เส้นทางเส้นมหาราชา ทัชมาฮาล อนุสรณ์รัก สิ่งมหัศจรรย์ มรดกโลก เดลี เดลลี อัครา ชัยปุระ แม่น้ำยมุนา อัครา ฟอร์ท แอมเบอร์ ฟอร์ท เรด ฟอร์ท ซีตี้ พาเลส อินเดีย เกท จามา มัสยิด กุตุป มีนา
ReadyPlanet.com
dot dot
สัมผัสแรกบนเส้นทางแห่งมหาราชา สู่ทัชมาฮาล อนุสรณ์รักนิรันดร article

เรื่องและภาพ โดย สาริศา

 

สัมผัสแรกบนเส้นทางแห่งมหาราชา สู่ทัชมาฮาล อนุสรณ์รักนิรันดร

เดลี อัครา ทัชมาฮาล ชัยปุระ

วันที่ 19 – 24 มิถุนายน 2550

 


            เส้นทางท่องเที่ยวสายมหาราชา หรือที่แขกเค้าเรียกกันว่าสามเหลี่ยมทองคำ เป็นเส้นทางที่ 3 และเป็นเป้าหมายสุดท้ายสำหรับการเดินทางมาอินเดียครั้งนี้ หลังจากที่ไปไหว้พระในเส้นทางสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล และขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศของดาร์จีลิ่งและสิกขิมมาแล้ว การเดินทางสู่สายมหาราชา หรืออินเดียตอนเหนือ อย่างกรุงนิวเดลี อัครา และชัยปุระ ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางที่มีปราสาท พระราชวัง ป้อมปราการ และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของอินเดียอยู่หลายแห่ง สามารถเดินทางต่อเนื่องกันเป็นเส้นทางสามเหลี่ยม จนได้รับการขนานนามว่า สามเหลี่ยมทองคำ (Golden Triangle) เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ได้รับความนิยม มีความยิ่งใหญ่ สวยงาม และอลังการที่ไม่ควรพลาด แล้วเราจะพลาดได้ไง

ทริปนี้เป็นแบบกึ่งสำรวจ คือพี่ปลาเคยพาคณะมาเที่ยวหลายครั้งแล้ว แต่เป็นลักษณะของการมาเที่ยวกันเอง พอจัดโปรแกรมแบบทัวร์โดยผ่านเอเย่นต์ของอินเดีย และให้เค้าจัดการเรื่องร้านอาหารที่จะพาลูกทัวร์ไปกิน รวมถึงเรื่องการเดินทางและที่พักให้ เลยอยากไปลองกิน ลองพักด้วยตัวเองก่อน ว่าเค้าจัดให้โอเคหรือป่าว ก่อนที่จะพาลูกทัวร์มา เราก็เลยได้มาเที่ยวและสำรวจเส้นทางนี้ไปในตัว แล้วก็เลยเปิดรับสมาชิกร่วมทริปในราคาแบบกึ่งสำรวจด้วยเลย แบบว่าถูกกว่าตอนเป็นทัวร์เต็มรูปแบบ แต่ต้องไปลุยไปลองพร้อมๆ กัน และนี่คือเรื่องราวของสัมผัสแรกที่ได้มาเยือนบนเส้นทางสายมหาราชา

 

วันที่ 1   วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2550    เดลลี

            เราจะเริ่มเข้าโปรแกรมของทริปนี้ในช่วงค่ำ เมื่อลูกทัวร์อีกสองคนของเราเดินทางจากกรุงเทพฯ มาสมทบกันที่เดลลี ช่วงกลางวันของวันนี้เรา พี่ปลา และพลอยก็เลยว่าง ช่วงเช้าเรากับพี่ปลาออกจากโรงแรมที่พักที่ทิเบตแคมป์ไปคอนเฟิร์มตั๋วเครื่องบินของพลอยที่เลื่อนจากกำหนดเดิม เพราะจะอยู่เที่ยวต่อในทริปนี้ ส่วนพลอยอาสาอยู่เฝ้าผ้าที่เราซักกันตั้งแต่เมื่อวาน เพราะกลัวฝนตก แล้วก็จะอยู่เช็คเมลอัพเดทบล็อก บ้านพี่พลอย ไปด้วยในตัว

เรารีบออกไปที่สำนักงาน Indian Airline ที่คอนนอร์ท เพลส(Connaught Place) แต่เช้า โดยใช้เส้นทางรถไฟฟ้าจากสถานี Vidhan Sabha ไปลงที่สถานี Rajiv Chowk ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของคอนนอร์ท เพลส คอนเฟิร์มตั๋วของพลอยเรียบร้อย แต่ของเรากับพี่ปลาที่จะเลื่อนจากวันที่ 26 มิถุนายน มากลับวันที่ 24 พร้อมกับสมาชิกในทริปนี้ยังต้องรอลุ้นกันอยู่ เพราะเป็น Waiting List ลำดับที่ 6 และ 7 ก็ยังมีเวลาลุ้นอีกหลายวันอยู่นะ

พอเสร็จธุระแล้วก็เริ่มหิว(หิวมากๆ) เพราะเมื่อเช้ายังไม่ได้กินอะไร เลยแวะหาอะไรกินสักหน่อย แต่ร้านส่วนใหญ่จะเปิดตอน 10 โมง เดินหาร้านที่มีอาหารให้กินได้อยู่พักนึงก็เจอร้านหนึ่งที่พี่ปลาคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเรียนที่นี่ เป็นร้านฟาสฟู๊ดประมาณเดียวกับแม็คโดนัลล์ ชื่อว่า Wimpyเข้าไปสั่งเบอร์เกอร์กันคนละอัน และนั่งรออยู่ประมาณ 15 นาที พี่ปลาเลยเดินไปที่ร้าน Airtel เพื่อเช็คโทรศัพท์ก่อน เพราะอยู่ๆ เบอร์ที่ซื้อซิมมาจากกัลกัตตาก็มีปัญหาใช้งานไม่ได้ไปเฉยๆ

เราต้องออกจากที่นี่อย่างช้า 11.30 น. เพื่อกลับไปเช็คเอาท์ตอนเที่ยง แต่นั่งรอเบอร์เกอร์อยู่นานจนเกือบหมดเวลา พอเบอร์เกอร์มาก็ต้องรีบกินอย่างรวดเร็ว และรีบกลับไปที่โรงแรม เพราะพระอาจารย์อ้ายนัดว่าจะมารับ พระอาจารย์อ้ายเป็นพระนักศึกษาซึ่งมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดลลีตั้งแต่ระดับปริญญาโท และตอนนี้ต่อปริญญาเอกปรัชญาศาสนาอยู่ ส่วนพี่ปลานับได้ว่าเป็นนักศึกษารุ่นพี่ของที่นี่ เพราะมาเรียนปริญญาตรีและจบไปก่อนพระอาจารย์อ้ายมาเรียนหลายปี แต่พี่ปลาก็เป็นลูกศิษย์ที่วนเวียนช่วยงานอยู่ที่วัดไทยในอินเดียเป็นประจำ เลยได้รู้จักและช่วยงานที่วัดเหมือนกัน มาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอย่างนี้ เวลามีคนรู้จักมาเยือนสักที ก็คงเหมือนได้เจอเพื่อนเก่า ต้องเจอกันเพื่อไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันหน่อย

พระอาจารย์อ้ายมาแลกเงินแถวทิเบตแคมป์(Majnu Katila)พอดี เลยแวะเข้ามารับพวกเราด้วยเลย เราถือโอกาสฝากพระอาจารย์แลกเงินเพิ่มไปด้วยเลย ได้ดอลล่าร์ละ 40.80 รูปี ตลาดใต้ดินให้เรตดีใช้ได้ แต่ต้องเป็นคนพื้นที่หรือคนที่รู้แหล่งที่ไว้ใช้ได้จริงๆ นะ ถ้าสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าไปแลกที่ไหนไม่รู้ อาจโดนหลอกหรือเจอแบงค์ปลอมได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้ก็ไม่ควรเสี่ยง แลกกับธนาคารชัวร์กว่า

  

แลกเงินเสร็จเราก็ออกเดินทางสู่ที่พักของพระอาจารย์ เพื่อเอาสัมภาระไปฝากไว้ รอราชรถประจำทริปนี้มารับในตอนค่ำ ที่พักของพระอาจารย์ต้องผ่านหมู่บ้านวัวเข้าไป เราเลยได้เห็นบรรยากาศชุมชนวัวในเมืองหลวง ไม่น่าเชื่อเลยว่ายังมีชุมชนแบบนี้อยู่ในเดลลี พระอาจารย์เล่าว่าเดลลีเค้าพัฒนาแปลกๆ ด้านซ้ายเป็นย่านพัฒนา หรูหรา ทันสมัย แต่ฝั่งตรงข้ามยังเป็นชุมชนชาวบ้าน อดอยาก สกปรก แต่เค้าก็อยู่กันได้ ความแตกต่างและเหลื่อมล้ำในอินเดียมีมากกว่าบ้านเราหลายเท่านัก

พวกเราไปถึงที่พักของพระอาจารย์ (เป็นห้องเช่าซึ่งอยู่ชั้นบนของบ้านแขก แบ่งเป็นหลายๆ ห้องให้เช่า) บ่ายโมงกว่าๆ ได้เวลาท้องร้องอีกแล้ว พระอาจารย์เลยเปิดครัวให้เราหาอาหารกลางวันกินกัน ได้ไข่เจียว ผัดปลากระป๋อง และหมูหยองของพระอาจารย์ อาหารง่ายๆ ที่ไม่ใช่อาหารแขก พระนักศึกษาที่นี่ต้องเช่าห้องหรือบ้านอยู่ และต้องทำอาหารกินเอง ไม่ก็ออกไปหาซื้อกิน แต่อยู่นานๆ ต้องซื้ออาหารแขกกินทุกมื้อคงเบื่อแย่ ท่านเลยทำกินเองดีกว่า หลายอย่างที่นี่แม้แต่พระก็ต้องปรับตัวให้ได้ เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม เป็นธรรมดา

  

            สนทนากับพระอาจารย์ ระหว่างพักให้อาหารย่อยสักครู่ พวกเราก็ออกไปเดินเล่น และช็อปปิ้งกัน โดยมีพระอาจารย์นำทางให้ในฐานะเจ้าถิ่น พระอาจารย์พาทัวร์มหาวิทยาลัยเดลลี ในมุมต่างๆ ทั้งอาคารสถานที่เรียน อนุสาวรีย์ของท่านอาจารย์ผู้ก่อตั้ง แม้แต่ห้องอาหาร ได้เห็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่ลงมานั่งล้อมวงเล่นไพ่กับภารโรง ซึ่งแยกไม่ค่อยออกว่าคนไหนอาจารย์ คนไหนภารโรงนะ (สำหรับที่อินเดียการเล่นไพ่เค้าไม่ผิดกฎหมายนะ แต่ส่วนใหญ่เค้าไม่ได้เลยพนัน เค้าเล่นเหมือนเป็นเกมมากกว่า) เราได้เจอคนไทยด้วย คือคุณพ่อพาลูกชายสองคนมาส่งเรียนที่นี่ โดยมีคณะพระนักศึกษาเป็นผู้ติดต่อประสานงานและช่วยดูแลเด็กๆ ที่มาใหม่ให้ พ่อแม่ก็เลยอุ่นใจ แล้วก็ไม่ต้องกลัวโดนหลอกด้วย

  

ออกจากมหาวิทยาลัยฯ พวกเราก็ไปเดินเล่นกันต่อแถวตลาดจนเย็น ซื้อของบ้าง เขียนเฮนน่าบ้าง ชิมของกินบ้าง ได้ของติดไม้ติดมือนิดหน่อย แต่ได้เห็นอะไรเยอะแยะ แม้แต่น้ำมะนาวโซดาที่บรรจุในขวดรุ่นโบราณ ซึ่งเคยมีขายแถวสนามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 (ตามที่พ่อพี่ปลาเล่าให้ฟัง) ปัจจุบันไม่มีแล้ว แต่ที่อินเดียยังมีใช้อยู่เลย ตั้งแต่เกิดมาเราก็เพิ่งเคยเห็น หลายอย่างในโลกที่คงไม่มีให้เห็นอีกแล้วในที่อื่นๆ เราก็จะได้เห็นที่อินเดียนี่แหละ

            พอตกเย็นเราก็เตรียมกลับไปเอาของที่บ้านพระอาจารย์ จริงๆ มันก็ทุ่มหนึ่งได้แล้วแหละ แต่ที่นี่ยังไม่มืดเลย แต่ละวันเลยรู้สึกว่ายาวนานเหลือเกิน ก่อนเข้าบ้านพระอาจารย์ เราแวะซื้อของสดที่ตลาดในหมู่บ้าน มีของสด ผักผลไม้ขายเหมือนตลาดนัดทั่วไป เราได้ของสดไปทำกับข้าวมื้อเย็นกินก่อนจะออกเดินทาง และเมนูของมื้อเย็นนี้พี่ปลาโชว์ฝีมือทำลาบไก่กัน แล้วก็เก็บของเหลือจากมื้อกลางวันให้หมดไม่เหลือซาก จัดการเก็บล้างให้เรียบร้อย แล้วก็แยกของที่จะฝากพระอาจารย์ไว้ และของใช้ที่ต้องเอาไป จากนั้นก็รอราชรถมารับ

            ประมาณสองทุ่มครึ่งรถโตโยต้า อีโนว่า 7 ที่นั่ง ก็มารับพวกเรา เพื่อเข้าโปรแกรมทัชมาฮาล โดยมีผู้ช่วยชาวอินเดียในทริปนี้ชื่อ โซนุ มาพร้อมกับพลขับ ซึ่งเราลืมถามชื่อ(ตามเคย) เก็บของขึ้นรถ แล้วนมัสการลาพระอาจารย์เรียบร้อย เราจะเจอพระอาจารย์อีกทีตอนวนกลับมาเที่ยวเดลลีในช่วงวันสุดท้ายของทริปก่อนกลับบ้าน พอออกจากบ้านพระอาจารย์ ก็มุ่งหน้าสู่สนามบินนานาชาติอินทิราคานธี เมืองนิวเดลี เพื่อรับสมาชิกอีก 2 คนที่มาจากเมืองไทย คือ ผึ้งและพี่ปราญช์

            เราไปถึงสนามบินประมาณ 4 ทุ่มกว่าๆ เครื่องเพิ่งลงพอดี (ผึ้งกับพี่ปราญช์มาเครื่องการบินไทย ตามเวลาจะออกจากสุวรรณภูมิ 18.05 ถึงเดลลี 20.40 น. แต่เครื่องออกช้าไปหน่อยนึง) ยืนรออยู่พักหนึ่งก็ยังไม่เห็นเป้าหมายของเรา แล้วผึ้งก็โทรเข้ามาบอกว่าถึงแล้ว จะออกมาแล้ว เราบอกให้เดินออกมาเลย พวกเรารออยู่ข้างหน้าแล้ว ผ่านไปอีกหลายนาทีก็ยังไม่เห็น เลยถามโซนุกว่าประตูทางออกมันมีกี่ประตู เค้าบอกมี 2 ประตู อ้าว! แล้วทำไมเพิ่งบอก แต่เค้าบอกว่าคนส่วนใหญ่จะออกทางนี้ สรุปว่าสมาชิกของเราเป็นคนส่วนน้อยน่ะ เพราะไปออกอีกทางหนึ่งจริงๆ ด้วย พอเจอกันเรียบร้อยครบองค์ประชุม เก็บของใส่รถแล้วก็มุ่งหน้าสู่โรงแรมที่พักคืนแรกตามโปรแกรมในเดลี

เราพักกันที่โรงแรม Regent Continental ห้องพักก็โอเค สะอาดใช้ได้ แต่แอร์เป็นแบบเก่าหน่อย ต้องเปิดสวิซจากหม้อแปลง แปลกไปอีกแบบ แต่ที่แย่คือห้องเราดันแอร์ไม่ทำงาน ต้องเรียกช่างมาซ่อมอีกพักใหญ่ ง่วงก็ง่วง พรุ่งนี้ก็ต้องตื่นแต่เช้า แล้วยังต้องมารอซ่อมแอร์อีก ถ้ารู้ว่าจะนานขนาดนี้ ขอให้เปลี่ยนห้องไปตั้งแต่แรกดีกว่า แต่รู้สึกว่าห้องเค้าจะเต็มนะ เพราะห้องเรา 3 คน(เรา พี่ปลา และพลอย) ได้ห้องใหญ่มาก สงสัยห้องขนาดปกติจะไม่ว่าง เลยให้ห้องใหญ่เรา พอแอร์ซ่อมเสร็จ พวกเราก็ทยอยกันไปอาบน้ำนอนได้ พรุ่งนี้ต้องตื่นกันแต่เช้า ลงไปกินอาหารเช้า แล้วออกเดินทางไปเมืองอัครา ดินแดนแห่งทัชมาฮาล

 

 

วันที่ 2   วันพุธที่ 20 มิถุนายน 2550        

เดลี (Delhi) - อัครา (Agra) – ทัชมาฮาล (Taj Mahal) - อัครา ฟอร์ท (Agra Fort)

            6 โมงครึ่ง พร้อมกันที่ห้องอาหารของโรงแรม วันนี้มีบุฟเฟ่ต์ ไม่รู้ว่ามีเป็นปกติหรือเพราะว่าแขกเข้าพักเยอะ แต่แขกส่วนใหญ่(แขกจริงๆ) เค้าไม่กินอาหารเช้านะ เค้ากินกันตอนสายๆ หน่อย นอกจากเมนูทั่วไปของบุฟเฟ่ต์ พวกไข่สารพัดชนิด ขนมปัง ชา กาแฟแล้วก็มีพวกแคร็กเกอร์และโยเกิร์ตแบบที่แขกเค้านิยมกินกันด้วย และด้วยความหวังดี โซนุเลยสั่งข้าวต้มไว้ให้พวกเราด้วย แต่มันเป็นข้าวต้มธรรมดา ไม่ใช่ข้าวต้มเครื่อง เลยไม่รู้ว่าจะเอาข้าวต้มมากินกับอะไร นอกจากไข่เจียว แต่ข้าวต้มเค้าก็อร่อยนะ ซัดไข่กันไปหลายฟองกับขนมปังอีกจำนวนหนึ่ง พอเรียบร้อยจากอาหารเช้าพวกเราก็ขึ้นไปเก็บของลงมาเช็คเอาท์ และออกเดินทางสู่เมืองอัครา นครแห่งความรัก (คิดถูกแล้วที่ไม่เอาลงมาตั้งแต่แรก เพราะแขกที่เช็คเอาท์ก่อนพวกเราเอากระเป๋ามากองกันไว้เต็มพื้นที่เลย)

จากเดลีไปอัคราใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง นั่งรถไปได้ซักพัก พอ 9 โมงกว่าๆ เกือบ 10 โมง ก็ได้เวลาที่พลขับชาวแขกต้องกินอาหารเช้า พวกเราเลยได้เบรคไปในตัว ก่อนจะออกเดินทางต่อ บรรยากาศสองข้างทางในฤดูนี้ดูค่อนข้างแห้งแล้ง และร้อนระอุเอาการ แต่ก็ยังดีที่อุณหภูมิไม่สูงมาก เหมือนเส้นทางที่เราไปไหว้พระ 4 สังเวชนียสถาน วิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งถนนก็ดูแปลกตาไปจากที่เคยเห็นในเส้นทางอื่นๆ มีร้านขายของพื้นเมือง เริ่มมีผู้คนที่ใช้อูฐเป็นพาหนะ มีตลาดของแต่ละหมู่บ้านที่มีผลผลิตทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ดูแล้วก็แปลกตาและเพลินดีเหมือนกัน

เราไปถึงโรงแรมที่พัก Pushpa Villa ในอัคราประมาณเที่ยงกว่าๆ ไปถึงก็จัดการเติมพลังงานด้วยอาหารกลางวันกันก่อนเลย เดี๋ยวจะได้ออกไปเที่ยวทัชมาฮาลกันต่อ จากห้องอาหารของโรงแรมมองเห็นยอดทัชมาฮาลอยู่ไกลๆ แล้วก็เห็นมันค่อยๆ เคลื่อนที่ช้าๆ คือห้องอาหารนี้มันหมุนรอบตัวเองน่ะ เหมือนพื้นห้องตั้งอยู่บน Tran Table เราใช้เวลากินอาหารอยู่ประมาณชั่วโมงได้ รู้สึกว่าห้องมันจะหมุนกลับมาถึงที่เดิมพอดี

พวกเราเอาของขึ้นไปเก็บบนห้องและเข้าห้องน้ำกันให้เรียบร้อย แล้วก็ออกไปทัชมาฮาล ซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมไม่กี่นาที แต่รถเข้าไปได้ไม่ถึงด้านหน้า เค้าจะมีจุดจอดรถให้ แล้วต้องต่อรถที่เค้าจัดไว้อีกทอด มีทั้งรถม้า รถแท็กซี่ และมินิบัส แต่รถก็ไม่ได้ส่งถึงที่นะ นั่งรถได้ไม่กี่นาทีก็ต้องลงแล้วเดินต่อเข้าไปอีก ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะทำให้มันหลายทอดทำไม สงสัยแค่อยากกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่ทั่วถึงกันน่ะ 

เราเสียค่าเข้าทัชมาฮาลไปคันละ 500 รูปีกับอีก 5 ดอลล่าร์ (หรือจะจ่าย 750 รูปีเลยก็ได้นะ แต่คำนวณแล้วคิดว่าจ่ายแบบนี้ดีกว่า) ที่นี่ค่อนข้างตรวจตราเรื่องความปลอดภัยละเอียดมาก ห้ามเอาน้ำ ขนม ไฟฉาย ไฟแช็ค อาวุธทุกชนิดติดตามเข้าไปด้วย แม้แต่กระเป๋าใบใหญ่ๆ อย่างกระเป๋ากล้องของพวกเรายังเกือบไม่ให้เอาเข้าเลย แต่พอเช็คแล้วว่าเป็นแค่อุปกรณ์กล้อง เค้าก็ยอมให้เอาเข้าได้ พอซื้อตั๋วแล้วเค้าจะให้ถุงสวมรองเท้าคนละคู่ เพื่อจะได้ไม่ต้องถอดรองเท้า แต่เอาสวมเข้าไปเลย และมีน้ำขวดเล็กๆ ให้คนละขวดด้วย (สำหรับชาวอินเดียเค้าเสียค่าเข้าแค่ 20 รูปีเองนะ ราคาแตกต่างกันหลายเท่าเหลือเกิน แต่จะไม่ได้ถุงสวมรองเท้าและน้ำ เค้าก็จะถอดรองเท้าไว้ด้านล่างก่อนขึ้นไปบนทัชมาฮาล)

 

พอเข้าพ้นประตูด้านหน้าไปก็เห็นฝูงชนจำนวนมากอยู่ภายในแล้ว แถมวันนี้ฟ้ายังไม่เป็นใจอีกด้วย มีเมฆครื้มๆ ฟ้ามัวๆ อยู่ตลอดเวลา เสียดายจัง ไม่ได้เห็นทัชมาฮาลวันฟ้าใส แต่ถ้าฟ้าสวยก็จะแปลว่าอากาศร้อนมากนะสำหรับฤดูนี้ ได้อย่างก็ต้องเสียอย่างจริงๆ

ทัชมาฮาล (Taj Mahal) เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักที่เป็นอมตะ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก สร้างขึ้นด้วยอนุภาพแห่งรักของเจ้าชายชาร์จาฮาน ที่มีต่อพระนางมุมตัส มาฮาล มเหสี ทำจากหินอ่อนสีขาวประดับประดาด้วยอัญมณีล้ำค่า และได้รับการยกย่องว่าเป็นไข่มุกแห่งอัครา เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่สวยที่สุดในโลก และเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา เราเข้าไปถึงประตูสู่ทัชมาฮาลประมาณบ่าย 2 โมง และนัดเวลากันว่าจะออกมาเจอกันตรงนี้ตอนประมาณ 4 โมงเย็น เพื่อไปต่อกันที่อัครา ฟอร์ท แล้วเราก็แยกย้ายกันไปเก็บภาพความงดงามของทัชมาฮาลในมุมต่างๆ กันตามแต่ใจ

 

นับจากประตูทางเข้าด้านหน้าทัชมาฮาล ก็สร้างความรู้สึกยิ่งใหญ่อลังการและสวยงามได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งพอก้าวผ่านประตูเข้าไปแล้วได้เห็นทัชมาฮาลอยู่ตรงหน้ายิ่งทำให้รู้สึกว่าที่นี่เป็นสุดยอดแห่งประดิษฐกรรมมนุษย์จริงๆ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมทัชมาฮาลจึงได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เพราะทั้งความยิ่งใหญ่ ความสวยงาม ความโดดเด่น อีกทั้งความพิเศษในหลายๆ ด้านที่รวมเป็นหนึ่งเดียวนี่เอง ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ควรค่าแก่การมาเยือน และยลด้วยตาตัวเองสักครั้ง

 

ความพิเศษที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของทัชมาฮาลนั้นมีมากมาย อย่างหอคอยที่ล้อมอยู่ทั้ง 4 ด้านของทัชมาฮาล ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่ามันเอียงออกด้านนอกเล็กน้อย และความตั้งใจที่ทำให้หอคอยเอียงออกก็เพื่อว่าคาดวันใดที่เกิดแผ่นดินไหว และหอคอยพังทลายล้มลง มันจะได้ไม่ล้มไปทับทัชมาฮาล แต่ล้มออกด้านนอกแทน รอบคอบสุดๆ  ส่วนตัวหนังสือบนประตูทางเข้าสู่ด้านในโดมของทัชมาฮาล มีความพิเศษตรงที่ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหน จะแหงนหรือเงยสักเท่าใด เราก็จะมองเห็นตัวหนังสือทุกตัวมีขนาดเท่ากัน สามารถอ่านได้เหมือนอ่านตัวหนังสือที่อยู่บนแนวระนาบเดียวกันเลย น่าอัศจรรย์มั้ยล่ะ พอเข้าไปด้านในโดมของทัชมาฮาล หินสีสันต่างๆ ที่เราเห็นประดับประดาเป็นลวดลายอยู่ในหินอ่อนนั้น ถ้าใช้ไฟฉายส่องดูจะเห็นว่ามันดูโปร่งแสง และสะท้อนสีสันที่ดูสดใสขึ้นมา สวยมาก (เจ้าหน้าที่เค้าส่องให้ดูนะ ส่องเองไม่ได้เพราะเค้าห้ามพกไฟฉาย ไฟแช็คเข้ามาด้วย) และด้วยคุณสมบัติของหินอ่อน อุณหภูมิภายในทัชมาฮาลจะเย็นเมื่อข้างนอกอากาศร้อน และจะอุ่นเมื่ออากาศข้างนอกเย็น ส่วนมุมทั้งแปดด้านภายในทัชมาฮาล ก็ทำให้เสียงที่เปร่งออกมาสะท้อนก้องอยู่ภายใน มีแขกหลายกลุ่มลองตะโกนดู แต่เราไม่ได้ลองนะ เพราะคิดว่ามันไม่ควรน่ะ ก็ด้านในนี้มีโลงที่บรรจุพระศพของเจ้าชายชาร์จาฮาน และพระนางมุมตัส มาฮาลอยู่ด้วย แล้วมาส่งเสียงดังรบกวนแบบนี้ คงไม่ดีแน่ (ความจริงพระศพของทั้งสองพระองค์นั้นไม่ได้อยู่ในโลงที่วางอยู่ในทัชมาฮาล และฝังอยู่ลึกลงไปใต้พื้นในตำแหน่งเดียวกันกับโลงนั่นแหละ)  

  

ด้านซ้ายของทัชมาฮาล มีมัสยิดที่สวยงามซึ่งยังคงใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนาอยู่จนปัจจุบัน โดยเฉพาะในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่ทัชมาฮาลปิด(ก็คงเพราะเหตุผลที่มีการทำละหมาดใหญ่ที่มัสยิดนี้แหละ) ส่วนด้านขวาของทัชมาฮาลมีรูปแบบสถาปัตกรรมเหมือนกันกับมัสยิดแต่ทำเป็นที่ประทับรับรองพระมหากษัตริย์และพระญาติที่มาจากต่างเมืองในสมัยก่อน

เข้าไปชมด้านในทัชมาฮาลได้สักพัก เราก็ออกมาเดินถ่ายรูปกันด้านนอกต่อ สิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างของอินเดีย ยิ่งใหญ่อลังการและวิจิตรงดงามจริงๆ อย่างหนึ่งคงเพราะจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาล แผ่นดินก็กว้างใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ทุกอย่างจึงล้วนอำนวยต่อการสร้างสรรค์ผลงานที่โลกตะลึง เก็บภาพยังไม่ทันหนำใจ พระพิรุณก็เริ่มโปรยปรายลงมา แย่จัง ต้องเก็บลูกชาย(กล้องคู่ใจ) ลงกระเป๋าแล้ว เดี๋ยวโดนฝนแล้วเค้าจะป่วย พอได้เวลาก็ออกมาที่จุดนัดหมาย รวมพลครบแล้ว เราก็ออกเดินทางสู่จุดหมายต่อไปกันเลย

 

อัครา ฟอร์ท หรือป้อมปราการอัครา (Agra Fort) เคยเป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่และมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุลใช้เป็นพระราชวังสืบต่อมาถึง 3 รัชกาล แล้วยังเป็นอนุสรณ์แห่งความหลังและลมหายใจสุดท้ายที่น่าเศร้าของเจ้าชายชาร์จาฮาน ซึ่งความสวยงามของที่นี่ไม่แพ้ทัชมาฮาลเลย เราไปถึงอัครา ฟอร์ทตอนที่ฝนยังตกอยู่ แต่ก็แค่เม็ดเล็กๆ พอลงจากรถเดินมาถึงด้านหน้าของป้อมก็เห็นถึงความใหญ่โตของป้อมนี้แล้ว มองเห็นแนวกำแพงที่สูงใหญ่และยาวเหยียด ดูเป็นป้อมปราการที่แน่นหนาจริงๆ สำหรับที่อัคราฟอร์ท เราต้องจ่ายค่าตั๋ว 250+50 รูปี หรือ 5 ดอลล่าร์ + 50 รูปี ส่วนที่บวก 50 รูปีนี้เป็นส่วนที่สามารถลดได้ถ้ามีบัตรเข้าชมทัชมาฮาลในวันเดียวกัน เหมือนเป็นโปรโมชั่นสำหรับคนที่เข้าชมทั้งสองที่ในวันเดียวกันนั่นแหละ พวกเราเลือกจ่ายคนละ 5 ดอลล่าร์ เพราะคุ้มกว่าใช้รูปีหน่อย (ก็เราแลกเงินได้ดอลล่าร์ละ 40.80 รูปีน่ะ)

  

  

เราผ่านประตูใหญ่อีกชั้นหนึ่งของป้อมเข้าไปด้านใน แค่ทางเดินก็ดูยิ่งใหญ่ทำให้นึกไปถึงป้อมปราการในหนังสงครามย้อนยุคของฝรั่งเลย ด้านในป้อมแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ อีกหลายส่วน แต่เราเดินได้ไม่ทั่วนัก เพราะฝนยังตกอยู่ ได้เข้าไปเดินชมห้องที่ประดับประดาด้วยหินสีต่างๆ เป็นลวดลายสวยงาม แต่มันเริ่มจะหลุดลอกและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาแล้ว เดินดูห้องนั่นห้องนี้กันได้พักหนึ่ง ฝนก็หยุดตก เราออกไปถ่ายรูปด้านนอกกันได้สบายอารมณ์อีกครั้ง

 

จากป้อมอัครานี้มองเห็นทัชมาฮาลตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา และที่นี่คือที่จองจำเจ้าชายชาร์จาฮาน ที่พระองค์เฝ้ามองทัชมาฮาลซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่พระองค์สร้างขึ้นอยู่ถึง 8 ปีก่อนจะสิ้นพระชนม์ เป็นตำนานรักอมตะที่จบอย่างน่าเศร้า และเหตุที่เจ้าชายชาร์จาฮานถูกลูกชายของตัวเองจับมาขังไว้ที่ป้อมนี้ก็เพราะว่าพระองค์มีโครงการที่จะสร้างสุสานหินอ่อนสีดำไว้ให้ตัวเอง อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำยมุนาตรงข้ามกับทัชมาฮาล เพื่อให้พระองค์และพระมเหสีได้อยู่คู่กันตลอดไป แต่จากการสร้างทัชมาฮาลที่ต้องใช้เงินทองจำนวนมหาศาล และยังต้องสังหารผู้เกี่ยวข้องอีกมากมายหลังจากสร้างทัชมาฮาลสร้าง เพราะเจ้าชายชาร์จาฮานไม่ต้องการให้คนเหล่านั้นไปสร้างอะไรที่สวยงามเทียบเท่าทัชมาฮาลได้อีก ทำให้โครงการสุสานหินอ่อนสีดำของพระองค์กลายเป็นโครงการที่น่ากลัวสำหรับผู้คนรอบข้าง สุดท้ายพระองค์จึงถูกจับมาขังไว้ที่ป้อมอัคราแห่งนี้ เพื่อไม่ให้มีอำนาจสั่งการใดๆ ได้อีก และโครงการในฝันของพระองค์ก็ตายไปพร้อมกับพระองค์นั่นเอง

เราออกจากป้อมอัครากันตอนประมาณ 6 โมงเย็น และมุ่งหน้ากลับสู่โรงแรม เพื่อกินอาหารเย็นที่ห้องอาหารเดิม เมนูอาหารเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ มื้อกลางวัน มีผัดหมี่ ผัดผัก ซุป แกงถั่ว โรตี คือส่วนใหญ่อาหารที่เค้าจัดให้จะเป็นอาหารจีน ผสมอาหารแขกบ้างเล็กน้อย เพราะกลัวว่าจะกินกันไม่ได้ หรือถ้ากินแล้วท้องเสียขึ้นมาจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับเรา พี่ปลาและพลอย ซึ่งอยู่อินเดียมาครึ่งเดือนแล้ว มันเป็นเมนูอาหารที่น่าเบื่อมากๆ หรือแม้แต่ผึ้งและพี่ปราญช์เองที่ตั้งใจจะมากินอาหารแขกเต็มที่ อุตส่าห์ทดสอบท้องด้วยส้มตำปูปลาร้าตั้งหลายมื้อก่อนมา ก็เบื่ออาหารจีนเหมือนกัน แต่มื้อแรกๆ ก็เอาแบบเด็กๆ เรียกน้ำย่อยไปก่อนแล้วกันนะ แล้วค่อยจัดแบบเต็มรูปแบบอีกที แต่ที่ลองได้เลยแบบไม่ต้องกลัวท้องไม่รับ คือเบียร์ ซึ่งพี่ปราญช์ขอลอง เล่นไป 2 ยี่ห้อ หลับสบายไปเลย ยังไงก็อย่านอนเพลินนะ พรุ่งนี้เช้าเราจะออกเดินทางไปเยือนชัยปุระ นครแห่งชัยชนะกัน 

 

 

วันที่ 3   วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2550           

อัครา(Agra) – ชัยปุระ(Jaipur) – พระราชวังแอมเบอร์(Amber Palace) – ซิตี้พาเลส(City Palace)

 

            เจอกันที่ห้องอาหารของโรงแรม 6 โมงครึ่งเวลาเดิม จัดการอาหารเช้า ไข่ดาว ขนมปัง ชา กาแฟกันตามระเบียบ มีโรตีให้กินด้วยพอให้มีกลิ่นไอของแขกแต่รุ่งสาง กินเสร็จเก็บของใส่รถออกเดินทางสู่ เมืองชัยปุระ นครแห่งชัยชนะ หรือ นครสีชมพู ชัยปุระเป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถาน ซึ่งได้รับการออกแบบวางผังเมืองอย่างสวยงาม เป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่โดยท่านมหาราชา ไสว ชัย สิงห์ ที่ 2 เป็นชุมชนศิลปินและช่างฝีมือ มีชื่อเสียงด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมหลากหลายชนิด ชัยปุระได้รับสมญานาม นครสีชมพู (Pink City) เพราะเมืองถูกทาสีชมพูเพื่อต้อนรับการเสด็จเยือนของ Prince of Wale ซึ่งต่อมาคือ King Edward VII แห่งสหราชอาณาจักร

            จากอัคราไปชัยปุระต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง เหมือนกับการเดินทางจากเดลลีไปอัครา และจากชัยปุระกลับไปเดลลี เดินทางเป็นเส้นทางสามเหลี่ยมเลย ใช้ระยะเวลาพอๆ กันแถบทุกเส้นทาง และวันนี้เราก็ได้เบรคตอนประมาณ 10 โมงเหมือนเดิม เพื่อให้พลขับท่านกินข้าว ไม่รู้ว่าทำไมเค้าไม่เปลี่ยนเวลามากินพร้อมพวกเราเสียเลย แต่ก็ดีเหมือนกันแหละ พวกเราจะได้ลงจากรถมายืดเส้นยืดสายด้วย หลังจากนั่งรถมาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า เดินเล่นบ้าง สั่งน้ำสั่งชามาจิบไปพลางๆ บ้าง อีกอย่างก็ไม่ควรต้องมีใครเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองเพื่อการท่องเที่ยวของพวกเราที่มาเที่ยวไม่กี่วัน ให้เค้าดำรงความเป็นตัวตนของเค้าต่อไปแหละดีแล้ว

  

  

            ระหว่างทางจากอัคราไปชัยปุระ ก็มีวิถีชีวิตริมทางอีกหลายแบบให้เราเห็น มีร้านแกะสลักหินมากมายหลายร้าน พร้อมกับผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบที่เอาออกมาโชว์กัน ที่อินเดียมีทรัพยากรหินชนิดต่างๆ เยอะมาก เรื่องฝีมือการแกะสลักหินไม่เป็นรองใคร ตลอดเส้นทางเราได้เห็นอูฐเดินกันเป็นทิวแถว ใช้เป็นทั้งพาหนะและใช้ขนส่งสินค้า มีฝูงแกะหลายฝูงเดินกันเป็นเต็มถนน ตลาดในแต่ละหมู่บ้านที่ผ่านก็มีผักผลไม้พื้นเมืองตามฤดูกาล

 

            เราไปถึงโรงแรม Arya Niwas ที่พักในชัยปุระของพวกเราตอนประมาณเที่ยงกว่าๆ ได้เวลาอาหารกลางวันอีกแล้ว แต่แย่หน่อยที่ร้านอาหารของโรงแรมนี้เป็น Vegetarian มีแต่เมนูผักกับไข่ ไม่มีเนื้อสัตว์เลย มื้อนี้พวกเราเลยต้องกินอาหารสารพัดผักกัน แต่ก็โอเคนะ ผักสดอร่อยและหวานดี มีไอศครีมตบท้ายด้วย พอเติมพลังกันเรียบร้อย พวกเราก็พร้อมสำหรับการท่องดินแดนชัยปุระ นครสีชมพูกัน แม้ว่าปัจจุบันเมืองนี้จะไม่ได้เป็นสีชมพูทั้งเมืองเหมือนแต่ก่อน เพราะสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเริ่มมีสีอื่นๆ เข้ามาปะปน แต่ก็ยังมีสีสันและร่องรอยของความเป็นนครสีชมพูให้ได้เห็นอยู่ทั่วไป แม้แต่แถบข้างรถประจำทางของเมืองนี้ยังเป็นสีชมพูเลย พนักงานกวาดถนนซึ่งเป็นผู้หญิงก็ใส่ส่าหรีสีชมพูเหมือนเป็นเครื่องแบบกันทุกคน ตึกเก่าๆ ของที่นี่ถึงจะไม่เห็นสีชมพูแล้ว แต่ก็ยังคงความสวยงามและเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่จนวันนี้

 

            ที่แรกที่พวกเราจะไปเยือน คือพระราชวังสายลม เพราะเป็นทางผ่านที่เราจะไปแอมเบอร์ฟอร์ท จริงๆ แล้วตามโปรแกรมเราจะต้องไปพระราชวังสายลมพรุ่งนี้เช้า เพราะช่วงบ่ายอย่างนี้จะย้อนแสง ถ่ายรูปไม่ได้ แต่ก็แวะซะหน่อยก็ดี แล้วสิ่งที่ได้เห็นก็สร้างความตกตะลึงมากๆ นั่งร้านไม้ไผ่จำนวนมหาศาลสูงเท่าความสูงของพระราชวังสายลม ปดบังความงามของพระราชวังแห่งนี้เสียมิด เค้ากำลังซ่อมบำรุงอยู่น่ะ เหมือนกับหลายๆ ที่ที่เราได้ไปมาแล้ว ไม่รู้ว่าเพราะมันสึกหรอไปตามกาลในเวลานี้พอดี หรือเป็นช่วงเวลาที่เค้าต้องซ่อมบำรุงกันทุกปี เพื่อรอรับฤดูท่องเที่ยวที่จะมาถึงนะ

  

 

            จากพระราชวังสายลมเราไปต่อกันที่พระราชวังแอมเบอร์ (Amber Palace) ซึ่งเป็นป้อมปราการด้วย จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ป้อมปราการแอมเบอร์ (Amber Fort) แอมเบอร์ ฟอร์ทเป็นป้อมที่ใหญ่โต ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขา ดูเป็นชัยภูมิที่ดีมากสำหรับการเป็นป้อมปราการของเมือง ถ้ามาถึงในช่วงเช้า คงได้เห็นไฮไลน์ของการมาชมที่นี่ คือการขี่ช้างขึ้นไปบนป้อม แต่ตอนที่เราไปถึงเป็นช่วงบ่าย แดดร้อนมาก ช้างคงเดินขึ้นไม่ไหว คนก็คงไม่อยากนั่งช้างแบบร้อนๆ เลยไม่ได้เห็นบรรยากาศการนั่งช้างขึ้นไปชมป้อมเลย แต่พวกเราไม่ได้ตั้งใจจะนั่งช้างอยู่แล้ว เพราะมันเสียเวลามาก พอรถวนขึ้นไปถึงที่จอด เราก็ลงเดินเท้าขึ้นไปบนป้อมกัน ถึงแดดจะร้อน แต่ความยิ่งใหญ่อลังการและศิลปะที่วิจิตรตาของแอมเบอร์ฟอร์ท ก็ทำให้พวกเราลืมร้อนไปได้เลย ของเค้ายิ่งใหญ่จริงๆ นึกจิตนาการถึงตอนที่นครแห่งนี้รุ่งเรืองในอดีต และป้อมแห่งนี้ยังใช้การอยู่ มีผู้คน ชาวเมืองและทหารหาญมากมาย แค่คิดก็เกินบรรยายแล้ว

   

ภายในห้องต่างๆ ของพระราชวังแอมเบอร์ จะตกแต่งด้วยการแกะสลักลวดลายเครือเถาและฝังกระจกชิ้นเล็กๆ สะท้อนแสงสีที่แตกต่างและให้ภาพที่สวยงามแปลกตา แต่สีสันและชิ้นส่วนของกระจกเริ่มหลุดลอกและแตกหักเสียหายบ้างแล้ว ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่และสวยงามแค่ไหนวันหนึ่งมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอะไรเอาชนะกาลเวลาได้ นี่แหละที่เค้าว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เห็นแล้วก็คิดถึงเมืองโบราณที่สุโขทัยและอยุธยานะ ถ้าไม่ได้ถูกเผา แค่ย้ายเมืองหลวงหรือเสื่อมโทรมไปตามกาล น่าจะมีความยิ่งใหญ่ และสวยงามด้วยศิลปะในยุคนั้นให้ลูกหลานและชาวโลกได้เห็นได้สัมผัสมากกว่านี้ เหมือนกับที่เราได้เห็นในพระราชวังเก่าๆ ของอินเดียนะ

พวกเราเดินถ่ายรูปกันเหมือนกับอากาศตอนนี้มันสบายเสียเหลือเกินนะ ทั้งที่แดดร้อนแทบจะละลาย พอชมป้อมกันจนฉ่ำใจ เราก็ออกจากแอมเบอร์ฟอร์ท แล้วรีบไปที่ City Palace ก่อนที่มันจะปิดตอนห้าโมงเย็น City Palace เป็นพระราชวังแห่งใหม่ที่มหาราชา ไสว ชัย สิงห์ ที่ 2 ให้สร้างขึ้นใจกลางเมืองชัยปุระ และย้ายเมืองหลวงจากพระราชวังแอมเบอร์ มายัง City Palace ปัจจุบันภายใน City Palace เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงของใช้ส่วนพระองค์ของมหาราชาแห่งเมืองชัยปุระ แม้ยุคนี้จะไม่มีมหาราชาอีกต่อไป แต่ City Palace แห่งนี้ก็ยังเป็นสมบัติส่วนพระองค์ และชาวเมืองชัยปุระบางส่วนก็ยังนับถือพระองค์อยู่แม้พระองค์จะไม่มีอำนาจใดๆ แล้วก็ตาม

 

            ระหว่างทางไป City Palace เราผ่านพระราชวังกลางน้ำ เราเลยแวะถ่ายรูปกันหน่อย แต่ก็เจอกับการซ่อมบำรุงอีกแล้ว สงสัยจะเป็นฤดูซ่อมแซมจริงๆ แถมน้ำโดยรอบที่เคยล้อมพระราชวังกลางน้ำก็ไม่มี พื้นที่โดยรอบมีรถเข้าไปวิ่งได้ ความเป็นพระราชวังกลางน้ำเลยไม่มีให้เห็นซักนิด เราแวะดูของที่ร้านขายของที่ระลึกอีกแว๊บนึง เพราะสีสันของร่มหน้าร้านที่แตะตาสมาชิกของเราเข้าอย่างจังตั้งแต่ขาไป แต่พอรู้ราคาพวกเราก็แทบจะวิ่งออกจากร้าน ยิ่งเทียบกับราคาของที่เราเคยถามและซื้อมาก่อนหน้านี้ ยิ่งการันตีได้ว่าเค้าบอกราคาเราแพงมากๆ เห็นเราเป็นนักท่องเที่ยวคงกะจะเคี้ยวกันเต็มที่เลยแหละ เสียใจด้วยที่พวกเรารู้ทันน่ะ

  

            เรามาถึง City Palace ประมาณสี่โมงเย็น เหลือเวลาแค่ประมาณชั่วโมงเดียวที่จะได้เข้าไปชมในส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ด้านใน เราเลยต้องใช้บริการไกด์ท้องถิ่นของที่นี่ เพื่อให้เค้าอธิบายและพาชมในส่วนต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีเวลาไปเดินอ่านเองแล้ว แต่ถึงเราจะไม่รีบ ไกด์แขกก็อธิบายอย่างรวดเร็วมากๆ จนพวกเราเดินตามแทบไม่ทัน(ภาษาอังกฤษก็อ่อนแออยู่แล้ว ยิ่งสำเนียงแขกยิ่งไปกันใหญ่ แล้วยังจะรีบอธิบายอีก ตามไม่ทันน่ะ) ในพิพิธภัณฑ์นี้มีของสวยๆ และแปลกตามากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอายุเก่าแก่ทั้งสิ้น มีภาพวาดที่มองตามเราได้อยู่ 2 ภาพ พวกเราลองเดินสวนกันไปมา ก็เห็นแววตาของคนในภาพวาดมองตามจริงๆ มีห้องหนึ่งจัดเป็นห้องขายสินค้าพวกหัตถกรรมและภาพวาด มีการสาธิตการวาดภาพและระบายสีด้วยสีที่ฝนได้จากอัญมณีให้พวกเราดูด้วย ส่วนภาพที่ขายก็สวยๆ ทั้งนั้น แต่ราคาสูงมาก ซื้อไม่ไหวน่ะ

 

   

            ออกจากห้องขายของ ไกด์พาเราเข้าไปดูในส่วนที่เป็นเหมือนฝ่ายใน มีประตูสวยๆ ลวดลายวิจิตรงดงามแตกต่างกันอยู่ 4 ประตู ซึ่งเป็นทางเข้าออกของราชวงศ์ แต่เค้าแบ่งกันอย่างไรก็ไม่รู้นะ ที่รู้ก็คือชอบประตูที่นี่มากๆ สวยสุดๆ จริงๆ เราชอบประตูทุกบานของปราสาท พระราชวังในทริปนี้เลย เพราะดูยิ่งใหญ่และมีลวดลายที่สวยได้ใจ เราเลยได้รูปประตูมาเพียบ

  

            ไกด์พาเราเข้ามาในส่วนนี้เป็นส่วนสุดท้าย (ก่อนจะขอค่าแรงและรีบกลับบ้านไป) พวกเราเลยได้ใช้เวลาเก็บภาพบรรยากาศด้านนอกกันแบบสบายๆ โดยไม่ต้องรีบจ้ำตามคุณไกด์อีก เดินเก็บภาพและนั่งพักกันจนหายเหนื่อย พวกเราก็ออกจากซิตี้ พาเลสกัน แล้วเราก็ปิดฉากการท่องเที่ยวของวันนี้และนครแห่งนี้กัน ไปหาข้าวเย็นอร่อยๆ กินกันดีกว่า

            มื้อเย็นนี้ไม่ได้กลับไปกินอาหารที่โรงแรม เพราะไม่อยากกินแต่ผัก เราเลยหาร้านอาหารข้างนอกกินกัน และลูกทัวร์ของเราก็ได้กินอาหารแขกกันสมใจ แต่ที่ไม่ค่อยได้ดังใจก็ตรงน้ำขวดที่เอามาเสิร์ฟนี่แหละ ด้วยความที่พี่ปลาสอนมาดีว่าอย่ากินน้ำที่เค้าใส่เหยือกไว้ให้ เพราะมันเป็นน้ำที่เค้ากรอกจากก๊อกทั่วไป ไม่สะอาดพอสำหรับพวกเรา แต่พวกแขกน่ะเค้าชินแล้ว ท้องเค้ารับได้ แต่เราอยู่ไม่กี่วันยังปรับตัวไม่ได้เดี๋ยวจะมีปัญหา ต้องสั่งน้ำเปล่าที่บรรจุขวดมากินกันตลอด เราก็สั่งน้ำขวด(น้ำเปล่าบรรจุขวด)ตามปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือขวดที่เราเปิดมันเหมือนเปิดเกรียวมาแล้ว เพราะไม่รู้สึกว่าได้ยินเสียงเกรียวมันขาดเวลาหมุนเปิด แต่ก็ยังไม่แน่ใจคิดว่าเราอาจจะไม่ทันสนใจ เหมือนเปิดจนชินน่ะ เพราะอีกขวดหนึ่งมันก็มีเสียงเกรียวขาดปกติ แต่พอจิบเข้าไปก็รู้เลยว่ามันไม่ใช่น้ำในขวดปกติ เพราะรสชาติมันฟ้อง ให้พลอยช่วยชิม และชิมกันหลายๆ คนก็สรุปตรงกันว่าน้ำขวดแรกมันไม่ใช่น้ำเปล่าแบบบรรจุขวดแน่ๆ เลยเรียกพนักงานเค้ามาบอกให้เปลี่ยนขวดให้ เพราะขวดนี้ไม่ใช่ขวดใหม่ เกรียวมันเปิดไปแล้ว แขกคงไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ คงคิดว่าพวกเราเรื่องมาก แต่เราก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เค้าเล่นโกงกันแบบนี้มันไม่ยุติธรรม ค่าน้ำในร้านอาหารแบบนี้ก็ไม่ใช่ถูก แล้วยังจะมาลักไก่กันอีก สำหรับพวกเค้าคงคิดว่าน้ำเปล่ามันก็เหมือนๆ กัน แต่เรากินน้ำขวดมาเกือบเดือนจนจำรสชาติมันได้แล้วน่ะ

            ถึงจะไม่ค่อยสบอารมณ์เท่าไหร่เพราะเรื่องน้ำ แต่อาหารของร้านเค้าใช้ได้นะ ได้ลองชิมอาหารแขกหลายๆ อย่าง ที่ถูกใจน่าจะเป็นเมนูแกะนะ เพราะเนื้อเหนียวนุ่มและไม่คาวไม่เหม็นสาป พอกินข้าวเสร็จ ทีแรกว่าจะไปเดินเล่นตลาดแขกสักหน่อย แต่กว่าจะออกไปจากร้านก็มืดแล้ว ร้านรวงก็เริ่มปิด แต่ผู้คนก็ยังพลุกพล่านอยู่พอประมาณ สุดท้ายพวกเราเลยได้แต่นั่งรถชมตลาดเฉยๆ ไม่ได้ลงไปเดินอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะความเหนื่อยด้วย และห่วงเรื่องความปลอดภัยด้วย กลับเข้าที่พัก ไปนอนเอาแรงดีกว่า พรุ่งนี้ค่อยไปชมตลาดในเดลลีแทน

  

 

วันที่ 4   วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2550       

พระราชวังสายลม(Palace of the Wind) เดลลี (Delhi) – จามามัสยิด (Jama Masjid) ราชกัจ (Raj Gat) - เรดฟอร์ด(Red Fort)

                         

 

            นัดกันที่ห้องอาหารตามเวลาเดิม 6 โมงครึ่ง จัดการกับชุดอาหารเช้าปกติ ไข่เจียว ไข่ดาว ขนมปัง ชา กาแฟ เสร็จแล้วก็เก็บของใส่รถออกเดินทางสู่เดลลี เช้านี้บรรยากาศยังดูเงียบเหงา เห็นพนักงานกวาดถนนในชุดส่าหรีสีชมพูกำลังปฎิบัติงานกันอยู่อย่างขมักเขม้น และก่อนจะโบกมือลาชัยปุระ เราไปแวะถ่ายรูปที่พระราชวังสายลมในยามเช้าอีกครู่นึง ถึงจะรู้แล้วว่ามันเต็มไปด้วยนั่งร้านก็ตาม พระราชวังสายลม (Palace of the Wind) เป็นพระราชวังเดิมที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในตลาดใจกลางเมืองชัยปุระ จุดที่จะชมพระราชวังนี้ได้ดีที่สุด คือต้องข้ามถนนไปยืนชมจากฝั่งตรงข้าม และอีกฝั่งถนนนี่เอง ที่เราได้เห็นแขกเป่าปี่เรียกงูเป็นครั้งแรก ทั้งที่อยู่อินเดียมาเกือบเดือนแล้ว ดูไปถ่ายรูปไปและก่อนจะจากไปก็ต้องให้เงินเค้าเป็นค่าตอบแทนนิดหน่อย แต่กว่าจะเอาเงินเข้าไปส่งให้ก็ใช้เวลาตัดสินใจอยู่แป๊ปนึง เพราะกล้าๆ กลัวๆ เจ้างูสองตัวที่อยู่ในตะกร้าน่ะ

            เราต้องแวะระหว่างทางให้คนขับรถกินข้าวตอนประมาณ 10 โมงเหมือนเดิม แต่โรงแรม Gangaur Resort ที่เข้าไปแวะคราวนี้ ทำพวกเราอึ้งกว่าทุกที่ที่เคยผ่านมา เพราะเค้าขายของแพงมากๆ โค้กกระป๋องละ 70 รูปี น้ำอัดลมมิรินด้ารสมะนาว ขวดละ 40 รูปี พี่ปลาไปถามจะซื้อเลย์ที่ปกติถุงละ 20 หรือ 25 รูปีแบบเอากำไรหน่อย แต่ที่นี่บอกราคาถุงละ 80 รูปี โอ้พระเจ้าช่วยกล้วยทอด นี่มันปล้นกันหรือป่าวเนี่ย สรุปว่าไม่เอาเลย์ และยังดีที่สั่งน้ำแค่นี้ ของอย่างอื่นคงไม่ต้องพูดถึง คุณโซนุผู้ช่วยของเราก็ขยันพาเข้าแต่ร้านแพงๆ ประมาณว่าถ้าพามาแล้วมีคนซื้อของเค้าก็จะได้เปอร์เซ็นต์กินน่ะ ทุกอย่างล้วนเป็นเงินเป็นทองเป็นผลประโยชน์ของเค้าจริงๆ ยิ่งกว่าคนไทยหลายเท่า ถ้าเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวจะไม่ว่าซักคำ
            พอพลขับของเราอิ่มหนำสำราญเรียบร้อย เราก็ออกเดินทางกันต่อ มาถึงเดลลีช่วงกลางวันพอดี ได้เวลาอาหารอีกแล้ว มื้อนี้เรากินข้าวกันที่ร้าน
Lotus Garden เป็นร้านอาหารจีน รสชาติดีคุ้นลิ้นคนไทย แต่ติดจะมันไปสักหน่อยนะ พออิ่มกันแล้วเราก็เข้าที่พัก ที่โรงแรม Regent Continental ที่เดิมที่มานอนในคืนแรก เอาสัมภาระไปเก็บ แล้วก็เตรียมตัวเที่ยวเดลลีกันต่อเลย

 

            สถานที่แรกที่เราไปเยือนในเดลลีคือ จามา มัสยิด (Jama Masjid) เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย สร้างในยุคที่จักรวรรดิโมกุลเรืองอำนาจ สมัยที่ราชวงศ์โมกุลซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากเปอร์เซีย ปกครองอินเดีย จริงๆ ตั้งแต่เกิดมาเราก็ไม่เคยเข้ามัสยิดที่ไหนมาก่อนเลยนะ จามา มัสยิดเป็นแห่งแรกในชีวิตที่ได้เข้าไปเยือน ยิ่งใหญ่สมคำเล่าลือ และได้เห็นวิถีของชาวมุสลิมที่เราไม่เคยได้เห็น แปลกตา แปลกใจ แต่ก็ดูสงบและสบายดี เสียอย่างเดียวตรงที่พื้นบริเวณลานโล่งที่เค้าใช้ทำพิธีละหมาดกันนั้นร้อนมากๆ เพราะรับแสงแดดตลอดเวลา ยิ่งฤดูนี้ด้วยแล้ว สุดจะบรรยาย แต่ทุกคนต้องถอดรองเท้า และด้วยความกว้างใหญ่ของมัสยิด กว่าจะเดินจากฝั่งหนึ่งไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้ เท้าเกือบพอง ยังดีที่พวกเราใส่ถุงเท้ากันทุกคนนะ และเค้าก็ปูพรมเป็นทางเดินเล็กๆ ไว้ให้ด้วย แต่มันก็เล็กมาก แบบว่าสวนกันไม่ได้น่ะ เวลาเดินหลีกกันก็ต้องมีคนหลบลงไปนอกพรมอยู่ดี แต่อากาศไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อพลังศรัทธาจริงๆ นะ ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม อย่างที่เราไปไหว้พระในเส้นทางสังเวชนียสถานทั้ง 4 อากาศร้อนถึง 45 องศาในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แต่ก็ยังมีผู้ศรัทธาที่ตั้งใจจะไป โดยไม่หวั่นไหวต่ออากาศภายนอก และครั้งแรกที่เรามาอินเดียเป็นช่วงฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ ไปล่องแม่น้ำคงคาดูพิธีบูชาพระอาทิตย์และอาบน้ำล้างบาป ขนาดเราอยู่บนเรือยังแทบสั่น แต่ชาวฮินดูลงไปอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของเค้าเป็นปกติ ชาวมุสลิมที่นี่ก็คงเหมือนกัน แม้จะร้อนเพียงใด แต่พลังศรัทธาก็เอาชนะได้ทุกอย่าง

 

 

 

            พวกเราเดินถ่ายรูปในมัสยิดกันได้พักใหญ่ ก่อนจะออกเดินทางสู่จุดหมายต่อไป จากมัสยิดนี้มองเห็นเรดฟอร์ท อยู่ไม่ไกลนัก แต่จุดหมายต่อไปของเราไม่ใช่ที่เรดฟอร์ท (เพราะเราจะเข้าไปที่เรด ฟอร์ทกันตอนค่ำ เพื่อไปชมการแสดงด้วย) เราจะไปต่อกันที่ ราชกัจ (Raj Gat – Gandhi Memorial Musuem) ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานอันสงบร่มเย็นของท่านมหาตมะ คานธี มีการจุดประทีปบูชาไว้ตลอดเวลา และโรยกลีบดอกไม้หลากสีเป็นมาลาบูชาด้วย ที่ราชกัจมีผู้คนเข้ามาอยู่เนื่องๆ มาแล้วก็ไป เหมือนแค่แวะมาทักทาย ประมาณว่ามาเยือนถึงบ้านท่านก็ต้องมาทำความเคารพเจ้าของบ้าน พวกเราก็เช่นเดียวกัน แล้วก็ถือโอกาสนั่งพักใต้ร่มเงาไม้ให้คลายร้อนด้วยเลย

 

 

เวลาผ่านไปสักพัก พวกเราออกจากราชกัจ แล้วไปช็อปปิ้งที่ตลาด รัชปาทร์ นาการ์ (Lajpat Nagar) ตลาดนี้มีของขายมากมายเป็นตลาดทั่วไปที่ชาวบ้านเค้ามาซื้อของกัน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกผ้าผืนและเสื้อผ้า ราคาต่อรองแทบไม่ได้ เพราะเค้าบอกราคาเหมือนขายชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้บอกผ่านเป็นราคานักท่องเที่ยว และสาวผึ้งนักช็อปของเราก็โดนผ้าไปหลายตังค์ทีเดียว ใช้เวลากับการช็อปนานไปหน่อย กว่าจะได้ออกมากินข้าวเย็นก็เกือบทุ่มหนึ่งแล้ว วันนี้ต้องรักษาเวลาหน่อย เพราะยังมีโปรแกรมไปดู การแสดงแสงสีเสียง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอินเดีย โดยมี เรดฟอร์ด (Red Fort) เป็นฉากรออยู่ แต่ทีแรกโซนุบอกเราว่าการแสดงจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 1 ทุ่ม เลิกประมาณ 5 ทุ่ม พวกเราก็เลยคิดว่ามันมีตั้งนาน ไม่ต้องรีบไปก็ได้มั้ง เข้าช้าหน่อยคงไม่เป็นไร แต่พอเอาเข้าจริง สรุปว่าโชว์มีตอน 1 ทุ่ม เลิก 3 ทุ่ม กว่าจะกินข้าวเมาท์แตกกันเสร็จ ไปถึงหน้าเรดฟอร์ทก็จะ 3 ทุ่มแล้ว เริ่มมีคนทยอยเดินออกมา แสดงว่าโชว์จบเรียบร้อย พวกเราเลยได้แต่ชมความยิ่งใหญ่ของเรดฟอร์ทยามค่ำคืนแทน จะถ่ายรูปก็ยังโดนยามมาห้ามไม่ให้ใช้ขาตั้งกล้อง และแทบทุกสถานที่ท่องเที่ยวในอินเดีย ห้ามใช้ขาตั้งกล้องเหมือนกันหมด ไม่รู้ว่าทำไม แต่เค้าห้ามก็ต้องทำตาม แล้วก็จำไว้เลยว่าไม่ต้องพกขาตั้งกล้องมาอินเดียแล้ว

เรดฟอร์ด (Red Fort) เป็นป้อมปราการและพระราชวังในราชวงศ์โมกุล สร้างโดยกษัตริย์ชาห์ จาฮัน เป็นป้อมปราการและพระราชวังที่ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความโอ่อ่าและพลังอำนาจ ตั้งอยู่หลังกำแพงหินทรายสีแดงเหมือนกับอัคราฟอร์ท เราไม่ได้เข้าไปชมความยิ่งใหญ่ของเรดฟอร์ทด้านใน แต่คิดว่าคงไม่ต้องมาซ่อมในตอนเช้าพรุ่งนี้ เพราะหลายคนบอกว่าถ้าไปอัคราฟอร์ทมาแล้ว เรดฟอร์ทก็คล้ายๆ กันแหละ อัคราฟอร์ทซึ่งเป็นต้นแบบจะสวยและยิ่งใหญ่กว่าด้วย

ออกจากเรดฟอร์ท เราก็กลับเข้าที่พักกัน เก็บแรงไว้ตะลุยเดลลีต่อพรุ่งนี้ และแวะช็อปปิ้งก่อนกลับบ้านด้วย

 

 

วันที่ 5   วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2550                  

นิวเดลี (New Delhi) – อินเดียเกท (India Gate) – กุตุปมีนาร์ (Tower of Victory) - พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (National Museum) - บ้านนางอินทิรา คานธี

 

 

            เช้านี้พวกเราตื่นกันสายหน่อยนะ เพราะไม่ต้องนั่งรถ 5 ชั่วโมงเปลี่ยนเมืองเหมือนทุกวัน เรานัดกันที่ห้องอาหารตอน 7 โมงเช้า จัดการมื้อเช้าแล้วก็ออกไปตระเวณเที่ยวเดลลี ที่แรกที่พวกเราไปคือบริเวณทำเนียบประธานาธิบดี และ โลกสภา หรือรัฐสภา ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมอังกฤษ แต่แค่วนรถดูนะ เพราะเค้าห้ามจอดรถบริเวณนี้น่ะ แล้วเราก็ไปต่อกันที่อินเดียเกท (India Gate) ประตูชัยที่สร้างขึ้นเลียนแบบประตูชัยของปารีส เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่วันนี้ฟ้าหม่นอีกแล้ว เลยไม่ได้รูปอินเดียเกทตอนฟ้าใสๆ เลย เสียดายจัง

            จากอินเดียเกท ก่อนจะเข้าไปรับพระอาจารย์อ้ายที่บ้านพัก พลขับจอดรถให้พวกเราลงไปถ่ายรูปที่วัดฮินดู ลักษมีนารายณ์ยัน แต่ที่นี่ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมของเรา เลยไม่รู้ข้อมูลนัก และไม่ได้เข้าไปข้างใน เพราะมีอีกหลายที่รออยู่ เราไปรับพระอาจารย์ และนิมนต์พระอาจารย์ไปเป็นไกด์กิติมศักดิ์ ในฐานะคนพื้นที่(ที่อยู่มานาน) พระอาจารย์จะได้นำสวดมนต์สักการะพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอินเดียด้วย และก่อนจะไปเที่ยวกันต่อ ก็ต้องกินข้าวกลางวันกันเร็วหน่อย เพราะพระอาจารย์ต้องฉันท์เพล เราก็เลยไปกินอาหารกลางวันกันที่ร้าน Lotus Pond แต่ที่นี่ทำอาหารไทยได้หลายอย่าง รสชาติดี มีแม้แต่แกงกะทิ ค่อยรู้สึกดีขึ้นมาหน่อย หลังจากกินอาหารจีนมาหลายมื้อ

  

            พออิ่มข้าวกันแล้ว เราก็ไปย่อยอาหารกันที่ หอสูง กุตุป มีนาร์ (Tower of Victory) เป็นหอคอยแห่งชัยชนะ สูง 72.5 เมตร สัญลักษณ์ของกรุงเดลลี ที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยของชาวมุสลิมบนแผ่นดินอินเดีย พระอาจารย์เล่าว่าหอคอยแห่งนี้เดิมสร้างโดยชาวฮินดู พอมุสลิมเข้าปกครองก็สร้างต่อเติมให้สูงขึ้นไปอีก แต่พอยุคที่อังกฤษปกครอง เกิดแผ่นดินไหวและหอคอยพังลงมา อังกฤษจึงได้ซ่อมแซมและสร้างให้สูงขึ้นไปอีก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน สูงเสียดฟ้าอลังการงานสร้างจริงๆ

  

ใกล้กับหอคอยมีมัสยิดเก่าแก่ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง โดยบริเวณนี้เรียกว่า กุตุป คอมเพล็กซ์ ซึ่งองค์การยูเนสโกของสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม บริเวณโดยรอบมีงานแกะสลักหินสวยๆ มากมาย ถ่ายรูปกันสนุกไปเลย มีอยู่มุมหนึ่งที่คุณป้าชาวอินเดียคอยบอกให้นักท่องเที่ยวนั่งลงแล้วมองดูหอสูงจากช่องประตู ประมาณว่าเป็นมุมที่สวยหรือมุมยอดฮิตก็ไม่รู้แหละ แล้วแกก็ขอตังค์ค่าแนะนำ แต่หลายคนก็จะงงๆ ว่าทำไมต้องให้นั่งลงแล้วแหงนขึ้นไปมอง เราก็งงเหมือนกัน สรุปว่าคำตอบอยู่ที่รูปบนหน้าปกหนังสือไกด์บุ๊คที่ขายอยู่ด้านหน้านี่แหละ เป็นรูปของหอคอยที่ถ่ายจากมุมนั้นเลย โดยมีขอบประตูเป็นฉากหน้า เอากับเค้าซิ แค่นี้ก็หากินได้นะ

  

จากกุตุป มีนาร์ เราก็ไปต่อกันที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอินเดีย (National Museum) ค่าเข้าชมสำหรับนักท่องเที่ยวคนละ 300 รูปี ถ้าจะถ่ายรูปก็ต้องเสียค่ากล้องอีก 300 รูปี แพงเอาเรื่องอยู่นะ แต่ถ้าเป็นคนอินเดียหรือเป็นนักเรียนนักศึกษาไม่ว่าจะชาติไหนก็ตาม จะเสียค่าเข้าแค่คนละ 20 รูปี ค่ากล้องก็ 20 รูปีเหมือนกัน งานนี้ก็เลยต้องใช้วิชามารเล็กน้อย คือเราจ่ายค่าเข้าคนละ 300 ตามปกติ แล้วให้พระอาจารย์ใช้สิทธิ์นักศึกษาจ่ายค่ากล้องให้ พอเข้าไปข้างในพระอาจารย์ก็คืนกล้องให้เราถ่ายต่อ ยังคิดอยู่ว่าถ้าต้องไปบ่อยๆ แบบว่าพาลูกทัวร์คณะต่อๆ ไปมาเที่ยว เราน่าจะไปทำบัตรนักศึกษาไว้สักใบนะ หรือจะไปสมัครเป็นนักศึกษาที่รามคำแหงกันดีนะ

  

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอินเดียใหญ่โตกว้างขวางและมีสมบัติล้ำค่าของชาติมากมายจัดแสดงอยู่ ความจริงถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์อื่นๆ เค้าก็ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปไปเลย แต่ที่นี่เค้าเก็บค่ากล้องแพงแลกกับการอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ ก็ถือว่าคุ้มนะ กับความยิ่งใหญ่ สวยงามและของล้ำค่าหายากที่เป็นสมบัติของชาติเค้า เราใช้เวลาอยู่ในพิพิธภัณฑ์นานพอสมควร จนมาถึงห้องที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระอาจารย์นำสวดมนต์ในห้องนี้ ซึ่งเป็นห้องเดียวที่อนุญาตให้สวดมนต์ได้ ชาวพุทธที่มาเที่ยวเดลลี มักจะเข้ามากราบนมัสการและสวดมนต์บูชาพระบรมสารีริกธาตุกันที่นี่

  

ออกจากพิพิธภัณฑ์เราไปที่อดีตบ้านพักของนางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi Memorial Museum) ปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในมีการแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว ชุดส่าหรีที่มีรอยคราบเลือดจากวันที่ถูกรอบสังหารในปี 1984 ภาพถ่ายต่างๆ รวมถึงสถานที่อันเป็นจุดที่นางอินทิรา คานธี ล้มลงในนาทีที่ถูกลอบยิง บ้านหลังนี้เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความเศร้าเลย เพราะเป็นที่รวบรวมเรื่องราวของนางอินทิราและลูกชายอีก 2 คนที่เสียชีวิตลงด้วยชะตากรรมที่ต่างกัน นางอินทิรา ถูกยิงตายโดยบอร์ดี้การ์ดส่วนตัวของนางเอง ภายในบ้านตัวเอง ทั้งที่บ้านควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด การถูกลอบสังหารนั้นแย่พอแล้ว แต่มันรู้สึกแย่ยิ่งกว่าหลายเท่าที่เกิดขึ้นในบ้าน ในสวนของบ้าน และโดยคนที่เราไว้ใจ ฝากชีวิตไว้ให้เค้าดูแล ส่วนลูกชายของนางอินทิรา คนหนึ่งก็เครื่องบินตกตาย อีกคนที่เล่นการเมืองดำเนินรอยตามแม่ก็ตายเพราะมือระเบิดฆ่าตัวตาย ที่นี่เลยเป็นเสมือนอนุสรณ์ของความสูญเสียและความเศร้า ราวกับโดยคำสาป ลูกหลานของตระกูลที่เหลืออยู่เลยไม่มีใครเลือกเดินเส้นทางสายการเมืองอีกเลย

  

จากบ้านนางอินทิรา ก็ได้เวลาไปช็อปปิ้งหาซื้อของฝากกันแล้ว เป้าหมายของเราอยู่ที่ย่านจันปาทร์ แหล่งรวมสินค้าและละลายทรัพย์ของนักท่องเที่ยว ของที่นี่มีหลากหลาย ราคาต่อรองได้แบบครึ่งต่อครึ่ง เพราะเค้าบอกราคานักท่องเที่ยวค่อนข้างสูงทีเดียว แต่ละร้านก็บอกราคาไม่เท่ากันนะ เดินถามไปเรื่อยๆ หลายๆ ร้านแล้วจะรู้ว่าบางร้านบอกผ่านกันเยอะจริงๆ ของอย่างเดียวกัน ร้านหนึ่งบอก 40 รูปี เดินถามต่อไป บางร้านบอก 50 บางร้านบอกถึง 150 ก็มี แต่สุดท้ายเราซื้อมาได้ในราคา 2 ชิ้น 60 รูปี แล้วสมาชิกของเราก็ต่อแหลก ช็อปกันสนุกสนานอีกตามเคย ซื้อกันจนวินาทีสุดท้ายที่จะต้องขึ้นรถ เพราะต้องรักษาเวลาหน่อย เดี๋ยวไปเช็คอินไม่ทัน จะตกเครื่อง อดกลับบ้านกันหมด

พวกเรามาส่งพระอาจารย์ที่บ้านพักและขออนุญาตใช้ห้องน้ำ เพื่อล้างหน้าล้างตาเตรียมตัวทำสะอาดสวยกลับบ้าน และมาเอาของที่ฝากพระอาจารย์ไว้ด้วย พระอาจารย์ก็ฝากของกลับมาเมืองไทย เพื่อฝากให้น้องสาวที่กรุงเทพฯ ด้วย เตรียมตัวแพ็คของกันเรียบร้อย เราก็นมัสการลาพระอาจารย์ ไกด์กิติมศักดิ์ของพวกเรา ก่อนจะเข้าไปที่สนามบิน เราแวะกินข้าวเย็นกันก่อน เพราะเครื่องออกเกือบเที่ยงคืน กินข้าวเสร็จก็มุ่งหน้าสู่สนามบิน (มีแวะซื้อหมากซองให้พี่ปราชญ์ระหว่างทางแป๊ปนึง เพราะพี่ท่านติดใจ หลังจากได้ลองกินหมากจากโซนุ แขกเค้ายังเคี้ยวหมากแล้วบ้วนน้ำหมากกันอยู่เลย มีทั้งหมากสด และหมากซองหลากกลิ่นหลายรสให้เลือกตามแต่ชอบ) เข้าไปถึงสนามบินประมาณ 3 ทุ่มได้

เราบอกลากับโซนุและพลขับเรียบร้อย ขนของเข้าไปเช็คอินกัน ทุกอย่างเรียบร้อยดี ที่ไม่เรียบร้อยก็คือตั๋วของเรากับพี่ปลา ที่จะเลื่อนจากวันที่ 26 มาเป็นวันที่ 24 มิถุนาเพื่อจะได้กลับบ้านพร้อมกับสมาชิก ทั้งที่คอยโทรเช็คอยู่เรื่อยๆ ตลอดหลายวันที่ผ่านมา จนต้องมารอลุ้นกันที่สนามบินอีกที เพราะเราเป็นรายชื่อ Waiting list ลำดับที่ 4 และ 5 แต่สุดท้ายตั๋วก็เลื่อนไม่ได้ ที่นั่งเต็มเอียด แล้วกว่าจะรู้ผลว่าไม่ได้ที่แน่ๆ ก็ปาเข้าไป 5 ทุ่มครึ่งแล้ว สรุปว่าเรามาส่งลูกทัวร์ขึ้นเครื่องกลับบ้านเรียบร้อย ผึ้งกับพี่ปราญช์ กลับเครื่องการบินไทย เครื่องออกตอน 23.30 ถึงสุวรรณภูมิตี 5 กว่าๆ ส่วนพลอยกลับเครื่อง Indian Airline ออกตอน 00.50 น. ถึงสุวรรณภูมิ 6.15 น. ส่วนเราสองคนต้องนอนคอยเครื่องบินกลับบ้านอยู่ในเดลลีอีก 2 วัน แต่ก็ดีที่ทุกอย่างสำหรับลูกทัวร์ของเราเรียบร้อยดี ปิดทริปด้วยรอยยิ้มและความพอใจของทุกคน

ขอบคุณที่มาร่วมเดินทางกับเรา และขอบคุณที่ทำให้เส้นทางของวันแรมทางในวันนี้ มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น หวังว่าการมาเยือนอินเดียครั้งแรกนี้ ทุกคนจะกลับไปพร้อมความสุขและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้เห็น ได้สัมผัสด้วยตัวเอง โลกใบนี้กว้างใหญ่ แต่มันก็ไม่กว้างเกินไปนะ แค่เราเปิดใจ โลกทั้งใบก็เป็นของเรา หาโอกาสให้ตัวเองออกไปท่องโลกกว้างๆ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ชีวิตกันนะ

 

 

            เรากับพี่ปลากลับไปนอนที่ทิเบตแคมป์กัน แล้ววันนี้ก็ตื่นสายโด่ง เพราะไม่มีโปรแกรมจะทำอะไรแล้ว พอกลางวันก็โทรหาลูกทัวร์ว่าการเดินทางเรียบร้อยดีมั้ย สรุปว่าทุกคนกลับถึงสุวรรณภูมิตามเวลา และถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ ทริปนี้ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์แล้ว

            เราสองคนมีเวลาเตรดเตร่อยู่ในเดลลีอีก 2 วันเต็มๆ (24 – 25 มิถุนา) โดยไม่มีโปรแกรมจะไปเที่ยวไหนต่อ เพราะความเหนื่อยที่สะสมมาเกือบเดือน ก็เลยได้โอกาสพักผ่อนไปในตัว แล้วก็ไปเดินเล่นหาซื้อของฝากกันแถวคอนนอร์ท เพลส ได้ของที่ผึ้งฝากซื้อเพิ่ม หลังจากที่เพิ่งซื้อกลับไปแล้วรู้สึกว่าซื้อน้อยไปหน่อย เดี๋ยวแจกไม่ทั่ว ส่วนพี่ปราญช์ ติดใจหมากแขก เลยฝากซื้อเพิ่มอีกชุดใหญ่ น้องพลอยไม่ได้ฝากซื้ออะไรเพิ่ม เพราะซื้อกลับไปเยอะแล้ว

            นอกจากคอนนอร์ทเพลส เราขึ้นรถไปที่ตลาดขายของสด พวกผัก ผลไม้ และอาหารการกินอื่นๆ อีกสารพัด ด้วยความตั้งใจจะไปหาซื้อเชอร์รี่ ซึ่งได้ลองชิมก่อนหน้านี้แล้วถูกใจมากๆ แล้วเราก็ได้เชอร์รี่มาเป็นของฝากแม่ๆ สมดังใจ หลังจากได้ของที่จะเอาไปฝากและของที่ฝากซื้อตามรายการเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็เหลือแค่จัดของลงกระเป๋าให้เรียบร้อย พร้อมสำหรับการเดินทาง (และลุ้นว่าน้ำหนักมันคงไม่เกินนะ) 

            เราติดต่อให้ทางที่พักเรียกรถมารับเราไปสนามบินตามเวลานัดหมาย และเช็คเอาท์ออกจากที่พักในค่ำวันที่ 25 มิถุนา ด้วยความเรียบร้อยดี ไปถึงสนามบินก็เช็คอิน และโหลดกระเป๋าซึ่งน้ำหนักไม่มีปัญหา จากนั้นก็แขวนรอเวลาเครื่องออกอยู่ในสนามบินอีกหลายชั่วโมง นั่งๆ เดินๆ กินๆ ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานจริงๆ นะ การรอคอยเนี่ย และในที่สุดเราก็ได้ขึ้นเครื่องกลับสู่มาตุภูมิตามเวลา และมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสวัสดิภาพ สิ้นสุดการเดินทางที่ยาวนานในครั้งนี้ กับมุมมองใหม่ๆ บนโลกใบเดิม ที่แคบลงอีกนิดหนึ่งแล้ว....สวัสดีเมืองไทย คิดถึงจังเลย J

 

 

ใครสนใจจะไปตามรอยกับเรา ติดต่อได้ที่นี่ "วันแรมทาง"

 

 

 แสดงความคิดเห็น
ติชมบทความ คลิ้กที่นี่ค่ะ

 

 

 




บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang