ครั้งหนึ่งในชีวิต การไปจาริกแสวงบุญในประเทศอินเดีย-เนปาล นาวาเอก พิเศษ ปรีชา นันตาภิวัฒน์ บันทึกการเดินทาง ไหว้พระ แสวงบุญ
ReadyPlanet.com
dot dot
ครั้งหนึ่งในชีวิต การไปจาริกแสวงบุญในประเทศอินเดีย-เนปาล article


ครั้งหนึ่งในชีวิต

การไปจาริกแสวงบุญในประเทศอินเดีย – เนปาล
วันที่ ๑๘ – ๒๔ กันยายน ๒๕๕๐

พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน
เนื่องในการทำบุญฉลองมงคลวาระครบรอบ อายุ ๗๒ ปี
นาวาเอก (พิเศษ) ปรีชา  นันตาภิวัฒน์
วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑

 

            การไปจาริกแสวงบุญในประเทศอินเดีย-เนปาล ข้าพเจ้ามีความปรารถนาในใจมานานกว่า ๒๐ ปี วันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ลูกอ้อ (เนาวนิตย์) ลูกสาวคนโต ถามว่า “ป๋ายังคิดจะไปจาริกแสวงบุญในอินเดีย-เนปาลอยู่หรืเปล่า?” ข้าพเจ้าดีใจอย่างสุดซึ้ง บอกว่า “ป๋าอยากไปมานานแล้ว เพราะชีวิตของป๋าเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตลอดมา ทั้งการศึกษา รับราชการและการปฏิบัติธรรม คิดอยากไปสักครั้งก่อนที่ป๋าจะตายจากกันไป” ลูกอ้อบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นไปทำพาสปอร์ตไว้ก่อนเถอะ ประมาณปลายเดือนกันยายนจะเดินทางไปอินเดียและเนปาล

            เมื่อรู้ว่าจะไปกันแน่แล้ว มีความรู้สึกดีใจประกอบกับการตื่นเต้นในใจ ที่ตื่นเต้นในใจหาใช่ว่าจะได้นั่งเครื่องบินไปอินเดียไม่ เนื่องเพราะเครื่องบินเคยขึ้นมาแล้ว ๒๕ ครั้ง ขณะรับราชการ ขึ้นทีไรไม่เคยนั่งให้เครื่องร่อนลงรันเวย์จอดแล้วลงบันไดเลย ขึ้นแล้วเครื่องทะยานได้ระดับความสูง ก็โดดลงจากเครื่องทุกที โดดร่มลงพื้น ๒๐ ครั้ง โดดลงน้ำทะเลอ่าวเตยงาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ๕ ครั้ง ทุกครั้งอยู่รอดปลอดภัย จึงได้รับประดับปีกโดดร่มสีทองกองทัพเรือเป็นรางวัล ที่ตื่นเต้นในใจเพราะความปรารถนาไว้สำเร็จ

            การเดินทางไปครั้งนี้ เราจะเตรียมเอาอะไรไปดีหนอ จึงคิดได้ว่าเราไปจาริกแสวงบุญ ควรเตรียมเครื่องสักการบูชาเป็นสำคัญจึงโทรศัพท์ให้ญาติ ซื้อขี้ผึ้งแท้จากแพร่ส่งมาให้ ๒ กก. พร้อมกับด้ายดิบนำมาฟั้นเทียน และหาซื้อขี้ผึ้งแท้ในกรุงเทพ อีก ๒ กก. รวม ๔ กก. ฟั้นเทียนได้จำนวน ๕๐ กว่าเล่ม (นำไปใช้ในอินเดียและเนปาล ๔๕ เล่ม ทำเผื่อให้ลูกอ้อและคุณอาณัฐจุดบูชาด้วย) แล้วก็ตระเวนหาซื้อหนังสือการท่อเที่ยวอินเดีย-เนปาล มาศึกษาทบทวนสถานที่ต่างๆ สอบถามผู้ที่เดินทางไปมาแล้วบ้าง มานั่งนอนคิดวาดมโนภาพตามที่ลูกอ้อบอกว่า จะไป ๖ คืน ๗ วัน กลางคืนนอนพักในวัดไทย คิดว่า โอ! ตายแล้วจะต้องไปนอนเบียดกันตามศาลาวัด คนที่ไม่คุ้นกันคงเกรงใจกันวุ่นวาย ไหนจะเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ หรือถ่ายทุกข์ คิดวาดภาพตามวัดที่คุ้นในเมืองไทยเป็นหลัก

            ได้สติมาคิดอีกทีว่า นี่เราไม่ได้ไปท่องเที่ยวชมสิ่งแปลกหูแปลกตาสวยๆ งาม นอนกินอย่างหรูหรา ตื่นมาก็อาบน้ำอุ่น ถึงเวลาก็ทานอาหารโรงแรมรสชาติต่างๆ ตามที่ชอบ กลางวันก็นั่งรถทัวร์คันหรูไปชมความสวยความงามในที่ต่างๆ ถึงเวลาอาหารกลางวัน ก็แวะเข้าภัตตาคารรสเลิศในเมือง เย็นมาก็กลับโรงแรมทานอาหารโอชารสแปลกๆ มีดนตรีหรือการแสดงให้ชมแกล้มอาหารไปด้วย หาได้ไปอย่างนั้นไม แต่การไปของเรานี้มุ่งแสวงบุญ อาศัยศรัทธา ความเชื่อมั่นและวิริยะความบากบั่นเป็นพลัง จะทุกข์ยากลำบากเพียงใดไม่เป็นอุปสรรคทางใจแม้แต่น้อย มีบางคนฟังจากคนอื่นบอกว่า ไปทำไมอินเดีย มีแต่คนยากจนอยู่กันอย่างหนาแน่น มีเด็กวิ่งขอเงินเป็นกลุ่มๆ การกินอยู่ก็สกปรก ไม่น่าชื่นชม แต่มาคิดว่าเรามุ่งไปในดินแดนบนผืนแผ่นดินที่มีพระอริยะเจ้าจำนวนหมื่นจำนวนแสน ทั้งเป็นพระสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์และฆราวาส ได้อยู่อาศัย และได้เหยียบเดินบนผืนแผ่นดิน ณ อนุสรณ์สถานที่เราจะไปสักการบูชา เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว จึงรู้สึกปลื้มปีติใจด้วยศรัทธาและความรักเป็นกำลัง เรื่องอื่นใดจึงไม่ติดใจทั้งสิ้น

            เมื่อฟั้นเทียนพันกระดาษฟิล์มเรียบร้อยแล้ว ไปหาซื้อผ้าตาดทองสำหรับห่มพระพุทธรูปสีหไสยาสน์ปางปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน กุสินารา อายุ ๑,๗๐๐ ปี สั่งตัดเย็บขนาดยาว ๕.๕๐ ม. กว้าง ๒.๐๐ ม. หนึ่งผืน และผ้าอาบน้ำฝน ๑๐ ผืน (ขณะไปอยู่ในระยะพระสงฆ์จำพรรษา) ธูปหอมไม้จันทร์ เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์และสักการบูชาในสถานที่ต่างๆ
 

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๐
            ไปถ่ายรูปขนาด ๒ นิ้ว จำนวนหนึ่งโหล นำไปทำวีซ่าเข้าประเทศอินเดีย-เนปาล นำพาสปอร์ตไปตรวจสอบและขอวีซ่าตีตราประทับ ณ สถานทูตอินเดียและเนปาล ลูกอ้อนำไปจัดการให้เรียบร้อยทุกอย่างแล้ว
 

วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐
            เวลา ๐๒.๐๐ น. คุณอาณัฐและลูกอ้อนำรถส่วนตัวมารับที่บ้าน แล้วนำรถไปฝากไว้ที่ทำงานถนนสาทร นั่งรถแท็กซี่ต่อไปสนามบินสุวรรณภูมิ รอเวลา ๐๕.๐๐ น. ชั่งน้ำหนักกระเป๋าและตรวจสอบสิ่งของในกระเป๋า แล้วนำพาสปอร์ตวีซ่าตรวจสอบแต่ละคนออกนอกประเทศจนถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. ลงจากชานชะลา สนามบินไปนั่งรถนำขึ้นเครื่องบิน
 

วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๐
            เวลา ๐๖.๒๐ น. เครื่องบิน Druk Air สายการบินประเทศภูฏานก็ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ข้าพเจ้าได้นั่งติดหน้าต่างด้านขวามองเห็นผืนแผ่นดินและท้องฟ้าอย่างเต็มตา เครื่องเร่งความเร็วขึ้นสูงอยู่เหนือเมฆ มีแสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณสาดส่องเป็นสีต่างๆ เมื่อถูกละอองน้ำปลายฤดูฝนดูสวยสดงดงามยิ่งนัก การขึ้นเครื่องครั้งนี้ได้ชื่นชมท้องฟ้าไร้พรมแดน ส่งจิตคิดไปทั่วจักรวาล ถึงเวลาอาหารเช้าได้กินดื่มและถ่ายทุกข์บนอากาศครบวงจร ต่างจากขึ้นเครื่อง ๒๕ ครั้งคราวก่อน ครั้งนั้น พอขึ้นไปเครื่องทะยานขึ้นได้ระดับความสูง ครูจะสั่งดังๆ ว่า “ยืนประตู” สองมือเกาะบานประตูซ้ายขวา หูคอยฟังคำสั่งของครู “โดด!” แล้วก็โดดมือเก็บคองอเข่านับ “หนึ่งพันหนึ่ง! หนึ่งพันสอง! หนึ่งพันสาม!” ร่มกางพอดี โอย! ช่างโล่งใจ บินไปได้เหมือนนกถลาร่อนลง โดยบังคับร่มลงตรงจุดที่ต้องการได้

            เวลา ๐๘.๔๐ น. เครื่องร่อนลงแวะสนามบินทากา ประเทศบังคลาเทศ สังเกตเห็นภูมิประเทศและบ้านเรือนอยู่กันอย่างแออัดในที่ลุ่มตามริมฝั่งทะเลและปากแม่น้ำคงคาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำพรหมบุตร ประเทศบังคลาเทศอยู่ระหว่างอินเดียและพม่า จึงได้รู้ว่าประชาชนชาวบังคลาเทศ ได้รับความวิปโยคทุกข์โศกทุกปี เพราะถูกพายุไซโคลน ความเร็วลม ๒๐๐-๒๔๐ กม./ชม. พัดกระหน่ำ ทำให้ประชาชนที่อยู่ตามริมฝั่งและบนบกสูญหายและตายปีละเป็นพันเป็นหมื่น จึงไม่เป็นปฏิรูปเทศที่น่าอยู่อาศัย มีแต่ภัยธรรมชาติทุกปี ก็อีกนั่นแหละคนเลือกเกิดไม่ได้ ยิ่งปัจจุบันคนทั้งโลกดิ้นหาทางออกจากภาวะโลกร้อน ประเทศใหญ่ที่ปล่อยมลพิษขึ้นสู่บรรยากาศ เช่น อเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ไม่ยอมลงนามระงับปล่อยมลพิษ ประเทศหนึ่งทำท่ายอมลงนามแต่อีกประเทศหนึ่งไม่ยอม จึงดูท่าทีกันตลอดมา เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เกี่ยงกันในใจว่ามึงไม่ยอมกูก็ไม่ยอม คงจะทนดูความพังพินาศจากภัยธรรมชาติให้ราบก่อนละมัง ผลที่ได้จากเศรษฐกิจกับความพินาศแห่งทรัพย์สินและประชาชน โดยผลมวลรวมของประเทศ คุ้มกันหรือไม่ ทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินในโลกนี้ มีส่วนได้รับทุกข์เสมอกันหมด

            เวลา ๐๙.๐๐ น. เครื่องบิน
Druk Air ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า มุ่งหน้าต่อไปทางทิศตะวันตกอีกประมาณ ๑ ชม.เศษ เครื่องร่อนลงสนามบินคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย (สมัยพระพุทธเจ้าเรียกแคว้นมคธ) เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางโดยเครื่องบิน เดินลงจากบันไดมองดูอาคารสนามบินดูเงียบเหงามชอบกล มีเจ้าหน้าที่ชายหญิงไม่กี่คน ผู้โดยสารมี ๒๐ กว่าคน เฉพาะคณะของข้าพเจ้ามี ๑๐ คน (รวมทั้งหัวหน้าและผู้ช่วยทัวร์วันแรมทาง) เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เดินออกไปนั่งรถทัวร์คันเล็กสีขาวคู่ใจ ซึ่งจะนำคณะทั้ง ๑๐ คน จาริกแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง และสถานที่สำคัญต่างๆ เป็นเวลา ๖ วันเต็ม นั่งรถจากสนามบินคยาไปวัดไทยพุทธคยาไม่ถึง ๒๐ นาทีก็ถึงวัด

            เวลา ๑๒.๓๐ น. รถทัวร์เลี้ยวจ่อประตูวัดมียามเปิด คณะของเราลงรถไปกราบเรียนรองเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ซึ่งทางบริษัททัวร์ “วันแรมทาง” ได้แจ้งให้ทราบไว้ก่อนแล้ว วัดไทยพุทธคยาสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลไทยได้รับที่ดินอุทิศให้จากรัฐบาลอินเดีย เพื่อฉลองพระพุทธศาสนาครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ อุโบสถย่อ จากพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ภายในวัดจัดสัดส่วนประดับไม้ดอกไม้ผล เป็นระเบียบสวยงาม สร้างกุฏิพระสงฆ์อยู่ประจำเป็นสองแถว เป็นอาคารชั้นเดียวพร้อมกับโรงครัวตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ มีถนนรอบ ๓ ด้าน รถยนต์วิ่งเข้าได้ ส่วนสองด้านอุโบสถ เป็นอาคารสองชั้น เข้าใจว่าเป็นอาคารพักรับรองพระสงฆ์ และฆราวาสผู้ไปแสวงบุญในอินเดีย คณะของเราเข้าพักอาคารชั้นล่างด้านข้างทิศเหนือ ดูมีห้องพักว่างอยู่มาก คงไม่ใช่ฤดูที่พวกมีศรัทธาไปจาริกแสวงบุญกัน ขณะที่คณะของข้าพเจ้าไป พระสงฆ์ยังไม่ปวารณาออกจำพรรษา ห้องพักแต่ละห้องมีเตียงนอนพร้อมกับหมอนฟูกผ้าปูนอนเรียบร้อย ห้องละ ๕ เตียง ๔ เตียง ๓ เตียง มีห้องน้ำในห้องพักเสร็จ ที่เคยคิดวาดมโนภาพเกี่ยวกับที่พักผิดหมด นอนพักในวัดไทยจะดีเสียกว่าโรงแรมอินเดียด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างเป็นอยู่แบบไทย และเหมาะกับภารกิจที่จะทำต่อไปด้วย ทุกอย่างเข้าที่แล้วจึงไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงครัวของวัด กลับมาพักผ่อนตามอัธยาศัย

            เวลา ๑๔.๐๐ น. คณะของเรา ๑๐ คน ขึ้นรถเตรียมออกจากวัดไทยพุทธคยา พระกิตติศักดิ์  กิตติธัมโม ผู้เป็นมัคคุเทศก์และผู้นำสวดมนต์ นั่งสมาธิประจำคณะตลอด ๖ วัน ก็ขึ้นรถไปพร้อมกัน นั่งรถไปประมาณ ๑๐ นาที ก็ถึงลานจอดรถ ทุกคนลงเดินไปอีก ๕๐๐ เมตร แล้วถอดรองเท้าเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ แล้วเดินตรงไปเลี้ยวขวามือลงบันไดลาดลง มองเห็นมหาโพธิวิหารด้านหน้า รู้สึกตะลึงและมีใจเลื่อมใสเป็นล้นพ้น ถึงความใหญ่มโหฬารของมหาโพธิวิหาร ทั้งงดงามและตั้งเด่นเป็นสง่า มหาโพธิวิหาร ทำด้วยหินทราย แต่งลวดลายด้วยปูน ส่วนยอดเป็นสถูปเจดีย์ ตอนกลางเป็นปรางค์สี่เหลี่ยม ตอนล่างเป็นวิหาร ๒ ชั้น ยอดสูงถึง ๑๗๐ ฟุต ตรงกลางล่างสุดมีทางเข้าออกทางเดียว มีพระพุทธเมตตาปางมารวิชัย ซึ่งแกะสลักจากหินแกรนิตสีดำทาทองทับทั้งองค์ มีอายุราว ๑,๔๐๐ ปี เมื่อครั้งพระสมณะจีนถังซำจั๋งเดินทางมาถึงที่นี่ เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ก็พบว่ามีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ประดิษฐานอยู่ก่อนแล้ว ด้านหลังทิศตะวันตกมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ห่างจากขอบมหาโพธิวิหารประมาณ ๒ เมตร และแท่นวัชรอาสน์อยู่ตรงกลาง เป็นแท่นหินแกรนนิตสีดำ ขนาดยาว ๗ ฟุต ๖ นิ้ว กว้าง ๔ ฟุต ๑๐ นิ้ว หนา ๓ ฟุต สลักลวดลายดอกไม้ด้านบนและด้านข้าง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์หลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ ๒๐๐ กว่าปี ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เห็นปัจจุบัน เป็นลูกของต้นแรก เพราะต้นเดิมได้หักโค่นและถูกทำลายจากพวกนอกพุทธศาสนา ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์และแท่นวัชรอาสน์ก่อฐานสี่เหลี่ยมยกสูงประมาณ ๑ เมตร มีรั้วเหล็กล้อมรอบส่วนอนุสรณ์สถานอื่นๆ เช่น อนิมิสเจดีย์รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ สระมุจลินท์และต้นไม้จิก ก็สร้างไว้ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุตติสุขสัปดาห์ที่ ๒-๓-๔ ตามลำดับ

            กาลเวลาที่ผ่านมา ณ สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แห่งนี้ พวกเราเกิดภายหลังนานถึงสองพันห้าร้อยกว่าปี ได้ไปกราบไหว้สักการบูชา และเห็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธทั่วโลกมาชุมนุมกัน นึกถึงบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ได้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ไว้ และต่อมาประเทศอินเดียถูกพวกเติร์กและมงโกลรุกราน ผู้นับถือศาสนาอื่นมาทำลายบ้าง ถูกภัยธรรมชาติทำลายบ้าง ปล่อยทอดทิ้งไว้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๔ ประมาณ ๒๐๐ กว่าปี จนถูกน้ำท่วมพัดเอาดินทรายทับถมมหาโพธิวิหารสูงเกือบ ๑๐ เมตร และกษัตริย์ราชวงศ์โมกุลผู้นับถือศาสนาฮินดู ได้พระราชทานที่ดินแผ่นดินใหญ่รวมทั้งมหาโพธิวิหารทั้งหมด ให้แก่พวกมหันต์ นิกายใหม่ลัทธิหนึ่งของศาสนาฮินดู ต่อมามีชาวพุทธต่างชาติเห็นคุณค่าได้เรียกร้องและอ้อนวอนชาวพุทธทั่วโลกช่วยสนับสนุนฟื้นฟูมหาโพธิวิหาร ดังนี้


           
พ.ศ. ๒๔๐๐ เศษ พันเอกเซอร์ อะเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Major – General Sir Alexander Cunningham) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ (เสมือนพระเจ้าอโศกมหาราชคนที่ ๒) ได้ทำการขุดค้นบูรณะร่วมกับนายช่าง โจเซฟ เมลิกเบกลาร์ โดยปฏิสังขรณ์ใหม่อย่างประณีต แก้ไขให้ได้ตามแบบที่พราหมณ์ อมรเทวะ สร้างไว้เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐

            อีกท่านหนึ่ง คือ เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ (
Sir Edwin Arnold) ชาวอังกฤษ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Telegraph ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ประทีปแห่งเอเชีย (The light of Asia) เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ไปนมัสการปูชนียสถานในอินเดีย ได้เห็นมหาโพธิวิหารมีปัญหาที่แก้ไม่ตก เพราะตกไปอยู่ในการครอบครองของศาสนาฮินดูลัทธิมหันต์ดังกล่าว จึงขอให้รัฐบาลอังกฤษช่วยสนับสนุนให้องค์การหรือสมาคมใดสมาคมหนึ่งดูแลรักษา และยังวิงวอนขอให้พุทธศาสนิกชนทั่วโทลกช่วยกันบำรุงปูชนียสถานทางพุทธศาสนาในอินเดียด้วย

            พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านอนาคาริกะ  ธรรมปาละ หรือดอน  เดวิส ชาวศรีลังกาผู้มั่งคั่ง ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี จากประเทศตะวันตกในสมมัยนั้น ได้อ่านหนังสือประทีปแห่งเอเชียของท่านเซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ ที่กล่าวถึงชาวพุทธทั่วโลกกำลังลืมศาสนาของตน และได้ทอดทิ้งสถานที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาให้อยู่ในสภาพน่าอนาถใจ ท่านจึงได้สละทรัพย์ส่วนตัวจัดตั้ง มหาโพธิสมาคมขึ้น ท่านเองก็ทำงานเพื่อทำนุบำรุงให้พระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้กลับฟื้นคืนมาเป็นสมบัติของชาวพุทธทั่วโลก ด้วยความทรหดอดทน และมีมานะอย่างสูงตลอดเวลา ๔๑ ปี ทั้งต่อสู้ในศาลและสภาของรัฐบาลอินเดีย ตลอดถึงการไปแสดงปาฐกถาวิงวอนชาวพุทธทั่วโลกช่วยสนับสนุน เมื่อทุกอย่างสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ถึงแก่กรรมจากไป แต่มหาโพธิสมาคมยังตั้งอยู่ตาม สังเวชนียสถานสำคัญในอินเดีย เพื่อบำรุงรักษาอนุสรณ์สถานเหล่านั้นให้คงอยู่ตลอดไป

           
ณ มหาโพธิวิหารพุทธคยาแห่งนี้ เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราชพระมหาบุรุษโพธิสัตว์ประทับนั่งภายใต้ต้นไทร ด้านตะวันออกแม่น้ำเนรัญชรา ภายหลังทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยาแล้ว ทรงบำเพ็ญความเพียรทางจิตหรือเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ในเช้าวันนั้นนางสุชาดานำข้าวมธุปายาสมาถวาย พระองค์ทรงเสวยแล้ว ทรงอธิษฐานลอยถาดทองในแม่น้ำเนรัญชรา พอเวลาสายแดดเริ่มจัด พระองค์เสด็จไปยังดงไม้สาละ ประทับอยู่ ณ ที่นั้นจนเกือบเย็นจึงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรามายังฝั่งตะวันตก ณ พุทธคยา ระหว่างทางทรงรับหญ้าคา (กุสะ) ที่โสถิยะพราหมณ์ถวาย ทรงนำไปปูลาดใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิหันพระพักตรืไป ทางทิศตะวันออก ตั้งสัจจะแน่วแน่ว่า “ตัวเรายังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด เราจะไม่ยอมลุกขึ้นตราบนั้น แม้ว่าเลือและเนื้อจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม” พระองค์ประทับนั่งเจริญจิตภาวนาตั้งแต่หัวค่ำจนใกล้รุ่ง พระองค์ต่อสู้กับกระแสความนึกคิดที่น้อมไปทางโลกียสุขอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ยอมหมุนกลับไปหาสิ่งเหล่านั้นอีก ยิ่งทรงมุ่งมั่นมากขึ้นโดยไม่หวั่นไหว เปรียบดังถูกพญามารมาผจญ เพื่อเอาชนะพระองค์ทุกวิถีทาง

            เมื่อพระองค์ชนะมารแล้ว ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิเข้าฌานตามดาบสอาจารย์ได้สอนไว้ แต่องค์ฌานที่อาจารย์ดาบสทั้งสองสอนมีเพียงฌานที่ ๗ พระองค์ทรงบำเพ็ญสมาธิเข้าถึงฌานที่ ๘ และนิโรธสมาบัติ ทรงบรรลุญาณที่ ๑ คือ บุพเพนิวาสานุสติญาณตอน ๓ ทุ่ม ทรงบรรลุญาณที่ ๒ คือ จุตูปปาตญาณ ประมาณเที่ยงคืน ต่อจากนั้นทรงบรรลุญาณที่ ๓ คือ อาสวักขยญาณ และอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การได้บรรลุญาณทั้งสาม เรียกว่าการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้ธรรม เครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง เกิดขึ้น ณ วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขมาส (เดือน ๖) ๔๕ ปี ก่อนพุทธกาล


            คณะของเราทั้ง ๑๑ คน รวมทั่งพระกิตติศักดิ์ เดินแทรกผู้คนแออัดมีทั้งพระและฆราวาสมาจากทุกมุมโลก เข้าไปภายในมหาโพธิวิหาร ซึ่งมีความกว้างประมาณ  ๓ เมตร กราบไหว้พระพุทธเมตตา อธิษฐานแล้วนั่งสมาธิเป็นพุทธชา เสร็จแล้วออกมาเดินปทักษิณ ๓ รอบ พระกิตติศักดิ์พาเดินดูสถานที่ต่างๆ ด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุตติสุข และบอกคณะของเราว่า คืนนี้จะกลับมาสวดมนต์นั่งสมาธิอีกครั้งหนึ่ง แล้วทุกคนกลับไปขึ้นรถมุ่งไปทางทิศตะวันออกข้ามแม่น้ำเนรัญชรา เป็นสะพานคอนกรีตแคบๆ มีคนทั้งเดินและขี่จักรยานสวนกันไปมาอย่างแออัด แม่น้ำเนรัญชราขณะที่ไปเห็นยังอยู่ปลายฤดูฝน มีน้ำไหลเอื่อยๆ ดูตื้นเขินมาก เห็นกอหญ้ากลางแม่น้ำคล้ายต้นกก คิดไปถึงโสถิยะพราหมณ์ คงมาตัดเกี่ยวเอาหญ้ากุสะหรือหญ้าคาชนิดนี้ตามริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วยกเทินหัวกลับบ้านตอนเย็น พอดีเดินสวนทางกับพระสิทธัตถโพธิสัตว์ จึงแบ่งหญ้าคาถวายแด่พระองค์ แม่น้ำเนรัญชราสมัยพุทธกาลคงกว้างใหญ่และลึกมาก สังเกตสะพานข้ามปัจจุบันยาวเกือบ ๖๐๐ เมตร รถทัวร์นำพวกเราไปดูอนุสรณ์ สถานบ้านเดิมของนางสุชาดา ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชให้พูนดินก่ออิฐก้อนใหญ่สูงประมาณ ๒๐ เมตร ล้อมบริเวณด้วยลวดหนามมีที่สงวนไว้ประมาณ ๑๐๐ ตารางวา นอกนั้นเป็นบ้านเรือนของชาวบ้าน เดินขึ้นไปบนยอดเนินดิน พระกิตติศักดิ์ชี้ให้ดูภูเขาเทือกหนึ่งไม่สูงนัก ล้อมรอบด้วยทุ่งนาต้นข้าวกำลังเขียว บอกว่านั่นคือดงคสิริที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา มีรูปพระสิทธัตถโพธิสัตว์บำเพ็ญทุกกรกิริยาเท่าพระองค์จริง ซึ่งคนไทยมีศรัทธาได้ส้างนำมาไว้เงื้อมเขาแห่งนั้น และชี้ให้ดูท่าน้ำเนรัญชราที่พระพุทธองค์ทรงลอยถาดทองก่อนตรัสรู้ มองข้ามแม่น้ำเนรัญชราและยอดไม้ เห็นยอดมหาโพธิวิหารอยู่ไม่ไกลนัก เสร็จแล้วเดินทางกลับวัดไทยพุทธคยาระหว่างทางรถวิ่งเข้าเขตพุทธคยา เห็นวัดนานาชาติมาสร้างตามแบบพุทธศิลปะของชาติตนสวยงามมาก

            เวลา ๑๘.๐๐ น. คณะของเราทุกคนเข้าอุโบสถวัดไทยพุทธคยา ทำวัตรเย็นร่วมกับพระสงฆ์ นั่งสมาธิและถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายปัจจัยและธูปเทียนแด่พระสงฆ์ มีพระเทพโพธิวิเทศ เปรียญธรรม ๙ ประโยคและดุษฎีบัณฑิต เจ้าอาวาสเป็นประธาน ภายในอุโบสถมีพระพุทธชินราชจำลองสวยมาก เป็นพระประธาน ทุกอย่างภายในตกแต่งสวยงามลงตัวพอดี ทำให้น่าเลื่อมใส พระสงฆ์อนุโมทนา เสร็จแล้วนั่งสนทนากับท่านพอสมควร ทุกคนออกจากอุโบสถไปรับประทานอาหารเย็น ณ โรงครัววัด

           
เวลา ๑๙.๐๐ น. ทุกคนเตรียมขึ้นรถกลับไปมหาโพธิวิหารอีกครั้ง พระกิตติศักดิ์นำไหว้พระสวดมนต์และนั่งสมาธิข้างต้นพระศรีมหาโพธิ์และแท่นวัชรอาสน์ แล้วเดินปทักษิณมหาโพธิวิหาร ๓ รอบ จึงเดินทางกลับวัดไทยพุทธคยา เข้าที่พักด้วยความเอิบอิ่มใจ นอนหลับรวดเดียวตื่นเวลา ๐๔.๓๐ น.


วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๐
(วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐)
            เวลา ๐๗.๑๕ น. ทุกคนรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วเตรียมกระเป๋าขึ้นรถทัวร์คู่ใจ ออกเดินทางขึ้นเหนือไปยังเมืองราชคฤห์ (สมัยพุทธกาลเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ มีพระเจ้าพิมพิสารทรงปกครอง) วันนี้เป็นวันพระ พระกิตติศักดิ์ให้ทุกคนไหว้พระสวดมนต์เช้า นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไหว้พระสวดมนต์บนรถกำลังแล่นบนถนน ทุกคนก็ตั้งใจทำด้วยความเคารพ เพราะถือว่าในอดีตพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง สถานที่เหล่านี้เป็นแผ่นดินธรรมอย่างแท้จริง ผู้คนทุกระดับชั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เข้าถึงนิพพานทั้งชายหญิง นับจำนวนไม่ถ้วน รถวิ่งไปบนถนนแคบๆ สองข้างทาง มีคนเดิน รถจักรยานและจักรยานยนต์วิ่งสวนมาไม่ขาดสาย รถทัวร์ใช้แตรไม่ขาดระยะเหมือนกัน มองไปข้างหนารถน่าเวียนหัว เพราะรถยนต์ต้องหลบคน ถามคนคุมรถทัวร์ว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยไหม
? เขาบอกว่านานๆ จะมีสักครั้ง อาจจะจริง ในชนบทเมืองไทยเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน บนถนนหลวงมีทั้งคน วัว ควายเดินและเกวียน คนขับรถจักรยานและจักรยานยนต์ก็มาก รถยนต์พอมีบ้าง อุบัติเหตุไม่ค่อยปรากฏ เช่นเดียวกับอินเดียในปัจจุบัน รถทัวร์วิ่งไปประมาณ ๒ ชม. ก็มองเห็นเทือกเขาหินเป็นแนวยาวข้างหน้า รถวิ่งผ่านถนนระหว่างเทือกเขาหิน แต่ไม่ได้ขึ้นเขา รถทัวร์หยุดจอดข้างทาง ลงไปดูทางเกวียนโบราณอายุหลายพันปี เป็นร่องหินคู่ขนานกันลึกประมาณ ๓ นิ้ว ปรากฏอยู่ พระกิตติศักดิ์บอกว่าที่ใกล้ทางออกจากเมืองราชคฤห์นี้ พระเจ้าพิมพิสารมาพบพระสิทธัตถโพธิสัตว์ ขณะที่พระองค์กำลังแสวงหาโมกขธรรม พระเจ้าพิมพิสารขอพร ๕ ประการจากพระองค์ หนึ่งในห้าข้อนั้น คือ หากพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาโปรดพระเจ้าพิมพิสารด้วย

            รถทัวร์วิ่งผ่านป่าละเมาะหลายพันไร่ไม่มีบ้านเรือน พระกิตติศักดิ์บอกว่า นี่คือนครหลวงราชคฤห์ของแคว้นมคธสมัยพุทธกาล ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นตาตื่นใจเพราะทราบตามพุทธประวัติในนครราชคฤห์มีนักพรต นักบวชและนักปราชญ์จำนวนมาก และพระพุทธศาสนาได้หยั่งลงจนเจริญรุ่งเรืองที่สุด มีวัดเวฬุวนารามแห่งแรกในนครนนี้ รถวิ่งไปได้ระยะหนึ่งหยุดจอดข้างทาง พระกิตติศักดิ์ชี้ให้ดูด้านขวามือ บอกว่านั่นเป็นแนวกำแพงคุกที่พระเจ้าอชาตศรัตรูกักขังพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นโสดาบัน จนพระองค์สิ้นพระชนม์ เพื่อชิงเอาราชสมบัติ พระเจ้าอชาตศัตรูได้กระทำอนันตริยกรรมครั้งนี้ เพราะไปเลื่อมใสและเชื่อคำของพระเทวทัต ว่าให้กำจัดพระราชบิดาเสีย ส่วนพระเทวทัตจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า เพื่อให้ทั้งราชอาณาจักรและศาสนจักรยิ่งใหญ่ เนื่องจากพระเทวทัตมีความโลภในลาภสักการะ ทั้งที่พระเจ้าอชาตศัตรูและพระเทวทัตได้เกิดร่วมสมัยของพระพุทธองค์ เป็นกาลมบัติที่ดี และได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์หลายครั้ง ก็ไม่สามารถได้รับมรรคผลใดๆ เพราะอกุศลกรรมอันใหญ่หลวงนัก แม้ภายหลังพระเจ้าอชาตศัตรูเลื่อมใสพระพุทธองค์และยังได้เป็นผู้อุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งแรกของพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปก็ตาม ต่อมาในราชวงศ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู ก็ถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์เพื่อชิงเอาราชสมบัติต่อกันมาถึง ๕ รัชสมัย รถวิ่งมาได้ ๕ นาที พระกิตติศักดิ์ชี้ให้ดูป่าไผ่ทึบด้านซ้ายมือบอกว่า นั่นเป็นป่าไผ่วัดเวฬุวนาราม ที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย ป่าไม้ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่จรดแนวภูเขาหินโอบล้อมด้านใต้ ที่เรียกว่าเบญจคีรีนคร หรือนครราชคฤห์อันยิ่งใหญ่สมมัยพุทธกาล ปัจจุบันเป็นเมืองเล็กๆ ในชนบท เป็นตำบลหนึ่งของเมืองนาลันทา เหลือแต่ป่าที่รัฐบาลสงวนไว้ คิดแล้วก็สลดใจ

            รถวิ่งต่อไปเกือบชั่วโมงก็เข้าเขตเมืองนาลันทา ทุกคนลงจากรถซื้อบัตรผ่านเข้าไปชมมหาวิทยาลัยนาลันทาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเนื้อที่ดินถึง ๑๖ ตารางกิโลเมตร เดินตรงเข้าไปตามถนนอันร่มรื่น ๕๐๐ เมตร ได้เห็นซากปรักหักพั ทางดบราณคดีได้จัดเตรียงอิฐก้อนโตเป็นแนวตามแบบแปลนเดิม มีที่พักสงฆ์ วัด สถูป และบ้านของพระสารีบุตร ข้าพเจ้าเดินดูไปรู้สึกขนลุกขนพอง ทำให้ย้อนคิดไปถึงอดีต เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างวัดและสถูปครั้งแรก มีพระสงฆ์อยู่ไม่มากนัก ต่อมาอีกประมาณ ๗๐๐ ปี สมัยคุปตะราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ มีการก่อสร้างวัด สำนักสงฆ์เพิ่มมากขึ้น มีวัดถึง ๖ วัด ในบริเวณใกล้กัน อีกประมาณ ๒๐๐ ปี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในสมัยพระเจ้าหรรษวรรธนะได้ก่อกำแพง ล้อมรอบรวมกันเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา สำหรับเป็นสถานศึกษาค้นของสงฆ์ซึ่งเจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีพระสงฆ์ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศต่างๆ มาศึกษาหาความรู้หลายหมื่นรูป เป็นสถานศึกษาที่ยิ่งใหญ่และดีที่สุด ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยโด่งดังปากต่อปากทั่วโลก แม้พระสมณะจีนถังซำจั๋งยังเดินทางฟันฝ่าอันตรายตามทางสายไหม ถิ่นทุรกันดารสมัยนั้น ไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยนาลันทานานถึง ๕ ปี ท่านได้บันทึกตามที่เห็นในขณะนั้นว่า “...บริเวณทั้งหมดมีกำแพงล้อมรอบเป็นอารามแห่งเดียวกัน มีหนึ่งประตู ภายในแบ่งเป็นหอสำหรับแปดแห่ง โบสถ์วิหารวิจิตรงดงาม มียอดสูงเทียมเมฆ ที่พำนักของพระสงฆ์ล้วนเป็นหอสูงสี่ชั้น พระภิกษุในอาราม รวมทั้งที่มาจากที่อื่น มีจำนวนนับหมื่น ล้วนศึกษาในลัทธิมหายาน แต่ก็ยังศึกษาลัทธินิกายอื่นๆ อีก ๑๘ นิกาย ควบคู่กันไป”

            นาลันทามหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยนาลันทา ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องอีก ๒๐๐ ปี จนเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ กษัตริย์วงศ์ปาละทรงอุถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างมากมาย จนศาสนาพุทธเข้าสู่ยุคนิกายตันตระ (ศาสนาฮินดูเข้าผสมกับพระพุทธศาสนา) เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ปาละแก้ว มหาวิทยาลัยนาลันทาแทบจะไม่ได้รับอุปถัมภ์จากผู้ปกครองบ้านเมืองอีก จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มหาวิทยาลัยนาลันทาเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ประกอบกับความย่อหย่อนในธรรมวินัยของพระสงฆ์ และภัยสงครามจากพวกเติร์ก ที่บุกรุกเข้ามาถึงแคว้นมคธ มหาวิทยาลัยนาลันทาถูกเผาผลาญไฟ้ไหม้ห้องสมุดอันใหญ่โต ซึ่งเป็นที่เก็บสะสมคัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนาที่สำนักสงฆ์ วิหารจนเป็นเถ้าถ่านหมด ถาวรวัตถุก่อสร้างด้วยอิฐปูน ถูกทุบทำลายจนราบเรียบ พระสงฆ์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาถูกทำร้ายและถูกฆ่า ที่อยู่รอดไปได้ก็หนีไปต่างประเทศใกล้เคียง สถานศึกษาอันยิ่งใหญ่แห่งนี้จึงถูกปล่อยร้างว่างเปล่านับตั้งแต่บัดนั้น และฝังดินจมอยู่โดยไม่มีใครรู้จัก นานถึง ๗๐๐ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๔ เซอร์ อะเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (
Major – General Sir Alexander Cunningham) นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ขุดค้นพบ จึงเป็นที่รู้จักตั้งแต่บัดนั้น

 
           เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ อินเดียได้เริ่มตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่มีบทบาทยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของชมพูทวีป รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ด้วย ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้มีการจัดตั้งสถาบันบาลีนาลันทา ชื่อว่า “นวนาลันทามหาวิหาร” ขึ้นเพื่อแสดงความรำลึกถงคุณและยกย่องเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา และเป็นอนุสรณ์แก่นาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ในอดีตด้วย

            คณะของเราได้เดินชมมหาวิทยาลัยนาลันทาเกือบหนึ่งชั่วโมง แล้วจุดธูปเทียนไหว้อนุสรณ์สถาน ที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านของพระสารีบุตร แล้วออกมานั่งรถไปจอดข้างทุ่งนา เดินตามทางเข้าไปประมาณ ๑๐๐ เมตร ซึ่งอยู่นอกบริเวณมหาวิทยาลัยนาลันทา ชาวบ้านนับถือศาสนาฮินดูได้ขุดค้นพบพระพุทธรูปแกะสลักหินแกรนิตสีดำทั้งองค์เรียกกันว่า “พระองค์ดำ” เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้างเกือบสองเมตร มีพุทธลักษณะสวยงามมาก อายุราว ๑,๐๐๐ กว่าปี แต่ถูกพวกนอกศาสนาทำลายพระเนตรและพระนาสา ชาวฮินดูไม่ยอมมอบให้กองโบราณคดี พวกเขานับถือว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ยามเจ็บป่วยไปกราบไหว้อธิษฐานแล้วหาย ชาวฮินดูเคารพพระพุทธรูป เพราะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระวิษณุปางหนึ่ง ทุกคนจุดธูปเทียนบูชากล่าวคำไหว้พระแล้วเดินออกมาขึ้นรถ รถวิ่งกลับย้อนมาเมืองราชคฤห์อีกครั้ง ถึงเมืองราชคฤห์รถเลี้ยวขวามือเข้าไปประมาณกิโลเมตรเศษ ก็ถึงวัดไทยสิริราชคฤห์ ทุกคนขนกระเป๋าลงจากรถ คืนนี้จะพักที่นี่หนึ่งคืน ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ทางวัดจัดอาหารกลางวันไว้รอ พวกเรารับประทานอาหารกลางวันแล้วพักผ่อนตามอัธยาศัย

            เวลา ๑๕.๑๕ น. ทุกคนขึ้นรถออกจากวัดไทยสิริราชคฤห์ไปยังวัดเวฬุวนาราม ห่างจากวัดไทยกิโลเมตรเศษ ซื้อบัตรเข้าไปชมภายใน มีกอไผ่หนาทึบตรงทางเข้า ภายในมีต้นไม้ใหญ่เป็นสถานที่รื่นรมย์มาก สถานที่นี้พวกอิสลามยึดนำมาเป็นสุสานอยู่นาน รัฐบาลอินเดียยึดคืนมาสงวนไว้เป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา นักโบราณคดี ขุดค้นพบแนวกำแพงอิฐและอื่นๆ จึงสันนิษฐานว่าเป็นวัดเวฬุวนารามในสมัยพุทธกาล แต่ไม่ได้ขุดค้นต่อ เพราะบางส่วนมีหลุมฝังศพพวกอิสลาม จึงได้แต่สงวนไว้เป็นอนุสรณ์ มีสระใหญ่สระหนึ่งกว้างและลึก ตกแต่งรักษาไว้อย่างดี คงจะเป็นสระการันธะที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายแต่พระพุทธองค์ เดินไปข้างสระมีสนามหญ้าและศาลเล็กๆ ศาลหนึ่ง มีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์หนึ่งขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ทุกคนจุดธูปเทียนไหว้พระสวดมนต์รำลึกถึงพระพุทธองค์และพระอรหันต์ที่พระพุทธองค์ทรงประทานบวชด้วยพระองค์เอง จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมกัน ณ ที่นี่โดยมิได้นัดหมาย ในเดือนที่ ๙ หลังการตรัสรู้ ตรงกับวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆมาส และพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา ถือเป็นมัชฌิมโอวาทในการประพฤติปฏิบัติตนของฆราวาส และการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์ ณ วัดเวฬุวนารามแห่งแรกนี้

 
           เสร็จแล้วทุกคนขึ้นรถวิ่งต่อไปไม่ไกลนัก เพื่อจะไปดูสระน้ำตโปธารา อายุ ๔,๐๐๐ ปี เป็นสระน้ำแร่อุ่นไหลจากใต้ดินทางภูเขาด้านใต้ สระอาบน้ำแบ่งเป็นห้องใหญ่ก่ออิฐสูง อยู่ข้างบนมองลงเห็นคนอาบน้ำ ที่แบ่งลดหลั่นเป็นห้องๆ เช่นนั้น แบ่งตามชนวรรณะของคนอินเดีย วรรณะกษัตริย์อาบห้องแรกชั้นบน น้ำไหลลงมาชั้นที่ ๒-๓ ผู้เข้าไปอาบย่อมจะรู้วรรณะของตนว่าควรอาบห้องไหน สมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จไปสรงสนานเช่นกัน ปัจจุบันไมม่มีกษัตริย์ เข้าใจว่าห้องชั้นแรกคงเป็นพวกพราหมณ์หรือนักบวชฮินดู ที่เรียกว่า “สาธุ” ลงไปอาบกัน เท่าที่เห็นมีร่วม ๑๐ คน กำลังอาบน้ำอยู่


            จากนั้น คณะของเราขึ้นรถออกจากสระตโปธาราไปยังเขาคิชกูฏ รถวิ่งผ่านแนวกำแพงคุกที่ใช้กักขังพระเจ้าพิมพิสาร รถเลี้ยวซ้ายแยกจากทางหลวงเข้าไปประมาณกิโลเศษ ถนนพระอารามชีวกัมพวันของหมอชีวก ซึ่งอยู่ซ้ายมือล้อมรั้วติดถนน มีแนวกำแพงอิฐเป็นอนุสรณ์ ถึงเชิงบันไดขึ้นเขาคิชกูฏ มีร้านเครื่องดื่มอาหารหลายร้าน ทางขึ้นท่อนแรก ๒ ใน ๓ ของความสูงค่อนข้างชัน ทางเดินขึ้นเทปูนกว้างประมาณ ๒ เมตร แต่ไม่มีขั้นบันไดเทปูนลาดลงเป็นแนวราบ ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเดินนำหน้าลูกอ้อขึ้นไปสักพักหนึ่งต้องเหลียวมาดู ด้วยความเป็นห่วงว่าลูกอ้อตั้งครรภ์สี่เดือนกว่าจะเดินขึ้นไม่ไหว คอยถามว่าไหวไหม? เขาบอกว่าไหว แต่คุณอาณัฐสามีก็คอยระวังเดินตามหลังทุกระยะ พอพ้นทางชันก็เป็นทางราบ มีสะพานข้ามร่องน้ำ พอเดินตามแนวโค้งเป็นเนินขึ้น ก็พบถ้ำสุกรขาตาเป็นถ้ำหินเล้กๆ มีผู้นำทองแผ่นปิดด้านบนถ้ำมากมาย และมีก้านธูปปักทิ้งไว้ ทุกคนจุดธูปเทียนบูชาและสวดมนต์รำลึกถึงเมื่ออดีตพระพุทธองค์ประทับอยู่มูลคันธกุฏีบนยอดเขา เสด็จลงมาแสดงธรรม ณ ที่นี่บ่อยๆ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ก็สำเร็จพระอรหันต์ที่นี่ เฉพาะพระสารีบุตรบำเพ็ญความเพียรอยู่หนึ่งเดือน ได้ฟังธรรามเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ทีฆนขะหลานชายอยู่ ขณะที่ท่านถวายงานพัดส่งกระแสจิตพิจารณาตามพระธรรมเทศนา ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เสร็จแล้วพระกิตติศักดิ์นำขึ้นทางโค้งอ้อมไปทางขวามือ ทางชันนิดหน่อยก็ถึงที่ราบลานหินกว้างพอสมควร ก่อนจะขึ้นอ้อมขวาอีกชั้นหนึ่ง พระกิตติศักดิ์บอกว่า ที่นี่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จะต้องเปลื้องเครื่องประดับอาภรณ์ทุกอย่างออก จึงจะเสด็จขึ้นไปเฝ้า มีลานเทปูนประมาณ ๘ ตารางเมตร ปักป้ายเป็นภาษาจีนไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระสมณะจีนถังซำจั๋งหรือหลวงจีนอี้จิง ได้มาปักกรดนั่งสมาธิอยู่ที่นี่ แล้วพระกิตติศักดิ์นำเดินขึ้นทางโค้งอ้อมขวามือ มองขึ้นไปบนยอดเขาตรงนั้นเหมือนหัวอีแร้งจริงๆ แต่เป็นหินก้อนใหญ่มาก พระกิตติศักดิ์บอกว่าตรงนี้แหละพระเทวทัตกลิ้งหินลง เพื่อปลงพระชนม์พระพุทธองค์ พระเทวทัตคงยกหินก้อนขนาดน้ำหนัก ๓๐-๔๐ กิโลกรัม ดักอยู่บนยอดตรงรูปหัวอีแร้ง กลิ้งลงมาขณะพระพุทธองค์เสด็จลงจากมูลคันธกุฏี ปรากฏว่าก้อนหินกลิ้งลงกระทบหน้าผาแตกเป็นสะเก็ดไปกระทบพระบาท ทำให้พระบาทห้อเลือด (ฟกช้ำ) เท่านั้น พวกภิกษุพาพระพุทธองค์ลงจากเขาเข้าไปพระอารามชีวกัมพวัน หมอชีวกทราบข่าวรีบไปทำแผลพันผ้าไว้ วันรุ่งขึ้นแผลก็หายเป็นปกติ พระเทวทัตมีจิตประทุษร้ายกระทำอนันตริยกรรมฝ่ายอกุศล ถือว่าใหญ่หลวงนัก เดินขึ้นไปอีกประมาณ ๒-๓ เมตร ก็ถึงลานหิน มีอิฐ ก่อขนาดหนา ๘๐ เซนติเมตร สี่เหลี่ยมทางขวามือ คือ กุฏีของพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ตรงไปเป็นมูลคันธกุฎีของพระพุทธองค์ เฉพาะมูลคันธกุฏีหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยอิฐก้อนโต มีขนาดยาว ๓ เมตร กว้าง ๒.๘๐ เมตร หนา ๘๐ เซนติเมตร มีประตูเข้าด้านเดียว ทุกคนจุดธูปเทียนบูชาไหว้พระสวดมนต์และนั่งสมาธิเป็นพุทธบูชา รำลึกถึงพระพุทธองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ให้ถึงสันติสุข และหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะหยุดเวียนว่ายตายเกิด คือเข้าถึงนิพพานตลอด ๔๕ พรรษา

 
           เสร็จแล้วทุกคนเดินลงจากเขาคิชกูฏ (ยอดเขาอีแร้ง) ตัวเบาหวิวด้วยความปีติอิ่มเอิบหัวใจ ซึ่งเป็นเวลาเกือบหกโมงเย็นแล้ว อากาศเย็นสบายและเดินลงไม่ต้องออกแรงมากนัก เวลาประทศไทยขณะนี้ประมาณทุ่มเศษ เวลาในอินเดียช้ากว่าไทยหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เพราะไทยเรารับแสงจันทร์แสงอาทิตย์ก่อนอินเดีย และอยู่ทางทิศตะวันออก มาถึงวัดไทยสิริราชคฤห์อาบน้ำแล้วรับประทานอาหารเย็น

 
           เวลา ๑๙.๐๐ น. ทุกคนเข้าศาลาทำวัตรเย็นร่วมกับพระสงฆ์นั่งสมาธิ ถวายผ้าป่าและปัจจัยแด่พระสงฆ์แล้วพระสงฆ์อนุโมทนา วัดไทยสิริราชคฤห์เป็นวัดสร้างใหม่ มีห้องพักทำเป็นหลังๆ ชั้นเดียว มีประมาณ ๑๐ หลัง แต่ละหลังมีเตียง ๔ หลัง ห้องน้ำในตัว หันหน้าเข้าหากัน เข้าพักแล้วสะดวกสบายมาก วัดนี้อุปถัมภ์โดยท่านเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ และญาติโยมผู้มีศรัทธาไปแสวงบุญบริจาคช่วยการก่อสร้าง ที่พักและกุฏิพระสงฆ์ก็มีญาติโยมเป็นเจ้าของสร้างถวาย โดยมีชื่อติดไว้ทุกหลัง เวลานี้ยังไม่มีอุโบสถทางวัดกำลังกอสร้างอาคารปฏิบัติธรรมสี่ชั้น และซุ้มประตูเข้าวัด สถานที่ตั้งวัดทำเลดีมาก มีทุ่งนาและสวนชาวบ้านแวดล้อม และใกล้กับเทือกเขาเวภารบรรพต สถานที่ทำสังคายนาครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน การไปชมอนุสรณ์สถานทางพระพุทธศาสนา ก็ไปได้สะดวกและใกล้กับวัดด้วย เมื่อเสร็จทำบุญแล้วทุกคนเข้าห้องพัก นอนหลับเอาแรงที่จะเดินทางต่อไปวันพรุ่งนี้ ส่วนข้าพเจ้านั่งสนทนากับพระ ๓ รูปอยู่ข้างนอก จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ น. จึงเข้านอน
 

วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๐
            เวลา ๐๔.๔๕ น. ทุกคนรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ขนกระเป๋าขึ้นรถออกเดินทางจากวัดไทยสิริราชคฤห์ มุ่งไปยังเมืองเวสาลีแห่เจ้าลิจฉวี จากนั้นรถจะวิ่งออกจากรัฐพิหาร (แคว้นมคธ) ไปยังรัฐอุตตรประเทศ (แคว้นมัลละ, แคว้นกาสี และแคว้นโกศล) ต่อไป ระยะทางประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตรเศษ รถวิ่งมาได้ประมาณ ๓ ชั่วโมง ถึงสะพานมหาตมะ คานธี ยาว ๗ กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำคงคาผ่านเมืองหลวงปัตนะรัฐพิหารปัจจุบัน ตั้งอยู่ริ่มฝั่งด้านใต้แม่น้ำคงคาด้านซ้ายมือ แต่รถคณะของเราไม่ได้วิ่งผ่าน (เมืองหลวงปัตนะ คือกรุงปาฏลีบุตร ที่พระเจ้าอชาตศัตรูย้ายจากกรุงราชคฤห์ มีพระมหากษัตริย์ปกครองจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณ ๓๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน ปัจจุบันมีผู้ไปเห็นมาบอกว่าเมืองหลวงปัตนะเปลี่ยนแปลงไปมาก เหลือแต่ซากปรักหักพังของโบราณวัตถุที่จมอยู่ใต้ดินอีกมาก ผู้คนอาศัยอยู่ก็ยากจนมากในบรรดาเมืองหลวงอินเดีย) รถวิ่งผ่านสะพาน ๑๐ นาที เป็นสะพานแคบ บางส่วนกำลังซ่อมแซมฝั่งแม่น้ำคงคาด้านเหนือ มีสวนกล้วยเขียวปืดหลายหมื่นไร่ มองดูจนสุดสายตา กล้วยที่เขาปลูกมีชนิดเดียว มีวางขายทุกชุมนุมชน เท่าที่สังเกตเห็น กล้วยชนิดนี้คล้ายกล้วยน้ำบ้านเรา แต่ลูกเล็กสีเขียวไม่หวานนัก ออกรสเปรี้ยวนิดๆ เป็นของหวานหลังอาหารของคณะเราเกือบทุกมื้อ ผลไม้ที่เขาวางขายมากสุดๆ คือกล้วยและผลแอปเปิ้ล

 
           รถทัวร์วิ่งต่อไปอีก ๒ ชั่วโมงเศษ ก็เข้าถึงเมืองเวสาลี สมัยพุทธกาลมมีเจ้าลิจฉวีร่วมกันปกครองด้วยสามัคคีธรรม บรรดาลูกหลานเหลนโตมา ก็มีสิทธิเข้าประชุมปรึกษาเรื่องการเมือง ทหาร เศรษฐกิจและสัมคมร่วมกัน สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมืองเวสาลีอยู่ในอำนาจกรุงปาฏลีบุตร ปัจจุบันสังเกตเห็นบ้านเมืองเงียบเหงา มีแต่ท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล พระกิตติศักดิ์นำพวกเราเข้าไปดูสถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ชาวญี่ปุ่นมีศรัทธาทำโดมเป็นวงกลม ใช้โครงเหล็กขนาดใหญ่ครอบไว้ ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แล้ว แต่สถานที่นั้นยังเป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวพุทธอยู่ คณะเราจึงกราบไหว้กล่าวคำไหว้พระและเดินปทักษิณ ๓ รอบภายใต้โดม แล้วออกมาขึ้นรถ ตรงข้ามสวนสาธารณะที่คณะเราเดินออกมา มีสระน้ำขนาดใหญ่น้ำใสปริ่มเสมอขอบ ขนาดยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร กว้าง ๒๐๐ เมตร พระกิตติศักดิ์บอกว่า นี้คือสระน้ำของเจ้าลิจฉวี ทำให้คิดไปถึงเหตุการณ์ในหนังสือธรรมบทว่า สมมัยพระเจ้าปเสนทิโกศลครองราชย์และพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหารใกล้กรุงสาวัตถี พันธุละเป็นราชบุตรคนหนึ่งของเจ้าลิจฉวี ได้เดินทางไปศึกษาเมืองตักกสิลาพร้อมกับมหาลิ ได้พบกับปเสนทิราชกุมาร จึงได้เป็นเพื่อร่วมศึกษาอาจารย์เดียวกัน เมื่อจบการศึกษากลับมาเมืองเวสาลี พันธุละไม่พอใจพวกเจ้าลิจฉวี จึงพานางมัลลิกาภริยาหนีไปรับราชการในราชสำนักแคว้นโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดี พอนางมัลลิกาตั้งครรภ์อยากไปอาบน้ำในสระมงคลของพวกเจ้าลิจฉวี พันธุลเสนาบดีพานางขึ้นรถม้าพร้อมธนูออกจากแคว้นโกศลมายังสระแห่งนี้ เมื่อนางมัลลิกาอาบน้ำเสร็จแล้วพวกเจ้าลิจฉวีทราบ จึงเตรียมรถม้าออกศึกจำนวน ๕๐๐ คัน ไล่ติดตามพันธุลเสนาบดี พอมาถึงประตูเมืองเวสาลี มหาลิเจ้าลิจฉวีเพื่อนพันธุลเสนาบดี ผู้มมีพรระเนตรบอดห้ามพวกเจ้าลิจฉวีไม่ให้ออกติดตาม แต่พวกเขาไม่เชื่อ พอพ้นประตูเมือง รถม้าวิ่งไปเป็นทางตรงแนวเดียวกัน พันธุลเสนาบดีใช้ธนูยิงพวกเจ้าลิจฉวีสิ้นพระชนม์หมดด้วยลูกธนูดอกเดียว ภายหลังนางมัลลิกาคลอดบุตรถึง ๑๖ ครั้ง เป็นลูกแฝดถึง ๓๒ คน แต่ละคนก็มีพลานามัยสมบูรณ์มีพลังกายมหาศาล แต่บั้นปลายชีวิตทั้งพันธุลเสนาบดีและบุตร ๓๒ คน ก็ถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลลวงให้ทหารฆ่านอกเมืองทั้งหมด ถือว่าพันธุลเสนาบดีได้รับผลแห่งกรรมสนองกรรมของตนพอสมควรแล้ว


            คณะของเราออกจากที่นั้นแล้ว ตรงไปป่ามหาวันอยู่ไม่ไกลนัก ซื้อบัตรเข้าไปไหว้สถูปพระสารีริกธาตุของนางภิกษุณีผู้เป็นพระอรหันต์ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้รวบรวมนำมาจากที่หลายแห่ง บรรจุไว้ในสถูปเดียวกัน เมื่อ ๒๕๐ ปี หลังพุทธปรินิพพานมีเสาหินทรายขัดเกลี้ยงเกลา บนยอดเสามีรูปสิงห์นั่ง เป็นเสาหินที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา มีผู้บอกว่าเสาแต่ละต้นมีน้ำหนักถึง ๓๗ ตัน เดิมสถูปแห่งนี้คงจมดินเช่นเดียวกับมหาโพธิวิหารพุทธคยา สังเกตเห็นสถูปตั้งอยู่ในแอ่งกว้างมาก ภายนอกเป็นเนินสูงตกแต่งเป็นสวนสาธารณะ พวกเราจุดธูปเทียนบูชาไหว้พระสวดมนต์และนั่งสมาธิรำลึกถึงพระพุทธองค์ในวาระสุดท้าย ที่ได้เสด็จผ่านเมืองเวสาลีแคว้นวัชชี แล้วพระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า “อีกสามเดือนจากนี้ไป ตถาคตจะดับขันปรินิพพาน” นี่คือการปลงพระชนมายุสังขาร ภายหลังจากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จดำเนินไปยังเมืองกุสินาราแคว้นมัลละ คณะเราออกจากป่ามหาวันไปยังวัดไทยเวสาลีรับประทานอาหารกลางวัน วัดไทยเวสาลีกำลังก่อสร้าง มีอาคารพักสองชั้นหลังเดียว ตั้งอยู่กลางทุ่งนีน้ำขังทั่วไป ที่วัดด้านหน้าติดถนนสาธารณะ คงใช้เงินและเวลาอีกมากจึงจะเสร็จสมบูรณ์

            เวลา ๑๓.๐๐ น. กราบลาพระภิกษุวัดไทยเวสาลี ถวายผ้าอาบน้ำฝนและปัจจัยแล้ว คณะของเราออกเดินทางไปเมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ รถวิ่งบนถนนในอินเดีย ผู้นั่งในรถต้องอดทนและเห็นใจคนขับ เพราะมีสิ่งกีดขวางทั้งคน วัว ควายเดินและรถ รถวิ่งไปต้องหลบเจ้ราถนนเหล่านั้น ประกอบกับถนนแคบและมีหลุ่มบ่อบางช่วงก็ยังทำไม่เสร็จ จะให้นั่งรถสะดวกสบายเหมือนเมืองไทยต้องรอไปชาติหน้าตอนบ่ายๆ แต่คณะของเราทุกคนจะเตรียมพร้อมทั้งจิตใจและกายมาด้วยดี เดินทางผ่านมาสามวันทุกคนมีความสุข อาจจะเป็นอานิสงส์แห่งบุญที่ตั้งใจทำมาก็ได้ รถวิ่งไปได้ ๓ ชั่วโมงเศษ มีด่านตรวจรถ แสดงว่าพวกเราเข้ารัฐอุตตรประเทศแล้ว รัฐอุตตรประเทศค่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐพิหาร รัฐนี้ด้านเหนือติดกับประเทศเนปาล รถวิ่งต่อไปอีก ๒ ชั่วโมง ก็เลี้ยวเข้าวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นเวลา ๑๘.๓๐ น. แล้วขนกระเป๋าลงรถเข้าห้องนอน ปิดประตูห้อง ไปรับประทานอาหารเย็น เป็นอันสิ้นการเดินทางวันนี้

            วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ด้วยสถาปัตยกรรมพุทะศิลปะแบบไทย ทั้งอุโบสถ หอระฆัง และพระมณฑปพระบรมสารีริกธาตุ โดยเฉพาะมณฑปพระบรมสารีริกธาตุยกฐานสูงมีมณฑปตรงกลางรูปสี่เหลี่ยม ชั้นที่สองบนมีซุ้มประตูด้านละ ๒ ซุ้ม ประกอบด้วยเจดีย์หลัก ชั้นสูงสุดเป็นพระเจดีย์ครอบมณฑปสวยสนง่างามมาก และเป็นจุดเด่นของวัด ภายในมีประตูกระจกเปิดเข้าไปกราบไหว้และทำวัตรเช้าเย็นได้รอบพระมณฑป ตรงกลางสำหรับตั้งเครื่องสักการบูชา สูงขึ้นไปเป้นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีกระจกสะท้อนภาพมองเห็นองค์พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคืนมาประดิษฐานอยู่ ณ แห่งนี้ มีที่จุดธูปเทียนบูชาอยู่เชิงบันไดขึ้นบนฐานมณฑป ปัจจุบันมีพระราชรัตนรังสี เป็นเจ้าอาวาส คณะของเราพักนอนอยู่ที่นี่ ๒ คืน ๑ วัน
 

วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๐
            เวลา ๐๕.๐๐ น. เข้าร่วมทำวัตรเช้า นั่งสมาธิและเดินปทักษิณพระมณฑป ๓ รอบ เสร็จแล้วรับประทานอาหารเช้า ทุกคนขึ้นรถ เปลี่ยนเป็นรถจิ๊ปโดยสาร ๒ คัน นั่งคันละ ๖-๗ คน รวมทั้งเจ้าของรถทัวร์และลูกน้องเขาด้วย แต่เห็นคนอินเดียนั่งรถจิ๊ปโดยสารได้ ๑๒-๑๕ คน ทั้งนั่งทั้งยินเกาะข้างรถ ที่เปลี่ยนรถใหญ่เป็นรถเล็ก คงมีปัญหานั่งผ่านด่านชายแดน ระยะทางจากวัดไปเนปาลประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตรเศษ รถวิ่งขึ้นเหนือได้ประมาณ ๕ ชั่วโมง ถึงด่านชายแดน รอทำวีซ่าผ่านเข้าเนปาล ๔๐ นาที ปรากฏว่าด่านชายแดนทั้งรถเล็กรถใหญ่ และคนเดินกันแออัดเบียดกันแน่น ทั้งร้อนอบอ้าวและมีฝุ่นฟุ้ง รถจิ๊ปโดยสารเป็นรถโอเพ่นแอร์ ฝุ่นเกาะใบหน้าแทบหายใจไม่ออก พอพ้นด่านไปก็โล่งใจไม่มีรถและคนเดินมากเหมือนในอินเดีย คนเนปาลก็น่ารักและเพิ่งมาเห็นหญิงสาวเนปาลสวยวันนี้เอง จากชายแดนไปอีก ๓๐ กิโลเมตร ก็ถึง “วัดไทยลุมพินี” เวลา ๑๑.๐๐ น. พอดี คณะเรารับประทานอาหารกลางวันที่วัด วัดลุมพินีมีอาคารที่พักแบบทรงไทยสองชั้นหลายหลัง มีพระจำพรรษาไม่มากนัก เสร็จจากรับประทานอาหารแล้ว พวกเราไปกราบไหว้พระรูปปางพระสิทธถัตถโพธิสัตว์ประสูติในอุโบสถ อุโบสถวัดลุมพินีเป็นแบบจัตุรมุข มุขด้านซ้ายขวายาวกว่าด้านหน้า ยกฐานสูงมีสองชั้นๆ บนสสำหรับทำกิจกรรมของสงฆ์ ชั้นล่างเป็นห้องโถงสำหรับแสดงนิทรรศการและห้องสมุด ยืนอยู่หน้ามุขขั้นบนมองได้รอบทิศ เป็นอุโบสถที่สวยสง่างามด้วยสถาปัตยกรรมพุทธศิลป์สมัยใหม่ ไม่เคยเห็นอุโบสถวัดในเมืองไทย หลังคาและฝาผนังทาสีขาวนวล ยิ่งดูโดดเด่นสวยงามมาก พวกเราชมอุโบสถเสร็จแล้ว พระกิตติศักดิ์นำไปสถานที่ประสูติ ห่างจากวัดลุมพินีประมาณกิโลเมตรเศษ บริเวณสวนลุมพินีรัฐบาลเนปาลสงวนที่ดินเพื่อเทิดพระเกียรติแดพระพุทธองค์ไว้ ๕ ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็นสองส่วนสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทและมหายาน ปัจจุบันผู้นับถือพระพุทธศาสนานานาชาติมาสร้างวัดของตน ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานเรื่อยๆ จึงเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ที่ชาวพุทธทั่วโลกมาชุมนุมกันที่นี่ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดแห่งการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ส่องแสงสว่างให้แก่มวลมนุษย์ชาติ ผู้หลับใหลและหลงทาง ให้เข้าถึงสันติสุขในโลก


            คณะของเราซื้อบัตรผ่านเข้าไปในบริเวณ ณ สถานที่ประสูติ เห็นวิหารมายาเทวี เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชและสระบุษปขรณี พวกเราเดินอ้อมสนามหญ้าด้านเหนือข้างสระ ทุกคนนั่งจุดธูปเทียนบูชาไหว้พระสวดมนต์ และนั่งสมาธิรำลึกถึงพระพุทธองค์ขณะประสูติ ได้ย่างพระบาทเจ็ดก้าวเปล่งอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศที่สุดของโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดของโลก เราเป้นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก การเกิดของเรานี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้เราจะไม่มีภพใหม่อีก” แล้วไปจุดธูปเทียนบูชากราบไหว้ข้างเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชที่เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระสิทธัตถราชกุมารประสูติ เสาหินมีอักษรพราหมีอยู่สูงประมาณ ๒ เมตร ผู้เชี่ยวชาญอักษรศาสตร์ภาษาโบราณแปลได้ความว่า “...พระศากยมุนี ประสูติ ณ ที่นี่...” เดินเข้าไปในวิหารมายาเทวี เป็นตึกสี่เหลี่ยมกว้างใหญ่มาก ชั้นบนมีบันไดขึ้นไปได้และมีเจดีย์องค์เล็กอยู่ข้างบน ภายในมีร่องรอยขุดค้นเป็นดินของนักโบราณคดีและมีรอบพระพุทธบาทเล็กปรากฏอยู่ พวกเรากราบไหว้แล้วเดินปทักษิณภายใน ๓ รอบ ส่วนสระบุษปขรณีเชื่อกันว่าเป็นสระสรงสนานของพระนางมหามายาเทวีพระราชมารดา ภายหลังพระนางได้ทำประสูติกาลแล้ว

            พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสลับกับการเสื่อมถอยเป็นยุคๆ ต่อเนื่องกันมายาวนานถึง ๑,๗๐๐ ปี ก่อนจะสูญสลายไปจากดินแดนที่เป็นจุดกำเนิดโดยสิ้นเชิง เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ (ประมาณ พ.ศ. ๑,๒๐๐ ปีเศษ) พระสมณะจีนถังซำจั๋งได้เดินทางมาที่นี่และบันทึกขณะพบเห็นว่า “...ที่นี่มมีบ่อน้ำสำหรับสระสนานของชาวศากยวงศ์ น้ำในบ่อสะอาดใสดุจกระจก...จากนี้ไปทางเหนือประมาณ ๔๐-๕๐ ก้าว มีต้นอโศกซึ่งในปัจจุบันแห้งเหี่ยวไปแล้ว ที่นี่เป็นสถานที่ประสูติของพระศากยมุนีโพธิสัตว์...” ต่อมา พ.ศ. ๑,๕๐๐ เศษ พระสมณะจีนฟาเหียน ได้เดินทางมาบันทึกไว้ว่า “...รู้สึกหดหู่ใจมากที่สถานที่แห่งนี้ถูกปล่อยปละละเลยกลายสภาพเป็นป่ารกรุงรรัง ไม่มีร่องรอยของอุทยานแต่อย่างใด...” อุทยานลุมพินีจึงถูกลืมเลือนไปนานกว่า ๗๐๐ ปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ นายทหารอินเดียคนหนึ่งชื่อจัสคาราน ซิงห์ (Major Jaskaran Singh) ได้เดินเข้าป่าล่าสัตว์ไปถึงเขตเนปาลและได้พบเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชโดยบังเอิญ จึงเริ่มจุดประกายให้นักโบราณคดีหันมาขุดค้นแหล่งพุทธสถานในเนปาลมากขึ้น ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๙ พันเอก เซอร์ อะเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Major – General Sir Alexander Cunningham) ข้าหลวงตรวจการโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้พบเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช มีอักษรจารึกไว้ดังที่กล่าวแล้ว จึงได้ขุดค้นถางพงพอที่ให้ประจักษ์ว่า ณ ที่นี่คือ ลุมพินีที่พระพุทธองค์ประสูติ ลุมพินีได้เริ่มบูรณะขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อ ฯพณฯ อูถัน (U Thant) ชาวพม่า เลขาธิการสหประชาชาติขณะนั้น พร้อมด้วยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น เคนโซ ตันจิ (Kenzo Tange) ผู้วาดวิสัยทัศน์ลุมพินีไว้ให้เป็นสื่อสากลแห่งสันติภาพ และเป็นอุทยานแห่งความรักเมตตา ทำให้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเข้าถึงมวลมนุษย์ชาติ

            คณะของเราเดินชมสถานที่ทั่วแล้ว เดินออกมาอีกทางหนึ่ง มีแผงร้านขายของที่ระลึก ๑๐ กว่าร้าน ดูเหมือนแผงขายของในกรุงเทพ คนขายของไม่รับเงินรูปีอินเดีย แต่อยากได้เงินบาทไทยมากกว่า เงินบาทไทยแข็งค่ากว่าเงินเนปาลและอินเดีย ไม่น่าเชื่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ข้าพเจ้าเคยนำเงินบาทไปแลกธนาคารเป็นเงินรูปีส่งให้เพื่อนศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี โกลกัตตาอินเดีย เงินบาทไทย ๔๐๐ บาท แลกเงินรูปีได้ ๑๐๐ รูปี แต่ปัจจุบันเงินบาทไทย ๙๐ บาท แลกเงินรูปีได้ ๑๐๐ รูปี เงินรูปีอ่อนค่าลงเพราะประชาชนมีจำนวนพันล้านคน มากกว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๑๑ ประเทศ รวมกันมีเพียง ๕๐๐ ล้านคน อินเดียมีผู้บริโภคมากกว่าการผลิต แรงงานมีมากกว่างานที่ทำ ทั้งที่อินเดียเป็นชาตินิยม จะเห็นว่านับแต่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ รถสามล้อและรถยนต์ทุกชนิดทำเองในอินเดียทั้งสิ้น รถต่างประเทศไม่มีสักคันเดียว ที่อยู่อาศัยในเนปาลทำด้วยไม้พอมีบ้าง แต่อินเดียก่ออิฐสี่เหลี่ยมมุงสังกะสีไม่มีหน้าต่าง ไฟฟ้ามีเฉพาะในชุมชนเป็นส่วนรวม ตามบ้านเรือนของชาวบ้านแทบไม่มีใช้ และไฟฟ้ากลางคืนเปิดปิดเป็นเวลา น้ำประปาไม่มีใช้ มีน้ำบาดาลโยกใช้เป็นส่วนรวม แต่คนอินเดียมีเชื้อสายหลายเผ่าหลายศาสนา ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ไม่ก้าวร้าวทะเลาะวิวาทกัน เว้นแต่เรื่องศาสนายอมกันไม่ได้

            คณะของเราเดินทางออกจากลุมพินี ประมาณ ๑๕.๐๐ น. รถวิ่งกลับทางเดิม รถวิ่งมาได้ ๓ ชั่วโมงกว่า หยุดแวะที่พักอาคาร ๙๖๐ ข้างถนน ซึ่งพระเดชพระคุณ พระราชรัตนรังสี เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ มีเมตตาสร้างไว้สำหรับผู้จาริกแสวงบุญผ่านไปมาในเนปาล แวะพักผ่อนถ่ายทุกข์และดื่มกาแฟด้วยถ้วยดินรูปกรวยแบบอินเดีย มีรสชาติอร่อยทั้งที่เป็นกาแฟเดียวกัน ที่เคยดื่มในประเทศไทย ดื่มแล้วโยนถ้วยกาแฟทิ้งไป ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เดินทางกลับ ถึงวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เวลา ๑๙.๓๐ น. อาบน้ำแล้วรับประทานอาหารเย็น คืนนี้ ก่อนเวลา ๒๑.๐๐ น. ไปจุดธูปเทียนบูชาพระเชิงบันไดขึ้นมณฑปพระบรมสารีริกธาตุอธิฐานว่า “คืนนี้หากมีสิ่งใดเป็นมงคลนิมิตขอให้ฝันเถิด” แล้วเข้านอนหลับรวดเดียวก่อนจะตื่นฝันว่า “ข้าพเจ้าเดินไปบอกใครต่อใครว่า ถ้าอยากมมีอายุยืนนาน อย่าไปลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา” แล้วตื่นนอนเวลา ๐๔.๓๐ น.
 

วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๐
            เวลา ๐๕.๐๐ น. ขึ้นไปมณฑปร่วมทำวัตรเช้าสวดมนต์และนั่งสมาธิกับพระสงฆ์ เดินปทักษิณมณฑป ๓ รอบ เสร็จแล้วรับประทานอาหารเช้า ทุกคนเตรียมขนกระเป๋าขึ้นรถ และเข้าไปกราบลาพระเดชพระคุณ พระราชรัตนรังสี เจ้าอาวาส ถวายผ้าอาบน้ำฝนและปัจจัย ท่านอนุโมทนา ให้โอวาทและแจกของที่ระลึกทุกคนชื่นชมยินดีด้วยความอบอุ่น ที่ได้รับความสะดวกสบายมาพักที่นี่ ๒ คืน

            เวลา ๐๗.๓๐ น. ทุกคนขึ้นรถพร้อมแล้ว พระกิตติศักดิ์นำไปมกุฎพันธนเจดียสถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดนัก ประตูทางเข้ามกุฎพันธนเจดีย์มีเด็กนำดอกบัวสีขาวดอกเลกมาเร่ขาย ดอกบัวชนิดนี้ก้านอ่อน ไม่เหมือนดอกบัวหลวงบ้านเรา จะใช้ปักแจกันก็ไม่ได้ มมีตามหนองคลองบึงมากมาย มกุฎพันธนเจดีย์ มีฐานกว้างใหญ่มาก มีอิฐก้อนโตวางเรียงเป็นชั้นๆ ไม่มียอดเจดีย์ปรากฎ พวกเราวางดอกบัวบูชาและจุดธูปเทียนกราบไหว้สวดมนต์และเดินปทักษิณ ๓ รอบ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธองค์ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกได้ทรงสละราชสมบัติและอิฏฐารมณ์ทั้งหลาย ทรงทรมานพระวรกายค้นหาสัจจธรรมจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงจาริกไปในถิ่นทุรกันดารทั่วชมพูทวีป เพื่อทรงโปรดเวไนยสัตว์ให้เข้าถึงสันติสุข คือมรรคผลและนิพพานเป็นเวลา ๔๕ พรรษา ณ ที่นี่เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระโลกนาถเจ้า พระผู้ทรงดับขันธอนุปาทิเลสนิพพานไปเสียแล้ว


            สถานที่นี้มีมกุฎพันธนเจดีย์อยู่องค์เดียวรอบๆ เป็นสนามหญ้า พวกเราเดินดูจนทั่วแล้วได้เวลาพอสมควร พระกิตติศักดิ์นำทางไปสาลวโนทยาน ไม่ห่างจากสถานที่ถวายพระเพลิงมากนัก

            ปัจจุบันสาลวโนทยานเป็นตำบลหนึ่ง คือ กุสินาราหรือกาเซีย อยู่ในเขตจังหวัดเทวริยา (Devriya Provice) แห่งรัฐอุตตรประเทศ ห่างจากเมืองโครักขปูร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นประตูทางไปเนปาลประมาณ ๔๕ กม. เดิมคนอินเดียในถิ่นนั้นเรียกสาลวโนทยานว่า “มาถา กุนวาระ กาโกฏ” แปลว่า “ตำบลเจ้าชายสิ้นพระชนม์” รัฐบาลอินเดียจัดไว้เป็นอุทยาน บริเวณโดยรอบร่มรื่นด้วยสวนพฤษชาติมีต้นสาละเป็นสัญลักษณ์ เดินไปประมาณ ๓๐๐ เมตร จะเห็นมหาปรินิพพานวิหารและด้านหลังเป็นสถูปปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างสถูปองค์เล็กไว้ตรงจุดที่พระองค์ดับขันธปรินิพพาน กาลเวลาผ่านมายาวนาน สถูปได้ทรุดโทรมลง พระมหากษัตริย์ที่เลื่อมใสศรัทธาได้เสริมสร้างคร่อมสถูปองค์เดิมหลายยุคจนพระสถูปใหญ่ แต่สาลวโนทยานในการกาลต่อมาก็ถูกลืมเลือนไปนานเช่นเดียวกับพุทธสถานอื่นๆ ต่อมาพันเอก เซอร์ อะเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม ค้นหาอยู่ ๑๕ ปี จึงได้พบเนินดินทับถมอยู่ ได้ขุดค้นพบพระพุทธรูปปางมหาปรินิพพานแตกหัก จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์จนสมบูรณ์

 
           ภายในมหาปรินิพพานวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมหาปรินิพพานหินแกะสลัก ยาวประมาณ ๖ เมตร พระพุทธรูปองค์นี้เดิมแตกหัก กระจัดกระจายจมอยู่ใต้ดิน ได้รับการบูรณะตบแต่งใหม่จนสวยงามมาก ด้วยฝีมือผู้ชำนาญการคนหนึ่ง ภายใต้การนำของนักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อ คาร์เล็ล (
Carlleyle) เข้าไปในวิหารแล้วรู้สึกสลดใจแทบน้ำตาไหล เพราะพระพุทธรูปปางปรินิพพานองค์นี้แกะสลักคล้ายพระพุทธเจ้าองค์จริง สร้างในสมัยคุปตะตอนต้น ซึ่งเป็นยุคพุทธศิลป์อินเดียเจริญสุงสุด นักโบราณคดีอินเดียบันทึกไว้ว่า พระปางมหาปรินิพพานองค์นี้สร้างโดยชาวพุทธคนหนึ่งชื่อ ฮาริบาลา มีอายุประมาณ ๑,๗๐๐ ปี ข้าพเจ้าได้นำผ้าห่มตาดทองและของคณะอีก ๒ ผืน กล่าวคำบูชาถวายผ้าห่มพระพุทธรูปปางพุทธมหาปรินิพพานไสยาสน์ ผ้าห่มตาดทองและของคณะห่มแล้วได้พอดีกับองค์พระรู้สึกปลาบปลื้มปีติใจมาก แล้วพวกเราสวดมนต์นั่งสมาธิเดินปทักษิณองค์พระ ๓ รอบ แล้วออกไปกราบไหว้สถูปมหาปรินิพพานด้านหลัง เดินปทักษิณ ๓ รอบ รำลึกถึงพระพุทธองค์ ดังที่ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎกว่า “เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัยที่ตรัสไว้ดีแล้วจักเป็นตัวแทนของตถาคต” และตรัสแก่พระอานนท์ว่า “...ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรดู คือ ลุมพินีสถานที่ประสูติ มหาโพธิวิหารพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ ธัมเมกขสถูปสถานที่แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และสาลวโนทยานสถานที่ดับขันธปรินิพพาน......อานนท์ชนเหล่าใดจาริกไปยังเจดีย์ (ดังกล่าว) มีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นภายหลังตายจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์....” เสร็จแล้วเดินดูบริเวณสังเกตเห็นคนต่างชาติเข้าออกมาเคารพกราบไหว้จำนวนมาก โดยเฉพาะชาวศรีลังกาทั้งชายหญิงและพระสงฆ์

            คณะของเราออกจากสาลวโนทยาน เวลา ๑๐.๐๐ น. มุ่งตรงไปสารนาถแห่งเมืองพาราณสี ซื้ออาหารห่อกลางวันเป็นผัดกระเพราหมู และหัวหน้าทัวร์มีไข่เจียวแจกทานกันบนรถ ก็อร่อยอิ่มไปหนึ่งมื้อ ไข่เจียวแทบจะเป็นอาหารประจำคณะเราอยู่แล้ว การเดินทางถนนช่วงนี้ตามแผนที่ก็ไม่ไกลนัก แต่ถนนไม่ดีเอามากๆ มีหลายช่วงที่ซ่อมและทำใหม่ รวมทั้งสะพานข้ามน้ำด้วย รถทัวร์คู่ใจวิ่งใช้เวลา ๘ ชั่วโมง ถึงวัดจีนเวลา ๑๘.๐๐ น. ทุกคนขนของลงจากรถเข้าที่พัก อาบน้ำและทานอาหารเย็น ที่พักเป็นอาคาร ๒ ชั้น เป็นรูปตัวแอล ห้องพักมีห้องน้ำในตัว ด้านหน้าเป็นวิหารแบบศิลปะจีน พระสงฆ์ไทยอยู่จำพรรษาในวัดนี้ ๕-๖ รูป วัดจีนอยู่ใกล้กับป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือธัมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมจักรโปรดปัญจวัคคีย์

            เวลา ๑๙.๐๐ น. นั่งรถเข้าไปในเมืองพาราณสีระยะทางประมาณ ๑๐ กม. พาราณสีเป็นเมืองโบราณ ๔,๐๐๐ กว่าปี สมมัยพุทธกาลเป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสี ไม่เคยเสื่อมโทรม ยังโดดเด่นเป็นศูนย์การค้า การศึกษา และการคมนาคมในปัจจุบัน และเป็นศูนย์กลางศาสนาพรหมณ์ฮินดูเช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล ในเมืองแออัดด้วยคนเดินและรถ พระกิตติศักดิ์นำไปท่าอาบน้ำของพวกพราหมณ์ฮินดู กลางคืนแล้วมีคนไม่มากนัก แล้วเช่าเรือพายล่องลอยตามริมฝั่ง ไปดูการเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคา ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบสองทุ่มแล้ว ท้องน้ำเงียบสงบ ได้ยินแต่เสียงหายใจของคนพายเรือ พายทวนน้ำต้องออกแรงมาก ตามริมฝั่งด้านตะวันตกมีแสงไฟสว่างไสว ด้านตะวันออกมืด เขาบอกว่าแดนนรกไม่มีคนอาศัยอยู่ ทำให้คิดถึงความฝันที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมื่อเช้าก่อนเดินทางมาที่นี่ว่า “อยากมีอายุยืนนานอย่าลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา” ขณะนั้นรู้สึกมึนงงจากการนั่งรถแปดชั่วโมง เรือพายไปดูใกล้ๆ กับที่เผาศพ กลิ่นไหม้เนื้อหนังคนโชยมาเป็นพักๆ เห็นมีศพมัดผ้าขาวแช่น้ำรอเผาเรียงคิวอยู่หลายศพ แต่ละศพจะมีญาติมาดูมากบ้างน้อยบ้าง ข้างๆ ที่เผาศพมีโรงแรมให้เช่ามานอนรอตายอีกหลายร้อยคน พอตายลงก็ใช้ผ้าขาวพันมัดแช่น้ำคงคา นำขึ้นมาเผาต่อไป คิดแล้วก็เป็นความจริงแค่นี้แหละคน มีรูปและนามปรุงแต่งขึ้นแล้วอยู่ไปแก่แล้วก็แตกดับเหมือนกันหมด พระพุทธองค์สอนให้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ จนมีความรู้สึกว่าเราอยากอยู่ต่อไปก็ต้องตาย เราไม่อยากตายก็ต้องตาย เขาตายเราก็ต้องตายแน่ๆ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นกฎแห่งธรรมชาติ จะไม่รู้สึกกลัวตาย ทำให้มีความบากบั่นอดทนเตรียมพร้อมที่จะตายอยู่เสมอ ด้วยการทำประโยชน์แก่ตนและคนอื่น ตลอดจนสร้างกุศลบุญบารมีไว้ เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นปัจฉิมโอวาท ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินาราว่า “...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตจะเตือนพวกเธอว่า สังขารมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด” เสร็จแล้วคณะเราก็กลับขึ้นฝั่งมาวัดจีน เพื่อนอนหลับพักผ่อนต่อไป
 

วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๐
            เวลา ๐๘.๔๕ น. คณะของเราทานอาหารเช้าที่วัดเสร็จแล้ว พระกิตติศักดิ์นำไปสารนาถห่งจากวัดไม่ถึงกิโลเมตร เดิมสถานที่แห่งนี้ คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปัจจุบันเรียกสวนป่าสารนาถ รัฐบาลอินเดียสงวนเป็นสวนป่าเลี้ยงจำพวกเนื้อและนก เพื่อเทิดพระเกียรติพระพุทธศาสนา ทางเข้าสวนป่าเป็นสนามหญ้า ทางเดินเข้าไปประมาณ ๓๐๐ เมตร จะมองเห็นธัมเมกขสถูปใหญ่โตมากและสมบูรณ์ที่สุด คำว่า “ธัมเมกขะ” (ธัมม + อิกข) หมายถึง การเห็นธรรม คือพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจักร หรือธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์แล้ว โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม คือได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นคนแรก โกณฑัญญะจึงได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ หมายถึงโกณฑัญญะได้รู้แล้ว ภายหลังจากการตรัสรู้ได้ ๒ เดือน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหมาส (เดือน ๘) พระพุทธองค์ประทับจำพรรษา ณ ที่นี้หนึ่งพรรษา ต่อมาพวกปัญจวัคคีย์ได้รับฟังธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตร จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

            ขณะเดินตรงไปธัมเมกขสถูปด้านซ้ายมือเห็นกองอิฐเป็นลานกว้าง เดิมสถานที่นั้นเป็นสถูปใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุชื่อว่า ธัมมราชิกสถูป ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๗ เจ้าเมืองพาราณสีนับถือศาสนาฮินดู ได้สั่งรื้ออิฐจากโบราณสถานแห่งนี้ นำไปก่อสร้างอาคารร้านตลาดในเมือง ขณะรื้อสถูปได้พบผอบหินอ่อนบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้อัญเชิญไปลอยในแม่น้ำคงคา ตามธรรมเนียมของฮินดู ไม่ไกลจากธัมมราชิกสถูปพบซากวิหารปรักหักพัง สันนิษฐานกันว่า อาจจะเป็นวิหารมูลคันธกุฏี ที่พระพุทธองค์ประทับจำพรรษาแรก


            ปัจจุบันนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันได้ว่า ตำแหน่งไหนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ นักโบราณคดีบางคนเชื่อว่า อาจจะตรงจุดที่พบเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะพระองค์มักจะทรงปักเสาหินไว้ตรงจุดสำคัญตามพุทธประวัติทั้งสิ้น แต่พุทธศาสนิกชนผู้ไปแสวงบุญยึดถือว่า ธัมเมกขสถูปนี้แหละ คือ สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจักรแก่ปัญจวัคคีย์ คณะของเราได้นั่งสนามหญ้าข้างธัมเมกขสถูป จุดธูปเทียนบูชากราบไหว้สวดมนต์นั่งสมาธิ แล้วเดินปทักษิณ ๓ รอบ เสร็จแล้วพวกเราเดินออกมาข้ามถนนไปอีกฟากหนึ่ง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์สารนาถ อาคารสร้างเป็นรูปตัวอี เมื่อเดินเข้าไปดูข้างใน ได้เห็นพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ขนาดองค์เล็กๆ จนถึงองค์ใหญ่น้ำหนักเป็นตัน จึงได้รับความรู้และเข้าใจสารนาถเพิ่มมากขึ้น

            มุขทางเข้าพิพิธภัณฑ์สามารถ มีชาวต่างชาติตะวันตกและชาวญี่ปุ่น มุงดูรูปสิงห์แกะสลักหินสี่ตัวหันหลังชนกัน และหันไปตัวละทิศ เป็นรูปสิงห์หัวเสาพระเจ้าอโศกมหาราชที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นหินทรายขัดเกลี้ยงเกลาเป็นมันวาว ซึ่งเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ นักโบราณคดีชาวอินเดียและอังกฤษ ได้ขุดพบโบราณวัตถุทั้งหมดในสวนป่าสารนาถ รวบรวมมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมาทุกยุคทุกสมัย พระพุทธรูปแต่ละองค์จะมีป้ายบอก ค.ศ. หรือ พ.ศ. ให้ทราบ พระพุทธรูปที่สวยที่สุดในพิพิธภัณฑ์เห็นจะได้แก่พระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา สร้างในสมัยคุปตะ ราวศตวรรษที่ ๑๐ ซึ่งเป็นยุคทองของพุทธศิลป์ในอินเดีย และถือได้ว่าเป็นแบบฉบับทางศิลปกรรม พระพุทธรูปที่งามที่สุดของอินเดีย

            คณะของเราเพลิดเพลินชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์จนถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. จึงออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์ ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ข้างถนนมีรูปปั้นดินเผาเลียนแบบโบราณวัตถุจำหน่าย ๑๐ กว่าแผง ที่เห็นมีมากที่สุดคือพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา มีขนาด ๒ นิ้ว ไปถึง ๑๐ นิ้ว แล้วพวกเราก็กลับมาทานอาหารกลางวันที่วัดจีน เสร็จแล้วเตรียมขนของขึ้นรถ ทุกคนเข้าไปในวิหารวัดจีนกราบลาพระสงฆ์วัดจีนรวมทั้งพระกิตติศักดิ์ กิตติธัมโม มัคคุเทศก์และผู้นำสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิมาตลอด ๖ วัน ด้วยการถวายผ้าอาบน้ำฝนและปัจจัยพระสงฆ์อนุโมทนา เสร็จแล้วทุกคนขึ้นรถทัวร์สีขาวคู่ใจเดินทางกลับวัดไทยพุทธคยา มุ่งตรงลงมาทางทิศใต้บนถนนไฮเวย์หมายเลข ๒ ซึ่งเป็นถนนจากเมืองพาราณสีถึงเมืองโกลกัตตาติดทะเลอ่าวเบงกอล ตั้งแต่เดินทางบนถนนในอินเดียมา ๖ วัน เพิ่งจะโล่งใจและสบายใจสุดๆ บนถนนไฮเวย์สายนี้ เพราะถนนเรียบและมีรถยนต์และคนเดินน้อย มีแต่รถสิบล้อวิ่งเป็นขบวนเป็นระยะ เจ้าสิบล้อยี่ห้อ ตาตา (
TATA) สวนทางมาทีไรขนลุก เพราะมันใหญ่และกว้างยาวสูง บรรทุกหินดินทรายคงมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าสามสิบตันขึ้นไป ถึงได้มารู้ว่าถนนซ่อมทำไม่รู้จักเสร็จ เพราะเจ้าสิบล้อเหล่านี้บดขยี้ถนนตลอด ๒๔ ชั่วโมง นั่นเอง

            การเดินทางกลับมาวัดไทยพุทธคยาบนถนนไฮเวย์วันนี้อากาศเย็นสบาย มีละอองฝนโปรยลงมาเกือบตลอดทาง ไม่มีแสงแดดเหมือนทุกวัน ทุกคนรู้สึกสบายใจปล่อยอารมณ์คิดทบทวนวันเวลาและสถานที่ที่ผ่านมา คงรู้สึกปลื้มปีติใจเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ถนนที่ผ่านมามีทุ่งนาพื้นราบกว้างใหญ่ไพศาล มีภูเขาหินเตี้ยๆ ไม่กี่แห่งรถทัวร์วิ่งใช้เวลาแปดชั่วโมงพอๆ กับเมื่อวานนี้ แต่ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและมึนงงเลย รถวิ่งมาถึงวัดไทยพุทธคยา เวลา ๒๐.๐๐ น. พอดี ทุกคนทานอาหารเย็นที่วัด อาบน้ำ เข้านอนพักผ่อน พอตื่นเวลา ๐๔.๓๐ น. ปรากฏว่าอากาศเย็นและหนาวจับใจ เพราะฝนตกหนักเมื่อคืนนี้ ก็น่าอัศจรรย์อยู่ในใจที่ปรากฏให้เห็น เมื่อคืนแรกนอนวัดไทยพุทธคยาฝนตกหนักตอนกลางคืน พอมานอนคืนสุดท้ายก็มีฝนตกหนักอีก ขณะเดินทางกลับกลางวันมีแต่ละอองฝน ยังคิดในใจว่าดินฟ้าอากาศและเทวดาทั้งหลาย คงเห็นใจพวกเราที่ตั้งใจเดินทางมาแสวงบุญครั้งนี้ หรือไม่ก็พวกเทวดาอนุโมทนาเป็นปัตตานุโมทนามัยกุศลต่อพวกเราก็ได้ ขณะที่ไปเป็นปลายฤดูฝน หากมีฝนตกหนักภายใน ๖ วันนั้น พวกเราคงนั่งกราบไหว้สวดมนต์หรือนั่งสมาธิบนพื้นดินที่โล่งกลางแจ้งตามสถานที่ต่างๆ ไม่ได้แน่ๆ
 

วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๐
            เวลา ๐๖.๐๐ น. พวกเรารับประทานอาหารเช้า เสร็จแล้วเตรียมตัวขนกระเป๋าขึ้นรถ ออกจากวัดไทยพุทธคยาไปมหาโพธิวิหารพุทธคยาอีกครั้งเพื่อไปกราบไหว้อธิษฐานนั่งสมาธิเดินปทักษิณรอบมหาโพธิวิหาร ต้นศรีมหาโพธิ์และแท่นวัชรอาสน์ เป็นการอำลาพระพุทธเมตตาเป็นตะติยัมปิแม้ครั้งที่ ๓ แล้วกลับมาขึ้นรถไปสนามบินนานาชาติคยา เสร็จพิธีตรวจคนอกประเทศแล้ว เวลา ๑๑.๐๐ น. Druk Air เจ้าเก่าก็ทะยานขึ้นท้องฟ้า วันนี้บนเครื่องเห็นสาวจีนวัยรุ่นเยอะ คุยกันฟุ้งบนเครื่องบิน พวกเขาไปลงที่เดียวกัน เครื่องบินร่อนลงจอดสนามบินทากาประเทศบังคลาเทศ ๑๐ นาที แล้วบินต่อไปถึงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เวลา ๑๕.๐๐ น. เดินลงจากเครื่องบินรู้สึกว่าตัวเบาหวิวด้วยความปลื้มปีติใจว่า “บุญบารมีเราได้ทำไว้ดีแล้วหนอ

นาวาเอก (พิเศษ) ปรีชา  นันตาภิวัฒน์
บันทึกและเรียบเรียง

 

 




บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang