ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ (บทที่ 5)
ReadyPlanet.com
dot dot
ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ (บทที่ 5)
   
สร้างสรรค์การเดินทางโดย..
  วันแรมทาง wanramtang
  Adventure Explorer
 
เรื่องโดย:  ชนิตา กัลยาณมิตร
ภาพโดย:  สาริศา ชาวบ้านเกาะ
   
บันทึกแรมทาง
ตอน:    ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
  
ทริป สปิติวัลเล่ย์
รัฐหิมาจัลประเทศ ประเทศอินเดีย
1-17 กันยายน 2566
 
- บทที่ 5 -
จาก ซาราฮาน ไป ซังลา
 
ขอย้อนกลับไปเล่าก่อนว่า ทริปเดินทางของเรา จะอยู่ในรัฐหิมาจัลประเทศ แค่รัฐเดียว “หุบเขาสปิติวัลเลย์” ที่เราจะไปเที่ยวกัน อยู่ในเขตอำเภอ Lahaul and Spiti District ระหว่างเส้นทางท่องเที่ยวของเราต้องผ่านพื้นที่ต่างๆ รวมทั้ง Shimla , Kinnaur ไปจนถึง Manali เราไปกันหลายวันแต่ก็จะอยู่ในรัฐเดียวกัน
 
 
ซาราฮาน ห่างจากซิมลาประมาณ 180 กม. เป็นเมืองเล็กๆบนยอดเขาสูง ที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของ แคว้นบุชาหร์ (Bushahr) ในอดีตมีกษัตริย์หรือเจ้าเมืองเป็นผู้ครองเมือง ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหิมาจัลประเทศ
 
อุณหภูมิยามเช้าที่ซาราฮาน ไม่ค่อยต่างจากซิมลาเท่าไรนัก อากาศเย็นสบายๆในตอนเช้าตรู่ หลังจากกินอาหารเช้าเสร็จ พวกเราเดินไปเที่ยววัดฮินดู วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า วัดภิมากาลี (Bhima Kali Temple)
 
 
มีวัดฮินดูมากมายที่มีความวิจิตรงดงาม กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในรัฐหิมาจัลประเทศ รัฐนี้จึงได้รับสมญานามว่าเป็น “ดินแดนแห่งเทพเจ้า” เป็น ที่พำนักของเหล่าทวยเทพ
 
ที่เมืองซาราฮาน นี้ก็เช่นกัน วัดภิมากาลี แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชวังของราชวงศ์ บุชาห์ร (Bushahr) ภายในมีวิหารที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระแม่ภิมากาลี (หรือพระแม่กาลี) ซึ่งเป็นเทพประธานของกษัตริย์ผู้ครองเมืองแห่งนี้ในอดีต
 
ซาราฮานคือเมืองแห่งการแสวงบุญ วิถีชีวิตผู้คนหมุนรอบเทพเจ้า และมีความผูกพันกับวัดมาก
 
ระดับความสูง 2165 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซาราฮานถูกปกคลุมไปด้วยป่าสนหนาทึบ และไม่สามารถมองเห็นได้จากถนนด้านล่าง แต่เมื่อเรามาถึงที่นี่ เราจะเห็นสวนแอปเปิ้ลมากมาย ภูเขาที่ปกคลุมด้วยต้นสนใหญ่ และ วัดภิมากาลี ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเป็นหัวใจของเมือง
 
 
เชื่อกันว่า วัดภิมากาลี มีอายุประมาณ 800 ปี มีสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะฮินดูและพุทธได้อย่างน่าทึ่ง ลักษณะที่ไม่ธรรมดาอย่างหนึ่งคือการมี “วิหารหอคอยคู่” ซึ่งปกติในรัฐหิมาจัลประเทศ เราจะพบวิหารหรือหอคอยสูงเด่นได้โดยทั่วไป แต่จะเป็นหอคอยเดี่ยวๆ หอคอยคู่สองหลังในวัดเดียวกันจะเห็นได้ที่นี่เท่านั้น
 
นอกเหนือจากอาคารหอคอยคู่แล้ว จุดเด่นของวัดนี้คือ การแกะสลักไม้อย่างวิจิตรงดงามทั่วทั้งบริเวณ ไม่ว่าจะเป็น รูปเคารพของเทพเจ้าและเทพธิดาต่างๆ ทั้งบานประตูหน้าต่าง และราวระเบียง รวมถึงประตูเงินบานใหญ่ที่ทำลวดลายเป็นรูปเทพต่างๆงดงามยิ่ง
 
ตอนที่เราเดินเข้าไปในวัด เจ้าหน้าที่จะให้ถอดรองเท้าและถุงเท้า และต้องสวมหมวกหรือผ้าคลุมศรีษะ ภายในบริเวณรอบๆวัดอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ แต่ภายในวิหารหอคอยใหญ่ ไม่ให้ถ่ายรูปด้านใน ไม่อนุญาตให้ถือกระเป๋า กล้อง และมือถือเข้าไปในอาคาร แต่เขาจะมีล็อคเกอร์ให้เราเก็บของ มีกุญแจล็อคให้ ปลอดภัยหายห่วง

ใครลืมหมวก ทางวัดมีให้ยืม แต่ว่า... มันเหม็นมาก

เมื่อเราหันหน้าเข้าวัด จะเห็นอาคารหอคอยคู่ขนาดใหญ่ อาคารด้านซ้ายมือ ประดิษฐาน "พระแม่ภีมากาลี" อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าไปกราบไหว้บูชาได้ มีพราหมณ์คอยทำพิธีให้ด้านในวิหาร ส่วนอาคารด้านขวามือ ไม่อนุญาตให้เข้า

ไกด์บอกว่า อาคารด้านขวามือของเรา จะเปิดและใช้ทำพิธีกรรมปีละครั้ง โดยมีพราหมณ์และกษัตริย์หรือเจ้าผู้เคยปกครองแคว้นเป็นผู้มาทำพิธี ปัจจุบันเชื้อสายกษัตริย์ยังคงมีอยู่ แต่ไม่มีอำนาจการปกครองใดๆ
 

ส่วนสาเหตุที่เราต้องถอดรองเท้าและถุงเท้านั้น ก็เพื่อให้เท้าของเราได้สัมผัสถึงอำนาจมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์ได้สวดมนต์อยู่ทุกวันเป็นเวลาหลายร้อยปี มนตราร่วงหล่นอยู่บนพื้น รองเท้าและถุงเท้าเป็นสิ่งสกปรก จะขวางกั้นมิให้เราได้สัมผัสพลังดีๆจากแผ่นหินที่ปูอยู่โดยรอบลานวัด

สาเหตุที่ต้องใส่หมวก หรือผ้าคลุมศรีษะ ไกด์อธิบายว่า พระแม่กาลีเวลาปราบอสูร จะดุร้าย โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ผมเผ้ารุงรัง การที่เรามีหมวกหรือผ้าคลุม จะทำให้เราดูสงบ อ่อนน้อม ไม่เกรี้ยวกราด การเข้าวัดกราบไหว้บูชาพระแม่กาลี ที่วัดนี้จึงมีความเชื่อเรื่องต้องสวมหมวกทั้งชายและหญิง

 
เที่ยวชมวัดกันเต็มอิ่ม ก็ขึ้นรถออกเดินทางต่อ มุ่งหน้าสู่เมืองซังลา (Sangla) ระยะทางประมาณ 4 ชั่วโมง

ระหว่างทาง ผ่านเส้นทางที่หวาดเสียวมากที่สุดเส้นทางหนึ่ง ขอบด้านหนึ่งเป็นผาสูงชัน โค้งไปโค้งมาตามไหล่เขาจนนับไม่ถ้วน ทริปนี้ไม่ค่อยได้พาจอดแวะถ่ายรูปที่ไหน เนื่องจากช่วงนี้ถนนในรัฐหิมาจัลประเทศได้รับความเสียหายหนักจากฝนตก น้ำท่วม และดินถล่มเมื่อราวเดือนก่อน บางจุดที่เคยสวยๆก็ไม่สวยแล้ว เราเลยพาข้ามไปบ้าง กว่าจะถึงที่พักที่เมืองซังลาก็บ่ายแล้ว ตอนกลางวันพาคณะกินข้าวกันที่ไหนก็ไม่รู้ ลืมไปแล้ว 555 ไม่มีใครถ่ายรูปไว้เลย คงต้องหิวกันมากแน่ๆ
 
ตอนต่อไปจะมาเล่าเรื่องที่ เมืองซังลา อีกหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีแอปเปิ้ลอร่อยมาก และมีสถานที่ให้เดินเที่ยวเล่นได้แบบไม่เบื่อเลย
 
     
<<<  บทก่อนหน้า   บทที่ 1   บทถัดไป  >>>
  บทที่ 2  
  บทที่ 3  
  บทที่ 4  
  บทที่ 5  
  บทที่ 6  
  บทที่ 7  
  บทที่ 8  
  บทที่ 9  
  บทที่ 10  
   
 



บันทึกแรมทาง

ครั้งหนึ่ง ณ หุบเขาสปิติ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง (AMS)
พาไปนวดที่ Kelara article
Boarding Pass
สู่แดนพระพุทธองค์ article



ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/06037
ติดต่อเรา
โปรแกรมการเดินทาง
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot










อุณหภูมิ พยากรณ์อากาศ
คำแนะนำเรื่อง อาการแพ้ความสูง Altitude Sickness อาการเวลาอยู่บนพื้นที่สูง Acute Mountain Sickness (AMS)


Copyright © 2007-2037 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ ห้ามลอกโดยเด็ดขาด
ติดต่อเรา
บริษัท อัพเดททัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด
เลขที่ 1/60 ซอยอนามัยงามเจริญ 12 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ 10150
โทรศัพท์ : 024054561 , 0816928233 (dtac) , 0898119139 (ais)
Email : wanramtang@hotmail.com
Line ID: @wanramtang