เส้นทางไหว้พระ แสวงบุญ ตามรอยพระพุทธเจ้า สังเวชนียสถาน อินเดีย เนปาล พุทธคยา ราชคฤห์ นาลันทา กุสินารา ลุมพินี สารนาถ พาราณสี ล่องคงคา บูชาไฟ บูชาพระอาทิตย์
ReadyPlanet.com
dot dot
ด้วยแรงศรัทธา เส้นทางนี้ไม่มีร้อนใจ article

เรื่องและภาพ โดย
นุ้ย.. สาริศา ชาวบ้านเกาะ

 

 

ด้วยแรงศรัทธา เส้นทางนี้ไม่มีร้อน(ใจ)

กัลกัตตา พุทธคยา ราชคฤห์ นาลันทา กุสินารา ลุมพินี พาราณสี สารนาถ กัลกัตตา

28 พฤษภาคม 5 มิถุนายน 2550

 

  

 

การเดินทางสู่อินเดียครั้งที่ 2 ของชีวิต (ในที่สุดก็ได้กลับมาอีกครั้ง....อินเดีย) การมาครั้งนี้ไม่ได้มาเที่ยวเล่นหาประสบการณ์ใหม่ๆ เหมือนครั้งก่อน แต่มาทำงานด้วยในตัว คือพาลูกทัวร์ (ซึ่งมีจำนวนไม่กี่คน) มาเที่ยว ในเส้นทางแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน และเส้นทางท่องเที่ยวสายมหาราชา เดลลี อัครา ชัยปุระ ที่มีไฮไลน์อยู่ที่ทัชมาฮาล โดยมีโปรแกรมสำรวจเส้นทางใหม่อย่างดาร์จีลิ่งและสิกขิมคั่นอยู่ตรงกลาง

การเตรียมตัวเดินทางมาอินเดียในครั้งนี้ ไม่ได้ง่ายกว่าครั้งแรกเลย แทบจะเรียกว่ายากลำบากกว่าด้วยซ้ำ เพราะครั้งนี้เป็นทริปสำรวจที่ต้องใช้เวลานานและไปหลายที่ แต่ละที่ก็มีสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ทั้งร้อน หนาวและฝน จัดของยากจัง เอาไปมากก็จะลำบากเวลาที่ต้องแบกเป้ขึ้นหลัง เอาไปน้อยก็กลัวไม่พอ ไม่ครบเท่าที่จำเป็น โปรแกรมการเดินทางก็ต้องวางแผนหลายอย่างเพราะไปหลายเส้นทาง แถมครั้งนี้มีลูกทัวร์อีกหลายคนที่จะตามมาในแต่ละทริป ทำให้ต้องวางแผนการรับรองลูกทัวร์ด้วย สรุปว่าการเดินทางครั้งนี้มี 3 ทริปหลักๆ และอีกหนึ่งทริปสำรอง คือเส้นทางสำรวจธรรมะศาลา แดนดินแห่งดาไลลามะ ซึ่งถ้าเงินเหลือจะได้ไปต่อ (แต่สงสัยจะยากหน่อยนะ)

 

 

 

 

วันที่ 1   วันจันทร์ที่  28 พฤษภาคม 2550     

สุวรรณภูมิ กัลกัตตา (Kolkata) 

 

ทริปแรกของการเดินทางครั้งนี้ เราจะพา แบงค์ ลูกทัวร์คนแรก (และคนเดียวในทริป) ไปไหว้พระในเส้นทางสังเวชนียสถาน อินเดีย เนปาล นัดเจอกันกับลูกทัวร์ที่สนามบินสุวรรณภูมิตอนเที่ยงตรง เพื่อเตรียมตัว Check in เราจะออกเดินทางจากสุวรรณภูมิ ด้วยเครื่องบินของสายการบิน Indian Airlines เที่ยวบินที่ IC 732 เวลา 14.15 น. แต่ขนาดไปถึงก่อนเวลาแล้วนะ ยังไม่ทันแขกเลย เพราะเค้ามาเช็คอินกันเร็วมาก เลยได้ที่นั่งด้านหลังหน่อย ในเที่ยวบินมีทั้งแขกและคนไทยกลุ่มใหญ่ ดูไม่เหงาดีและกลิ่นแขกบนเครื่องก็ไม่แรงอย่างคิดไว้ (เพราะได้รับข้อมูลมาจากหลายที่ว่าสายการบินนี้แขกใช้บริการเยอะ มีกลิ่นแขกทั้งลำเลย) ค่อยหายใจได้เต็มปอดหน่อย

โชคดีที่เที่ยวบินนี้ไม่ Delay อย่างที่เค้าเล่าลือกันว่าอินเดียน แอร์ไลน์ ช้าตลอด เราเลยไปถึงกัลกัตตาค่อนข้างตรงเวลา 15.30 น. ใช้เวลาเดินทางไปประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง (เวลาอินเดียช้ากว่าไทยชั่วโมงครึ่งพอดี) สัมผัสแรกที่อินเดียตอนบ่ายสามโมงครึ่ง ประมาณ 35 องศา ร้อนได้ใจประมาณเดียวกับบ้านเรา แต่ก็ยังไม่ร้อนที่สุดอย่างที่กลัว เพราะสายข่าวที่รายงานมาบอกว่าอินเดียช่วงนี้ร้อนถึง 45 องศา แค่ 35 ยังขนาดนี้ แล้ว 45 จะไหวมั้ยเนี่ย

 

 

       

เราผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่สนามบินเรียบร้อยดี แต่ความโชคร้ายก็มีอยู่บ้างเล็กน้อยตรงที่ เราเผื่อเวลาสำหรับ Flight Delay ไว้เยอะไปหน่อย จองรถไฟไว้เที่ยวห้าทุ่มครึ่ง เพื่อจะไปคยา (ช่วงที่ไปไม่มีเครื่องบินไปลงที่คยา เลยต้องใช้วิธีมาลงกัลกัตตาแล้วต่อรถไฟเอา อีกอย่างคือสะดวกในการส่งแบงค์ ลูกทัวร์คนแรก และรับพลอยลูกทัวร์คนต่อไปสำหรับทริปที่สองด้วย) กลายเป็นว่าตอนนี้เรามีเวลาเหลือเฟือกว่ารถไฟจะออก ราชรถพร้อมพลขับ และผู้ช่วยชาวอินเดีย มูราลี เจ้าเก่าที่เราเคยเจอกันในทริปที่แล้ว มารับพวกเราที่สนามบิน แล้วก็พาเราตระเวณเที่ยวชมเมืองกัลกัตตา เท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนแสงจะหมด เข้าไปเดินในสวนวิคตอเรียพักหนึ่ง(ด้านในไม่ได้เข้าไปเพราะเค้าปิดตอนห้าโมงเย็น) ไปนั่งดูสะพานข้ามแม่น้ำคงคาอีกพัก แล้วก็ไปนั่งกินอาหารจีนที่ร้านอยู่เกือบ 2 ชั่วโมง จนนั่งมองหน้ากันว่าไม่ไหวแล้ว จะนั่งอยู่นิ่งๆ ต่อไปก็คงไม่งาม เราเลยตัดสินใจออกจากร้านอาหาร สุดท้ายเราก็ต้องไปนั่งรอรถไฟที่สถานี HOWRAH กันอีกหลายชั่วโมง เพิ่งได้สัมผัสการรอคอยที่แสนยาวนานที่อินเดียก็คราวนี้แหละ

 

   

รถไฟขบวน JODPUR EXPRESS ออกจากสถานี HOWRAH ตอนห้าทุ่มครึ่งตรงเวลา พอขึ้นรถได้ก็เตรียมตัวนอนเลย แต่คราวนี้แย่หน่อยเพราะที่นอนแยกๆ กันไม่ได้รวมอยู่เป็นห้องเดียว ก็เลยต่างคนต่างนอน เราจะไปถึงสถานีคยา ตอน 6 โมงเช้าพอดี แล้วคืนแรกในอินเดียครั้งนี้ก็เปิดฉากขึ้นบนรถไฟ

 

 

 

วันที่ 2  วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2550      

พุทธคยา (Buddha Gaya)

 

            เราถึงสถานที่คยา 6 โมงเช้าตรงตามเวลา ลงจากรถไฟคนขับรถก็มารอรับพอดี ขนของขึ้นรถแล้วเข้าไปที่วัดไทยพุทธคยาที่พำนักในคืนที่ 2 ของพวกเรา เก็บของเข้าห้องพักเรียบร้อย ก็ขนเสบียงไปกินกันที่หอฉันท์ ก่อนจะเตรียมตัวไปนมัสการพระมหาเจดีย์พุทธคยากัน

 

            

             ออกจากวัดประมาณ 8 โมงเช้า พาแบงค์ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งแรก มหาเจดีย์พุทธคยา ตามที่ตั้งใจ บรรยากาศการมาพุทธคยาในครั้งนี้แตกต่างกับการมาในครั้งแรกมากๆ เพราะอากาศร้อนและเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในอินเดีย ผู้คนและนักท่องเที่ยวก็เลยน้อยมาก รวมถึงขอทานด้วย แต่อากาศที่ร้อนก็ทำให้พวกเราได้ชมความงามของมหาเจดีย์พุทธคยาอย่างทั่วถึงมากขึ้น มีหลายจุดที่เราไม่ได้ชมไม่ได้เห็นในคราวแรก

            อย่างหนึ่งที่แตกต่างและทำให้รู้สึกทั้งปลื้มใจ ทั้งยินดีมากๆ คือฤดูร้อนนี้เป็นฤดูที่ใบไม้ร่วง เราเลยได้ใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ร่วงหล่นจากต้น และเก็บมาเองกับมือ ซึ่งช่วงฤดูท่องเที่ยวที่ผู้คนมากมาย ไม่มีทางได้ถึงมือเราแน่นอน ในความลำบากทั้งด้วยการเดินทางและด้วยสภาพอากาศ ก็ยังมีเรื่องดีๆ อีกมากมายให้เราได้เห็น ได้สัมผัส และอย่างหนึ่งที่ได้ในการเดินทางครั้งนี้คือ ความอดทน (นี่แค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง)

            หลังจากนมัสการที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระพุทธเมตตาแล้ว เราแวะไปเยี่ยมชมวัดป่าพุทธคยา ซึ่งเป็นวัดไทยอีกวัดหนึ่งที่พุทธคยา ได้นมัสการและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ที่จำพรรษาอยู่ครู่ใหญ่ แล้วก็นมัสการลากลับไปกินข้าวกลางวันที่วัดไทยพุทธคยา ช่วงบ่ายเราจะออกไปตระเวณเที่ยวรอบๆ และไปที่พุทธคยาอีกที แต่ถึงจะมีเวลาพักเหลือเฟือ แต่ใช่ว่าจะได้พักนะ เพราะอากาศร้อนมากๆ ถึงจะเปิดพัดลมก็ไม่คลายร้อน แถมจะร้อนกว่าเดิมอีกเพราะเป็นลมร้อนๆ พระอาจารย์บอกว่ากลางคืนจะยิ่งร้อนกว่า เพราะอาคารจะคลายความร้อนออกมาในห้อง และที่แย่ไปกว่านั้นคือไฟดับบ่อยมากๆ พึ่งพัดลมไม่ได้เลย

            เรานัดหมายกันในช่วงบ่าย 4 โมงเย็น แต่แดดยังร้อนอยู่เลย ออกไปบริเวณบ้านนางสุชาดา และริมแม่น้ำเนรัญชรา ตั้งใจว่าจะรอดูพระอาทิตย์ตก แต่ช่วงนี้พระอาทิตย์ตกช้าแถมมีเมฆก้อนใหญ่ๆ เหมือนฝนจะตกด้วย ก็เลยมองไม่เห็นพระอาทิตย์ พวกเราก็เลยไม่รอ ไปตระเวณเที่ยววัดพุทธนานาชาติแทน แล้วก็ไปปิดท้ายที่พุทธคยาอีกรอบ มีคณะพระสงฆ์และฆราวาสกลุ่มใหญ่ นั่งสวดมนต์ทำวัตรเย็นอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พวกเราก็เลยนั่งนิ่งๆ ฟังพระสวดมนต์อยู่พักใหญ่ ก่อนจะกลับไปกินข้าวเย็นที่วัดไทยพุทธคยา

            หลังอาหารเย็น พวกเรากลับไปที่มหาเจดีย์พุทธคยาอีกครั้ง เพื่อชมความงดงามในยามค่ำคืนของมหาเจดีย์ที่ประดับไฟไว้โดยรอบ แล้วก็เข้าไปกราบนมัสการลาพระพุทธเมตตาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ก่อนจะเดินทางสู่สังเวชนียสถานแห่งต่อไปในวันรุ่งขึ้น แล้วก็ตามสูตร หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการที่ตั้งใจ คือต้องหาอะไรหวานๆ กินก่อนกลับ แต่คราวนี้ต้องเปลี่ยนจากชาร้อนๆ สำหรับฤดูหนาว เป็นสไปร์เย็นๆ แทน เพราะอากาศร้อนมากๆ ช่วงกลางวันก็ประมาณ 45 องศาได้ กลางคืนก็ไม่ต่างกัน แถมไม่มีลมพัด เรียกว่าใบไม้ไม่กระดิกเลยสักนิด

            เรากลับถึงวัดตอนประมาณ 3 ทุ่มได้ ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย ไฟก็ดับอย่างที่พระอาจารย์เตือนไว้ อาบน้ำในแสงเทียนเรียบร้อย ก็ทำอะไรต่อไม่ได้แล้ว นอนสถานเดียว แต่กว่าจะหลับได้ก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เพราะร้อนเหลือเกิน แต่สุดท้ายก็หลับ คงเพราะความเพลียแดดนั่นแหละ รู้สึกว่าช่วงดึกไฟจะมา เพราะพัดลมที่เปิดไว้ทำงานอยู่พักใหญ่ แล้วเราก็ตื่นอีกทีตอนที่ไฟดับอีกรอบตอนเช้ามืด ประมาณว่านอนสบายๆ แล้วเชียว อยู่ๆ มันก็ร้อนขึ้นมาอีก ก็เลยตื่น เลยลุกมาอาบน้ำแต่งตัวเก็บของกันแต่เช้า

 

 

 

วันที่ 3  วันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2550      

พุทธคยา (Buddha Gaya) ราชคฤห์ (Rajkir)  นาลันทา (Nalanda)

 

            เรานัดรถไว้ตี 5 พอตี 4 ครึ่งเปิดประตูห้องออกไปเพราะความร้อน ฟ้าสว่างยังกับสัก 6 โมงเช้าบ้านเราเลย พวกเรามนัสการลาพระอาจารย์ที่วัดไทยพุทธคยา และทำบุญถวายค่าธรณีสงฆ์กันเรียบร้อย แล้วก็ออกเดินทางสู่ราชคฤห์กันแต่เช้า เพื่อไปให้ทันงานวางศิลาฤกษ์การสร้างพระพุทธรูปของคณะพระอาจารย์บุญส่ง (พระครูสังฆรักษ์บุญส่ง อุปสโม วัดทรงเมตตาวนาราม) และคณะหลวงปู่เณรคำ (พระอาจารย์วิรพล ฉัตติโก ประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม บ้านยาง) พร้อมกับคณะคนไทยอีกกลุ่มใหญ่ในช่วงเช้าที่วัดไทยสิริราชคฤห์

            การเดินทางในเวลาตี 5 ในหน้าร้อนของอินเดีย ทำให้พวกเราต้องแปลกใจมากๆ เพราะมันสว่างยังกับ 7-8 โมงเช้าบ้านเรา แบบว่าต้องหยิบแว่นกันแดดขึ้นมาใส่กันตั้งแต่ตอน 6 โมงเช้า เพราะร้อนราวกับ 9-10 โมงเลย เราไปถึงวัดตอนประมาณ 7 โมง พิธียังไม่เริ่ม พระอาจารย์เรียกให้ไปกินข้าวต้มก่อน พอได้เวลาทำพิธีวางศิลาฤกษ์ตอน 7 โมง 59 นาทีตามฤกษ์ก็ร้อนจนคณะพระนานาชาติที่มาร่วมพิธีแทบละลายกว่าพิธีจะเสร็จ ทั้งพระทั้งฆราวาสแทบแย่ไปตามๆ กัน แต่ที่ร้อนกายก็คงเย็นลงได้เพราะใจที่เย็นด้วยแรงศรัทธาของทุกคนที่ตั้งใจมานี่แหละ เกิดมาชั่วชีวิตก็เพิ่งจะเจอร้อนที่สุดคราวนี้แหละ นี่คืออีกประสบการณ์ใหม่ในอินเดีย แม้จะไม่ได้อยากสัมผัสก็ตาม

            เสร็จจากพิธีกรรมแล้ว มีเวลาเหลือหลายชั่วโมงกว่าจะได้เวลากินอาหารเที่ยง เราก็เลยออกไปตระเวณเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในราชคฤห์กัน ที่แรกคือเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาและเป็นสถานที่จำพรรษาแห่งแรกของพระพุทธเจ้า เป็นที่เกิดของวันมาฆบูชา ที่พระอรหันต์ 1250 มารวมกันโดยมิได้นัดหมาย แต่ที่นี่ไม่มีร่องรอยอะไรให้เห็นมากนัก เพราะบริเวณที่เป็นกุฎิของพระพุทธเจ้าถูกสร้างทับด้วยหลุมฝังศพของชาวมุสลิมนานมาแล้ว และความเชื่อของมุสลิมคือฝังศพที่ไหนแล้วจะเคลื่อนย้ายไม่ได้ ทำให้ชาวพุทธเสียความรู้สึกอยู่ไม่น้อย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ชาวพุทธไม่ค่อยมีปากมีเสียงกับใครอยู่แล้ว ส่วนบริเวณอื่นๆ โดยรอบก็มีต้นไผ่และต้นไม้ต่างๆ ที่ปลูกขึ้นมาเหมือนสวนสาธารณะทั่วไป มีพระพุทธรูปประดิษฐานเป็นสัญลักษณ์อยู่ในบริเวณที่พระอรหันต์ทั้ง 1250 รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้า

            เดินเล่นอยู่ในเวฬุวันพักหนึ่ง เราก็เดินออกไปปนกับแขกในงานเทศกาลอะไรสักอย่าง ซึ่งจัดมาหลายวันแล้ว มีร้านค้าและผู้คนมากมาย ตื่นตาตื่นใจไปอีกแบบ โดยเฉพาะลูกทัวร์ของเราที่เพิ่งเคยมาเดินปนกับแขกเป็นครั้งแรก ยิ่งในบรรยากาศร้อนๆ แบบนี้ เกินบรรยายจริงๆ แต่ก็ไม่ถึงกับเลวร้ายนะ จากตลาดนัดเราไปต่อกันที่ ตะโปธาราม ซึ่งเป็นสถานที่อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู แบ่งเป็นชั้นๆ ตามวรรณะ วรรณะสูงจะได้อาบน้ำที่ยังสะอาดบริสุทธิ์จากด้านบน วรรณะต่ำลงไปก็ไล่ระดับลงมาเรื่อยๆ จนถึงจันทานที่ต้องอาบน้ำสุดท้ายซึ่งผ่านการอาบของทุกวรรณะมาแล้ว ไม่รู้ว่าปกติคนเยอะอยู่แล้ว หรือเพราะว่าช่วงนี้อากาศร้อน ถึงได้มีผู้คนมากมายตลอดทั้งวัน ดูวุ่นวายดีเหมือนกันนะ และในทุกๆ สถานที่ที่เราไป จะมีแขกคอยเดินตาม บอกนั้นเล่านี่ทำตัวเป็นไกด์สุดฤทธิ์ แต่เราฟังเค้าไม่รู้เรื่อง เสร็จแล้วลงท้ายก็จะขอตังค์ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ขอความช่วยเหลือและเขาก็ไม่ได้ช่วยอะไร ก็คงต้องทำใจ เพราะเป็นอย่างนี้แทบทุกที่จริงๆ แม้แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่เฝ้าสถานที่หรืออำนวยความสะดวกอยู่แล้วก็ยังขอ ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ตูจะขอน่ะ เราก็ไม่จำเป็นต้องให้นะ แล้วแต่เรา

            จากตะโปธาราม เรากลับไปกินข้าวกลางวันที่วัดไทยสิริราชคฤห์ อาหารเหลือเฟือทีเดียว เพราะมีงานที่ต้องเลี้ยงพระนานาชาติและพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงานอยู่แล้ว มื้อนี้เลยสบายไป บ่ายนี้เรามีโปรแกรมอีกหลายที่ แต่จะไปพร้อมคณะของหลวงพ่อบุญส่ง เพราะท่านพาคณะของท่านไปอยู่แล้ว เราก็เลยของพ่วงด้วยซะเลย

            ประมาณ 12.30 น. เราออกจากวัดฯ พร้อมคณะหลวงพ่อบุญส่งไปนมัสการหลวงพ่อดำ ซึ่งหลวงพ่อบุญส่งเล่าว่าหลวงพ่อดำเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีดำที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายของพวกอิสลามเมื่อครั้งที่มีการหวาดล้างทำลายพระพุทธศาสนา มีการฆ่าพระสงฆ์ และเผาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก เล่ากันว่ามีคนพยายามจะเคลื่อนย้ายหลวงพ่อดำไปประดิษฐานที่อื่นให้ดูเหมาะสมสง่างาม แต่ก็ทำไม่ได้ จึงต้องให้ท่านอยู่ที่เดิม และสร้างวิหารเล็กๆ ให้ท่าน พร้อมกับล้อมรั้วเรียบร้อย มีชาวพุทธมานมัสการกราบไหว้อยู่เนืองๆ เลยมีแขกตามขายพระพุทธรูปแกะสลักให้นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ไปตลอดทาง

หลังจากนมัสการหลวงพ่อดำแล้ว เราก็เข้าไปชมความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยนาลันทากัน เห็นความใหญ่โตของอาณาบริเวณและซากปรักหักพังของที่นี่แล้ว สัมผัสได้เลยว่าแต่ก่อนนั้นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขนาดไหน น่าเสียดายที่ถูกทำลายลง ไม่งั้นคงจะเข้มแข็งและแผ่ไพศาลไปอีกแสนไกล ดูแล้วก็น่าเศร้านะ จากที่เคยยิ่งใหญ่และได้รับความสนใจจากผู้คนมากมายเดินทางมาศึกษาเล่าเรียน กลายเป็นถูกฆ่าฟัน ทำลายล้างจนสิ้น พระอาจารย์เล่าว่าการเผาทำลายตำราและพระคัมภีร์ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยนาลันทาต้องใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์จึงหมด พระบางส่วนก็หนีเอาชีวิตรอด บางส่วนก็ยอมให้ฆ่าทั้งที่นั่งสมาธิอยู่ บางก็ปกป้องพระคัมภีร์จนตัวตาย ส่วนที่หนีรอดไปได้พร้อมกับพระคัมภีร์ บ้างก็ไปหลบลี้หนีภัยอยู่ตามถ้ำ ตามป่า อย่างที่ถ้ำอจันต้า(Aganta) ถ้ำเอโลร่า (Ellora) ที่มีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นรูปแกะสลักพระพุทธรูปที่งดงามมากมายอยู่ในถ้ำ แล้วสักวันหนึ่งคงจะมีโอกาสได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง

เราเดินอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยได้พักเดียว เพราะแดดร้อนมากๆ หลังจากนั่งพักใต้ร่มไม้กันให้หายเหนื่อย และฟังบรรยายจากพระอาจารย์เรียบร้อยแล้ว เราก็ออกจากมหาวิทยาลัยนาลันทาข้ามฝั่งไปที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่ขุดค้นพบในบริเวณมหาวิทยาลัยนาลันทาได้เห็นโมเดลจำลองผังของมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว โอ้โห! กว้างใหญ่มากๆ ส่วนที่เราได้เดินเข้าไปเป็นเพียงบริเวณทางเข้า เรียกว่า 1 ใน 100 ของพื้นที่ทั้งหมดเห็นจะได้ พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ในดินแดนชมพูทวีป ไม่น่าเชื่อเลยว่าวันหนึ่งเกือบจะล่มสลายไป แล้วถ้าชาวพุทธรุ่นหลังๆ ไม่สืบสานและช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนาไว้ วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีกก็ไม่รู้ได้ ยิ่งเห็นอย่างนี้เรายิ่งอยากจะพาคนรุ่นใหม่มาสัมผัสดินแดนพุทธภูมิให้มากขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

ออกจากพิพิธภัณฑ์ เราตามคณะหลวงพ่อบุญส่งไปที่เวฬุวันอีกรอบ และได้ร่วมสวดมนต์ ณ บริเวณที่พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูปมาชุมนุมกันเพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาด้วย เราได้กราบในที่ที่พระอรหันต์กราบพระพุทธเจ้า ผ่านมากว่า 2,500 ปี ที่ตรงนี้ก็ยังคงมีผู้คนและพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนามากราบไหว้อยู่มิได้ขาด แม้จะดูว่าที่นี่ไม่มีอะไรเลย นอกจากสวนธรรมดาๆ และรูปปั้นพระพุทธเจ้า แต่ที่นี่มีความศรัทธา และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวพุทธ ทุกที่ล้วนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หากเรามีศรัทธา

จากเวฬุวัน เราไปแวะที่เจดีย์ มนิยาร์มัฐ (MANYYAMATE) ซึ่งเป็นเจดีย์ใต้ดินที่สันนิษฐานว่าเป็นที่เก็บรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ที่กษัตริย์มัลละให้โทณพราหมณ์จัดแบ่งให้ประเทศต่าง ๆ ที่เคารพนับถือพระพุทธเจ้าจำนวน 8 ประเทศ เวลาเข้าไปดูจะเข้าได้แค่ทีละคน และเจ้าหน้าที่จะใช้ไฟฉายส่องลงไปในส่วนของฐานเจดีย์ที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นเหมือนหลุมใต้ดินมืดๆ ลึกลงไปจากพื้นดินพอสมควร ภายในก็ไม่มีอะไรเลย ออกจากที่นี่เราก็กลับไปพักร้อนที่วัดกัน เย็นๆ สัก 5 โมงค่อยออกไปที่เขาคิชฌกูฏ เพราะตอนนี้แดดร้อนมากๆ ขึ้นเขาคงไม่ไหว 

          

   

 พอได้เวลานัดหมาย เราก็ออกไปที่เขาคิชฌกูฏกัน คราวนี้ไปกันเองแค่เรา 3 คน ไม่ได้ตามคณะอื่นไป กะเวลาได้แม่นมากๆ ไปถึงก็แดดร่มพอดี เดินขึ้นเขาได้สบายๆ แต่ก็เหนื่อยได้เรื่องอยู่ ความจริงเค้ามีกระเช้าขึ้นและลงจากเขาด้วย แต่อยากเดินขึ้นกันมากกว่า ขากลับค่อยลองลงกระเช้าดู ใช้เวลาเดินขึ้นเขาสักประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าๆ ได้ ชมถ้ำที่นั่งวิปัสนาของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอานนท์ และนมัสการบริเวณที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษา(คันธกุฎีคิชฌกูฏ)เรียบร้อย คณะของหลวงปู่เณรคำก็กำลังจะขึ้นมาถึงพอดี พวกเราก็เลยรอ เพื่อจะได้ฟังธรรมเพิ่มเติม และได้นั่งสวดมนต์ทำสมาธิกับคณะด้วย กว่าจะเสร็จพิธีก็มืดแล้ว สุดท้ายเราก็เลยต้องเดินลงจากเขา โดยไม่ได้ลองนั่งกระเช้าเลย แต่ขาลงก็สบายๆ อยู่แล้ว ไม่เหนื่อยเหมือนตอนขาขึ้น เป็นอันเสร็จสิ้นบรรลุเป้าหมายของเมืองราชคฤห์ นาลันทาแล้ว

กลับถึงวัดค่ำมากแล้ว เราเข้าครัวไปหาข้าวกินกัน แม่ชีต้อนรับพวกเราอย่างดี มีกับข้าวจากมื้อกลางวันที่อุ่นไว้เรียบร้อย ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ กินอิ่ม นอนหลับ แถมที่นี่ไฟไม่ดับเหมือนที่วัดไทยพุทธคยา ก็เลยนอนสบายขึ้นหน่อย ก่อนแยกย้ายกันไปนอน เรานัดหมายเวลาเดินทางของวันพรุ่งนี้ว่าจะออกจากวัดแต่เช้ามืดประมาณตี 4 เพราะสว่างเร็วและร้อนเร็วมาก ออกแต่ตี 4 น่าจะดีกว่า

 

 

 

วันที่ 4  วันพฤหัสที่ 31 พฤษภาคม 2550             

นาลันทา (Nalanda)  กุสินารา (Kushinagar)

 

            อาบน้ำ แต่งตัว เก็บของกันเรียบร้อย พร้อมด้วยเสบียงที่แม่ชีกรุณาเตรียมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ พวกเราก็ออกเดินทาง แล้วก็เป็นเวลาเดียวกันกับคณะหลวงพ่อบุญส่งที่ออกตี 4 เหมือนกัน มีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือ กุสินารา ก็เลยได้เพื่อนร่วมทางแถมด้วยพี่อีก 2 คนจากทีมหลวงพ่อบุญส่งที่ย้ายมานั่งรถคันของพวกเรา เพราะรถคณะของหลวงพ่อค่อนข้างแน่น แต่รถเรามีแค่ไม่กี่คน

            เรากินอาหารเช้าเป็นพวกขนมปังทาแย้ม ซึ่งเตรียมไปจากกรุงเทพฯกันบนรถ และมุ่งหน้าไปที่เสาหินพระเจ้าอโศกต้นสุดท้ายที่ยังคงตั้งอยู่อย่างสมบูรณ์ที่สุด เป็นเสาหินที่มีรูปสลักสิงโตตัวเดียวอยู่บนยอดเสา ดูยิ่งใหญ่มาก อยู่ที่เมืองไพสาลี ซึ่งเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าแวะพักครึ่งทางระหว่างเสด็จจากเมืองราชคฤห์สู่เมืองกุสินารา และเป็นเมืองที่พระเจ้าน้าของพระพุทธเจ้าได้ขอบวชเป็นภิกษุณี จึงเป็นที่กำเนิดภิกษุณีเป็นครั้งแรก บริเวณโดยรอบของที่นี่ดูกว้างขวางใหญ่โต แต่ดูเงียบๆ ไม่ค่อยมีผู้คนมากนัก หรือเพราะช่วงนี้อากาศร้อนมากก็ไม่รู้นะ แต่ถึงจะร้อนขนาดนี้ก็ยังมีพวกช่างขออยู่นะ เป็นเด็กๆ แถวนั้น พอเห็นรถแล่นเข้ามาที่นี่ เค้าก็ชวนกันมาเป็นกลุ่มเลย พอขอไม่ได้ ก็เลยใช้มาตรการใหม่ ขอแลกแทน คงมีคนไทยใจดีให้เงินเค้าไว้ แต่ให้เป็นเงินไทย เค้าก็เลยเอาแบงค์ 20 ไทยมาขอแลกเป็นแบงค์รูปีอินเดีย จะได้เอาไปใช้ได้ เอากับเค้าซิ 

 

 

             จากเสาหินพระเจ้าอโศก พวกเราแวะไปที่วัดไทยไพสาลีที่กำลังก่อสร้างอยู่ เป็นวัดไทยอีกแห่งหนึ่ง และเป็น 1 ใน 15 วัดไทยในอินเดียที่มีอยู่ขณะนี้ ทักทายคนไทยถามสารทุกข์สุขดิบ เยี่ยมชมสถานที่ และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเดินทางไกล แล้วเราก็ออกจากวัดมุ่งหน้าสู่เกสะเรีย ตามคำแนะนำและกำชับนักหนาของพระอาจารย์สมปองว่าต้องไปให้ได้ เพราะเป็นสถูปที่สวยมาก แต่ในความสวยนั้น ท่านไม่เห็นบอกเลยว่าเส้นทางที่ไปมันหฤโหดมากๆ ทั้งไกล ทั้งร้อน และเป็นหลุมเป็นบ่อเป็นทางในชนบทของแท้ ระยะทางแค่ 80 กว่ากิโล เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงได้ พอไปถึง ได้ลงไปถ่ายรูปและเดินชมเกสะเรียประมาณ 10 นาที เพราะร้อนเหลือเกิน แต่ก็เป็นสถูปที่สวยกว่าหลายๆ ที่จริงๆ อย่างที่พระอาจารย์โฆษณาไว้ ว่ากันว่าสถูปนี้คือต้นแบบของเจดีย์บูโรพุทโธ ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นอีกครั้งที่พวกเราได้ฝึกความอดทน บำเพ็ญขันติบารมีของแท้เลย แต่นี่ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้ายนะ

 

            จากเกสะเรีย กว่าจะเข้าสู่เส้นทางปกติที่ถนนเป็นถนนจริงๆ ก็อีกพักใหญ่ แวะกินข้าวที่ห่อมาจากวัดที่ร้านอาหารระหว่างทาง ส่วนพี่อีก 2 คนที่มาด้วย ข้าวห่ออยู่กับคณะใหญ่ของหลวงพ่อบุญส่ง แต่พอดีว่าเราไม่ได้รอคณะนั้น แบบว่าต่างคนต่างมา แค่รู้ว่าพักที่เดียวกันในคืนนี้ และไม่อยากไปถึงวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ค่ำ ก็เลยไม่ได้รอตามกัน พี่เค้าเลยต้องสั่งข้าวแขกมากิน เป็นข้าวผัดกับไข่ ส่วนพวกเราสั่งไข่เจียวมาเพิ่มด้วย รสชาติก็โอเค แต่ร้านมันฝุ่นเยอะไปหน่อย เพราะลมพัดเอาฝุ่นจากถนนดินแดงเข้ามาในร้าน รีบกินแล้วก็รีบไปต่อเลย อยู่นานคงไม่ไหวแน่

            ประมาณบ่าย 2 โมง เราก็เข้าไปถึงวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้ห้องพักและเก็บของเรียบร้อย กราบนมัสการพระอาจารย์ธีรพรและพระอาจารย์สมปอง พร้อมกับบ่นเล็กน้อยที่ท่านไม่ได้เตือนเรื่องเส้นทางไปเกสะเรียเลยซักนิด ท่านก็ว่า ก็ไม่เห็นถามกันน่ะ อ้าว....เป็นงั้นไป แต่ก็จริงของท่าน เราไม่ได้ถาม หลังจากพักเอาแรงกันสักครู่ เราก็พาแบงค์ออกมาเดินชมวัด รอเวลาให้เย็นหน่อยจะได้ออกไปนมัสการพระมหาปรินิพพานสถูป และ วิหารปรินิพพาน กัน

 

  

             4 โมงครึ่ง ล้อหมุนออกจากวัดไปที่วิหารก่อน พระอาจารย์ธีรพรกรุณาเป็นพระวิทยากรให้ บรรยายถึงความสำคัญของวิหารและนำสวดมนต์บูชาสังเวชนียสถานปรินิพพาน พอสวดมนต์ขอพรกันเรียบร้อย ก็ออกมาเดินชมบริเวณรอบๆ สาวโนทยาน พระอาจารย์เล่าว่าเคยมีพระมานั่งบำเพ็ญสมาธิและกล่าวว่าที่นี่มีเทวดาอารักษอยู่ 2 องค์ ส่วนรอบๆ นั้นมีเปรตอยู่เต็มไปหมด และมีอีกหลายๆ เรื่องที่พระอาจารย์เล่าให้ฟัง พอพวกเราออกจากสาวโนทยาน เพื่อจะไปนมัสการมกุฏพันธนเจดีย์ ที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ก็สวนกับคณะของหลวงพ่อบุญส่งที่เพิ่งเข้ามาถึงพอดี

            ถึงมกุฏพันธนเจดีย์ พระอาจารย์นำสวดมนต์ทำพิธีเรียบร้อย และเล่าว่า ตามคำทำนายบอกว่า เมื่อพระพุทธศาสนามีอายุครบ 5,000 ปี แล้วจะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ คือผู้ที่รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุจากทุกที่ไปรวมไว้ที่พุทธคยา และผู้ที่จะมาเอาพระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงอยู่ในสถูปที่ถวายพระเพลิงนี้ได้มีผู้เดียวคือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าในสถูปนี้ยังมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่จริงๆ มีเรื่องเล่าว่าเคยมีพระจีนปีนขึ้นไปนั่งสมาธิอยู่ด้านบนสถูป ใครเรียกให้ลงก็ไม่ลง แล้วสุดท้ายก็ถูกงูกัดตายอยู่บนนั้น

            ได้เวลาพอสมควร พวกเราก็เตรียมจะกลับเข้าไปที่วัด ออกมาก็สวนกับคณะหลวงพ่อบุญส่งอีก แต่คราวนี้พระอาจารย์ธีรพรเจอกับหลวงเตี่ย (พระครูสุนทรธรรมโฆษิต) ที่ท่านเคารพอย่างสูง ถึงกับพุ่งเข้าไปกราบ ตาเป็นประกายเหมือนเด็กเห็นขนมเลย ท่านคงไม่ได้เจอกันมานาน เพราะอยู่ต่างบ้านต่างเมือง พอได้เจอกันที่นี่เลยดีใจมาก แล้วพระอาจารย์ก็ขอแยกตัวจากพวกเราไปรับรองหลวงเตี่ยต่อ 

 

      

                   เรากลับมาถึงวัด ได้ยินเสียงพระกำลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นอยู่ ก็เลยขึ้นไปร่วมด้วย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 คน นั่งอยู่ก่อนพวกเรา ดูเป็นชาวเอเชีย แต่ไม่แน่ใจว่าชาติไหน ออกจะเป็นอาหมวยอาตี๋หน่อย พวกเราเข้าไปอย่างสงบ เราพนมมือนั่งฟังเฉยๆ ส่วนลูกทัวร์ของเราสวดมนต์ไปด้วย พอเสร็จพิธี พวกเราก็ลงไปกินข้าวเย็นกัน อิ่มหนำสำราญ กับข้าวอร่อยๆ ฝีมือแม่ชีศรีอรุณ พักให้ข้าวเรียงเมล็ดสักครู่ เราก็ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ในพระมหาเจดีย์ของวัดไทยกุสินาราฯ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา" โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระมหาเจดีย์ และเสด็จอีกครั้งเพื่อทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ในคืนนี้เรายังได้เวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชาพร้อมกับคณะหลวงพ่อบุญส่งด้วย นับว่าการเดินทางมาครั้งนี้ ได้อะไรดีๆ มากมายกว่าที่คิด โดยเฉพาะสำหรับลูกทัวร์คนแรกและคนเดียวของวันแรมทาง พิธีการต่างๆ ในแดนปรินิพพานแห่งนี้ลุล่วงแล้ว พรุ่งนี้เช้าเราจะออกเดินทางสู่แดนประสูติ ลุมพินีวันสถาน ณ ประเทศเนปาลกัน

 

 

 

วันที่ 5   วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2550         

กุสินารา (Kushinagar)  ลุมพินี (Lumbini) – กุสินารา (Kushinagar)

 

            เช้านี้เราไม่ได้รีบออกเดินทางเหมือนทุกวัน เพราะพอมีเวลาอยู่บ้าง ตอนเช้าเลยไปเดินชมวัดและร่วมทำวัตรเช้าในพระอุโบสถ เสร็จแล้วก็ไปกินข้าวเช้าซึ่งวันนี้เป็นข้าวต้มกันอย่างสบายใจ พร้อมกับได้ข้าวห่อสำหรับกลางวันที่แม่ชีเตรียมให้เรียบร้อย จากนั้นเราจึงออกจากวันกันตอนประมาณ 8 โมง ไปแวะที่วิหารมหาปรินิพพานอีกครั้งเพื่อนมัสการลา เพราะช่วงเย็นที่จะกลับมาจากลุมพินีคงไม่มีเวลาแวะแล้ว พอเสร็จพิธีเราก็มุ่งหน้าสู่ชายแดนอินเดียกัน

            เราแวะกินข้าวกลางวันที่พุทธวิหาร 960 โครงการที่พักริมทาง สำหรับพุทธศาสนิกชนผู้เดินทางแสวงบุญจากทั่วโลก มีห้องน้ำ และศาลาอเนกประสงค์สำหรับทานอาหารระหว่างทาง และเอาของที่พระอาจารย์ปราโมทย์ฝากซื้อจากเมืองไทยมาให้ สนทนพาทีกันอยู่พักหนึ่ง คณะของหลวงปู่เณรคำก็มาถึง รถบัสใหญ่ 2 คันกับคนประมาณ 60 ชีวิต ซึ่งมีจุดหมายเดียวกันกับพวกเรา คือจะเข้าไปนมัสการสถานที่ประสูติที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล และก่อนที่พวกเราจะออกเดินทางจากพุทธวิหาร 960 ไปชายแดนก็มีข่าวมาว่าวันนี้ที่ด่านอาจจะปิด เพราะมีปัญหาภายใน มีรถถูกไล่กลับออกมาแล้วหลายคัน แต่ก็ยังคิดกันว่าถ้าเป็นรถใหญ่ที่มาพร้อมนักท่องเที่ยวกลุ่มโต น่าจะมีสิทธิ์ลุ้นกว่าและน่าจะเข้าได้ พวกเราก็เลยกะว่าจะอาศัยบารมีกลุ่มใหญ่พ่วงไปด้วย บอกว่ามาด้วยกัน ตามคำแนะนำของพระอาจารย์ แต่พอไปถึงด่านโสเนารีกลับไม่เป็นอย่างที่คิด ทั้งที่ทำเรื่องวีซ่าเรียบร้อย และเสียตังค์เพิ่มไปอีกหัวละ 100 รูปี พอไปทำเรื่องเอารถเข้ากลับบอกว่าไม่ให้เข้า ยกเว้นว่าถ้ามีตำรวจนำ สุดท้ายพอเอาเข้าจริงๆ รถตำรวจก็ช่วยไม่ได้ ต้องรอให้การเจรจาเรียบร้อย แล้วจะเปิดด่านให้เข้าตอน 6 โมงเย็น แต่ตอนนี้เพิ่งจะบ่าย 2 โมงเองนะ แล้วพวกเราก็ตัดสินใจที่จะรอ เพื่อแบงค์จะได้นมัสการทั้ง 4 สังเวชนียสถานในคราวเดียว ตามที่ตั้งใจมา ทั้งที่อาจจะเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของการเมืองท้องถิ่นแถวนี้ก็ตาม ส่วนสมาชิกในรถบัสไม่มีเวลามากพอที่จะรอได้ เพราะต้องเดินทางต่อไปปัตนะด้วย คณะใหญ่จะปรับโปรแกรมอะไรก็ลำบาก เค้าเลยต้องถอดใจ ทั้งที่หลายคนเสียดาย โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยมา ทุกคนล้วนตั้งใจที่จะได้มานมัสการทั้ง 4 สังเวชนียสถานเหมือนกัน

            เราใช้เวลา 4 ชั่วโมงกว่าๆ ในการรอคอย เป็นการรอคอยที่ยาวนานอีกครั้งในอินเดีย หลังจากที่ตัดสินใจว่าจะรอ พระมหาภาณุวัฒน์ (ตุ๊น้อย) (ซึ่งครั้งก่อนท่านเป็นผู้นำเราไปทำพิธีในแดนปรินิพพาน แต่ช่วงนี้มาช่วยงานสร้างพุทธวิหาร 960 อยู่ คราวนี้ท่านก็เลยกรุณาจะนำเราไปทำพิธีในแดนประสูติ) ทีแรกพระอาจารย์คิดว่าพาพวกเราไปทำพิธีที่ลุมพินีพักเดียวก็เสร็จ แต่พอผิดแผนท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร และในฐานะเจ้าถิ่นท่านก็เลยพาพวกเราเดินไปนั่งกินลาสซี่ฆ่าเวลา แต่ตายไปไม่กี่นาทีเพราะเกรงใจเจ้าของร้านที่มองแล้วมองอีก ก็เลยตั้งใจจะเดินไปเที่ยวตลาดชายแดนของเนปาลเพลินๆ แต่กลายเป็นว่าร้านรวงปิดเงียบเพราะรู้ว่าด่านจะปิด สุดท้ายก็ต้องมานั่งรอเหงาๆ และร้อนๆ อยู่แถวด่านเหมือนเดิม พวกเรากำลังถูกทดสอบให้บำเพ็ญขันติบารมีอยู่นะ(ปลอบใจตัวเองกันด้วยวิธีนี้)

            18.15 น. ความอดทนของพวกเราเป็นผล ในที่สุดด่านก็เปิดให้รถเข้า แต่ต้องกลับออกมาก่อน 3 ทุ่ม และเราต้องไปให้ถึงลุมพินีก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เพราะว่าประตูจะปิด คนขับรถใช้เวลาประมาณ 20 กว่านาทีบนสภาพทางที่ไม่ดีนักกับระยะทาง 20 กว่ากิโลฯ ไปถึงลุมพินี แต่ก็ยังไม่ทันพระอาทิตย์ตกอยู่ดี แถมยามที่เฝ้าประตูก็เป็นยามใหม่ พระอาจารย์ที่ไปด้วยก็ไม่รู้จัก และเค้ายืนยันว่าไม่ให้เข้า ทั้งที่เรามาตั้งไกล ยืนเกาะรั้วลุ้นผลการเจรจาอยู่นาน จนจะตัดสินใจทำพิธีสวดมนต์ด้านนอกรั้วอยู่แล้ว แต่สุดท้ายพวกเราก็ได้เข้าสู่ลุมพินีวันเพื่อนมัสการสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ตามที่ตั้งใจ (และเสียเงินไป 300 รูปี ไม่ว่าที่ไหนเงินคือพระเจ้าเสมอ) แม้จะไม่ได้เข้าไปในวิหารมหามายาเทวีก็ตาม จะมีสักกี่คนที่ได้สักการะสถานที่ประสูติยามค่ำคืนที่พระจันทร์เกือบเต็มดวง ในบรรยากาศที่มีมนต์ขลังเช่นนี้ ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดีอยู่บ้าง และอย่างน้อยเราก็ได้พาลูกทัวร์คนแรกของเรามาถึงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แม้จะต้องรอคอยกันอย่างยาวนานไปหน่อยก็ตาม

 

             หลังจากทำพิธีสักการะสถานที่ประสูติแล้ว เราออกจากลุมพินีวัน แล้วแวะไปที่วัดไทยลุมพินีแป๊ปนึงเพื่อเอาของที่วัดไทยกุสินาราฝากมาไปให้ เจรจากันได้ไม่กี่คำก็ต้องรีบกลับเพื่อให้ทัน 3 ทุ่มตามที่เจ้าหน้าที่ด่านสั่งมา นี่ถ้าเราเอากระเป๋าเสื้อผ้ามาด้วย คงนอนที่วัดไทยลุมพินีกันแล้ว เราออกมาถึงด่านตอนประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง ที่ด่านไฟดับ เจ้าหน้าที่ต้องใช้ไฟฉายในการทำเอกสารออกจากเนปาลและเข้าอินเดียอีกครู่ใหญ่ แต่ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี เรากลับเข้าสู่อินเดียอีกครั้ง

            ก่อนจะตีรถกลับไปนอนที่กุสินารา เราแวะส่งพระอาจาย์ที่พุทธวิหาร 960 และได้กินอาหารมื้อเย็นด้วยความกรุณาของพระอาจารย์ ที่จัดการต้มมาม่าอินเดียให้พวกเรากิน เพราะเลยเวลาอาหารมาหลายชั่วโมงแล้ว แต่ที่พุทธวิหาร 960 ก็ไฟดับเหมือนกัน เราก็เลยนั่งกินมาม่าใต้แสงจันทร์ บรรยากาศแปลกไปอีกแบบ เป็นอีกรสชาติของชีวิตที่แตกต่างจากที่เคยได้สัมผัสมา เมื่อเช้าพวกเราก้าวเท้าผิดออกมาจากวัดกันหรือเปล่านะ สงสัยจริง!

            เรากลับถึงวัดไทยกุสินาราตอนตี 1 ด้วยความลุ้นระทึกเกือบตลอดทาง เพราะพลขับของเราง่วงมากอย่างเห็นได้ชัด คุณผู้ช่วยก็ดันหนีไปนอนอยู่ท้ายรถ แทนที่จะนั่งเป็นเพื่อนคนขับ นี่คงเป็นเวลาปกติที่แขกเค้านอนกันแล้วมั้ง ยังดีที่คนขับเค้ารู้ตัวเอง เลยจอดรถซื้อหมากเคี้ยวบ้าง จอดกินชาร้อนบ้าง สุดท้ายเราก็ถึงที่หมายโดยปลอดภัย พรุ่งนี้สายๆ เราจะออกเดินทางสู่พาราณสี สังเวชนียสถานแห่งสุดท้ายของทริปนี้กัน

 

 

 

วันที่ 6   วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน 2550        

กุสินารา (Kushinagar)  พาราณสี (Varanasi)

 

            วันนี้พวกเราตื่นไม่ทันทำวัตรเช้า เพราะเพลียจากเมื่อคืน อาบน้ำเก็บของกันเรียบร้อยก็ได้เวลากินข้าวเช้าพอดี เช้านี้แม่ชีทำผัดไท และห่อให้พวกเราสำหรับมื้อกลางวันด้วย ผัดไทรสชาติไทยๆ ในอินเดีย อร่อยดี

            8 โมงเช้าได้เวลาล้อหมุน วันนี้เราต้องเดินทางไกลจากกุสินาราไปพาราณสี ประมาณ 200 กว่ากิโลฯ แต่ทางไม่ค่อยดี ต้องใช้เวลาประมาณ 7 8 ชั่วโมงได้ ขับไปเรื่อยๆ พอเที่ยงเราก็แวะกินข้าวกลางวันที่ร้านริมทาง แล้วเดินทางต่อท่ามกลางความร้อนของอากาศและแอร์ในรถก็ไม่เย็นด้วย ทรมานสังขารดีจริงๆ

            นอกจากการหลับเพราะเพลียแดดแล้ว ระหว่างที่ตื่นเราก็นั่งเล็งหลักกิโลเมตรว่าเหลืออีกกี่กิโลกว่าจะถึงที่หมาย จนกระทั่งอีกแค่ 7 กิโลสุดท้าย รถดันยางแบน ต้องจอดเปลี่ยนยางกันอีก ทุลักทุเลทัวร์รึป่าวเนี่ย มีเรื่องให้ประหลาดใจตลอดเวลา เส้นทางนี้มีรสชาติดีจริงๆ นี่แหละอินเดีย มีเรื่องเหนือความคาดหมายของเราเสมอ เพราะฉะนั้นจงอยากตั้งความหวังอะไรมาก ปล่อยไปตามธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม อย่างที่พระพุทธองค์ท่านว่าไว้

            แล้วบ่าย 2 ครึ่งเราก็เข้ามาถึงวัดไทยสารนาถ ระหว่างนั่งรอกุญแจห้อง พระอาจารย์ชาญชัยกับน้อยก็นั่งสามล้อมาถึงพอดีตามที่นัดกันไว้ พอรายงานตัวกับพระอาจารย์มังคลิโก(พระอินเดียที่ดูแลและจำพรรษาอยู่ที่วัดไทยสารนาถ) และได้กุญแจเรียบร้อย พระอาจารย์ชาญชัยให้เวลาพวกเราเอาข้าวของไปเก็บและอาบน้ำดับร้อนกันหน่อย ก่อนจะออกไปที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ เข้าไปเดินรับความเย็นในพิพิธภัณฑ์และฟังพระอาจารย์บรรยายอยู่พักใหญ่ แล้วพวกเราก็ออกมาที่ธัมเมกสถูป พระอาจารย์นำสวดมนต์สักการะสังเวชนียสถานซึ่งเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา และนี่เป็นสังเวชนียสถานแห่งสุดท้ายของทริปนี้ พวกเราบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว หลังจากทำพิธีเสร็จพระอาจารย์เล่าเรื่องราวหลายอย่างเกี่ยวกับสถูปแห่งนี้ให้ฟัง เราใช้เวลาอยู่ที่สถูปนานพอสมควร ก่อนจะมุ่งหน้าไปที่แม่น้ำคงคาเพื่อล่องแม่น้ำและชมพิธีบูชาไฟ

 

       

             พวกเรามาถึงท่าอัศวเมธมืดแล้ว และพิธีบูชาไฟก็เริ่มไปแล้ว ผู้คนมากมายในพิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู เราได้เข้าไปดูพิธีในระยะใกล้ที่ริมฝั่งแม่น้ำอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ลงไปล่องเรือชมบรรยากาศในแม่น้ำคงคากัน ชมพิธีบูชาไฟจากในเรือ และล่องไปที่บริเวณกองไฟศักดิ์สิทธ์ที่ไม่เคยดับเพราะมีศพมาเผากันตลอดเวลา คืนนี้มีกองไฟลุกโชนอยู่ 7 กอง นี่เป็นอีกครั้งที่ได้มาเห็นกองไฟศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ และวิถีแห่งคงคายามค่ำคืน แต่ความหฤหรรที่สุดของการมาล่องคงคาตอนกลางคืน อยู่ที่ตอนขึ้นจากเรือแล้วนี่แหละ เพราะต้องเดินจากท่าไปที่รถ บนเส้นทางที่ต้องเดินมีผู้คนมากมายเดินกันไปมา ทั้งรถทั้งคนทั้งสัตว์ ถ้าต้องพาคณะใหญ่ๆ มาคงไม่สามารถพาเดินฝ่าฝูงชนชาวอินเดียแถวนี้ได้แน่ๆ กลัวเก็บกลับไปได้ไม่ครบทุกคนน่ะ

            ในที่สุดเราก็หลุดออกมาจากดงแขกได้อย่างปลอดภัย พระอาจารย์กับน้อยขอแยกกลับก่อนแล้วพรุ่งนี้เช้าค่อยเจอกันอีกที ตอนนี้ก็ได้เวลาต้องเติมพลังกันแล้ว และหลังจากได้ลองกินลาสซี่ที่เนปาลไปแล้วผ่านฉลุย ไม่มีใครเกิดอาการท้องไม่รับ มื้อนี้จะเป็นอาหารอินเดียมื้อแรกที่ได้ลองชิมรสชาติแขกแบบเต็มๆ ผู้ช่วยเลือกร้านให้พวกเราเรียบร้อย หัวหน้าคณะก็จัดการสั่งอาหารที่คิดว่าพวกเราน่าจะกินกันได้ชัวร์ๆ ได้อาหารมา 3 4 อย่าง รสชาติใช้ได้เรียกว่าอร่อยทีเดียว กินกันจนอิ่มมาก อิ่มแบบแน่นเลยทีเดีย ลูกทัวร์ของเราได้มาถึงอินเดียโดยสมบูรณ์แล้ว ถ้าอยากกินอาหารอินเดียแบบเต็มรูปแบบ ควรจะเป็นที่พาราณสีนี่แหละ เพราะเป็นแบบดั้งเดิมและมีให้เลือกมากมาย

            กินอาหารเย็นเรียบร้อย เราก็กลับเข้าไปที่วัดไทยสารนาถที่พำนักในคืนนี้ พักผ่อนเอาแรงกัน พรุ่งนี้เช้าเรายังมีโปรแกรมล่องคงคาแต่เช้ามืด เพื่อชมพิธีบูชาพระอาทิตย์ของชาวฮินดู

 

 

 

วันที่ 7   วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2550    

พาราณสี(Varanasi) กัลกัตตา (Kolkata)

 

   

             ตามเวลานัดหมาย ออกจากวัดกันตอนตี 4 พระอาจารย์ชาญชัยกับน้อยจะไปเจอกันที่ท่าน้ำเลย พอรวมพลที่ท่าน้ำเรียบร้อยเราก็ลงเรือกันตอนประมาณตี 5 แต่ทุกอย่างดูสว่างชัดเจนแล้ว ผู้คนเยอะมาก เยอะกว่าครั้งแรกที่เรามาในหน้าหนาว ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอากาศร้อนหรือเปล่า คนถึงได้มาอาบน้ำที่แม่น้ำคงคากันมากมายเต็มท่า แต่ว่าไม่ค่อยมีใครทำพิธีบูชาพระอาทิตย์ให้เห็นมากนัก ส่วนใหญ่ดูจะมาอาบน้ำเล่นน้ำดับร้อนเหมือนไปเที่ยวทะเลมากกว่า แต่นี่ก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบ ต่างจากการล่องเรือในยามค่ำมากๆ นี่คือบรรยากาศของการเริ่มต้นวันใหม่ แต่กลางคืนคือบรรยากาศของการสิ้นสุด

 

  

 

            ที่ท่าเผาศพเช้านี้ มีกองไฟศักดิ์สิทธิ์เผาไหม้อยู่ 6 กอง เห็นมีทีมงานถ่ายทำรายการอะไรสักอย่างของฝรั่งกำลังถ่ายอยู่ด้วย คงจะเป็นพวกรายการสารคดีถึงได้รับอนุญาตให้ถ่ายได้ เพราะปกติเค้าจะไม่ให้ถ่ายภาพ เช้านี้พวกเราได้ทำพิธีลอยกระทงดอกไม้และเทียนบูชาพระแม่คงคากันด้วย แต่ไม่ได้ซื้อของที่ระลึกจากคงคาตามคำชักชวนของพ่อค้าที่พายเรือมาเทียบเรือเรา นอกจากพวกเราและกลุ่มคนไทยหลายกลุ่มที่เราได้เจอกันตลอดเส้นทางแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกไม่น้อยทีเดียวที่มาล่องคงคาวันนี้ แสดงว่าไม่ได้มีแค่พวกเราที่บ้ามาเที่ยวในช่วงที่อินเดียร้อนเป็นไฟขนาดนี้

            เราขึ้นฝั่งที่ท่าอัศวเมธที่เดิม และเข้าไปกินอาหารเช้า รสพระทำ ที่หอเสน ในมหาวิทยาลัยพาราณสีตามคำเชิญของพระอาจารย์นิเวศ(ซึ่งขาเจ็บเลยไม่ได้ออกมานำคณะเราท่องพาราณสีเหมือนคราวก่อน) และพระอาจารย์ชาญชัย หอเสนเป็นหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพาราณสีที่ให้พระสงฆ์นักศึกษาพักอยู่ขณะมาเรียนต่อ พระต้องมีเวร(วาระ) ทำกับข้าว ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว เหมือนเด็กนักเรียนที่ต้องแบ่งหน้าที่กัน เช้านี้พระอาจารย์เลี้ยงกาแฟ(จากซองสำเร็จรูป 3 in 1) และขนมปังทาแย้ม แล้วตบท้ายด้วยข้าวต้ม ส่วนมื้อกลางวันเราก็ยังได้กินอาหารรสพระทำอยู่ แต่เป็นเมนูอะไร ต้องรอดูกัน ที่แน่ๆ คือมีแตงโมด้วย เพราะบ่นอยากกินมาหลายวัน เวลานั่งรถผ่านในแต่ละเมือง แต่ยังไม่ได้กินซักที ความจริงเราก็แค่อยากรู้ว่ารสชาติจะเหมือนกับแตงโมบ้านเรามั้ยเท่านั้นเอง แล้วเวลาร้อนๆ ได้กินแตงโมน่าจะชื่นใจดี ความอยากนี้เลยส่งข่าวไปถึงพระอาจารย์ท่านเลยกรุณาจัดให้ซะเลย

 

     

            วันนี้พวกเรามีเวลาทั้งวันกว่าจะถึงเวลารถไฟออกจากพาราณสีไปกัลกัตตา เพื่อขึ้นเครื่องกลับบ้าน ระหว่างรอเวลาอาหารกลางวัน ไกด์ท้องถิ่นคือน้อย ซึ่งเรียนปริญญาเอกอยู่ที่นี่ เลยพาพวกเราไปขี่จักรยานชมรอบๆ มหาวิทยาลัยพาราณสี ทั้งที่แดดก็ร้อนนะ แต่ก็ดีกว่าอยู่ป่าวๆ ได้แวะไปที่วัดฮินดูที่อยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย ออกจากวัดเราก็ไปนั่งกินลาสซี่กัน ตบท้ายระหว่างทางที่จะกลับหอเสนด้วยแตงงู รสชาติเหมือนแตงกวาปกติ แต่รูปลักษณะเล็กๆ ยาวๆ เหมือนงูจริงๆ เลย อร่อยดีเหมือนกันนะ ที่อินเดียขายแตงกวาลูกใหญ่ๆ เหมือนแตงล้านบ้านเรา ปลอกเปลือกให้เรียบร้อย แถมทาด้วยผงเครื่องเทศที่เค้าเรียกกันว่ามาสซาร่า ขายกันเหมือนพวกรถเข็นขายผลไม้เลย แขกเค้าก็ซื้อกินกันเป็นชิ้นๆ เหมือนกินผลไม้ พวกตระกูลแตงเป็นผลไม้ดับร้อนของแขกเค้า ที่มีขายทั่วไปในฤดูนี้ แต่เราไม่ได้ลองกินแตงกวาแบบที่เค้าทาเครื่องเทศขายนะ ยังไม่กล้าลอง เพราะเห็นจากสภาพรถเข็นและคนขายที่ใช้มือปลอก รวมทั้งเครื่องเทศที่ทาซึ่งไม่แน่ใจว่าอะไรแล้ว ไม่กล้าเสี่ยง ได้กินแต่แตงกวากินกับน้ำพริกที่วัดแบบไทยๆ นั่นแหละ

 

   

             10 โมงได้ เรากลับมาถึงหอเสนกัน น้อยบอกว่าถ้าไม่ใช่ VIP อย่างพวกเรา ไม่พาออกไปขี่จักรยานหรอกนะ เพราะร้อนมากๆ เราก็เลยตอบไปว่า ก็กล้าชวน ก็เลยกล้าไป จริงๆ ก็ร้อนจะแย่เหมือนกัน ซะงั้น ก็ถ้าคุยกันแต่แรกก็คงไม่ต้องออกไปปั่นจักรยานเพิ่มดีกรีความร้อนกันนะ นั่งพักให้หายเหนื่อย รอกินข้าวตอนเพล พร้อมๆ กับพระทั้งหอ ซึ่งเป็นเวลาเดียวที่พระจะลงมาอยู่รวมกันและพระที่นี่ฉันท์อาหารมื้อเดียวคือมื้อกลางวันนี้แหละ มื้อเช้าก็ฉันท์แค่กาแฟ ขนมปังนิดหน่อย ยิ่งร้อนๆ อย่างนี้ ยิ่งฉันท์ไม่ค่อยลง และสรุปว่าเมนูอาหารกลางวันคือแกงส้มแตงโมอ่อน มีปลาสลิดเค็มทอด ไข่เจียวและแตงโมแดงๆ เป็นของหวาน(ได้กินสมใจอยาก) พระอาจารย์เปิดตู้เย็นให้ดูปริมาณแตงโมที่จัดให้ แค่เห็นก็แทบหายอยากแล้ว สุดท้ายเลยโดนพระอาจารย์เรียกว่าน้องแตงโมไม่น่าเลยเรา ทีหลังจะร้องกินเชอร์รี่ หรือเบอร์รี่แทน จะได้มีชื่อเก๋ๆ แทนแตงโม

            หลังอาหารกลางวัน เราออกจากหอเสนไปที่บ้านราชู เพื่อเจรจาธุรกิจนิดหน่อย ได้รับการต้อนรับด้วยน้ำมะม่วงเช่นเคย ตามมาด้วยน้ำส้ม แล้วตามมาด้วยลาสซี่อีกหนึ่ง แบบว่าถ้ายังอยู่ต่อก็จะมีมาเรื่อยๆ ก่อนจะกลับเราเลยแลกเงินไทยเป็นรูปีจากราชูเพิ่ม ได้เลท 100 บาทแลกได้ 115 รูปี ส่วนดอลล่าร์แลกได้เลท 40.5 รูปี ช่วงนี้ค่าเงินเราโอเคนะ พอเสร็จธุระเราออกจากบ้านราชูพร้อมของฝากจากลักษมี เป็นผ้าคลุมไหล่ไหมพรมหนานุ่มแบบที่เห็นแล้วร้องว้าย เพราะอากาศร้อนแทบจะละลาย แต่ลักษมีบอกว่าจะได้ใช้เวลาที่ไปถึงดาร์จีลิ่ง เพราะครอบครัวเค้าเพิ่งไปมา อากาศเย็นทีเดียว และมีฝนตกด้วย นี่แหละนะ เราถึงต้องเตรียมเสื้อผ้าและของใช้สำหรับ 3 ฤดูในอินเดียสำหรับการเดินทางครั้งนี้

            เราออกจากบ้านราชูเกือบบ่าย 2 โมง แล้วเลยไปดูของที่ระลึกแถวหน้าธัมเมกสถูปครู่หนึ่ง ได้สิงโตหินแกะสลัก และเชิงเทียนหินแกะสลักมาอย่างละคู่ สบายใจได้เสียตังค์แล้ว กลับเข้าไปอาบน้ำและเก็บของที่วัดกันได้ กราบนมัสการลาพระอาจารย์มังคลิโกพร้อมทำบุญเรียบร้อย ก็เข้าไปรับพระอาจารย์ชาญชัยกับน้อยที่หอเสน พระอาจารย์จะพาไปเที่ยวก่อนส่งขึ้นรถไฟไปกัลกัตตา

 

              ออกจากหอเสนประมาณบ่าย 3 โมงกว่าๆ มุ่งหน้าสู่รามนคร พระราชวังเก่าซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ด้านในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของใช้ในราชสำนักมากมาย สวยแปลกตาดี แต่ที่แปลกกว่าคือเจ้าหน้าที่ในจุดต่างๆ นี่แหละ แบบว่าขอตังค์ตลอดเลย อย่าได้ถามอะไรเค้าเชียว เสียตังค์แน่ๆ แต่จะไม่ให้ก็ได้นะ เพราะมันเป็นหน้าที่ของเค้าอยู่แล้ว เค้าก็ขอไปตามระเบียบมั้ง แต่มีคนหนึ่งแปลกกว่าคนอื่น เค้าไม่ได้ขอตังค์แต่เค้าขอยาหม่อง ต้องเป็นตราลิงถือลูกท้อด้วยนะถึงจะดี เพราะเค้านับถือหนุมานเป็นพระเจ้า เรียกว่ายาหม่อมตราหนุมานเนี่ยเป็นใบเบิกทางได้อย่างดีเลยแหละ พระอาจารย์ชอบเอาไปแจกแขกยามแขกเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างสัมพันธไมตรี เวลาเค้าเจอพระสงฆ์เค้าถึงได้พูดคุยเจรจาด้วยดี จะจำไว้เลย คราวหน้าถ้ามาจะซื้อยาหม่องตราลิงถือลูกท้อมาด้วยสัก 2 โหล ไว้สร้างฐานอิทธิพลสักหน่อย

            เดินชมพิพิธภัณฑ์และถ่ายรูปพระราชวังด้านนอกเรียบร้อย เราก็ออกมาแถวตลาดที่ติดกับรามนคร เพื่อชิมลาสซี่ 2,000 ปีกัน เค้าบอกว่าเป็นร้านเก่าแก่ที่ขายมานานมาก ต้องลองให้ได้ คนเยอะมากๆ ทั้งที่รออยู่ในร้านและที่ยืนรออยู่ด้านนอก ท่าทางจะเจ๋งจริงตามคำล่ำลือ และสุดท้ายเราก็ได้กินลาสซี่ตำนาน 2,000 ปีแห่งรามนคร แต่หวานจังเลย กินมา 2 3 ที่รวมที่นี่ รสชาติไม่เหมือนกันสักที่ ออกเปรี้ยวบ้าง หวานน้อยบ้างมากบ้าง คงแล้วแต่สูตรใครสูตรมัน แต่ที่ร้านนี้เป็นชื่นชอบคงเพราะแขกชอบกินหวาน เพราะร้านนี้หวานกว่าที่อื่นที่ได้ชิม แต่สำหรับเรามันหวานเกินไปหน่อย ลาสซี่เป็นที่นิยมกินกันในหน้าร้อน เพราะจะเย็นๆ กินเข้าไปแล้วจะช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ทำจากนม ตัวเนื้อที่เรียกว่า เคิร์ท จริงๆ แล้วเปรี้ยวมาก เค้าจะตักเนื้อเคิร์ทมาเป็นก้อนๆ แล้วใส่หม้อ ใส่น้ำตาล ใส่น้ำแข็งเล็กน้อย แล้วตีให้เข้ากัน ลอยหน้าด้วยเนื้อเคิร์ทหน่อย หรือน้ำตาลทรายแดง อย่างที่ร้านตำนานสองพันปีร้านนี้ หรือไม่ก็แล้วแต่สูตร อาจมีอีกหลายรูปแบบที่เรายังไม่เคยลอง อย่างลาสซี่ที่ผสมผลไม้ เสียดายที่ไม่ได้ลอง ไม่รู้ว่ารสชาติจะแตกต่างกันยังไง แต่ก็น่าจะโอเคนะ ไว้ค่อยหาโอกาสลองอีกที แต่วันนี้เรากินลาสซี่ไป 3 แก้วแล้วนะ เค้าบอกว่ากินได้วันละแก้วทุกวันจะดีต่อร่างกาย แต่กินมากไปจะเป็นไรมั้ยเนี่ย

 

     

  

             นอกจากลาสซี่แล้ว แบงค์ยังได้ลองกินหมากด้วย ตามคำชักชวนของพระอาจารย์ชาญชัย เพราะท่านกินหมากตลอดเลย เคี้ยวได้พักหนึ่งก็ต้องคายทิ้ง เพราะบ่วนน้ำหมากไม่เป็น ส่วนเราไม่ขอลอง รู้ตัวว่าไม่สามารถแน่ๆ ส่วนลูกพี่เรางานนี้มาซ่อมบำรุงรองเท้าคู่ใจถึงอินเดียเชียว เพราะอยู่ๆ มันก็ป่วย เจอลุงซ่อมรองเท้าอยู่แถวหน้ารามนคร กำลังซ่อมรองเท้าแตะที่หูขาดให้ชาวบ้านอยู่ ซ่อมให้ฟรีด้วยนะ น่ารักจริงๆ ส่วนรองเท้าของลูกพี่ถึงขั้นต้องเย็บ แล้วลุงแกก็เย็บอย่างมืออาชีพเป็นเส้นตรงทีเดียว ราคาค่าซ่อมบำรุง 5 รูปี ถูกมาก ถ้าเป็นที่เมืองไทยก็คงจะหลายสิบบาทนะ แต่ที่นี่อินเดียน่ะ รองเท้าแตะหูหนีบธรรมดาเค้ายังซ่อมกันเลย มีหูอะไหล่เอาไว้เปลี่ยน ชีวิตพอเพียงของแท้ สำหรับเรื่องความพอเพียง อินเดียเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ แม้จะขยันขอไปหน่อย แต่ถ้าเราไม่ให้เค้าก็ไม่ได้ว่าไร ขอไปตามอาชีพ ถึงจะตามตือจนน่ารำคาญก็เถอะ เกิดมาเป็นจันทานก็ยอมรับในการความเป็นจันทาน แล้วก็ประกอบอาชีพขอทานไปเรื่อยๆ คนวรรณะอื่นๆ ก็ต่างคนต่างประกอบอาชีพของตัวเองไป ใช้จ่ายอย่างพอเพียง

            เสร็จภารกิจพิชิตลาสซี่ตำนาน 2 พันปีแล้ว เราก็ออกเดินทางไปสถานีรถไฟพาราณสี เพื่อจะนั่งรถไฟตู้นอนชั้น 2 ไปกัลกัตตา ตามเวลารถไฟจะออก 20.45 น. แต่ข่าวว่ารถจะช้านะ พวกเรามาถึงกันเร็วด้วย ก็เลยออกไปเดินชมตลาดแถวนี้กัน และหาซื้อแม่กุญแจแบบแขกที่อยากได้ แต่ไม่มีแบบที่ต้องการนะ เดินเล่นสักพักก็กลับเข้ามาที่สถานี หาอาหารเย็นกินก่อนจะขึ้นรถ แล้วก็นั่งรอรถไฟอยู่ที่ร้านในสถานีนั่นแหละ อาหารในสถานีรถไฟก็แค่กินได้ แค่พอใช้แก้หิว เพราะมันเลี่ยน สงสัยกินอาหารแขกหลายมื้อเกินไปแล้ว เริ่มไม่อยากจะกิน แค่ได้กลิ่นก็เบื่อแล้ว ว่าแล้วก็กินโค้กหวานๆ เย็นๆ กันดีกว่า

            นั่งคุยกันอยู่พักใหญ่ พอรถไฟเข้าเทียบชานชลา เราก็นมัสการลาพระอาจารย์กัน น้อยขึ้นไปส่งพวกเราถึงบนรถไฟ ช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลความเรียบร้อยทุกอย่าง นี่แหละน้ำใจคนไทย โดยเฉพาะคนที่อยู่ไกลบ้าน เวลาได้เจอคนบ้านเดียวกันคงรู้สึกดี ช่วยอะไรได้ก็เลยอยากช่วย ขอบใจน้อยมากๆ เลย มาคราวหน้าจะซื้อขนมจากเมืองไทยมาฝากนะ พวกเราได้ขึ้นรถกันตั้งแต่ประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง แต่กว่ารถจะออกก็ประมาณ 3 ทุ่มครึ่งกว่า พอจัดการเก็บสัมภาระและทำภารกิจส่วนตัวกันเรียบร้อย ก็นอนเอาแรงกันให้เต็มที่ หลังจากนอนร้อนๆ กันมาหลายวัน วันนี้ได้นอนในแอร์เย็นฉ่ำซะที แต่ก็ยังมีคนที่แทบไม่ได้นอนอยู่ดีนะ คือนายแบงค์ ไม่รู้ว่าเพราะลองอาหารแขกมากไปหน่อย หรือเพราะกินลาสซี่เยอะไป หรือว่าเพราะอาหารมื้อเย็นก่อนขึ้นรถไฟ ทำให้ท้องเสียหมดเรี่ยวหมดแรง แทบไม่ได้หลับได้นอน ไม่น่าเลยจะปิดทริปแบบสมบูรณ์แบบอยู่แล้วเชียว กลายเป็นเข็ดอาหารแขกไปเลยน้อง

 

 

 

วันที่ 8   วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2550       

กัลกัตตา (Kolkata)

 

            เราถึงสถานี HOWRAH ประมาณ 8 โมงเช้า รถมารับเข้าไปที่พัก คราวนี้เป็นรถโตโยต้า รุ่น INOVA อย่างหรู แอร์เย็นฉ่ำ เบาะนุ่มนั่งสบายทีเดียว เมืองนี้อากาศก็ไม่ร้อนเท่าเมืองที่ผ่านๆ มาตอนไปไหว้พระ อากาศจะคล้ายๆ กับบ้านเรา ฟ้ามีเมฆ ลมพัดก็เย็น ไม่ใช่ลมร้อนๆ อาจเพราะว่าเมืองนี้มีฝนตกมาบ้างแล้วด้วย เราพักที่เกสเฮาส์เล็กๆ ชื่อ CASA SALT LAKE ถึงจะเล็กแต่ก็ดูดีน่าอยู่ บริการใช้ได้ เตรียมอาหารเช้าให้พวกเราเป็นไข่เจียว ขนมปัง พร้อมเนยและแย้ม ชาร้อนและน้ำส้ม ค่อยได้พักท้องจากอาหารแขกหน่อย หลังจากกินเสร็จเราก็แยกย้ายกันพักผ่อน โดยเฉพาะแบงค์ที่เสียพลังงานกับการท้องเสียไปเยอะ เลยให้นอนพักแบบเต็มที่ ดีขึ้นแล้วบ่ายๆ ค่อยออกไปท่องเที่ยวเมืองกัลกัตตากัน

 

   

             ล้อหมุนออกจากบ้านพักประมาณบ่าย 2 โมง ไปหาข้าวกลางวันกินกันก่อน เพราะกินข้าวเช้าตอนสายแล้ว เลยกินข้าวกลางวันช้าหน่อย พอบอกว่าไม่เอาอาหารแขก เราก็เลยได้กินอาหารจีนร้านเดิม ร้านแรกที่ได้ตั้งแต่มื้อแรกที่มาถึง แต่คราวนี้เราขอสั่งเอง เพราะคราวก่อนผู้ช่วยเราคงสั่งแบบเป็นชุดซึ่งเยอะมาก กินกันไม่หมดสักอย่าง กระเพาะพวกเราคงเล็กกว่าแขกเยอมั้ง เลยเลือกกับข้าวแค่ 2 อย่าง ซุปคนละถ้วย และข้าวเปล่าคนละจาน แต่สรุปสุดท้ายพวกเราก็กินกันไม่หมดอยู่ดี

 

   

  

            ท้องอิ่มแล้ว เราก็มีแรงไปเดินช็อปปิ้งกัน แบงค์กะว่าจะหาซื้อพระพิฆเนตรไปบูชาสักองค์ แต่สรุปว่าไม่ได้ เพราะราคาของที่นี่สูงมากๆ สูงจนน่าตกใจเลย เช็คได้จากราคาของหลายๆ อย่างที่เราเคยถามจากที่อื่น ราคาสูงกว่าเป็นหลายเท่า โดยเฉพาะพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทรายองค์เล็กๆ ที่มีขายอยู่แถวสารนาถในราคาไม่กี่รูปี แต่เค้าบอกราคาเรา 1,250 รูปี ฟังแล้วตกใจคิดว่าเราหูฝาด ฟังผิดหรือเปล่าเนี่ย แถมยังมาถามพวกเราอีกนะว่ารู้จักมั้ยว่านี่อะไร ดูถูกกันอย่างแรง แขกคงคิดว่านักท่องเที่ยวอย่างเราโง่มากมั้ง ถึงได้คิดจะหลอกฟันกันขนาดนี้ สุดท้ายพวกเราก็ไม่ได้พระพิฆเนตรและพุทธรูปใดๆ แต่มาสะดุดที่ร้านหนึ่งซึ่งมีพระพิฆเนตรปางที่เราต้องการ เป็นปางที่ได้ทราบจากชาวอินเดียว่าดีมากดีที่สุดสำหรับใช้บูชาตามบ้านทั่วไป คือพระหัตถ์หนึ่งประทานพร เพื่อความสุขสงบร่มเย็น พระหัตถ์หนึ่งถือส้มหรืออาหาร ให้มีอาหารบริบูรณ์ พระหัตถ์หนึ่งถืองู ให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายและพิษร้าย อีกพระหัตถ์ถือตรีหรือขวานหรืออาวุธอื่น ให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากศาสตราวุธ ถึงจะครบสูตรตามที่ตามหา แต่ก็สู้ราคาไม่ไหว เลยได้นาฬิกาหน้าตาเก๋ๆ ที่เป็นเหมือนลูกแก้วใสๆ ต้องปรับองศาและวางมุมให้เหมาะถึงจะมองเห็นเลข อีกด้านของลูกแก้วจะเห็นกลไกการทำงานของนาฬิกา แต่กันอยู่นานกว่าจะได้มา แล้วก็ได้นาฬิกาทรายสุดคลาสสิคมาอีกหนึ่ง ไม่น่าปิ้งของแพงเลยเรา กระเป๋าเบาไปเยอะ แต่แบบว่าชอบเป็นการส่วนตัวน่ะ

 

 

   

             แถวที่เรามาเดินช็อปปิ้งกันเรียกว่าย่านชอร์ริงฮี มีของขายมากมาย แต่ที่เราอยากได้เป็นพวกของพื้นเมือง แปลกๆ เก๋ๆ ที่ดูเป็นเอกลักษณ์ของอินเดีย แต่ที่นี่มีแต่เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ ของใช้สมัยใหม่ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของเราเลย เดินกันอยู่พักใหญ่ ก็ไม่ได้อะไรเพิ่มนอกจากกุญแจแปลกๆ อันเล็กๆ หนึ่งและฝรั่งแขกครึ่งกิโล พวกเราเลยให้ผู้ช่วยพาไปที่อื่นบ้าง เผื่อจะได้ของสมใจ แต่กลายเป็นของที่ได้คือลายเฮนน่าบนมือของพี่ปลาแทน ด้วยฝีมือของศิลปินข้างถนนที่ยังดูเด็กๆ อยู่เลย แต่ลีลาการเขียนลายมืออาชีพมากๆ ดูคล่องแคล่ว และลายออกมาอ่อนช้อยสวยดี สนนราคาก็ขึ้นอยู่กับลายที่เลือก ลายที่พี่ปลาทำราคาข้างละ 100 รูปี ซึ่งถ้าไม่คิดมากก็ถือว่าคุ้มนะสำหรับงานศิลปะ

            เราให้ผู้ช่วยพาออกไปหาที่เดินเล่นต่อ คนขับรถซึ่งเป็นคนพื้นที่บอกว่ามีอีกที่หนึ่งแต่มันจะแพงกว่าแถวนี้อีก พอไปถึงด้านหน้าเราก็เข้าใจได้ทันทีว่ามันคือห้างสรรพสินค้า เทียบกับราคาร้านริมถนนก็น่าจะแพงกว่าอยู่นะ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้เข้าไปเดินดูอะไรเลย เพราะใช้เวลาอยู่ในร้านโทรศัพท์ของ Airtel นานไปหน่อย เพื่อตั้งค่าการใช้ GPRS ในโทรศัพท์ Pocket PC ให้เช็คเมลเช็คเว็ปได้ทุกที่ จะได้อัพเดทข้อมูลได้ในช่วงที่อยู่อินเดีย แต่มันก็ไม่ง่ายเหมือนซื้อโทรศัพท์บ้านเรา เบอร์ที่ผู้ช่วยไปซื้อมาให้ตอนอยู่คยา ก็ไม่สามารถใช้ต่อ GPRS ได้ แถมซื้อมาแพงกว่าราคาซิมใหม่ที่เค้าขายในร้านตั้ง 2 เท่า อย่าว่าแต่เราจะโดนแขกหลอกเลย แขกก็หลอกแขกเหมือนกัน สุดท้ายเราเลยซื้อซิมใหม่ แล้วก็ต้องเติมเงิน แล้วถึงจะตั้งค่า GPRS ในเครื่องได้ แต่ยังไม่ทันเสร็จร้านก็ปิดซะก่อน เจ้าหน้าที่เค้าบอกให้มาใหม่พรุ่งนี้ ดีนะที่พรุ่งนี้เราต้องอยู่ที่นี่อีกวันอยู่แล้ว เพื่อส่งแบงค์ขึ้นเครื่องกลับสุวรรณภูมิตอนกลางวัน และรอรับพลอยลูกทัวร์คนที่สองที่จะตามมาเที่ยวในทริปดาร์จีลิ่ง-สิกขิมในตอนค่ำ เบื่อแขกจริงๆ ทุกอย่างล้วนต้องรอ

            ออกจากร้าน Airtel ก็ 3 ทุ่มกว่าแล้ว ได้เวลาอาหารเย็นของพวกเรา มื้อนี้ก็ยังเป็นอาหารจีนอยู่ แต่ไม่ใช่ร้านเดิมนะ คราวนี้สั่งแค่ 2 อย่าง ผัดหมี่กับไก่ผัดเผ็ด แต่ก็ยังกินกันไม่หมดตามเคยแต่เหลือแค่นิดหน่อยนะ แขกคงสงสัยว่าทำไมสั่งแค่นี้ มาตั้ง 3 คน และคงสงสัยมากกว่าว่าทำไมแค่นี้กินไม่หมด ก็มันเบื่อๆ เลี่ยนๆ หรือเพราะวันนี้ไม่ค่อยได้ใช้พลังงานก็ไม่รู้นะ ไม่มีความร้อนมาช่วยละลายไขมันให้เหงื่อตกมั้ง

            หลังจากมื้ออาหารพวกเราก็กลับเข้าที่พัก และพักผ่อนเอาแรง พรุ่งนี้ต้องออกไปส่งแบงค์ Check in แต่เช้า

 

 

 

วันที่ 9   วันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2550     

กัลกัตตา (Kolkata) - สุวรรณภูมิ

            ลงมากินข้าวกันตั้งแต่ 6 โมงเช้าตามเวลานัดหมาย ต้องออกจากบ้าน 6 โมงครึ่งไป Check in ที่สนามบิน ไปถึงก็เจอหมู่มิตรคณะผู้แสวงบุญของหลวงพ่อบุญส่งอยู่ที่สนามบินแล้ว กำลังรอ Check in เหมือนกัน แต่เที่ยวกลับนี้เจอ Flight delay นานทีเดียว จากที่เที่ยวมาทุกอย่างตรงเวลาจนน่าแปลกใจ หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ จน Check in เรียบร้อย เราก็เลยฝากแบงค์ไปกับคณะหลวงพ่อบุญส่ง ค่อยอุ่นใจหน่อยที่น้องไม่ต้องเดินทางคนเดียว โชคดีนะน้องชาย หวังว่าทริปนี้น้องจะได้สมใจหวังทุกประการนะ ได้ไปในทุกที่ที่อยากไป และแถมอีกหลายๆ ที่ซึ่งไม่ได้อยู่ในความคาดหมาย ถึงจะลำบากกับเรื่องอากาศและการเดินทางในบางช่วงไปบ้าง แต่ก็ครบรสจริงๆ นี่แหละอินเดีย เป็นอีกทริปหรรษาและหฤโหดของพวกเรา หวังว่าน้องคงประทับใจ แล้วกลับไปเจอกันที่กรุงเทพฯ นะ

 

 

            แล้วทริปแรกในโปรแกรมการเดินทางครั้งนี้ก็ลุล่วงไปด้วยดี แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่เราเคยมาสัมผัสแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ก็มีอะไรอีกหลายอย่างที่แตกต่างไป ได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสกับอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอ อย่างหนึ่งที่ได้รู้คือฤดูกาลนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อความศรัทธา ไม่ว่าจะร้อน จะฝนหรือจะหนาว เส้นทางนี้ไม่มีร้อน(ใจ) จริงๆ แล้วเส้นทางที่สองที่เรากำลังจะไปต่อล่ะ จะเป็นยังไงนะ พรุ่งนี้เราก็จะได้รู้กัน

            ออกจากสนามบิน เรากลับไปที่ร้านโทรศัพท์อีกที เพื่อเซทโทรศัพท์ให้สามารถใช้เช็คเมลและเล่นเน็ตได้ แล้วก็บรรลุเป้าหมายดังประสงค์ ถึงจะต้องนั่งรอแขกเข้าทำงานสายไปหน่อย คราวนี้เราก็จะเข้าบ้าน วันแรมทาง ได้จากทุกที่แล้ว ดีจัง

            เสร็จภารกิจ เรากลับเข้าไปเก็บของที่บ้านพัก Check out ตอนเที่ยงเรียบร้อย แล้วก็ไปหาอะไรกินที่ร้านแม็คโดนัล รอเวลานัดหมายกับเพื่อนพี่ปลาที่เป็นเชฟ อยู่ที่เมืองนี้ ซึ่งกว่าจะตามหาตัวเจอได้ต้องติดต่อไปหลายที่ ยังดีที่เชฟไทยที่อยู่แต่ละที่เค้าจะรู้จักกันหมด เลยให้เบอร์ต่อๆ กันมาจนเจอตัว พวกเรานัดกันที่ The Park Hotel บ่าย 3 โมง แขกเค้ากินข้าวกันบ่ายน่ะ แต่เราหิวแล้วเลยต้องไปแวะกินอะไรที่แม็คฯ ก่อน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่พลาดมากๆ เพราะเบอร์เกอร์ตัดกำลังไปเยอะ พอเจอกับพี่นัท เพื่อนรุ่นน้องของพี่ปลา เค้าก็พาไปกินข้าวที่ร้าน Bar B.Q. ซึ่งเป็นมื้อที่อร่อยมากๆ แต่กินได้แค่พอประมาณ เสียดายจัง

            จริงๆ เดินจากร้านแม็คฯ ห่างมาแค่ประมาณ 3-4 คูหาก็ถึง The Part แล้ว แต่เราไม่รู้ คนขับก็ไม่ได้บอกอะไร คุณผู้ช่วยของเราก็ขออนุญาตกลับไปแล้ว เพราะรถไฟจะออกตอนบ่าย คนรถก็เลยพาเราไปวนเสีย 10 กว่านาที เพราะเป็นทาง One way เออ... ให้มันได้อย่างนี้ซิ เค้าคงไม่รู้จะบอกเรายังไงมั้ง หรือไม่ก็คงคิดว่าต้องบริการเราทุกอย่างตามที่เราสั่ง จะไปไหนก็ต้องไปส่งน่ะ

            บ่าย 4 โมงครึ่ง เราต้องออกไปที่สนามบินเพื่อรับน้องพลอย เพราะรู้มาแล้วว่าเครื่องจะดีเลย์ประมาณ 1-2 ชั่วโมงแน่ๆ จากเวลาเดิมที่ควรมาถึง 15.30 น. พอไปถึงสนามบิน ตารางเวลาขึ้นว่าเครื่องจะถึง 18.30 น. สรุปว่าดีเลย์ไป 3 ชั่วโมง โปรแกรมที่คิดไว้ว่าถ้าเครื่องมาถึงสักบ่าย 3 โมงครึ่ง ออกจากสนามบินสักบ่าย 4 โมงกว่าๆ เราก็จะไปที่ Victoria Garden เดินชมสวนแล้วก็อาจได้ดูแสงสีเสียงด้วย เพื่อรอเวลาขึ้นรถไฟตอน 22.05 น. ก็เลยเป็นอันล่มไปทั้งหมด พอพลอยมาถึงเราก็จะเข้าสู่โปรแกรมการเดินทางในทริปที่สองกันต่อเลย ดาร์จีลิ่ง สิกขิม

 

 

ใครสนใจจะไปตามรอยกับเรา ติดต่อได้ที่นี่ "วันแรมทาง"

 

 

 แสดงความคิดเห็น
ติชมบทความ คลิ้กที่นี่ค่ะ

 

 




บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang