สะพายกล้องท่องธรรม สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ตอนที่ 2 : ท่องไปในแดนธรรม บันทึกโดย "ฉุน" ภาพจาก "แฟ้มปัญญาวุฒิไกร" เดินทาง 5-15 พฤศจิกายน 2551
ReadyPlanet.com
dot dot
สะพายกล้องท่องธรรม ๒ article

สะพายกล้องท่องธรรม

 

บันทึกโดย "ฉุน"
ภาพจาก "แฟ้มปัญญาวุฒิไกร"

เดินทาง 5-15 พฤศจิกายน 2551

 

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล
ตอนที่ 2
:   ท่องไปในแดนธรรม


 

 

 

 

 

 

นะมัสเต  สัพ โลค ขอกล่าว “สวัสดี” เป็นภาษาฮินดีอีกครั้งครับ ตอนที่แล้วเป็นตอนที่ผมพาทุกท่านไปชมบ้านเรือนผู้คนและวิถีชีวิตตลอดสองข้างทาง  สำหรับตอนนี้ผมขอพาทุกท่านท่องไปในแดนธรรมเพื่อสักการะสังเวชนียสถานทั้งสี่ อันได้แก่ สถานที่ประสูติ  ตรัสรู้  แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ดับขันธปรินิพพาน  ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงแนะนำอย่างยิ่งว่าชาวพุทธผู้ศรัทธาจะต้องหาโอกาสมาทัศนาเพื่อให้เกิดอนุสติเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ดำรงชีวิตด้วยความประมาท อันเป็นอริยทรัพย์ที่มีคุณค่ามหาศาลมากมายกว่าโภคทรัพย์ที่เราหามาเพื่อสะสมและใช้ไปในทางโลกจนเปรียบเทียบกันไม่ได้ 

 

 

 

 

เครื่องบินของสายการบินอินเดียแอร์ไลน์ พาพวกเรากลุ่ม “วันแรมทาง” ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิแต่เช้ามืดราวตีห้า แต่อีกแค่เพียงห้าชั่วโมงเท่านั้นเครื่องบินก็แตะพื้นสนามบินคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ในเวลา 08.30 น. แทนที่จะเป็นเวลา 10.00 น. ก็เนื่องด้วยเวลาของประเทศอินเดียช้ากว่าเวลาที่ประเทศไทยหนึ่งชั่วโมงครึ่งทำให้พวกเรากำไรเวลาในการท่องเที่ยว  จากนั้นใช้เวลาอีกราวชั่วโมงเพื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรพวกเราก็พร้อมที่จะออกเดินทางไปเก็บสัมภาระที่วัดไทยมคธที่อยู่ห่างจากสนามบินราวครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติธรรมถวายพระพุทธเจ้า ณ มหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยการสวดมนต์และนั่งสมาธิบริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ 4 โดยเป็นหน่อที่สืบทอดมาจากต้นแรกที่แทงยอดพร้อมกับการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่พระองค์จะอาศัยร่มไม้เป็นที่นั่งประทับเพื่อตรัสรู้ในอีก 35 ปีถัดมาและมีอายุยืนยาวอยู่ราว 375 ปีและให้หน่อโพธิ์ต้นที่สองซึ่งมีอายุอยู่ราว 871 ปีและต้นที่สองนี้ก็ให้หน่ออ่อนเพื่อเติบโตเป็นต้นที่สามซึ่งมีอายุยืนยาวอยู่ถึง 1,258 ปีก่อนที่จะให้หน่อที่เติบโตเป็นต้นที่4 อันเป็นต้นปัจจุบันนับอายุได้ 127 ปี 

 

 

 

การถ่ายภาพเต็มองค์มหาเจดีย์พุทธยาซึ่งมีความสูงราว 51 เมตรในสภาพท้องฟ้าที่ออกขาวมีเมฆมาก และไม่ได้มุมโพลาไรซ์ แต่ขณะเดียวกันก็อยากได้ผู้คนที่มายังสถานที่แห่งนี้จึงจำเป็นต้องมีส่วนของต้นไม้สูงเข้าไปในส่วนบนของภาพเพื่อไม่ให้พื้นที่ของท้องฟ้าซึ่งขาดรายละเอียดและสีไม่สดใสอิ่มตัวมีมากเกินไปและทำให้ภาพดูดีขึ้น  นอกเหนือจากการถ่ายภาพสถานที่เพื่อเก็บเป็นที่ระลึกแล้ว ผมเลือกที่จะถ่ายแนวปฏิบัติบูชาของพระสงฆ์บ้าง แม่ชีบ้าง อุบาสกและอุบาสิกาของพุทธศาสนิกชนชาติต่างๆเพื่อให้ภาพดูแปลกตาจากที่เห็นเป็นปกติที่ประเทศไทย  นอกจากนี้ผมยังถ่ายภาพที่สร้างความเด่นของภาพโดยกำหนดให้ค่าความไวของแสง (ISO) เพื่อความเร็วหน้ากล้องช้าลงพอที่จะให้เห็นอาการเคลื่อนไหวของประธานของภาพเพื่อตัดกันกับมหาเจดีย์ที่สงบหยุดนิ่งและยิ่งใหญ่  เป็นต้น 

 

 

 

ที่พุทธคยานี้มักจะมีพุทธบริษัทสี่ที่มีศรัทธาแรงกล้าที่จะปฏิบัติบูชาตลอดทั้งคืนโดยไม่นอนเพื่อน้อมรำลึกถึงพระหฤทัยอันเด็ดเดี่ยวมั่นคงของพระพุทธเจ้าในคืนวันตรัสรู้ว่า “หากยังมิได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้นโลหิตเนื้อจะเหือดแห้งไปเหลือเพียงหนังเอ็นและกระดูก ก็จะไม่ละเลิกความเพียรโดยลุกไปจากที่นี้โดยเด็ดขาด”   

 

 

 

เริ่มต้นก็รีบพาท่านผู้อ่านไปยังพุทธคยา  โดยที่ไม่ได้ทำความเข้าใจกันก่อนถึงคำว่า “สังเวชนียสถาน”  ดังนั้นก่อนที่พวกเราจะไปทัศนาสถานที่อันเป็นที่ปรินิพพาน ผมขออนุญาตอธิบายความหมายของคำว่า “สังเวชนียสถาน” เพื่อให้ทุกท่านได้ประโยชน์จากการท่องไปยังแดนธรรม  

 

 “สังเวชนียสถาน” นี้อ่านออกเสียงว่า “สัง-เว-ชะ-นี-ยะ-สะ-ถาน” ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นสถานที่ที่ไปดูไปเห็นแล้วจะรู้สึกสลดหดหู่แต่ประการใด  การที่พวกเราส่วนใหญ่เข้าใจความหมายไปในทางดังกล่าวมิใช่เรื่องแปลกเพราะเราไปยึดติดกับคำว่า “สังเวช” ซึ่งบังเอิญไปเป็นเหตุเป็นผลรับกับสถานที่หนึ่งในสี่ซึ่งพระพุทธเจ้าใช้เป็นที่ปรินิพพานอันทำให้เกิดความหดหู่เศร้าเสียใจแก่ปุถุชนทั่วไป  แต่ “สังเวชนียสถาน” นี้มีความหมายว่า สถานที่ที่มีความรู้พร้อม หรือสถานที่ที่เป็นแหล่งให้ความรู้ เพราะมีรากศัพท์มาจาก “สัง” ที่แปลว่า “พร้อม”  ขณะที่ “เวช” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “วิชา” อันมีความหมายว่า “ความรู้”   โดย “อนียะ” แปลว่า “ควร” และ “สถาน” คือ “สถานที่”  นั่นเอง 

 

 

 

เมื่อทุกท่านเข้าใจตรงกันถึงความหมายของสังเวชนียสถานแล้วผมก็ขอพาทุกท่านเดินทางไปยังเมืองกุสินาราโดยแวะพักที่เมืองนาลันทาและพักค้างคืนที่ไวสาลีก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังกุสินารา   เมืองนาลันทานี้มีความสำคัญทางพุทธศาสนาเนื่องจากเป็นบ้านเกิดของมหาอัครสาวกซ้ายขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร นอกจากนี้นาลันทายังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของพุทธศาสนาคือมหาวิทยาลัยนาลันทา  ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่มาก ปัจจุบันเท่าที่ขุดค้นพบซากโบราณสถานก็กินอาณาเขตกว่า 231 ไร่ สร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโศกมหาราช  ความเจริญรุ่งเรืองของสังฆารามแห่งนี้มีอยู่ราว 800 ปีก็เริ่มถึงกาลแห่งความเสื่อมเมื่อไม่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ เพราะศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในปัจจุบันได้เริ่มรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่และสามารถยึดครองความเชื่อความศรัทธาจากกษัตริย์ในยุคนั้นๆได้  มหาวิทยาลัยนาลันทาถึงคราวล่มสลายอย่างสมบูรณ์ในพศ.1766 เมื่อกองทัพมุสลิมได้เข้ามารุกรานแผ่นดินอินเดียและได้เผาทำลายและเข่นฆ่าพระสงฆ์อย่างโหดร้ายทารุณ  เรื่องราวทั้งหมดอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้สอนให้เราจงเกลียดจงชังศาสนาใดศาสนาหนึ่งแล้วไปศรัทธานับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่กลับเป็นธรรมสอนให้เรารู้ว่าไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้ถาวร  ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น  เหตุปัจจัยที่ทำให้ตั้งอยู่ และเหตุปัจจัยที่ทำให้ดับไปเปลี่ยนแปลงไป 

 

 

 

จากนาลันทาและไวสาลีเราจะเดินทางต่อไปยังสถานที่ที่อันเป็นที่ดับขันธปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องนั่งรถกันนานถึง 10 ชั่วโมง  การเดินทางอย่างทรหดนานๆเช่นนี้ได้แต่ขอให้ทุกท่านอดทนกันเพื่อบูชาพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์โดยน้อมรำลึกว่า พระพุทธองค์ทรงจาริกด้วยพระบาทเปล่าในวัย 79 พรรษาตั้ง 90 วัน เพื่อมาปรินิพพาน ณ เมืองนี้  เราเองสินั่งรถบัสปรับอากาศเย็นๆแม้นว่าจะเดินทางนานสักหน่อยบนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อก็ยังสะดวกสบายกว่ามากมาย แถมยังได้หลับทำเวลากันเป็นพักๆ เสียอีก   

 

 

 

“ปรินิพพานสถาน” ณ สาลวโนทยาน แห่งนี้จะมีสถานที่สำคัญอยู่สองแห่งด้วยกันคือ มหาปรินิพพานสถูป และวิหารปรินิพพานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางอนฏฐิตสีหไสยาสน์(ปางเสด็จบรรทมครั้งสุดท้าย) อาคารทั้งสองมีขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก ดังนั้นการถ่ายรูปสถานที่ดังกล่าวเพื่อเป็นที่ระลึกแห่งการได้มาเยือน ผมจึงรอจังหวะให้มีคณะผู้แสวงบุญทำทักษิณาวัตรรอบมหาปรินิพพานสถูปเพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงขนาดความใหญ่ของสถานที่ดังกล่าว 

 

 

 

จากเมืองกุสินาราเราก็จะเดินทางต่อไปยังสวนลุมพินีวัน ที่ตำบลลุมมินเด ประเทศเนปาล เดิมทีสถานที่แห่งนี้อยู่ในเขตของประเทศอินเดีย จนกระทั่งเมื่อปี พศ.2493 ได้มีการแบ่งปันเขตแดนกันใหม่สวนลุมพินีวันจึงได้มาอยู่ในเขตประเทศเนปาลตราบจนกระทั่งทุกวันนี้  การเดินทางข้ามประเทศจากอินเดียสู่เนปาลไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เพราะทั้งสองประเทศไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองและออกเมือง  มัคคุเทศก์ท้องถิ่นรวบรวมพาสปอร์ตของทั้งคณะเพื่อไปตรวจลงตราทั้งฝั่งอินเดียและฝั่งเนปาล ส่วนพวกเราให้นั่งรอบนรถบัสซึ่งค่อยๆ ขยับไปทีละนิดๆ เพราะรถมากเหลือเกิน  นี่ยังถือว่าโชคดีนะที่รถบรรทุกสินค้าที่นี่เขาใจดีกับนักท่องเที่ยว ปล่อยให้รถบัสของพวกเราแซงขึ้นไปข้างหน้าได้ไม่ต้องรอจากท้ายแถวซึ่งยาวกว่าสองกิโลเมตร 

 

 

 

 

ทางการเนปาลได้จัดพื้นที่ลุมพินีให้เป็นเขตมรดกโลกและไม่อนุญาตให้รถเข้าไปใกล้บริเวณอันเป็นสถานที่ประสูติ  พวกเราต้องลงเดินกันราวหนึ่งกิโลเมตรจึงจะถึง “มหามายาเทวีวิหาร” ในยามพระอาทิตย์ใกล้จะลาลับฟ้าแล้ว  การถ่ายภาพด้วยกล้องสี่พันทอนร้อยในช่วงเวลานี้ผมจำเป็นต้องปรับค่าความไวแสงให้ขึ้นไปถึง ISO 800 เพื่อที่สามารถถ่ายภาพได้นิ่งโดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องเพราะไม่มีขาตั้งกล้องนั่นเอง  แต่ก็ต้องแลกกับ noise จำนวนมาก  อย่างไรก็ตามผมมีโอกาสกดชัตเตอร์ได้สองสามรูปเพราะต้องรีบสวดมนต์นั่งสมาธิถวายเป็นพุทธบูชาก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมาล็อคประตูเนื่องจากถึงเวลาปิดทำการ 

 

 

 

หลักฐานที่เป็นชิ้นสำคัญที่ยืนยันถึงความเป็นสถานที่ประสูติก็คือเสาอโศกมหาราชซึ่งมีตัวหนังสือจารึกบอกไว้ แต่ก็ยังมีผู้แย้งว่าเสาอโศกดังกล่าวสร้างขึ้นหลังจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแล้ว 236 ปี สถานที่ดังกล่าวอาจจะไม่ใช่สถานที่ประสูติจริงๆ ก็ได้  จะใช่หรือไม่ใช่สำหรับผมแล้วไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะใช่หรือไม่ใช่ต่างก็เป็นเรื่องสมมติขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ดังนั้นเราควรดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาทให้สมกับพุทธโอวาทครั้งสุดท้ายก่อนที่จะปรินิพพาน 

 

 

 

จากลุมพินีเราจะเดินทางกลับมาสู่อินเดียอีกครั้งเพื่อไปดินแดนปฐมเทศนาที่สารนาถ ซึ่งอยู่ติดกับเมืองพาราณสีโดยใช้เวลาเดินทางกันราว 10 ชั่วโมง แม้ว่าจะใช้เวลาในการเดินทางยาวนานแต่ก็คุ้มค่าที่ได้มาที่พาราณสี ซึ่งปัจจุบันคือเมืองบานาราส (Banaras) ในเขตอำเภอบานาเรส  รัฐอุตตรประเทศ  มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนพุทธกาลนับได้ราว 4 พันปีจนถึงปัจจุบัน  เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู (หรือศาสนาพราหมณ์ในอดีต)อย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งก่อนพุทธกาล จวบจนกระทั่งปัจจุบัน  ทั้งยังมีแม่น้ำคงคาอันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากฮินดูชนเชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่เกิดจากน้ำที่ไหลผ่านมวยผมของพระศิวะอันเป็นเทพสูงสุดหนึ่งในสามของศาสนาฮินดู (บางนิกายของฮินดูก็ว่าเป็นเทพสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียว)  การมาพาราณสีเราจึงได้เห็นวิถีชีวิต ความเชื่อความศรัทธาของชาวฮินดูทำให้ได้ข้อคิดย้อนกลับมาดูใจของเราอันเป็นพุทธศาสนิกชน

 

 

 

การถ่ายรูปวิถีชีวิตที่พาราณสีนี้เป็นการถ่ายรูปแบบที่เจ้าตัวต้องเผลอหรือไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าถูกถ่าย (Candid) และผู้ถ่ายเองก็ต้องมีความไวทั้งการจัดองค์ประกอบ  การกดชัตเตอร์ และต้องมั่นใจเรื่องการโฟกัส  ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับกล้องคอมแพคท์ราคาสี่พันทอนร้อยในการถ่ายภาพแบบนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ ที่ต้องประสบที่เมืองพาราณสี  การตั้งโฟกัสแบบแมนนวลโดยกำหนดจุดโฟกัสตั้งแต่สามเมตรขึ้นไปจากตัวกล้อง และกำหนดค่าความไวแสงไว้ที่ ISO350 (ISOพื้นฐานของกล้องตัวนี้อยู่ที่ 80) ก็พอจะแก้ปัญหานี้ไปได้บ้าง ข้อดีของกล้องคอมแพคท์สำหรับการถ่ายวิถีชีวิตแบบนี้ก็คือมันดูเป็นมิตรกับผู้คนมากกว่ากล้องแบบ DSLR หรือกล้องคอมแพคท์แบบ DSLR like  อย่างไรก็ตามมันก็มีข้อด้อยกว่าในเรื่องของช่วงเทเลซึ่งทำได้จำกัดกว่ากล้องดังกล่าวทั้งสองแบบ โดยเฉพาะ DSLR ที่ใช้เลนส์เทเล รวมทั้งคุณภาพของไฟล์ภาพที่ยังห่างจากกล้อง DSLR แม้นว่าจะมีพิกเซลที่เท่ากันก็ตาม 

 

 

 

จากพาราณสีเราก็เดินทางอีกเพียงแค่ช่วงพอให้เคลิ้มๆหลังจากอิ่มท้องอย่างเต็มที่กับอาหารไทยอร่อยๆ ที่วัดจีนไตรรัตนาราม (วัดจีนที่พระสงฆ์ไทยเข้าไปดูแล) ก็จะถึงเมืองสารนาถหรือในครั้งพุทธกาลก็คือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่ที่ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเมื่อวันเพ็ญเดือนแปด ก่อนพุทธศักราช 45 ปี   และอีกเกือบสามร้อยปีให้หลัง  พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างสถูปขนาดความสูงประมาณ 24 เมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบๆ 20 เมตร ตรงบริเวณที่เชื่อว่าเป็นตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาดังกล่าว   เมื่อจะต้องถ่ายรูปธัมเมกขสถูปซึ่งมีขนาดใหญ่โตเช่นนี้จึงต้องรอให้มีคนเข้ามาเพื่อเปรียบเทียบขนาดเพื่อเป็นการสื่อให้เห็นความศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนาของผู้สร้างดังกล่าวไปในตัว
 

 

 

 

ผมพาท่านผู้อ่านท่องไปในแดนธรรมอันเป็นสถานที่สำคัญของพุทธศาสนา รวมถึงเมืองพาราณสีซึ่งได้เห็นความเชื่อความศรัทธาของชนชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูจนถึงตรงนี้ก็สมควรที่จะต้องกล่าวคำอำลา  แต่ก่อนที่จะจากกันผมก็หวังให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมตามศาสนาที่ท่านนับถืออยู่ซึ่งจะเป็นศาสนาใดก็แล้วแต่  ขอให้ปฎิบัติไม่ต้องมากมายอะไรหรอก ทำแค่วันเดียวเท่านั้นก็พอ .....วันเดียวเท่านั้นคือวันที่ท่านยังมีชีวิตมีลมหายใจอยู่ ส่วนวันอื่นผมไม่ขอให้ท่านปฏิบัติหรอก  แหมผมเล่นขอร้องตบท้ายเช่นนี้ก็เห็นทีจะต้องรีบกล่าวคำอำลาจริงๆ เสียที   ธันยะวาท  และ  นะมัสเต  สัพ โลค” เพื่อแทนคำขอบคุณและกล่าวคำสวัสดีเป็นการส่งท้ายท่านผู้อ่านไว้ ณ ตรงนี้  แต่..............อย่าลืมนะครับ ปฏิบัติธรรมแค่วันเดียวก็พอ  

  

_______________________________________________________________________________________________

Comment by: APPLE ( Patcharaporn Panyawuthikrai ค่ะ
เห็นว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับสมาชิก "วันแรมทาง" ที่ต้องการเทคนิคเพิ่มเติมในการถ่ายรูปเพื่อบันทึกเรื่องราว ที่ได้มุมมองดีๆ ประกอบอารมณ์ศิลป์ ส่วนเทคนิคในการถ่ายภาพแต่ละรูป อาจต้องดูประกอบในนิตยสารนะคะ ไม่ได้ประกอบในบันทึกฯ นี้

 

 

 

 

 แนะนำ ติชม คลิ้กที่นี่

 

 

 




บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang