สัมผัสหิมาลัย ในดินแดนทิเบตน้อย
ReadyPlanet.com
dot dot
สัมผัสหิมาลัย ในดินแดนทิเบตน้อย article

เรื่องและภาพ โดย
นุ้ย.. สาริศา ชาวบ้านเกาะ
ปลา.. ชนิตา กัลยาณมิตร

 

 สูงสุดในชีวิต 18,380 ฟิต ณ ดินแดนทิเบตน้อย เลห์-ลาดัคห์

สู่สวรรค์บนดิน แคชเมียร์-ศรีนากา

วันที่ 26 กันยายน 8 ตุลาคม 2550

 

 

ทิเบตน้อย เลห์-ลาดัคห์ เป็นดินแดนบนที่ราบสูงตอนปลายของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีหิมะปกคลุมเกือบตลอดทั้งปี อยู่ในรัฐ Jammu & Kashmir รัฐเหนือสุดของประเทศอินเดีย มีเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นที่ดินแดนแห่งนี้จะเปิดรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ด้วยภูมิประเทศที่อยู่สูงเสียดฟ้าจนทำให้หลายคนมีปัญหาเรื่องการแพ้ความสูง และภูมิอากาศที่เย็น หนาวถึงหนาวมากจนต้องปิดเมืองในช่วงฤดูหิมะตก แต่เสน่ห์ของเลห์ ที่มีเทือกเขาสูงหลากสีสรรตัดกับสีฟ้าใสๆ และมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนอารยธรรมเก่าแก่ของชนชาวทิเบตให้สัมผัส ก็ทำให้ดินแดนแห่งนี้เป็นจุดมุ่งหมายของใครหลายๆ คน

ส่วนดินแดนแคชเมียร์ ก็น่าหลงไหลจนได้ชื่อว่าสวรรค์บนดิน เพราะเต็มไปด้วยความสวยงาม และอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทั้งทุ่งหญ้าเขียวขจี ดอกไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ ธารน้ำตกที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งจากภูเขาหิมะ เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่เย้ายวนให้เราอยากไปสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง

การเตรียมตัวเดินทางทริปนี้ค่อนข้างจะวุ่นวายอยู่ เพราะเพิ่งกลับมาจากพาคณะไปไหว้พระ มีเวลาจัดการงานที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วัน แต่มีเรื่องต้องทำมากมาย แล้วก็ต้องออกเดินทางไปสำรวจทริปนี้ต่อเลย กลับจากทริปคราวนี้ก็มีลูกค้าคณะแรกของทริปเลห์-แคชเมียร์รออยู่ด้วย เลยต้องยุ่งทั้งเตรียมงานสำหรับคณะลูกค้า เตรียมของสำหรับการผจญภัยครั้งใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง และเตรียมร่างกายตัวเองให้พร้อมสำหรับทริปสำรวจเส้นทางที่สูงที่สุดในชีวิต

การเดินทางทริปสำรวจนี้ นอกจากทีมวันแรมทาง คือนุ้ย (ซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทพฯ) และพี่ปลา (ที่นั่งรถไฟจากคยาไปรออยู่เดลลี หลังจากส่งนุ้ยกับคณะไหว้พระกลับแล้ว) ยังมีสมาชิกร่วมเดินทางจากเมืองไทยอีก 2 คน คือ พี่เสก ซึ่งสมัครมาเป็นคนแรก และรอพร้อมเสมอสำหรับการเดินทาง แม้ว่าทริปจะเคยล่มไปครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ ส่วนอีกคนคือ พี่หน่อย ที่เข้ามาแบบวินาทีสุดท้าย ตอนที่เราคิดว่าคงไม่มีใครมาเพิ่มแล้ว เพราะส่วนใหญ่ติดปัญหาเรื่องเวลา ซึ่งหลายวันเกินกว่าจะลางานได้ แล้วก็มีน้องๆ นักศึกษาที่เรียนอยู่ที่อินเดียอีก 2 – 3 คนที่จะไปร่วมทริปกับพวกเราด้วย

 

วันแรก  พุธที่ 26 กันยายน 2550 ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่กรุงนิวเดลี (New Delhi)

            เรานัดรวมพลที่สนามบินสุวรรณภูมิตอน 11 โมง พอเจอหน้ากันและเห็นกระเป๋าเดินทางของแต่ละคนแล้ว สาวๆ อย่างเราและพี่หน่อยถึงกับอึ้งกับขนาดกระเป๋าของพี่เสกไปเลย เพราะใบใหญ่มากๆ เห็นแล้วนึกถึงลูกหาบแถวภูกระดึงเลย และน้ำหนักของกระเป๋าใบเดียวของพี่เสกก็ปาเข้าไป 22 กิโล พี่ท่านไม่เผื่อว่าจะต้องแบกเองบ้างเลยรึไงนะ ก็บอกแล้วนะว่าทริปสำรวจ คงไม่สบายนัก อาจจะต้องช่วยเหลือตัวเองมากหน่อย อาจต้องแบกของเองบ้างในบางช่วง แต่พี่เสกบอกว่าสามารถ และแกก็สามารถจริงๆ จนได้ฉายาจากพี่หน่อยว่า ลูกหาบ ซึ่งชื่อนี้มีที่มามากกว่าแค่เรื่องกระเป๋า

พวกเราเดินทางโดยสายการอินเดียน แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ IC 854 พอ Check in เรียบร้อย ระหว่างรอเวลาขึ้นเครื่อง ก็เลยชวนกันไปหาของกิน เสร็จแล้วก็เข้าไปเดินดูของปลอดภาษีใน Duty Free กัน ยังไม่ทันได้ไปไหนพี่หน่อยก็เสียตังค์ค่าน้ำหอมเสียแล้ว แววนักช็อปออกตั้งแต่ต้นทางเลย แถมยังมีเวลาเดินดูของนานขึ้นกว่าปกติอีก เพราะเครื่องบินดีเลย์ จากเวลาเดิม 13.25 น. ไปเกือบชั่วโมง ใช้เวลาบินราว 4 ชั่วโมง ถึงเดลลีก็เกือบ 6 โมงเย็นตามเวลาประเทศอินเดีย ซึ่งช้ากว่าประเทศไทยชั่วโมงครึ่งพอดี พวกเราผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองของอินเดียและรับกระเป๋าเรียบร้อย ออกมาก็เจอพี่ปลามารอรับอยู่แล้ว ต่อแท็กซี่จากสนามบินไปที่พักในคืนนี้แถวทิเบตแคมป์ หรือที่แขกเค้าเรียกว่า Majnu Katila (มัจนู กาติล่า) ค่าแท็กซี่จ่ายที่บูธ Pre Paid ราคา 350 - 400 รูปี แล้วแต่จำนวนกระเป๋า เราจ่ายไป 388 รูปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องมีเศษ 8 รูปีด้วย

ที่พักแถวทิเบตแคมป์มีหลายแห่ง ราคาถูก และสภาพพอใช้ บรรยากาศภายนอกอาจจะไม่ค่อยน่าอยู่เท่าไหร่ เหมือนอยู่ในหมู่บ้านธรรมดาของชาวทิเบตอพยพ แต่พอเข้าไปในโรงแรมที่พักแล้ว ก็สะอาดและเงียบสงบดี พวกเราพักกันที่ Wongdhen House ราคาคืนละ 350 รูปี สำหรับห้อง Triple room ของสาวสาม (จริงๆ ก็เป็นห้อง Double room นั่นแหละ ปกติถ้านอนสองคนก็คืนละ 300 รูปี แต่พอเรานอนสาม ก็เลยเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย สงสัยคิดค่าน้ำน่ะ) ส่วนห้องของหนุ่มหนึ่งเดียวในทริป เป็นห้อง Single room ราคาคืนละ 125 รูปี เข้าที่พักเก็บของกันเรียบร้อยแล้วก็ลงมากินอาหารเย็นที่ห้องอาหารข้างล่างที่พักกัน รสชาติอาหารใช้ได้ ราคากันเอง มีทั้งอาหารจีน อาหารทิเบต และอาหารแขก หลังจากท้องอิ่ม ก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน พรุ่งนี้เรามีเวลาท่องเดลลี 1 วันเต็มๆ เพราะรถบัสจากเดลลีไปมะนาลี จะออกตอนหกโมงเย็น

 

วันที่ 2   พฤหัสที่ 27 กันยายน 2550         นิวเดลี(New Delhi) มะนาลี(Manali)

   

            ออกจากโรงแรมกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพื่อไปเที่ยวอินเดียเกท ก่อนที่คนจะเยอะ เราเรียกสามล้อสองคันจากทิเบตแคมป์ไปที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือที่แขกเค้าเรียกว่า Metro(เมโทร)” ที่สถานี Vidhan Shuba แล้วต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองไปสุดสายที่สถานี Central Secretariat เสียค่ารถไปคนละ 11 รูปี ถูกมากๆ ถ้าเทียบกับบ้านเรา ยิ่งพูดถึงระยะทางยิ่งถูกใหญ่ เพราะไกลกันมากถ้าต้องนั่งรถไปตามถนน ปัจจุบันรถไฟฟ้าในเดลลีมีสามสายทาง กระจายอยู่เกือบทั่วทั้งเมือง และยังคงก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกหน่อยคงใช้รถไฟฟ้าไปถึงได้ทั่วทั้งเดลลี เราออกจากสถานีรถไฟฟ้า แล้วต่อแท็กซี่อีก 30 รูปี ไปหน้าอินเดีย เกท (India Gate) ประตูชัยที่สร้างขึ้นเลียนแบบประตูชัยของปารีส เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงทหาร 90,000 นาย ที่สละชีพในสงครามโลกครั้งที่ 1 เดินถ่ายรูปเล่นกันได้พักนึงก็เรียกแท็กซี่ไปเที่ยวต่อที่หอคอย กุตุป มีนาร์ (Tower of Victory) ที่ได้ชื่อว่า Landmark of India เป็นหอคอยแห่งชัยชนะ สูง 72.5 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 1736 โดยสุลต่านกุตับบิด ดิน ไดเบค เพื่อฉลองชัยชนะของพระองค์เหนือเหล่ากษัตริย์ฮินดู และสร้างต่อเติมภายหลังโดยมหาราชาปฤถวีราช กษัตริย์ฮินดูพระองค์สุดท้ายของอินเดีย ที่นี่เสียค่าเข้าชมคนละ 5 ดอลล่าร์

 

 

เดินเที่ยวกันพักใหญ่ เริ่มหิวกันแล้ว เพราะเช้ายังไม่ได้กินข้าวเลย แต่นี่สิบโมงแล้วร้านค้าส่วนใหญ่ยังไม่เปิดเลย สุดท้ายเลยไปฝากท้องที่ร้านแม็คโดนัลล์ แล้วก็ต้องจัดการเรื่องตั๋วขากลับกันต่อ ตั๋วเครื่องบินของอินเดียน แอร์ไลน์ จะต้องยืนยันหรือคอนเฟิร์มตั๋วก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 วัน แต่กว่าออฟฟิตของอินเดียน แอร์ไลน์ที่อยู่แถว คอนนอร์ท เพลส(Connaught Place) จะเปิดให้คอนเฟิร์มตั๋วรอบบ่ายได้ ก็ต้องรอถึงบ่ายสองโมง (เวลาคอนเฟิร์มตั๋วรอบบ่าย14.00 -17.00 น.) ระหว่างนั้นพวกเราก็เลยไปเดินเล่นและช็อปปิ้งแถวตลาดย่านจันปาทร์กัน พอเข้าโปรแกรมช็อปทุกอย่างก็เหนือการควบคุม เสียเวลากับการช็อปกันนานกว่าที่คิด จากที่ตั้งใจว่าจะไปเที่ยวจามา มัสยิด(Jama Masjid) กันต่อ ก็ไม่ทันแล้ว เอาของที่ซื้อมาไปฝากไว้ที่บ้านพระอาจารย์อ้าย (พระนักศึกษาไทย ที่มาต่อปริญญาเอกอยู่ในมหาวิทยาลัยเดลลี) จะได้ไม่ต้องแบกไปเที่ยวด้วย แล้วค่อยมาแวะเอาของตอนขากลับ เสร็จแล้วก็รีบกลับที่พักไปอาบน้ำ กินข้าว และเก็บของกันอย่างด่วน เพราะกลัวไปขึ้นรถไม่ทันหกโมงเย็น ระหว่างกินข้าว น้องต่าย นักศึกษาไทยที่มาเรียนต่อปริญญาโทในเดลลี สมาชิกอีกหนึ่งคนในทริปนี้ก็มาสมทบ จริงๆ จะมีเพื่อนต่ายอีกคนหนึ่งด้วย แต่ชิงป่วยไปเสียก่อน เลยอดเที่ยว 


 

ออกจากทิเบตแคมป์ แบกเป้เดินข้ามถนนมาขึ้นรถบัสในปั๊มฝั่งตรงข้าม รถบัสที่เราฝากให้พระอาจารย์อ้ายจองไว้ให้ เป็นรถนอนสองชั้น สภาพพอรับได้ ชั้นบนเป็นเตียงนอน ฝั่งหนึ่งนอนสองคน อีกฝั่งนอนคนเดียว ส่วนชั้นล่างมีทั้งแบบนั่งและแบบนอน พวกเราอุตส่าห์รีบกันแทบตาย สุดท้ายรถก็ออกตอนเกือบทุ่มนึง

เราต้องใช้เวลาอยู่ในรถคันนี้ถึง 14 ชั่วโมง ตามข้อมูลที่ได้รับมา รถออกประมาณ 1 ทุ่ม เราคงไปถึงมะนาลีประมาณ 9 -10 โมง ช่างเป็นเวลาที่ยาวนานจริงๆ เลย รถจอดแวะให้แขกกินอาหารค่ำตอนประมาณ 4 ทุ่ม แต่พวกเราแค่เข้าห้องน้ำ ซึ่งสภาพแย่มาก และกลิ่นแรงสุดๆ พอครบเวลาครึ่งชั่วโมง รถก็ออกเดินทางต่อ พวกเราก็หลับๆ ตื่นๆ กันไปตลอดทาง

 

วันที่ 3   ศุกร์ที่ 28 กันยายน 2550         มะนาลี(Manali)

พอเริ่มสว่าง เราก็เริ่มลุกขึ้นมานั่งดูวิวข้างทาง ได้เห็นวิถีชีวิตสองฝั่งถนนในยามเช้าที่ไม่วุ่นวายอะไรนัก พอสัก 8 โมงเช้า รถก็จอดให้ลงไปเข้าห้องน้ำ และดื่มชากัน งานนี้พวกเราต้องปลดทุกข์แบบให้ฟ้าดินเป็นพยาน เพราะห้องน้ำคนเยอะมาก และกลัวว่าสภาพจะรับไม่ได้เหมือนห้องน้ำเมื่อคืน ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร สำหรับที่อินเดีย เพราะการเข้าทุ่งเป็นเรื่องปกติที่เค้าทำกันอยู่แล้ว เข้าเมืองตาหลิ่วพวกเราก็เลยหลิ่วตาตามซะเลย ดื่มชากันแบบเร่งด่วน แล้วก็ขึ้นรถออกเดินทางต่อ จากที่คิดว่าอีกสัก 2 ชั่วโมง ก็น่าจะถึงที่หมาย แต่รถขับแบบหวานเย็นมาก และจอดแวะอยู่เรื่อย เพราะแขกในรถปวดห้องน้ำ เลยยิ่งช้าไปใหญ่ ยังดีที่มีวิวข้างทางเป็นสวนแอปเปิ้ล แต่บนต้นแอปเปิ้ลแทบจะไม่มีลูกให้เห็นแล้วนะ เพราะลูกแทบทั้งหมดไปกองอยู่ในตลาดรับซื้อ สงสัยพวกเราจะมาช้าไปหนึ่งวัน เพราะดูจากปริมาณแอปเปิ้ลที่เต็มจนล้นอยู่ตามตลาดที่เราเห็นเป็นระยะๆ ตลอดทางแล้ว น่าจะเพิ่งมีการเก็บแอปเปิ้ลไปเมื่อวานหรือเมื่อเช้านี่เอง เสียดายจัง เลยไม่ได้เห็นลูกแอปเปิ้ลตอนอยู่เต็มต้นเลย


 


            รถไปถึงสถานีจอดตอนเที่ยงพอดี น้อย น้องนักศึกษาหนุ่มอีกคน ที่เรียนต่อปริญญาเอกอยู่ที่พาราณสี และเคยมาเที่ยวในเส้นทางนี้แล้ว มารอรับพวกเราอยู่พักใหญ่ และทำการเลือกโรงแรมที่พักไว้ให้พร้อม เพราะน้อยมาถึงมะนาลีตั้งแต่เมื่อวาน เราเรียกแท็กซี่ไต่ระดับขึ้นไปส่งที่โรงแรม Arohi ที่พักในเมืองมะนาลีของพวกเรา ซึ่งอยู่ในเขตที่เค้าเรียกกันว่ามะนาลีใหม่ ห้องพักที่นี่โอเคมากๆ ราคาแค่ 600 รูปี มีระเบียงห้อง พร้อมวิวแม่น้ำและภูเขาสวยๆ มีน้ำอุ่นตลอด 24 ชั่วโมง แต่นี่เป็นราคาช่วงปลายฤดูกาลท่องเที่ยวนะ ถ้าเป็นช่วง Hi-season ราคาจะเพิ่มเป็นสองเท่า

เข้าห้องพัก ล้างหน้า อาบน้ำ ทำธุระส่วนตัวกันเรียบร้อย ก็ออกไปหาอาหารเช้าควบกลางวันกินกัน แล้วก็นั่งคุยเรื่องโปรแกรมที่จะไปเที่ยวต่อ แต่ยังไม่ทันจะได้สรุปก็เกิดปัญหาเสียแล้ว เพราะน้องต่ายมีปัญหาเรื่องสุขภาพนิดหน่อย คาดว่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปวดท้องและฉี่เป็นเลือดด้วย มีแววว่าจะไปต่อไปไหว เพราะระยะทางข้างหน้ายังต้องนั่งรถอีกยาวไกลมาก


  
 

 

ทีแรกคิดกันไว้ว่ากินข้าวเสร็จแล้วจะไปหาทัวร์ท้องถิ่น เพื่อให้เค้าพาเที่ยวรอบๆ เมืองมะนาลี แต่ว่าบ่ายมากแล้ว แถมน้องก็ป่วย พวกเราเลยแค่ออกไปเดินเล่นแถวตลาดในมะนาลีเก่า และหาซื้อยาให้น้องต่ายด้วย ตามคำสั่งแพทย์ที่สั่งยาข้ามประเทศมาจากเมืองไทย เดินดูของในตลาดได้พักหนึ่งก็เรียกรถกลับที่พัก เพราะไม่อยากทิ้งต่ายอยู่คนเดียวนานนัก แต่ต่ายกินยา นอนพัก และดีขึ้นจนออกไปเดินเล่นแถวโรงแรมได้แล้ว แต่ถึงจะดีขึ้นก็ไม่ได้รับอนุมัติให้ไปเที่ยวต่อ เพราะเจอคำสั่งเรียกกลับ ด้วยความเป็นห่วงของพระอาจารย์อ้าย ที่ต้องเป็นพี่ใหญ่คอยดูแลน้องๆ นักศึกษาไทยที่มาเรียนต่อในเดลลี และคืนนี้พระอาจารย์จะส่งเพื่อนของต่ายขึ้นรถจากเดลลีมารับต่ายที่มะนาลี ซึ่งต่ายก็โอเคตามนั้น เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย


 

พวกเราเดินเล่นต่อแถวโรงแรมอีกพักหนึ่ง แล้วก็ไปหาร้านอาหารนั่งกินข้าวเย็นกัน แต่พี่เสกยังไม่เห็นกลับมา ตั้งแต่ขอแยกตัวไปเดินเที่ยวในตอนบ่าย ไม่รู้เดินถ่ายรูปและหาตำแหน่ง GPS (ของเล่นประจำตัวของพี่เสก) ไปถึงไหนแล้ว เจอกันแว็บนึงตอนเรานั่งรถกลับมาจากตลาด ชวนขึ้นรถมาด้วยก็บอกว่าจะเดิน แต่ที่ห่วงเพราะพอรถขับเลยพี่แกมาหน่อยมันก็มีทางแยก ไม่รู้ว่าพี่ท่านเลี้ยวผิดหรือเปล่า ไปนั่งรอกันอยู่ที่ร้านอาหารพักใหญ่ก็ยังไม่เห็นพี่เสกมา น้อยเดินกลับไปหาที่โรงแรมก็ไม่เจอ เลยเดินกลับมาที่ร้าน และสั่งเด็กที่โรงแรมไว้ว่าถ้าเพื่อนกลับมาฝากบอกให้เค้าตามไปที่ร้าน แต่ผ่านไปอีกพักหนึ่งน้อยก็ออกไปเดินตามหาอีกรอบ และคราวนี้ได้ตัวพี่เสกกลับมาด้วย

พี่เสกเล่าว่าไปถ่ายรูปเค้าเก็บแอปเปิ้ลมา แล้วกะว่าจะเรียกแท็กซี่กลับ แต่ว่าไม่มีแท็กซี่ผ่านมาเลย สุดท้ายเลยต้องเดินกลับมาเอง พวกเราก็คิดว่าพี่แกไม่น่าจะหลงไปไหนเพราะมี GPS บอกตำแหน่งอยู่กับตัว ไม่น่าพลาด แต่พี่เสกบอกว่า “GPS มันช่วยบอกตำแหน่ง แต่มันไม่ได้ช่วยเดิน (ฮาตรึม)

พวกเรากินข้าวกันที่ร้าน Rainbow cafe แถวบ่อน้ำพุร้อนของเมือง เลือกโต๊ะด้านนอกตรงระเบียง มีวิวเมืองมะนาลีใหม่ และบ่อน้ำพุร้อนให้ชม พร้อมกับคนอาบน้ำพุ ที่มีทั้งแขกและฝรั่ง บ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้จะเปิดให้อาบตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม น้อยชี้ชวนให้พี่หน่อยดูฝรั่งอาบน้ำ แต่พี่หน่อยบอกว่าไม่เห็นมีฝรั่งเลย มีแต่ มังคุดเน่า (แขกดำๆ และแก่เกินแกง เป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนมากๆ)

กินข้าว เมาท์แตกกันอยู่พักใหญ่ พวกเราก็เดินกลับที่พัก รีบนอนพักผ่อนเอาแรง เพราะต้องออกเดินทางกันตั้งแต่ตี 3 เพื่อไปเลห์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 400 กว่ากิโล แต่ต้องใช้เวลานั่งรถถึง 17 ชั่วโมงโดยประมาณ เพราะเป็นเส้นทางขึ้นเขาที่คดโค้ง และเลียบเลาะขอบผาเกือบตลอด แค่คิดก็จะแย่แล้ว ส่วนต่ายจะรอเพื่อนที่นั่งรถมารับอยู่ที่โรงแรม กว่าเพื่อนจะมาถึงคงประมาณเที่ยงเหมือนที่พวกเรามาถึงวันนี้ แต่ก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะต่ายเรียนที่อินเดียอยู่แล้ว รับมือแขกได้ไม่มีปัญหา แต่คนที่มีปัญหาคงเป็นพวกเราที่จะไปต่อ เพราะเสียตัวหารไปอีกหนึ่งจากที่คำนวณไว้ทีแรก

 

วันที่ 4   เสาร์ที่ 29 กันยายน 2550           มะนาลี(Manali) - เลห์(Leh)

            ตี 3 ล้อหมุนตามเวลา เพราะคนขับกำชับน้อยมาตั้งแต่ตอนไปติดต่อเหมารถ ว่าต้องออกเวลานี้ ถ้าช้าอาจจะไปติดช่วงเวลาปิดด่านระหว่างทาง แล้วจะยิ่งถึงเลห์ช้าไปอีก ต่ายตื่นมาโบกมือลาพวกเราตาระห้อย เราบอกต่ายว่าโอกาสหน้าคงได้เที่ยวด้วยกันใหม่ แล้วถ้าจะไปสำรวจเส้นทางไหนอีก จะส่งข่าวมาบอกล่วงหน้า ซึ่งคงเป็นทริปสำรวจทะเลทราย ที่ตั้งใจจะไปลองขี่อูฐช่วงเดือนธันวานี้

 

 

            เก็บของขึ้นหลังคารถ แล้วก็เข้าประจำที่ หลับต่อกันตามอัธยาศัย เส้นทางดูไม่มืดมากนัก เพราะเป็นคืนเดือนหงาย พระจันทร์แจ่ม ทำให้มองเห็นเส้นทางที่พอจะดูออกว่าข้างทางมันเป็นเหว เพราะถนนมันเลาะไปตามขอบเขาสูง พอฟ้าเริ่มสาง ก็ยิ่งตื่นตากันใหญ่ เพราะเรามองเห็นเทือกเขาหิมะและภูเขาสูงๆ ที่ล้อมรอบตัวอยู่ ถ่ายรูปกันสนุกสนาน แต่อากาศเย็นเอาเรื่องขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสูงที่เพิ่มขึ้น ถึงแดดจะเริ่มแรงก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

พอสายหน่อยพลขับก็แวะให้พวกเรากินอาหารเช้ากัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารที่พวกเราเตรียมมาจากเมืองไทยนั่นแหละ แค่สั่งพวกข้าวสวย กับน้ำร้อนน้ำชาเพิ่ม นั่งกินข้าวกันกลางแดดอุ่นๆ ช่วยคลายหนาวได้เยอะ เติมพลังเสร็จก็ออกเดินทางต่อ ระยะทางยังอีกยาวไกลนัก   

รถไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงจะกินยากันโรคแพ้ความสูงไปแล้ว แต่ก็ยังมีอาการแย่ๆ อยู่บ้าง แต่วิวสวยๆ ข้างทางก็ช่วยให้อาการดีขึ้นเยอะ รวมทั้งยาหลายขนานและผลไม้หลากชนิดที่ตุนมาช่วยเพิ่มวิตามินซี ทำให้การเดินทางที่ยาวนานครั้งนี้ ไม่เลวร้ายจนเกินไป

หลับๆ ตื่นๆ กันไปตลอดทาง พอบ่ายก็เริ่มหิวอีกรอบ พอโชเฟอร์แวะที่ด่านตรวจ พวกเราก็เลยจะลงไปหาอะไรกินกัน แต่พอก้าวลงจากรถเท่านั้นแหละ รู้สึกว่าวูบๆ หวิวๆ ขึ้นมาทันที แย่แล้ว ก้าวไปไหนไม่ได้เลย รีบกลับขึ้นไปนั่งนิ่งๆ ในรถโดยด่วน อาการแพ้ความสูงเล่นงานเข้าแล้ว หรือเป็นเพราะอาการหิวและท้องว่างด้วยก็ไม่รู้นะ แต่เราไม่ได้เป็นแค่คนเดียว พี่หน่อยก็มีอาการเหมือนกัน สรุปว่าเรากับพี่หน่อยนั่งรออยู่ในรถ ส่งสมาชิกที่เหลือไปสั่งอาหารและซื้อน้ำเพิ่มเอาไปกินระหว่างทาง อาหารยังไม่ทันจะได้เรียบร้อย พลขับของเราก็บีบแตรเร่ง หลังจากผ่านการตรวจตามขั้นตอนเรียบร้อย คนขับอยากจะให้รีบไป เพราะกลัวว่าถ้าช้าจะไปติดขบวนทหารแล้วจะเสียเวลาใหญ่


 

 

พวกเราจัดการอาหารกลางวัน (ซึ่งได้แก่ผัดหมี่) กันในรถ แล้วก็ตั้งตารอให้ถึงจุดหมายระหว่างทางเราผ่านทั้งภูเขาสูงใหญ่ เห็นภูเขาหิมะอยู่ไกลๆ ผ่านบริเวณลานโลงกว้างที่มีแต่ผืนทรายกับฝุ่น เห็นแล้วนึกว่าได้มาเที่ยวทะเลทรายเลย บางช่วงก็มีลำธารน้ำใสๆ มีฝูงสัตว์หลากชนิดให้ได้เห็น ธรรมชาติช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน อยู่ที่นี่เราดูเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ ท่ามกลางขุนเขามหึมา สำหรับคนที่นี่ไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติได้เลย ทำได้เพียงปรับตัวให้อยู่ได้ในธรรมชาติเท่านั้น


 

ยิ่งนั่งรถนาน ความเมื่อยล้ารำคาญใจก็ยิ่งมาเยือน จนมีคำหนึ่งที่พี่หน่อยพูดอยู่บ่อยๆ ว่า มันสวยนักใช่มั้ยเนี่ย จุดหมายที่จะไปมันสวยนักใช่มั้ย ถึงต้องมาทรมานกันขนาดนี้ ก็นั่นซินะ แดดก็ร้อนจนตาหยี อากาศก็หนาวจนมือเท้าแทบชา หิมะก็มี ลมก็แรง ห้องน้ำก็ต้องเข้าข้างทางนั่งบังก้อนหินให้ฟ้าดินเป็นพยาน นั่งรถก็นานแสนจะนาน แถมมีอาการยางแตกแถวโค้งพับผ้าให้ใจหวิวอีกนะ (พี่เสกเรียกโค้งหักศอกที่ติดต่อกันหลายๆ โค้ง แบบซ้ายทีขวาที พับไปพับว่าโค้งพับผ้าน่ะ) ยังดีที่พี่เสกที่นั่งคู่คนขับรู้สึกได้ว่ารถมันแปลกๆ ไป ส่วนคนขับเองไม่รู้เรื่องเลย ระหว่างรอคนขับเปลี่ยนล้อ เราก็ชมวิวข้างทางกันไป แล้วมันสวยนักใช่มั้ยเนี่ย (แต่สรุปสุดท้าย พวกเราก็ตอบตัวเองได้เลยว่า...มันสวย)

            ระหว่างทางสู่เลห์ เราผ่านถนนที่ได้ชื่อว่าสูงเป็นอันดับสองของโลก (Second Highest pass of the world) ด้วย ถนนนี้อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 17,582 ฟิต หรือประมาณ 5,372 เมตรทีเดียว ยิ่งสูงยิ่งหนาวจริงๆ เลย

 

 

ประมาณ 1 ทุ่ม หลังจากนั่งรถมา 14 ชั่วโมง พวกเราก็ใกล้ตัวเมืองเลห์เข้าไปทุกที อีกแค่ 40 กิโลเท่านั้น (นั่งนับถอยหลังกับหลักกิโลมานานแล้ว) แต่อยู่ๆ รถก็จอดนิ่ง สตาร์ทไม่ติด ถามคนขับว่าเป็นอะไรก็ไม่มีคำตอบ บอกแต่ว่าให้รอรถในเมืองผ่านมา โอ้แม่เจ้า...ช่างหฤหรรอะไรเช่นนี้ มืดก็มืด หนาวก็หนาว รถก็เสีย ข้าวเย็นก็ยังไม่ได้กิน ใครหนอร้องอยากมาๆๆ

การรอคอยผ่านไปไม่นานนัก มีแสงไฟรถสว่างมาแต่ไกล เค้าเห็นรถเราเปิดไฟกระพริบขอความช่วยเหลืออยู่ เค้าก็จอดรถลงมาถามไถ่ ส่งภาษากันสักครู่ แล้วทุกคนก็ถึงบางอ้อว่า...น้ำมันหมด และก็โชคดีมากที่รถคันนั้นคือรถบรรทุกน้ำมัน ทุกอย่างเลยผ่านไปด้วยดี คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แต่สุดท้ายปัญหามันยังไม่จบ คนขับบอกว่าเค้าจะส่งพวกเราที่สถานีจอดรถบัส (Bus stand) แล้วพวกเราต้องเรียกรถแท็กซี่เข้าไปส่งในเมืองต่อ พยายามเจรจาให้เค้าเข้าไปส่งถึงที่โรงแรม แล้วจะเพิ่มค่าแรงให้ เค้าก็ไม่ยอม บอกว่ารถต่างเมืองเข้าไปวิ่งในเมืองเลห์ไม่ได้ เพราะตำรวจจับ นั่งรถมานานก็แย่แล้ว อีกแค่ปลายจมูกก็จะถึงที่พัก ยังต้องขนของเปลี่ยนรถอีก อยากจะบ้าตาย

ราว 3 ทุ่มพอดี แท็กซี่มาส่งพวกเราที่โรงแรม CHOSPA ที่น้อยเคยมาสอบถามไว้ก่อนหน้านี้ พอติดต่อได้ห้องเรียบร้อย ก็ขนของเข้าห้อง แล้วลงมาหาข้าวกินกัน แต่วันนี้ช่างเป็นวันที่โชคดีสำหรับพวกเราจริงๆ เลย พ่อครัวของโรงแรมโดนเรียกตัวกลับบ้านด่วน เพราะภรรยาไม่สบายมาก พี่ครัวจำเป็นที่มีอยู่ทำได้แต่อาหารง่ายๆ พวกเราก็เลยสั่งซุป ไข่เจียว ข้าวเปล่า แล้วก็เสริมด้วยน้ำพริกกระปุกหลากชนิดที่เตรียมมา ตบท้ายด้วยน้ำขิงอีกคนละแล้ว  อิ่มและอุ่นท้องกันแล้ว แยกย้ายกันไปพักผ่อนได้ พรุ่งนี้เช้าเราตื่นสายหน่อย เพราะกว่าร้านต่างๆ ทั้งทัวร์ และร้านขายของจะเปิดก็ประมาณ 9 – 10 โมงได้ แขกเปิดร้านช้าน่ะ

นอนหลับฝันดีกับคืนแรกในเมืองเลห์ ก่อนนอนก็ไม่ลืมที่จะกินยา Diamox (Acetazolamide) ยาที่นักเดินทางรุ่นก่อนๆ แนะนำต่อๆ กันมา เป็นยาที่กินเพื่อป้องกันโรคแพ้ความสูง หรือ Attitude Sickness พรุ่งนี้จะได้เที่ยวเมืองเลห์อย่างไม่มีปัญหา กันไว้ดีกว่าแก้น่ะ (จริงๆ เราไม่ค่อยมีความรู้เรื่องยาตัวนี้เท่าไรนัก รู้แต่ว่าเป็นยาที่ใช้สำหรับโรคต้อในตา จะช่วยปรับความดันในลูกตา ซึ่งอาการแพ้ความสูงโดยทั่วไปก็เพราะความดันในลูกตาเราไม่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพความดันภายนอกได้นี่แหละ ก็ปกติเราอยู่แต่พื้นราบ พอขึ้นมาสูงขนาดนี้ ร่างกายมันยังรับไม่ได้ ต้องค่อยๆ ให้มันปรับตัว แต่เราก็ไม่ได้อยู่นานเป็นเดือนนะ จะรอให้มันปรับเองคงใช้เวลานานเกินไปหน่อย ยา Diamox จะช่วยปรับความดันในตาเรา ทำให้ไม่เกิดอาการปวดเบ้าตา ซึ่งจะลามไปถึงปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน รวมเรียกว่าโรคแพ้ความสูง แต่ยาตัวนี้กินแล้วจะมีผลข้างเคียงนะ เรารู้สึกชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้า บางคนก็ชาที่หน้า แต่อาการจะค่อยๆ หายไปเองนะ ยังไงก็เที่ยวได้สนุกกว่ามีอาการแพ้ความสูงแน่นอน)

 

วันที่ 5   อาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2550       Sight seeing in Leh

 

 

อรุณสวัสดิ์เมืองเลห์ เมื่อคืนนี้หนาวมากๆ แทบจะเรียกได้ว่าหนาวที่สุดในชีวิตที่เคยเจอมาเลย(แต่นี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น) เปิดประตูห้องออกมารับแสงอาทิตย์ พาตัวเองออกมานั่งรับแสงแดดอยู่ที่โต๊ะตรงระเบียงหน้าห้อง ไม่เคยรักแสงแดดเท่านี้มาก่อนเลย พวกเราสั่งอาหารเช้าตระกูลไข่และขนมปัง พร้อมด้วยน้ำร้อนอีกกาใหญ่มาชงเครื่องดื่มที่เตรียมกันมา พี่เสกตื่นแต่เช้าออกไปเดินสำรวจเมืองมาแล้ว และกลับมาตอนพวกเรากินอาหารเช้าพอดี พี่เสกเป็นคนเดียวที่ดูจะไม่กลัวหนาวเลย คงตื่นเช้าเป็นปกติ และอยากเที่ยวให้ถึงและให้ทั่วจริงๆ แต่สำหรับเรา แพ้ความหนาวน่ะ ต้องถนอมร่างกายหน่อย เดี๋ยวจะแย่เสียก่อนจบทริป ขอเห็นแสงอาทิตย์แล้วค่อยออกสำรวจแล้วกันนะ


 

 

พอจัดการอาหารเช้าเรียบร้อย พวกเราก็เตรียมตัวออกชมเมืองกัน และจุดชมวิวแรกของพวกเราก็คือบนดาดฟ้าของโรงแรม Chospa Hotel ที่มองเห็นวิวเมืองและภูเขาหิมะอยู่ไกลออกไป ในฤดูกาลนี้เมืองเลห์อยู่ในอ้อมกอดของภูเขาหิมะ Chospa เป็นโรงแรมเล็กๆ เจ้าของเป็นชาวลาดัคห์โดยกำเนิดอยู่กันเป็นครอบครัว นิสัยดีและเป็นกันเองมาก 

พวกเราออกเดินจากโรงแรมเข้าไปในตลาดอย่างช้าๆ  เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพเข้ากับความเบาบางของอากาศในระดับความสูงของเมืองเลห์ ที่อยู่สูง 3,520 เมตรจากระดับน้ำทะเล ร้านรวงในตลาดเริ่มเปิดบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเปิด 10 โมง เราเดินหาบริษัททัวร์ที่จะนำเที่ยวที่เลห์อยู่พักหนึ่ง แล้วก็เข้าไปติดต่อกับบริษัท Mountain View Trek & Tour และตกลงเลือกโปรแกรมเที่ยวรอบๆ เมืองเลห์โดยมีสถานที่ที่น่าสนใจรวม 7 แห่ง ราคา 1,800 รูปี และสถานที่แรกที่ราชรถพาพวกเราไปเยือนคือ วัดเฮมิส (Hemis Gompa) วัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองลาดัคห์ ลงจากรถแล้วต้องเดินขึ้นบันไดเข้าไปในวัดอีกหน่อย เดินแค่ไม่กี่ก้าวแต่เหนื่อยมาก เพราะอากาศมันเบาบางเหลือเกิน ยืนนิ่งๆ นานก็หนาวอีก การต่อสู้กับความสูงและความหนาว ช่างทรมานสังขารเสียจริงๆ เลย


  

 

 

พอเข้าไปถึงในวัด ได้เจอลามะน้อยและไม่น้อยหลายรูป แต่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว เพราะช่วงนี้ใกล้ปิดฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว อากาศเริ่มเย็น และหิมะเริ่มตกหนักขึ้นทุกที พอถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน แหล่งท่องเที่ยวของเมืองนี้ก็จะปิดตัวเอง เพราะหิมะจะปกคลุมถนนทุกสายไม่สามารถผ่านไปมาได้ อยู่ได้ก็แต่ในเมืองเท่านั้น วัดเฮมิสมีห้องต่างๆ ให้เข้าชมแบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องหนึ่งเป็นห้องพระประธานและเป็นห้องที่มีเจดีย์บรรจุอัฐิของเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ถัดมาเป็นห้องสวดมนต์และทำพิธีบูชา ห้องสุดท้ายเป็นที่มีพระพุทธรูปพระโพธิสัตว์องค์ใหญ่ดูน่าเกรมขามมาก

 

 
   

 

ออกจากวัดเฮมิส เราไปต่อกันที่ วัดธิคเซย์ (Thiksey Monastery) ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดของลาดัคห์ เป็นวัดของนิกายเกลุคปา ภายในวัดมีรูปปั้นของพระศรีอารยะเมตไตรย์(The Maitreya Buddha) ที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดในภูมิภาคนี้ ชาวพุทธสายมหายานเชื่อว่าพระศรีอารยะเมตไตรย์เป็นพระโพธิสัตว์องค์ต่อไป ที่จะคอยช่วยเหลือมนุษย์ ดีจังที่วัดในเลห์ไม่ห้ามถ่ายรูป แค่ห้ามใช้แฟลตเท่านั้น เราเลยได้เก็บภาพสวยๆ และความงามของพระพุทธรูปและวัดต่างๆ ได้เต็มที่ ในวัดธิคเซย์แห่งนี้เงียบสงบดีจัง


 

เรากินอาหารกลางวันกันที่ร้านอาหารด้านหน้าวัดธิคเซย์ พอเติมพลังเสร็จก็ไปเที่ยวต่อที่ เมืองเชย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของลาดัคห์(ปัจจุบันเมืองหลวงคือเมืองเลห์) แวะที่ พระราชวังเชย์ (Shey Palace) ที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ Deldan Namgyal เพื่อระลึกถึงพระบิดา Singge Namgyal ตามข้อมูลบอกว่ากำแพงพระราชวังถูกฉาบด้วยทองคำผสมทองแดง ก่อสร้างเพื่อเป็นพระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์แห่งลาดัคห์ แต่ปัจจุบันร่องรอยแห่งความมั่งคั่งนั้นไม่มีให้เห็นแล้ว สิ่งเดียวที่ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมพระราชวังแห่งนี้ คือรูปปั้นของพระศากยมุณีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และวิวมองสูงของเมืองเชย์ที่สวยงามมากเมื่อมองจากพระราชวังเชย์

 

 

 

วันที่พวกเราไป มีชาวพื้นเมืองกำลังขัดล้างทำความสะอาดเครื่องเงินเครื่องทองเหลืองของวังอยู่ด้วย


 

จากพระราชวังเชย์ เราไปชมพิพิธภัณฑ์ สตอคพาเลซ (Stok Royal Palace Museum) กันต่อ สตอคพาเลซ เป็นพระราชวังเก่า ซึ่งเป็นที่อาศัยของราชวงศ์ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1825 ดูเป็นวังเล็กๆ ห่างไกลจากเมือง และเงียบสงบมาก ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของราชวังศ์ มีทั้งมงกุฏ อาวุธ เครื่องแต่งกาย และอื่นๆ แต่ที่นี่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปนะ เจ้าหน้าที่จะนำชมทีละห้อง ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3-4 ห้องเล็กๆ เท่านั้น

ออกจากสตอคพาเลซ เราไปต่อที่พระราชวังเลห์ (Leh Palaceพระราชวังเลห์ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเลห์ มีขนาดความสูง 9 ชั้น สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1630 มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระราชวังโปตาลาในทิเบต คือมีผนังเอียงเข้าหากันทุกด้าน พวกเราถ่ายรูปกันแค่ด้านนอก ไม่ได้เข้าไปด้านใน เพราะพลขับที่ทำหน้าที่ไกด์ไปด้วยในตัวเขาบอกว่า ข้างในไม่มีอะไรน่าสนใจแล้ว เพราะข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ถูกขนออกไปหมดแล้ว เหมือนที่พระราชวังเชย์นั่นแหละ จะน่าสนใจอย่างเดียวก็คงวิวมุมสูงของเมืองเลห์ที่มองเห็นจากพระราชวังเลห์เนี่ยแหละ


 

และจะมองเห็นวัด Namgyal Tsemo Gompa ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1430 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสูงขนาดตึก 3 ชั้น และพระคัมภีร์เก่าแก่จากทิเบต บริเวณเหนือวัดขึ้นไปจะเป็นซากป้อมปราการเมืองเก่า ที่วัดนี้เป็นจุดชมวิวอีกจุดหนึ่งที่สามารถเห็นตัวเมืองเลห์ได้อย่างสวยงาม ชาวบ้านแถวนี้บอกว่าวัดจะเปิดให้เข้าชมในช่วงเช้าตั้งแต่ตีห้าครึ่ง ถึงแปดโมงเช้าเท่านั้น แต่นอกจากปัญหาเรื่องเวลาแล้ว เรายังมีปัญหาเรื่องที่ทางเดินไปต้องไต่ระดับสูงขึ้นไป ซึ่งเห็นแล้วถอดใจ เพราะในสภาพอย่างนี้เราคงไม่ไหวแน่นอน แค่เดินปกติยังเหนื่อยจนหอบเลย เพราะฉะนั้นขอผ่านแล้วกันนะ สำหรับวัด Namgyal Tsemo Gompa ขอถ่ายรูปแค่มุมที่เห็นจากพระราชวังเลห์แล้วกัน

 

 

 

 

 

พวกเราตัดสินใจไม่เข้าไปข้างในพระราชวังเลห์ เพื่อจะรีบไปต่อที่วัดสังคา (Sanga Gompa) ก่อนที่จะเย็นเกินไป แต่ก็ไม่ทันจนได้ วัดปิดไปเสียแล้ว พวกเราเลยมุ่งหน้าสู่จุดหมายสุดท้าย คือสันติ สตูปา (Santi Stupa) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลห์ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเจดีย์สันติภาพสีขาวที่ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้น และมีการทำพิธีเปิดโดยองค์ดาไลลามะเมื่อปี ค.ศ.1985 ที่นี่เป็นจุดชมวิวเมืองเลห์และพระราชวังเลห์ได้อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นจุดที่รับลมอย่างแรง พวกเราเดินขึ้นไปถึงสันติ สตูปา ตอนแสงจะหมดแล้ว ความหนาวเย็นเริ่มเข้ามาแทนที่ความอุ่นของแสงพระอาทิตย์อย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อพระพรายพัดมา พวกเราเลยใช้เวลาอยู่ที่นี่ได้แค่แป๊บเดียว เสียดายจัง ถ้ามาถึงตอนที่มีแสงคือจะสวยมาก ทั้งวิวเมืองเลห์ และเจดีย์สันติภาพสีขาวแห่งนี้

เที่ยวครบทุกที่แล้ว พวกเราก็ไปจ่ายค่าเสียหายที่ออฟฟิตทัวร์กัน แล้วก็ติดต่อเรื่องที่จะไปเที่ยวทะเลสาปพันกอง (Pangong Tso) พรุ่งนี้ด้วยเลย แต่เจอปัญหาตรงที่วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ซึ่งไม่สามารถทำเรื่องขอใบอนุญาตได้เข้าไปเที่ยวที่ทะเลสาปได้ ต้องรอทำเรื่องพรุ่งนี้ ซึ่งกว่าจะเปิดก็ 10 โมง กว่าจะเสร็จก็คงสัก 11 โมง แต่ถ้าจะไปทะเลสาปโดยปกติต้องออกเดินทางแต่เช้า เพราะต้องใช้เวลาเดินทางไปและกลับรวมประมาณ 8 ชั่วโมงได้ พวกเราเลยต้องเปลี่ยนแผน ทำเรื่องขออนุญาตพรุ่งนี้เช้า แล้วกลางวันก็ไปเที่ยวถนนที่สูงที่สุดในโลกกัน เพราะใช้เวลาเดินทางไปกลับแค่ 4 ชั่วโมง เที่ยวได้ในครึ่งวัน

และเพราะความที่มันผิดแผนนี้ ทำให้พวกเราต้องอยู่ที่เลห์เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมอีกหนึ่งวัน แล้วมันก็ส่งผลกระทบต่อโปรแกรมหลังจากนี้ด้วย แต่ก็สรุปกันได้ว่า จากเดิมหลังจากเที่ยวที่ศรีนาการ์เสร็จแล้วจะขึ้นรถไฟตู้นอนกลับมาเดลลี เพื่อต่อเครื่องกลับบ้าน เราก็เปลี่ยนแผนเป็นใช้เครื่องบินชั้นประหยัดภายในประเทศ ที่บินจากศรีนาการ์มาลงเดลลีแทน ประหยัดเวลาไปได้เยอะเลย และค่าเครื่องบินก็เพิ่มขึ้นจากค่ารถไฟตู้นอนไม่เท่าไหร่ มติที่ประชุมของพวกเราเป็นเอกฉันท์ตามแผนนี้ งั้นพรุ่งนี้ก็เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับความสูงและความหนาวที่จะเป็นที่สุดกว่าทุกวันที่ผ่านมาแล้วกันนะ

 วางแผนสำหรับพรุ่งนี้เรียบร้อย เราก็ไปหาที่เช็คเมลกัน แล้วก็ไปหาอาหารค่ำกินก่อนกลับเข้าที่พัก คืนนี้ได้อาบน้ำอุ่น เพราะเจ้าของโรงแรมใจดี จัดให้เป็นพิเศษสำหรับพวกเรา จากที่ปกติเค้าจะมีน้ำอุ่นเฉพาะตอนเช้า เพราะแขกเค้าไม่อาบน้ำตอนเย็นกัน ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ไม่สบาย แต่พวกเราเคยชินกับการอาบน้ำตอนเย็นน่ะ แต่ถึงจะเคยชินยังไง อากาศเย็นขนาดนี้ถ้าไม่มีน้ำอุ่นก็ไม่อาบเด็ดขาด

คืนที่ 2 ในเลห์ ยังคงหนาวเย็นเช่นเคย แต่ถุงนอนที่เตรียมมา พร้อมด้วยผ้าห่มผืนใหญ่และแสนหนักก็ทำงานได้ดีเหมือนเดิม วันนี้เราได้ชมความงามและเสน่ห์ของเมืองเลห์ทั่วแล้ว พรุ่งนี้เราจะออกรอบนอกกัน (ถึงจะไม่ทั่วแบบเดินไปสำรวจทุกเช้าแบบพี่เสก แต่ก็ทั่วเท่าที่มันควรจะไปชมแล้วนะ)

 

วันที่ 6   จันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2550              Khardung La ถนนที่สูงที่สุดในโลก

            ออกมากินอาหารเช้ากลางแดดกันตามระเบียบ พี่เสกออกไปเดินเที่ยวแต่เช้าเหมือนเดิม และที่ประชุมลงมติพ้องกันว่าพี่เสกต้องออกไปที่วัด Namgyal Tsemo Gompa แน่ๆ พอพี่เสกกลับมาตอนเวลาอาหารเช้าพวกเราก็สัมภาษณ์ได้ความว่าพี่เสกขึ้นไปถึงตอนเค้าปิดแล้วพอดี สรุปว่าอดเข้าไปชมข้างใน พวกเรากะว่าจะขอดูรูปซะหน่อยว่าในวัดสวยแค่ไหน สงสัยต้องหาโอกาสไปให้ถึงด้วยตัวเองสักครั้งเมื่อพร้อมนะ(แต่ไม่ใช่ทริปนี้แน่)

 

 

 

            กินอาหารเช้าเสร็จ พวกเราก็ออกไปชมตลาดบนถนนเมนบาซาร์และตลาดท้องถิ่นโมติระหว่างรอให้บริษัททัวร์ทำเรื่องขอใบอนุญาต วันนี้มีเรื่องต้องทำในเมืองหลายอย่าง ทั้งเรื่องจองตั๋วเครื่องบินขากลับจากศรีนาการ์ไปเดลลี ต้องหาร้านซ่อมกล้องดิจิตอลให้พี่หน่อย เพราะอยู่ๆ กล้องมันก็ลวน สงสัยจะน๊อตเพราะอากาศเย็น แล้วยังต้องไปไปรษณีย์เพื่อส่งโปสการ์ดกันด้วย ไปหาร้านโทรศัพท์เพื่อโทรกลับไปรายงานตัวกับแม่ๆ ทุกคน และติดต่อเรื่องงานอีกเล็กน้อย สรุปแล้วกว่าพวกเราจะเสร็จธุระก็คงได้เวลาใบอนุญาตออกพอดี

 

  

 

            ในตลาดมีของขายมากมาย ส่วนใหญ่เป็นร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองนี้รับนักท่องเที่ยวเยอะจริงๆ นอกนั้นก็เป็นร้านขายข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า อาหาร และมีชาวพื้นเมืองนำพืชผลต่างๆ มาวางขายอยู่ริมถนนด้วย ดูมีสีสันดี และพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ไม่ได้ปล่อยเวลาที่นั่งรอลูกค้าไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่จะใช้เวลาว่างตอนนั้นหมุนกงล้ออธิษฐานและสวดมนต์ไปด้วย ดีจัง

            ทำธุระเสร็จ กลับมาที่โรงแรม ราชรถก็มารอรับอยู่แล้ว เราขนอุปกรณ์กันหนาวและเสบียงขึ้นรถพร้อมออกเดินทางสู่ถนนที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งมันหมายรวมว่าเป็นจุดที่เราจะหนาวที่สุดด้วย

 

 

 

            รถไต่ระดับเลียบเลาะภูเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ อากาศก็เย็นลงทุกที มีหิมะปกคลุมอยู่ตามรายทางที่ผ่านเป็นระยะๆ วิวสวย แต่หนาวเหลือเกิน โดยเฉพาะเวลาเปิดหน้าต่างเพื่อถ่ายรูป แต่เพื่อภาพสวยๆ ก็ยอมทนนะ

 

 

 

            เราไปถึงที่หมายเกือบบ่าย 2 โมง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจากเมืองเลห์ถึง Khardung La ถนนที่สูงที่สุดในโลก หรือ Highest Motorable Road in the world ถนนเส้นนี้อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล ถึง 18,380 ฟิต หรือประมาณ 5,615 เมตร 

 

  

 

ทุกคนลงจากรถไปถ่ายรูปกันสนุกสนาน ยังกับว่าอากาศมันไม่หนาวเลย แต่จริงๆ แล้ว ลมก็แรง แดดก็แรง และหนาวสุดๆ นั่งรถมา 2 ชั่วโมงเพื่อลงไปถ่ายรูปกันประมาณ 15 นาที เพราะทนยืนอยู่ข้างนอกรถไม่ไหว แต่ก็คุ้มนะ เพราะได้เห็นวิวภูเขาสวยๆ ของ 2 ประเทศเลย ทั้งอินเดียและปากีสถาน ซึ่งอยู่ห่างกันแค่ข้ามเขา และเส้นทางที่ผ่านมาก็งามตาเกินบรรยาย


 

เก็บบรรยากาศใส่กล้องกันเรียบร้อย ทุกคนก็เข้าประจำที่ในรถและออกเดินทางกลับเข้าเมือง มาถึงเมืองก็มีเวลาเดินเที่ยวอีกพักใหญ่ พวกเราแยกย้ายกันไปทำธุระของตัวเอง เรากับพี่ปลาไปเช็คเมล ซึ่งเช็คได้แต่ตอบไม่ได้เพราะมันไม่มีภาษาไทย ส่วนน้อยกับพี่หน่อยไปหาร้านกล้องต่อจนเจอ และส่งกล้องซ่อมไว้ที่ร้าน ซึ่งบอกว่าจะได้พรุ่งนี้เย็น พี่เสกปลีกตัวไปหาร้านไรท์รูปลงแผ่นซีดี และพวกเรานัดกันกลับไปกินข้าวเย็นที่โรงแรม

เรากลับมาถึงโรงแรม เห็นพี่เสกกำลังนั่งกินข้าวกับแกงไข่อยู่ด้วยหน้าตาบอกไม่ถูก คงเป็นเพราะฝีมือพ่อครัวจำเป็นของที่นี่น่ะ สมาชิกที่เหลือเห็นท่าแล้วเลยสั่งพวกไข่ต้มธรรมดา และอาหารแขกที่พอจะกินได้อีก 2 อย่างมาเพิ่ม และเสริมด้วยน้ำพริกสารพัดชนิดของพวกเรา ก็รอดตายกันไปอีกหนึ่งมื้อ อิ่มแล้วก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนนอนหลับ พรุ่งนี้ต้องออกแต่เช้าไปเที่ยวที่ทะเลสาบพันกองกัน

 

วันที่ 7   อังคารที่ 2 ตุลาคม 2550 Pangong Tso

 

 

 

6 โมงเช้า รถมารับพวกเราที่โรงแรม ออกเดินทางสู่ทะเลสาบพันกอง เราเตรียมเสบียงและอุปกรณ์กันหนาวไปด้วยเหมือนเดิม ระยะทางจากเมืองเลห์ถึงทะเลสาปประมาณ 200 กิโล ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง เส้นทางนี้จะวิ่งผ่าน ชางลา พาส (Chang La Pass) เส้นทางรถยนต์ที่อยู่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลกด้วย ถึงจะต้องนั่งรถนาน แต่วิวสองข้างทาง และเทือกเขาหิมะ ก็ทำให้คลายเบื่อไปได้เยอะ



 

เราไปถึงทะเลสาบพันกองประมาณ 10 โมง ทะเลสาบพันกอง (Pangong Lake หรือ Pangong Tso ในภาษาท้องถิ่น) มีความยาวถึง 40 ไมล์ และกว้าง 2-4 ไมล์ เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่อยู่สูงสุดในโลก คือมีความสูงถึง 14,256 ฟุตจากระดับน้ำทะเล พื้นที่ 25% ของทะเลสาปอยู่ในเขตของประเทศอินเดีย ส่วนอีก 75% อยู่ในดินแดนของจีน ทางการอินเดียเพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เมื่อไม่นานมานี้เอง


 

ทะเลสาบพันกองมีความสวยงามตรงที่มีภูเขาสูงเป็นฉากหลัง น้ำในทะเลสาปใสสะอาดและมีสีสันที่สวยสดใส เล่ากันว่ามีถึง 7 สีแล้วแต่มุมที่มอง ยิ่งในวันฟ้าใสที่ไม่มีเมฆ จะยิ่งสวยมาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าที่แสงพระอาทิตย์ส่องสะท้อนเงาภูเขาลงมาอยู่ในทะเลสาป(เหมือนที่เห็นในภาพโปสการ์ด) ยิ่งสวยใหญ่ แต่วันนี้ท้องฟ้ามีเมฆน่ะ แต่ก็สวยไปอีกแบบ

พวกเราเดินเล่นสำรวจริมทะเลสาบ และแอบพิสูจน์ว่าน้ำในทะเลสาปเค็มจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งก็ได้คำตอบว่า จริง แต่ไม่ได้เค็มมากเหมือนน้ำทะเล แค่กร่อยๆ น่ะ (กร่อยเป็นศัพท์ของลูกน้ำเค็ม แปลว่าไม่เค็มมาก เหมือนเอาน้ำทะเลมาผสมน้ำจืด แล้วจะได้รสชาติกร่อยขึ้นมา)


 

เดินเล่นได้พักหนึ่งก็มานั่งปิ๊กนิกริมทะเลสาบกัน ถึงจะเดินเล่นและนั่งชมบรรยากาศกันได้ไม่นานเท่าไหร่เพราะลมพัดจนหนาว แต่ถามว่าคุ้มมั้ยที่นั่งรถมา 4 ชั่วโมงเพื่อชมทะเลสาบแค่นี้ สำหรับเรามันคุ้มก็นะ อาจเพราะว่าเรายังไม่เห็นไปเห็นที่อื่นที่มันสวยกว่านี้มั้ง และที่นี่คือทะเลสาปน้ำเค็มที่สูงที่สุดในโลกด้วย อย่างน้อยก็คุยได้แหละว่าไปมาแล้ว


 

 

ก่อนจะกลับเข้าเมือง พวกเราแวะจิบชาแก้หนาวและสั่งแม็กกี้(มาม่าแขกต้ม) มากินรองท้องเป็นอาหารกลางวันกันก่อนออกเดินทางไกลอีก 4 ชั่วโมง ก่อนเข้าเมืองพวกเราแวะถ่ายรูปประตูเมืองเลห์ (Leh Gate) กัน เข้าเมืองมาตั้งหลายวันแล้ว ตั้งใจจะถ่ายตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เพิ่งสบโอกาส


 

 

แล้วก็ไปเดินเที่ยวในตลาดเมืองเลห์กันต่อ เพราะพรุ่งนี้พวกเราจะบอกลาเมืองเลห์กันแล้ว เดินไปเดินมาไปเจอตลาดขายผักผลไม้เข้าโดยบังเอิญ เห็นสีสันและความสดแล้วเลยเกิดอาการอยากทำกับข้าวกินเองกันขึ้นมา ขนซื้อผักกันเป็นการใหญ่แล้วไปขอใช้ครัวที่โรงแรม ทำอาหารสารพัดผักกินกันเป็นเรื่องสนุก มีทั้งผัดผักรวมมิตร ผัดกะหล่ำปลี ผักต้มจิ้มน้ำพริก และปิดท้ายด้วยไข่เจียว เป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในเลห์เลย ข้อดีของโรงแรมเล็กๆ ก็คือความเป็นกันเอง ทุกอย่างคุยกันได้ แม้แต่เรื่องบุกครัว ซึ่งเค้าก็ยินดี แถมมาคอยดูแลช่วยเหลือ และตื่นเต้นกับการทำอาหารของพวกเราไปด้วย เราแบ่งอาหารส่วนหนึ่งให้พวกเค้าได้ชิม แต่ไม่ได้ตามผลนะว่าเค้ากินได้หรือเปล่า แล้วจะมีใครท้องเสียมั้ย

            คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายในเลห์ พรุ่งนี้เช้าพวกเราจะโบกมือลาเมืองเลห์ มุ่งหน้าสู่แคชเมียร์-ศรีนาการ์ โดยต้องไปแวะค้างคืนระหว่างทางที่เมืองการ์กิล (Kargil)

 

วันที่ 8   พุธที่ 3 ตุลาคม 2550                  เลห์ (Leh) – การ์กิล (Kargil)

 

 

 

            หลังจากกินอาหารเช้ากลางแดดมื้อส่งท้ายเมืองเลห์เสร็จ พวกเราก็เก็บสัมภาระขึ้นรถพร้อมออกเดินทางไกล บอกลาเจ้าของโรงแรมที่น่ารักกันเรียบร้อย ก็ขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับครอบครัวเจ้าของโรงแรมด้วย เป็นครอบครัวที่น่ารักมาก และเราสัญญาว่าจะเอารูปมาให้เค้าในทริปหน้าที่มาเยือน คือประมาณกลางเดือนตุลานี้เอง

 

 

 

            เส้นทางจากเลห์สู่ศรีนาการ์ ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางที่สวยที่สุดเส้นหนึ่ง ซึ่งจะลัดเลาะผ่านหุบเขาสูงสารพัดสี และมีลำธารน้ำสีสดใสอยู่เคียงข้าง เราจะได้เห็นและได้สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างระหว่างเลห์และศรีนาการ์

 

 

 

ระหว่างทางจากเลห์ไปการ์กิล เราแวะเที่ยวและถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจในแต่ละเมืองที่ผ่าน โดยมีพลขับผู้ใจดีค่อยดูแล มีทั้งวัด ทั้งจุดชมวิว และมุมสวยๆ ที่พวกเราอยากแวะถ่ายรูป พลขับก็จะหยุดรถให้ตามใจ และสถานที่แรกที่แวะคือวัดอัลชิ (Alchi Gompa) วัดเก่าแก่อายุหลายร้อยปี เป็นวัดเล็กๆ ในหมู่บ้านที่ดูเงียบสงบ ทางเดินเข้าไปที่วัดจะผ่านหมู่บ้าน และได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่าย วิหารของวัดนี้สร้างด้วยไม้ผสมโครงสร้างที่เป็นอิฐในรูปแบบดั้งเดิมของชาวลาดัคห์ และภายในวิหารเก่าๆ นั้นมีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ด้วย ด้านหลังวัดติดกับลำธารที่มีน้ำสีฟ้าสวยทีเดียว


 

 ออกจากวัดได้พักหนึ่งเราก็ไปถึงเมืองอินดัส (Indus) แวะหาข้าวกลางวันกินกันที่นี่แหละ อินดัสเป็นเมืองเล็กๆ ที่ดูเรียบง่าย ผู้คนน่ารักและเป็นกันเอง มีร้านอาหารหลายร้านให้เลือก แต่ร้านที่เราแวะน่าจะดูดีที่สุดแล้ว มีอาหารประมาณพวกข้าวราดแกงบ้านเรา มีกับข้าวให้เลือกไม่กี่อย่าง เป็นพวกอาหารพื้นฐานที่แขกเค้ากินกันทุกมื้อ คือดาลหรือแกงถั่ว ผัดผัก แกงไข่ และสลัด แต่ลองแล้วรสชาติอาหารใช่ได้นะ โดยเฉพาะแกงไข่ที่พี่เสกยืนยันว่าดีกว่าฝีมือพ่อครัวจำเป็นที่โรงแรมในเลห์เยอะ และร้านนี้มีเครื่องดื่มสารพัดชนิดให้เลือก รวมทั้งขนมอีกหลายอย่าง และเราเลือกได้ช๊อกกะจุ๊บไปอมเล่นระหว่างนั่งรถอีกหลายอัน หลังจากที่ซื้อมาจากเมืองไทยเพิ่งหมดไป แล้วการเดินทางของช๊อกกะจุ๊บก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง


 

 

เราออกเดินทางกันต่อในเส้นทางที่เริ่มลัดเลาะขึ้นลงตามไหล่เขา และภูเขานั้นดูใหญ่โตขึ้นกว่าเส้นทางเดิมๆ ที่ผ่านมา รถวิ่งไปได้พักใหญ่ เรามาถึงจุดหมายต่อไป วัดลามายุรุ (Lamayuru) หรือที่คนไทยเรียกให้จำง่ายๆ ว่า วัดลามะอยู่รู และในสมัยก่อนลามะที่นี่ท่านอยู่ในรูกันจริงๆ แต่รูที่ว่านี้น่าจะเป็นลักษณะของที่พักที่ขุดเข้าไปในภูเขามากกว่า เพราะภูมิประเทศแถวนี้เป็นภูเขาสูงทั้งหมด และอากาศเย็นมากด้วย ขุดรูอยู่น่าจะอุ่นกว่า วัดลามายุรุตั้งอยู่บริเวณ Moon Land หรือหุบเขาที่มีสภาพคล้ายผิวดวงจันทร์มากที่สุด และตั้งอยู่บนเนินเขาสูงที่มองเห็นบรรยากาศโดยรอบของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งมีบ้านเรือนเรียงรายอยู่ตามไหล่เขาดูสวยแปลกตา


 
 

วันนี้ที่วัดมีการเก็บของครั้งใหญ่ ท่านเจ้าอาวาสและพระลามะกำลังตรวจนับสิ่งของต่างๆ ภายในวัด เพื่อเช็คจำนวนและขึ้นบัญชีไว้ก่อนจะส่งมอบให้กับผู้ดูแลคณะถัดไป ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนผู้ดูแลทุกๆ 3 ปี พวกเราเลยโชคดีได้เจอทั้งท่านเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และท่านก็ใจดีอนุญาตให้พวกเราเข้าไปชม และถ่ายรูปได้ แถมแจกขนมพวกเราด้วย




อีกมุมหนึ่งของวัดมีสถูปใหญ่ 2 สถูปตั้งอยู่คู่กัน ล้อมรอบด้วยกงล้ออธิษฐาน และหินบูชามากมาย ซึ่งเป็นหินที่แต่ละบ้านจะแกะสลักขึ้นเพื่อนำมาบูชาที่วัดแห่งนี้ปีละหนึ่งแผ่น ผู้คนที่นี่ดูน่ารักและใจเย็น ที่สำคัญคือยังคงมีพลังศรัทธาที่เต็มเปี่ยม


 

 

จากวัดลามายุรุ เรานั่งรถข้ามเขาอีกหลายลูก จนมาถึง Fotula Top จุดสูงสุดบนเส้นทางสายเลห์สู่ศรีนาการ์ หรือ Highest Point the Srinagar Leh Road จุดนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 13,479 ฟิต หรือประมาณ 4,118 เมตร 


 

 

จากนั้นอีกพักใหญ่ พลขับก็มาจอดที่ Chamba Statue ที่นี่มีพระพุทธรูปแกะสลักอยู่บนภูเขาหิน อายุเก่าแก่กว่าพันปี แต่มาถึงที่นี่เย็นแล้ว แสงสุดท้ายกำลังจากหายไป เลยได้ภาพไม่ค่อยสวยนัก

เราเข้าไปถึงที่พักโรงแรม D’ZOJILA ในเมืองการ์กิลค่ำแล้ว จริงๆ นาฬิกาบอกเวลาแค่ 6 โมงเย็นเอง แต่หน้าหนาวมืดเร็วน่ะ โรงแรมนี้เป็นที่พักระดับ 5 ดาวของเมือง ซึ่งถ้าเทียบกับโรงแรมในเมืองใหญ่ คงได้สัก 2-3 ดาวเท่านั้น แต่ก็คงจะดีที่สุดสำหรับเมืองทางผ่านอย่างนี้ ห้องพักสะอาด อาหารพอใช้ มีน้ำอุ่นให้ ก็พอแล้วล่ะ พวกเราเก็บของเข้าห้องและรอเวลาห้องอาหารค่ำเปิดตอน 2 ทุ่ม แต่ก็ไม่ผิดหวังที่ต้องรอ เพราะมื้อนี้ได้กินแกงแพะอร่อยๆ และมีอาหารแขกอีก 2 อย่าง ซึ่งเป็นอาหารที่โรงแรมจัดให้เอง ไม่มีเมนูให้เลือกสั่งนะ แต่รสชาติอาหารโอเคกว่าที่เลห์เยอะ หลังอาหาร พวกเราก็แยกย้ายไปพักผ่อนตามระเบียบ เก็บแรงไว้นั่งรถต่อพรุ่งนี้อีกวัน เพราะไม่อยากหลับบนรถกัน กลัวจะพลาดวิวสวยๆ ระหว่างทางน่ะ

 

วันที่ 9   พฤหัสที่ 4 ตุลาคม 2550 การ์กิล (Kargil) – ศรีนาการ์ (Srinagar)

            6 โมงเช้า พวกเราออกจากโรงแรมแต่ไก่โห่ เพราะถ้าออกสายจะติดขบวนรถทหาร ที่สำคัญคือพวกเราต้องไปเจรจาเรื่องจะขอให้ใช้รถคันเดิมนี้ไปถึงศรีนาการ์ โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถ เพราะโดยปกติแล้ว รถรับจ้างแต่ละพื้นที่จะต้องไม่วิ่งทับเส้นทางกัน รถจากเลห์จะส่งได้แค่การ์กิล แล้วต้องใช้รถที่การ์กิลต่อไปถึงศรีนาการ์ ไม่ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตกันไว้ก่อน แต่คราวนี้เค้าทำเรื่องไม่ทัน และหลังจากเจรจาอยู่เป็นชั่วโมง สุดท้ายพวกเราก็ต้องเปลี่ยนรถอยู่ดี เพราะคิวรถทางการ์กิลไม่ยอมให้รถคันเดิมไปต่อ ถ้าจะใช้คันเดิมก็ต้องจ่ายค่ารถของคิวเค้าเต็มจำนวน เหมือนใช้รถเค้าไปอยู่ดี ก็พอเข้าใจนะว่าเรื่องผลประโยชน์มันพูดยากน่ะ

 

 

            ย้ายสัมภาระจากรถคันเดิมมาใส่รถคันใหม่เรียบร้อยก็ออกเดินทางต่อ ถึงจะไม่ค่อยสบอารมณ์กับการต้องย้ายรถในช่วงแรก แต่ผ่านไปสักพัก บรรยากาศสวยๆ ข้างทางก็ทำให้อารมณ์เสียๆ หายไป เส้นทางนี้วิวสวยสมคำล่ำลือ พวกเราถ่ายรูปกันสนุกไปเลย แต่ยิ่งใกล้เขตศรีนาการ์การถ่ายรูปก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะมีจุดตรวจบนเส้นทางเป็นระยะๆ บางจุดก็ไม่เรื่องมาก บางจุดก็ตรวจละเอียดหน่อย และหลายบริเวณเป็นพื้นที่ทหารที่ห้ามถ่ายรูป ตามชง้อนผาหรือพุ่มไม้ข้างทางบางจุดก็มีทหารซุ่มอยู่ พี่เสกเยือนมือออกไปถ่ายรูป โดนทหารใช้กระจกสะท้อนแสงส่งสัญญาณมาเตือนคนขับรถ แล้วคนขับเค้าก็เตือนเราอีกทีว่าห้ามถ่ายรูป ยิ่งใกล้ศรีนาการ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้มงวดมากเท่านั้น

 

 

มีจุดตรวจหนึ่งซึ่งอยู่บริเวณหุบเขา เรียกพวกเราลงไปเช็คชื่อและขอดูหน้าตามพาสปอร์ตทีละคน จากที่ปกติพลขับจะลงไปจัดการให้เรียบร้อย แล้วพวกเรานั่งรออยู่ในรถ พวกเราเลยต้องลงไปสัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็นมากในบริเวณนั้น พี่หน่อยถามทหารที่ด่านว่าตอนนี้อุณหภูมิเท่าไหร่ ทหารหาญที่นั่งอยู่ในเต็นท์ ซึ่งอากาศอุ่นกว่าข้างนอกมาก ตอบพวกเราว่า “-8” เท่านั้นแหละ พวกเราก็รู้สึกหนาวสะท้านขึ้นมาจับใจ ติดลบแปดเชียวเหรอ ก็รู้นะว่าหนาว แต่ไม่คิดว่าจะถึงขนาดติดลบ ที่นี่ลบแปด โอ้...แม่เจ้า หนาวที่สุดในชีวิตแล้วที่เคยเจอ และหลังจากผ่านจุดตรวจนั้นมา เราก็ได้เห็นวิวงามๆ ของหุบเขาแห่งนี้

 

 

            เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง แล้วในที่สุดพวกเราก็มาถึงจุดหมายแรกของวันนี้ โซนามาร์ค (Sonamarg) เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่ลาดัคห์ (Gateway to Ladakh) หรืออีกความหมายหนึ่งคือเมืองที่ยากแก่การค้นหา เราแวะกินข้าวกลางวันกันที่นี่ และพอเติมพลังเสร็จ เราก็ไปขี่ม้าชมธรรมชาติสวยๆ ของโซนามาร์คกัน แต่กว่าจะได้ขึ้นม้า นึกว่าจะเกือบโดนแขกเลี้ยงม้ารุมเสียแล้ว เพราะพุ่งเข้ามาแย่งลูกค้ากันจนน่ากลัว แต่พอเจรจาเรื่องราคาได้เรียบร้อย ตัวละ 150 รูปี เดินไปจนถึงธารน้ำตก และเลือกม้าได้แล้วก็โดดขึ้นหลังเตรียมออกเดินทาง แต่สงสัยจะเหวี่ยงขาขึ้นม้าแรงไปหน่อย เจ้าลูกชายตัวเก่ง(กล้อง) ที่คล้องอยู่ที่คอเลยเหวี่ยงไปโดนคนเลี้ยงม้าเสียปากแตกเลือดกบเลย (ขออภัยอย่างแรง ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ สงสัยจะต้องจ่ายทิปเป็นค่าปากแตก)

 

 

 

            โซนามาร์บรรยากาศดีมาก วิวสวย ได้ขี่ม้าเดินกันเป็นขบวน เทห์มากๆ เสียอย่างเดียวคือถ่ายรูปบนหลังม้ามันลำบากไปหน่อย โซนามาร์ค ตั้งอยู่ในหุบเขาชิน (Sindh) เป็นจุดที่มีน้ำตกที่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็ง (Garcier) ให้ได้ชม ซึ่งต้องขี่ม้าขึ้นไป ระหว่างทางก็มีวิวสวยๆ ของเทือกเขา Shakhdan (ภาษาท้องถิ่น ทาจิวาส) ให้ได้ยลกัน

            ระหว่างทางมีทุ่งหญ้าเขียวๆ มีฝูงแกะเดินหากินกันกลุ่มใหญ่ ธรรมชาติที่นี่อุดมสมบูรณ์และสวยมากๆ แต่เจ้าเด็กคนที่จูงม้าของเรานี่ซิ ชอบทำเสียบรรยากาศ เพราะชอบแข่งกับคนอื่น ชอบตีให้ม้าวิ่ง บางทีก็พาเลี้ยวแยกจากคนอื่นเค้า เหมือนปาดไปปาดมาเพื่อจะแซง เดินไปก็เถียงกันไปทะเลาะกับคนอื่นไปตลอดทาง (ถึงจะฟังไม่ออกแต่ก็รู้ว่าเค้าทะเลาะกันนะ) แต่เด็กก็คือเด็กแหละ ดันไปทำพ่อเค้าปากแตกเค้าเลยส่งลูกมาแทนมั้ง รูปก็จะถ่าย กลัวตกก็กลัวเวลาที่ม้ามันเลี้ยวบ้าง วิ่งบ้างแต่มือยกกล้องถ่ายรูปอยู่ จะไม่จับกล้องคล้องกับคอไว้เฉยๆ ก็กลัวกล้องหล่น บางทีก็กระแทกกับอานม้าบ้าง สรุปว่าการขี่ม้าครั้งนี้ชีวิตวุ่นวายมาก เพราะห่วงหลายอย่างเหลือเกิน           

            และนอกจากเจ้าเด็กจูงม้าที่นิสัยเสียแล้ว ผู้ใหญ่ที่นี่ยังไว้ใจไม่ได้ด้วย (จริงๆ เท่าที่คอยเจอ แขกแทบทุกทีแหละ ไว้ใจไม่ได้) พาม้าเดินไปได้พักหนึ่ง ถึงจุดตั้งแคมป์ หันมาบอกพวกเราว่ามาถึงแค่ตรงนี้ ดีที่น้อยคอยมาแล้ว เลยรู้ว่าจุดที่ตกลงกันไว้ต้องขึ้นไปถึงธารน้ำแข็ง ซึ่งเลยขึ้นไปอีก พอโดนรู้ทันเค้าก็ไม่ได้ว่าอะไร แล้วก็พาม้าเดินต่อ ถ้าคนที่ไม่เคยมาและไม่รู้อะไร ก็คงเสียท่าแขกอีกแล้วซินะ ความเจริญมักมาพร้อมกับความเสื่อมเสมอ ธุรกิจท่องเที่ยวที่เจริญขึ้น ทำให้จิตใจคนที่นี่เสื่อมลงจริงๆ 

 

 

            ลงจากหลังม้าไปชมบรรยากาศงามๆ ของโซนามาร์คและถ่ายรูปกันจนหนำใจ อากาศเริ่มครึ้มๆ เหมือนฝนหรือหิมะจะตก พวกเราเลยรีบขึ้นม้ากลับกัน ขากลับก็ยังคงมีปัญหากับเด็กเลี้ยงม้าอยู่เหมือนเดิม ชอบตีให้ม้าวิ่งเร็วๆ ต้องคอยบอกให้ Slow slow เป็นระยะๆ กว่าจะออกมาถึงที่หมาย ก้นร้อนไปตามๆ กัน พอลงจากหลังม้าก็โดนรุมของทิปอีก เราให้ทิปเจ้าของม้าที่เราทำเขาปากแตก แต่ไม่ได้ให้เด็กจูงม้าซึ่งเป็นลูกชายเขา เพราะไม่ชอบใจนิสัยแย่ๆ ของเด็กคนนี้

            ออกจากโซนามาร์คเราก็มุ่งหน้าสู่ศรีนาการ์ ยิ่งเข้าใกล้เมืองก็ยิ่งเห็นทหารถือปืนยืนกันเต็มไปหมด เพราะแคชเมียร์-ศรีนาการ์เป็นพื้นที่ที่มีปัญหากับปากีสถานอยู่ เลยต้องคุมเข้มเป็นพิเศษ เห็นแล้วนึกถึงปัญหาภาคใต้บ้านเราเลย แล้วเราควรจะรู้สึกว่ามันน่ากลัวหรือมันปลอดภัยดีนะ ที่มีทหารเต็มเมืองขนาดนี้ และคำเตือนสำหรับการมาเที่ยวที่นี่ คืออย่าออกไปไหนคนเดียว ควรไปกันเป็นกลุ่ม จะแยกตัวออกไปเดินเล่นกินลมชมวิวนั้นไม่ควร กลางค่ำกลางคืนก็ไม่ควรออกไปนอกที่พัก เพราะอาจจะถูกอุ้มหายไปเลย หรือไม่ก็อาจจะได้เป็นข่าวใน CNN ดังไปทั่วโลก

พวกเราถึงศรีนาการ์ช่วงเย็น แต่ที่พักคืนแรกในศรีนาการ์เรายังไม่ได้พักที่เรือบ้าน (House Boat) กันนะ เพราะอยากประหยัดงบหน่อย ก็เราต้องพักที่นี่ตั้ง 3 คืน เรือบ้านตกคืนละประมาณ 2,200 – 2,500 รูปี วันนี้มาถึงก็เย็นมากแล้ว หาที่พักบนฝั่งสักคืนก่อน พรุ่งนี้เช้าค่อยลงเรือบ้านกัน

            คู่หูนักเดินทางอย่าง lonely planet ยังคงใช้การได้ดี พี่ปลาเปิดหาข้อมูลโรงแรมแล้วเลือกได้มาหนึ่งที่ ชื่อโรงแรม Drum Drum ราคาคืนละ 350 – 400 รูปี น้อยทำการโทรมาสอบถามและจองไว้ตั้งแต่เมื่อวาน แต่รถที่มาส่งเราวนหาโรงแรมอยู่พักใหญ่กว่าจะเจอ จริงๆ มันอยู่ติดถนนเส้นหลักที่แสนวุ่นวายนั่นแหละ แต่มันเป็นโรงแรมเล็กๆ สำหรับคนที่นี่ เลยไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่อ กว่าจะถามหาจนเจอ เลยเสียเวลาไปเยอะ เราส่งตัวแทนไปเจรจาและดูสภาพห้องเรียบร้อย ผ่านเกณฑ์มาตรฐานพอรับได้ ก็ขนของลงจากรถเข้าที่พักในคืนแรกของศรีนาการ์กัน

            Drum Drum เป็นโรงแรมเล็กๆ ราคาถูก แต่พอใช้ได้นะ อยู่ในย่านตลาด ข้างนอกอาจจะเสียงดังและดูวุ่นวายไปสักหน่อย แต่ข้างในโอเค พอเริ่มค่ำ ทุกอย่างก็จะเงียบสงบ พวกเราออกไปหาข้าวเย็นกินกันก่อนที่จะค่ำ เพราะกลัวว่าดึกมากเดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย และอย่างที่บอก ไปไหนต้องไปเป็นกลุ่ม ห้ามแยกออกไปเดินเดี่ยว เพราะอันตรายต่อสวัสดิภาพตัวเอง

            มื้อแรกในศรีนาการ์อิ่มอร่อยใช้ได้เลย พออิ่มท้องกันแล้วก็ชักแถวเดินกลับที่พัก ทหารยังคงแข็งขันยืนกันเป็นระยะๆ ถึงที่พักก็อาบน้ำนอนเก็บแรงไว้เที่ยวต่อกันพรุ่งนี้เช้า รถจะมารับเราไปเช็คอินเข้าพักที่เรือบ้าน แล้วค่อยไปเที่ยวกันต่อ

 

วันที่ 10 ศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2550    ทะเลสาปดาล (Dal Lake) – กุลมาร์ค (Gulmarg)

            ตื่นเช้ามาสาวๆ เตรียมอาบน้ำแต่งตัวรอราชรถมารับ แต่สองหนุ่มของเราหายไปทั้งคู่ สงสัยไปโทรตามรถนั่นแหละ เพราะเกินเวลานัดมามากรถก็ยังไม่มา และที่ช้าก็เพราะคนขับรถเค้าหาที่พักของพวกเราไม่เจอ น้อยกับพี่เสกเลยต้องออกไปโทรหาและบอกทาง

            บรรยากาศยามเช้าของเมืองนี้ เงียบสงบ แตกต่างจากเมื่อเย็นวานมากๆ ไม่ค่อยมีรถและผู้คนออกมาเดินเท่าไหร่นัก พี่เสกบอกว่าตอนจะออกไปข้างนอกเมื่อเช้านี้ คนของโรงแรมก็ไม่ยอมเปิดประตูให้ออก เหมือนต้องรอให้ได้เวลาเกือบ 8 โมง เค้าถึงเปิดให้ออกมาข้างนอกได้ ร้านรวงส่วนใหญ่ก็ยังไม่เปิด กว่าจะหาที่โทรศัพท์หาคนขับรถให้มารับได้ก็ตั้งนาน นี่คงเป็นอีกมาตรการหนึ่งของการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่นี้สำหรับนักท่องเที่ยวนะ

 

 

            พวกเราเก็บของออกจาก Drum Drum ขึ้นราชรถคันงาม เพื่อให้ไปส่งที่ท่าเรือ โดยมีพ่อบ้านของเรือลำที่พวกเราจะไปพักมารอรับ แล้วก็พาพวกเราลงเรือชิคารา (Shikara) พาหนะประจำของทะเลสาปดาล ล่องเรือชมบรรยากาศยามเช้าของทะเลสาป ไปจนถึงเรือบ้าน New Crystal Palaceที่พักสำหรับ 2 คืนสุดท้ายในแคชเมียร์ของพวกเรา

ชาวแคชเมียร์ส่วนใหญ่อพยพมาจากดินแดนเปอร์เซีย ค้าขายโดยใช้เรือไม้เป็นบ้านล่องจากแม่น้ำมายังทะเลสาบ จนกระทั่งถึงยุคอาณานิคม ชาวอังกฤษก็ได้ดัดแปลงเรือเหล่านี้ให้กลายเป็นโรงแรมที่พัก และได้รับความนิยมมากจนชาวแคชเมียร์สร้างเรือบ้านเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันการมาท่องเที่ยวและพักแรมในเรือบ้านนับเป็นไฮไลน์หนึ่งในการมาเยือนดินแดนแห่งนี้


 

 

ภายในเรือบ้าน “New Crystal Palace” ตกแต่งไว้อย่างหรูหรา ปูด้วยพรมทั้งลำ ซึ่งเมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทอพรมด้วย บนเรือลำนี้แบ่งเป็น 4 ห้องนอน เรือแต่ละลำที่นี่จะมีพ่อบ้านและพ่อครัวลำละคน ลำนี้มีพ่อบ้านชื่อ “มร.ดีน น่ารักและใจดีมากๆ แต่งตัวดี และปฏิบัติกับพวกเราราวกับเป็นพ่อบ้านในบ้านผู้ดีอังกฤษเลย ส่วนพ่อครัวที่ทำอาหารอร่อยๆ ให้พวกเรากินทุกมื้อชื่อว่า ฟาส จริงๆ ในภาษาอิสลามของเขาน่าจะออกเสียงว่า ฟายาส มากกว่า(ตามข้อสันนิษฐานของพี่ปลา) แต่พวกเราก็เรียกว่าฟาสนั่นแหละ


 

พวกเราเก็บของเข้าห้อง และชื่นชมความสวยงามของห้องพัก รวมทั้งบรรยากาศรอบๆ เรือกันได้ครู่หนึ่ง ก็ได้เวลากินอาหารเช้ากัน เติมพลังเรียบร้อย พวกเราก็ลงเรือชิคาราไปขึ้นฝั่งที่ท่าเดิม เพื่อขึ้นรถไปเที่ยวต่อกันที่กุลมาร์ค ภูเขาที่จะแปลร่างเป็นลานสกีในช่วงฤดูหนาว กุลมาร์ค (Gulmarg) อยู่ห่างจากทะเลสาปดาลประมาณ 56 กิโลเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,730 เมตร เป็นภูเขาที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในแคชเมียร์ เดิมเรียกว่า เการิมาร์ค ซึ่งแปลว่า ทุ่งดอกไม้ ตั้งโดยสุลต่านยูซุปชาร์ ในศตวรรษที่ 16 เนื่องจากที่นี่เป็นทุ่งหญ้าที่เต็มไปด้วยดอกไม้ป่าตามฤดูกาล



 

ระหว่างทางสู่กุลมาร์คเรานั่งชมบรรยากาศสวนแอปเปิ้ลสองข้างทางไปเรื่อยๆ ซึ่งพวกเราจะมาแวะชมสวนกันตอนขากลับ พอเข้าสู่เขตกุลมาร์คเราแวะที่จุดชมวิวกันก่อน แล้วถึงขึ้นไปนั่งกระเช้าไฟฟ้า(เคเบิ้ลคาร์) สู่ยอดเขากุลมาร์คซึ่งเป็นลานสกี ด้วยราคา 200 รูปีไปถึงลานด้านล่าง ซึ่งเป็นจุดแรก แต่ถ้าจะขึ้นไปถึงยอดบนสุดต้องขึ้นเคเบิ้ลอีกทอดหนึ่ง ราคา 500 รูปี สรุปว่าถ้าจะขึ้นไปถึงยอดสูงสุดต้องจ่าย 700 รูปี แต่ช่วงนี้ยังไม่มีหิมะ ลานสกียังเล่นไม่ได้ เราเลยขึ้นไปแต่ลานด้านล่าง ซึ่งตอนนี้เป็นทุ่งหญ้าสีเขียวไปทั้งลาน เราถ่ายรูปและนั่งจิบชากันอยู่พักใหญ่ แล้วก็นั่งกระเช้ากลับลงมาด้านล่าง ออกจากกุลมาร์คก็ไปแวะหาข้าวกลางวันกินกัน จากนั้นก็มุ่งสู่จุดหมายต่อไปของพวกเราคือ สวนแอปเปิ้ล


 

 

เพิ่งได้เห็นลูกแอปเปิ้ลที่อยู่บนต้นชัดๆ เต็มๆ ตาก็คราวนี้แหละ ระหว่างเส้นทางที่ผ่านมาตั้งแต่มะนาลี จนถึงที่เลห์ ได้เห็นแบบไกลๆ น่ะ แต่คราวนี้ได้สัมผัสลูกแอปเปิ้ลบนต้นเลย แถมได้ชิมและได้ซื้อแอปเปิ้ลสดจากสวนด้วย ตื่นเต้นๆ (สวนที่นี่เก็บค่าเข้าชมสวนคนละ 5 รูปี นะ)


  

 

ออกจากสวนแอปเปิ้ลเราก็กลับเข้าเมือง แล้วไปเที่ยวกันต่อที่ มัสยิดจามี (Jami Masjid) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Green Masjid ซึ่งถือว่าเป็นมัสยิดกลาง สร้างขึ้นด้วยอิฐและไม้ โดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว เป็นมัสยิดที่สวยมาก มีเด็กๆ มุสลิมเข้ามารุมล้อม ถามชื่อบ้าง อยากถ่ายรูปบ้าง น่ารักสดใสตามประสาเด็ก เห็นแล้วนึกถึงภาคใต้บ้านเรา ถ้าทุกคนต้อนรับและยิ้มให้กับผู้มาเยือนเหมือนเด็กๆ ที่นี่ ก็คงจะดี

จากมัสยิดจามี พวกเราไปแวะช็อปปิ้งกันที่โรงงานผ้า ก่อนจะกลับเข้าที่พักในทะเลสาป เพื่อเตรียมตัวกินอาหารค่ำ และมื้อค่ำนี้พวกเราได้กินแกงแพะ และอาหารอีกหลายอย่าง รสชาติอร่อยใช้ได้เลย(แตกต่างจากที่เลห์มากๆ) มีของหวานเป็นแอปเปิ้ลรอยแก้วแช่เย็นตบท้ายด้วย อร่อยเหาะไปเลย

หลังอาหารพวกเราได้ช็อปปิ้งกันอีกนิดหน่อย จากพ่อค้าที่เอาของมาเสนอขายถึงในเรือที่เราพัก เสียตังค์กันจนสบายใจก็แยกย้ายกันไปอาบน้ำนอนได้ พรุ่งนี้เราจะออกจากเรือกันแต่เช้าเพื่อไปเที่ยวพาฮาลแกม

วันที่ 11 เสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2550          ทะเลสาปดาล (Dal Lake) – พาฮาลแกม (Pahalgam)

            ทานอาหารเช้าบนเรือกันเรียบร้อย พวกเราก็เตรียมตัวออกเดินทาง พลพายเอาเรือชิคารามารอพร้อมอยู่แล้ว วันนี้จุดหมายของพวกเราคือ พาฮาลแกม (Pahalgam) อยู่ทางตอนใต้ของเมืองศรีนาคา ระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,130 เมตร พาฮาลแกมเป็นเมืองแห่งเขาสูงและทุ่งหญ้า แต่เดิมเป็นเมืองที่เลี้ยงแกะ แต่ปัจจุบันเป็นเมืองตากอากาศที่ขึ้นชื่อ เพราะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี เส้นทางจากศรีนาการ์สู่พาฮาลแกม จะผ่านหมู่บ้าน ทุ่งนา ทุ่ง Saffron หรือ หญ้าฝรั้น ซึ่งเป็นเครื่องเทศและยาที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง เป็นสินค้าขึ้นชื่อของที่นี่ด้วย (แต่ตอนนี้ดอกยังไม่บาน เลยเห็นเป็นทุ่งโล่งๆ แต่ถ้ามาตอนที่ดอกกำลังบาน จะเห็นเป็นทุ่งดอกไม้สีม่วงกว้างใหญ่มาก อยากเห็นๆ) จัดเป็น รวมทั้งป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งวอลล์นัตชั้นดี มีต้นวอลล์นัตต้นใหญ่ๆ มากมาย แต่ช่วงนี้มีมีลูกนะ

 

 

ช่วงที่พวกเราไปเป็นฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาเกี่ยวข้าวไปแล้ว และก็กำลังช่วยกันนวดข้าวอยู่ โดยใช้แรงงานคน ไม่ได้อาศัยเครื่องจักร คงเหมือนชาวนาบ้านเราในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้คงไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วในเมืองไทย

นั่งรถสบายอารมณ์ชมทิวทัศน์ข้างทางอยู่ดีๆ พอเลี้ยวรถเข้าเขตพาฮาลแกม ก็มีกลุ่มหนุ่มฉกรรจ์หลายคนวิ่งเข้าใส่รถ พวกเราตกใจกันทั้งคัน นึกว่าเค้าจะเข้ามาทำอะไรรถหรือว่าพวกเรา จริงๆ แล้วพวกเขาคือบรรดาคนเลี้ยงม้าที่มาดักลูกค้าน่ะ ทำเอาพวกเราใจหายใจคว่ำหมด นี่เป็นวิธีการเรียกลูกค้าหรือไล่ลูกค้าเนี่ย วิ่งเข้าใส่รถแล้วก็ยืนห้อยโหนเกาะติดรถมาด้วยเลย เพื่อมาตามตื้อพวกเราให้เช่าม้า แต่มร.อาลี พลขับผู้น่ารักช่วยเจรจาให้ ที่นี่เราต้องขี่ม้าขึ้นไปบนเขาเพื่อขึ้นไปบนพาฮาลแกม ราคาม้าตัวละ 200 รูปีไม่รวมทิป ถ้ารวมทิปตัวละ 250 แต่เราไม่จำเป็นต้องทิป 50 เสมอไปนี่นา มันขึ้นอยู่กับความพอใจมากกว่า เราก็เลยเลือกแบบ 200 จะทิปเท่าไหร่ค่อยดูอีกที (แต่ถ้าสบายใจไม่ต้องให้แขกมาตามขอทิปอีก จะเลือกแบบ 250 ก็ได้นะ)


 

 

ม้าที่นี่ตัวใหญ่กว่าและสวยกว่าที่โซนามาร์คนะ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่มันจะตัวใหญ่กว่า เพราะม้าที่นี่ต้องไต่ขึ้นเขา ต้องใช้กำลังเยอะกว่าที่โซนามาร์ค ระหว่างทางขึ้นเราขี่ม้าผ่านทิวสนอันแสนโรแมนติก ขึ้นไปถึงด้านบนพาฮาลแกม จะเห็นทุ่งหญ้าเขียวขจีเป็นลานกว้าง โดยมีฉากหลังเป็นเทือกเขาสูงที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ อากาศเย็นสบายดีจัง


 

บางคนบอกว่าที่นี่เหมือนสวิสเซอร์แลนด์ ไอ้เราก็ไม่เคยไปสวิสฯ เสียด้วยซินะ เลยออกความคิดเห็นไม่ได้ พวกเราเดินเล่น ถ่ายรูป นั่งชมธรรมชาติกันได้พักใหญ่ ท้องก็เริ่มร้องว่าหิว ได้เวลากลับกันแล้วซินะ

ขาขึ้นก็ว่าลำบากแล้วนะ ที่ม้าต้องไต่ขึ้นเขา แต่ขาลงนี่น่ากลัวกว่า เพราะว่ามองเห็นความสูงของเขาที่ม้าต้องไต่ลงไป ถ้ามันลื่นหรือหกล้มไป คนอยู่บนหลังม้าอย่างพวกเราแย่แน่ๆ นั่งเกร็งก้นกันเสียจนเหนื่อย แต่สุดท้ายพวกเราก็กลับลงมาได้อย่างปลอดภัยนะ


 

 

หาข้าวกลางวันแถวพาฮาลแกมกินกันก่อนจะขึ้นรถกลับศรีนาการ์ กว่าจะถึงทะเลสาปดาลก็เย็นแล้ว แวะเข้าไปเที่ยวที่สวนนิสชา (Nishat Gardens) สวนเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงค์โมกุล ในสวนนี้มีต้นนิสชาอายุกว่าพันปี คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่ามันคือต้นเมเปิ้ล (ซึ่งมันก็เหมือนจริงๆ นะ) แต่คนพื้นที่เค้ายืนยันว่าไม่ใช่ชนิดเดียวกัน เราก็เลยไม่แน่ใจ สรุปว่าไม่ยืนยันแล้วกันนะว่ามันคือเมเปิ้ลหรือไม่ แต่หน้าตามันคล้ายกันมากๆ อาจจะเป็นญาติสนิทกันนะ


 

 

จากสวนนิสชาจะมองออกไปเห็นทะเลสาปดาลสวยเชียว แต่ตอนนี้แสงใกล้จะหมด และมีเมฆเต็มฟ้า เลยได้ภาพสไตล์ย้อนแสงมาแทนภาพฟ้าใสทะเลสาปสวย


 

ออกจากสวนนิสชา เราก็กลับเข้าที่พักบนเรือกัน มื้อค่ำส่งท้ายแคชเมียร์คืนนี้ หนุ่มๆ จะโชว์ฝีมือทำต้มยำไก่ และน้ำพริกผักต้มให้กินกันด้วย ส่วนเมนูเนื้อสัตว์ของฟาสก็เป็นปลาทอดตัวใหญ่สไตล์แม็กซิกัน หั่นเป็นชิ้นๆ โรยด้วยมันฝรั่งทอด เป็นอีกมื้อที่อิ่มหนำสำราญมากๆ ทานอาหารค่ำเสร็จก็ช็อปปิ้งต่ออีกนิดหน่อย เพราะพรุ่งนี้จะกลับบ้านแล้ว คืนนี้พี่เสกเฝ้ารอพ่อค้าขายเสื้อคนหนึ่งอยู่ เพราะแอบปิ้งเสื้อขนแพะตัวนึงไว้ เตี๊ยมกับพี่หน่อยไว้เสร็จสรรพว่าจะให้ต่อเท่าไหร่ แต่พอพ่อค้ามาถึงถามราคากันเรียบร้อย พี่หน่อยถึงกับหัวเราะก๊าก เพราะราคาที่พี่เสกบอกไว้ มันคนละเรื่องเลย แบบว่ามันแพงหูฉี่ จนเจ้าแม่อย่างพี่หน่อยยังไม่กล้าต่อ (เสื้อตัวละ 8,000 จะต่อเหลือ 1,800 คงกลัวโดนพ่อค้าตบน่ะ) สรุปว่าพี่เสกฟังราคาผิดไปหน่อย และในที่สุดพี่เสกก็ไม่ได้เสื้อตามที่ตั้งใจ (พี่เสกมักมีเรื่องให้พวกเราได้ฮาเสมอๆ โดยที่แกไม่ได้ตั้งใจ และเป็นอีกสีสันหนึ่งที่ทำให้ทริปนี้สนุกสนาน เพื่อนร่วมทางฉันชื่อเสกสรร เลยเป็นคำพูดที่พี่หน่อยและพวกเราจะจดจำไปอีกแสนนาน

คืนนี้พวกเราปิดการซื้อกันเร็วหน่อย เพื่อจะรีบเข้านอน เพราะพรุ่งนี้ต้องตื่นกันแต่เช้ามืด เพื่อไปเที่ยวชมตลาดน้ำของแคชเมียร์

 

วันที่ 12 อาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2550  ศรีนาการ์ (Srinagar) – นิวเดลี (New Delhi) - กรุงเทพมหานคร

 

 

ปลุกกันแต่เช้ามืด เมาขี้ตาลงเรือล่องไปในความหนาวเย็นบนผืนน้ำ เพื่อไปดูตลาดน้ำ ซึ่งเป็นตลาดที่พ่อค้าจะพายเรือมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน อันได้แก่พืชผลทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีผักสดๆ หน้าตาน่ากินมากมายเลย เห็นแล้วคิดถึงผัดผักจัง

ฟ้ายังไม่ทันจะสว่างดี แต่พวกเราหมดเวลาสำหรับการชมตลาดน้ำแล้ว เพราะต้องไปเตรียมเก็บของเพื่อขึ้นเครื่องกลับเดลลี จากเดิมที่เครื่องจะออกประมาณเที่ยง ทางสายการบินโทรมาแจ้งกับมร.ดีนเมื่อคืนว่าเครื่องจะออกเร็วขึ้น เป็นประมาณ 10 โมง (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสายการบินที่นี่ ที่จะเลื่อนเวลาบิน ไม่รู้ว่าเพราะสภาพอากาศ หรือเพราะเป็นมาตรการหนึ่งด้านความปลอดภัยนะ) พวกเราเลยมีเวลาเที่ยวน้อยลงไปสองชั่วโมง

กลับมาถึงเรือบ้าน กินอาหารเช้ากันเรียบร้อย ยัดของลงกระเป๋าแบบเร่งด่วน แล้วก็บอกลาทะเลสาปดาล และเรือบ้านที่แสนสุข เราจะกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้งเร็วๆ นี้ (มีลูกค้าทริปต่อไปรออยู่เรียบร้อยแล้ว)

ระหว่างนั่งเรือชิคาราไปขึ้นที่ท่าเรือ เพื่อต่อรถไปสนามบิน ก็เหมือนทุกครั้ง คือมีเรือพ่อค้ามาประกบเรือเราเพื่อเสนอขายของ และแม้ว่าจะรีบร้อนเพราะกลัวจะตกเครื่อง แต่พี่หน่อยก็ยังสามารถช็อปปิ้งได้อยู่ดี สรุปว่าเงินรูปีที่เหลือติดตัวอยู่ทั้งหมด พี่หน่อยสละให้กับของที่ระลึกเปเปอร์มาเช่ย์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย พ่อค้าก็เกิดมาช่างขายจริงๆ ขนาดพี่หน่อยซื้อจนเหลือเศษตังค์แค่ 80 รูปี เขาก็ยังดึงออกไปจากกระเป๋าพี่หน่อยได้ แลกกับการขายกล่องเล็กๆ ได้อีกหนึ่งกล่อง สุดยอดทั้งคนขายและคนซื้อเลย

รถพาเรามาถึงสนามบินเมืองศรีนาการ์ทันเวลา แม้ว่าจะต้องผ่านการตรวจแล้วตรวจอีกอยู่หลายรอบ สนามบินที่นี่ตรวจเข้มงวดมากๆ มีค่ายทหารอยู่ในสนามบินด้วย แต่มองในแง่ดี นักเดินทางอย่างเราก็อุ่นใจได้ว่าตรวจขนาดนี้เราจะปลอดภัยแน่นอน และแม้ว่าจะไม่ถึงกับห้ามนำกระเป๋าทุกใบขึ้นเครื่อง แต่ทางที่ดี ของอะไรที่ไม่จำเป็นนัก ก็ควรจะโหลดไปกับกระเป๋าเสื้อผ้าให้หมด เพราะการตรวจค้นที่นี่ละเอียดมาก บางทีต้องรื้อทุกอย่างออกมาจากกระเป๋าที่จะถือขึ้นเครื่อง ของบางอย่างอาจจะถูกบังคับให้ทิ้งไปเลย หากเค้าคิดว่ามันไม่ควรจะนำติดตัวขึ้นเครื่องไปด้วย แม้แต่น้ำพริก และลูกอมทั้งกระปุก (ซึ่งพวกเราโดนมาแล้ว แต่ยังดีที่เค้าไม่บังคับให้ทิ้ง แค่ไม่ให้ถือขึ้นไปด้วย ต้องไปรับของที่ช่องพิเศษตอนลงจากเครื่องแล้ว) ส่วนพวกกล้องดิจิตอลก็ไม่ได้ห้าม แค่ต้องเปิดปิดให้ดูว่ามันเป็นแค่กล้องจริงๆ และยังทำงานได้อยู่ ส่วนพวกกล้องโปรฯ ต้องแยกตัวกล้องกับเลนส์ออกจากกันไว้ เพื่อป้องกันความเสียหาย ในกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยแล้วพยายามจะถอดแยกมันเอง โดยที่ทำไม่เป็น แล้วของเราจะพังได้

เราผ่านขั้นตอนการตรวจค้นมาได้โดยเรียบร้อย Check-in โหลดกระเป๋าเดินทาง แล้วก็รอเวลาขึ้นเครื่อง แต่มันยังไม่จบแค่นั้นนะ ก่อนจะนำกระเป๋าขึ้นรถขนไปใส่ใต้ท้องเครื่อง เจ้าหน้าที่ยังต้องให้ทุกคน หรือทุกกลุ่ม ส่งตัวแทนไปดูกระเป๋าอีก แล้วเช็คว่าแต่ละใบมีเจ้าของเดินทางจริง ถ้ากระเป๋าใบไหนไม่มีคนมาแสดงตัว เค้าก็จะไม่ขนขึ้นเครื่องไปด้วย มาตรการรักษาความปลอดภัยสุดยอด

พอได้เวลาขึ้นเครื่อง เดินออกจากตัวอาคารสนามบินไปแล้ว ยังต้องค้นตัวอีกด่านหนึ่งนะกว่าจะได้ขึ้นไปนั่งสบายๆ บนเครื่องบิน สรุปรวมแล้ว กระเป๋าที่ต้องโหลดโดนตรวจไป 3 – 4 รอบ กว่าจะได้ขึ้นไปอยู่ใต้ท้องเครื่อง ส่วนคนโดนตรวจค้นตามร่างกายไป 3 รอบ อุ่นใจจริงๆ

พวกเราบอกลาศรีนาการ์กันด้วยวิวสวยๆ จากบนเครื่องบิน ซึ่งบินผ่านยอดเขาสูงบนเทือกหิมาลัย เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูป เพราะได้ที่นั่งตรงประตูฉุกเฉิน แอร์โฮสเตรดให้เอากระเป๋าทุกใบไว้บนที่เก็บของทั้งหมด ไม่ให้ถือไว้กับตัว เพราะเป็นมาตรการด้านความปลอดภัย เลยหยิบกล้องในกระเป๋าลงมาไม่ได้ ก็บันทึกไว้ในความทรงจำแล้วกันนะ


  

 

เราถึงเดลลีประมาณกลางวัน รถมารับพวกเราที่สนามบิน แล้วก็เข้าไปหาพระอาจารย์อ้ายที่บ้านกัน พักผ่อนและสนทนาธรรมกันได้ครู่ใหญ่ พวกเราก็ออกไปเดินช็อปปิ้งกัน รอเวลากลับบ้าน แต่วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ตลาดย่านจันปาร์ทปิด เราเลยไปเดินเที่ยวแถวตลาดอีกที่หนึ่งแทน(จำชื่อไม่ได้น่ะ) แต่ก็ไม่ค่อยได้ของอะไรกัน เพราะซื้อมาเยอะแล้ว ตัวเบากลับบ้านกันเป็นแถว เดินกันพอได้เมื่อย พวกเราก็ออกไปหาอาหารค่ำมื้อส่งท้ายอินเดีย(ทริปนี้) กินกันก่อนจะไปที่สนามบิน มื้อนี้พากันไปกินอาหารไทยที่ร้าน LOTUS POND ซึ่งทำอาหารไทยรสชาติพอใช้ได้ แต่ก็เป็นสไตล์แขกนะ

อิ่มอร่อยกันไปเรียบร้อย ก็ได้เวลาแยกย้ายกันกลับบ้าน พวกเราส่งน้อยแยกไปก่อน เพราะถ้าน้อยไปส่งถึงสนามบิน ขากลับจะลำบาก แล้วก็คงจะเศร้าๆ เหงาๆ เกินไปตอนที่พวกเรากลับกันหมดแล้วเหลือน้อยคนเดียว ไปถึงสนามบิน Check in และโหลดกระเป๋ากันเรียบร้อย ก็รอเวลากลับบ้าน ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ทุกคนกลับถึงบ้านด้วยความอิ่มเอม และได้จารึกคำว่า อินเดีย ไว้ในบันทึกแห่งความทรงจำ ที่จะคงอยู่ไปอีกแสนนาน


 

เส้นทางสำรวจ จากทิเบตน้อย เลห์-ลาดัคห์ สู่สวรรค์บนดิน แคชเมียร์-ศรีนาการ์เป็นอีกทริปที่ปิดฉากลงด้วยความประทับใจ เป็นทริปที่สูงที่สุด หนาวที่สุด และสวยที่สุดทริปหนึ่งในชีวิต แม้ว่าในบางช่วงจะต้องใช้เวลาอยู่บนรถแสนนาน แต่ปฎิมากรรมธรรมชาติสองข้างทางนั้นก็สวยจนลืมหลับ ถึงจะสูงจนร่างกายเกือบรับไม่ไหว ต้องอาศัยยาช่วย แต่ก็ได้สูดอากาศแสนบริสุทธิ์ ได้เห็นฟ้าใสๆ แสงแจ่มๆ และได้สัมผัสกับวิถีชีวิตบนที่สูงเทียมเมฆ ถึงจะหนาวจนติดลบแปด ก็ยังมีไออุ่นๆ จากเพื่อนร่วมทาง คำว่า สวรรค์บนดิน คำนี้ฟังดูอาจจะไกลเกินจริงสำหรับหลายคน แต่สำหรับคนที่ได้มาท่องเที่ยวและสัมผัสเส้นทางสายนี้ด้วยตัวเองแล้ว จะรู้ว่าสวรรค์บนดินนั้นมีจริง โลกกว้างๆ ใบนี้มีธรรมชาติที่สวยงาม ยิ่งใหญ่ และมีอะไรให้ค้นหาอีกไม่รู้จบ และมันแคบลงเสมอเมื่อเราออกเดิน


-------------จบบริบูรณ์ :) -------------

 

ใครสนใจจะไปตามรอยกับเรา ติดต่อได้ที่นี่ "วันแรมทาง"

 

 

 

 แสดงความคิดเห็น
ติชมบทความ คลิ้กที่นี่ค่ะ 

 

 




บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang