บันทึกการเดินทาง จากผู้แสวงบุญ กับการเดินทางด้วยศรัทธา สู่แดนพุทธภูมิ พุทธคยา ไวสาลี กุสินารา ลุมพินี พาราณสี สารนาถ
ReadyPlanet.com
dot dot
กว่าจะถึงซึ่งฝั่งฝัน..ฝั่งนั้นคือพระนิพพาน article

เรื่องโดย พี่เหมียว ภาพ โดย สาริศา

กว่าจะถึงซึ่งฝั่งฝัน..ฝั่งนั้นคือพระนิพพาน

จากการเดินทาง สู่ ดินแดนพุทธภูมิ 23 - 29 ตุลาคม 2550

            สวัสดีค่ะ ไปทำบุญไหว้พระกับน้องนุ้ย น้องปลา วันแรมทาง เพิ่งกลับมา มีความสุขและความอิ่มเอิบใจมาก ก็เลยอยากเล่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้ที่สนใจอยากไปสังเวชนียสถานกับ “วันแรมทาง” ได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติม เป็นความเห็นของคนที่เป็นลูกทัวร์ค่ะ ทีมงานอาจไปบ่อยจนชิน ก็เลยเฉยๆ เล่าไม่ค่อยเก่งนะคะ ขอแยกเป็นข้อๆ ดังนี้ค่ะ

            1.  การไปพักที่วัดไทยนั้นมีความสะดวกพอประมาณ อาจไม่สบายมากนักเพราะไม่ใช่โรงแรม ลักษณะเหมือนหอพักนักศึกษามากกว่า แต่ไม่มีกลิ่นแขกนะคะ เพราะมีแต่คนไทยมาพัก ที่สำคัญคือเราไปพักที่วัด ทางทีมงานจะจัดเงินบำรุงวัดเป็นค่าธรณีสงฆ์และค่าอาหาร ทางวัดก็จะมีรายได้จากตรงนี้ เราสามารถร่วมทำบุญเพิ่มได้ ใช้เงินไทยได้ทุกวัดค่ะ และเราก็จะได้พบกับพระสงฆ์ไทยที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาและดูแลวัดที่นั่น เป็นการไปให้กำลังใจแก่ท่าน และทำบุญไปด้วยค่ะ

            2.  ห้องพัก แต่ละวัดมีจำนวนเตียงไม่เท่ากัน บางวัดมี 3 เตียง, 4 เตียง, 5 เตียง, 7 เตียง ก็มีค่ะ ดังนั้น บางทีอาจต้องแยกย้ายกันตามความเหมาะสม หรือพักกับน้องนุ้ย น้องปลาบ้าง ก็เตรียมใจนิดนึงค่ะ โดยมากคนที่ไปทริปด้วยกันตั้งใจไปทำบุญจึงเป็นคนจิตใจดี ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ

            3.  ใครที่กินมังสวิรัติ และกินไข่ได้ ไม่มีปัญหาค่ะ กับข้าวส่วนมากเป็นกับข้าวง่ายๆ เช่น ผัดผัก แกงจืด ไข่พะโล้ ไข่เจียว ผักต้ม สำหรับผลไม้ส่วนมากเป็นแอปเปิ้ลกับกล้วยค่ะ (จริงๆ คือเป็นผลไม้ตามฤดูกาลค่ะ แต่ช่วงที่ไปมีแอปเปิ้ลกับกล้วยเยอะ) บางมื้ออาจจะไม่มีผลไม้เพราะหายากในบางที่

            4.  เตรียมปรับตัวเรื่องเวลากินอาหารด้วยค่ะ บางครั้งนั่งรถระหว่างเมืองใช้เวลานาน กว่าจะถึงที่หมายแต่ละที่ กว่าจะได้กินอาหารอาจทำให้ไม่สบายท้องได้ค่ะ เตรียมขนมไปกินรองท้องด้วยก็ดี แต่ทีมงานก็มีเตรียมไว้ให้ค่ะ เพียงแต่อาจจะไม่ถูกปากเราก็ได้ เช่น 6 โมงเย็นแล้ว แต่เรายังเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทางเลย ถ้าเป็นเวลาบ้านเราก็ทุ่มครึ่งแล้ว อาจเลยเวลาอาหารเย็นของบางคนแล้ว เป็นต้น

            5.  เตรียมเงินแบงค์ 20 บาทไทยไปมากๆ หรือ แบงค์ 10 รูปีของอินเดียก็ได้ค่ะ เนื่องจากว่าแต่ละวัดจะมีคนอินเดียมารับจ้างทำงานช่วยพระหรือแม่ชี เช่น เตรียมอาหาร ทำความสะอาด ยกของ ล้างจาน หรือตามแต่พระจะเรียกใช้ จนบางคนสามารถพูดไทยได้ เราจะทิปก็ได้หรือไม่ทิปก็ได้ แต่ถ้าให้ก็ดีค่ะ จะได้มีคนอยากมาช่วยงานที่วัดมากๆ พระหรือแม่ชีจะได้ไม่เหนื่อยมาก^^

            6.  ค่าทิปของคนขับรถ คนนำทาง เด็กท้ายรถ ทีมงานจัดเตรียมไว้แล้วไม่ต้องกังวลว่าต้องจ่ายเพิ่มอีก เงินถวายพระวิทยากรทีมงานก็จัดเตรียมไว้แล้วเช่นกัน แต่สมาชิกสามารถร่วมทำบุญเพิ่มได้นะคะ (ทีมงานน่ารักมากเรื่องนี้ ขอชมเชยค่ะ)

            7.  เนื่องจากต้องเดินตากแดดทุกวัน คนที่ชอบแสงแดดและออกกำลังกายกลางแจ้ง คงไม่มีปัญหา ใครที่ไม่ชอบแดดควรพกร่มและหมวดไว้ตลอด (เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ^^)

            8.  ใครที่ไม่ชอบแอร์ เตรียมหมวกหรือผ้าโพกผมไว้ใส่ในรถด้วยค่ะ แอร์ในรถบัสหนาวมากจริงๆ ลดก็ไม่ได้ค่ะ(แต่อาจจะเป็นรถบางคันนะ) คนที่เวียนหัวเวลานั่งรถก็เตรียมตัวนะคะ นั่งรถโยกเยกเป็นระยะๆ ค่ะ

            9.  ใครที่ไม่เคยสวดมนต์ไหว้พระ แต่อยากไปทำบุญในทริปนี้ ก่อนไปลองหัดสวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น สวดอิติปิโส สวดพาหุง ไว้ก่อนก็จะดีค่ะ พระอาจารย์ที่เป็นพระวิทยากรจะนำสวดมนต์ ทำวัตรเช้า (ในรถ) ทำวัตรเย็น (ในรถ) และบทอื่นๆ ตามแต่ท่านจะเห็นสมควร และเมื่อไปถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แต่ละแห่ง พระอาจารย์ก็จะนำสวดมนต์และนั่งสมาธิตามแต่เวลาอันสมควร หนังสือสวดมนต์ไม่ต้องเอาไปค่ะ ทีมงานแจกให้ก่อนขึ้นเครื่อง ผู้ที่สามารถปาวรณาศีล และนุ่งขาวห่มขาวไปได้ก็ดีค่ะ

 
 

            10.  ผู้ที่อยากไปปฏิบัติธรรมที่ใดที่หนึ่งไม่ว่าจะไปคนเดียวหรือหมู่คณะ อยากแนะนำ 2 ที่เป็นพิเศษ คือ ไปพักที่ “วัดไทยพุทธคยา” แล้วทำบัตรพิเศษ เพื่อหลัง 3 ทุ่ม สามารถไปนั่งสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้จนถึงรุ่งเช้า พลังงานดีมากค่ะ (สถานที่ปลอดภัย มียามดูแล อยู่ห่างจากวัดประมาณ 600 เมตร) อีกที่หนึ่งก็คือ “วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์” ระเบียงหน้าห้องพักมีพรมแดงปูลาดยาว เดินจงกรมได้ อีกบริเวณหนึ่งคือรอบพระมหาเจดีย์ “พระมหาธาตุเฉลิมราชย์ศรัทธา” เดินจงกรมได้ดี อากาศดี บรรยากาศสงบ สวยงาม ทั้งกลางคืนและตอนเช้า มีพลังงานดีมากเช่นกัน และอยู่ห่างจากปรินิพพานสถานไม่ไกลค่ะ

 

            11.  หมู่คณะใดหรือใครที่อยากไปทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่ใดที่หนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ทอดผ้าป่า กฐิน สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทุนการศึกษาสำหรับพระเณร ก็ถามข้อมูลจากทีมงานได้ค่ะ ว่าวัดไหนยังขาดอะไรบ้าง เหมาะจะทำแบบไหน แต่อยากให้ข้อมูลว่า ใครอยากทำบุญปรับปรุง ห้องน้ำ ห้องส้วม ถังน้ำ ขันน้ำ ติดเครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องสุขภัณฑ์ ให้ทำที่วัดไทยพุทธคยา หรือไปทอดผ้าป่าที่วัดจีน ซึ่งเป็นวัดพุทธที่พระจีนก่อตั้ง และนิมนต์พระสงฆ์ไทยไปดูแล แต่ยังขาดปัจจัยอีกมาก วัดนี้มีพระพุทธรูปหินอ่อนที่มีพุทธลักษณะที่งดงามแบบพม่า แกะสลักโดยช่างชาวพม่า สวยมากจริงๆ วัดนี้อยู่ใกล้กับ “ธัมเมกขสถูป” มากค่ะ จะเดินไปก็ได้ และอยู่ไม่ไกลจากริมฝั่งแม่น้ำคงคา ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นั่งรถสามล้อเครื่องแป๊บเดียวก็ถึง สำหรับใครที่ชอบเมืองพาราณสี อยากอยู่นานๆ ควรพักที่นี่ค่ะ และขอบอก มีทีมงานของ “วันแรมทาง” อยู่ที่นี่ 1 คน สามารถช่วยดูแลได้ค่ะ ส่วนค่าธรณีสงฆ์และค่าอาหารในแต่ละที่คงต้องถามทีมงานค่ะ หรือใครจะทำบุญด้วยการทอดผ้าป่าเป็นยาและเวชภัณฑ์ก็ได้ค่ะ วัดไทยแต่ละแห่งจะเปิดคลินิกรักษาคนจนฟรี มีคนมารอคิวจำนวนมาก พระท่านก็พยายามช่วยเหลืออย่างสุดกำลัง หรืออยากไปวัดอื่นที่ไม่ได้มีในโปรแกรมก็สามารถถามทีมงานได้ค่ะ เพราะมีวัดไทยในอินเดียทั้งหมด 13 แห่งค่ะ

            12.  ทริปนี้มีโอกาสแวะซื้อของที่ระลึก 2 ที่ คือ ผ้าที่ร้านในเมืองพาราณสี ผ้าพันคอกับผ้าปูที่นอนสวยมาก แต่ราคาก็ต้องต่อมากเช่นกัน คณะเราโชคดีมี “คุณน้านิชานันท์” ต่อราคาเก่งมาก ต่อจนแขกใจอ่อน ลดแลกแจกแถมกันใหญ่ อีกที่หนึ่งก็คือหน้าธัมเมกขสถูป จะมีรถเข็นขายของที่ระลึกหลายอย่าง เช่น พระพุทธรูปที่แกะจากหินทราย ราคาไม่แพง มีหลายขนาด พระพิมพ์ดินเผา ขนาด 3 x 3 นิ้ว 2 องค์ ราคา 5 บาท (ถ้าซื้อหลายองค์ ก็น่าจะได้ในราคาองค์ละ 2 รูปีค่ะ ใช้เงินไทยก็ได้ เงินรูปีก็ได้นะคะ แต่ใช่เงินรูปีจะคุ้มกว่าค่ะ) ได้ยินราคาแล้วหัวใจจะวายเสียให้ได้เลยค่ะ ถ้าซื้อมากๆ จะแถมให้อีก หินอ่อนแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น แบบพระนิพาน ขนาด 2 x 5 นิ้ว ราคา 80 บาท เสาอโศกหินอ่อน มีหัวสิงห์ 4 หัว ราคา 80 บาท เช่นกัน อันเล็กถูกกว่านี้ก็มี ซื้อมากๆ ก็ลดให้อีก สมาชิกคนไหนที่มีรูปก็ส่งมาให้ผู้สนใจดูด้วยก็ดีค่ะ ส่วนมากแต่ละที่ที่ไปเป็นเมืองไม่ใหญ่มาก ที่แลกเงินแทบจะไม่มีค่ะ ไปอินเดียคราวนี้ใช้เงินไทยเป็นส่วนใหญ่ เงินอินเดียที่ใช้ก็ได้จากที่น้องนุ้ยคืนให้มา 2,200 รูปี(จากที่ได้ลดค่าทริปไปคนละ 2,000 บาท) นอกนั้นใช้เงินไทยหมด ทั้งทำบุญ ทิป ซื้อของ ถ้าเดินๆ ไปมีคนมาสะกิดขอแลกเงินไทยเป็นเงินรูปีก็ให้ชีไปที่ Leader ซึ่งก็คือ น้องนุ้ยและน้องปลานะคะ เค้าได้เงินมาก็จะรอแลกกับคนไทยนี่แหล่ะค่ะ

            13.  ใครที่ไม่ชอบหัวหน้าทัวร์ที่พูดมาก วุ่นวาย ต้องไปกับ “วันแรมทาง” ค่ะ ลูกทัวร์ยังพูดมากกว่าอีก ^^ เพราะอยู่บนรถน้องนุ้ยและน้องปลาส่วนมากจะหลับค่ะ ขอบอก Ha Ha(แบบว่าตื่นก่อนนอนทีหลังน่ะ) ทัวร์บุญกับ “วันแรมทาง” ครั้งนี้ อิ่มบุญ อิ่มใจ แถมความสวยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะหมอเม้งและหมอกว้าง(เพื่อนร่วมเดินทาง) เป็นหมอศัลยกรรมค่ะ จะช่วยดึงรอยเท้าของสรรพสัตว์บนใบหน้าให้หายไปได้ ลดพิเศษสำหรับสมาชิกวันแรมทางค่ะ ^^ (แต่คุณหมออยู่หาดใหญ่นะ)

            กลับมาถึงเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ ขอขอบคุณ น้องปลา น้องนุ้ย และทีมงานทุกคนที่มุ่งมั่นเสียสละจัดทริปดีๆ ขึ้น รู้ว่าน้องๆ เหนื่อยกันมาก และขอบคุณมากสำหรับความมีน้ำใจและความช่วยเหลือในทุกๆ ด้านของ “น้องพลอย” บุญกุศลอันใดที่รับจากการแสวงบุญในครั้งนี้ ขอให้เป็นพรอันประเสริฐแก่ทีมงานวันแรมทาง สมาชิกผู้แสวงบุญทุกท่าน รวมถึงผู้คนทุกคน ขอให้มี อายุ วรรณะ สุขะ พละ สมบูรณ์ทุกประการ มีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ได้อุปถัมภ์ค้ำจุนพระศาสนา ร่วมกันกับคนดีเป็นกัลยาณมิตรสืบต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน

            สรุปส่งท้าย อินเดียเหมาะสำหรับคนที่อยากไป คนที่ไม่อยากไปก็สมควรไป ใครที่มีความสุขอยู่แล้วก็ควรไป ใครที่มีความทุกข์ ความเศร้า เหงา อ้างว้าง เครียด คิดมาก โกรธ แค้น เกลียด อิจฉาริษยา ร้อนอกร้อนใจ หรือเบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง อกหัก อยากตาย ก็สมควรไปเป็นอย่างยิ่ง สาธุ!

                                                ท่ามกลางมรสุมแห่งชีวิต
                                                แม้มืดมิดเพียงใดใจยังหวัง
                                                คงถึงฝั่งที่ฝันในสักวัน
                                                ฝั่งนั้นหรือคือฝั่งพระนิพพาน

พี่เหมียว
4 พ.ย. 50

 

 




บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang