร่างกายปรับสมดุลย์ แต่เราขอกินแบบผสมเป็นลาสซี่ดีกว่านะ มาเพียวๆ แบบนี้ไม่ไหน (ถ้าโรยน้ำตาลสักหน่อยจะโอเค แต่มื้อแรกเรายังไม่มีน้ำตาล พอมื้อหลังๆ เริ่มสะสมน้ำตาลได้จากชุดของว่างก็เลยได้ลองชิมแบบโรยน้ำตาลกัน ก็อร่อยดี)

            พออิ่มจากอาหารบ่ายเสร็จ เตรียมจะหลับพักผ่อนกันไม่ทันไร ก็มีไอศครีมมาเสิร์ฟอีกแล้ว กินไอตีมเสร็จตอนประมาณบ่าย 3 โมงกว่าๆ ยังไม่ทันจะได้นอนผึ่งพุง ชุดชายามบ่ายก็มาอีกตอน 4 โมงกว่าๆ  มีขนมกระปุกเล็ก ลักษณะเหมือนสายไหมที่กินกับโรตีบ้านเรา แต่ใส่นมและธัญพืชเพิ่มลงไป หวานๆ มันๆ อร่อยดีเหมือนกัน มีชาอัสสัมกับน้ำตาลและครีมซองๆ มาอย่างละ 2 ซอง และก็มีลูกอมช็อคโกแล็คอีก 3-4 เม็ดมาด้วย รวมเป็นหนึ่งชุดน้ำชา ส่วนแก้วเปล่ากับน้ำร้อนอีกคนละกระติกย่อมๆ แบบใส่น้ำร้อนมาแค่พอดีแก้วเดินตามมาเสิร์ฟทีหลัง พอ 6 โมงกว่าๆ ซุปมะเขือเทศพร้อมเนยกับขนมปังคล้ายๆ กับขนมปังขาไก่อันใหญ่ๆ อีก 2 อันก็นำหน้าอาหารค่ำมา อาหารมาถี่จนเราเริ่มหนักใจกับการกินของตัวเองว่ามันจะกลิ้งได้พอดีตอนลงจากรถ ที่น่าหนักใจกว่าคือน้องพลอยของเรา ที่แบกน้ำหนักจากเมืองไทยมาก็ 70 กว่าโลแล้ว แถมระหว่างการท่องเที่ยวตลอดทริป น้องท่านก็เจริญอาหารดีจริงๆ แบบว่าทีแรกตั้งใจจะหาตัวหารไปกันหลายๆ คนสำหรับทริปสำรวจ จะได้ประหยัดงบ ไปเที่ยวกันแบบประหยัด กลายเป็นว่าเราได้ตัวคูณเพิ่มมาซะงั้น ถ้าสั่ง 2 พลอยจะได้กิน 1 เรากับพี่ปลาจะแบ่งกันอีก 1 (กะว่าทริปสำรวจคราวหน้าจะต้องถามน้ำหนักเพื่อนร่วมทริปก่อนซะแล้ว) แต่ถึงยังไงก็ดีใจที่มีพลอยมาด้วยนะ เป็นน้องที่น่ารักอีกคนที่ทำให้ทริปนี้มีสีสันเพิ่มมากขึ้นเยอะ และก็ดีใจที่พลอยมีความสุขกับการท่องเที่ยวในแบบของวันแรมทาง โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายบนรถไฟขบวนราชธานีนี้ ที่ขยันเสิร์ฟมากๆ

หลังจากจัดการซุปไปเรียบร้อย ประมาณ 2 ทุ่มกว่า อาหารค่ำก็มา เมนูเหมือนเดิมยกเว้นแกงถั่วที่เปลี่ยนจากถั่วเหลืองเป็นถั่วเขียว มื้อนี้เราได้กินข้าวสองกล่อง(กล่องไม่ใหญ่นะ) คือปกติจะมีข้าวกล่องเล็กๆ และโรตีอีกสองแผ่นห่อมาในกระดาษฟลอย แต่ส่วนใหญ่พวกเรากินแต่ข้าวไม่ได้กินโรตี ส่วนแขกที่นั่งตรงข้ามเราก็คงจะกินโรตีเป็นหลัก แค่สองแผ่นเลยไม่อิ่ม ขอเพิ่มจากพนักงานเสิร์ฟเค้าก็บอกว่าไม่มี พวกเราก็เลยเอาโรตีของตัวเองให้พวกเค้าไป เค้าก็เลยเอาข้าวมาให้เราเป็นการแลกกัน นี่แหละเวลาเดียวที่พวกเราได้สนทนากันบ้างเล็กน้อย อาหารมื้อหลักเสร็จ โยเกิร์ตก็ตามมา แล้วไอศครีมก็มาปิดท้าย ส่งเราเข้านอน ก่อนจะปล่อยให้นอนท่านพนักงานเสิร์ฟก็เดินถามเมนูสำหรับอาหารเช้าไว้เลย ว่าจะกินแซนวิชหรือไข่เจียว Veg. หรือ Non Veg. พวกเราสั่งไข่เจียว Non Veg. ไว้ แล้วพรุ่งนี้เจอกัน

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

   

วันที่ 13             วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน 2550

นิวเดลี (New Delhi)

 

            ตื่นกันแต่เช้าตามระเบียบ เพราะแขกเค้าตื่นกันแล้ว ส่งเสียงรบกวนการนอนของพวกเรา อุตส่าห์ว่าจะนอนตื่นสายๆ สักวัน สุดท้ายก็ต้องตื่นมาจนได้ ก่อนอาหารเช้ามีชุดชาพร้อมกับขนมแครกเกอร์มารับอรุณ เพราะตอนเช้าแขกเค้าจะดื่มชากัน พักใหญ่ๆ อาหารเช้าก็ตามมา ไข่เจียวใส่ถั่วลันตา และขนมปัง 2 แผ่น เนยและแยมกล่องเล็กๆ เหมือนตามโรงแรมบ้านเรา จัดการอาหารเช้ายังไม่ทันเสร็จ เค้าก็มาถามว่ากลางวันจะกิน Veg. หรือ Non Veg. อ้าว? แสดงว่ารถไฟเสียเวลาซิ เพราะตามเวลาเดิมมันจะถึงเดลลีประมาณ 10-11 โมง (คือใช้เวลาเดินทางประมาณ 21 ชั่วโมง จากนิวจัลไปกุรี) แต่ถ้ามีอาหารกลางวันแปลว่าจะถึงบ่าย แต่ก็โอเคแหละ มีข้าวให้กินก็ไม่มีปัญหา ปัญหาอยู่ที่ข้าวมันหน้าตาเหมือนกันทุกมื้อเลยอ่ะ แกงไก่ แกงถั่ว(ถั่วเขียวบ้าง ถั่วเหลืองบ้าง) โรตี ข้าวสวย สลัดห่อเล็กๆ ตบท้ายด้วยโยเกิร์ต ก่อนเสิร์ฟอาหารกลางวันก็มีชุดซุปมาเรียกน้ำย่อย ยังดีคราวนี้เป็นซุปมันฝรั่ง ไม่ใช่ซุปมะเขือเทศอย่างเมื่อวาน อร่อยดี หอมกลิ่นพริกไทยมากๆ พอตบท้ายด้วยโยเกิร์ตมื้อนี้มีสมาชิกร่วมกินโยเกิร์ตเพิ่มจากที่ปกติพลอยกับพี่ปลาจะไม่กิน แต่มื้อนี้เรามีน้ำตาลมาโรยเพิ่มรสชาติ มันก็ได้หวานๆ เย็นๆ เปรี้ยวๆ อร่อยดี พลอยเสียดายใหญ่ที่ไม่ได้หยิบส่วนของตัวเองไว้ด้วย 3 คนเลยกินโยเกิร์ตถ้วยเล็กๆ ถ้วยเดียวกัน แล้วทำไมเพิ่งมาคิดได้นะว่ามื้อนี้เรามีน้ำตาลกันแล้ว

            รถไฟถึงสถานีนิวเดลี ประมาณบ่าย 2 โมงได้(สรุปรวมแล้วใช้เวลาอยู่บนรถไฟกัน 24 ชั่วโมงกว่านิดหน่อย) ทุกคนวุ่นวายกับการเก็บของเตรียมลงจากรถ แล้วเราก็เพิ่งรู้ว่า 3 หนุ่มที่นั่งตรงข้ามเราเค้าเป็นทหาร เพราะเราบังเอิญเห็นชุดเครื่องแบบทหารตอนเค้าเปิดกระเป๋า เลยเริ่มไม่แน่ใจว่าเค้าเป็นพี่น้องกับจริงๆ ป่าว ถ้าใช่ก็แปลว่าเค้าเป็น 3 คนพี่น้องที่เป็นทหารทั้งหมด แต่ถ้าไม่ใช่เค้าก็คงเป็นเพื่อนทหารที่สนิทกันมาก เค้าให้ทางเรายกของลงจากรถก่อน เพราะของเค้า 3 คนเยอะมากๆ คงเป็นทหารที่ได้พักแล้วกลับบ้านน่ะ รู้สึกว่ารถไฟตู้ที่นั่งมาจะเป็นทหารไปซะค่อนตู้ได้

 

            เบียดกับแขกซะเหนื่อย กว่าจะเดินขึ้นสะพานลอยข้ามไปซื้อตั๋วรถแท็กซี่ที่บูท Pre Paid Taxi ได้ บอกจุดหมายและจ่ายตังค์ซื้อตั๋วที่บูทนี้เลยดีกว่าที่จะไปเสียเวลาเถียงต่อรองราคากับพวกแขกขับแท็กซี่เอง เถียงกับแขกไม่สนุกหรอก โดนฟันหัวแบะป่าวๆ เราซื้อตั๋วรถไปที่ทิเบตแคมป์ หรือที่แขกเค้าเรียกว่า มัจชนู กาเตลา(Majnu Katila) 75 รูปี ไปถึงก็เดินหาโรงแรมที่พระอาจารย์อ้ายแนะนำอยู่พักนึงกว่าจะเจอ เพราะดันไปเข้าประตูด้านที่มันอยู่ไกล เราพักกันที่ นิว สักกะยะ เฮาส์ (New Sakya House) ห้องคู่ราคาถูก 350 รูปี พักกัน 3 คนเค้าคิด 400 รูปี ห้องกว้างดี สะอาดพอใช้ได้ เข้าที่พักเรียบร้อยเรากับพี่ปลาต้องออกไปคอนเฟิร์มตั๋วเครื่องบินขากลับของพลอย เพราะเลื่อนตั๋วออกจากวันที่ 17 มิถุนา เป็นวันที่ 24 เพราะพลอยตัดสินใจจะอยู่เที่ยวทริปทัชมาฮาลต่อกับพวกเราและสมาชิกที่จะตามมาอีก 2 คน ส่วนตัวพลอยเองขอนอนพัก เพราะท้องเสียจากบนรถไฟเมื่อคืน ไม่รู้เพราะอาหารเมนูไหน หรือเพราะกินเยอะไปก็ยังไม่ชัวร์ แต่สรุปว่าหมดแรงข้าวต้ม เลยขอนอนรออยู่ที่ห้อง จุดหมายปลายทางของเราคือสำนักงานอินเดียแอร์ไลน์ ที่คอนนอร์ท เพลส เราสองคนขึ้นรถสามล้อถีบ 15 รูปีจากทิเบตแคมป์ไปที่สถานีรถไฟฟ้าหรือที่เค้าเรียกกันว่าเมโทร สถานีเมโทรที่ใกล้ที่สุดคือสถานี Vidhan Sabha แล้วก็ต่อรถไฟฟ้าอีก 11 รูปีไปถึงสถานี Rajif Chowk เป็นสถานีที่ไปถึงคอนนอร์ท เพลส ซึ่งเป็นแหล่งรวมของร้านค้าต่างๆ ประมาณสยามบ้านเรา แถวนี้ก็เลยมีสาวแขกสายเดี่ยวให้เห็น มีวัยรุ่นแต่งตัวกันตามสมัยนิยม เรียกว่าเป็นที่ยอดฮิตและเก๋กู้ดที่สุดสำหรับเดลลีก็ว่าได้ พี่ปลาบอกว่าสมัยก่อนจากมหาวิทยาลัยเดลลี หรือแถวทิเบตแคมป์ กว่าจะนั่งรถมาถึงคอนนอร์ทก็เกือบ 45 นาที แต่พอมีรถไฟฟ้าทุกอย่างก็สะดวกรวดเร็วขึ้นมาก นั่งรถแป๊ปเดียวก็ถึง แถมค่ารถไฟฟ้าที่นี่ก็ถูกมากๆ นั่งตั้งไกล เกือบตลอดสายแค่ 11 รูปี จริงๆ การเดินทางที่เป็นลักษณะของขนส่งมวลชนของอินเดียจะถูกมากๆ เพราะคนของเค้าเยอะ และยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก ที่จนก็จนจริงๆ ที่รวยก็รวยมากๆ การเดินทางขั้นพื้นฐานจึงจำเป็นต้องถูก

เราเดินหาสำนักงานของ Indian Airlines อยู่อีกพักใหญ่ เพราะถามทางจากแขกบางคนก็ไม่รู้ บางคนก็บอกทางมามั่วๆ เราเลยเดินหลงกันอยู่นาน เดินวนจนเกือบจะรอบคอนนอร์ท เพลสอยู่แล้ว กว่าจะเจออยู่ที่ Block F แต่ว่ามาถึงแล้วมันปิด จริงๆ เราเข้าใจผิดคิดว่าวันนี้เป็นวันเสาร์(เพราะไปใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟเสียหนึ่งวันเต็มๆ เลยหลงวันไปหน่อย) ป้ายเขียนบอกว่าปิดวันอาทิตย์ วันทำงานจะเปิดฝ่ายบริการ 10.00 – 13.00 น. ด้วยความหลงวันเราเลยคิดว่าวันนี้มันปิดเพราะหมดเวลางาน ไม่ได้คิดว่าปิดเพราะเป็นวันอาทิตย์ เลยกะว่าจะกลับมาใหม่เช้าวันจันทร์ แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นวันพรุ่งนี้(เพราะคิดว่าพรุ่งนี้วันอาทิตย์ซึ่งมันปิด) เราเลยเสียเวลาไป 1 วัน ปล่อยวันจันทร์ผ่านไป และเราไปคอนเฟิร์มตั๋วอีกทีวันอังคารเช้า แต่อย่างน้อยเราก็รู้ตำแหน่งของสำนักงาน Indian Airlines แล้วแหละ

เดินอยู่พักใหญ่ท้องก็เลยเริ่มหิว เราเลยหาอาหารเย็นกินกันที่นี่ก่อนกลับ ส่วนพลอยบอกกันไว้แล้วว่าให้สั่งอาหารที่โรงแรมกินได้เลยไม่ต้องรอ กว่าเราจะกลับถึงทิเบตแคมป์ก็มืดแล้ว ก่อนกลับเข้าโรงแรมก็ไปเดินหาที่เติมเงินโทรศัพท์และร้านอินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าบ้านวันแรมทางอีกพักหนึ่ง แต่ยังไม่ได้เล่นเลย แค่ขอให้เค้าลงฟอนท์ไทยไว้ให้ แล้วพรุ่งนี้เช้าจะลงมาเล่น เค้าก็ลงให้ด้วยดี กลับมาถึงห้องพัก ถามอาการพลอยก็ดีขึ้นแล้ว ลงไปลงเน็ตมาแล้วด้วย เพิ่งกลับเข้าห้องก่อนพวกเราพักเดียว สั่งอาหารเย็นมากินแล้วก็อาบน้ำเสร็จพอดี คืนนี้พวกเรานอนพักผ่อนกันอย่างสบายใจ พรุ่งนี้ค่อยไปหาที่เดินเล่น ซื้อของ และท่องเดลลี แต่ที่สำคัญก่อนออกเที่ยวคือต้องซักผ้าตากซะก่อน เดี๋ยวไม่มีเสื้อหอมๆ ใส่ในทริปทัชมาฮาล

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

  

วันที่ 14             วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2550     

นิวเดลี (New Delhi)

 

            เช้าวันนี้ฝนตก พวกเราอุตส่าห์ซักผ้าตั้งแต่เมื่อคืน และจะซักเพิ่มเช้านี้ เพราะเสื้อผ้าหมดสต็อกจากสิกขิม พอออกไปตากข้างนอกไม่ได้เลยต้องผูกเชือกเป็นราวตากผ้าระโยงระยางเต็มห้องอีกตามเคย(หลังจากที่ไปซักผ้าและผูกราวที่กังต๊อกมาแล้ว) จะเข้าจะออกจากห้องทีต้องช่วยกันดึงราวไว้ไม่ให้ผ้าล่วงไปกองกับพื้น เพราะมันผูกติดกับลูกบิดประตูน่ะ เราลงไปกินอาหารเช้าที่ร้านอาหารของโรงแรม สั่งชุดอาหารเช้าปกติเป็น ขนมปัง ไข่ดาว กาแฟ น้ำส้ม ในชุดมีขนมปังทิเบตอันโตๆ อ้วนกลมอีก 2 อันด้วย พอจัดการอาหารเช้าเสร็จ เราก็ออกไปเช็คเมลกัน อยู่ที่ร้านเน็ตประมาณ 2 ชั่วโมงได้ พลอยเสร็จก่อนเลยขึ้นไปซักผ้า เพราะฝนหยุดแล้ว พอเรากลับมาที่ห้องก็เจอโน๊ตของพลอยบอกว่าอยู่ร้านเน็ต ซักผ้าเสร็จแล้วแต่ไม่มีที่ตาก เราเลยจัดการเอาผ้าทั้งหมดขึ้นไปตากบนดาดฟ้า คนดูแลโรงแรมเค้าบอกว่าตากได้ แต่ไม่รับรองเรื่องความปลอดภัย คือถ้าหายเค้าไม่รับผิดชอบน่ะ เราก็เลยขึ้นไปนั่งเฝ้าผ้า เอาบันทึกขึ้นไปเขียน พร้อมกับเสบียงอีกจำนวนหนึ่ง

เฝ้าผ้าผ่านไปประมาณชั่วโมงกว่าๆ พลอยก็ขึ้นไปเปลี่ยน ยังไม่ทันจะได้เปลี่ยน พนักงานโรงแรมเค้าเกิดจะทำความสะอาดขึ้นมา จะยกเก้าอี้ที่เรานั่งอยู่ขึ้นบนโต๊ะเพื่อกวาดผง เราเลยต้องอพยพย้ายที่ เลยชวนกันลงไปกินข้าวกลางวันดีกว่า ผ้าคงไม่ต้องห่วงเท่าไหร่เรื่องจะหาย เพราะดูไม่มีใครขึ้นไปวุ่นวายบนดาดฟ้า ที่ต้องห่วงคือเรื่องฝนตกมากกว่า กลาววันนี้พลอยสั่งข้าวผัดเนื้อกับไข่ดาว เหมือนอาหารเย็นที่สั่งขึ้นไปกินบนห้องเมื่อวาน เพราะติดใจบอกว่าอร่อยดี เราชิมแล้วก็อร่อยจริงๆ นะ ข้าวผัดเนื้อของทิเบต หั่นเนื้อเป็นชิ้นเล็กๆ ทรงลูกเต๋า ใส่เนื้อเยอะดี พี่ปลาสั่งติงโม้ (ประมาณหมั่นโถ หรือซาลาเปาไม่มีใส่นั่นแหละ) มากินกับผัดพริกเนื้อ อร่อยเด็ด แล้วก็ผัดอะไรอีกอย่างซึ่งเมนูนี้ไม่ค่อยโดนใจเท่าไหร่ แต่โดยรวมแล้วก็อิ่มอร่อยแหละ กินข้าวกลางวันเสร็จก็บ่ายสามโมงกว่าแล้ว เราขึ้นไปเก็บผ้าก่อน ส่วนหนึ่งแห้งแล้วเพราะแดดแรง บางส่วนที่ยังไม่แห้งก็เอามาตากต่อในห้อง แล้วก็เตรียมตัวออกไปเที่ยวเล่นข้างนอกกัน

พวกเรานั่งลิชอ(สามล้อถีบ) 3 คน 20 รูปี ไปขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อต่อไปคอนนอร์ท เพลส แต่ไม่ได้เดินในคอนนอร์ทนะ เราไปเดินช็อปปิ้งกันแถวถนนจันปาทร์(Janpat Market) แหล่งรวมสินค้าของฝากของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว ได้ของมาไม่น้อยทีเดียว ทั้งผ้าปัก ตะเกียง โมบาย แต่ที่นี่บอกราคาค่อนข้างสูง แบบว่าราคานักท่องเที่ยวจริงๆ ต้องต่อเยอะๆ หน่อย บางอย่างก็ต่อได้แบบครึ่งต่อครึ่ง บางอย่างก็ประมาณ 30 – 40% ก็สนุกไปอีกแบบ ประมาณว่าต่อแล้วไม่ให้ก็เดินออก เค้าก็มักจะให้ในที่สุด เพราะบอกไว้เกินเยอะ ราคาที่แต่ละร้านบอกหลายอย่างก็ไม่เท่ากันนัก เราถามโมบายเส้นหนึ่ง มีร้านบอกราคาตั้งแต่เส้นละ 40 50 จนถึงบางร้านบอกเส้นละ 150 พวกเราถึงกับอึ้ง บอกมาได้ไม่อายปาก ไม่รู้เห็นพวกเราเป็นอะไร ฟังกันหน้าด้านๆ ทั้งที่หน้าตาเหมือนกันเลย แต่แทบทุกอย่างที่ได้มาเราก็ต่อกันจนได้ในราคาที่พอใจแล้วนะ ถ้าอยากได้อะไรก็ต่อเข้าไป ต่อในราคาที่เราคิดว่าถ้าเค้าให้เราจะซื้อ แต่ถ้าไม่อยากได้แล้วต่อไปงั้น เกิดเค้าให้ขึ้นมาแล้วไม่เอาก็อาจจะโดนแขกด่าแหลกได้นะ

   

 

ช็อปปิ้งกันจนเพลิน ค่ำซะแล้ว กะว่าจะหาอะไรเก๋ๆ แถวนี้กินซะหน่อย แต่หมดเวลาซะก่อน พอท้องหิวร้านเค้าก็เริ่มจะปิดกันแล้ว สุดท้ายเลยต้องกลับไปกินที่โรงแรมเหมือนเดิม เพราะถ้ากลับมืดกว่านี้ เส้นทางหลังจากลงจากรถไฟฟ้า แล้วนั่งสามล้อต่อมาที่โรงแรมจะมืดมาก ดูน่ากลัวไปหน่อย เราเลยเลือกที่จะกลับมากินเมนูเดิมๆ อีกรอบ เพราะพรุ่งนี้ก็ไม่ได้กินแล้ว จะเช็คอ์ออกไปกินฝีมือรสพระทำกัน

กินอาหารค่ำเสร็จก็ได้เวลาขึ้นห้องอาบน้ำนอน พรุ่งนี้คงต้องตื่นเร็วหน่อย เพราะต้องออกไปคอนเฟิร์มตั๋วเครื่องบิน แล้วก็กลับมาเก็บของเช็คเอาท์ ถ้าตามโปรแกรมเดิม ทริปสิกขิมจะจบลงในคืนนี้ เมื่อเราส่งพลอยกลับขึ้นเครื่องเดินทางสู่สุวรรณภูมิ ตอนเกือบตีหนึ่ง แต่พลอยติดใจอยากจะอยู่เที่ยวทัชมาฮาลต่อ ก็เลยต้องเลื่อนตั๋วออกไป แล้วพรุ่งนี้เราจะเข้าสู่โปรแกรมของทริปทัชมาฮาลกันในช่วงค่ำ หลังจากที่รับลูกทัวร์อีก 2 คนที่บินมาสมทบจากเมืองไทยเรียบร้อย 

การเดินทางสำรวจดาร์จีลิ่ง-สิกขิมในครั้งนี้ เราได้อะไรหลายๆ อย่างมากกว่าการได้ท่องเที่ยวไปในสถานที่ใหม่ๆ เราได้รู้ ได้เห็นและได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่แตกต่างกันในหลายท้องที่ซึ่งล้วนมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง มีร่องรอยแห่งอารยธรรมและความรุ่งเรืองมากมายในรายทาง และอย่างหนึ่งที่เราแน่ใจ คือการเดินทางไม่ได้มีจุดหมายอยู่ที่ปลายทางเสมอไป เพราะในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา บรรยากาศของสองข้างทางกลับดึงดูดเราได้มากกว่าปลายทางเสียอีก และที่นี่จะเป็นเส้นทางสายใหม่ที่เราจะชวนเพื่อนพ้องมาสัมผัสเสน่ห์เมืองแห่งขุนเขาในอ้อมกอดหิมาลัยด้วยกัน....ดาร์จีลิง-สิกขิม 

 

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 .. THE END..

 

 

 

 

 

ใครสนใจจะไปตามรอยกับเรา ติดต่อได้ที่นี่ "วันแรมทาง"

 

 

 แสดงความคิดเห็น
ติชมบทความ คลิ้กที่นี่ค่ะ

 

 

 




บันทึกแรมทาง

พุทธคยาเย็นใจ 10-14 ตุลาคม 2567
ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang